สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา เป็นพระอนุชาธิราชร่วมพระราชชนก และพระราชชนนีกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้เสด็จเถลิงพระราชมนเทียรที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | |
---|---|
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล | |
ดำรงพระยศ | พ.ศ. 2325 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 |
รัชสมัย | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (กรุงธนบุรี) |
ถัดไป | สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร |
พระราชสมภพ | วันพฤหัสบดีขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน (19 กันยายน พ.ศ. 2286)[1] กรุงศรีอยุธยา |
สวรรคต | 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 (60 พรรษา) พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระราชวังบวรสถานมงคล |
พระอัครชายา | เจ้าศรีอโนชา |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระราชบิดา | สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก |
พระราชมารดา | พระอัครชายา (หยก) |
พระราชประวัติ
แก้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระนามเดิมว่า บุญมา เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 5 ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) และพระอัครชายา (หยก) ประสูติในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน จ.ศ. 1105[2] ตรงกับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2286 มีนิวาสถานอยู่หลังป้อมเพชรในกรุงศรีอยุธยา มีพระภราดาพระภคินีร่วมพระชนก 7 พระองค์ ได้แก่
- สา ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ในรัชกาลที่ 1
- ไม่ปรากฏพระนามเดิม ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าขุนรามณรงค์ ในรัชกาลที่ 1
- แก้ว ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ในรัชกาลที่ 1
- ด้วง ปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
- บุญมา เสด็จเถลิงพระราชมนเทียรเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1
- ลา ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ในรัชกาลที่ 1
- กุ เฉลิมพระนามเป็นพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ในรัชกาลที่ 5
กรุงศรีอยุธยาแตก
แก้เมื่อทรงเจริญวัยได้รับราชการเป็นมหาดเล็กตำแหน่งนายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ใน พ.ศ. 2310 เมื่อข้าศึกยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นพระนครอ่อนแอมาก พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงพาสมัครพรรคพวกตีฝ่าออกจากพระนครศรีอยุธยา มุ่งไปรวบรวมกำลังที่หัวเมืองชายทะเลตะวันออก ที่ชลบุรี เพื่อจะรบสู้ขับไล่ข้าศึกจากพระนคร เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกบ้านเมืองสับสนเป็นจลาจล นายสุดจินดาได้เสด็จลงเรือเล็กหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา และมุ่งจะเสด็จไปยังเมืองชลบุรีด้วยเช่นกัน ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ได้นำครอบครัวและบริวารอพยพหลบภัยข้าศึกไปตั้งอยู่ ณ อำเภออัมพวา เมืองสมุทรสงครามซึ่งแต่เดิมขึ้นกับเมืองราชบุรี ก่อนที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจะเสด็จไปถึงชลบุรี ได้เสด็จไปพบพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่อำเภออัมพวาก่อน ได้ทรงชวนให้เสด็จไปหลบภัย ณ ชลบุรี ด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังไม่พร้อมเสด็จ ทรงพระราชทานเรือใหญ่พร้อมเสบียงอาหาร ทรงพระราชดำริให้ไปฝากตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และทรงแนะนำให้เสด็จไปรับท่านเอี้ยง พระชนนีของพระยาตากสิน ซึ่งอพยพไปอยู่ที่บ้านแหลม พร้อมทั้งทรงฝากดาบคร่ำ และแหวน 2 วง ไปถวายเป็นของกำนัลอีกด้วย
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก ทรงให้ทหารรักษาการอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น และที่ธนบุรี ช่วงนั้นบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย แยกเป็นชุมนุมเป็นก๊กเหล่าถึง 6 ชุมนุม พระยาตากสินเป็นชุมนุมหนึ่งที่สามารถรวบรวมไพล่พลตั้งอยู่ที่จันทบุรี เข้าตีข้าศึกที่รักษากรุงศรีอยุธยาแตกไป แล้วจึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก พ.ศ. 2311 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในขณะนั้นทรงได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์เป็นพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา[2]
การทำศึกสงคราม
แก้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงร่วมศึกสงครามขับไล่อริราชศัตรูปกป้องพระราชอาณาจักรตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ได้เสด็จไปในการพระราชสงครามทั้งทางบก และทางเรือ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถึง 16 ครั้ง และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อีก 8 ครั้ง ได้แก่
- พ.ศ. 2310 ตีค่ายโพธิ์สามต้นของข้าศึก
- พ.ศ. 2311 ตีค่ายพม่าที่บางกุ้ง และที่สมุทรสงคราม ขณะนั้นทรงมีบรรดาศักดิ์เป็น พระมหามนตรี และเสด็จไปรับพระเชษฐาธิราช จาก อำเภออัมพวา เข้ามารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และทรงรับสถาปนาเป็น พระราชวรินทร์
- พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพิษณุโลก และยกไปปราบชุมนุมเจ้าพิมายที่นครราชสีมา พระมหามนตรี และพระราชวรินทร์ได้ร่วมการสงครามที่ด่านขุนทด มีชัยชนะในเวลา 3 วัน ความชอบในการสงครามครั้งนี้ พระราชวรินทร์ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระมหามนตรี เป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางตำรวจ
- พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระยาอนุชิตราชา ยกทัพไปปราบกรุงกัมพูชา ตีได้เมืองเสียมราฐ
- พ.ศ. 2313 พระยาอนุชิตราชาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยายมราช ได้ยกทัพไปร่วมกับทัพหลวงปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ตีได้เมืองสวางคบุรี และได้หัวเมืองเหนือไว้ในพระราชอำนาจทั้งหมด เมื่อเสร็จราชการศึกครั้งนี้ ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก เป็นผู้ปกป้องพระราชอาณาจักรฝ่ายเหนือ และได้ยกทัพไปตีทัพโปมยุง่วนที่มาล้อมเมืองสวรรคโลก
- พ.ศ. 2315 เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช ได้ยกทัพไปปราบพม่าที่ยกมาตีเมืองลับแล หรืออุตรดิตถ์ และเมืองพิชัยจนแตกพ่ายไป
- พ.ศ. 2316 เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช และพระยาพิชัย ได้ยกทัพไปรบถึงประจัญบาน กับทัพโปสุพลาที่เมืองพิชัย จนข้าศึกแตกพ่าย ครั้งนี้เองที่พระยาพิชัยได้รับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"
- พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งขณะนั้นเป็น เจ้าพระยาจักรี กับเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช ยกทัพหัวเมืองเหนือไปตีเมืองเชียงใหม่ มีชัยชนะ และเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราชได้คุมทัพเหนือไปล้อมทัพพม่าที่เขาชะงุ้ม ตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม และปากแพรกแตกจนพม่ายอมแพ้
- พ.ศ. 2318 เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช และเจ้าพระยาจักรี ได้รับพระราชบัญชาให้ยกทัพจากพิษณุโลกไปขับไล่โปสุพลา ที่ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ และต่อมาอะแซหวุ่นกี้ ยกมาล้อมเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาทั้งสองจึงนำไพล่พลออกจากพิษณุโลกไปตั้งมั่นที่เมืองเพชรบูรณ์ ต่อมาพม่าถอนกำลัง จึงได้คุมกำลังเมืองนครราชสีมาติดตามตีทัพที่กำลังถอยแตกกลับไป
- พ.ศ. 2320 ได้ยกทัพจากกรุงธนบุรีไปสมทบทัพเจ้าพระยาจักรีที่นครราชสีมา ตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอัตบือ สุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ ไว้ได้ จากความชอบในการพระราชสงครามครั้งนี้ เจ้าพระยาจักรีได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก"
- พ.ศ. 2321 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช เกณฑ์ทัพเรือจากกัมพูชา ไปล้อมเมืองเวียงจันทน์ 4 เดือนจึงตีได้ และตีหัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นลาวจนจดตังเกี๋ยของญวนไว้ได้ด้วย และในครั้งนั้น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร กลับคืนมาจากเวียงจันทน์มาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีด้วย
- พ.ศ. 2324 เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช เป็นแม่ทัพหน้าร่วมกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีกัมพูชา แต่ต้องเสด็จกลับกรุงธนบุรี เนื่องจากบ้านเมืองเกิดจลาจล เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เสด็จปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์และสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี แล้วโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จเถลิงพระราชมนเทียรที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[3] บันทึกบางฉบับจะเอ่ยพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคลบ้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์บ้าง (หมายความรวมถึงรัชกาลที่ 1 และสมเด็จวังหน้า) ไม่เป็นที่แน่นอน ซึ่งพระนามนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดระเบียบเกี่ยวกับพระเกียรติเจ้านายใหม่ โดยให้ขานพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงร่วมการพระราชสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2325 ถึง พ.ศ. 2345 รวม 8 ครั้ง คือ
- พ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ รบกับทัพพระเจ้าปดุง ที่ยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แม้มีไพร่พลน้อยกว่าข้าศึก แต่ทรงทำกลอุบายลวงข้าศึก จนสามารถมีชัยชนะ ในปีนั้น ยังได้เสด็จนำทัพเรือไปตีพม่าที่ไชยา และเสด็จไปปราบปัตตานีที่เอาใจออกห่าง และตีเมืองกลันตัน ตรังกานู เป็นเมืองขึ้นของไทยด้วย
- พ.ศ. 2329 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จนำทัพไปรบกับพระเจ้าปดุง ที่เข้ามายึดตำบลท่าดินแดง และสามสบ ได้ตีทัพพม่าแตก
- พ.ศ. 2330 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองลำปางคืน และตีทัพพม่าที่ป่าซางแตก เสร็จการสงครามนี้ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ มาประดิษฐาน ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ที่กรุงเทพฯ
- พ.ศ. 2336 เสด็จไปตีเมืองทวายสำเร็จ
- พ.ศ. 2340 เสด็จยกทัพไปป้องกันเมืองเชียงใหม่ ตีพม่าที่ลำพูน และเชียงใหม่แตก
- พ.ศ. 2345 ได้เสด็จไปขับไล่กองทัพข้าศึกออกจากเชียงใหม่ แต่เมื่อเสด็จไปถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรโรคนิ่ว ต้องประทับรักษาพระองค์โดยมีกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงพยาบาลพระอาการอยู่ต่อมาเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อทรงพยาบาลสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจนกระทั่งพระอาการประชวรกำเริบและได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุขในหมุ่พระวิมาน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 พระชนมายุ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระโกศ (พระลอง) ย่อมุมไม้สิบสองหุ้มทองคำประดิษฐานพระบรมศพไว้ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในพระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากการถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เสร็จสิ้น พระบรมอัฐิถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ ในหมู่พระวิมาน ปัจจุบันอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่หอพระนาคในพระบรมมหาราชวัง
นอกจากจะทรงอุทิศพระองค์เสด็จไปในการศึกสงครามกอบกู้เอกราช และป้องกันพระราชอาณาจักรตลอดพระชนมชีพ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยังทรงเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่บ้านเมือง ทรงอุปถัมภ์บำรุงการพระศาสนา ศิลปวรรณกรรม และสถาปัตยกรรม เป็นต้นว่า โปรดให้สร้าง พระราชวังบวร (ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยช่างศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์) ทรงสร้างกำแพงพระนครตั้งแต่ประตูวัดสังเวชวิศยารามจนถึงวัดบวรนิเวศ และทรงสร้างป้อมอิสินธร ป้อมพระอาทิตย์ ป้อมพระจันทร์ ป้อมยุคนธร (ซึ่งรื้อลงแล้ว) คงเหลือแต่ป้อมพระสุเมรุ และทรงสร้างประตูยอดของบรมมหาราชวัง คือ ประตูสวัสดิโสภา ประตูมณีนพรัตน์ ประตูอุดมสุดารักษ์ และทรงสร้างโรงเรือที่ฟากตะวันตก ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) วัดโบสถ์ วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร (วัดสมอแครง) วัดราชผาติการามวรวิหาร (วัดส้มเกลี้ยง) วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (วัดสำเพ็ง) วัดครุฑ วัดสุวรรณคีรี (วัดขี้เหล็ก) วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ทรงสร้างหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วิหารคต วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นต้น พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติเป็นที่แซ่ซร้องสดุดีเทิดทูนของพสกนิกร ไทยตลอดมา
สวรรคต
แก้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 สิริพระชนมพรรษา 60 พรรษา ได้รับพระราชทานพระโกศไม้สิบสองหุ้มทองคำทรงพระบรมศพ[4] และพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง[5]
พระราชโอรสธิดา
แก้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระราชโอรสธิดารวม 43 พระองค์[6] พระราชธิดาพระองค์ใหญ่คือ "สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร" ซึ่งประสูติแต่เจ้าศรีอโนชา ราชขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงเป็นต้นราชสกุลอสุนี สังขทัต ปัทมสิงห์ และนีรสิงห์
- ประสูติก่อนอุปราชาภิเษก (ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)
- เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง (พ.ศ. 2320-2353) ประสูติในพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา พระขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงได้รับสถาปนาเป็น "กรมขุนศรีสุนทร" ในรัชกาลที่ 1
- พระองค์เจ้าชายลำดวน (พ.ศ. 2322-2347) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขะ
- พระองค์เจ้าหญิงเกสร (พ.ศ. 2322) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแก้ว สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าชายอินทปัต (พ.ศ. 2323-2346) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตัน
- พระองค์เจ้าชายก้อนแก้ว (พ.ศ. 2324) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาล่า สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าชายช้าง (พ.ศ. 2324) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปุย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
ประสูติเมื่ออุปราชาภิเษกแล้ว - พระองค์เจ้าหญิงดวงจันทร์ (พ.ศ. 2326-2411) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5
- พระองค์เจ้าชายอสุนี (พ.ศ. 2326-2378) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาขำ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นเสนีเทพ เมื่อ พ.ศ. 2351 ในรัชกาลที่ 1 สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 ทรงเป็นต้นสกุล อสุนี
- พระองค์เจ้าหญิงโกมล (พ.ศ. 2326) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแก้วศาลาลอย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าหญิงบุนนาค (พ.ศ. 2328) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าหญิงดาราวดี (พ.ศ. 2328-2410) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย เสกสมรสกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2328) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสุวรรณา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าหญิงโกสุม (พ.ศ. 2328) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพ่วง สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
- พระองค์เจ้าหญิงกำพุชฉัตร (พ.ศ. 2329) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานักองค์อี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าหญิงปัทมราช (พ.ศ. 2330-2408) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์ ณ นคร) กับท่านผู้หญิงชุ่ม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2330) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1
- พระองค์เจ้าชายมั่ง (พ.ศ. 2331) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเกศ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 มีพระโอรสและธิดา 7 องค์ ไม่มีนามสกุลพระราชทาน
- พระองค์เจ้าชายสิงหราช (พ.ศ. 2331) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาล่า สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าหญิงกลัด (พ.ศ. 2332) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามีใหญ่ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าหญิงฉิมพลี (พ.ศ. 2332) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดางิ้ว สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
- พระองค์เจ้าชายสังกะทัต (พ.ศ. 2332) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา กรมหมื่นนรานุชิต ในรัชกาลที่ 3 ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมขุนนรานุชิต ในรัชกาลที่ 4 สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นต้นสกุล สังขทัต
- พระองค์เจ้าหญิงแก้ว (พ.ศ. 2332) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแจ่ม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2334) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานักองค์เภา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1
- พระองค์เจ้าหญิงศรีสุดาอับสร (พ.ศ. 2334-2367) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพ็ง สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าหญิงลมุด (พ.ศ. 2334-2417) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดามีน้อย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5
- พระองค์เจ้าชายบัว (พ.ศ. 2335) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศรี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 ทรงเป็นต้นสกุล ปัทมสิงห์
- พระองค์เจ้าหญิงปุก (พ.ศ. 2335) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานักองค์เภา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าหญิงดุษฎี (พ.ศ. 2335-2406) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเสม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าชายสุก (พ.ศ. 2335) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 มีพระโอรส 1 องค์ คือ หม่อมเจ้าชายปลาย (พ.ศ. 2387 - ไม่มีข้อมูล)
- พระองค์เจ้าชายเพ็ชรหึง (พ.ศ. 2336) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชู สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
- พระองค์เจ้าหญิงวงศมาลา (พ.ศ. 2336) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานักองค์อี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าหญิงนิลวัตถา (พ.ศ. 2336) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าหญิงกำพร้า (พ.ศ. 2337) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาบับภา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
- พระองค์เจ้าหญิงกลิ่น (พ.ศ. 2337) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาภู่ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าหญิงรุ่ง (พ.ศ. 2337) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพลับจีน สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2337) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาล้อม สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
- พระองค์เจ้าชายนพเก้า (พ.ศ. 2338) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสวน สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
- พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2338) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตุ๊ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
- พระองค์เจ้าชาย (พ.ศ. 2339) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1
- พระองค์เจ้าชายสุด (พ.ศ. 2340) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2 มีพระโอรส 1 องค์ คือ หม่อมเจ้าปลาตะเพียน (ไม่มีข้อมูล - เมษายน พ.ศ. 2403)
- พระองค์เจ้าชายเณร (พ.ศ. 2343) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาไผ่ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นต้นสกุล นีรสิงห์
- พระองค์เจ้าชายหอย (พ.ศ. 2343) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตานี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1
- พระองค์เจ้าชายแตน (พ.ศ. 2344) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตานี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 1
นอกจากนี้ยังปรากฏพระราชโอรสพระนามว่าพระองค์เจ้าแทน มีพระชนม์ชีพอยู่ในรัชกาลที่ 2 ซึ่งอาจต่างพระองค์กับพระองค์เจ้าแตน[6]
พระเกียรติยศ
แก้ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | |
---|---|
การทูล | ใต้ฝ่าละอองพระบาท |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ |
พระอิสริยยศ
แก้- 19 กันยายน พ.ศ. 2286 : บุญมา
- ไม่ปรากฏ : นายสุดจินดา
- พ.ศ. 2311 : พระมหามนตรี
- พ.ศ. 2311 : พระยาอนุชิตราชา
- พ.ศ. 2313 : พระยายมราช
- พ.ศ. 2313 : เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช
- พ.ศ. 2325 : พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- หลังสวรรคต
- สมัยรัชกาลที่ 4 : กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
- สมัยรัชกาลที่ 6 : สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้แก่
- ฉัตรชัย เปล่งพานิช จากละครเรื่อง สงครามเก้าทัพ (2531)
- คงกะพัน แสงสุริยะ จากละครเรื่อง ฟ้าใหม่ (2547)
- สราวุธ มาตรทอง จากละครเรื่อง ศรีอโยธยา 2 (2562)
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
แผนผัง
แก้อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ ราชสกุลวงศ์, หน้า 3
- ↑ 2.0 2.1 พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ : ๑๐๕. พระราชประวัติกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- ↑ ๓. ประดิษฐานพระราชวงศ์
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ : ๑๐๔. กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ : ๑๑๐. การพระเมรุกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
- ↑ 6.0 6.1 พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี, หน้า 31
- บรรณานุกรม
- เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) (11 สิงหาคม 2531). "พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2480. 196 หน้า. หน้า ง-ฉ. [พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายพันเอก พระยาสิริจุลเสวก (พัว จุลเสวก)]
- สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. ISBN 978-974-417-594-6
- ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า 31. ISBN 974-221-818-8
ก่อนหน้า | สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | ถัดไป
| ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (กรุงธนบุรี) |
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ราชวงศ์จักรี) (พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2346) |
เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร |