สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 6 และเป็นรัชกาลสุดท้ายแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2301 — พ.ศ. 2310 มีพระราชสมัญญานามที่สามัญชนเรียกกันอย่างลับว่า ขุนหลวงขี้เรื้อน[2][3][4] เนื่องจากพระฉวี (ผิวหนัง) เป็นโรคผิวหนัง โรคเรื้อน หรือโรคกลากเกลื้อน[5][6]
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ | |
---|---|
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ | |
พระบรมรูปสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ วัดละมุด อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา | |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2301 - พ.ศ. 2310 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร |
ถัดไป | สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (อาณาจักรธนบุรี) |
สมุหนายก | ดูรายชื่อ |
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2252 |
สวรรคต | พ.ศ. 2310 (58 พรรษา) |
มเหสี | กรมขุนวิมลพัตร |
พระสนม | เจ้าจอมมารดาเพ็ง เจ้าจอมมารดาแม้น[1] |
พระราชบุตร | เจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี พระองค์เจ้าหญิงสตันสรินทร์ พระองค์เจ้าชายประเวศกุมาร พระองค์เจ้าหญิงสูรา (รุจจาเทวี) พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (กุมารา)[1] |
ราชวงศ์ | บ้านพลูหลวง |
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ |
พระราชมารดา | กรมพระเทพามาตุ (พลับ) |
พระราชประวัติ
แก้ก่อนครองราชย์
แก้สมเด็จพระบรมราชา มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าเอกทัศ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) เมื่อพระราชบิดาปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. 2275 จึงโปรดให้ตั้งเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี[7]
หนึ่งปีก่อนพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต พระองค์ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พระอนุชาของเจ้าฟ้าเอกทัศ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตทูลว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเชษฐา ยังคงอยู่ขอพระราชทานให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลน่าจะสมควรกว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงตรัสว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น เป็นวิสัยพระทัยปราศจากความเพียร ถ้าจะให้ดำรงฐานานุศักดิ์อุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง ก็จะเกิดวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิจ กอปรด้วยสติปัญญาฉลาดเฉลียว ควรจะดำรงเศวตฉัตรรักษาแผ่นดินได้[8] แล้วรับสั่งกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรีว่า "จงไปบวชเสีย อย่าอยู่ให้กีดขวาง" กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเกรงพระราชอาญาจึงจำพระทัยทูลลาผนวชไปประทับ ณ วัดละมุดปากจั่น ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้รับอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแทน[9]
การเสด็จขึ้นครองราชย์
แก้เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2301 พระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ ระหว่างนั้นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์[10] ราว 2 เดือนต่อมา พระเจ้าอุทุมพรเสด็จไปถวายราชสมบัติแก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีแล้วเสด็จออกผนวช ประทับ ณ วัดประดู่ทรงธรรม กรมขุนอนุรักษ์มนตรีจึงเสด็จขึ้นราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชามหาอดิศร บวรสุจริต ทศพิธธรรมธเรศ เชษฐโลกานายกอุดม บรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว[11]
สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่สอง
แก้ในระหว่างที่พระองค์ครองราชย์ พระเจ้าอลองพญาได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าเอกทัศได้ทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยบัญชาการรบ แต่พระเจ้าอลองพญาประชวรสวรรคตเสียก่อน
ต่อมาใน พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ได้เป็นพระเจ้าอังวะและส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ให้เกณฑ์กองทัพกว่า 70,000 นาย ยกเข้าตีเมืองสยาม 2 ทาง ทางทิศใต้เข้าตีเข้าทางเมืองมะริด ส่วนทางตอนเหนือตีลงมาจากแคว้นล้านนา และบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยาเป็นศึกขนานกันสองข้างโดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 1 ปี 2 เดือน ก็เข้าพระนครได้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310
ในพงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองของพม่า ได้บรรยายให้เห็นว่าในสงครามครั้งนี้ ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเองก็ได้เตรียมการและกระทำการรบอย่างเข้มแข็ง มิได้เหลวไหลอ่อนแอ [13]
การสวรรคต
แก้สาเหตุการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเอกทัศมีสันนิษฐานไว้หลายข้อ ในหลักฐานของไทยส่วนใหญ่บันทึกไว้ว่าพระองค์เสด็จสวรรคตจากการอดพระกระยาหารเป็นเวลานานกว่า 10 วัน หลังจากที่เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ใกล้กับวัดสังฆาวาส[14] ทหารพม่าเชิญเสด็จไปที่ค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อเสด็จสวรรคต นายทองสุกได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ ตรงหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร[15] ต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพขึ้นถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี[16][17]
ฝ่ายพงศาวดารพม่าระบุว่า เกิดความสับสนระหว่างการหลบหนีในเหตุการณ์กรุงแตก จึงถูกปืนยิงสวรรคตที่ประตูท้ายวัง
ส่วนคำให้การของแอนโทนี โกยาตัน ตำแหน่ง หัวหน้าฝรั่งต่างด้าว (Head of the foreign Europeans) เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2311 มีว่า "กษัตริย์องค์ที่สูงวัย [พระเจ้าเอกทัศ] ถูกลอบปลงพระชนม์โดยชาวสยามเช่นเดียวกัน" หรือไม่พระองค์ก็ทรงวางยาพิษตนเอง[18]
พระนาม
แก้- ขุนหลวงเอกทัศ (พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
- ขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์[19]
- ขุนหลวงสุริยามรินทร์ (พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า และพระราชกระแสเรื่องจัดการทหาร มณฑลกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๕ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
- ขุนหลวงขี้เรื้อน (พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
- พระเจ้าขี้เรื้อน หรือ พระเจ้าขี้เรื้อนเกลื้อนกราก[20]: 213
- พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์[21]: 26
- สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
- สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า[22]: 19
- สมเด็จพระเอกทัศ หรือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ (ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๖ เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า)
- สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์
- พระเจ้าเอกทัศ
- พระราชาเอกทัศ (วรรณคดีเรื่อง สามกรุง พระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)
- สุริยามเรศ หรือ สุริยอมรอิศ (วรรณคดีเรื่อง สามกรุง พระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์)
- พระที่นั่งราชาสุริยามรินทร์
- เจ้าฟ้าเอกาทศราชา หรือ เจ้าฟ้าเอกาทัศ (มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ฉบับแปลโดยนายต่อ)
พระอุปนิสัย
แก้คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวว่า :-
ฝ่ายพระบรมเอกทัศจึงประพฤติตามอย่างธรรมเนียมกษัตริย์แต่ก่อนมา พระองค์ก็บำรุงพระศาสนาครอบครองอาณาประชาราษฎรทั้งปวงตามประเพณี...พระองค์จึงบำรุงพระสาสนาแล้วครอบครองบ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขมา แล้วพระองค์ก็สร้างอารามชื่อวัดลมุดแล้วสร้างวัดครุฑาวัดหนึ่ง พระองค์จึงฉลองเลี้ยงพระสงฆ์พันหนึ่งจึงถวายเครื่องไตรจีวรแลเครื่องสังเฆฏพันหนึ่ง เครื่องเทียบสิ่งละพัน ต้นกัลปพฤกษ์ก็พันหนึ่ง จึงแจกทานสารพัดสิ่งของนานา สิ่งละพัน แจกอาณาประชาราษฎรทั้งปวงเป็นอันมาก จึงปรายเงินทองวันละ ๑๐ ชั่ง เจ็ดวันเป็น ๗๐ ชั่ง จึงให้มีการมหรศพทั้งปวงสรรพสิ่งต่างๆ เป็นการใหญ่ถ้วน ๗ วัน แล้วพระองค์ จึงหลั่งน้ำทักขิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นพสุธาจึงแผ่กุศให้แก่สัตว์ทั้งปวงแล้วเสด็จคืนเข้ายังพระราชวัง พระองค์ตั้ง อยู่ในธรรมสุจริตบพิตรเสด็จไปถวายมนัสการพระศรีสรรเพ็ชญ์ทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิตย์ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธ ๑๐ ประการ แล้ว ครอบครองกรุงขัณฑสีมา ทั้งสมณพราหมณาก็ชื่นชมยินดีปรีดิ์เป็นสุขนิราศทุกขภัย ด้วยเมตตาบารมี ทั้งฝนก็ดี บริบูรณพูนความสุขมิได้กันดาร ทั้งข้าว ปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎรแล้วชาวนิคมชนบทก็อยู่เย็นเกษมสาร มีแต่จักชักชวนกันทําบุญให้ทานและการขัณฑเสมา[23]: 144–145
คำให้การชาวกรุงเก่า แปลจากฉบับหลวงเมืองพม่า กล่าวว่า :-
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้ ทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะ บําเพ็ญพระราชกุศลบริจาคพระราชทรัพย์เครื่องประดับอาภรณ์ทั้งปวง พระราชทานแก่ยาจกวณิพกเป็นอันมาก...[24]: 163
เพลงยาวนิราศพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งเสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. 2336 กล่าวว่า :-
๏ ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ | ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา | |
สุภาษิตท่านกล่าวเปนราวมา | จะตั้งแต่งเสนาธิบดี |
ไม่ควรจะให้อัครฐาน | จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี | |
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี | จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา[25] | |
— นิราสพระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท. |
เหตุการณ์ในรัชสมัย
แก้นายสังข์แอบอ้างเก็บภาษีผักบุ้ง
แก้ภาษีผักบุ้งของนายสังข์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายตรงกับรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ปรากฎใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก ๑๐๔ ฉบับเดียวเท่านั้น
เมื่อ พ.ศ. 2305 นายสังข์ มหาดเล็กบ้านคูจามแอบอ้างว่าเป็นพี่ชายของเจ้าจอมฟัก พระสนมเอก และ ปาน น้องสาวของตนก็เป็นพระสนมด้วยซึ่งมีอิทธิพลมากอยู่[26]: 29 ส่วน ญาติ ไหวดี กล่าวว่านายสังฆ์เป็นพี่ชายของหม่อมเพ็งกับหม่อมแม้น[27]: 68 นายสังข์จึงกระทำฉ้อราษฎร์ตั้งข้อบังคับโดยไม่ได้รับอนุญาต[28]: 96 [29]: 143 ว่าหากใครเก็บผักบุ้งต้องเอามาขายแก่นายสังข์แต่เพียงผู้เดียวหากขายให้ผู้อื่นจะถูกปรับเงินไหม 5 ตำลึง (หรือ 20 บาท) รวมทั้งราษฎรที่ปลูกผักบุ้งจะต้องเสียภาษีตามขนาดแพผักบุ้ง[30] นายสังข์รับซื้อผักบุ้งโดยกดราคาผักบุ้งแล้วไปขายในท้องตลาดแล้วขึ้นราคาแพง เป็นการผูกขาดภาษีลักษณะเป็นนายทุนผูกขาดสินค้า[31]: 486 ราษฎรที่เคยซื้อขายผักบุ้งมาแต่ก่อนต่างได้รับความเดือดร้อนจึงนำความไปแจ้งต่อทางการแต่ไม่มีข้าราชการผู้ใดนำความขึ้นกราบทูลฯ เนื่องจากนายสังข์กล่าวอ้างว่าเก็บภาษีผักบุ้งเข้าพระคลัง (แต่นายสังเก็บภาษีเข้าส่วนตัว) ตลอดระยะ 3 เดือนนายสังข์เก็บภาษีผักบุ้งได้ถึง 400 ชั่งเศษ (หรือ 32,000 บาท)
ปรากฎใน ปูมโหร ว่า:-
ศักราช ๑๑๒๔ มะเมีย จัตวาศก ทําภาษีผักบุ้ง[32]
วันหนึ่ง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระประชวรบรรทมไม่หลับโปรดจะทอดพระเนตรละครให้ทรงพระเกษมสำราญ จึงมีรับสั่งให้หาละครเข้าไปเล่น ละครมีผู้เล่น 2 คนคือ นายแทน เล่นเป็นตัวจำอวดฝ่ายชาย และ นายมี เล่นเป็นตัวจำอวดฝ่ายหญิง เมื่อเล่นบทผูดมัดจะเร่งเอาเงินค่าผูกคอ
นายมีจึงร้องเล่นว่า :-
จะเอาเงินมาแต่ไหนจนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี[28]: 97
นายมีร้องเล่นอย่างนี้ซ้ำ 2-3 หน จนสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงประหลาดพระทัยจึงทรงตรัสถามมูลเหตุ นายแทน และนายมีทั้ง 2 คนจึงกราบทูลถวายถึงความเดือดร้อนที่นายสังข์บังอาจเก็บภาษีผักบุ้ง พระองค์ทรงฟังแล้วก็ทรงพระพิโรธ จึงมีรับสั่งให้เสนาบดีกรมพระคลังคืนเงินแก่ราษฎร ส่วนนายสังข์เดิมพระองค์จะทรงให้ประหารชีวิตแต่พระพิโรธลดลงก็โปรดให้ยกเว้นโทษประหารชีวิตไว้
โรคฝีระบาดระหว่างเสียกรุงครั้งที่ 2
แก้เมื่อ พ.ศ. 2308 ปีระกา หลังจากกองทัพของเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธายกทัพมาสมทบด้วยกันที่กรุงศรีอยุธยา และเริ่มเข้าประชิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ทุกด้าน ในพระนครผู้คนอดอยาก ปรากฏว่ามีข้าราชการ และชาวกรุงศรีอยุธยาหลบหนีรอดจากพระนครจำนวนมากไปตามหัวเมืองต่างๆ ระหว่างเสียกรุงครั้งที่ 2 พระราชพงศาวดารพม่า ว่า :- "ขุนนางพากันหลบเหลื่อมหนีไปเสียแล้วก่อนเสียกรุงโดยมาก"[33]: 136–137 โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกหัวเมืองเหนือซึ่งมิได้เสียเมืองแก่พม่า ข้าราชการและชาวกรุงศรีอยุธยาทราบกิตติศัพท์ของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ว่าเป็นคนเข้มแข็งจึงรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ได้[34]: 46 จึงพากันหลบหนีไปเมืองพิษณุโลกจำนวนมาก[35]: 17 ระหว่างที่ชาวกรุงศรีอยุธยากำลังหลบหนีพม่าได้ก็เกิดโรคฝี (ไข้ทรพิษ) ระบาด มีผู้คนล้มตายมาก
จดหมายเหตุโหร ตำราพระยาโหราธิบดี (เถื่อน) เจ้ากรมโหรหลวง กล่าวว่า :-
ศักราช ๑๑๒๗ ปีระกา เศษ ๓ ไอ้พม่าล้อมกรุง ชนออกฝีตายมากแล[36]: 18:เชิงอรรถ ๘ [37]: 73
พระราชกรณียกิจ
แก้ในทัศนะของสุเนตร ชุตินธรานนท์ มีความเห็นว่า ผู้ชำระพงศาวดารไทยไม่ได้ระบุพระราชกรณียกิจของพระเจ้าเอกทัศ ซ้ำยังกล่าวพาดพิงในแง่ร้ายอยู่บ่อยครั้ง หากแต่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ กลับมีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์นี้อย่างชื่นชม
คำให้การชาวกรุงเก่า ปรากฏความว่า "[พระมหากษัตริย์พระองค์นี้] ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง"
ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ปรากฏความว่า "พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา"
นอกจากนี้ จากหลักฐานทั้งสอง ยังได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าเอกทัศ เช่น ทรงออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ, มาตราเงินบาท สลึง เฟื้องให้เที่ยงตรง และโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่าง ๆ เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้ง "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก"[38]
พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์ และบริจาคทรัพย์ทำการเฉลิมฉลองพระพุทธรูปแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปพระองค์นั้นไปยังวัดวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในช่วงต้นรัชกาล ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อสร้างพระอารามขึ้นมา 2 แห่ง คือ วัดละมุด และวัดครุฑธาราม และยังพระราชดำเนิน ไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีเป็นประจำทุกปีอีกด้วย และเมื่อยามสงบสุข พระองค์โปรดทำบุญบริจาคทรัพย์ให้แก่ผู้ยากไร้เป็นประจำเช่นกัน[39]
พระราชโอรสธิดา
แก้บัญชีพระนามเจ้านาย ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระเจ้าเอกทัศมีพระราชโอรสธิดา 5 พระองค์[1]
ประสูติแต่กรมขุนวิมลพัตร พระอัครมเหสี คือ
- เจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี (ศรีจันทเทวี)
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพ็ง พระสนมเอก มี 2 พระองค์ คือ
- พระองค์เจ้าหญิงสตันสรินทร์ (ประพาลสุริยวงศ์)
- พระองค์เจ้าชายประเวศกุมาร (ประไพกุมาร)
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแม้น พระสนมเอก มี 2 พระองค์ คือ
- พระองค์เจ้าหญิงสูรา (รุจจาเทวี)
- พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (กุมารา)
ส่วน บัญชีรายพระนามพระราชวงศ์และข้าราชการสยามที่พม่าว่าจับไปได้จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงเสียในปี พ.ศ. 2310 ระบุรายพระนามเจ้านายว่ามีพระราชชายา 4 พระองค์ และมีพระราชโอรส-ธิดา 7 พระองค์ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ถูกจับไปยังพม่า ได้แก่[40]
|
|
ทัศนะ
แก้ฝ่ายซึ่งเห็นว่าพระองค์มีพระราชประวัติความประพฤติไม่ดีก็ว่า ราษฎรไม่เลื่อมใสศรัทธาเพราะพระมหากษัตริย์ทรงประพฤติตนไม่เหมาะสม บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย มีข้าราชการลาออกจากราชการอยู่บ้าง สังคมสมัยนั้นมีการกดขี่รีดไถ ข่มเหงรังแกราษฎรอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อขุนนางชั้นผู้น้อยเห็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทำก็เลียนแบบ ราษฎรและข้าราชการทั้งหลายหมดที่พึ่งจึงแตกความสามัคคี ดังที่บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า: "... บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน [พระราชชายา] ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายเอาไฟเผาบ้านเรือนจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น...
"[41]
ในประวัติศาสตร์ไทย พระเจ้าเอกทัศเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกกล่าวถึงในแง่ร้ายเรื่อยมา และถูกจดจำในฐานะ "บุคคลที่ไม่มีใครอยากจะตกอยู่ในฐานะเดียวกัน" เหตุเพราะไม่สามารถป้องกันกรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากข้าศึก ทั้งนี้ คนไทยที่เหลือรอดมาถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือเอาว่า พระองค์ควรรับผิดชอบการเสียกรุงครั้งที่สองร่วมกับพระเจ้าอุทุมพร[42]
ครั้ง พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก เหตุเพราะช้ำพระราชหฤทัยที่สยามยกดินแดนให้ฝรั่งเศสไป (วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112) โดยทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพันความทุกข์ร้อน และท้อพระทัยว่าจะถูกนินทาไปตลอดกาล ดังเช่นสองพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ) ผู้ไม่อาจปกป้องกรุงศรีอยุธยาจากศัตรู ในช่วงนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพึงถึงความกลัดกลุ้มทุกข์ร้อน ทั้งกลัวว่าจะถูกติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เหมือนสองกษัตริย์ผู้ไม่สามารถจะปกป้องกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้จากข้าศึกศัตรู ความดังนี้[42]
"เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์ | มะนะเรื่องบำรุงกาย | |
ส่วนจิตบ่มีสบาย | ศิระกลุ้มอุราตรึง |
แม้หายก็พลันยาก | จะลำบากฤทัยพึง | |
ตริแต่จะถูกรึง | อุระรัดและอัตรา |
กลัวเป็นทวิราช | บ่ตริป้องอยุธยา | |
เสียเมืองจึงนินทา | บ่ละเว้นฤๅว่างวาย |
ในวัฒนธรรมสมัยใหม่
แก้มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ได้แก่
- สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ จากภาพยนตร์เรื่อง อยุธยาที่ข้ารัก (2522)
- ต้อย แอคเน่อร์ จากละครเรื่อง นิราศสองภพ (2545)
- ศตวรรษ ดุลยวิจิตร จากละครเรื่อง ฟ้าใหม่ (2547)
- วิทยา วสุไกรไพศาล จากละครเรื่อง บางระจัน (2558)
- ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง จากละครเรื่อง เชลยศึก (2560)
- นพชัย ชัยนาม จากละครเรื่อง ศรีอโยธยา (2560)
- ธิตินันท์ สุวรรณศักดิ์ จากละครเรื่อง สายโลหิต (2561)
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 627
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร, 2543. 123 หน้า. หน้า 31. ISBN 974-721-913-1
- ↑ ศิลปากร เล่มที่ 24. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2523. หน้า 12.
- ↑ จดหมายของปีแยร์ ปรีโกต์ ถึงผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส ลงวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1759 (พ.ศ. 2302)
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯกรมพระยา. พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
- ↑ เพลง ภูผา. วิกฤตการณ์วังหน้า เหตุทุรยศบนแผ่นดินสยาม. กรุงเทพฯ : สยามความรู้, 2556. หน้า 170. ISBN 978-616-3440-35-8
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 356
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 367
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 325
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 370
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 371
- ↑ ก้อนนาค, กันตพงศ์ (14 Jul 2019). "ลือหนัก… พระเจ้าเอกทัศทรงจงกรมจนเสียเมือง ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 May 2020.
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 88
- ↑ "พระเจ้าเอกทัศน์ครองเมืองกรุงศรีอยุธยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-25. สืบค้นเมื่อ 2010-01-31.
- ↑ จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 185.
- ↑ กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช ๑๑๒๘-๑๑๔๔. พิมพ์ครั้งที่ ๔ ; พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ, ๒๔๗๒. หน้า ๒๓.
- ↑ สุนทรภู่, นิราศสุนทรภู่ ตอนนิราศพระบาท (พระนคร:คุรุสภา ๒๕๑๙) หน้า ๑๒๓-๑๒๔.
- ↑ จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 198.
- ↑ Giles, Francis H. "Analysis of Van Vliet's Account of Siam, Part Eight: Concerning Titles in Siam," The Journal of the Siam Society 30(3)(1938): 329.
- ↑ Robert B. Jones, Ruchira C. Mendiones, Craig J. Reynolds. (1976). "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดย ร.ต. นคร ปิ่นสุวรรณ ร.น.", ประมวลความเรียงเบ็ดเตล็ด เล่ม ๑ [THAI CULTURAL READER]. New York: Cornell University, Southeast Asia Program. 517 pp. ISBN 978-087-7-27503-9
- ↑ คณะกรรมการอํานวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๕. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 464 หน้า. ISBN 974-419-220-8
- ↑ ธีระวุฒิ ปัญญา. (2557). ตำนาน วิญญาณแห่งบางระจันที่ประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึก!. กรุงเทพฯ: กู๊ดไลฟ์. 143 หน้า. ISBN 978-616-2-92310-4
- ↑ คําให้การขุนหลวงหาวัด. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547. ISBN 978-974-6-45767-5
- ↑ ถนอม อานามวัฒน์ และคณะ, ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (2528). ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงสิ้นอยุธยา. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: อมรการพิมพ์. 363 หน้า. อ้างใน คำให้การชาวกรุงเก่า: แปลจากฉบับหลวงเมืองพม่า.
- ↑ "เพลงยาวนิราศ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖", นิราสพระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าพระศีลวราลังการ (เนตร) วัดชนะสงคราม เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
- ↑ ประจักษ์ ประภาพิทยากร. (2525). ประสาพาสำราญ. กรุงเทพฯ: พี.วาทิน. 240 หน้า.
- ↑ ญาติ ไหวดี. (2519). การปกครองของไทย เล่ม ๑-๒. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
- ↑ 28.0 28.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2546). ละครฟ้อนรำ : ประชุมเรื่องละครฟ้อนรำกับระบำรำเต้น ตำราฟ้อน ตำนานเรื่องละครอิเหนา ตำนานละครดึกดำบรรพ์. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2546. ISBN 974-322-927-2
- ↑ นิดา มีสุข. (2543). วรรณคดีการละคร. สงขลา: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. 152 หน้า. ISBN 978-974-4-51028-0
- ↑ ศิลปวัฒนธรรม, 29(4):15. กุมภาพันธ์ 2551.
- ↑ เรย์โนลด์ส, เคร็ก เจ, และนิธิ เอียวศรีวงศ์. (2561). ความคิดแหวกแนวของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน (Thai Radical Discourse The Real Face of Thai Feudalism Today). แปลโดย อัญชลี สุสายัณห์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 326 หน้า.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2508). "ตำนานละครครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย", ตำนานละครอิเหนา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). พระนคร: คลังวิทยา.
- ↑ นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2505). พระราชพงศาวดารพม่า เล่ม ๒. พระนคร: ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์. 296 หน้า.
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2531). สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๑๐): ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 106 หน้า. ISBN 978-974-315-313-6
- ↑ สมบูรณ์ บำรุงเมือง. (2544). ชุมชนโบราณเมืองพิษณุโลก. พิษณุโลก: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม. 47 หน้า.
- ↑ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). "จดหมายเหตุโหร", ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. 428 หน้า. ISBN 974-419-215-1
- ↑ ธันวา วงศ์เสงี่ยม. (2557). "ไข้ทรพิษในสมัยอยุธยา", วารสารศิลปากร, 57(4), (กรกฎาคม-สิงหาคม 2557): 73. ISSN 0125-0531
- ↑ จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 3.
- ↑ ลือหนัก! พระเจ้าเอกทัศทรงจงกรมจนเสียเมือง ? ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2563
- ↑ นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 1135-1136
- ↑ ขจร สุขพานิช. ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยบางกอก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2531. หน้า 269.
- ↑ 42.0 42.1 สองกษัตริย์สุดท้าย เก็บถาวร 2009-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิชาการ.คอม
- บรรณานุกรม
- จรรยา ประชิตโรมรัน. การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547. ISBN 974-13-2907-5
- นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. ISBN 978-974-7088-10-6
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
- พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์, 2558. 558 หน้า. ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2541). สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐: ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. สำนักพิมพ์ศยาม. หน้า 81-82.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (พ.ศ. 2301) |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พ.ศ. 2301 — 7 เมษายน พ.ศ. 2310) |
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325) |