หอยงวงช้างมุก
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: เพลสโตซีนยุคต้น - ปัจจุบัน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
อันดับ: Nautilida
วงศ์: Nautilidae
สกุล: Nautilus
สปีชีส์: N.  pompilius
ชื่อทวินาม
Nautilus pompilius
Linnaeus, 1758
ชนิดย่อย[1]
ชื่อพ้อง

หอยงวงช้างมุก (อังกฤษ: Chambered nautilus, Pearly nautilus; ชื่อวิทยาศาสตร์: Nautilus pompilius) เป็นสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังชนิดหนึ่ง อยู่ในไฟลัมมอลลัสคา ชั้นเซฟาโลโพดา

จัดเป็นหอยงวงช้าง (Nautilidae) ชนิดหนึ่ง มีลักษณะของเปลือกค่อนข้างโตและมีพื้นสีขาว มีลายสีส้มอมแดง จากบริเวณปากไปจนถึงก้นเปลือกหอย

โดยเป็นสัตว์ที่มีชีวิตอยู่มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการพบซากฟอสซิลที่ทะเลเกาะลูซอน ในประเทศฟิลิปปินส์[2]

มีขนาดประมาณ 10–25 เซนติเมตร พบได้ทั่วไปในน่านน้ำเขตอินโด-แปซิฟิก จนถึงฟิลิปปิน, ทะเลญี่ปุ่น, ทะเลซูลู จนถึงเกรตแบร์ริเออร์รีฟ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย (ดูในตาราง) ในน่านน้ำไทยจัดว่าหาได้ยาก โดยจะพบได้น้อยที่ฝั่งทะเลอันดามัน เช่น เกาะอาดัง, หมู่เกาะสิมิลัน, เกาะหลีเป๊ะ โดยไม่พบในอ่าวไทย

เป็นสัตว์ที่ว่ายและหากินในแถบกลางน้ำและพื้นดิน โดยสามารถดำน้ำได้ถึง 3 กิโลเมตร จับสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่า เช่น ปลาหรือกุ้ง เป็นอาหาร รวมทั้งซากสัตว์ทั่วไป

เป็นสัตว์ที่ใช้เนื้อรับประทานได้เช่นเดียวกับหมึกหรือหอยทั่วไป เปลือกใช้ประโยชน์ในการทำเครื่องประดับ[3] [4] รวมถึงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทั่วไป ซึ่งหอยงวงช้างมุกจะไม่ค่อยเคลื่อนไหวมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากในธรรมชาติอาศัยอยู่ในน้ำลึก แต่จะลอยตัวนิ่ง ๆ อยู่ข้างตู้มากกว่า อุณหภูมิที่ใช้เลี้ยงจะอยู่ที่ประมาณ 18–20 องศาเซลเซียส และเป็นสัตว์ที่ไม่กินอาหารมากนัก จนสามารถให้อาหารเพียงแค่สัปดาห์ละครั้งหรือ 2 ครั้งเท่านั้น โดยสามารถใช้ไม้เสียบล่อให้มากินหรือให้อาหารเองกับมือได้ นอกจากนี้แล้วในสถานที่เลี้ยงพบว่า หอยงวงช้างมุกสามารถวางไข่ได้ด้วย โดยจะวางไข่ติดกับก้อนหิน ไข่ใช้ระยะเวลาฟัก 8 เดือน หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ตัวอ่อนมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 เซนติเมตร แต่อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบันยังไม่สามารถเลี้ยงลูกหอยงวงช้างมุกจนกระทั่งโตเต็มวัยได้[5]

อ้างอิง

แก้
  1. "Nautilus pompilius". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. Ryoji, W.; et al (2008). "First discovery of fossil Nautilus pompilius (Nautilidae, Cephalopoda) from Pangasinan, northwestern Philippines". Paleontological Research 12 (1): 89–95. doi:10.2517/1342-8144(2008)12[89:FDOFNP]2.0.CO;2.
  3. "หอยงวงช้าง". สนุกดอตคอม.
  4. "หอยงวงช้าง" (PDF). กรมประมง.[ลิงก์เสีย]
  5. หอยงวงช้าง (Nautilus), หน้า 141-142. คอลัมน์ "คลินิกสัตว์ทะเล" โดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 35 ปีที่ 3: พฤษภาคม 2013

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Nautilus pompilius ที่วิกิสปีชีส์