สวนสัตว์ดุสิต
สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา เป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 71 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับสนามเสือป่าและพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเนื้อที่ 118 ไร่ ปัจจุบันสวนสัตว์ดุสิตได้ปิดให้บริการลงตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยได้ย้ายสวนสัตว์ไปสร้างยังสถานที่แห่งใหม่บริเวณอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2570[2]
สวนสัตว์ดุสิต | |
---|---|
อนุสาวรีย์หมีในสวนสัตว์ | |
วันที่เปิด | 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 |
วันที่ปิด | 30 กันยายน พ.ศ. 2561[1] |
ที่ตั้ง | กรุงเทพมหานคร |
จำนวนสัตว์ | 2218 |
จำนวนสปีชีส์ | 329 |
ประวัติ
แก้สวนสัตว์ดุสิต อยู่ในอาณาบริเวณของ "วังสวนดุสิต" มาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนและนาในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสน ด้านตะวันออกถึงทางรถไฟด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยพระราชทานชื่อที่ตำบลนี้ว่า "สวนดุสิต" (ราชกิจจานุเบกษา 7 มีนาคม ร.ศ. 117) ปัจจุบันเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
18 มีนาคม พ.ศ. 2481 เทศบาลนครกรุงเทพขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตดัดแปลงบริเวณสวนสัตว์กรุงเทพ เป็นสวนสาธารณะ และเปิดให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยไม่มีค่าเช่า และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะ และยังพระราชทานลูกหลานกวางดาวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากอินโดนีเซีย ที่เมืองบุยเตนซอค (Buitenzurg) เมื่อการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งหลัง พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120) และสัตว์อื่นอีก 2-3 ชนิด จากสวนกวางบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถานมาเลี้ยง
ต่อมากิจการสวนสัตว์ดุสิตของเทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของกระทรวงมหาดไทย ได้ถูกโอนมาอยู่กับองค์การสวนสัตว์ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2497
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับองค์การสวนสัตว์เข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 จากการขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ของพลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานกรรมการ และผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์
สวนสัตว์ดุสิตเป็นสวนสัตว์เปิดที่อยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งภายในสวนสัตว์ประกอบไปด้วยสัตว์ป่า นานาชนิด จำนวนสัตว์ทั้งหมดที่อยู่ในสวนสัตว์ดุสิต รวมทั้งสิ้น 1,343 ตัวแบ่งออกเป็น
- สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 331 ตัว
- สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 170 ตัว
- สัตว์ปีก จำนวน 842 ตัว
สวนสัตว์แห่งใหม่
แก้ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้นำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับพระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 300 ไร่ โดยย้ายไปยังที่ใหม่เนื่องจากที่เก่านั้นมีพื้นที่คับแคบและไม่เพียงพอกับจำนวนสัตว์และนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งสวนสัตว์ดุสิตในสถานที่เก่าเปิดดำเนินกิจการเป็นวันสุดท้าย คือ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 โดยระหว่างที่สวนสัตว์แห่งใหม่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ได้มีการย้ายสัตว์ต่าง ๆ ไปฝากเลี้ยงไว้ยังสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 6 แห่ง[3][4]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- อดีตเงาของเขาดิน จากวันวาน... จนถึงวันนี้ เก็บถาวร 2005-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์ของสวนสัตว์ดุสิต
- แจ้งความเรื่องสวนดุสิต เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ เก็บถาวร 2015-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "ยังเที่ยวได้ต่อ! "สวนสัตว์ดุสิต" เลื่อนเวลาปิดออกไปอีก 1 เดือน". สปริงนิวส์. 2018-08-26. สืบค้นเมื่อ 2018-09-05.
- ↑ ไลฟ์สไตล์ส่อง "สวนสัตว์ใหม่" (คลองหก) มูลค่า 10,974 ล้านบาท น่าสนใจตรงไหนบ้าง?
- ↑ "30 ก.ย.นี้ ปิด "เขาดิน"". ไทยพีบีเอส. 2018-08-09. สืบค้นเมื่อ 2018-08-09.
- ↑ "สวนสัตว์ดุสิต เปิดให้เข้าชมต่ออีก 1 เดือน ถึง 30 ก.ย.นี้". sanook.com. 2018-08-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-25. สืบค้นเมื่อ 2018-09-05.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สวนสัตว์ดุสิต
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์