จักรพรรดิโชวะ
จักรพรรดิโชวะ (ญี่ปุ่น: 昭和天皇.; โรมาจิ: Shōwa-tennō., 29 เมษายน.. ค.ศ. 1901 – 7 มกราคม ค.ศ. 1989) หรือที่รู้จักในสื่อต่างประเทศจากพระนามจริงว่า ฮิโรฮิโตะ (ญี่ปุ่น: 裕仁; โรมาจิ: Hirohito)[1][2] เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ที่ 124 ปกครองจักรวรรดิญี่ปุ่นตั้งแต่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1926 ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1947 จนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อปี ค.ศ. 1989 รวมรัชสมัย 63 ปี นับเป็นจักรพรรดิที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของโลก
จักรพรรดิโชวะ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
จักรพรรดิญี่ปุ่น | |||||||||
ครองราชย์ | 25 ธันวาคม พ.ศ. 2469 - 7 มกราคม พ.ศ. 2532 (62 ปี 13 วัน) | ||||||||
พิธีขึ้น | 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 พระราชวังหลวงเคียวโตะ | ||||||||
ก่อนหน้า | จักรพรรดิไทโช | ||||||||
ถัดไป | จักรพรรดิอากิฮิโตะ | ||||||||
นายกรัฐมนตรี | ดูรายพระนามและรายชื่อ
| ||||||||
เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแห่งญี่ปุ่น | |||||||||
ระหว่าง | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 – 25 ธันวาคม พ.ศ. 2469 (5 ปี 26 วัน) | ||||||||
จักรพรรดิ | จักรพรรดิไทโช | ||||||||
พระราชสมภพ | 29 เมษายน ค.ศ. 1901 พระราชวังโทงู อาโอยามะ กรุงโตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น ฮิโรฮิโตะ พระราชทานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2444 | ||||||||
สวรรคต | 7 มกราคม ค.ศ. 1989 พระราชวังโอมิยะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น | (87 ปี)||||||||
ฝังพระศพ | 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 | ||||||||
จักรพรรดินี | จักรพรรดินีโคจุง อภิเษกเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1924 | ||||||||
พระราชบุตร | • เจ้าหญิงชิเงโกะ ฮิงาชิกูนิ • เจ้าหญิงซาจิโกะ เจ้าหญิงฮิซะ • เจ้าหญิงคาซูโกะ เจ้าหญิงทากะ • เจ้าหญิงอัตสึโกะ เจ้าหญิงโยริ • สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ • เจ้าชายมาซาฮิโตะ เจ้าชายฮิตาชิ • เจ้าหญิงทาคาโกะ เจ้าหญิงซูงะ | ||||||||
| |||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ญี่ปุ่น | ||||||||
พระราชบิดา | จักรพรรดิไทโช | ||||||||
พระราชมารดา | จักรพรรดินีเทเม | ||||||||
ศาสนา | ชินโต | ||||||||
ลายพระอภิไธย |
พระราชประวัติ
แก้จักรพรรดิฮิโระฮิโตะเสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังอะโอะยะมะ ในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 29 เมษายน ปีเมจิที่ 34 (ค.ศ.1901,พ.ศ. 2444) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายโยะชิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร (ภายหลังคือจักรพรรดิไทโช) และเจ้าหญิงซะดะโกะ มกุฎราชกุมารี (ภายหลังคือจักรพรรดินีเทเม)[3] โดยทรงราชทินนามขณะทรงพระเยาว์ ว่า เจ้าชายมิชิ (迪宮) ในปี พ.ศ. 2451 ทรงเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนประถมชูอิง
หลังจากจักรพรรดิเมจิพระอัยกาสวรรคตเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 พระราชบิดาของพระองค์ เจ้าชายโยะชิฮิโตะ ก็ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ ทำให้พระองค์กลายเป็นองค์รัชทายาทตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่น[4] ในขณะเดียวกัน ก็ทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกและกองทัพเรือในยศเรือตรี ในตำแหน่งนายธง และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศ ชั้นสายสะพาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 ทรงได้รับการเลื่อนยศให้เป็นร้อยโทแห่งกองทัพบก และเรือตรีแห่งกองทัพเรือ สองปีต่อมา ก็ถูกเลื่อนยศขึ้นเป็น พันโท และ นาวาเอก ในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "มกุฎราชกุมาร" ตำแหน่งองค์รัชทายาทอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457
มกุฎราชกุมาร
แก้ในปี พ.ศ. 2463 พระองค์ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพลโทแห่งกองทัพบก และ พลเรือโทแห่งกองทัพเรือ ต่อมา พ.ศ. 2464 เจ้าชายฮิโระฮิโตะได้ใช้เวลาหกเดือน ในการเสด็จประพาสยุโรป ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยือน สหราชอาณาจักร, สาธารณรัฐฝรั่งเศส, ราชอาณาจักรอิตาลี, ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และ เบลเยียม นับเป็นมกุฎราชกุมารญี่ปุ่นพระองค์แรกที่เสด็จเยือนต่างประเทศ ซึ่งภายหลังการกลับจากยุโรป ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการพระองค์ จากการที่ที่พระราชบิดาทรงพระประชวรทางพระจิต
ระหว่างที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทรงมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย อาทิ ใน พ.ศ. 2464 การลงนามในสนธิสัญญาสี่อำนาจ (อังกฤษ: Four-Power Treaty) โดยจักรวรรดิญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ตกลงที่จะรับรู้สภาพที่เป็นอยู่ในภาคพื้นแปซิฟิก ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรตกลงที่จะยุติพันธมิตรอังกฤษ-ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ หรือใน พ.ศ. 2466 ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคคันโต เป็นต้น
พระราชจริยวัตร
แก้หลังประสูติได้ไม่นาน เจ้าชายฮิโระฮิโตะอยู่ในความอภิบาลของ คะวะมุระ สึมิโยะชิ นายทหารเรือเกษียณ และภรรยา เมื่อคะวะมุระถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. 2447 เจ้าชายองค์น้อยได้เสด็จกลับไปประทับร่วมกับพระบิดาและพระมารดาอีกครั้ง ณ พระราชวังโทงู ทรงรู้สึกใกล้ชิดพระบิดาและพระชนนีเท่าใดนั้นยากที่จะกล่าว แต่หนึ่งในบรรดามหาดเล็กที่ถวายการดูแลเจ้าชายอยู่คือ คันโระจิ โอะซะนะงะ ให้ความเห็นว่าเจ้าชายรักและผูกพันกับจักรพรรดิเมจิ ซึ่งเป็นพระอัยกาเป็นพิเศษ และยามที่เสด็จไปหาเสด็จสมเด็จพระอัยกาที่พระราชวังโตเกียว ก็โปรดที่จะเกาะแจอยู่กับพระองค์ แต่ภาพเช่นนั้นก็ไม่ปรากฏบ่อยนัก [5] ทางจักรพรรดิเมจิ นั้น ก็ได้พระราชทานของขวัญแก่พระราชนัดดาองค์น้อยและแย้มพระโอษฐ์ให้ แม้จะตรัสกับพระราชนัดดาน้อยมาก เช่นเดียวกัน จักรพรรดิเมจิแทบจะไม่มีพระราชดำรัสต่อเจ้าชายโยะชิฮิโตะ มกุฎราชกุมารเลย
ในด้านพระวรกาย เจ้าชายฮิโระฮิโตะมิได้มีพระวรกายที่น่าประทับใจแก่ผู้พบเห็นแต่อย่างใด เพราะสายพระเนตรสั้น จึงต้องทรงฉลองพระเนตรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และเหล่ามหาดเล็กก็ต้องคอยทูลให้เปลี่ยนท่าทางพระวรกายอยู่เสมอ เพราะพระบุคลิกภาพของพระองค์ไม่ค่อยงดงามนัก นอกจากนี้ยังทรงเป็นเด็กเรียนรู้ช้า มักจะมีปัญหาแม้กระทั่งกลัดกระดุมเครื่องแบบนักเรียน ต้องพึ่งการฝึกซ้อมร่างกาย, ทรงม้า, ว่ายน้ำ และวิธีออกกำลังกายอื่นๆ อีกมากเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนพระบุคลิกภาพให้ดีขึ้น แต่ก็ยังทรงพระวรกายเล็กอยู่เช่นเดิมแม้เมื่อเจริญพระชันษาแล้ว
เมื่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนญี่ปุ่น เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจำต้องแสร้งตีลูกกอล์ฟพลาด เมื่อทอดพระเนตรเห็นว่าเจ้าชายฮิโระฮิโตะทรงตีลูกกอล์ฟไม่ค่อยถูก[6]
พระราชโอรส-ธิดา
แก้เจ้าชายฮิโรฮิโตะได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงนางาโกะแห่งคุนิ พระธิดาองค์โตในเจ้าชายคุนิ คุนิโยะชิ ซึ่งภายหลังราชาภิเษกก็ขึ้นเป็น "สมเด็จพระจักรพรรดินี" เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) และมีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ และพระราชธิดา 5 พระองค์
- เจ้าหญิงชิเงะโกะ เจ้าเทะรุ (ญี่ปุ่น: 照宮成子; โรมาจิ: เทะรุ-โนะ-มิยะ ชิเงโกะ) ประสูติเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2468 เสกสมรสกับเจ้าชายโมริฮิโตะ ฮิงะชิกุนิ ต่อมาพระสวามีของเจ้าหญิงชิเงโกะได้ถูกสหรัฐอเมริกาถอดพระยศเป็นสามัญชน เจ้าหญิงชิเงโกะจึงเป็น "นางชิเงะโกะ ฮิงะชิกุนิ" (ญี่ปุ่น: 東久邇成子; โรมาจิ: Higashikuni Shigeko) มีพระโอรส-ธิดา 5 พระองค์ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2504
- เจ้าหญิงซะชิโกะ เจ้าฮิซะ (ญี่ปุ่น: 久宮祐子; โรมาจิ: ฮิซะ-โนะ-มิยะ ซะชิโกะ) ประสูติ 10 กันยายน พ.ศ. 2470 พระราชธิดาองค์ที่สอง โดยต่อมาอีก 4 เดือนหลังจากพระประสูติกาล พระธิดาองค์น้อยนี้ก็มีพระอาการพระโลหิตเป็นพิษ โดยต่อมา 2 เดือน เจ้าหญิงซะชิโกะจึงสิ้นพระชนม์อย่างสงบ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2471
- เจ้าหญิงคะซุโกะ เจ้าทะกะ (ญี่ปุ่น: 孝宮和子; โรมาจิ: ทะกะ-โนะ-มิยะ คะซุโกะ) ประสูติเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2472 ต่อมาเจ้าหญิงทากะได้เสกสมรสกับนายโทะชิมิชิ ทะคะสึตะซะ เจ้าหญิงทะกะจึงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ และใช้พระนามเป็น "นางคะซุโกะ ทะคะสึคะซะ" และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2532
- เจ้าหญิงอะสึโกะ เจ้าโยะริ (ญี่ปุ่น: 順宮厚子; โรมาจิ: โยะริ-โนะ-มิยะ อะสึโกะ) ประสูติ 7 มีนาคม พ.ศ. 2474 เจ้าหญิงโยะริได้เสกสมรสแล้วกับนายทะกะมะซะ อิเกะดะ เจ้าหญิงโยะริจึงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ และใช้พระนามเป็น "นางอะสึโกะ อิเกะดะ"
- เจ้าชายอะกิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร (ญี่ปุ่น: 継宮明仁; โรมาจิ: สึงุโนะมิยะ อะกิฮิโตะ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ต่อมาพระองค์ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นองค์ปัจจุบัน ออกพระนามว่า "สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ" อภิเษกสมรสกับนางสาวโชดะ มิชิโกะ มีพระราชโอรส-ธิดา 3 พระองค์
- เจ้าชายมะซะฮิโตะ เจ้าโยะชิ (ญี่ปุ่น: 義宮正仁; โรมาจิ: โยะชิ-โนะ-มิยะ มะซะฮิโตะ) ประสูติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2478 ปัจจุบันมีออกพระนามว่า "เจ้าชายมะซะฮิโตะ เจ้าชายฮิตะชิ" (ญี่ปุ่น: 常陸宮正仁親王; โรมาจิ: ฮิตะชิ โนะ มิยะ มะซะฮิโตะ ชินโน) เสกสมรสกับสึงะรุ ฮะนะโกะ แต่ไม่มีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน
- เจ้าหญิงทะกะโกะ เจ้าซุงะ (ญี่ปุ่น: 清宮貴子; โรมาจิ: ซุงะ-โนะ-มิยะ ทะคะโกะ) ประสูติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2482 ต่อมาเจ้าหญิงซุงะได้เสกสมรสกับนายฮิซะนะงะ ชิมะสึ เจ้าหญิงซุงะจึงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เป็น นางทะคะโกะ ชิมะสึ มีพระโอรส 1 คน
ขึ้นครองราชสมบัติ
แก้ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระราชบิดา จักรพรรดิไทโช เจ้าชายฮิโระฮิโตะจึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในนามรัชสมัยใหม่ว่า โชวะ ที่หมายถึงสันติภาพอันส่องสว่าง ซึ่งภายหลังจากการสวรรคตของพระราชบิดาไม่นาน จักรพรรดิโยะชิฮิโตะถูกออกพระนามเป็น "จักรพรรดิไทโช"
สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ทรงตั้งความหวังไว้กับประเทศญี่ปุ่นไว้สูง โดยในพระราชโองการฉบับแรกแห่งรัชสมัยที่ทรงประกาศเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2469 มีข้อความว่า
โลกเราในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิวัฒน์ไปอย่างต่อเนื่อง ประวัติศาสตร์บทใหม่แห่งอารยธรรมโลกกำลังพลิกเผยตัวตนให้เราได้เห็นกัน...นโยบายของชาติเรามักจะมุ่งเน้นไปที่วิถีทางอันดำเนินไปอย่างต่อเนื่องพร้อม ๆ กับการปรับปรุงให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ คือ ความเรียบง่ายแทนการสร้างภาพที่ไร้ประโยชน์ ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตนแทนการลอกเลียนแบบที่ไม่รู้จักคิด วิธีดำเนินงานที่สอดคล้องกับวิวัฒนาการแห่งยุคสมัยที่ดำเนินอยู่ การพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นเพื่อจะได้ไหลลื่นไปกับกระแสความก้าวหน้าแห่งอารยธรรมโลก ความกลมเกลียวในชาติทั้งในด้านจุดหมายที่ต้องไปให้ถึงและวิธีการที่จะทำให้บรรลุจุดหมายนั้น ๆ คุณงามความดีที่เผยแผ่ไปทุกชนชั้น และสุดท้าย ความมีมิตรไมตรีจิตต่อประเทศทั้งมวลบนผืนพิภพ สิ่งเหล่านี้คือจุดหมายหลักที่เราใฝ่ใจและมุ่งที่จะไปให้ถึงอย่างที่สุด
— สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ
เหตุการณ์ต้นรัชสมัย
แก้ตอนต้นรัชสมัยโชวะนั้น เป็นยุคสมัยที่ญี่ปุ่น กำลังประสบกับวิกฤตการณ์การเงิน ในขณะที่อำนาจของกองทัพก็มีมากขึ้นภายในรัฐบาล ด้วยการแทรกแซงทั้งวิธีการตามกฎหมายและนอกกฎหมาย กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้กุมอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2443 ซึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2464-2487 ก็มีอุบัติเหตุทางการเมืองมากถึง 64 ครั้ง
กบฏ 26 กุมภาฯ
แก้9 มกราคม พ.ศ. 2475 สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ รอดจากการลอบสังหารอย่างหวุดหวิด จากการขว้างระเบิดมือของ ลี บงชาง นักเคลื่อนไหวเพื่อปลดแอกเกาหลี ในกรุงโตเกียว หรือที่เรียกกันว่า เหตุการณ์ซะกุระดะมง อีกกรณีที่น่าสังเกตคือการลอบสังหารอินุไก สึโยะชิ นายกรัฐมนตรี โดยทหารเรือระดับล่างในปีเดียวกัน เหตุการณ์นี้เองตามมาด้วยการที่สี่ปีต่อมา กลุ่มนายทหารรักษาพระองค์ระดับล่างที่มีแนวคิดแบบชาตินิยม หรือ โคโดฮะ ไม่พอใจเหล่านายทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล ในหลายๆ เรื่อง อาทิ การทุจริตในรัฐบาล ผลประโยชน์แก่เหล่าพวกพ้อง มีความพยายามทำรัฐประหาร ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม เหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์[7]
การก่อกบฏครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก นักการเมือง, เจ้าหน้าที่, และนายทหารระดับสูงหลายคนถูกฆ่าตาย มีการบุกทำลายสถานที่ราชการหลายแห่งในใจกลางกรุงโตเกียว การก่อกบฏครั้งนี้ ฝ่ายกบฏอ้างว่าเป็นการต่อสู้ในนามของพระจักรพรรดิ เมื่อจักรพรรดิทรงทราบว่ามีกลุ่มทหารเลือดใหม่ก่อกบฏ ทรงกำชับรัฐมนตรีกลาโหมอย่างเฉียบขาดว่า "เราให้เวลาท่านหนึ่งชั่วโมงในการปราบกบฏ" ผลปรากฏว่า รัฐบาลล้มเหลวในการปราบกบฏ วันต่อมาทรงรับสั่งว่า "ฉัน! ตัวฉันนี่แหล่ะ จะนำกองโคะโนะเอะ(กองราชองค์รักษ์)และปราบพวกเขาเอง"[8] กลุ่มกบฏได้บุกเข้ามายังพระราชวังหลวงเพื่อต้องการที่จะอ่านสาสน์ต่อสมเด็จพระจักรพรรดิเพื่อให้จักรพรรดิรับรองสถานะของกลุ่มทหารที่ก่อการกบฏ จักรพรรดิฮิโระฮิโตะมีพระราชดำรัสต่อกลุ่มทหารเหล่านั้นว่า "พวกเจ้ากล้าดีอย่างไรที่เข้ามาในนี้ ไม่รู้หรือว่าฉันเป็นจักรพรรดิของพวกเจ้า"[9]
ภายหลังปราบกบฏได้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พลเรือเอก โอกะดะ เคซุเกะ นายกรัฐมนตรีซึ่งรอดจากการถูกสังหาร ได้ปรากฏตัวหลังจากการหลบซ่อน สามวันต่อมา เขาประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรี อันเป็นการเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้น
สงครามโลกครั้งที่สอง
แก้แม้ว่าพระองค์จะเห็นว่าการทำสงครามเป็นสิ่งจำเป็นต่อญี่ปุ่น แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเห็นด้วยกับกองทัพที่ดำเนินนโยบายการสงครามแบบบ้าระห่ำ เมื่อทรงทราบถึงแผนการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงกังวลมิน้อยว่าการกระทำนี้จะส่งผลร้ายต่อญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงพอพระทัยอยู่เสมอเมื่อทรงทราบว่ากองทัพญี่ปุ่นได้ชัยชนะในศึกสงครามที่อยู่ห่างไกล ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2485 ทรงพอพระทัยไม่น้อยกับชัยชนะอันรวดเร็วของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่มีเหนือเกาะฮ่องกง, กรุงมะนิลา, สิงคโปร์, ปัตตาเวีย (จาร์กาตา) และย่างกุ้ง
ขณะเดียวกัน ก็ทรงกังวลเกี่ยวกับปัญหาในการลำเลียงเสบียงและเชื้อเพลิงไปให้กับกองกำลังญี่ปุ่นที่กำลังรบอยู่ในสมรภูมิที่ห่างไกลมาตุภูมิ "ชัยชนะที่ได้มาออกจะเร็วไปหน่อย" พระองค์จึงมักจะทรงเตือนผู้นำทหารบกและทหารเรือให้ปรับปรุงการทำงานระหว่างสองกองทัพให้ประสานงานได้ดีขึ้น เพราะสภาพที่เป็นอยู่นั้นจัดว่าไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง และยังทรงเตือนให้สองกองทัพ เลิกใช้วิธีเหมือนเล่นการเมืองพาทะเลาะกันเรื่องการเคลื่อนย้ายฝูงบินเสียที เมื่อทรงได้รับรายงานเกี่ยวกับความปราชัยครั้งสำคัญของญี่ปุ่นเช่นในยุทธนาวีที่มิดเวย์ จึงมีแต่พระราชดำรัสให้ผู้นำทหารทั้งหลายทำงานของตนให้ดีที่สุดในการปฏิบัติครั้งหน้า โดยแทบจะมิได้ทรงแสดงอารมณ์ใด ๆ ออกมาอีก ราวกับทรงปลงเสียแล้ว
พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในระหว่างสงครามกระตุ้นให้ประชาชนฮึกเหิมกับศึกที่เกิดขึ้นด้วยอีกแรงหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการทรงม้าขาวออกเสด็จตรวจกำลังพล หรือมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมรัฐสภาที่ปลุกเร้ากำลังใจของราษฎรให้ช่วยกันพยายามเพื่อชัยชนะของประเทศตามหนังสือที่ร่างโดยรัฐบาล พระราชกรณียกิจเหล่านี้ล้วนสร้างภาพว่า พระองค์กำลังทรงบัญชาการความเคลื่อนไหวทั้งหมดของกองทัพในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพของชาติ ในความเป็นจริง พระองค์ทรงทำหน้าที่แค่ทอดพระเนตรรายงานการสถานการณ์รบ และลงพระนามรับรองแผนปฏิบัติการทางทหารต่างๆเท่านั้น สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะมิได้ทรงมีส่วนในการบัญชาการรบใดๆ เช่นเมื่อนานกิงถูกตีแตกในปี พ.ศ. 2480 และทหารญี่ปุ่นได้สังหารพลเรือนไปกว่าสองแสนคนนั้น รายงานที่ถวายไปยังพระองค์ระบุแค่ว่า กองทัพสามารถยึดนานกิงได้แล้ว
จักรพรรดิทรงเห็นว่า ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะและดินแดนมามากเกินพอแล้ว การทำสงครามต่ออาจจะส่งผลร้ายในภายหลัง ทรงอยากให้กองทัพญี่ปุ่นยุติสงครามโดยไวที่สุด ดังในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 พระองค์มีพระราชดำรัสให้พลเอกฮิเดะกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อเท็จจริงข้อนี้ "ฉันหวังว่าตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ ท่านได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุด และใช้ทุกโอกาสที่มีอยู่เพื่อยุติการประหัตประหารในทันทีที่สามารถทำได้ ถ้าคิดถึงความสงบสุขของมนุษย์ด้วยกันแล้ว การปล่อยให้สงครามยืดเยื้อต่อไปก็รังแต่จะเปล่าประโยชน์...ฉันเกรงว่า ประสิทธิภาพทหารเราอาจจะด้อยลง หากสงครามต้องยืดเยื้อ" แต่โทโจก็ยังยืนยันถึงความจำเป็นในการทำสงครามต่อไป
แม้กระแสการรบจะพัดย้อนไปกระหน่ำญี่ปุ่นแทน สงครามก็ยังไม่อาจยุติลงได้ ดูเหมือนว่าจักรพรรดิฮิโระฮิโตะกลับเป็นผู้ต่อเวลาทำสงครามออกไปเสียเองถึง 2 ทางด้วยกัน ประการแรก แม้ในช่วงแรก ๆ จะมีขบวนการสันติภาพที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ข้าราชสำนัก และแม้กระทั่งเชื้อพระวงศ์บางองค์ แต่สมเด็จพระจักรพรรดิก็ไม่ทรงยอดปลดโทโจออกตามคำเรียกร้องของสมาชิกขบวนการที่ต้องการจะหยุดยั้งสงครามไว้ให้ได้ เพราะในระหว่างยังไงเสียญี่ปุ่นก็ต้องอาศัยโทโจดำเนินการรบไปจนกว่าสถานะของญี่ปุ่นในการเจรจาสันติภาพจะดีขึ้น และบรรลุเงื่อนไขตามที่ญี่ปุ่นต่อรอง โดยพระองค์ตรัสกับ เจ้าทะกะมะสึ พระอนุชาองค์รองว่า
"ใครๆก็ว่าโทโจไม่ดี แต่จะหาใครดีไปกว่านี้ได้อีกไหมในเมื่อมันไม่มีคนที่เหมาะสมกว่า ยังจะมีทางเลือกอื่น นอกจากร่วมงานกับคณะของโทโจหรือ"
ภายหลังสงคราม
แก้สถานะของจักรพรรดิ
แก้ภายหลังญี่ปุ่นยอมแพ้ สหรัฐอเมริกาได้ส่งกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้าควบคุมญี่ปุ่น มีการเรียกร้องจากชาติฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะจากยุโรป ให้นำตัวสมเด็จพระจักรพรรดิมาลงโทษ นายพลดักลาส แมคอาเธอร์ ได้แสดงความคัดค้านอย่างถึงที่สุดในเรื่องนี้ ด้วยมองว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข แสนยานุภาพของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยังคงมีอยู่ และหากจะลงโทษจักรพรรดิแล้ว อาจเกิดการลุกฮือจากกองทัพญี่ปุ่นก็เป็นได้ ซึ่งจะต้องส่งกำลังทหารเข้ามาประจำการในญี่ปุ่นอีกมหาศาล อีกทั้งการบัญชาการทัพญี่ปุ่นในการบุกดินแดนต่าง ๆ เป็นการบัญชาการจากผู้นำรัฐบาลและกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นหลัก ท้ายที่สุดจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ รอดพ้นจากข้อหาอาชญากรสงคราม
แม้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะรอดพ้นจากข้อหาอาชญากรสงคราม แต่ทรงถูกบังคับ[10] ให้ปฏิเสธการเรียกร้องรัฐชินโตที่จักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นเป็น อะระฮิโตะงะมิ หรือพระเจ้าที่มีตัวตน สิ่งนี้เป็นแรงจูงใจจากข้อเท็จจริงที่ว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น ค.ศ. 1889 บัญญัติให้จักรพรรดิมีพระราชอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมาจากความเชื่อของชินโตที่ว่า พระราชวงศ์แห่งจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นสืบเชื้อสายมาจากจันทรเทพ สึกุโยะมิ และ สุริยะเทพี อะมะเตะระซุ ซึ่งจักรพรรดิฮิโระฮิโตะยืนกรานในความเชื่อนี้ ดังในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 ตรัสกับรองสมุหพระราชวัง มิชิโอะ คิโนะชิตะ ว่า "เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ที่จะบอกว่า ความคิดที่ว่าเท็นโน (จักรพรรดิ) เป็นลูกหลานของเทพเจ้านั้น เป็นความคิดที่ผิด แต่เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้อย่างยิ่งหากจะบอกว่า เรื่องที่เท็นโนเป็นลูกหลานของเทพเจ้า เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ "[11]
การที่ทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดิ ทำให้ปมนี้เป็นอันตกไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนายพลแมคอาเธอร์คิดว่า พระองค์มีแนวโน้มที่จะเป็นพันธมิตรที่จะทำให้สหรัฐได้รับประโยชน์ในอนาคต อีกส่วนคือการดำเนินการของชิเงะรุ โยะชิดะ นายกรัฐมนตรี ที่ขัดขวางความพยายามที่จะทำให้จักรพรรดิเป็นพระมหากษัตริย์ตามในแบบของยุโรป
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาได้ถอดพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชน
พระราชกรณียกิจ
แก้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจทั่วไปที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ การขจัดทุกข์บำรุงสุขและให้กำลังใจแก่ประชาชน การปรากฏพระองค์ในพิธีการหรือเหตุการณ์สำคัญ นอกจากนี้ ยังทรงมีบทบาทสำคัญในด้านการสร้างภาพลักษณ์ทางการทูตของญี่ปุ่น เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งเพื่อพบปะกับผู้นำต่างประเทศ อาทิ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (พ.ศ. 2514) , ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด (พ.ศ. 2518) เป็นต้น
สมเด็จพระจักรพรรดิทรงให้ความสนใจและทรงรอบรู้เกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล ซึ่งภายในพระราชวังโตเกียวมีห้องปฏิบัติการที่สมเด็จพระจักรพรรดิได้เผยแพร่เอกสารการค้นคว้าและวิจัยหลายด้าน ในนามแฝงของพระองค์ว่า "โช" ผลงานของพระองค์ก็อาทิ คำอธิบายเกี่ยวกับไฮโดรซัวหลากหลายสายพันธุ์[12]
พระราชอิสริยยศ
แก้- 29 เมษายน พ.ศ. 2444 – 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455: เจ้ามิชิ
- 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 – 25 ธันวาคม พ.ศ. 2469: มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น
- 25 ธันวาคม พ.ศ. 2469 – 7 มกราคม พ.ศ. 2532: สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้พงศาวลี
แก้พงศาวลีของจักรพรรดิโชวะ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- ↑ "Hirohito". Collins English Dictionary. HarperCollins.
- ↑ "Hirohito" เก็บถาวร 2019-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (US) and "Hirohito". Oxford Dictionaries UK English Dictionary. Oxford University Press. n.d. สืบค้นเมื่อ 30 April 2019.
- ↑ Ponsonby-Fane, Richard. (1959). The Imperial House of Japan, p. 337.
- ↑ Ponsonby-Fane, p. 338; 'see File:Crowd awaiting Crown Prince Tokyo Dec1916.jpg, New York Times. December 3, 1916.
- ↑ Osanaga Kanroji, "Hirohito"An Intimate Portrait of the Japanese Emperor , Los Angeles : Gateway, 1975
- ↑ HRH The Duke of Windsor, 'A King's Story', London: Cassell, 1951
- ↑ Mikiso Hane, Emperor Hirohito and His Chief Aide-de-camp, The Honjō Diary, 1983; Honjō Nikki, Hara Shobō, 1975
- ↑ Peter Wetzler, Hirohito and War, p. 188
- ↑ Edwin Hoyt, supra note, p.101
- ↑ Dower, pp. 308–318
- ↑ Wetzler, p. 3
- ↑ "World Hydrozoa Database". Marinespecies.org. สืบค้นเมื่อ 2010-10-03.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แด่สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่น เก็บถาวร 2014-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๑, ตอน ๒๒ง, ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗, หน้า ๕๗๑
บรรณานุกรม
แก้- Behr, Edward Hirohito: Behind the Myth, Villard, New York, 1989. - A controversial book that posited that Hirohito had a more active role in WWII than had publicly been portrayed; it contributed to the re-appraisal of his role.
- Bix, Herbert P. Hirohito and the Making of Modern Japan, HarperCollins, 2000. ISBN 0-06-019314-X, A recent scholarly (and copiously sourced) look at the same issue.
- Drea, Edward J. (1998). "Chasing a Decisive Victory: Emperor Hirohito and Japan's War with the West (1941-1945)". In the Service of the Emperor: Essays on the *Imperial Japanese Army. Nebraska: University of Nebraska Press. ISBN 0-8032-1708-0.
- Fujiwara, Akira, Shōwa Tennō no Jū-go Nen Sensō (Shōwa Emperor's Fifteen-year War), Aoki Shoten, 1991. ISBN 4-250-91043-1 (Based on the primary sources)
- Hoyt, Edwin P. Hirohito: The Emperor and the Man, Praeger Publishers, 1992. ISBN 0-275-94069-1
- Kawahara, Toshiaki Hirohito and His Times: A Japanese Perspective, Kodansha International, 1997. ISBN 0-87011-979-6 (Japanese official image)
- Mosley, Leonard Hirohito, Emperor of Japan, Prentice-Hall, Englewood Cliffs, 1966. ISBN 1-111-75539-6 ISBN 1-199-99760-9, The first full-length biography, it gives his basic story.
- Wetzler, Peter Hirohito and War: Imperial Tradition and Military Decision Making in Prewar Japan, University of Hawaii Press, 1998. ISBN 0-8248-1925-X
- Yamada, Akira, Daigensui Shōwa Tennō (Shōwa Emperor as Commander in Chief), Shin-Nihon Shuppansha, 1994. ISBN 4-406-02285-6 (Based on the primary sources)
ก่อนหน้า | จักรพรรดิโชวะ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระจักรพรรดิไทโช | จักรพรรดิญี่ปุ่น (พ.ศ. 2469 - พ.ศ. 2532) |
สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ | ||
เจ้าชายโยะชิฮิโตะ ภายหลังคือ จักรพรรดิไทโช |
มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น (พ.ศ. 2457 - พ.ศ. 2469) |
เจ้าชายอะกิฮิโตะ ภายหลังคือ จักรพรรดิเฮเซ | ||
ไม่มี | ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2464 - พ.ศ. 2469) |
ทรงขึ้นเป็นจักรพรรดิเอง |