สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือ สมเด็จพระประสาท หรือ สมเด็จพระประสาสน์[1]: 247 นามเดิม ช่วง (23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 – 19 มกราคม พ.ศ. 2426) เป็นขุนนางตระกูลบุนนาค ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ห้ว
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) | |
---|---|
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 – 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 (5 ปี 46 วัน) | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
สมุหพระกลาโหม | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2398 – พ.ศ. 2412 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) |
ถัดไป | เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) |
ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2394 – พ.ศ. 2412 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | เริ่มตำแหน่งใหม่ |
ถัดไป | เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ช่วง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 พระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 19 มกราคม พ.ศ. 2426 (74 ปี) ราชบุรี ประเทศสยาม |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
คู่สมรส | ท่านผู้หญิงกลิ่น ท่านผู้หญิงพัน ท่านหยาด |
บุพการี |
|
สกุล | บุนนาค |
บรรดาศักดิ์ | สมเด็จเจ้าพระยา |
ประวัติ
แก้ชีวิตส่วนตัว
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีนามเดิมว่า ช่วง เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เกิดปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 9 คน แต่มีชีวิตจนเติบใหญ่มาพร้อมกับท่านเพียง 4 .. ได้แก่ เจ้าคุณหญิงแข (เจ้าคุณตำหนักใหม่) เจ้าคุณหญิงปุก (เจ้าคุณกลาง) เจ้าคุณหรุ่น (เจ้าคุณน้อย) และพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)[2] การศึกษาในวัยเยาว์ของท่านนั้น คงเล่าเรียนที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เนื่องจากการเล่าเรียนของผู้ดีสมัยก่อนนั้นมักจะเรียนกันที่วัด เมื่อเติบใหญ่จึงเล่าเรียนวิชาที่บ้านจากบุคคลในตระกูลของท่านเอง โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ บิดาของท่านนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระยาพระคลังเสนาบดีว่าการต่างประเทศและได้ว่าการปกครองหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออก ดังนั้น ท่านจึงได้ศึกษาราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศและการปกครองมาจากบิดาของท่านเอง[3]
ท่านสมรสกับท่านผู้หญิงกลิ่น มีบุตรธิดา 4 คน เป็นบุตรชาย 1 คน ได้แก่ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สมุหพระกลาโหมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นบิดาของเจ้าคุณพระประยุรวงศ์และเจ้าจอมมารดาโหมด บาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนธิดาอีก 3 คน ได้แก่ คุณหญิงกลาง ภรรยาพระยาสีหราชฤทธิไกร (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) คุณหญิงเล็ก และคุณหญิงปิ๋ว[4] นอกจากนี้ ท่านยังสมรสกับ ท่านผู้หญิงพรรณและท่านผู้หญิงหยาด (บุตรีพระยาวิชยาธิบดี เจ้าเมืองจันทบุรี ต่อมาเป็นพระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง บุรานนท์) ต้นสกุลบุรานนท์) และ ท่านปราง บุตรี พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน[5][6]
การรับราชการ
แก้บิดาได้นำท่านเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชื่อว่า มหาดเล็กช่วง โดยช่วยบิดาทำงานด้านการคลังและกรมท่า รวมทั้งติดต่อกับต่างประเทศด้วย[7]
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาดเล็กช่วงได้เลื่อนเป็น นายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร ซึ่งท่านเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่วัยเยาว์[8][9] และได้เลื่อนเป็น หลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก เรียกกันทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์ ตามลำดับ หลวงนายสิทธิ์ได้ชื่อว่าเป็นพวก “หัวใหม่” ในสมัยนั้น เป็นผู้สนใจศึกษาวิชาการของชาวตะวันตก เนื่องจากจักรวรรดิบริติชและจักรวรรดิฝรั่งเศสเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าสู่โลกตะวันออกและประชิดเขตแดนสยามมากขึ้น หากไม่ปรับตัวให้รู้เท่าทันฝรั่ง สยามอาจถูกยึดครองเป็นอาณานิคมได้
ในช่วงเดียวกันนี้ก็มีผู้เล็งเห็นการณ์ไกลในแนวเดียวกัน ได้แก่ วชิรญาณภิกขุ (พระนามขณะนั้น) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระยศขณะนั้น) กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และท่าน ซึ่งท่านสนใจที่จะศึกษาในวิชาการต่อเรือกำปั่นเป็นพิเศษและได้ศึกษาภาษาอังกฤษพอประมาณ[3] ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ หลวงนายสิทธิ์ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก และในปี พ.ศ. 2384 จึงมีการเพิ่มสร้อยนามของท่านเป็น จมื่นไวยวรนาถภักดีศรีสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2393 ในปลายรัชกาลที่ 3 นั้น ท่านได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก[7]
หลังจากบิดาได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้ง พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ขึ้นเป็น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม และเนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยังคงถือตราคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหมอยู่ตามตำแหน่ง ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสร้าง "ตราศรพระขรรค์" สำหรับพระราชทานแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ต่อมา เมื่อท่านดำรงตำแหน่งสมุหกลาโหมเต็มตำแหน่งแล้ว ท่านก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ทั้งตราคชสีห์และตราศรพระขรรค์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม[10] ในการเข้ามารับตำแหน่งนี้ทำให้ท่านมีบทบาทสำคัญในการปกครองประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ถึงแก่พิราลัย และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ตามลำดับ อำนาจของท่านมีมากจนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า[10]
“ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเสมือนเสนาธิการ ช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ 4”
ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์[11] แต่เนื่องจากพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ดังนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จึงได้รับเลือกจากที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินทั่วราชอาณาจักรระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 โดยได้จัดพิธีสถาปนาขึ้นเมื่อวันศุกร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง จุลศักราช 1231 ตรงกับวันที่ 6 พฤษภาคม 2412 หลังจากท่านพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีสร้อยสมญาภิไธยนามตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า[8]
“สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธิ มหาบุรุษยรัตโนดม บรมราชุตมรรคมหาเสนาบดี มหาสุริยมัณฑลีมุรธาธร จักรรัตนสหจรสุรศรขรรค์ วรลัญจธานินทร์ ปริมินทรมหาราชวรานุกูล สรรพกิจจานุกิจมูลประสาท ปรมามาตยกูลประยูรวงศ์วิวัฒน์ สกลรัชวรณาจักโรประสดัมภ์ วรยุติธรรมอาชวาธยาศัยศรีรัตนตรัยคุณาภรณ์ภูษิต อเนกบุยฤทธิประธิสรรค์ มหันตวรเดชานุภาพบพิตร”
โดยมีอำนาจบรมอิสริยยศบรรดาศักดิ์ 30,000 ไร่ ยิ่งกว่าจตุสดมภ์มนตรี 3 เท่า ดำรงตรามหาสุริยมณฑล ได้บังคับบัญชาสิทธิขาดราชการแผ่นดินในกรุงนอกกรุงทั่วพระราชอาณาจักร และสำเร็จสรรพอาญาสิทธิประหารชีวิตคนที่ถึงอุกฤษฏโทษมหันตโทษได้[12] และนับเป็นบุคคลที่ดำรงบรรดาศักดิ์ ระดับ "สมเด็จเจ้าพระยา" เป็นองค์สุดท้ายของประวัติศาสตร์สยาม[13]
บั้นปลายชีวิต
แก้หลังพ้นหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ท่านก็ชอบออกไปตรวจราชการตามหัวเมืองต่าง ๆ และพำนักอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ นับเป็นเวลา 9 ปี ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2425 ท่านถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมขณะที่กำลังเดินทางกลับจากราชบุรี รวมสิริอายุได้ 74 ปี 27 วัน[4] โดยเหตุการณ์ในวันถึงพิราลัยของท่านนั้น มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ดังต่อไปนี้[14]
“วันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1244 เวลาย่ำรุ่ง ท้าวราชกิจวรภัตร เข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สมเด็จเจ้าพระยาเมื่อป่วยหนักออกไปอยู่ที่ราชบุรีแล้ว ครั้งเมื่อจะไปฉลองศาลาที่ท่านสร้างไว้ที่มะขามเตี้ยไปถึงกลอนโต ขึ้นไปเก็บมะขามป้อมบนบก หามไปกลางแดดเวลาเที่ยง ไม่ให้ไปก็ไม่ฟัง ครั้งไปถึงต้นมะขามป้อมก็ไปนอนหลับตาซึมอยู่ กลับมาถึงเรือตัวร้อนอาการมาก จึงปรึกษาพร้อมกัน เอากลับมาเรือนราชบุรี มานอนท่าพระแท่นดงรังครึ่งคืน แล้วล่องลงมาถึงเมืองราชบุรี เวลาบ่ายโมงเศษหามขึ้นบก พอถึงต้นมะขามหน้าบ้านก็เป็นลมคอพับ จึงหามเข้าไปแก้ไขกันอยู่ในเรือน เวลานั้นลมก็จัดเอาลับแลเข้าบังไว้ ครั้งเจ้าพระยาสุรวงศ์และญาติ ซึ่งตามมาภายหลังมาถึง จึงพร้อมกันพาท่านลงเรือมาเวลาบ่าย 5 โมงเศษวานนี้ เรือไฟจูงมาพ้นคลองดำเนินสะดวกมาแล้ว จะเข้าคลองภาษีเจริญติดน้ำ ๆ แห้ง จึงไปรอน้ำอยู่ปากคลองกระทุ่มแบน ถึงปากคลองเวลา 5 ทุ่มเศษ ชักเยื้องไหล่หน่อยหนึ่ง ก็ถึงแก่พิราลัยที่ปากคลองกระทุ่นแบนนั้น ครั้งน้ำขึ้นจึงรีบเอาศพเข้ามาถึงจวนเวลากรู่ ๆ"
ภายหลังการถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรดน้ำศพพระราชทาน พร้อมทั้งพระราชทานโกศกุดั่นน้อยประกอบลองใน ตั้งบนแว่นฟ้า พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ไว้ทุกข์เป็นระยะเวลา 7 วัน นอกจากนี้ ในวันชักศพเข้าเมรุ ณ วัดบุปผารามวรวิหารนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ยศขณะนั้น) จัดทหารจำนวน 100 คนไปแห่ศพ พร้อมทั้งพระราชทานเปลี่ยนโกศประกอบลองในเป็นโกศกุดั่นใหญ่เพื่อเป็นเกียรติยศ และเสด็จพระราชทานเพลิงศพ[15]
บทบาทความรับผิดชอบในชีวิตราชการ
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจึงมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย ในเรื่องบทบาท การเป็นขุนนางผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดีและรักษาความยุติธรรมอันแน่วแน่ จนเซอร์จอห์น เบาริ่งบันทึกไว้ว่า "เป็นคนมีความรู้สุขุมดีกว่าผู้ใดที่พวกเราได้พบ มีกิริยามรรยาทละมุนละม่อมเป็นผู้ดี พูดจาก็เหมาะสม พูดอย่างง่าย ๆ ถ้อยคำของเขาสมกับเป็นผู้ที่รักชาติอย่างยิ่ง"[16] กับฐานะผู้สำเร็จราชการและพระเจ้าอยู่หัวที่ยังทรงพระเยาว์ ก็เป็นของธรรมดาที่โต้แย้งกันบ้าง แต่ก็ผ่านไปโดยเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตาม 18 ปีหลังจากที่มีพระราชอำนาจเต็มที่ รัชกาลที่ 5 จำต้องทรงรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับผู้สำเร็จราชการนั้น บางเวลาก็ลำบากอยู่บ้าง[17]
สำหรับบทบาทความรับผิดชอบในชีวิตราชการ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
บทบาทก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แก้การให้ความอุปถัมภ์ชาวต่างประเทศ
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นคน “หัวก้าวหน้า” รวมทั้ง ชอบคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศและรับความเจริญมาจากชาติตะวันตก[18] ท่านจึงมองเห็นถึงความสำคัญของวิชาความรู้ วิทยาการ และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่น การแพทย์ การพิมพ์ และการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยของหมอสอนศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะมิชชันนารีชาวอเมริกันนั้นเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่คนเหล่านี้มักถูกรังเกียจจากเจ้านายและขุนนางหัวเก่า จึงมักได้รับความยากลำบากในการหาที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และการทำงาน ท่านได้ให้ความอุปการะอำนวยความสะดวกแก่หมอสอนศาสนาเหล่านี้ และคอยติดต่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังลักษณะที่เรียกกันในปัจจุบัน ว่า “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” ซึ่งท่านหมั่นเพียรเรียนรู้วิชาการตะวันตกกับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม ทำให้ท่านสามารถต่อ "เรือกำปั่น" ได้เอง และนับเป็นนายช่างสยามคนแรกที่สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้[7]
การติดต่อกับต่างประเทศ
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีบทบาทสำคัญในการติดต่อและต้อนรับชาวต่างประเทศและคณะทูต ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับคณะทูตนำโดยเซอร์จอห์น เบาริง ที่ปากน้ำ นำคณะทูตเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2398 และร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนสยาม 5 คน ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) และท่าน[19] เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาทางการค้าที่นาย “หันแตร บารนี” หรือเฮนรี เบอร์นีเข้ามาทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ สนธิสัญญาเบอร์นี แม้การเจรจาจะมีความยุ่งยากติดขัดในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งพิกัดอัตราภาษี ด้วยการประสานงานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวตะวันตก การเจรจาระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาอีกสองท่านในคณะผู้แทนฯ การเจรจาจึงสำเร็จลงด้วยความรวดเร็วและเรียบร้อย มีการลงนามสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ที่เรียกว่าสนธิสัญญาเบาริง หรือเรียกกันย่อ ๆ ในสมัยนั้นว่า “สัญญาเบาริง”[20]
การทหาร
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทำงานด้านการทหารมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์มีพระราชดำริให้จัดกรมทหารแบบยุโรปขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านควบคุมบังคับบัญชาจัดตั้งขึ้น เรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป” โดยมีโรงทหารตั้งอยู่ที่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์และมีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุปผาราม[8] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับมอบหมายให้จัดเลกหมู่ทหารฝึกหัดยุทธวิธีแบบตะวันตกเพิ่มขึ้น
เมื่อครั้งเป็นหลวงสิทธิ์ นายเวรในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้ช่วยบิดาด้านทหารเรือ โดยที่เป็นผู้มีความสนใจเรียนรู้ในวิทยาการใหม่ๆ กับชาวตะวันตก จึงเรียนวิธีต่อกำปั่นแบบใหม่และเป็นนายช่างสยามที่สามารถต่อเรือฝรั่งแบบฝรั่งสำเร็จเป็นคนแรก ท่านได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุทร" ต่อมา ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ต่อเรือกลไฟเป็นเรือรบและเรือพาหนะของหลวงจำนวนหลายลำ เช่น เรือระบิลบัวแก้ว เรือแคลิโดเนีย[7] ท่านได้รับการยกย่องจากกองทัพเรือเป็นผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวงท่านแรกระหว่าง พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2412 พร้อมๆ กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า (พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2408) [21]
การอัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นครองราชย์
แก้ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติต่างถึงแก่พิราลัย และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตลง ตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้โปรดแต่งตั้งผู้ใดที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นแทน ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมพรรษา 60 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ยังทรงพระเยาว์ แต่พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ" เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า[22] จากการที่บ้านเมืองสูญเสียบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลานี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงมีอำนาจยิ่งใหญ่ในราชการแผ่นดิน เพราะราชการทั้งปวงก็สิทธิ์ขาดอยู่แก่ท่านคนเดียว[23]
แม้จะยังไม่มีธรรมเนียมในการตั้งรัชทายาทขึ้นสืบราชบัลลังก์ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฝึกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้ปฏิบัติราชการอย่างกวดขันและใกล้ชิด ให้อยู่ปฏิบัติประจำพระองค์ ให้ทรงรับฟังพระบรมราโชวาทและพระบรมราโชบายในกิจการบ้านเมือง ทรงมักมอบหมายให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นผู้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งแจ้งพระราชประสงค์และข้อหารือราชการไปยังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทุกเช้า เพื่อเป็นการฝึกราชการและเพื่อให้มีความสนิทสนมกันและเพื่อได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งเป็นขุนนางผู้มีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้นต่อไปในภายหน้า
พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งปวงทราบดีว่า หากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตในขณะที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์นั้น ผู้ที่จะได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คงไม่พ้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งมีอำนาจมากเกินไปอาจเป็นอันตราย จึงกราบทูลว่าไม่ควรไว้วางพระราชหฤทัย แต่พระองค์ก็ไม่ทรงปักใจเชื่อ และปฏิบัติพระองค์เป็นปกติกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เสมอมา เพื่อมิให้กระทบกระเทือนจิตใจฝ่ายขุนนาง เนื่องจากท่านเหล่านั้นกุมอำนาจในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ อยู่[23]
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวรและมีพระอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ประชวรด้วยเช่นกัน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงเรียกประชุมเสนาบดีทั้งปวงให้เตรียมพร้อมไม่อยู่ในความประมาท สั่งการให้ตั้งกองทหารล้อมพระตำหนักที่ประทับของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์หรือกรมขุนพินิตประชานาถไว้ด้วย
เช้าวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัยเข้าเฝ้า และมีพระราชดำรัสว่า "ท่านทั้ง 3 กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตราย หรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้ามีผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้ง 3 จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด" พร้อมทั้งตรัสขอให้ผู้ใหญ่ทั้งสามท่านได้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองต่อไป ให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่เอาธุระรับฎีกาของราษฎรผู้มีทุกข์ร้อนดังที่พระองค์เคยปฏิบัติมา โดยไม่ทรงเอ่ยว่าจะให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์แทนพระองค์[24][25][26]
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ได้อัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5" และให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้มีอำนาจเต็ม โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ช่วยในส่วนการพระราชนิเวศน์ รวมทั้งเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถึงแม้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จะตรัสว่า "ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุม ที่จะเลือกพระมหาอุปราช" อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้แต่งตั้งให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[24][25][26]
บทบาทเมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แก้การจัดระเบียบราชการและพระราชานุกิจ
แก้การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ก่อนนั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้วจึงเสด็จออกท้องพระโรงแล้วมีรับสั่งเอง แต่การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้อำนาจเด็จขาดทั้งหมดอยู่ที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงต้องคิดวิธีว่าราชการบ้านเมืองในหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติสืบต่อไป ดังนั้น ในการจัดระเบียบราชการครั้งนี้จึงอาศัยแนวคิด 2 ประการ คือ ประการแรก การบังคับบัญชาข้าราชการบ้านเมืองนั้น ไม่ได้เอาอำนาจไว้แต่ในตัวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น แต่เป็นไปด้วยการปรึกษาหารือพร้อมเพรียงกันของข้าราชการผู้ชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารซึ่งจะมีการประชุมกัน ณ หอวรสภาภิรมย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ประการที่สอง คือ การฝึกหัดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถว่าราชการบ้านเมืองได้เอง[27][28]
ในการจัดพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ (พระบรมวงศานุวงศ์อาวุโสสูงสุด) และกรมพระสุดารัตนราชประยูร (ผู้ดูแลอภิบาลเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์มาแต่ทรงพระเยาว์) ร่วมกันจัดระเบียบถวายด้านการศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การออกว่าราชการ การเสด็จออกรับฎีกา การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพระจริยาวัตรอื่น ๆ เพื่อเตรียมพระองค์ให้ทรงพร้อมที่จะปกครองแผ่นดิน ในการนี้หากมีปัญหาใด ๆ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสิน
การก่อสร้างและการบำรุงการคมนาคม
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างประภาคารที่มีพระราชดำริมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยบริจาคทรัพย์ส่วนตัวและควบคุมการก่อสร้างด้วยตัวท่านเอง ประภาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2413 แล้วเสร็จในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417 และท่านได้ยกประภาคารแห่งนี้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ประภาคารนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษที่ตั้งโดยพวกฝรั่งว่า "รีเยนท์ไลท์เฮาส์" (Regent Lighthouse) ซึ่งมีความหมายว่า ประภาคารของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[29] และมีชื่อภาษาสยามว่า "ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา" หรือคนทั่วไปเรียกว่า “กระโจมไฟสันดอน” ประภาคารแห่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการเดินเรือ แต่ได้ใช้มาจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2472 จึงได้เลิกใช้ เนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรมมาก[30]
นอกจากนี้ ท่านก็ยังได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นแม่กองในการก่อสร้างและบูรณะสถานที่ต่าง ๆ เช่น พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี[31] พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี[32] พระอภิเนาว์นิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง[11] รวมทั้ง เป็นแม่กองในการขุดคลองและก่อสร้างถนนต่าง ๆ เพื่อการคมนาคม ได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก[33] ถนนเจริญกรุง ถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4) และถนนสีลม[34] เป็นต้น
กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณี
แก้ได้มีการออกพระราชบัญญัติต่าง ๆ ให้การพิจารณาคดีในศาลรวดเร็วขึ้น เช่น กฎหมายลงทะเบียนที่ดิน การขายฝิ่น ฯลฯ โดยร่วมกับคณะเสนาบดีร่างถวายทรงทราบเพื่อลงพระปรมาภิไธย ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีได้ริเริ่มประเพณีทำบุญวันเกิดเป็นครั้งแรกเมื่ออายุครบ 50 ปี คงเริ่มมาจากคำแนะนำของชาวจีน ต่อมา ประเพณีนี้ก็ได้แพร่หลายไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง[35]
การบำรุงวรรณกรรม การละครและดนตรี
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจและมีบทบาทในการทะนุบำรุงและเผยแพร่วรรณกรรม โดยเฉพาะงานวรรณกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีคติสอนใจมากโดยเฉพาะเรื่องการปกครอง เช่น สามก๊ก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มักจัดให้มีนักปราชญ์จีนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อแปลพงศาวดารจีนออกเป็นภาษาสยาม โดยงานที่ท่านจัดให้มีการแปลมีทั้งหมด 19 เรื่อง เช่น ไซจิ๋น ตั้งจิ๋น น่ำซ้อง ซ้องกั๋ง หนำอิดซือ และเม่งฮวดเชงฌ้อ[36]
นอกจากวรรณกรรมจีนแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังได้จัดพิมพ์วรรณกรรมสยาม เช่น พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเรื่อง อิเหนา และเรื่องอื่น ๆ เผยแพร่ให้สามัญชนทั่วไปได้อ่านกันมากขึ้น
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ชอบดูละครและฟังดนตรี ท่านจึงได้ส่งเสริมโดยการหาครูละครและดนตรีมาฝึกคณะละครของท่านจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสมัยนั้น ท่านได้ให้ พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก แต่งเพลงขึ้นใหม่ ซึ่งปรับปรุงมาจากเพลงเต่ากินผักบุ้ง พร้อมทั้งสอดแทรกทำนองมอญเข้าไปในเพลง ทำให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น ท่านจึงโปรดปรานเพลงนี้มาก และตั้งชื่อเพลงนี้ว่า "พระอาทิตย์ชิงดวง” ตามสร้อยราชทินนามและตราสุริมณฑลซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งของท่าน[36]
การรักษาความสงบภายในประเทศ
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ใช้ความสามารถและความเด็ดขาดระงับและตัดไฟต้นลมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มักวุ่นวายขึ้นในช่วงผลัดแผ่นดินซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อคราวประมาณ พ.ศ. 2411 (ช่วงผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ 4 ไปสู่รัชกาลที่ 5) ที่นายเฮนรี อะลาบัสเตอร์ ผู้รักษาการณ์กงสุลอังกฤษกล่าวว่า สยามไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาถึงขนาดลดธงชาติอังกฤษลงครึ่งเสาเป็นการแสดงว่าได้ตัดพระราชไมตรีกับสยาม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ความเฉียบแหลมและเด็ดขาดระงับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้รวดเร็วไม่ลุกลามทำให้ต่างชาติใช้เป็นเหตุอ้างเพื่อเข้าแทรกแซง[27][28]
เกียรติยศ
แก้ธรรมเนียมยศของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ | |
---|---|
ตราประจำตัว | |
การเรียน | ใต้เท้ากรุณาเจ้า |
การแทนตน | กระผม/ดิฉัน |
การขานรับ | ขอรับเหนือเกล้า/เจ้าค่ะ |
บรรดาศักดิ์
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยเริ่มต้นจากการเป็นมหาดเล็ก และท่านก็ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เรื่อยมา จนได้ดำรงตำแหน่งสุดท้ายที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งนับเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนสุดท้ายอีกด้วย โดยท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นลำดับ ดังต่อไปนี้[2]
- พ.ศ. 2369 อายุได้ 18 ปี เป็นนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร
- พ.ศ. 2376 อายุได้ 25 ปี เป็นหลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์
- พ.ศ. 2384 อายุได้ 33 ปี เป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก
- พ.ศ. 2385 อายุได้ 34 ปี รัชกาลที่ 3 ทรงเพิ่มสร้อยนามพระราชทานว่า “จมื่นไวยวรนาถ ภักดีศรีสุริยวงศ์”
- พ.ศ. 2393 อายุได้ 42 ปี เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ วางจางมหาดเล็ก
- พ.ศ. 2394 อายุได้ 43 ปี เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันพงศพิสุทธิ มหาบุรุษรัตโนดม ว่าที่สมุหพระกลาโหม
- พ.ศ. 2398 อายุได้ 47 ปี เป็นอัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่ง
- 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2412 อายุได้ 61 ปี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว
- พ.ศ. 2416 อายุได้ 65 ปี เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
เครื่องยศ
แก้เมื่อท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องยศให้ท่านเทียบเท่าเจ้าต่างกรมชั้นกรมหลวง ซึ่งประกอบด้วย[36]
|
|
นอกจากเครื่องยศที่ท่านได้รับพระราชทานแล้ว คำสั่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์นั้น ยังเรียกว่า "พระประศาสน์" ดังนั้น ท่านจึงมีสมญานามที่ใช้เรียกแทนตัวว่า "พระประศาสน์" หรือ "สมเด็จพระประศาสน์" ด้วย[37]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆเป็นลำดับ ดังต่อไปนี้[38][4]
- พ.ศ. 2412 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2416 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2412 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) (สมัยนั้นเรียกว่า มหาวราภรณ์)
- พ.ศ. 2419 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) (สมัยนั้นเรียกว่า มหาสุราภรณ์)
ดวงตราประจำตัว
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังมีตราประจำตัว ได้แก่ ตราสุริยมณฑล ซึ่งมีลักษณะเป็นตราเทพบุตรชักรถ ภายหลังท่านได้นำตรานี้มาดัดแปลงเป็นรูปพระอาทิตย์แบบฝรั่ง เลียนแบบตราพระอาทิตย์จากพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ตราสุริยมณฑลนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั่วพระราชอาณาจักร (คู่กับตราจันทรมณฑล ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการในพระนคร (และกรมพระคลังสินค้า) ซึ่งเป็นน้องชายของท่าน) แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยังคงถือตราพระคชสีห์สำหรับตำแหน่งสมุหพระกลาโหม (กรมกลาโหม) และตราบัวแก้วสำหรับตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง (กรมท่า) ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานตราสุริยมณฑลให้แก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ดังนั้น ท่านจึงใช้ตราสุริยมณฑลเป็นตราประจำตัวตั้งแต่นั้นมา โดยท่านจะใช้ตรานี้ประทับกำกับไว้ที่หนังสือราชการ สิ่งของเครื่องใช้ หรือสถานที่ต่างๆ ที่ท่านสร้างไว้[36]
เกียรติคุณและอนุสรณ์
แก้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
แก้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้ตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้น ณ จวนสมเด็จเจ้าพระยาขึ้นใหม่ เรียกว่า "โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 โดยมีตราประจำโรงเรียน คือ รูปเสมาสุริยมณฑล เพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และสัญลักษณ์ดังกล่าวยังเป็นรากฐานสำคัญของสถาบันมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น ได้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" ขึ้นอีกแผนก ภายหลังจึงยกระดับเป็น วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งมาเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษาบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสาธิตวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หรือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในปัจจุบัน[39]
ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เรียกตัวเองว่า ลูกสุริยะ สืบเนื่องมาจากการที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับพระราชทานตราสุริยมณฑลเป็นตราประจำตัว โดยทางสถาบันได้จัดพิธีรำลึกถึงท่านในวันที่ 19 มกราคม ของทุกปี โดยเรียกว่า วันคล้ายวันพิราลัยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์[40] นอกจากนี้ ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยายังมีอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ตั้งอยู่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อ 10 เมษายน พ.ศ. 2523 และบริเวณใกล้เคียงยังมีศาลสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ [41]
แสตมป์
แก้เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี ชาตกาล สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มูลนิธิสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก 200 ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ "มหาบุรุษรัตโนดมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์" ออกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551 อีกทั้งในงานนี้ยังได้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก เพื่อเผยแพร่ประวัติและเกียรติคุณของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ [42]
ครอบครัว
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้มีบุตร-ธิดา จำนวน 65 คน ดังนี้
- ท่านผู้หญิงกลิ่น บุนนาค ธิดาหลวงแก้วอายัติ (จาด บุนนาค) และคุณลิ้ม บุนนาค โดยเป็นหลานปู่ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) มีบุตร ธิดา ดังนี้
- เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
- คุณหญิงกลาง ภรรยาพระยาสีหราชฤทธิไกร (แย้ม บุณยรัตพันธุ์)
- คุณหญิงเล็ก
- คุณหญิงปิ๋ว
- ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค ธิดาของพระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง บุรานนท์) ไม่มีบุตร-ธิดา
- หยาด บุนนาค ธิดาของพระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง บุรานนท์) ไม่มีบุตร-ธิดา
สาแหรก
แก้สาแหรกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- ↑ ปิยนาถ บุนนาค. (2520). บทบาททางการเมืองการปกครองของเสนาบดีตระกูลบุนนาค. กรุงเทพฯ: ดวงกมล. 277 หน้า.
- ↑ 2.0 2.1 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เก็บถาวร 2008-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ วัดบุปผารามวรวิหาร หน้า 1
- ↑ 3.0 3.1 เพชรพระมหามงกุฎ ตอน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จาก pantip.com
- ↑ 4.0 4.1 4.2 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พ.ศ. 2351-2425 เก็บถาวร 2015-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ ชมรมสายสกุลบุนนาค หน้า 4
- ↑ สำนักศิลปวัฒนธรรม, พิพิธภัณฑ์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพฯ : สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ม.ป.ป.
- ↑ ลำดับสกุลคชเสนี กับ โบราณคดีมอญ ๒๕๐๘
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พ.ศ. 2351-2425 เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ ชมรมสายสกุลบุนนาค หน้า 1
- ↑ 8.0 8.1 8.2 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, เอกสารประกอบนิทรรศการ “บ้านสมเด็จเจ้าพระยา” เก็บถาวร 2008-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, วันที่ ๑๓-๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒ จาก เว็บไซต์ วัดบุปผารามวรวิหาร
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, สมเด็จพระศรีสุลาลัย เก็บถาวร 2009-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, นิตยสารสกุลไทย, ฉบับที่ 2376, ปีที่ 46, ประจำวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2543
- ↑ 10.0 10.1 สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 3 สายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เก็บถาวร 2008-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ชมรมสายสกุล บุนนาค
- ↑ 11.0 11.1 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์มติชน, 2549 ISBN 974-323-641-4
- ↑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์, โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, พ.ศ. 2461, หน้า 63
- ↑ "สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 3 สายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) จาก เว็บไซต์ชมรมสายสกุล บุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-23. สืบค้นเมื่อ 2008-03-09.
- ↑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เก็บถาวร 2008-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์วัดบุปผารามวรวิหาร หน้า 2
- ↑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เก็บถาวร 2008-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์วัดบุปผารามวรวิหาร หน้า 3
- ↑ Sir John Bowring: "The Kingdom and People of Siam" page 282, London, 1857, Vol, II.
- ↑ เจ้าชีวิต, หน้า 444
- ↑ ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พ.ศ. 2351 - 2425[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์ ฐานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฎ
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์, สนธิสัญญาเบาริ่ง เก็บถาวร 2007-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ฉบับที่ 2686, ปีที่ 52, ประจำวันอังคารที่ 11 เมษายน 2549
- ↑ ปถพีรดี, วันนี้ในอดีต ๓๐ กันยายน ๒๔๑๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เซอร์จอห์น เบาริ่ง เป็นอัครราชทูตพิเศษไทยประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เก็บถาวร 2008-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2666, ปีที่ 52, ประจำวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2548
- ↑ "รายพระนามและรายนามผู้บัญชาการทหารเรือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-13. สืบค้นเมื่อ 2006-11-15.
- ↑ วุฒิชัย มูลศิลป์ และคณะ, พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, อัลฟ่า มิเล็นเนียม, ISBN 974-91048-5-4
- ↑ 23.0 23.1 "กรณีลอบปลงพระชนม์" ในรัชกาลที่ ๔[ลิงก์เสีย] จากเว็บไซต์ โบราณคดีไทย
- ↑ 24.0 24.1 พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชสกุล จาก พันทิปดอตคอม
- ↑ 25.0 25.1 จดหมายเหตุ ปลายรัชชกาลที่ 4 และต้นรัชชกาลที่ 5, พระนคร, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2478
- ↑ 26.0 26.1 มหินทรศักดิ์ธำรง, เจ้าพระยา, จดหมายเหตุ เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวร, พระนคร, โรงพิมพ์พระจันทร์, 2490
- ↑ 27.0 27.1 เพชรพระมหามงกุฎ ตอน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระราชหัตถ์ซ้าย) ตอน ๒ จากพันทิปดอตคอม
- ↑ 28.0 28.1 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ, โรงพิมพ์ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, มกราคม 2506
- ↑ สถานที่ต่าง ๆ ที่เสนาบดีในสกุลบุนนาคเป็นแม่กองสร้าง เก็บถาวร 2008-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ชมรมสายสกุลบุนนาค หน้า 6
- ↑ ประภาคาร เก็บถาวร 2010-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ
- ↑ สถานที่ต่าง ๆ ที่เสนาบดีในสกุลบุนนาคเป็นแม่กองสร้าง เก็บถาวร 2008-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ชมรมสายสกุลบุนนาค หน้า 2
- ↑ สถานที่ต่าง ๆ ที่เสนาบดีในสกุลบุนนาคเป็นแม่กองสร้าง เก็บถาวร 2008-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ชมรมสายสกุลบุนนาค หน้า 1
- ↑ สถานที่ต่าง ๆ ที่เสนาบดีในสกุลบุนนาคเป็นแม่กองสร้าง เก็บถาวร 2008-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ชมรมสายสกุลบุนนาค หน้า 4
- ↑ สถานที่ต่าง ๆ ที่เสนาบดีในสกุลบุนนาคเป็นแม่กองสร้าง เก็บถาวร 2020-01-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก เว็บไซต์ชมรมสายสกุลบุนนาค หน้า 5
- ↑ เอนก นาวิกมูล, เที่ยวท่องครรลองไทย 1 : The Path Through Thai Life : ตอนที่ 11 ฉลองวันเกิด, กรุงเทพฯ, สายธาร, 2548
- ↑ 36.0 36.1 36.2 36.3 วีณา ศรีธัญรัตน์, พรพิมล พุทธมาตย์และสุววรรณา สัจจวีวรรณ, ผลงานด้านวัฒนธรรมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กรุงเทพฯ : วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, 2526
- ↑ สาราณียะของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กรุงเทพฯ : การพิมพ์พระนคร, 2543
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานเครื่องราชอิศริยาภรณ์สยาม, พระนคร, โสภณพิพรรฒธนากร, 2468.
- ↑ ประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เก็บถาวร 2009-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- ↑ "ประวัติสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-04. สืบค้นเมื่อ 2009-01-18.
- ↑ นามพระราชทานสถาบันราชภัฎแห่ง "สมเด็จเจ้าพระยา"[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ลูกสุริยะ"คืนถิ่น "200ปีสมเด็จเจ้าพระยาฯ" เว็บไซต์ข่าวสด
หนังสือ
แก้- ปิยนาถ บุนนาค, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 26 พ.ศ. 2549
- จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, เจ้าชีวิต : สยามก่อนยุคประชาธิปไตย.--กรุงเทพฯ : บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด (ISBN 9748358844)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ชมรมสายสกุลบุนนาค เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ไม่มี | ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง (พ.ศ. 2394 — พ.ศ. 2412) |
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) | ||
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) |
สมุหพระกลาโหม (พ.ศ. 2398 — พ.ศ. 2412) |
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) | ||
สถาปนาใหม่ | ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (พ.ศ. 2411 — พ.ศ. 2416) |
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี |