หอยงวงช้าง

(เปลี่ยนทางจาก Nautilidae)

สำหรับหอยงวงช้างที่นิยมนำมารับประทาน ดูที่: หอยกูอีดั๊ก

หอยงวงช้าง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไทรแอสซิก-ปัจจุบัน[1]
350–0Ma
หอยงวงช้างปาเลา (Nautilus belauensis)
ช่องภายในของเปลือกหอยงวงช้างที่แบ่งเป็นห้อง ๆ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
ชั้นย่อย: Nautiloidea
อันดับ: Nautilida
อันดับย่อย: Nautilina
Agassiz, 1847
วงศ์: Nautilidae
Blainville, 1825
สกุล[2]
ชื่อพ้อง[3]
  • Eutrephoceratidae Miller, 1951

หอยงวงช้าง เป็นมอลลัสคาในชั้นเซฟาโลพอด จัดอยู่ในอันดับย่อย Nautilina จัดเป็นมอลลัสคาที่มีวิวัฒนาการค่อนข้างสูง เป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้แล้วกว่า 350 ล้านปี จัดอยู่ในชั้นเซฟาโลพอด อันเป็นชั้นเดียวกับปลาหมึก ในชั้นย่อยนอติลอยด์ จัดเป็นนอติลอยด์เพียงกลุ่มเดียวเท่าที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตจำพวกหนึ่งก็ว่าได้[4]

ลักษณะและพฤติกรรม

แก้

มีลักษะเหมือนหมึกผสมกับหอยฝาเดี่ยว เป็นสัตว์ที่ว่องไว ว่ายน้ำได้ดี ตาไม่มีคอร์เนียและเลนส์ เป็นแอ่งบุ๋มจากลำตัวเข้ามา มีน้ำทะเลเข้ามาอาบในชั้นเรตินาจึงรับภาพไม่ได้ เยื่อแมนเทิลมีกล้ามเนื้อหนา มีหนวดที่มากถึง 63–94 เส้น ซึ่งมากกว่าหมึกเสียอีก[5]และมีประสาทสัมผัสที่ทำหน้าที่เหมือนเซนเซอร์สำหรับสัมผัสและรับรู้ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น การหาอาหารและหลบหลีกศัตรู[6] มีเปลือกหุ้มอยู่ภายนอก เปลือกขดเป็นวง มีผนังกั้นภายในตามขวาง แบ่งเป็นช่องอยู่ด้านในคล้ายห้อง ช่องนอกสุดที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นช่องที่ตัวหอยอาศัยอยู่ อากาศที่อยู่ในช่องของเปลือกทำให้หอยงวงช้างลอยตัวได้ เมื่อจะดำน้ำลง หอยจะปล่อยอากาศที่อยู่ในช่องเหล่านี้ออกมา แล้วให้น้ำเข้ามาแทนที่ ทำให้ตัวหนักและจมลงได้ อันเป็นหลักการเดียวกับถังอับเฉาในเรือดำน้ำ

หอยงวงช้างว่ายน้ำโดยการพ่นน้ำออกไปทางท่อไซฟอนเช่นเดียวกับหมึก แต่การว่ายน้ำของหอยงวงช้างเป็นไปอย่างช้า ๆ ไม่รวดเร็วเท่าหมึกเนื่องจากมีเปลือก และไม่สามารถเห็นทิศทางที่จะไปได้ เพราะเป็นการว่ายถอยหลัง[6] อาหารที่ชอบกินได้แก่ ปลา, กุ้ง ที่ว่ายน้ำอยู่ใกล้พื้นทะเล หอยงวงช้างมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยแยกเพศกันเป็นตัวผู้และตัวเมีย การผสมพันธุ์มีความคล้ายคลึงกับหมึก โดยตัวผู้จับถุงเสปิร์มส่งเข้าไปในช่องลำตัวของตัวเมีย ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะฟักเป็นตัวโดยตรง และไม่มีระยะตัวอ่อน หอยงวงช้างยังพบได้มากที่ติมอร์-เลสเต[7] ส่วนในน่านน้ำไทยมีหอยงวงช้างอยู่จำนวนไม่มากนัก โดยพบทางทะเลอันดามันของมหาสมุทรอินเดีย และไม่พบในอ่าวไทย[8] เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน โดยในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวอยู่ในที่ลึก อาจถึง 400 เมตรได้[6]

จากการเลี้ยงในสถานที่เลี้ยง พบว่าหอยงวงช้างมีการวางไข่ โดยจะวางไข่ติดกับก้อนหิน ไข่ใช้ระยะเวลาฟัก 8 เดือน หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ตัวอ่อนมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 เซนติเมตร แต่อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบันยังไม่สามารถเลี้ยงลูกหอยงวงช้างจนกระทั่งโตเต็มวัยได้[9]

การจำแนก

แก้

มีเพียงวงศ์เดียว คือ Nautilidae มีอยู่ด้วย 6 ชนิดใน 2 สกุล ตัวต้นแบบมาจากสกุล Nautilus ซึ่งมักอ้างอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปที่ หอยงวงช้างมุก (N. pompilius) และยังใช้เรียกชนิดใดก็ตามที่อยู่ในวงศ์เดียวกันนี้ โดยการปรับตัวอยู่ในน้ำลึกมาหลายล้านปีทำให้หอยงวงช้างเป็นสมาชิกเพียงจำพวกเดียวของ ชั้นย่อย Nautiloidea ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมักจะพบเป็นฟอสซิลตามหินฟอสซิลโบราณนักชีววิทยาจึงจัดให้เป็นฟอสซิลที่ยังมีชีวิตอยู่

หอยงวงช้าง เป็นหอยที่อาศัยอยู่ในน้ำลึก ประมาณ 400–600 เมตร และสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 3 กิโลเมตร แต่ไม่มีหมึกเพื่อป้องกันตัวเช่นเดียวกับปลาหมึก[10]

อ้างอิง

แก้
  1. Ward, P. D.; Saunders, W. B. (1997). "Allonautilus: A New Genus of Living Nautiloid Cephalopod and Its Bearing on Phylogeny of the Nautilida". Journal of Paleontology (Paleontological Society) 71 (6): 1054–1064. doi:10.2307/1306604. JSTOR 1306604. edit
  2. "Nautilidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. Cichowolski, M.; Ambrosio, A.; Concheyro, A. (2005). "Nautilids from the Upper Cretaceous of the James Ross Basin, Antarctic Peninsula". Antarctic Science 17 (2): 267. doi:10.1017/S0954102005002671. edit
  4. หอยงวงช้าง
  5. "หมึก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-11. สืบค้นเมื่อ 2012-04-21.
  6. 6.0 6.1 6.2 Ocean Deep, "Planet Earth". สารคดีทางบีบีซี: 2006
  7. หน้า 7, นอติลุส...ติมอร์มีมาก. ไทยรัฐปีที่ 70 ฉบับที่ 22500: วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2562 แรม 13 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน
  8. "หอยงวงช้าง" (PDF). กรมประมง.[ลิงก์เสีย]
  9. หอยงวงช้าง (Nautilus), หน้า 141–142. คอลัมน์ "คลินิกสัตว์ทะเล" โดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 35 ปีที่ 3: พฤษภาคม 2013
  10. "cephalopod." Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online Academic Edition. Encyclopædia Britannica Inc., 2013. Web. 13 May. 2013. <http://www.britannica.com/EBchecked/topic/103036/cephalopod>.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้