พันธุ์ทิพย์พลาซ่า

(เปลี่ยนทางจาก Pantip)

พันธุ์ทิพย์พลาซ่า (อังกฤษ: Pantip Plaza) เป็นศูนย์การค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมแห่งแรกและขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสาขาแรกสุด ตั้งอยู่บนถนนเพชรบุรี แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร บริหารงานโดย บริษัท แอสเสท เวิร์ด รีเทล จำกัด ในเครือบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)

พันธุ์ทิพย์พลาซ่า
Pantip Plaza
พันธุ์ทิพย์พลาซ่า สาขาแรกบนถนนเพชรบุรี ภาพถ่ายจากตึกใบหยก 2
แผนที่
ที่ตั้งราชเทวี, กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
พิกัด13°45′0″N 100°32′15″E / 13.75000°N 100.53750°E / 13.75000; 100.53750
ที่อยู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
เปิดให้บริการ22 กันยายน พ.ศ. 2527 (พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูนํ้า)
ปิดให้บริการพ.ศ. 2563 (พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูนํ้า)
ชื่อเดิมเอ็กซ์เซล
จำนวนผู้เช่า2
จำนวนชั้น5, รวมชั้นลอย
ขนส่งมวลชน ประตูน้ำ
เว็บไซต์www.pantipplaza.com
ทางเข้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ
พันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำใน พ.ศ. 2556
พันธุ์ทิพย์พลาซ่า เชียงใหม่

ประวัติ

แก้

พันธุ์ทิพย์พลาซ่า เปิดดำเนินการเมื่อ 22 กันยายน พ.ศ. 2527 เดิมใช้ชื่อว่า "เอ็กซ์เซล"[1] โดยนำลิฟท์แก้วมาติดตั้งเป็นแห่งที่สองของประเทศไทย และใช้ระบบการอ่านรหัสแท่ง (Bar Code) เพื่อตรวจสอบราคาจากตัวสินค้า เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งภายในมี โรงภาพยนตร์พันธุ์ทิพย์ และ พันธุ์ทิพย์ภัตตาคาร ซึ่งจำหน่ายอาหารจีน โดยชื่อ “พันธุ์ทิพย์” มาจากพระนามของหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ชายาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (เจ้าของวังสวนผักกาด) ซึ่งเดิมนักลงทุนได้ติดต่อเช่าที่ดินจากท่าน จึงตั้งชื่อท่านเพื่อเป็นการให้เกียรติ

ในระยะต่อมา จำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีห้างสรรพสินค้าเปิดตัวขึ้นหลายแห่งในละแวกนั้น อาทิเมโทรประตูน้ำ พาต้าอินทรา ซิตี้พลาซ่าประตูน้ำ แพลตินั่มประตูน้ำ เป็นผลให้ร้านค้าที่มีอยู่ทยอยปิดตัวลง จึงเปิดให้ทางห้างเอ็กเซลเช่าพื้นที่ภายในส่วนหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็จัดร้านค้าเฉพาะกลุ่มเข้าเป็นสัดส่วน อาทิ ศูนย์เช่าพระเครื่อง ร้านจำหน่ายสินค้ามือสอง เป็นต้น

หลังจากนั้น เป็นช่วงอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู จึงกลายเป็นศูนย์รวมสำนักงานโครงการคอนโดมิเนียมต่างๆ โดยแบ่งอยู่กับศูนย์เช่าพระเครื่อง ส่วนภัตตาคารที่ปิดกิจการไป ก็ปรับปรุงเป็นห้างไอทีซิตี้ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ก็ปรับปรุงเป็นศูนย์รวมร้านค้าคอมพิวเตอร์แห่งแรกประเทศไทย ในขณะเดียวกัน และพันธุ์ทิพย์เป็นที่รู้จักวงกว้างมากขึ้น ในปี 2544 วงโลโซ ร้องเพลง “พันธุ์ทิพย์” ในอัลบั้มปกแดง ซึ่งขณะนั้นพันธุ์ทิพย์เป็นที่รู้จักเรื่องแผ่นผี ของผิดลิขสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2560 การค้าขายสินค้าไอทีเกิดความเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว มีห้างไอทีเกิดขึ้นใหม่ในทำเลที่ตรงกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมาก และผู้คนหันไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมมากกว่า ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเริ่มลดลง เป็นผลให้บริษัท แอสเซท เวิร์ด คอร์ป ดำเนินการปรับปรุงครั้งใหญ่ เปลี่ยนรูปแบบศูนย์การค้าจากห้างไอทีมาเป็นศูนย์การใช้ชีวิตและศูนย์กีฬาอีสปอร์ตใจกลางเมือง แต่หลังการปรับปรุงใหญ่จำนวนผู้ใช้บริการกลับไม่เติบโตขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ใน พ.ศ. 2563 บริษัท แอสเซท เวิร์ด คอร์ป ตัดสินใจยุติการดำเนินการห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ ลงถาวร โดยจะเปลี่ยนรูปแบบของอาคารไปเป็นสาขาย่อยของโครงการ เออีซี เทรด เซ็นเตอร์ เพื่อสร้างจุดมุ่งหมายให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์ค้าส่งระดับโลกแห่งแรกใจกลางเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2567 แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC)[2]ได้พัฒนาเป็น Phenix เพื่อเป็นแหล่งศูนย์อาหารของไทย มีกำหนดเปิดบริการ 26 มิถุนายน 2567[3][4]

ผลกระทบของการปรับปรุงใหญ่ ในปี 2018

แก้

ห้างนี้ถูกปรับปรุงใหม่เป็นเวลา 18 เดือน เริ่มตั้งแต่ปี 2018 ในช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงห้างร้านต่าง ๆ ได้มีการปิดตัวลงเนื่องจากมีลูกค้าสัญจรไปมาที่ลดลง แต่หลังจากการปรับปรุงร้านค้าต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้กลับมาเปิดให้บริการอีก ทำให้พันธุ์ทิพย์พลาซ่าไม่ฟื้นตัว จนกระทั่งในปัจจุบันมีพื้นที่ว่างเกือบทั้งหมด[5]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่าปรากฏในเพลงฮิต "พันธุ์ทิพย์" ของวงโลโซ เนื้อเพลงท่อนฮุค "จะไม่ไปพันธุ์ทิพย์" สื่อถึงชายหนุ่มที่พาแฟนสาวไปช้อปปิ้งที่เดอะมอลล์ เซ็นทรัล และดิเอ็มโพเรียม แต่เขาปฏิเสธที่จะพาเธอไปพันธุ์ทิพย์พลาซ่าเพราะแฟนเก่าของเขาทำงานที่นั่น แคมเปญโฆษณาต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิของผู้สร้างสรรค์ผลงานและส่งเสริมเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์

สาขา

แก้
  1. ประตูน้ำ ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงเป็นศูนย์การค้า Phenix)
  2. บางกะปิ ซอยลาดพร้าว 127 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
  3. งามวงศ์วาน ตำบลบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
  4. เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

อ้างอิง

แก้
  1. Herehor2009 (May 28, 2014). "แฟนพันธุ์แท้ 2003 : ห้างสรรพสินค้า". แฟนพันธุ์แท้ 2003.
  2. "AWC รวมพลังร้านอาหารระดับมิชลิน ร่วมสร้างฟูดเลานจ์ใหญ่ที่สุดย่านประตูน้ำ". Marketeer Online (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2024-06-11.
  3. ฐานเศรษฐกิจ (2024-05-24). "AWC ผนึกสถาบันอาหารเปิดตัว "Phenix" ดันไทยฮับด้านอาหารโลก". thansettakij.
  4. https://www.prachachat.net/tourism/news-1571420 AWC-สถาบันอาหาร ผุดโครงการ Phenix ดันผู้ประกอบการไทยสู่อาหารสากล...
  5. "พันทิพธิ์พลาซ่าร้างแล้ว - เกิดอะไรขึ้น?". Thai Solutions. 2023. สืบค้นเมื่อ February 1, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้