แพริโดเลีย หรือ แพไรโดเลีย (อังกฤษ: Pareidolia, /pɛrˈdliə/,[1] /pɛr-/[2]) เป็นปรากฏการณ์ทางจิต เป็นการรับรู้สิ่งเร้าเช่นภาพหรือเสียงที่ไม่ชัดเจนหรือไม่มีรูปแบบ (คือเป็นไปโดยบังเอิญหรือสุ่ม) ว่ามีความหมายหรือมีความสำคัญ เป็นการรับรู้แบบหนึ่งของ apophenia ซึ่งเป็นการเห็นรูปแบบหรือความสัมพันธ์กันในข้อมูลสุ่มที่ไร้ความหมาย ตัวอย่างสามัญคือการเห็นรูปสัตว์หรือใบหน้าในก้อนเมฆ ชายบนดวงจันทร์ กระต่ายบนดวงจันทร์ และการได้ยินข้อความที่ซ่อนไว้เมื่อเล่นแผ่นเสียงไวนิลย้อนทาง

รูปถ่ายจากดาวเทียมของที่ราบสูงไซโดเนียบนดาวอังคาร ซึ่งบางครั้งเรียกว่า "Face on Mars (ใบหน้าบนดาวอังคาร)" ส่วนรูปที่ถ่ายมาจากมุมอื่น ๆ จะไม่สามารถเห็นภาพลวงตานี้

คำว่า pareidolia มาจากคำวิเศษณ์ภาษากรีกว่า para- (παρά, แปลว่า "ข้าง ๆ, เป็นไปเหมือนหน้ากระดาน, แทนที่") โดยในที่นี้หมายถึงอะไรที่บกพร่อง ผิดพลาด หรือเกิดขึ้นแทนที่ และคำนามว่า eidōlon (εἴδωλον แปลว่า "ภาพ, รูปร่าง, สัณฐาน") แพไรโดเลียเป็นประเภทหนึ่งของ apophenia ซึ่งเป็นการเห็นรูปแบบในข้อมูลที่ไร้แบบแผน

ตัวอย่าง

แก้

งานศิลป์

แก้
 
จิตรกรรมของชาวอิตาลี จูเซปเป อาร์ชิมโบลโด ชื่อว่า "The Jurist (ลูกขุน)" หรือ "The Lawyer (ทนาย)" ที่ใบหน้าทำด้วยปลาและเนื้อ และลำตัวทำด้วยหนังสือเอกสารกฎหมาย

ในสมุดบันทึกของเขา ยอดนักศิลป์ เลโอนาร์โด ดา วินชี กล่าวถึงแพริโดเลียว่าเป็นเทคนิคสำหรับจิตรกร คือเขียนไว้ว่า "ถ้าเราดูผนังที่เป็นจุด ๆ ด้วยรอยต่าง ๆ หรือผนังที่ประกอบด้วยก้อนหินต่าง ๆ ที่ผสมผสานกัน และถ้าเรากำลังคิดประดิษฐ์ฉากรูปภาพ เราอาจจะเห็นผนังนั้นเหมือนกับทิวทัศน์ต่าง ๆ ประดับไปด้วยทิวเขา แม่น้ำ ก้อนหิน ต้นไม้ ทุ่งกว้าง หุบเขาที่กว้างขวาง และกลุ่มเนินเขาต่าง ๆ และอาจจะเห็นสงครามในรูปแบบต่าง ๆ และคนสัตว์ต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็ว เห็นทั้งการแสดงอารมณ์ทางใบหน้าที่แปลก ๆ และเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ ที่ตระการตา และสิ่งอื่น ๆ อันหาจำนวนไม่ได้ซึ่งเราสามารถจะกำหนดให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ที่เป็นต่างหากและชัดเจน"[3]

เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา

แก้

มีรายงานมากมายเกี่ยวกับการเห็นภาพและรูปร่างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้าของบุคคลสำคัญ ที่ปรากฏขึ้นในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ และรายงานมากมายเป็นการเห็นภาพของพระเยซู[4] แม่พรหมจรรย์มารีย์[5] คำเขียนว่าอัลลอฮ์[6] หรือปรากฏการณ์ทางศาสนาอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ในประเทศสิงคโปร์ มีแคลลัส[7]บนต้นไม้ต้นหนึ่งที่ปรากฏรูปร่างเหมือนกับลิง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีผลให้ผู้ที่ศรัทธาเดินทางมาบูชาเจ้าแห่งลิง (โดยถือเอาเป็นหนุมานหรือเห้งเจีย)[8]

ความโด่งดังของเรื่องการเห็นรูปภาพทางศาสนาต่าง ๆ และรูปแปลก ๆ อื่น ๆ ที่อยู่ในวัตถุสามัญทั่วไป ได้สร้างตลาดให้กับวัตถุต่าง ๆ เหล่านี้ในเว็บไซต์การประมูลเช่นอีเบย์ ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดอย่างหนึ่งก็คือแซนด์วิชชีสปิ้งที่มีรูปใบหน้าของแม่พรหมจรรย์มารีย์ ซึ่งได้มีการซื้อขายผ่านการประมูลได้ราคาถึง 28,000 ดอลลาร์สหรัฐ[9] (ประมาณ 1,100,000 บาทในช่วงเวลานั้น)

การพยากรณ์อนาคต

แก้

มีวิธีการพยากรณ์อนาคตแบบโบราณของชาวยุโรปหลายอย่างที่ตีความหมายเงาต่าง ๆ ของวัตถุ ยกตัวอย่างเช่น ในศาสตร์ molybdomancy มีการตีความหมายเงาของรูปร่างแบบสุ่มที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเทดีบุกหลอมลงไปในน้ำเย็นภายใต้แสงเทียน

ซากดึกดำบรรพ์

แก้

จากคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึง 1980 มีนักวิจัยชาวญี่ปุ่นชื่อว่า น.พ. Chonosuke Okamura ได้ตีพิมพ์ชุดรายงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังชื่อว่า "Original Report of the Okamura Fossil Laboratory (รายงานต้นฉบับของแล็บซากดึกดำบรรพ์โอกะมุระ)" ที่เขาพรรณนาถึงหินปูนขัดดึกดำบรรพ์จาก 425 ล้านปีก่อน (ยุค Silurian) ที่มีซากดึกดำบรรพ์เล็ก ๆ ของมนุษย์ กอริลลา สุนัข มังกร ไดโนเสาร์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่ละอย่างล้วนแต่มีขนาดเป็นเพียงหลายมิลลิเมตร ซึ่งทำให้เขาอ้างว่า "ไม่มีความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายของมนุษย์ตั้งแต่ยุค Silurian...ยกเว้นการเติบโตขึ้นจากขนาด 3.5 มิลลิเมตรมาจนถึง 1,700 มิลลิเมตร"[10][11] คุณหมอได้รับรางวัล Ig Nobel Prize (เป็นรางวัลล้อรางวัลโนเบล)[12]ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) ในปี ค.ศ. 1996 เพราะงานวิจัยนี้[13][14]

การทดสอบบุคคลิกภาพ

แก้
 
ภาพทดสอบ Rorschach test blot 03

การทดสอบ Rorschach inkblot test เป็นเทคนิคที่ใช้ แพริโดเลีย เพื่อที่จะเข้าใจสภาพจิตใจของบุคคล การทดสอบนี้เป็นการให้แสดงออกซึ่งบุคคลิกภาพ (projective test) โดยให้ผู้รับการทดสอบบอกความคิดหรือความรู้สึกของตน เกี่ยวกับภาพจุดหมึกที่ไม่ปรากฏว่าเป็นอะไรอย่างชัดเจน การแสดงออกเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์แพริโดเลียแบบตามสั่ง เพราะว่า รูปต่าง ๆ เหล่านี้จริง ๆ แล้วออกแบบโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เหมือนกับอะไร ๆ[4]

ปรากฏการณ์เสียงอิเล็กทรอนิกส์

แก้

ในปี ค.ศ. 1971 นักเขียนชาวลัตเวีย Konstantīns Raudive พิมพ์หนังสือ Breakthrough (การค้นพบ) ให้รายละเอียดกับสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นการค้นพบ electronic voice phenomenon (ปรากฏการณ์เสียงอิเล็กทรอนิกส์ ตัวย่อ EVP) ซึ่งต่อมาได้รับคำอธิบายว่าเป็นปรากฏการณ์แพริโดเลียทางหู[4]

การอัดเสียงถอยหลัง

แก้

ในปี ค.ศ. 1982 มีเสียงดนตรีร็อกที่เมื่อเล่นถอยหลังแล้ว สามารถได้ยินข้อความที่ลือว่าเป็นของซาตาน คนบางพวกเชื่อว่าข้อความเช่นนี้สามารถมีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกได้แม้ว่าจะเล่นเสียงดนตรีนั้นตามปกติ เหตุการณ์นี้มีผลให้หลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายห้ามการอัดเสียงที่ซ่อนข้อความเช่นนี้ การได้ยินข้อความ "ลับ" ที่เกิดจากการอัดเสียงถอยหลังอย่างนี้ได้รับการอธิบายจากนักวิชาการว่าเป็นปรากฏการณ์แพริโดเลียทางหู[4][15]

คำอธิบาย

แก้
 
ภาพวาด แม้ว่าจะไม่เหมือนใบหน้าจริง ๆ เลย แต่มนุษย์ก็ยังเอาไปเปรียบเทียบกับใบหน้าจริง ๆ

นักดาราศาสตร์ คาร์ล เซแกน ตั้งสมมุติฐานว่า โดยกรรมพันธุ์ มนุษย์มีความสามารถในการระบุใบหน้ามนุษย์ตั้งแต่กำเนิดเพราะเป็นทักษะที่ต้องมีเพื่อการรอดชีวิต ความสามารถนี้ทำให้มนุษย์สามารถระบุใบหน้าแม้จะมีรายละเอียดเพียงเล็กน้อยจากที่ไกล ๆ หรือที่เห็นได้ไม่ชัด แต่ก็ทำให้เกิดการตีความหมายรูปภาพที่จริง ๆ ไม่เหมือนอะไร หรือแสงและเงาที่ปรากฏในบางรูปแบบว่าเป็นใบหน้า[16] ข้อได้เปรียบทางวิวัฒนาการในการแยกแยะใบหน้าของมิตรหรือศัตรูอย่างรวดเร็ว (ไม่ถึงวินาที) อย่างแม่นยำมีมากมาย เช่น มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ (หรือแม้แต่มนุษย์ปัจจุบัน) ผู้ระบุศัตรูว่าเป็นมิตรอย่างไม่ได้ตั้งใจอาจประสบผลที่ทำให้ถึงตายเพราะความผิดพลาดนั้น นี้เป็นความกดดันทางวิวัฒนาการเพียงประเด็นหนึ่งในหลายประเด็น ที่มีผลเป็นการพัฒนาความสามารถในการรู้จำใบหน้าของมนุษย์ปัจจุบัน[17]

ผลงานวิจัยในปี ค.ศ. 2009 ที่ใช้ magnetoencephalography เช็คค่าการทำงานของสมอง พบว่า วัตถุที่ได้รับการระบุว่าเป็นใบหน้าโดยบังเอิญ ก่อให้เกิดการทำงานอย่างรวดเร็ว (ภายใน 165 มิลลิวินาที) ใน ventral fusiform cortex (รอยนูนรูปกระสวยด้านล่าง) ซึ่งเป็นเวลาและตำแหน่งการทำงานในสมองที่เหมือนกับเมื่อเกิดการเห็นใบหน้าจริง ๆ เปรียบเทียบกับวัตถุสามัญอื่น ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดการทำงานอย่างนี้ สำหรับรูปใบหน้าจริง ๆ การทำงานจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่านั้นเพียงเล็กน้อยคือที่ 130 มิลลิวินาที นักวิจัยได้เสนอว่า การรับรู้ใบหน้าที่เกิดในวัตถุที่คล้ายใบหน้าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ตีความหมายโดยระบบทางประชานที่เกิดขึ้นช้ากว่า[18]

ในงานวิจัยปี ค.ศ. 2011 ที่ใช้ fMRI แสดงว่า การให้ดูรูปร่างใหม่ ๆ ที่คล้ายใบหน้าบ่อย ๆ ที่มีผลเป็นการตีความหมายว่าสำคัญ นำไปสู่การตอบสนองที่ลดลงเมื่อแสดงใบหน้าจริง ๆ นี่เป็นผลที่แสดงว่า การตีความหมายสิ่งเร้าที่คลุมเครือต้องอาศัยกระบวนการที่คล้าย ๆ กันกับที่เกิดขึ้นเมื่อประสบกับวัตถุแท้ (คือกระบวนการที่รับรู้วัตถุที่ไม่ใช่ใบหน้าว่าเป็นใบหน้าจะมีความคล้ายคลึงกับกระบวนการที่รับรู้ใบหน้าจริง ๆ)[19]

งานวิจัยเหล่านี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมมนุษย์จึงระบุรูปที่มีวงกลมไม่กี่วงและเส้น ๆ หนึ่งว่า เป็นใบหน้า อย่างรวดเร็วโดยไม่มีการลังเล คือจะมีกระบวนการทางประชาน (cognitive processes) ที่เกิดการทำงานเมื่อเห็นวัตถุที่คล้ายใบหน้า ซึ่งบอกผู้เห็นว่าคือใครและคนนั้นมีอารมณ์เป็นอย่างไร เป็นกระบวนการที่เป็นไปก่อนที่ระบบการรับรู้เหนือจิตใจจะเกิดการทำงาน หรือก่อนแม้จะได้รับข้อมูลเสียอีก เช่น รูปใบหน้าเชิงเส้น แม้ว่าจะมีความง่ายดาย แต่ก็สามารถสื่อข้อมูลเกี่ยวกับอารมณ์ในใบหน้า ซึ่งในกรณีนี้ เป็นความผิดหวังหรือความไม่แฮ็ปปี้แบบเล็กน้อย นอกจากนั้นแล้ว ยังสามารถวาดรูปหน้าเชิงเส้นอย่างง่าย ๆ ที่จะสื่อความดุหรือความเป็นศัตรูได้ ความสามารถที่ละเอียดอ่อนที่มีกำลังเช่นนี้เป็นผลของการคัดเลือกโดยธรรมชาติเป็นระยะเวลายาวนาน ที่เลือกบุคคลที่มีความสามารถมากที่สุดในการระบุอารมณ์ของคนอื่น เช่นบุคคลที่เป็นภัย เพื่อที่จะให้โอกาสบุคคลนั้นในการหลบหนีไปหรือในการจู่โจมก่อน กล่าวโดยอีกนัยหนึ่ง การประมวลข้อมูลเช่นนี้ในระบบใต้คอร์เทกซ์ (subcortical ดังนั้น จึงเป็นการประมวลผลอย่างที่ไม่ต้องรู้ตัว) ก่อนที่จะส่งข้อมูลต่อไปยังเขตสมองที่เหลือเพื่อประมวลผลขั้นละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำให้บุคคลรนั้นสามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้นในกรณีที่ความปราดเปรียวว่องไวมีความสำคัญอย่างยิ่ง[17] ความสามารถนี้ แม้ว่าจะมีหน้าที่ที่เฉพาะเจาะจงต่องการประมวลผลและการรู้จำอารมณ์ของมนุษย์ ก็ยังสามารถกำหนดอากัปกิริยาของสัตว์ต่าง ๆ ได้อีกด้วย[20]

เมื่อรวมกับปรากฏการณ์ Apophenia (คือการระบุรูปแบบในข้อมูลที่ไม่มีรูปแบบ) และ hierophany (การปรากฏประจักษ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์) ปรากฏการณ์แพริโดเลียอาจจะช่วยสังคมมนุษย์ในยุคต้น ๆ จัดระเบียบให้กับธรรมชาติที่สับสนและทำให้เข้าใจเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกได้[21][22]

เกี่ยวกับโรค

แก้

แพริโดเลียอาจมีความสัมพันธ์กับโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder) ซึ่งพบในกรณีหนึ่งในคนไข้หญิง[23]

สถานที่เด่น

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง

แก้
  1. "Pareidolia" (ภาษาอังกฤษ). Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ 6 December 2020.
  2. "Pareidolia". Lexico (ภาษาอังกฤษ). Oxford University Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-16. สืบค้นเมื่อ 6 December 2020.
  3. Da Vinci, Leonardo (1923). John, R; Don Read, J (บ.ก.). "Note-Books Arranged And Rendered Into English". Empire State Book Co.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Zusne, Leonard; Jones, Warren H (1989). Anomalistic Psychology: A Study of Magical Thinking. Lawrence Erlbaum Associates. pp. 77–79. ISBN 0-8058-0508-7. สืบค้นเมื่อ 2007-04-06.
  5. "In New Jersey, a Knot in a Tree Trunk Draws the Faithful and the Skeptical", The New York Times, July 23, 2012.
  6. Ibrahim, Yahaya (2011-01-02). "In Maiduguri, a tree with engraved name of God turns spot to a Mecca of sorts". Sunday Trust. Media Trust Limited, Abuja. สืบค้นเมื่อ 2012-03-21.
  7. ในพฤกษศาสตร์ แคลลัสหมายถึงภาวะที่ผิวของใบไม้หรือส่วนอื่น ๆ ของต้นไม้ที่เกิดความหนาขึ้น
  8. Ng, Hui Hui (13 September 2007). "Monkey See, Monkey Do?". The New Paper. pp. 12–13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14.
  9. "'Virgin Mary' toast fetches $28,000". BBC News. 23 November 2004. สืบค้นเมื่อ 2006-10-27.
  10. Spamer, E. "Chonosuke Okamura, Visionary". Philadelphia: Academy of Natural Sciences. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-18. สืบค้นเมื่อ 2014-07-18. archived at Improbable Research.
  11. Berenbaum, May (2009). The earwig's tail: a modern bestiary of multi-legged legends. Harvard University Press. pp. 72–73. ISBN 0-674-03540-2.
  12. Ig Nobel Prize เป็นรางวัลล้อรางวัลโนเบลมอบทุก ๆ ปีในต้นเดือนตุลาคมแก่บุคคล 10 คนผู้ที่ประสบความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ที่แปลก ๆ หรือไม่เป็นสาระ
  13. Conner, Susan; Kitchen, Linda (2002). Science's most wanted: the top 10 book of outrageous innovators, deadly disasters, and shocking discoveries. Most Wanted. Brassey's. p. 93. ISBN 1-57488-481-6.
  14. Abrahams, Marc (2004-03-16). "Tiny tall tales: Marc Abrahams uncovers the minute, but astonishing, evidence of our fossilised past". The Guardian. London.
  15. Vokey, John R; Don Read, J (November 1985). "Sublminal message: between the devil and the media". American Psychologist. 11. 40 (11): 1231–39. doi:10.1037/0003-066X.40.11.1231. PMID 4083611.
  16. Sagan, Carl (1995). The Demon-Haunted World – Science as a Candle in the Dark. New York: Random House. ISBN 0-394-53512-X.
  17. 17.0 17.1 Svoboda, Elizabeth (2007-02-13). "Facial Recognition – Brain – Faces, Faces Everywhere". The New York Times. The New York Times. สืบค้นเมื่อ July 3, 2010.
  18. Hadjikhani, N; Kveraga, K; Naik, P; Ahlfors, SP (February 2009). "Early (M170) activation of face-specific cortex by face-like objects". Neuroreport. 20 (4): 403–7. doi:10.1097/WNR.0b013e328325a8e1. PMC 2713437. PMID 19218867.
  19. Voss, JL; Federmeier, KD; Paller, K (2011). "The potato chip really does look like Elvis! Neural hallmarks of conceptual processing associated with finding novel shapes subjectively meaningful". Cerebral Cortex. doi:10.1093/cercor/bhr315. PMID 22079921.
  20. "Dog Tips – Emotions in Canines and Humans". Partnership for Animal Welfare. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-17. สืบค้นเมื่อ July 3, 2010.
  21. Bustamante, Patricio; Yao, Daniela; Bustamante (2010), The Worship to the Mountains: A Study of the Creation Myths of the Chinese Culture, Rupestre Web.
  22. Bustamante, Patricio; Yao, Fay; Bustamante, Daniela (2010). "Pleistocene Art: the archeological material and its anthropological meanings" (PDF). From Pleistocene Art to the Worship of the Mountains in China. Methodological tools for Mimesis in Paleoart, Congress IFRAO 2010 – 'Pleistocene Art of the World'. Symposium. Signs, Symbols, Myth, Ideology.
  23. Fontenelle, Leonardo. "Leonardo F. Fontenelle. Pareidolias in obsessive-compulsive disorder". สืบค้นเมื่อ October 28, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้