เทเวศร์

ย่านในกรุงเทพมหานคร

เทเวศร์ เป็นย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในเขตการปกครองของแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร และแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีตลาด ชุมชน สถานศึกษา สถานที่ราชการอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยและหอสมุดแห่งชาติ

สะพานเทเวศรนฤมิตร
ตึกแถวบริเวณเทเวศร์

ประวัติ

แก้

ในอดีตจัดเป็นชานเมืองของกรุงเทพมหานคร มีวัดเก่าแก่ที่สร้างก่อนสมัยอยุธยาและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น อย่าง วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร (ตั้งวัด พ.ศ. 1850) จึงสันนิษฐานว่าเป็นชุมชนใหญ่ตั้งแต่โบราณ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม (คลองรอบกรุง) วัตถุประสงค์ของการขุดคลองเพื่อขยายอาณาเขตของพระนคร และเนื่องจากคลองผดุงกรุงเกษมผ่านพื้นที่ย่านเทเวศร์ ทำให้ราษฎรเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันมากขึ้น บริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมเกิดเป็นตลาดน้ำขนาดใหญ่

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนสามเสนรวมถึงถนนในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงมีการสร้างวังของเจ้านายหลายพระองค์ เช่น วังบางขุนพรหม วังรพีพัฒน์ และวังเทเวศร์ ในช่วงนี้เองได้เรียกย่านนี้ตามตำบลที่ตั้งของวังเทเวศร์ ภายหลังเกิดตลาดสด ตลาดต้นไม้[1]

การใช้พื้นที่

แก้

ย่านเทเวศร์มีวัด ได้แก่ วัดนรนาถสุนทริการาม วัดราชาธิวาสราชวรวิหารและวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร[2] มีตลาดสดขนาดใหญ่ คือ ตลาดเทวราช ที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ ตลาดเทเวศร์[3] มีตลาดต้นไม้เทเวศร์ตั้งอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมอีกด้านหนึ่ง มีสถานที่ราชการอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย หอสมุดแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ และวังต่าง ๆ เช่น วังบางขุนพรหมและวังเทเวศร์ สถานการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์เทเวศร์, ศูนย์โชติเวช และโรงเรียนวัดเทวราชกุญชร เป็นต้น

ที่พักอาศัยกระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในแขวงวชิรพยาบาล ได้แก่ ชุมชนวัดเทวราชกุญชร และกลุ่มอยู่ริมแม่น้ำ เช่น ชุมชนด้านในตลาดเทวราช ชุมชนท่าวาสุกรี นอกจากนี้ยังมีชุมชนวัดนรนาถสุนทริการาม ในแขวงวัดสามพระยา มีบ้านสี่เสาเทเวศร์ ในอดีตเป็นบ้านพักของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์[4]

อ้างอิง

แก้
  1. ปิยาภา ร่มสนธิ์. "ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาพื้นที่ย่านเทเวศร์กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  2. หนุ่มลูกทุ่ง. "เลียบสถล ยลสถาน ย่านสามเสน-เทเวศร์". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "ย้อนวันวาน 8 พิกัดท่องย่านเก่า เทเวศร์".
  4. "เปิดประวัติ "บ้านสี่เสาเทเวศร์" บ้านพักคู่บารมี "พล.อ.เปรม"". โพสต์ทูเดย์.