สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี
สหพันธ์สาธารณรัฐสภาสังคมนิยมฮังการี[note 2] (แหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษส่วนมากใช้ สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี[note 3] เนื่องจากการแปลผิดพลาดในช่วงต้นของสื่อ) เป็นสาธารณรัฐที่มีอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก มีอาณาเขตครอบคลุมดินแดนประมาณ 23% ของดินแดนฮังการีในอดีต ดำรงอยู่ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 1919 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 1919 รวมระยะเวลาทั้งหมดเป็น 133 วัน สาธารณรัฐก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการเสื่อมถอยของสาธารณรัฐฮังการีที่หนึ่งในช่วงต้นปี 1919[2] สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีมีสถานะเป็นรัฐตกค้างสังคมนิยมขนาดเล็ก[3] มีหัวหน้ารัฐบาลคือซานโดร์ กอร์บอยี แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเบ-ลอ กุน กลับมีอำนาจและอิทธิพลในสาธารณรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีมากกว่า การที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับไตรภาคี ซึ่งยังคงปิดล้อมทางเศรษฐกิจในฮังการี อีกทั้งความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านดินแดน และความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมอย่างถึงแก่น ทำให้สาธารณรัฐโซเวียตล้มเหลวในเป้าหมายที่วางไว้ และถูกล้มล้างในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ก่อตั้ง บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสาธารณรัฐโซเวียตคือ ผู้นำคอมมิวนิสต์เบ-ลอ กุน[2] ถึงแม้ว่าในช่วงแรกโครงสร้างรัฐบาลใหม่ส่วนใหญ่จะมาจากพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมก็ตาม[4] ระบอบใหม่นี้รวบรวมอำนาจอย่างมีประสิทธิผลในสภาปกครอง ซึ่งใช้อำนาจนี้ในนามของชนชั้นกรรมาชีพ[5][note 4]
สหพันธ์สาธารณรัฐสภาสังคมนิยมฮังการี Magyarországi Szocialista Szövetséges Tanácsköztársaság (ฮังการี) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือนมีนาคม - เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919 | |||||||||
แผนที่แสดงอาณาเขตของราชอาณาจักรฮังการี ในเดือนพฤษภาคม - เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919
อาณาเขตที่ควบคุมโดยโรมาเนียในเดือนเมษายน 1919
อาณาเขตที่ควบคุมโดยโซเวียตฮังการี
อาณาเขตของสาธารณรัฐโซเวียตสโลวัก ที่จัดตั้งขึ้นหลังจากโซเวียตฮังการีครอบครอง
อาณาเขตที่ควบคุมโดยยูโกสลาเวียและกองทัพฝรั่งเศส
พรมแดนของฮังการีในปี 1918
พรมแดนของฮังการีในปี 1920
| |||||||||
เมืองหลวง | บูดาเปสต์ 47°29′00″N 19°02′00″E / 47.4833°N 19.0333°E | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ฮังการี | ||||||||
เดมะนิม | ชาวฮังการี | ||||||||
การปกครอง | สาธารณรัฐสังคมนิยม | ||||||||
ผู้นำโดยพฤตินัย | |||||||||
• 1919 | เบ-ลอ กุน[note 1] | ||||||||
ประธานสภาปกครองกลาง | |||||||||
• 1919 | ซานโดร์ กอร์บอยี | ||||||||
สภานิติบัญญัติ | สมัชชาแห่งชาติโซเวียต | ||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | สมัยระหว่างสงคราม | ||||||||
• ก่อตั้ง | 21 มีนาคม 1919 | ||||||||
9 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 1919 | |||||||||
• สิ้นสุด | 1 สิงหาคม 1919 | ||||||||
สกุลเงิน | โกโรนอฮังการี | ||||||||
| |||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ฮังการี ออสเตรีย สโลวาเกีย โครเอเชีย สโลวีเนีย |
ระบอบการปกครองใหม่ล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงกับไตรภาคี นำไปสู่การถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงพรมแดนใหม่ และการยอมรับรัฐบาลใหม่โดยมหาอำนาจที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[6] สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีมีกองกำลังอาสาสมัครกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากกรรมกรโรงงานในกรุงบูดาเปสต์ มีความพยายามฟื้นฟูดินแดนที่เคยสูญเสียไปให้แก่บรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นแรงสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทุกชนชั้นทางสังคมในฮังการี ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มที่เอื้อประโยชน์จากระบอบนี้เท่านั้น[7] ในขั้นต้นสาธารณรัฐได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักอนุรักษนิยมที่มีแนวคิดชาตินิยม กองกำลังนิยมสาธารณรัฐได้รุกเข้าเชโกสโลวาเกียในพื้นที่สโลวาเกีย[8] แต่หลังจากความพ่ายแพ้ทางฝั่งตะวันออกต่อกองทัพโรมาเนียในปลายเดือนเมษายน ทำให้กองทัพต้องล่าถอยออกจากแม่น้ำทิสซอ[9] ต่อมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ได้มีการประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐโซเวียตสโลวัก” โดยดำรงอยู่เพียงสองสัปดาห์ จนกระทั่งฮังการีถอนกำลังออกจากสโลวาเกียตามคำร้องขอจากไตรภาคี[8] เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม สาธารณรัฐโซเวียตเริ่มเปิดการโจมตีแนวรบของโรมาเนีย[10] แต่หลังจากนั้นโรมาเนียสามารถต้านทานการโจมตีของฮังการีได้[11] และสามารถฝ่าแนวรบของกองทัพฮังการีจนถึงบูดาเปสต์ ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่วันหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม[12]
การที่รัฐบาลโซเวียตฮังการีประกาศใช้มาตรการทั้งในส่วนของนโยบายต่างประเทศและภายในประเทศ ทำให้สาธารณรัฐสูญเสียความนิยมจากประชาชนไปอย่างรวดเร็ว[13] ความพยายามของฝ่ายบริหารชุดใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและค่านิยมของประชาชนอย่างลึกซึ้งได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง[14] ความพยายามที่จะเปลี่ยนฮังการีซึ่งยังคงสืบเนื่องมรดกจากสมัยราชาธิปไตยเข้าสู่สังคมแบบสังคมนิยมไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากองค์ประกอบหลายประการ กล่าวคือ สาธารณรัฐขาดเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่มีประสบการณ์ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนการวางแผนกลยุทธ์ในการบริหาร[14] ความพยายามที่จะโน้มน้าวใจชาวนากลับพบแต่ความว่างเปล่า เนื่องจากการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรและการบริหารเมืองในเวลาเดียวกันนั้นไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันสั้น[15] หลังจากการถอนกำลังออกจากสโลวาเกีย รัฐบาลได้บังคับใช้มาตรการเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนของประชาชนอีกครั้งแต่ก็พบกับความล้มเหลวเช่นเคย[16] โดยเฉพาะมาตรการอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การส่งมอบที่ดินบางส่วนให้แก่ชาวนาโดยไม่มีการวางแผนและที่ดิน และความพยายามที่จะปรับปรุงสถานการณ์ทางการเงินและการจัดหาเสบียงอาหาร[16] ทำให้สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ไประหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม ส่งผลให้เกิดความพินาศของสาธารณรัฐพร้อมกับความพ่ายแพ้ทางการทหาร[16] ความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศ ทั้งสถานการณ์การเมืองและการถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจจากไตรภาคี ความล้มเหลวทางการทหารในการเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และความเป็นไปไม่ได้ในการเข้าร่วมกองกำลังกับหน่วยกองทัพแดง มีส่วนทำให้สาธารณรัฐโซเวียตล่มสลาย[17] รัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยม–คอมมิวนิสต์ได้รับการสืบต่อโดยฝ่ายสังคมนิยมสายกลางเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม[4] กลุ่มคอมมิวนิสต์ลี้ภัยออกจากบูดาเปสต์หรือเดินทางออกนอกประเทศ[11]
ประวัติ
แก้การสิ้นสุดของราชาธิปไตยและการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชน
แก้ภายหลังความปราชัยของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขบวนการปฏิวัติของมวลชนซึ่งประกอบไปด้วยกรรมกร ทหาร และชาวนา ได้เริ่มแพร่กระจายเข้าไปในสังคมฮังการี ถึงขนาดที่มีตำรวจหรือหน่วยทหารบางหน่วยเข้าให้การสนับสนุน[18] จากชัยชนะของการปฏิวัติเบญจมาศ ส่งผลให้มีการแต่งตั้งมิฮาย กาโรยี เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาแห่งชาติ[19] ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม (MSDP), พรรคหัวรุนแรงแห่งชาติ, และพรรคของกาโรยี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม[20][21] ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อาร์ชดยุกโจเซฟ เอากุสท์ ได้พยายามกดดันพระเจ้าคาร์ลที่ 4 อย่างหนัก จนในที่สุดพระองค์จึงทรงประกาศรับรองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนตามที่สภาแห่งชาติเรียกร้อง[20] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ได้ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ทั้งเกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการขาดแคลนอาหารภายในเมืองต่าง ๆ[22] การปฏิรูปที่ดินเกษตรกรรมที่ชาวฮังการีรอคอยมานานก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการเช่นกัน[22] แม้ว่าจะมีการประกาศยุบสภาเก่าเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงอย่างทั่วถึง แต่ก็ยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่[21]
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1918 สาธารณรัฐประชาชนฮังการีได้ประกาศจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีกาโรยีดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว[20][21] แต่ด้วยการบริหารแบบเก่าที่ไม่เป็นระเบียบ ประกอบกับเกิดความยุ่งเหยิงภายในกองทัพ ทางคณะรัฐมนตรีจึงจำต้องพึ่งพาสหภาพแรงงานในการป้องกันการแพร่ขยายของความโกลาหลภายในประเทศ[23] ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลกาโรยียังต้องจัดการกับขบวนการหรือคณะต่าง ๆ ที่ก่อตัวขึ้นทั้งจากกรรมกร ทหาร และชาวนา[23] เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้บางส่วน เนื่องจากได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเกษตรกรรมตามที่ให้สัญญาไว้ ซึ่งทำให้พื้นที่แถบชนบทสงบลง และมีการปลดประจำการทหารออกจากกองทัพมากกว่าหนึ่งล้านนาย แม้จะพอมีกำลังทหารในหน่วยทหารรักษาการณ์เพื่อปราบปรามความรุนแรงภายในเมืองต่าง ๆ อยู่บ้าง แต่ทหารเหล่านี้แทบไม่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่เลย[23] ฮังการียังเผชิญกับปัญหาร้ายแรงและข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ไม่อาจสนองได้ในวิกฤติหลังสงคราม คณะรัฐมนตรีต่างต้องรับมือกับการประท้วงที่เพิ่มมากขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้ประณามการดำรงไว้ซึ่งความไม่เท่าเทียมของชนชั้นในฮังการี และผลักดันให้ขบวนการชาวนาและกรรมกรจำนวนมากเข้ายึดอำนาจ[21]
การก่อตั้งและการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี
แก้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1918[note 5] เบ-ลอ กุน นักสังคมนิยมฝ่ายซ้าย ร่วมกันกับสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยมและนักสังคมนิยมสายปฏิวัติในการก่อตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี" (KMP) ขึ้น โดยมีอุดมการณ์ที่โน้มเอียงไปทางลัทธิมากซ์–เลนิน[24][25] ซึ่งต่อต้านรัฐบาลผสมสังคมนิยม-เสรีนิยม[25][26][27] พรรคคอมมิวนิสต์ไม่พึงพอใจกับผลลัพธ์ของการปฏิวัติครั้งแรก โดยพรรคพยายามที่จะระดมชนชั้นกรรมาชีพฮังการีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติครั้งที่สองโดยระบอบสังคมนิยม[24] หนังสือพิมพ์ Vörös Ujság (หนังสือพิมพ์แดง) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หลักของพรรค ได้ก่อตั้งขึ้นประมาณต้นเดือนธันวาคม โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิวัติสังคมนิยม[28] และมุ่งโจมตีเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมของรัฐบาลกาโรยี[29] ในขณะเดียวกัน พรรคได้พยายามดึงดูดการสนับสนุนจากหน่วยทหารใหม่ที่รัฐบาลกาโรยีจัดตั้งแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากยังมีชาวนาหรือกรรมกรบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ โดยเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะให้เสี่ยงอันตรายไปจับอาวุธอีกครั้ง[24] ด้วยความกลัวว่ากองกำลังแดง (Red Guard) จะถูกควบคุมโดยสภาทหารแห่งชาติในบูดาเปสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จึงตัดสินใจติดอาวุธให้แก่ผู้สนับสนุนโดยตรง ด้วยการจัดซื้ออาวุธจากกองทัพเยอรมันที่ถอนกำลังภายใต้การสงบศึกเบลเกรดอย่างลับ ๆ[30][note 6] ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ในความพยายามชักจูงทหาร ทำให้การยึดอำนาจในเดือนมีนาคม 1919 แทบไม่มีการนองเลือดเลย และหน่วยงานรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วย[24] ความปั่นป่วนภายในพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่แค่ทหารเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นจากกรรมกร ชาวนา ชนกลุ่มน้อย และกองทหารของไตรภาคี[31]
ในช่วงปลายปี 1918 และช่วงต้นปี 1919 ความฟุ้งซ่านในการปฏิวัติและอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ[27] ภายในประเทศเริ่มมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย[32] ในช่วงปลายเดือนธันวาคม นักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เริ่มถกเถียงกันในเรื่องการครอบงำของสหภาพแรงงาน[29] กลุ่มคนว่างงาน, ทหารปลดประจำการ, นายทหารชั้นประทวน และการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสหภาพแรงงาน เป็นสิ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับความนิยมอย่างสูงในฮังการี[31] ในเดือนธันวาคม รัฐบาลกาโรยีพยายามอย่างไร้ผลที่จะแย่งชิงการควบคุมหน่วยทหารจากสภาทหารในเมืองหลวง ซึ่งถูกควบคุมโดยนักสังคมนิยมโยแฌ็ฟ โปกาญ[33] เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม การประท้วงของนายทหารติดอาวุธจำนวนแปดพันนายประสบความสำเร็จ ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามถูกปลดจากตำแหน่ง[34]
การเสื่อมลงของสาธารณรัฐประชาชน
แก้จากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากไตรภาคี ทำให้กาโรยีประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคม 1919 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ[35] สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมของกาโรยีและพรรคหัวรุนแรงต่างพากันออกจากคณะรัฐมนตรี[36] ภายหลังวิกฤตการณ์ร้ายแรงของรัฐบาลในช่วงกลางเดือนมกราคม ได้มีนักสังคมนิยมสายกลางบางส่วนตัดสินใจลาออกจากรัฐบาลเพราะคำวิพากษ์วิจารณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ และกลุ่มชนชั้นนายทุนปฏิเสธที่จะปกครองเพียงลำพัง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ถูกจัดตั้งโดยมีรัฐมนตรีที่เป็นสังคมนิยมมากขึ้น[37] รัฐบาลใหม่ของฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมที่นำโดย เดแน็ช เบริงคีย์[35][38] ได้ให้สัญญาว่าจะทำการปฏิรูป การกระทำนี้ได้สร้างความไม่พอใจต่อสภาโซเวียต เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม สภาแรงงานในเมืองหลวงได้หารือเกี่ยวกับการปฏิรูปไร่นา แต่รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ และการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า[34] ในช่วงต้นเดือนมกราคม ด้วยความหวาดกลัวต่ออิทธิพลของคอมมิวนิสต์ กองบัญชาการพันธมิตรในบูดาเปสต์ได้เสนอให้จับกุมเหล่าผู้แทนสภากาชาดรัสเซีย ซึ่งเป็นกำลังสนับสนุนทางการเงินที่สำคัญของพรรค[39] ท่ามกลางความอ่อนแอของรัฐบาลและนักสังคมนิยมสายกลาง ขบวนการแรงงานได้พากันเข้าควบคุมโรงงานบางแห่งไว้ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้เรียกร้อง[40] ณ ทางตอนเหนือของฮังการี รัฐบาลได้ปราบปรามการจราจลอย่างรุนแรงโดยคนงานเหมืองในช็อลโกตอร์ยาน ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมและทางรถไฟ มีผู้เสียชีวิตนับร้อยจากการจราจลครั้งนี้[40] ในช่วงปลายเดือนมกราคม พวกนักสังคมนิยมได้ตัดสินใจขับไล่กลุ่มคอมมิวนิสต์ออกจากสภาแรงงานในเมืองหลวงและสหภาพแรงงาน[41] อย่างไรก็ตามก็ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[38]
มีการคาดการณ์ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์มีจำนวนสมาชิกประมาณสามหมื่นถึงห้าหมื่นคน[30] กิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ในสภามีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก แม้ว่าอิทธิพลของพรรคในสภาแรงงานเมืองหลวงจะมีน้อยมากก็ตาม เนื่องจากการครอบงำพรรคโดยพวกประชาธิปไตยสังคมนิยม[30] ในขณะที่พวกสังคมนิยมพยายามสร้างอิทธิพลของตนเอง เพื่อยับยั้งการเติบโตของอิทธิพลคอมมิวนิสต์ในหมู่ทหาร[34] อิทธิพลของพวกสังคมนิยมเริ่มลดลงในสหภาพแรงงาน[36] ในการประชุมใหญ่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พวกสังคมนิยมได้อนุมัติมาตรการที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง[27] เช่น การกำหนดให้รัฐควบคุมการผลิตทั้งหมด การเก็บภาษีสำหรับชนชั้นสูงและอภิสิทธิ์ชน และการปราบปรามฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ เป็นต้น[42]
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หลังการประท้วงที่หน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยสังคมนิยม Népszava ที่จบลงด้วยการมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกหลายสิบคน[43][note 7] รัฐบาลได้จับกุมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์[43] จากความพยายามในการระงับข้อขัดแย้งระหว่างไตรภาคี[44][35][21][41] ทำให้รัฐบาลเริ่มอ่อนแอลงและไม่สามารถควบคุมกิจกรรมของพรรคอมมิวนิสต์ได้[35] พรรคได้วางแผนการจราจลเพื่อยึดอำนาจตามแบบฉบับของการก่อการกำเริบสปาตาคิสท์ในเยอรมนี โดยเพิกเฉยต่อคำแนะนำจากรัสเซีย และแผนการนี้ก็ประสบกับความล้มเหลวเช่นเคย[45] อย่างไรก็ตาม การจับกุมและการปฏิบัติอย่างทารุณก่อให้เกิดความไม่สงบเพิ่มขึ้น[44][46] ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนคอมมิวนิสต์ยังคงเคลื่อนไหวในแบบลับต่อไป[47] ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อสนับสนุนพรรคสังคมนิยมที่หน้ารัฐสภา[43] แต่ทั้งรัฐสภาและรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้โอกาสครั้งนี้ในการฟื้นฟูความนิยมจากประชาชนที่หายไป[46] รัฐมนตรีสังคมนิยมไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจเรียกร้อง[46] เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ รัฐบาลได้ฟื้นฟูกฎหมายปราบปรามผู้ที่เป็นศัตรูของรัฐตามที่รัฐมนตรีสังคมนิยมเรียกร้อง โดยเป็นกฎหมายที่เคยใช้ในช่วงสงคราม[48] ในขณะเดียวกัน ความคาดหวังของรัฐบาลในการได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจก็กลายเป็นเรื่องลวง[35]
สถานการณ์ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป และการมาถึงของฤดูเพาะปลูกทำให้ในชนบทเกิดความโกลาหล พรรคคอมมิวนิสต์ประณามการขาดการเปลี่ยนแปลงและการบำรุงรักษาของเจ้าของที่ดิน และสนับสนุนให้ชาวนายึดที่ดิน[48] ทางรัฐบาลที่เวลานี้ไม่มีกองกำลังทหารก็ไม่สามารถยับยั้งการยึดครองที่ดินโดยชาวนาได้ และมาตรการในการปฏิรูปก็หละหลวม ส่งผลให้มีเจ้าของที่ดินจำนวน 2,700 ราย ได้รับผลกระทบ[48] ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ประเทศเพื่อนบ้านของฮังการีได้เข้ายึดครองอาณาเขตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงที่ไม่สามารถลงรอยกันได้ระหว่างไตรภาคี และการที่รัฐบาลไม่มีมาตรการทางสังคมใด ๆ ทำให้กระแสความสังคมนิยมหัวรุนแรงเพิ่มอิทธิพลมากขึ้น[49] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม สภาแรงงานในเมืองหลวงได้ยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์และให้เข้าร่วมสภาอีกครั้ง ถือเป็นสัญญาณแห่งความอ่อนแอของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม[49] คณะรัฐมนตรีต่างรู้ดีว่าไม่สามารถต้านทานอำนาจของสภาแรงงานได้ และสภาเองก็ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลที่พวกเขาไม่พึงพอใจเช่นกัน[49] เมื่อวันที่ 13 มีนาคม หน่วยตำรวจในเมืองหลวง ซึ่งเป็นกำลังสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีได้ยอมรับอำนาจของสภาแรงงานเมืองหลวง[49] ด้วยการประท้วงอย่างต่อเนื่องของกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนว่างงาน ทหาร หญิงม่าย ฯลฯ รัฐบาลพยายามเสริมสร้างจุดยืนของตนโดยประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 13 เมษายน โดยวางใจในการรับรองมาตรการดังกล่าวของมวลชน[47]
การสถาปนาสาธารณรัฐโซเวียต
แก้การประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐ
แก้ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 1919 รัฐบาลกาโรยีได้สูญเสียกำลังสนับสนุนลงเรื่อย ๆ[35] เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ไตรภาคีได้เรียกร้องให้มีการยอมรับเขตแดนอย่างไม่เป็นธรรม[47][41] ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีก่อน เนื่องจากข้อตกลงของไตรภาคีต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ทำขึ้นในช่วงสงคราม[50] โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่เป็นกลางระหว่างกองกำลังทหารโรมาเนียและฮังการี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแทรกแซงที่ล้มเหลวในสงครามกลางเมืองรัสเซีย[35] มีการกำหนดพรมแดนขึ้นใหม่ที่ยังคงใกล้เคียงกับข้อตกลงที่ให้ไว้แก่โรมาเนียในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ลงนามหลังจากโรมาเนียเข้าร่วมสงครามโลก[51] หลังจากการมอบบันทึกวิกซ์แก่รัฐบาลกาโรยี[52] ซึ่งเรียกร้องให้มีการอพยพประชากรชาวฮังการีออกจากพรมแดนที่กำหนดขึ้นใหม่นี้และมอบดินแดนส่วนนี้ให้แก่โรมาเนีย[53] คณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้[47] และกาโรยีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง[51] พร้อมกับมอบอำนาจให้รัฐบาลใหม่ประชาธิปไตยสังคมนิยม[51][50] ซึ่งมีความเวทนาต่อชนชั้นกรรมาชีพสากลและยอมให้ประเทศเผชิญอยู่กับข้อเรียกร้องของไตรภาคี[54][55] กาโรยีได้ออกมายอมรับว่านโยบายการสร้างความสัมพันธ์ต่อไตรภาคีล้มเหลว[51] แผนการแรกของรัฐบาลใหม่คือการให้กาโรยีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีประชาธิปไตยสังคมนิยมใหม่[55] อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล สภาทหารซึ่งนำโดยโยแฌ็ฟ โปกาญได้ตัดสินใจสนับสนุนคอมมิวนิสต์ มีการยึดรถยนต์ของรัฐมนตรี และในช่วงบ่ายของวันนั้นได้มีการส่งมอบการควบคุมกองทหารรักษาการณ์ในเมืองหลวงให้แก่คอมมิวนิสต์[56] ก่อนที่โปกาญจะเข้าควบคุมบูดาเปสต์และกองทหารรักษาการณ์ทั้งหมด โดยปราศจากการต่อต้านจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ[57] ซานโดร์ กอร์บอยี ได้ประกาศต่อสภาแรงงานในเมืองหลวงถึงการจัดตั้งรัฐบาลโซเวียต[51] ของพันธมิตรประชาธิปไตยสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ในเย็นวันเดียวกัน ได้มีคำสั่งให้ปลดกาโรยีออกจากตำแหน่ง ซึ่งเขาก็ยอมรับโดยไม่ขัดขืนใด ๆ เพราะตระหนักว่าต้องหลีกทางให้แก่คณะรัฐมนตรีฝ่ายซ้ายเพื่อต่อต้านไตรภาคี[56] พวกสังคมนิยมได้ส่งคณะผู้แทนไปที่เรือนจำเพื่อเจรจากับผู้นำคอมมิวนิสต์ ซึ่งสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลผสมประชาธิปไตยสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์[58][59][51][47] เพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงนี้ รัฐบาลจึงปล่อยตัวผู้นำคอมมิวนิสต์ที่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์[60][57] ถึงแม้ว่ากลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยมจะมีขนาดที่ใหญ่กว่ามาก แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังยอมรับแผนการปฏิบัติงานของกลุ่มคอมมิวนิสต์[61] ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งระบบสภา การยึดทรัพย์สินส่วนบุคคล และการประกาศระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพอีกด้วย[4]
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1919[62][60] สภาแรงงานซึ่งได้รับอำนาจนิติบัญญัติใหม่ได้ทราบข่าวถึงการควบรวมกันระหว่างพันธมิตร[51] ของพรรคคอมมิวนิสต์ (นำโดยเบ-ลอ กุน)[56] และพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม พร้อมกับการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีขึ้น[63] โดยไม่เกิดการนองเลือดเลยแม้แต่นิดเดียว[64][57] ในตอนแรกกาโรยีซึ่งไม่ได้รับทราบถึงการรวมกันระหว่างพันธมิตรนี้[60] ได้ปฏิเสธที่จะลาออก แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ลาออกจากตำแหน่ง[63]
โครงสร้างของรัฐบาลใหม่
แก้ในคืนเดียวกันนั้น กุนได้รับการปล่อยตัว และได้เดินทางไปที่อดีตสำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่[63][note 8] มีกรรมการราษฎรจากกลุ่มคอมมิวนิสต์สองคนในคณะรัฐมนตรี เพื่อดุลอำนาจส่วนใหญ่[50] ของกรรมการราษฎรจากกลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยม ส่วนสมาชิกกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เหลือเป็นรองกรรมการราษฎร[63][61] กุนได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศ[65][66] ขณะที่สมาชิกคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ได้ควบตำแหน่งในกระทรวงการเกษตร[65] ในบรรดาสมาชิกทั้งหมดสามสิบสามคนของสภาปกครองใหม่ มีสิบสี่คนเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสิบสองคนเป็นรองกรรมการราษฎร เนื่องจากกรรมการราษฎรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยม[67] รัฐบาลได้รวมรัฐมนตรีของรูทีเนียไว้ในคณะรัฐมนตรีด้วย อันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความตั้งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนฮังการี[65] ผู้นำหลายคนมีภูมิหลังจากการมีส่วนร่วมในการปฏิวัติรัสเซียหรือไม่ก็เป็นคอมมิวนิสต์ในค่ายกักกันของรัสเซีย[7] แม้ว่ากอร์บอยีจะเป็นประธานสภาปกครองอย่างเป็นทางการ[66] แต่กุนถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในสาธารณรัฐโซเวียตใหม่นี้[68][50]
พันธมิตรประชาธิปไตยสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์
แก้พันธมิตรระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตยสังคมนิยมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากตัวของเลนินเอง[69] เขายังวิพากษ์วิจารณ์การเลียนแบบยุทธวิธีของรัสเซียโดยไม่ปรับให้เข้ากับบริบทของฮังการี[70] พรรคใหม่ซึ่งเดิมคือพรรคสังคมนิยมฮังการี[69] ได้เปลี่ยนใหม่เป็น "พรรคแรงงานสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ฮังการี" (อังกฤษ: Party of Socialist Communist Workers in Hungary)[71][72][50]
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคทั้งสองทำงานร่วมรัฐบาลเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย[73][74] จูลอ ไพเดิล ได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกระบอบสาธารณรัฐโซเวียตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม[71] ในความเป็นจริงแล้ว มีเพียงฝ่ายซ้ายและฝ่ายกลางของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในรัฐบาลอย่างแข็งขัน[74] ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างทั้งสองพรรคไม่ได้เกี่ยวกับเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นวิธีการบริหารที่เหมาะสมที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายต่างหาก[75] หลังการล่มสลายของสาธารณรัฐในเดือนสิงหาคม ความแตกต่างของทั้งสองฝ่ายก็ยิ่งแย่ลง[73][76]
ช่วงแรก
แก้แถลงการณ์ฉบับแรกของรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างลัทธิชาตินิยมที่สิ้นหวัง[77] กับลัทธิมากซ์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐบาลใหม่เพื่อสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยม[65] แต่เมื่อต้องเผชิญกับทางเลือกที่จะต้องยอมรับคำขาดจากบันทึกวิกซ์ ผู้คนส่วนใหญ่จึงตัดสินใจสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ เพื่อรักษาเอกภาพในดินแดนของประเทศ[65] ส่วนหนึ่งของความนิยมที่สนับสนุนระบอบใหม่นี้ มาจากการที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งมอสโกได้เข้ารุกรานยูเครนเพื่อต่อสู้กับศัตรูภายในซึ่งมีไตรภาคีเป็นกำลังสนับสนุน[13]
รัฐธรรมนูญ สภา และการปกครอง
แก้ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 3 เมษายน สภาปกครองได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใหม่ โดยได้ยอมรับว่าอำนาจทางการเมืองและทางกฎหมายเป็นของสภาแห่งชาติชุดใหม่[note 9] รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิพลเมือง (การชุมนุม การแสดงออก) สิทธิทางสังคม (การศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) และสิทธิทางวัฒนธรรม (การรับรู้ทางวัฒนธรรมและภาษาของชนกลุ่มน้อย)[78] อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐบาลใหม่ได้ดำเนินการปกครองในลักษณะแบบเผด็จการ ในฐานะ "การปกครองแบบเผด็จการของชนกลุ่มน้อยที่แข็งขันในนามของชนชั้นกรรมาชีพที่เฉื่อยชา"[79] อำนาจของรัฐกระจุกตัวอยู่แต่เพียงสภาปกครองและสภาบางแห่งเท่านั้น[5] การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน โดยปรากฏรายชื่อของผู้แทนเพียงคนเดียว และไม่มีฝ่ายค้าน แม้ว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ตาม[79] ไม่นานผู้แทนราษฎรก็ถูกถอดออกจากอำนาจท้องถิ่นโดยผู้แทนของรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจที่แท้จริง[79]
แม้จะมีข้อจำกัดในการเลือกตั้งสภา แต่ในการประชุมสภาแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ได้ลงเอยด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อสภาปกครอง ซึ่งจบลงด้วยการยุบสภาและได้มอบอำนาจให้แก่กรรมการราษฎรที่เห็นชอบ[5]
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แก้ความสัมพันธ์กับรัสเซียโซเวียต
แก้สาธารณรัฐได้รับการสนับสนุนทางการเงิน[26] และคำแนะนำจากรัฐบาลโซเวียตรัสเซีย แต่ทางรัสเซียมองว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการช่วยเหลือฮังการีไม่คุ้มค่าเท่ากับในเยอรมนี จึงไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่บอลเชวิคมายังฮังการี[80] แม้กุนจะร้องขอก็ตาม[81][82] มีการสื่อสารทางโทรเลขระหว่างบูดาเปสต์กับรัสเซีย[81][82] แต่กระนั้นคำแนะนำจากคอมมิวนิสต์รัสเซียก็มักถูกเมินเฉยโดยรัฐบาลฮังการี[67][82]
การเจรจากับไตรภาคี
แก้หลังการปฏิเสธการเจรจาที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลกาโรยี เมื่อมีการประกาศสาธารณรัฐโซเวียตขึ้น ไตรภาคีจึงส่งตัวแทนไปเจรจากับกุนโดยทันที[83][53] โดยกุนได้ส่งคำร้องขอถึงเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำยูโกสลาเวีย ที่กำลังพำนักอยู่ในบูดาเปสต์[84] เพื่อหารือเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันทางดินแดนตามหลักการกำหนดการปกครองด้วยตนเองกับตัวแทนของไตรภาคี นำไปสู่การส่งตัวนายพลแจน สมัทส์ แห่งแอฟริกาใต้ มาที่บูดาเปสต์ในช่วงต้นเดือนเมษายน แม้ว่าฝรั่งเศสจะไม่เห็นด้วยก็ตาม[85][86] ถึงจะมีการส่งตัวนายพลสมัทส์ไปที่ฮังการี แต่มหาอำนาจก็ยังคงไม่ยอมรับอำนาจรัฐบาลโซเวียต[86]
นายพลสมัทส์เดินทางมาถึงบูดาเปสต์เมื่อวันที่ 4 เมษายน[87][86] และเชิญกรรมการราษฎรคนหนึ่งมาที่รถไฟของเขา[6] ซึ่งกรรมการราษฎรคนนั้นก็ไม่ได้ตอบรับคำเชิญแต่อย่างใด[83] ในระหว่างการเจรจา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐซานโดร์ กอร์บอยี, เบ-ลอ กุน, และนักสังคมนิยมซิกโมนด์ กุนฟี ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายฮังการี[6] เรียกร้องให้มีสันติภาพโดยปราศจากการผนวกดินแดนหรือการชดเชยค่าปฏิกรรมสงคราม และการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง[83] ในทางกลับกัน นายพลสมัทส์ได้เสนอโครงร่างพรมแดนใหม่ที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวฮังการีมากกว่าเส้นพรมแดนที่ถูกกำหนดตามบันทึกวิกซ์ และการสร้างพื้นที่เป็นกลางขนาดใหญ่โดยมีกองกำลังไตรภาคีประจำการอยู่ที่นั่น[88][86] อีกทั้งข้อเสนอนี้ ยังทำให้เมืองสำคัญต่าง ๆ ทางตะวันออกกลับไปเป็นของฮังการีอีกด้วย[88] นายพลสมัทส์ยังกล่าวเสริมอีกว่าโครงร่างพรมแดนนี้จะไม่ถือเป็นพรมแดนที่ชัดเจน และสัญญาว่าจะยุติการปิดล้อมทางทหาร พร้อมทั้งมอบคำเชิญให้แก่รัฐบาลต่อการมีส่วนร่วมในการประชุมสันติภาพอีกด้วย[88][87][86] กุนไม่เห็นด้วยต่อการถอนกำลังของไตรภาคีทางตะวันออก โดยอ้างถึงการที่รัฐบาลขาดการควบคุมกองทหารในทรานซิลเวเนียและข้อเสนอเหล่านี้อาจไม่เป็นที่นิยมต่อประชาชน[6] นอกจากนี้ กุนยังได้เสนอข้อตกลงตามสนธิสัญญาสงบศึกเบลเกรด[86] ซึ่งนายพลสมัทส์เมินเฉยที่จะพิจารณา[89] ท่าทีของกุนระหว่างการเจรจานั้นถือว่า "รับไม่ได้" กับข้อเสนอครั้งนี้[90][69] นายพลสมัทส์เดินทางออกจากบูดาเปสต์ไปที่ปรากในวันต่อมา[88] โดยในวันเดียวกันนั้น รองกรรมการราษฎรฝ่ายกลาโหมติโบร์ ซอมูแอลี ออกคำสั่งให้โฆษณาชวนเชื่อต่อกองทหารเชโกสโลวาเกียและโรมาเนีย เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านกองทัพแดงใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย[9][87]
หลังเดินทางกลับจากบูดาเปสต์ นายพลสมัทส์ได้พบกับผู้นำออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย โดยแจ้งให้ทราบถึงความล้มเหลวของการเจรจา[6] ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเชโกสโลวาเกียจึงสั่งโจมตีฮังการีโดยทันทีเมื่อวันที่ 7 เมษายน แม้ว่านายพลแฟร์ดีน็อง ฟ็อช จะออกคำสั่งตอบรับในวันรุ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน ได้มีการออกคำสั่งต่อกองกำลังทหารภายใต้การบัญชาการของฝรั่งเศสทางตอนใต้ให้ตั้งรับและหยุดการรุกคืบขึ้นเหนือ[6] สำหรับรัฐบาลฮังการีในขณะนี้ กำลังประเมินถึงความเหมาะสมในการประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธใหม่หรือจ้างทหารตามความสมัครใจ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือทางทหารอย่างเป็นทางการจากรัสเซียโซเวียต[91]
การปะทะกับประเทศเพื่อนบ้านและการปรับโครงสร้างกองทัพ
แก้สภาพสังคมและกองทัพแดง
แก้กุนได้ประกาศยุบสภาทหาร ถึงแม้ว่าสภาทหารจะสนับสนุนให้เขาขึ้นสู่อำนาจก็ตาม และได้แต่งตั้งกรรมการราษฎรและศาลทหารปฏิวัติเพื่อพยายามนำความสงบเรียบร้อยมาสู่กองทัพอันไม่เป็นระเบียบ[9] กองพันคนงานและกองพลน้อยระหว่างประเทศถูกส่งไปยังแนวรบหน้าด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล[9] รัฐบาลได้ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิจนถึงช่วงต้นฤดูร้อน กองทัพสามารถกู้คืนดินแดนที่สูญเสียไปได้บางส่วน[7] จุดมุ่งหมายของการฟื้นฟูดินแดนนี้ได้รับความเห็นชอบจากสาธารณชนทั่วไปเกือบทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากมาตรการการเมืองภายใน[7] ปลายเดือนมีนาคม กำลังทหารของฮังการียังคงไม่เพียงพอ โดยบูดาเปสต์มีกำลังทหารเพียง 18,000 นาย ในขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพเชโกสโลวาเกียจำนวน 40,000 นาย กองกำลังโรมาเนีย 35,000 นาย และกองกำลังผสมเซอร์เบียฝรั่งเศส 72,000 นายทางตอนใต้[92]
แม้ว่าชาวนาส่วนใหญ่จะเพิกเฉยต่อคำร้องขอของรัฐบาลใหม่ แต่ชาวนาผู้ลี้ภัยจากดินแดนที่ถูกยึดครองโดยประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาจากบานัตและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทิสซอ กลายเป็นกลุ่มชาวนาที่เข้าร่วมต่อสู้กับกองทัพแดง[93] โครงสร้างของกองทัพแดงส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวนา ในช่วงสัปดาห์แรกของสงคราม กองทัพแดงสามารถต่อสู้กับกองทัพประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี แต่ในเวลาต่อมากองทัพเริ่มขาดระเบียบวินัยมากขึ้น[94] แม้ว่ารัฐบาลต้องการให้การต่อสู้เป็นแบบสากลนิยม แต่ทหารและเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่กลับต่อสู้ด้วยเหตุผลของชาตินิยม[94]
อดีตนายทหารจากกองทัพออสเตรีย-ฮังการีและผู้ลี้ภัยชนชั้นกลางจำนวนมากก็ได้เข้าร่วมกองทัพใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะผู้คนเหล่านี้เห็นถึงโอกาสที่จะสามารถกู้คืนดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมา ไม่ใช่เพราะความนิยมต่ออุดมการณ์ของระบอบใหม่[93][7][8] โดยแรงจูงใจในการเข้าร่วมกองทัพสามารถสรุปได้สามประการ ได้แก่ ประกาศแรกคือแนวคิดชาตินิยมในการปกป้องและฟื้นฟูประเทศบ้านเกิด ประการที่สองคือโอกาสที่ดีในการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วในกองทัพใหม่ ที่ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเก่าถูกปลดประจำการระหว่างสองสาธารณรัฐ และประการที่สามคือความจำเป็นในการยังชีพในกรณีที่ไม่มีงานทำ[95] ผู้คนเหล่านี้มองว่าสาธารณรัฐโซเวียตใหม่พยายามต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ซึ่งต่างจากควาบสงบสุขของสาธารณรัฐประชาชนอย่างสิ้นเชิง[93] ชาวฮังการีต่างได้ร่วมต่อสู้อย่างดุเดือดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน กระทั่งการถอนกำลังออกจากสโลวาเกีย[8] ตามคำขาดของเกลม็องโซ ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่ไปเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านปฏิวัติอื่น ๆ เช่น ฝ่ายกองทัพแห่งชาติ ซึ่งนำโดยมิกโลช โฮร์ตี หรือกองกำลังอื่น ๆ เพื่อพยายามหลบหนีการกวาดล้างจากรัฐบาลกุน[93]
อย่างไรก็ตาม การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่ข้ออ้างหลักในการขยายอาณาเขต[77] ยูโกสลาเวียพึงพอใจกับการยึดครองบอรอญอ และหันไปขัดแย้งกับโรมาเนียเสียเอง เพื่อแย่งชิงและแบ่งแยกดินแดนบานัต ทำให้ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐไม่เกิดการต่อสู้กันแต่อย่างใด[77]
พัฒนาการของการต่อสู้
แก้ความพ่ายแพ้ในทรานซิลเวเนียในเดือนเมษายน
แก้ปลายเดือนเมษายน กองกำลังทหารที่เล็กกว่าของกองทัพแดงฮังการีต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังทหารโรมาเนียเจ็ดกอง ซึ่งมีกำลังพลมากกว่ากันอยู่ห้าหมื่นนาย[9] ในเดือนกุมภาพันธ์ ณ ทรานซิลเวเนีย ทางโรมาเนียได้เกณฑ์กำลังทหารจำนวนสองกองพล ได้แก่ กองพลที่ 16 และกองพลที่ 19 โดยประกอบด้วยทหารท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรมาเนียและชาวแซกซัน (เป็นประชากรชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมันในภูมิภาค) และได้ทำการเสริมกำลังพลมากขึ้นหลังการประกาศสาธารณรัฐโซเวียตในบูดาเปสต์[96] ในเดือนเมษายน ได้มีการจัดตั้งหน่วยรบใหม่ขึ้น ได้แก่ กองพลที่ 20 และกองพลที่ 21[96] ในช่วงกลางเดือนเมษายน กองบัญชาการของโรมาเนียมีจำนวนกองพันทหารราบทั้งสิ้น 64 กอง กองร้อยทหารม้า 28 กอง กองทหารปืนใหญ่ 192 กอง มีรถไฟหุ้มเกราะและมีฝูงบิน 3 กอง อีกทั้งยังมีบริษัทด้านวิศวกรรม 2 แห่ง ซึ่งทำให้กองทัพโรมาเนียมีแสนยานุภาพเหนือกว่ากองทัพฮังการีที่มีจำนวนกองพันทหารราบเพียงแค่ 35 กอง กองทหารปืนใหญ่ 20 กอง มีฝูงบิน 2 กอง รถไฟหุ้มเกราะ 3–4 ขบวน และกองร้อยทหารม้าไม่กี่กอง[96] อย่างไรก็ตาม กองกำลังทั้งสองฝ่ายยังคงไม่ได้เผชิญหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากการปะทะกันที่เกิดขึ้นในทางใต้กับกองกำลังเซอร์เบีย[97]
การที่สาธารณรัฐขาดการสนับสนุนจากกองกำลังแนวรุกของโซเวียตรัสเซียในแม่น้ำนีสเตอร์ หลังจากการยึดครองออแดซาและการสร้างแนวป้องกันทางทิศตะวันออกของกองกำลังไตรภาคี ทำให้โรมาเนียสามารถโจมตีแนวรบของฮังการีทางด้านตะวันออกได้สะดวกยิ่งขึ้น[77] การเปลี่ยนตำแหน่งของหน่วยทหารโซเวียตบางหน่วยในยูเครนทำให้ไม่มีการเผชิญหน้าทางทหารกันกับโรมาเนีย[8] รัฐบาลบูดาเปสต์ต้องประสบกับวิกฤตการณ์ขั้นรุนแรง เมื่อกองทัพโรมาเนียและกองทัพเชโกสโลวาเกียเข้ารุกชายแดนของฮังการีและเคลื่อนพลมุ่งสู่เขตเหมืองแร่ในช็อลโกตอร์ยาน[85][98]
หลังจากการรวมกำลังพลไว้ในแนวรบหน้า เมื่อวันที่ 16 เมษายน โรมาเนียจึงเริ่มเปิดการรุกรานทันที[89][97] ในวันที่ 20 เมษายน กองทัพโรมาเนียเคลื่อนทัพเข้าสู่น็อจวาร็อด[99] และในอีกสามวันต่อมาก็สามารถยึดครองแดแบร็ตแซ็นได้[9] ในวันที่ 21 เมษายน กองทัพโรมาเนียได้หยุดการเคลื่อนทัพเพื่อที่จะจัดระเบียบใหม่ ซึ่งนั่นทำให้ฮังการีเข้าใจผิดคิดว่าโรมาเนียจะไม่ข้ามพรมแดนตามที่ตกลงกันไว้ ในวันเดียวกันนั้น ฮังการีได้กำหนดระเบียบการบัญชาการของแนวรบหน้าใหม่ เพื่อพยายามหยุดการรุกรานของโรมาเนีย อีกทั้งเพื่อชดเชยขวัญกำลังใจของทหารที่กำลังตกต่ำและการขาดวินัยของทหารด้วย[100] กรรมการราษฎรในส่วนต่าง ๆ เริ่มสูญเสียการควบคุมทางทหาร และผู้บัญชาการทหารแนวหน้า เอาเรล ชโตร์มแฟล์ด ได้ร้องขอให้ทางการส่งกำลังทหารมาเพิ่มเติม[100] การรุกของโรมาเนียยังคงดำเนินต่อไปโดยขัดคำสั่งของฝรั่งเศส[89] ที่พยายามขัดขวางแผนการตอบโต้ของแนวรบฮังการี[99] ในวันที่ 30 เมษายน กองทัพโรมาเนียได้เคลื่อนพลมาถึงบริเวณแม่น้ำทิสซอ[98] และตั้งแนวรบหลักอยู่ที่นั่น[101] หลังการเสริมกำลังแนวหน้าด้วยกองทหารใหม่จากบูดาเปสต์และเมืองอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทำให้ฮังการีสามารถต้านทานการรุกของโรมาเนียได้ที่โซลโนก และหยุดการรุกคืบของโรมาเนียในแม่น้ำทิสซอ[9] ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลได้พิจารณาที่จะยอมจำนน โดยตระหนักว่าทางฮังการีไม่มีกองกำลังเพียงพอที่จะหยุดการโจมตีของกองทัพโรมาเนีย[102] ข่าวลือที่ว่าโรมาเนียจะไม่หยุดยั้งการรุกรานและกำลังรุกเข้าสู่เมืองหลวงได้แพร่กระจายไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ถึงแม้ว่าข่าวลือเหล่านี้จะไม่มีมูลความจริงใด ๆ[103] โรมาเนียยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจอื่นและกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างหนักจากรัสเซียในยูเครน กองทัพโรมาเนียได้หยุดการรุกรานระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม[104] ในการรุกรานเมื่อเดือนเมษายน กองทัพโรมาเนียได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีนายทหารที่เสียชีวิตประมาณ 600 นาย และบาดเจ็บอีก 500 ราย[101] ทำให้กองกำลังบางส่วนถูกส่งไปยังแนวรบด้านตะวันออกโดยทันที[104] ในทางกลับกัน รัฐบาลฮังการียังคงคาดหวังความช่วยเหลือทางทหารจากรัสเซีย และหวังว่าจะมีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมนีและออสเตรีย[102]
ชัยชนะในสโลวาเกียและถอนกำลังในภายหลัง
แก้ในเวลาเดียวกัน ทางตอนเหนือ การรุกของเชโกสโลวาเกียได้หยุดลง ซึ่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม กองทัพแดงได้เคลื่อนพลมาถึงมิชโกลส์[98] ในวันที่ 10 พฤษภาคม การตอบโต้ของฮังการีเริ่มต้นขึ้นซึ่งสามารถผลักดันกองกำลังศัตรูกลับไปที่แม่น้ำอีปอย[9] ในวันที่ 19 พฤษภาคม กองทัพแดงฮังการีได้เข้ายึดครองเปแตร์วาซารอ และยึดครองมิชโกลส์ในวันที่ 21 ส่งผลให้ขวัญกำลังใจของทหารในกองทัพเพิ่มขึ้น[105] เมื่อวันที่ 26 ผู้บัญชาการกองทัพเริ่มวางแผนระยะต่อไปของการโจมตี โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ชายแดนสามแห่งระหว่างเชโกสโลวาเกียและโรมาเนีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์สองประการ ประการแรกคือเพื่อให้การพยายามติดต่อกับหน่วยงานในโซเวียตรัสเซียได้สะดวก และประการที่สองคือสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เพื่อแผนการโจมตีกองทัพโรมาเนียในทรานซิลเวเนียต่อไป[105] ปฏิบัติการทางทหารของฮังการีเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ด้วยการโจมตีแนวรบหลัก[105] ทำให้ในเดือนมิถุนายน กองทัพเชโกสโลวาเกียต้องล่าถอยไปเนื่องจากการรุกของกองทัพแดงฮังการี[9] ในวันที่ 5 มิถุนายน กองกำลังฮังการีได้เข้ายึดครองกอซซอ[note 10][106] กองบัญชาการทหารฮังการีเริ่มเตรียมแผนการโจมตีทางตะวันออกโดยไม่ละทิ้งแนวรบด้านเหนือ เพราะถึงแม้ว่าจะได้รับชัยชนะ แต่กองทัพเชโกสโลวาเกียก็ยังไม่ได้พ่ายแพ้เสียทีเดียว อันเป็นผลมาจากแนวรุกที่ฮังการีเลือกไว้ มีความเสี่ยงอยู่หลายประการอย่างยิ่ง[106]
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 มิถุนายน นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฌอร์ฌ เกลม็องโซ ได้ขอให้ยุติการโจมตีทางเหนือต่อเชโกสโลวาเกีย[106][107] ในวันที่ 10 กุนได้สัญญาว่าจะหยุดการรุกราน[108] ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงหนึ่งวันก่อนการมาถึงของกองทัพฝรั่งเศสในบราติสลาวา[note 11][109][87] ในวันที่ 13 คำขาดของเกลม็องโซถึงรัฐบาลฮังการีว่าด้วยการกำหนดพรมแดนทางเหนือได้เรียกร้องให้กองทัพแดงฮังการีถอนกำลังออกจากสโลวาเกีย และสัญญาว่ากองทัพโรมาเนียจะถอนกำลังออกจากทางตะวันออกเป็นการตอบแทน[110][8][111] ในวันที่ 19 รัฐบาลได้ตอบรับข้อเรียกร้องนี้[112] โดยกุนเลือกที่จะให้ยินยอมกับข้อเรียกร้องของทางการฝรั่งเศส[8] แม้ว่าผู้บัญชาการทหารส่วนใหญ่จะมีความปรารถนาที่จะดำเนินการรุกต่อไปทางตะวันตกเฉียงเหนือก็ตาม[106] ในวันที่ 24 มีการประกาศยุติการสู้รบ และในวันที่ 30 กองทัพแดงเริ่มถอนกำลังออกจากสโลวาเกีย[113] หลังจากยึดครองดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านได้ 2836 ตารางกิโลเมตร สภาปกครองได้สั่งให้ถอนกำลังไปยังแนวรบเดิมที่ตั้งมั่นไว้ในเดือนพฤษภาคม[110] การถอนกำลังออกจากสโลวาเกียทำให้เหล่าทหารส่วนใหญ่สูญเสียขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง[110] เนื่องจากนายทหารและเจ้าหน้าที่ส่วนมากเข้าร่วมกองกำลังคอมมิวนิสต์ด้วยเหตุผลของชาตินิยม[114][8][115] การทัพในครั้งนี้ทำให้กองทัพฮังการีสูญเสียกำลังพลไปราว 4,500 คน ตามการประมาณการของฝรั่งเศส[113] ในความเป็นจริงแล้ว จากการรุกของฮังการีเองทำให้ในตอนนี้กองทัพแดงได้สูญเสียกำลังพล และคงเป็นการยากที่จะรักษาแนวรุกไว้ได้[116] การถอนกำลังออกจากสโลวาเกียนำไปสู่การลาออกของเจ้าหน้าที่ชั้นอาวุโสหลายคน รวมทั้งนายพลชโตร์มแฟล์ดด้วย ซึ่งปฏิเสธที่จะละทิ้งดินแดนสโลวาเกียอันมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮังการี[113]
เปิดฉากโจมตีทางตะวันออกและความพ่ายแพ้ครั้งสุดท้าย
แก้หลังจากที่ทางการโรมาเนียไม่มีการตอบสนองใด ๆ มาเป็นเวลาสองสัปดาห์ ในที่สุดจึงมีการตอบสนองต่อคำร้องขอของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส โดยเรียกร้องให้มีการถอนกำลังของกองทัพแดงฮังการี ก่อนที่กองทัพโรมาเนียจะถอนกำลังออกจากดินแดนที่ยึดได้ในเดือนเมษายน[111] เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม[117] การทัพครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น เพื่อต่อต้านกองกำลังโรมาเนียทางตะวันออก ซึ่งมีเสถียรภาพที่เหนือกว่าทั้งในด้านกำลังพล ระเบียบวินัย และอาวุธยุทโธปกรณ์[118][119] เมื่อวันที่ 11 รัฐบาลฮังการีเรียกร้องให้กองทัพโรมาเนียถอนกำลังพลตามคำสัญญาของฝรั่งเศส แต่ทางการฝรั่งเศสกลับปฏิเสธในวันที่ 14 ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงในการสงบศึก[120] เกลม็องโซปฏิเสธที่จะให้โรมาเนียถอนกำลังตามที่ทางการบูดาเปสต์คาดหวังไว้ ดังนั้นรัฐบาลฮังการีจึงตัดสินใจใช้กำลังเพื่อเป็นการบังคับ[113] เมื่อวันที่ 12 มีการประกาศเกณฑ์ทหารภาคบังคับและกองทัพจากทางเหนือก็เริ่มถอนกำลังออกมาบ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้ภายในกองทัพก็เริ่มเกิดความแตกแยกและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเอง[121]
ปฏิบัติการเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม[119][120] ซึ่งเป็นหนึ่งวันก่อนการเดินขบวนของสหภาพแรงงานในหลายประเทศยุโรปที่สนับสนุนรัฐบาลบูดาเปสต์[122] รัฐบาลต่อต้านการปฏิวัติแห่งแซแก็ดได้แจ้งแผนการโจมตีของกองทัพแดงฮังการีแก่ผู้บัญชาการทหารของโรมาเนีย[118] แม้ว่าจะมีการสื่อสารกันที่ผิดพลาด แต่กองทัพแดงฮังการีได้ข้ามแม่น้ำทิสซอและเคลื่อนทัพต่อไปจนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม[123] ทำให้กองทัพโรมาเนียได้เริ่มโจมตีกลับในวันต่อมา[118][119] กองทัพแดงเริ่มถอนกำลังพลในวันที่ 26 และในวันที่ 27 กองทัพแดงจึงเคลื่อนพลกลับไปที่พื้นที่เดิมก่อนการรุกราน[123] ในวันที่ 30 กองทหารของโรมาเนียเริ่มเคลื่อนพลข้ามแนวแม่น้ำทิสซอ และมุ่งหน้าไปยังเมืองหลวงของฮังการีอย่างไม่ลดละ[118][124][119] รัฐบาลโซเวียตรัสเซียไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานของโรมาเนียได้เหมือนครั้งที่เคยทำเมื่อเดือนพฤษภาคม[118][98] ทางฮังการีซึ่งได้ยุบหน่วยทหารที่ไม่จำเป็นไปแล้วบางส่วน ต้องเผชิญกับความขัดแย้งภายในกองทัพและการขาดกำลังสำรอง[121] ขณะนี้กองทัพแดงฮังการีกำลังล่าถอยด้วยความระส่ำระสาย[118][124] ความหวังของรัฐบาลบูดาเปสต์ในการป้องกันการรุกรานแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการโจมตีของกองทัพโรมาเนียตลอดทั้งแนวรบ[118] บรรดาผู้นำของรัฐบาลได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะละทิ้งเมืองหลวงและก่อตั้งกลุ่มต่อต้านขึ้นมาแทน โดยหวังว่าจะสามารถหยุดการรุกรานของโรมาเนียได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในการพิจารณานี้ถูกปัดตก แต่มีคำสั่งให้สร้างแนวรับการรุกรานใหม่บริเวณแม่น้ำทิสซอโดยสภาปกครอง[125] ในคืนวันที่ 31 กรกฎาคม กองพลที่ 6 ของโรมาเนีย ได้ตั้งมั่นกองกำลังห่างจากโซลโนก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของแนวรบแม่น้ำทิสซอ เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น[118] ในขณะที่กองกำลังอื่น ๆ เข้ายึดโตกาย (Tokaj) และตอร์ซอล (Tarcal) ในทางเหนือ[126] รัฐบาลบูดาเปสต์ออกคำสั่งให้ตอบโต้ทันที แม้ว่าขวัญกำลังใจของทหารจะต่ำก็ตาม กองทัพแดงฮังการีได้เดิมพันต่อสู้เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อหยุดยั้งการรุกรานของกองทัพโรมาเนียอย่างไร้ผล[127] เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม กองกำลังทหารของฮังการีจำนวนมากได้ละทิ้งแนวแม่น้ำ แม้ว่าจะมีบางหน่วยที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้ หน่วยทหารที่เหลืออยู่ของฮังการีสามารถยึดโซลโนกกลับคืนมาได้ แต่ก็ไม่สามารถหยุดการรุกรานจากแนวรบอื่นที่เหลือ[128] โดยในวันนั้น กองทัพโรมาเนียสามารถรุกคืบเข้าไปได้อีกสามสิบกิโลเมตร ซึ่งระหว่างทางก็พบกับการปะทะกันเล็กน้อย[129]
แม้ว่ายูโกสลาเวียจะไม่เต็มใจเข้าร่วมในปฏิบัติการทางทหารกับฮังการี แต่ที่สุดแล้วรัฐบาลเบลเกรดก็ได้ตกลงเป็นพันธมิตร เนื่องด้วยแรงกดดันจากไตรภาคี[10] การปะทะกันอีกครั้งในแนวรบของโรมาเนียได้สร้างความพ่ายแพ้ให้แก่ฮังการีอย่างรวดเร็ว จากการนัดหยุดงานของแรงงานในยูโกสลาเวีย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เพื่อหยุดยั้งการเข้าแทรกแซงสงคราม และการมอบกรรมสิทธิ์ดินแดนบานัตส่วนหนึ่งให้แก่โรมาเนียโดยไตรภาคี ทำให้ยูโกสลาเวียไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อต้านรัฐบาลบูดาเปสต์ครั้งนี้[10]
มาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมและวิกฤตภายใน
แก้แม้ว่าสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีจะทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลโซเวียตก็มุ่งมั่นที่จะนำอุดมการณ์แบบลัทธิสังคมนิยมมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมของฮังการีโดยทันที รัฐบาลเริ่มดำเนินการปฏิรูปและออกมาตรการต่อผู้ที่ถูกมองว่าเป็น "ศัตรูของชนชั้นแรงงาน" โดยยึดตามแบบอย่างของรัสเซียอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้สาธารณรัฐสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนอย่างรวดเร็ว[93] การใช้มาตรการที่ก้าวหน้าและการประยุกต์ใช้ระบอบเผด็จการของรัฐบาล ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากในหมู่ประชากร[7] ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและค่านิยมของประชากรอย่างลึกซึ้งกลับกลายเป็นความล้มเหลว[14] ความพยายามที่จะเปลี่ยนฮังการีจากสังคมแบบศักดินาเป็นสังคมแบบมาร์กซิสต์ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐและความล้มเหลวของขบวนการคอมมิวนิสต์ ตลอดจนความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ[14] รัฐบาลโซเวียตได้กำหนดวัตถุประสงค์ของตนไว้สองประการ ประการแรกคือการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นรูปแบบของมาร์กซิสต์ และประการที่สองคือการกำจัดความขัดแย้งทั้งหมด เพื่อประกันความอยู่รอดของระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ[14]
ในขณะที่นโยบายต่างประเทศถูกกำหนดโดยกุน นโยบายภายในประเทศส่วนใหญ่ได้ถูกกำหนดโดยสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมในสภาปกครอง[72][130]
การส่งเสริมวัฒนธรรมและการควบคุมสื่อ
แก้รัฐบาลโซเวียตมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะปรับปรุงวัฒนธรรมของประชากร โรงละครถือเป็นสถานที่ส่วนรวมและการจำหน่ายตั๋วถูกควบคุมโดยกรรมการราษฎรฝ่ายศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่จำหน่ายตั๋วการแสดงราคาถูกให้แก่คนงาน[131] โดยมาตรการนี้ได้ถูกนำมาใช้ในโรงภาพยนตร์และพิพิธภัณฑ์เช่นเดียวกัน[131] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลบริหารมาตรการผิดพลาด จึงตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากศิลปินที่มีแนวคิดชาตินิยม นักเขียน และนักธุรกิจศิลปะ[131] ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน มาตรการวัฒนธรรมอันทะเยอทะยานของรัฐบาลกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต โดยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแถบชนบทและตกอยู่ในความเสี่ยงเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศ[132]
รัฐบาลจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างเข้มงวด และสั่งระงับวารสารเป็นจำนวนมากด้วยเหตุผลทางการเมืองและปัญหาการขาดแคลนกระดาษในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ[133] ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสหภาพนักข่าวนำไปสู่การยุบสภาภายใต้คำสั่งของคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา[134]
นโยบายเพื่อเยาวชน
แก้จากหลักฐานสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ระบุว่ามาตรการของรัฐบาลที่มีต่อเยาวชนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น[131] รัฐบาลอนุมัติให้มีการตรวจสุขภาพเยาวชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและได้ส่งเสริมสุขอนามัยในโรงเรียน มีการจัดตั้งโครงการอาบน้ำสำหรับเด็กนักเรียนในห้องน้ำสาธารณะและกำหนดให้สถานบำรุงสุขภาพเป็นของส่วนรวม[132] โครงการอาศัยในชนบทถูกสร้างขึ้นสำหรับเด็กจากครอบครัวที่ยากจนในเมืองหลวง และสภาปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านสุขภาพแก่พวกเขา[135] มีการจัดตั้งโครงการสอนพิเศษเฉพาะทางสำหรับเยาวชนผู้พิการในโรงเรียนและจัดตั้งสถาบันที่ทันสมัยสำหรับการรักษาผู้มีปัญหาทางจิต[135] มีแผนการฟื้นฟูระยะยาวสำหรับเยาวชนที่ต่อต้านสังคม ซึ่งแผนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้จริงเนื่องจากระยะเวลาอันสั้นของสาธารณรัฐ[135]
การศึกษาและศาสนา
แก้สถานศึกษาต่าง ๆ ถูกกำหนดเป็นของส่วนรวมทั้งสิ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม และถูกรวมอำนาจการดูแลมาไว้ที่รัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงแผนการศึกษา[136] มีความพยายามปรับปรุงและกำหนดหลักสูตรการศึกษาใหม่ และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่[136][137] มีการจัดพิมพ์หนังสือเรียนใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น[137] มีการวางแผนโครงการปลูกฝังลัทธิมากซ์ในสถานศึกษา ซึ่งโครงการยังไม่ทันได้จัดขึ้นเนื่องจากสาธารณรัฐโซเวียตล่มสลายเสียก่อน[138] แม้ว่ารัฐบาลจะมีห่วงใยแก่เหล่าอาจารย์ผู้สอน แต่สำหรับบรรดาคณาจารย์ส่วนใหญ่แล้วกลับไม่ได้นิยมชมชอบต่อระบอบการปกครองใหม่สักเท่าใดนัก[138] ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างครูอาจารย์อย่างรุนแรง[139] การสอนเพศศึกษาสมัยใหม่ได้ถูกนำมาใช้ในหลักสูตรของโรงเรียนโดยไม่มีการวางแผนอะไรมากนัก[139]
ศาสนาถือเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐบาล[139] การโอนกรรมสิทธิ์สถานศึกษาเอกชนและโรงเรียนสอนศานาให้เป็นของรัฐ (ซึ่งคิดเป็น 70 % ของสถานศึกษาทั้งหมดในประเทศ) และการปราบปรามสัญลักษณ์และกิจกรรมทางศาสนาในโรงเรียน ทำให้ความขัดแย้งระหว่างคณาจารย์และรัฐบาลทวีความรุนแรงมากขึ้น[139] แม้ว่ารัฐบาลจะยังปกป้องสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่การโต้เถียงที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามสัญลักษณ์ทางศาสนาได้สร้างภาพลักษณ์อันเสื่อมเสียต่อรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง[133]
การปฏิรูปสังคมและสุขภาพ
แก้มาตรการทางสังคมของรัฐบาลมีลักษณะเฉพาะเหมือนกับมาตรการวัฒนธรรม: รัฐบาลมีความทะเยอทะยานอย่างยิ่งสำหรับจุดประสงค์ของการบริหาร โดยมีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงปัญหาที่ฝังลึก แต่รัฐบาลขาดแคลนบุคลากรและวิธีดำเนินการที่เหมาะสม อีกทั้งมาตรการเหล่านี้ต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากและมีความเกินจริงมากไป เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์วิกฤตหลังสงคราม[134]
บรรดาศักดิ์ขุนนางต่าง ๆ ถูกยกเลิก[140] มีการประกาศบังคับใช้แรงงานและมีการจัดระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้ว่างงาน ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของรัฐ[140] แม้รัฐบาลจะบังคับใช้มาตรการด้วยความกระตือรือร้น แต่ก็ประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งยังใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับปัญหาร้ายแรงจากการว่างงาน[140]
รัฐบาลอนุมัติมาตรการปรับปรุงด้านมนุษยธรรมและสังคม[14] การบริหารงานของรัฐบาลได้รับการเผยแพร่จากสื่อ (ซึ่งถูกบังคับ) และในโปสเตอร์รณรงค์ที่สรรค์สร้างโดยศิลปินที่โดดเด่นในยุคนั้น[141] การจำหน่ายและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายถูกสั่งห้าม แต่แรงกดดันจากชนบททำให้ต้องผ่อนปรนลงในวันที่ 23 กรกฎาคม[131] มีความพยายามที่จะกำจัดการค้าประเวณี[140] การหย่าร้างได้รับการอำนวยความสะดวก และมีการประกาศความเท่าเทียมกันทางกฎหมายสำหรับผู้หญิงด้วย[140] ดังนั้นฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติจึงใช้ข้ออ้างนี้ในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลตั้งใจที่จะ "สร้างสังคมของผู้หญิง" ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในชนบท[140]
มีความทะเยอทะยานอย่างยิ่งยวดสำหรับการดำเนินการปรับปรุงด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะแพทย์และติดพันโดยสภาปกครอง[140] โรงพยาบาลและอุตสาหกรรมทางเภสัชกรรมยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะแพทย์ต่าง ๆ แม้จะมีความพยายามที่จะส่งต่อการจัดการไปยังผู้แทนทางการเมือง แต่รัฐบาลปฏิเสธ[142] การรักษาที่แตกต่างกันตามชนชั้นทางสังคมในโรงพยาบาลถูกยกเลิกและหอผู้ป่วยส่วนตัวเริ่มให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่อาการหนักที่สุดเป็นสำคัญ[142] หรือแม้จะเสียชีวิตไปแล้ว หลุมฝังศพทุกหลุมก็ยังต้องมีขนาดเหมือนกันเพื่อความเสมอภาค[142]
มาตรการที่ได้รับการปฏิเสธจากประชาชนมากที่สุดและก่อให้เกิดการทุจริตมากที่สุด คือ มาตรการขัดเกลาทางสังคมด้านที่อยู่อาศัย[142] เมื่อประเทศเผชิญกับปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากการละเว้นการสร้างที่อยู่อาศัยภายหลังสงคราม รัฐบาลจึงต้องใช้สิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับประชากร[142] มีการเรียกเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินที่ไม่จ้างงาน บ้านและเครื่องเรือนต่าง ๆ ถือเป็นของส่วนรวมทั้งสิ้น ไม่ใช่ของคนงาน[142] ด้วยกฎระเบียบอันสับสนเช่นนี้ ทำให้คณะกรรมการเคหะล้มเหลวในการปฏิรูปในช่วงต้นเดือนเมษายน[143] การใช้วิธีการที่รุนแรงของกรรมการราษฎรฝ่ายศึกษาธิการ ติโบร์ ซอมูแอลี ในการพยายามปฏิรูปคณะกรรมการ (รวมทั้งการบังคับขู่เข็ญหรือการขับไล่ประชากรประมาณ 200,000 คน ออกจากบูดาเปสต์) เพื่อยุติการละเมิดและทุจริตประสบความล้มเหลว[143] ในเดือนกรกฎาคม มาตรการได้ปรากฏอย่างชัดเจนแล้วว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่แพงจนเกินไป อีกทั้งยังไม่สามารถยุติปัญหาที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงได้ด้วย[144]
นโยบายแรงงานและภาษี
แก้ทัศนคติของรัฐบาลที่มีต่อค่าจ้างของแรงงาน คือ ความจำเป็นในการปรับแปลงนโยบายแบบเก่าที่เดิมทีแล้วขึ้นอยู่กับความต้องการของสหภาพแรงงาน เปลี่ยนเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของการผลิตที่น้อยลงและแรงงานที่ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน[144] รัฐบาลยกเลิกการทำงานที่คิดค่าแรงเป็นรายชิ้น (piecework) กำหนดเวลาทำงานเป็น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มค่าแรง เสนอการทำประกันสังคมภาคบังคับ และสัญญาจะรับประกันการจ้างงานสำหรับแรงงานทุกคน[144] อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมีความพยายามในการปฏิรูปสังคม เช่น การอนุมัติเวลาทำงานเป็นแปดชั่วโมงต่อวัน ให้บริการทางแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กำหนดค่าเช่าที่ต่ำลงและเพิ่มค่าแรงที่สูงขึ้น เป็นต้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนพึงพอใจมากขึ้น[71][145] มาตรการเหล่านี้ที่แรงงานรอคอยอย่างยาวนานมีผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตที่ลดลง กล่าวคือการที่รัฐบาลรับประกันการจ้างงาน การเพิ่มค่าแรงที่ไม่สัมพันธ์กับการผลิต การเป็นสมาชิกชนชั้นปกครองโดยชอบธรรมของแรงงานตามโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้คนงานฮังการีส่วนใหญ่หยุดทำงานอย่างถึงที่สุด[144] ในไม่ช้าอัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้น การเพิ่มค่าแรงในงานแต่ละส่วนจึงถูกยกเลิกและเกิดการขาดแคลนสินค้า รัฐบาลตอบโต้ด้วยการพยายามนำนโยบายเดิมที่คนงานไม่เห็นชอบกลับมาใช้ใหม่ เพื่อพยายามผลักดันการผลิตอีกครั้ง ซึ่งทำให้เกิดการจราจลขนาดย่อมขึ้น[146]
อัตราค่าแรงที่กำหนดไว้สำหรับแรงงานภาคเกษตรทำให้แรงงานเหล่านี้เสียเปรียบเมื่อเทียบกับแรงงานในเมือง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนของสินค้าที่ผลิต แม้ว่าชาวนาจะมีรายได้สูงกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาบริโภคสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งยังน้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ[147]
แม้จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขประกันสังคมของแรงงาน แต่การดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลก็ยุ่งเหยิงและบางครั้งก็ขัดแย้งกันตลอดสมัยสาธารณรัฐโซเวียต โดยมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา[148]
รัฐบาลยังควบคุมราคาสินค้าอีกด้วย โดยเรียกเก็บภาษีทางอ้อมจากราคาสินค้า[148] ความพยายามของรัฐบาลที่จะรักษามาตรฐานราคาให้ต่ำนั้นล้มเหลว[149] เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ การผลิตที่ลดลง การมีอยู่ของตลาดมืด และการปิดล้อมทางเศรษฐกิจโดยไตรภาคี ซึ่งได้จำกัดจำนวนทรัพยากรที่มีอยู่ไว้[148]
การโอนเป็นของรัฐและนโยบายเศรษฐกิจ
แก้รัฐบาลโซเวียตกำหนดให้ธนาคาร[145] โรงงานอุตสาหกรรม[145] เหมืองแร่ และบริษัทขนส่งที่มีแรงงานมากกว่า 20 คน เป็นของส่วนรวมทั้งสิ้น[149] โดยมีกรรมการราษฎรที่ได้รับเลือกจากรัฐบาลและสภาเป็นผู้บริหารจัดการ[149] (ซึ่งรวมถึงบริษัทข้ามชาติในประเทศ คอนโดมิเนียม[145] ห้างสรรพสินค้า และไร่นาที่มีขนาดใหญ่กว่า 57 เฮกตาร์) นำไปสู่ความโกลาหลทางเศรษฐกิจ[71] พื้นที่การค้าที่มีแรงงานมากกว่าสิบคนถูกกำหนดเป็นของส่วนรวมในอีกสองวันต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม[149] เช่นเดียวกับโรงแรม สถานบำรุงสุขภาพ (สปา) และบริษัทประกันภัย[149] หอพักทั้งหลายถูกทำให้เป็นแบบสังคมนิยมในวันที่ 26 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ธนาคารถูกเวนคืน[149] เงินฝากทองคำ เครื่องประดับที่มีมูลค่าเกินกำหนด และเงินตราระหว่างประเทศถูกยึด จำนวนเงินที่สามารถถอนได้จากบัญชีธนาคารก็ถูกจำกัด[149] ไม่นานบริษัทเอกชนส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของรัฐ[149]
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการราษฎรที่รับผิดชอบดูแลโรงงานส่วนรวมนั้นไม่มีประสบการณ์ อีกทั้งพวกเขาไม่สามารถป้องกันการผลิตที่ลดลงอย่างรวดเร็วได้[114] ในช่วงปลายเดือนเมษายน การบริการทางรถไฟถูกจำกัดลง เนื่องจากขาดแคลนถ่านหิน[114] รัฐบาลยังคงแบ่งปันทรัพยากรและปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง[71]
ถึงแม้มาตรการรวมสัญชาติจะสามารถนำรายได้จำนวนมากเข้าสู่รัฐบาลใหม่ แต่กลับล้มเหลวในการบริหารมาตรการ[150] ระบบราชการขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่เป็นของส่วนรวม แต่เนื่องจากระยะเวลาของการดำรงอยู่อันสั้น จึงไม่สามารถปรับปรุงการผลิตของประเทศได้[150] การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเมืองต่าง ๆ มีโอกาสลดลงระหว่าง 25 % ถึง 75 %[115] การทุจริตอย่างกว้างขวางของระบอบการปกครองที่อัมพาต ปัญหาการเงิน และความล้มเหลวของนโยบายที่ดินก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของสาธารณรัฐโซเวียตย่ำแย่เช่นกัน[150] การปิดล้อมทางเศรษฐกิจของไตรภาคีและการบริหารงานที่ผิดพลาดยิ่งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงไปอีก[115]
นโยบายเกษตรกรรม
แก้รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากจะหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับที่ดินเกษตรกรรม แม้ว่าการแบ่งที่ดินขนาดใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจากชาวนาเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่การลดลงของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาให้สำหรับเมืองต่าง ๆ ที่เป็นฐานการสนับสนุนของตน[151][152] หลังจากความไม่แน่นอนของรัฐบาล ในที่สุดจึงมีการตัดสินใจว่าจะไม่แจกจ่ายที่ดินเกษตรกรรม[124] แต่จะเปลี่ยนเป็นการตั้งสหกรณ์ส่วนรวมสำหรับชาวนาไร้ที่ดินแทน[153][109][151] ซึ่งการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลสองประการ ประการแรกคือรัฐบาลกังวลว่าชาวนาเจ้าของที่ดินรายย่อยต่าง ๆ อาจสร้างความเป็นศัตรูและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้[15] และประการที่สองมาจากความปรารถนาและความจำเป็นในการรักษาผลผลิตทางการเกษตร[154] การปฏิรูประบบราชการที่ล้มเหลวนี้ นำมาซึ่งการลดลงของการสนับสนุนจากชาวนา อีกทั้งยังลดการสนับสนุนระบอบการปกครองใหม่ในหมู่ประชากรชนบทลงอย่างมาก[153][124]
การดำรงไว้ซึ่งการถือครองที่ดินขนาดเล็กของภาคเอกชนและการจัดตั้งสหกรณ์ที่ดินขนาดใหญ่สร้างความไม่พอใจต่อเกษตรกรหลายภาคส่วน โดยภาคเอกชนผิดหวังกับการตัดสินใจของรัฐบาล จึงได้ซื้อที่ดินเป็นจำนวนมากด้วยเงินทุนสะสมในช่วงสงคราม และมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนเหล่านี้จะเก็บเงินทุนและผลผลิตสะสมไว้รอถึงคราวล่มสลายของรัฐบาล ซึ่งนี่เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการเสื่อมนิยมของระบอบการปกครองใหม่ในภาคการเกษตร ชาวนาไร้ที่ดินพบว่าตนเองกลายเป็นลูกจ้างของรัฐที่มีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับภาวะเงินเฟ้อและทุพภิกขภัยที่ยังคงดำเนินอยู่ ดังนั้นชาวนาเหล่านี้จึงหันไปใช้สกุลเงินเก่าสมัยจักรวรรดิแทนสกุลเงินใหม่ แม้ว่าสกุลเงินเก่าจะอ่อนค่ามากก็ตาม[154] ความพยายามของรัฐในการบรรเทาสถานการณ์โดยการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตได้กับสินค้าเกษตรเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรที่ร่ำรวยมากกว่า ทำให้เกษตรกรยากจนไม่พึงพอใจต่อรัฐบาล[154]
การยกเลิกภาษีที่ดินแปลงเล็ก ซึ่งประกาศใช้เพื่อดึงดูดความนิยมจากเกษตรกรรายย่อยและส่งเสริมความร่วมมือในการจัดหาทรัพยากรสำหรับในเขตเมือง แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นเคย เพราะถูกมองว่าเป็นขั้นตอนก่อนการโอนกรรมสิทธิ์เป็นของส่วนรวม[15] อีกทั้งมาตรการดังกล่าวยังทำให้สภาชาวนาอ่อนแอลงและขาดรายได้ สภาชาวนาจึงหันไปพึ่งพารัฐบาลบูดาเปสต์เพื่อให้เงินทุนสำหรับดำเนินกิจกรรม[155] ความล้มเหลวโดยตรงอีกประการหนึ่งของรัฐบาล คือการคงไว้ซึ่งหัวหน้าคนงานและเจ้าของที่ดินเก่าสำหรับเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคของสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นใหม่[155] สำหรับเกษตรกรแล้ว ระบอบการปกครองใหม่ยังคงทำให้พวกเขาต้องทำงานให้กับเจ้านายเก่า โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่[155] แม้จะมีการส่งบุคลากรจากกรรมการราษฎรฝ่ายเกษตรไปยังพื้นที่ชนบท แต่บุคลากรเหล่านี้มีจำนวนน้อย อีกทั้งไม่มีประสบการณ์หรือความรู้เรื่องชนบท และมักจะทุจริตกันอย่างเงียบ ๆ[155]
การทำลายศาสนสถานและการข่มเหงนักบวชตามท้องถิ่น และการเริ่มใช้สกุลเงินใหม่ที่เรียกว่า "กระดาษขาว" (the White paper)[note 12] นำไปสู่ความไม่พอใจและการกบฏในบางพื้นที่[156]
การใช้กำลังและความน่าสะพรึงกลัวในการปราบปรามกิจกรรมต่อต้านการปฏิวัติในชนบท สร้างความเกลียดชังของชาวนาต่อระบอบโซเวียตฮังการีอย่างถาวร[155] ในพื้นที่ชนบทมีการก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธเยาวชนที่เรียกว่า "เลนินบอย" (Lenin Boys) เพื่อรับประกันการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการจัดหาทรัพยากร[124][156] เนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากรและอาหารในเขตเมือง[115] อย่างไรก็ตาม การขาดการควบคุมจากรัฐ ทำให้กลุ่มเลนินบอยเริ่มสร้างความหวาดกลัวและความเป็นศัตรูในหมู่ชาวนา[157][156][124] ความพยายามของรัฐบาลที่จะยับยั้งการกระทำอันโหดร้ายของเลนินบอยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร[157]
ในภาพรวม นโยบายเกษตรกรรมประสบความล้มเหลวและส่งผลให้ชาวนาต่อต้านรัฐบาลโซเวียต อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจราจลในชนบทอย่างต่อเนื่อง[124][153] นอกจากนี้ อดีตชนชั้นสูงและคริสตจักรคาทอลิก ซึ่งมีอิทธิพลเหนือชาวนา ยังกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังต่อระบอบการปกครองแบบสากลใหม่ด้วย[157]
การทุจริต
แก้หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐ การทุจริตเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้มาตรการและความพยายามปฏิรูปส่วนใหญ่ล้มเหลว[158] สำหรับรัฐบาลเองจำต้องยอมรับทั้งความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของภาครัฐและเอกชน การขาดประสบการณ์ของผู้มีอำนาจ คตินิยมเห็นแก่ครอบครัว การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อำนาจโดยมิชอบ และการยักยอกทรัพย์สินจากรัฐบาล[158]
ประชากรและสังคม
แก้แรงงานภาคเกษตร
แก้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดินแดนฮังการีเป็นภูมิภาคเกษตรกรรมและด้อยพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ โดย 60 % ของประชากรเป็นแรงงานภาคเกษตร[159] ประมาณ 15 % เป็นประชากรมีที่ดินแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และอีก 20 % เป็นแรงงาน ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานภาคบริการ รวมทั้งแรงงานภายในบ้านและกรรมกรรายวัน[159]
ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานภาคเกษตรกับสาธารณรัฐขึ้นอยู่กับปัญหาที่ดิน[160] ในกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 3 เมษายน ได้กำหนดให้ที่ดินขนาดใหญ่และกลางเป็นของส่วนรวม (ที่ดินขนาดเจ็ดสิบห้าเอเคอร์ขึ้นไป) โดยที่ดินเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นสหกรณ์หรือที่ดินของรัฐ และไม่ถูกแจกจ่ายให้กับชาวนา[160] ปฏิกิริยาต่อมาตรการนี้มีหลากหลาย โดยสำหรับเจ้าของที่ดินส่วนรวมซึ่งประกอบด้วยประชากรในชนบทประมาณ 2-3 % ต่อต้านมาตรการและระบอบการปกครองใหม่อย่างรุนแรง ส่วนเจ้าของที่ดินขนาดกลางและขนาดย่อม แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปนี้ แต่ก็กังวลว่ามาตรการในภายหลังจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเวนคืนที่ดินพวกเขา และมองว่าการต่อต้านลัทธิศาสนาของรัฐบาลเป็นการกระทำโดยมิชอบ (ทั้งการเปลี่ยนโรงเรียนสอนศาสนาเป็นสถานศึกษาฆราวาส การยกเลิกหลักคำสอน หรือการระงับการศึกษาทางศาสนาในโรงเรียน) จึงมีการเข้าร่วมองค์กรปฏิวัติท้องถิ่นเพื่อกลั่นกรองมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ สองในสามของชาวนาที่ยากจนหรือกรรมกรรายวัน (คิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรฮังการี) ซึ่งแบ่งเป็นชาวนาไร้ที่ดินสองในห้า คนงานในพื้นที่เกษตรกรรมหนึ่งในห้า และกรรมกรรายวันอีกสองในห้า[161] เป็นเพียงกลุ่มสังคมนิยมไม่กี่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในองค์กรปฏิวัติท้องถิ่นและกองทัพ[161] ซึ่งรวมถึงชาวนาจากดินแดนทรานซิลเวเนียที่โรมาเนียยึดครองด้วย[161] อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่จะไม่แจกจ่ายที่ดิน ทำให้ผู้คนอีกหลายกลุ่มเสื่อมศรัทธาต่อระบอบการปกครองใหม่นี้[161]
ในเวลาต่อมา ความผิดหวังและความเกลียดชังเริ่มเพิ่มขึ้น จากการขาดแคลนสินค้าอุตสาหกรรม ตามด้วยวิกฤตสินค้าเกษตรในช่วงฤดูร้อน[162] ความจำเป็นในการจัดหาทรัพยากรแก่เขตเมืองและกองทหาร ทำให้รัฐบาลบีบบังคับการผลิตสินค้าและอาหาร ทำให้เกิดการต่อต้านจากชาวนา[162] การสนับสนุนการต่อต้านการปฏิวัติเพิ่มมากขึ้นในหมู่ชาวนาฐานะดี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเขาถูกขับออกจากหน่วยงานปกครองท้องถิ่นในช่วงเดือนพฤษภาคม[162]
แรงงานในเขตเมือง
แก้แรงงานในเขตเมืองเป็นฐานสนับสนุนหลักของสาธารณรัฐ[163] ความมุ่งมั่นของพวกเขาในการรวมกลุ่มกันตามเมืองหลักต่าง ๆ ทำให้พวกเขามีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง[163] จำนวนคนงานในสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 1918 เพราะขณะที่ฝ่ายสังคมนิยมส่วนใหญ่พยายามสร้างความนิยมกับแรงงานฝีมือเป็นหลัก กลุ่มคอมมิวนิสต์จึงสร้างความนิยมกับแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานส่วนอื่นแทน[163] การรวมกลุ่มกันของฝ่ายต่าง ๆ ทำให้ขบวนการแรงงานแข็งแกร่งขึ้นและระงับข้อพิพาทระหว่างสังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์เป็นการชั่วคราว[163]
ชนชั้นกลาง
แก้แม้ว่าตามกฎหมายจะมีเพียงบริษัทที่มีแรงงานมากกว่า 20 คนเท่านั้น ที่ถูกกำหนดเป็นของส่วนรวม แต่ในหลายครั้งกฎหมายเหล่านี้มักถูกละเลยและบริษัทขนาดเล็กที่มีแรงงานน้อยคนก็ถูกเวนคืนโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย[163] เช่นเดียวกับธนาคาร โรงงาน โรงแรม ร้านขายยา และโรงภาพยนตร์ที่ถูกกำหนดเป็นของรัฐ การควบคุมร้านค้าโดยรัฐ[163] และการยึดเครื่องประดับและที่พักของครอบครัวชนชั้นแรงงานในบ้านชนชั้นกลาง ถือเป็นการตอกย้ำความเกลียดชังจากชนชั้นกลางที่มีต่อระบอบใหม่[164]
ในทางตรงกันข้าม ในท้องที่ชนบทหรือภูมิภาคที่เคารพกฎหมายนี้ เจ้าของที่ดิน ช่างฝีมือ และพ่อค้ารายย่อยบางส่วนสนับสนุนสาธารณรัฐ[164] นอกจากนี้ ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ ครูในชนบท และสมาชิกสหภาพแรงงานก็แสดงการสนับสนุนระบอบนี้อย่างเปิดเผยเช่นกัน[164]
ข้าราชการชั้นอาวุโส ตำรวจ ทหาร ตลอดจนนักบวชในศาสนาต่าง ๆ แสดงการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติตั้งแต่ต้น[164] เจ้าหน้าที่ทหารเป็นกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดในฝ่ายต่อต้านระบอบการปกครอง และขณะเดียวกันก็มีบทบาทสำคัญในกองทัพแดงฮังการี ซึ่งมุ่งมั่นที่จะปกป้องพรมแดนฮังการีในอดีต ยังมีทหารอีกจำนวนมากที่รับใช้ต่อรัฐบาลโซเวียต แม้จะมีอุดมการณ์ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ตาม[164]
เจ้าของที่ดินและนายทุน
แก้ชนชั้นปกครองเก่าซึ่งประกอบด้วยเจ้าของที่ดินและนายทุนภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ต่อต้านสาธารณรัฐโซเวียตตั้งแต่ต้น[159] ชนชั้นนำกลุ่มหลักลี้ภัยออกนอกประเทศในช่วงแรก ๆ ของสาธารณรัฐ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านบอลเชวิคที่เรียกว่า "คณะกรรมาธิการแห่งชาติฮังการี" ในเวียนนา[159] ซึ่งภายในคณะได้รวบรวมตัวแทนจากพรรคการเมืองเก่า รวมทั้งมิฮาย กาโรยี ที่ลาออกจากตำแหน่งไปด้วย โดยสมาชิกกว่า 80 % เป็นพวกชนชั้นสูง[159] ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จูลอ กาโรยี ได้ก่อตั้งกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติขึ้นในออร็อด ซึ่งต่อมาจึงย้ายไปที่แซแก็ด[159] กลุ่มต่อต้านการปฏิวัติเหล่านี้พยายามเข้าหากับมหาอำนาจไตรภาคีเพื่อรับการสนับสนุน[159]
การต่อต้านและการปราบปราม
แก้เมื่อรัฐบาลพิจารณาว่าประชากรในฮังการีแทบทั้งหมดเป็นศัตรูทางชนชั้น รัฐบาลจึงริเริ่มมาตรการหลายอย่างเพื่อปราบปราม เช่น การจับตัวประกัน การจัดตั้งกองการสืบสวนทางการเมืองที่นำโดยโอ็ตโต โกร์วิน ซึ่งดำเนินการจับกุมผู้คนจำนวนมาก ทั้งยังเปิดโปงแผนการต่อต้านรัฐบาลบางส่วนและประหารชีวิตผู้สมรู้ร่วมคิดบางคนด้วย มีการเฝ้าระวังในที่สาธารณะตลอดเวลา หรือบางครั้งกองกำลังเหล่านี้ก็กระทำการที่เกินเลย เช่น กลุ่มของโยแฌ็ฟ แชร์นี ซึ่งประกอบด้วยอาชญากรและนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามโดยการขู่กรรโชกหรือฆาตกรรม[145] รัฐบาลได้ก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติที่เริ่มแข็งขันขึ้น[71] แต่กระนั้น การบังคับใช้มาตรการรุนแรงไม่ได้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ยังก่อความเกลียดชังต่อชนชั้นกลางหรือแม้แต่ชนชั้นกรรมาชีพเองด้วย[145] หลังการจัดตั้งสาธารณรัฐเพียงสามวัน มีการประกาศกฎอัยการศึกและโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ต่อต้านสภาปกครอง[165] มีการจัดตั้งศาลตุลาการปฏิวัติเพื่อตัดสินความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก[165] ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม มีการประกาศใช้กฎหมายที่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดีอย่างรวบรัดในพื้นที่ขัดแย้งทางอาวุธ ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ทำให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้สามารถดำเนินการในท้องที่ชนบทได้ตามอำเภอใจ[166]
ฝ่ายศัตรูของสาธารณรัฐจำนวนมากลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังออสเตรียหรือพื้นที่ควบคุมของกองทหารฝรั่งเศสทางภาคใต้ หรือไม่ก็อาศัยอยู่ในเขตอิทธิพลของตน (สำหรับขุนนาง) และหลบซ่อน[145] อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติไม่สามารถระดมพลได้เพียงพอสำหรับการเผชิญหน้ากับรัฐบาลกุน[167] คณะกรรมการต่อต้านบอลเชวิคในเวียนนาเรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางทหารจากไตรภาคีในฮังการี แต่ไม่เป็นผล[98] ในวันที่ 5 พฤษภาคม รัฐบาลต่อต้านการปฏิวัติได้จัดตั้งขึ้นในออร็อด และต่อมาจึงย้ายไปที่แซแก็ด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทหารฝรั่งเศส[11][98]
การจราจลปะทุขึ้นในระหว่างเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาช่วงเดียวกับการรุกรานจากโรมาเนียและการหยุดงานประท้วงโดยคนงานรถไฟที่เรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและจัดตั้งรัฐบาลสังคมนิยม[156] ในระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน จำนวนการลุกฮือต่อต้านการปฏิวัติเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า[162] ในวันที่ 27 เมษายน ขณะที่รัฐบาลพยายามโจมตีแนวรบโรมาเนีย ได้เกิดการก่อการกำเริบโดยชาวนาในหมู่บ้านเจ็ดสิบแห่ง ซึ่งกลุ่มกบฏเหล่านี้พยายามยึดอำนาจและระงับการโอนกรรมสิทธิ์ของรัฐ[156]
มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมรวบรัด (Court of Summary Justice) ภายใต้การควบคุมของติโบร์ ซอมูแอลี ในวันที่ 21 เมษายน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มติดอาวุธของเขาออกตระเวนทั่วประเทศเพื่อระงับการจราจล โดยส่วนใหญ่ไม่พบการต่อต้านจากชาวนา เว้นแต่เจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นผู้จุดชนวนให้เกิดการจราจล[168] มีการคาดการณ์ว่าในช่วงยุคโซเวียตมีผู้ถูกสังหารหรือประหารชีวิตราวหกร้อยคนในฮังการี[note 13] โดย 73 % เป็นชาวนา, 9.9 % เป็นข้าราชการ, 8.2 % เป็นชนชั้นกลาง, และอีก 7.8 % เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมชนชั้นสูงอีกจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อ[168]
ในวันที่ 5 มิถุนายน เกิดการเดินขบวนโดยชาวนาประมาณสี่พันคนในโชโปรน ซึ่งภายหลังกองทหารของเมืองก็สามารถยุติการประท้วงนี้ได้อย่างง่ายดาย[122] ในวันที่ 24 มิถุนายน เกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในบูดาเปสต์และต่างจังหวัดโดยนักเรียนนายร้อย[169] แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างรวดเร็ว[114][168][122] เพราะการลุกฮือนี้ไม่ได้รับความสนใจจากคนงานหรือชาวนาที่ยากจน[16] โดยในวันเดียวกันนั้นก็มีความพยายามโค่นล้มรัฐบาลกุนจากภายในเช่นกัน[168] แต่กลับล้มเหลวเนื่องจากการวางแผนและการประสานงานที่ไม่ดี อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนใด ๆ[168] ซึ่งในตอนแรก การรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม กองทหารรักษาการณ์ในเมืองหลวง และฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลเพื่อจุดประสงค์ของการต่อต้านปฏิวัติโดยสมบูรณ์[168] แต่ในเวลาต่อมา นักสังคมนิยมและผู้สมรู้ร่วมคิดปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแผนการครั้งนี้[169] ทำให้กองทหารรักษาการณ์ที่ลุกขึ้นสู้ล้มเหลวในการโค่นล้มรัฐบาลและยอมจำนนในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง[169] สำหรับผลที่ตามมาภายหลังเหตุการณ์นี้ คือการลาออกของนักสังคมนิยมจำนวนมากในรัฐบาล ซึ่งเป็นกรรมการราษฎรจำนวน 11 คน จากทั้งหมด 36 คน[122]
ความปราชัยและการล่มสลาย
แก้ภายหลังจากความปราชัยทางทหารในภาคตะวันออก ประกอบกับรัฐบาลได้สูญเสียการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน[170] ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งมีผู้นำสหภาพแรงงาน 46 คน ลงมติคัดค้านการรักษาระบอบสาธารณรัฐโซเวียตอย่างท่วมท้น โดยมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่เห็นด้วย[171] ผลจากการลงมติครั้งนี้ได้ถูกส่งไปให้กุน[171] ซึ่งเมื่อวันก่อน ตัวเขาปฏิเสธที่จะลาออกและระบุว่ากองทัพสามารถยึดแนวหน้าได้[172] สภาปกครองจึงเรียกประชุมวิสามัญของขบวนการแรงงานและทหารในบูดาเปสต์ในวันรุ่งขึ้น[171]
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ระหว่างการประชุมสภาแรงงานกลาง คณะรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้กับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำสหภาพแรงงานสายกลาง[126][128][115][120][11] จูลอ ไพเดิล ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่[120] ไพเดิลปฏิเสธที่จะปรากฏตัวต่อสภา โดยเป็นการบ่งบอกว่าตัวเขาปฏิเสธระบอบโซเวียต ซึ่งเขาไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน[171] ภายหลังจากการลาออกของกุน ผู้นำหลักของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีบางคนก็ไปจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ใต้ดิน[173] ในคืนเดียวกันนั้น กุนได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลออสเตรียยินดีที่จะให้ที่พักพิงแก่ตัวเขาและผู้ติดตามบางคน[126] กุนและอดีตกรรมการราษฎรบางส่วนจึงได้ลี้ภัยจากบูดาเปสต์[124][129][11] โดยรถไฟสองขบวนและมาถึงเวียนนาในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 2 สิงหาคม[115] พรรคพวกของเขาได้ถูกกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์บุกทำร้ายระหว่างทางไปสถานีรถไฟ[174]
รัฐบาลใหม่ที่นำโดยจูลอ ไพเดิล[115] ซึ่งอยู่ในความดูแลของฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม ได้มีกรรมการราษฎรจากคณะรัฐมนตรีของกุนบางคนเข้าร่วมกับคณะรัฐบาลไพเดิล[174][129][175] เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีการประกาศให้ยกเลิกสาธารณรัฐโซเวียต พร้อมกับการฟื้นฟูสาธารณรัฐประชาชนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และได้ออกมาตรการรื้อถอนมรดกตกทอดของระบอบโซเวียต[176][175] ในขณะเดียวกัน กองทัพโรมาเนียได้เคลื่อนกำลังพลห่างจากเมืองหลวงเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น[11] และในวันรุ่งขึ้น กองกำลังหน่วยแรกของโรมาเนียก็ได้เข้าสู่บูดาเปสต์[129] โดยมีกองทหารของฮังการีเพียงไม่กี่หน่วยเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดปกป้องเมืองหลวง แต่ก็ล้มเหลว รัฐบาลไม่สามารถป้องกันกองทัพโรมาเนียที่เคลื่อนพลเข้าสู่บูดาเปสต์ได้ ดังนั้นในวันที่ 4[129] จึงไม่มีการต่อต้านจากทางการฮังการี[177] โรมาเนียได้พยายามจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในบูดาเปสต์หลังจากความพ่ายแพ้ของคอมมิวนิสต์ โดยมียูโกสลาเวียและเชโกสโลวาเกียเป็นผู้อนุมัติ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[178]
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเบ-ลอ กุน คือกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศของฮังการี
- ↑ ฮังการี: Magyarországi Szocialista Szövetséges Tanácsköztársaság; หรือ สาธารณรัฐสภาฮังการี (ฮังการี: Magyarországi Tanácsköztársaság)
- ↑ ฮังการี: Magyar Szovjet-köztársaság
- ↑ เป็นการเลียนแบบอย่างจากบอลเชวิคในโซเวียตรัสเซีย แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาแรงงาน (โซเวียต) ซึ่งชื่อเหมือนกัน
- ↑ ตามหนังสือของ Völgyes ในหน้าที่ 161 ได้ระบุวันที่เป็นไปได้อยู่สองวัน คือวันที่ 22 และ 24 พฤศจิกายน ส่วนหนังสือของ Zsuppán ในหน้าที่ 317 ได้ระบุว่าเป็นวันที่ 20 และหนังสือของ Janos ในหน้าที่ 189 ได้ยืนยันว่า วันที่ 20 เป็นวันที่มีการพบปะกันระหว่างพวกคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยมหัวรุนแรง และคนอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมการก่อตั้งพรรคใหม่
- ↑ ในเดือนมีนาคม คลังอาวุธลับของพรรคคอมมิวนิสต์มีจำนวนปืนไรเฟิลทั้งหมด 35,000 กระบอก[30]
- ↑ มีตำรวจเสียชีวิต 7 นาย และมีผู้บาดเจ็บประมาณ 80 คน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รู้ดีว่ารัฐบาลจะต้องจับกุมพวกเขาอย่างแน่นอนหลังจากการประท้วง แต่ก็ตัดสินใจที่จะไม่หลบหนี ทำให้มีผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ครั้งนี้จำนวนเจ็ดสิบหกคน Zsuppán, p. 329.
- ↑ กอร์บอยีได้อธิบายถึงความจำเป็นในการสร้างความใกล้ชิดกับคอมมิวนิสต์รัสเซียไว้ว่า[60]
จากตะวันตก เราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลยนอกเสียจากความสงบสุขซึ่งบีบบังคับให้เราละทิ้งการเลือกตั้งโดยเสรี ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยอมรับระบอบเผด็จการรูปแบบใหม่ ไตรภาคีได้นำเราไปสู่แนวทางใหม่ ที่ทางตะวันออกจะรับรองเรา ส่วนทางตะวันตกปฏิเสธ...
- ↑ รัฐธรรมนูญได้กีดกันพระสงฆ์ ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อดีตผู้แสวงหาผลประโยชน์ และอาชญากร จากสิทธิในเลือกตั้ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ชายผู้หญิงอายุสิบแปดปีขึ้นไป Janos, p. 193.
- ↑ ปัจจุบันคือกอชิตเซ ประเทศสโลวาเกีย
- ↑ ในภาษาฮังการี เรียกว่า "โปโชญ" (Pozsony)
- ↑ สาเหตุที่เรียกเช่นนี้เนื่องจากเป็นธนบัตรที่พิมพ์เพียงด้านเดียว
- ↑ โดยระบุว่ามีผู้คนจำนวน 370 ถึง 587 รายที่ตกเป็นเหยื่อ Janos and Slottman p. 197.
อ้างอิง
แก้- ↑ Angyal, Pál (1927). _magyar_buntetojog_kezikonyve04.php "A magyar büntetőjog kézikönyve IV. rész". A magyar büntetőjog kézikönyve. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016.
- ↑ 2.0 2.1 Völgyes 1970, p. 58.
- ↑ John C. Swanson (2017). Tangible Belonging: Negotiating Germanness in Twentieth-Century Hungary. University of Pittsburgh Press. p. 80. ISBN 9780822981992.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Balogh 1976, p. 15.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Janos 1981, p. 195.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 Király & Pastor 1988, p. 34.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 Bodo 2010, p. 703.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 Király & Pastor 1988, p. 6.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 9.8 Szilassy 1971, p. 37.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 Király & Pastor 1988, p. 226.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 Janos 1981, p. 201.
- ↑ Balogh 1975, p. 298; Király & Pastor 1988, p. 226.
- ↑ 13.0 13.1 Király & Pastor 1988, p. 4.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 Völgyes 1971, p. 61.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Völgyes 1971, p. 84.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 Király & Pastor 1988, p. 166.
- ↑ Völgyes 1971, p. 88.
- ↑ Pastor 1976, p. 37.
- ↑ Zsuppán 1965, p. 314.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 Szilassy 1969, p. 96.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Janos 1981, p. 191.
- ↑ 22.0 22.1 Szilassy 1969, p. 97.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 Zsuppán 1965, p. 315.
- ↑ 24.0 24.1 24.2 24.3 Király & Pastor 1988, p. 29.
- ↑ 25.0 25.1 Völgyes 1970, p. 62.
- ↑ 26.0 26.1 Völgyes 1971, p. 162.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 Janos & Slottman 1971, p. 66.
- ↑ Janos 1981, p. 190.
- ↑ 29.0 29.1 Zsuppán 1965, p. 321.
- ↑ 30.0 30.1 30.2 30.3 Zsuppán 1965, p. 320.
- ↑ 31.0 31.1 Zsuppán 1965, p. 317.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 127.
- ↑ Zsuppán 1965, p. 322.
- ↑ 34.0 34.1 34.2 Zsuppán 1965, p. 323.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 35.5 35.6 Juhász 1979, p. 18.
- ↑ 36.0 36.1 Zsuppán 1965, p. 325.
- ↑ Zsuppán 1965, p. 326.
- ↑ 38.0 38.1 Zsuppán 1965, p. 327.
- ↑ Zsuppán 1965, p. 319.
- ↑ 40.0 40.1 Zsuppán 1965, p. 324.
- ↑ 41.0 41.1 41.2 Janos & Slottman 1971, p. 67.
- ↑ Zsuppán 1965, p. 328.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 Zsuppán 1965, p. 329.
- ↑ 44.0 44.1 Király & Pastor 1988, p. 129.
- ↑ Völgyes 1971, p. 164.
- ↑ 46.0 46.1 46.2 Zsuppán 1965, p. 330.
- ↑ 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 Zsuppán 1965, p. 333.
- ↑ 48.0 48.1 48.2 Zsuppán 1965, p. 331.
- ↑ 49.0 49.1 49.2 49.3 Zsuppán 1965, p. 332.
- ↑ 50.0 50.1 50.2 50.3 50.4 Janos 1981, p. 192.
- ↑ 51.0 51.1 51.2 51.3 51.4 51.5 51.6 Juhász 1979, p. 19.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 92.
- ↑ 53.0 53.1 Szilassy 1969, p. 98.
- ↑ Szilassy 1971, p. 32.
- ↑ 55.0 55.1 Pastor 1976, p. 140.
- ↑ 56.0 56.1 56.2 Szilassy 1971, p. 33.
- ↑ 57.0 57.1 57.2 Zsuppán 1965, p. 334.
- ↑ Pastor 1976, p. 141.
- ↑ Völgyes 1970, p. 64.
- ↑ 60.0 60.1 60.2 60.3 Király & Pastor 1988, p. 259.
- ↑ 61.0 61.1 Janos & Slottman 1971, p. 68.
- ↑ Bodo 2010, p. 708.
- ↑ 63.0 63.1 63.2 63.3 Pastor 1976, p. 143.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 272.
- ↑ 65.0 65.1 65.2 65.3 65.4 Pastor 1976, p. 144.
- ↑ 66.0 66.1 Király & Pastor 1988, p. 245.
- ↑ 67.0 67.1 Völgyes 1970, p. 65.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 31.
- ↑ 69.0 69.1 69.2 Völgyes 1970, p. 66.
- ↑ Szilassy 1971, p. 39.
- ↑ 71.0 71.1 71.2 71.3 71.4 71.5 Szilassy 1971, p. 38.
- ↑ 72.0 72.1 Völgyes 1970, p. 68.
- ↑ 73.0 73.1 Balogh 1976, p. 16.
- ↑ 74.0 74.1 Janos & Slottman 1971, p. 61.
- ↑ Balogh 1976, p. 23.
- ↑ Janos & Slottman 1971, p. 64.
- ↑ 77.0 77.1 77.2 77.3 Király & Pastor 1988, p. 5.
- ↑ Janos 1981, p. 193.
- ↑ 79.0 79.1 79.2 Janos 1981, p. 194.
- ↑ Völgyes 1970, p. 61.
- ↑ 81.0 81.1 Völgyes 1970, p. 63.
- ↑ 82.0 82.1 82.2 Völgyes 1971, p. 163.
- ↑ 83.0 83.1 83.2 Szilassy 1971, p. 35.
- ↑ Juhász 1979, p. 20.
- ↑ 85.0 85.1 Király & Pastor 1988, p. 237.
- ↑ 86.0 86.1 86.2 86.3 86.4 86.5 Juhász 1979, p. 21.
- ↑ 87.0 87.1 87.2 87.3 Szilassy 1969, p. 99.
- ↑ 88.0 88.1 88.2 88.3 Szilassy 1971, p. 36.
- ↑ 89.0 89.1 89.2 Juhász 1979, p. 22.
- ↑ Völgyes 1971, p. 166.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 35.
- ↑ Völgyes 1970, p. 93.
- ↑ 93.0 93.1 93.2 93.3 93.4 Mocsy 1983, p. 98.
- ↑ 94.0 94.1 Király & Pastor 1988, p. 76.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 172.
- ↑ 96.0 96.1 96.2 Király & Pastor 1988, p. 36.
- ↑ 97.0 97.1 Király & Pastor 1988, p. 37.
- ↑ 98.0 98.1 98.2 98.3 98.4 98.5 Juhász 1979, p. 23.
- ↑ 99.0 99.1 Király & Pastor 1988, p. 43.
- ↑ 100.0 100.1 Király & Pastor 1988, p. 42.
- ↑ 101.0 101.1 Király & Pastor 1988, p. 49.
- ↑ 102.0 102.1 Király & Pastor 1988, p. 65.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 50.
- ↑ 104.0 104.1 Király & Pastor 1988, p. 309.
- ↑ 105.0 105.1 105.2 Király & Pastor 1988, p. 58.
- ↑ 106.0 106.1 106.2 106.3 Király & Pastor 1988, p. 59.
- ↑ Juhász 1979, p. 2.
- ↑ Juhász 1979, p. 24.
- ↑ 109.0 109.1 Szilassy 1971, p. 42.
- ↑ 110.0 110.1 110.2 Király & Pastor 1988, p. 69.
- ↑ 111.0 111.1 Juhász 1979, p. 25.
- ↑ Janos & Slottman 1971, p. 82.
- ↑ 113.0 113.1 113.2 113.3 Király & Pastor 1988, p. 81.
- ↑ 114.0 114.1 114.2 114.3 Szilassy 1971, p. 43.
- ↑ 115.0 115.1 115.2 115.3 115.4 115.5 115.6 Szilassy 1969, p. 100.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 7.
- ↑ Balogh 1976, p. 29.
- ↑ 118.0 118.1 118.2 118.3 118.4 118.5 118.6 118.7 Szilassy 1971, p. 45.
- ↑ 119.0 119.1 119.2 119.3 Király & Pastor 1988, p. 72.
- ↑ 120.0 120.1 120.2 120.3 Juhász 1979, p. 26.
- ↑ 121.0 121.1 Király & Pastor 1988, p. 71.
- ↑ 122.0 122.1 122.2 122.3 Király & Pastor 1988, p. 82.
- ↑ 123.0 123.1 Király & Pastor 1988, p. 83.
- ↑ 124.0 124.1 124.2 124.3 124.4 124.5 124.6 124.7 Bodo 2010, p. 704.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 73.
- ↑ 126.0 126.1 126.2 Szilassy 1971, p. 46.
- ↑ Szilassy 1971, p. 48.
- ↑ 128.0 128.1 Király & Pastor 1988, p. 74.
- ↑ 129.0 129.1 129.2 129.3 129.4 Király & Pastor 1988, p. 84.
- ↑ Völgyes 1971, p. 167.
- ↑ 131.0 131.1 131.2 131.3 131.4 Völgyes 1971, p. 63.
- ↑ 132.0 132.1 Völgyes 1971, p. 64.
- ↑ 133.0 133.1 Völgyes 1971, p. 70.
- ↑ 134.0 134.1 Völgyes 1971, p. 71.
- ↑ 135.0 135.1 135.2 Völgyes 1971, p. 65.
- ↑ 136.0 136.1 Völgyes 1971, p. 66.
- ↑ 137.0 137.1 Völgyes 1971, p. 67.
- ↑ 138.0 138.1 Völgyes 1971, p. 68.
- ↑ 139.0 139.1 139.2 139.3 Völgyes 1971, p. 69.
- ↑ 140.0 140.1 140.2 140.3 140.4 140.5 140.6 Völgyes 1971, p. 72.
- ↑ Völgyes 1971, p. 62.
- ↑ 142.0 142.1 142.2 142.3 142.4 142.5 Völgyes 1971, p. 73.
- ↑ 143.0 143.1 Völgyes 1971, p. 74.
- ↑ 144.0 144.1 144.2 144.3 Völgyes 1971, p. 75.
- ↑ 145.0 145.1 145.2 145.3 145.4 145.5 145.6 Mocsy 1983, p. 99.
- ↑ Völgyes 1971, p. 76.
- ↑ Völgyes 1971, p. 78.
- ↑ 148.0 148.1 148.2 Völgyes 1971, p. 79.
- ↑ 149.0 149.1 149.2 149.3 149.4 149.5 149.6 149.7 Völgyes 1971, p. 80.
- ↑ 150.0 150.1 150.2 Völgyes 1971, p. 81.
- ↑ 151.0 151.1 Völgyes 1971, p. 82.
- ↑ Janos & Slottman 1971, p. 79.
- ↑ 153.0 153.1 153.2 Völgyes 1970, p. 70.
- ↑ 154.0 154.1 154.2 Völgyes 1971, p. 83.
- ↑ 155.0 155.1 155.2 155.3 155.4 Völgyes 1971, p. 85.
- ↑ 156.0 156.1 156.2 156.3 156.4 Mocsy 1983, p. 101.
- ↑ 157.0 157.1 157.2 Völgyes 1971, p. 86.
- ↑ 158.0 158.1 Völgyes 1971, p. 87.
- ↑ 159.0 159.1 159.2 159.3 159.4 159.5 159.6 Király & Pastor 1988, p. 157.
- ↑ 160.0 160.1 Király & Pastor 1988, p. 160.
- ↑ 161.0 161.1 161.2 161.3 Király & Pastor 1988, p. 161.
- ↑ 162.0 162.1 162.2 162.3 Király & Pastor 1988, p. 164.
- ↑ 163.0 163.1 163.2 163.3 163.4 163.5 Király & Pastor 1988, p. 158.
- ↑ 164.0 164.1 164.2 164.3 164.4 Király & Pastor 1988, p. 159.
- ↑ 165.0 165.1 Janos 1981, p. 196.
- ↑ Janos 1981, p. 197.
- ↑ Mocsy 1983, p. 100.
- ↑ 168.0 168.1 168.2 168.3 168.4 168.5 Mocsy 1983, p. 102.
- ↑ 169.0 169.1 169.2 Mocsy 1983, p. 103.
- ↑ Balogh 1976, p. 26.
- ↑ 171.0 171.1 171.2 171.3 Balogh 1976, p. 34.
- ↑ Balogh 1976, p. 33.
- ↑ Szilassy 1971, p. 47.
- ↑ 174.0 174.1 Szilassy 1971, p. 49.
- ↑ 175.0 175.1 Szilassy 1969, p. 101.
- ↑ Szilassy 1971, p. 52.
- ↑ Király & Pastor 1988, p. 75.
- ↑ Balogh 1975, p. 298.
บรรณานุกรม
แก้- Balogh, Eva S. (1975). "Romanian and Allied Involvement in the Hungarian Coup d'Etat of 1919". East European Quarterly. 9 (3): 297–314. ISSN 0012-8449.
- Balogh, Eva S. (มีนาคม 1976). "The Hungarian Social Democratic Centre and the Fall of Béla Kun". Canadian Slavonic Papers. Taylor & Francis. 18 (1): 15–35. doi:10.1080/00085006.1976.11091436. JSTOR 40867035.
- Bodo, Bela (ตุลาคม 2010). "Hungarian Aristocracy and the White Terror". Journal of Contemporary History. SAGE Publications. 45 (4): 703–724. doi:10.1177/0022009410375255. JSTOR 25764578. S2CID 154963526.
- Juhász, Gyula (1979). Hungarian Foreign Policy, 1919–1945. Akadémiai Kiadó. ISBN 978-96-30-51882-6.
- Janos, Andrew C.; Slottman, William B. (1971). Revolution in Perspective: Essays on the Hungarian Soviet Republic of 1919. University of California Press. ISBN 978-05-20-01920-1.
- Janos, Andrew C. (1981). The Politics of Backwardness in Hungary: Dependence and Development on the European Periphery, 1825-1945 (ภาษาอังกฤษ). Princeton University Press. p. 370. ISBN 9780691101231.
- Király, Béla K.; Pastor, Peter (1988). War and Society in East Central Europe. Columbia University Press. ISBN 978-08-80-33137-1.
- Mocsy, Istvan I. (1983). "The Uprooted: Hungarian Refugees and Their Impact on Hungary's Domestic Politics, 1918–1921". East European Monographs. doi:10.2307/2499355. ISBN 978-08-80-33039-8. JSTOR 2499355.
- Pastor, Peter (1976). Hungary Between Wilson and Lenin (ภาษาอังกฤษ). East European Monograph. p. 191. ISBN 9780914710134.
- Szilassy, Sándor (1969). "Hungary at the Brink of the Cliff 1918-1919". East European Quarterly. 3 (1): 95–109. ISSN 0012-8449.
- Szilassy, Sándor (1971). Revolutionary Hungary 1918–1921. Aston Park, Florida: Danubian Press. ISBN 978-08-79-34005-6.
- Swanson, John C. (2017). Tangible Belonging: Negotiating Germanness in Twentieth-Century Hungary. University of Pittsburgh Press. ISBN 978-0-8229-8199-2.
- Völgyes, Iván (1970). "The Hungarian Dictatorship of 1919: Russian Example versus Hungarian Reality". East European Quarterly. 1 (4): 58–71. ISSN 0012-8449.
- Völgyes, Iván (1971). Hungary in Revolution, 1918–1919: Nine Essays. University of Nebraska Press. p. 219. ISBN 978-08-03-20788-2.
- Zsuppán, Ferenc Tibor (1965). "The Early Activities of the Hungarian Communist Party, 1918-19". The Slavonic and East European Review. 43 (101): 314–334. ISSN 0037-6795.
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- György Borsányi, The life of a Communist revolutionary, Bela Kun translated by Mario Fenyo, Boulder, Colorado: Social Science Monographs, 1993.
- Andrew C. Janos and William Slottman (editors), Revolution in Perspective: Essays on the Hungarian Soviet Republic of 1919. Berkeley, CA: University of California Press, 1971.
- Bennet Kovrig, Communism in Hungary: From Kun to Kádár. Stanford University: Hoover Institution Press, 1979.
- Bela Menczer, "Bela Kun and the Hungarian Revolution of 1919," History Today, vol. 19, no. 5 (May 1969), pp. 299–309.
- Peter Pastor, Hungary between Wilson and Lenin: The Hungarian Revolution of 1918–1919 and the Big Three. Boulder, CO: East European Quarterly, 1976.
- Thomas L. Sakmyster, A Communist Odyssey: The Life of József Pogány. Budapest: Central European University Press, 2012.
- Rudolf Tokes, Béla Kun and the Hungarian Soviet Republic: The Origins and Role of the Communist Party of Hungary in the Revolutions of 1918–1919. New York: F.A. Praeger, 1967.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Gioielli, Emily R. (2015). 'White Misrule': Terror and Political Violence During Hungary's Long World War I, 1919–1924 (PDF) (PhD). Central European University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-04-02. สืบค้นเมื่อ 3 September 2021 – โดยทาง Electronic Theses & Dissertations.
- Hajdu, Tibor (1979). "The Hungarian Soviet Republic". Studia Histórica. Budapest: Akadémiai Kiadó (131). สืบค้นเมื่อ 3 September 2021 – โดยทาง Internet Archive.