ภาษา

สื่อกลางที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายและความเข้าใจระหว่างกัน

ภาษา ในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง กิริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้[1] ในความหมายอย่างแคบ หมายถึง ภาษาในฐานะระบบที่มนุษย์ใช้สื่อสารกัน การศึกษาภาษามนุษย์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า ภาษาศาสตร์

นิยาม

แก้

คำว่า ภาษา ในภาษาไทยเป็นคำยืมมาจากภาษาสันสกฤต (สันสกฤต: भाषा) "ภาษา, คำพูด"[2] ซึ่งมาจากรากภาษาอินโด-ยูโรเปียนดั้งเดิม ว่า *bʰeh₂- "พูด, กล่าว" ทั้งนี้คำว่า ภาษา มีหลายความหมาย โดยอาจรวมถึงภาษาโปรแกรม ภาษาประดิษฐ์ ไปจนถึงรูปแบบของการสื่อสารในบริบทต่างๆ เช่น ภาษาราชการ ภาษาปาก ในที่นี้ ภาษา จะหมายถึงภาษามนุษย์ ซึ่งเป็นหัวข้อการศึกษาของภาษาศาสตร์เท่านั้น อย่างไรก็ดี แม้จะพิจารณาเพียงภาษามนุษย์ ก็ยังมีแง่มุมที่หลากหลาย ทำให้สามารถนิยามได้หลายแบบตามที่ผู้ศึกษาสนใจ อาทิ ความสามารถของมนุษย์ในการรับและใช้ระบบการสื่อสารต่าง ๆ กระบวนการทางปริชานในการสร้างถ้อยคำ และโครงสร้างของระบบการสื่อสารที่คนแต่ละกลุ่มใช้[3]

ระบบภาษาและวจี

แก้

นิยามของภาษาในทางภาษาศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือการนิยามภาษาเป็นสองแง่มุมของแฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ ได้แก่ ภาษาในฐานะ ระบบภาษา (ฝรั่งเศส: langue) อันหมายถึง ระบบการจับคู่เสียงหรือท่าทางกับความหมาย อันเป็นผลผลิตทางสังคมจากการใช้สัญญาณในรูปแบบเดียวกัน ระบบภาษาเหล่านี้มักตรงกับการพูดภาษาของกลุ่มคนต่าง ๆ เช่น ภาษาแสก ภาษาไทย ภาษาจีน อีกแง่หนึ่งคือ ภาษาในฐานะ วจี (ฝรั่งเศส: parole) คือ ลักษณะการใช้ระบบภาษาของบุคคลหนึ่ง ๆ ทั้งในแง่การใช้กฎจากระบบภาษามาสร้างถ้อยคำ และการทำงานของอวัยวะที่ใช้ผลิตถ้อยคำ[4]

ลักษณ์เฉพาะของฮอกเกต

แก้

ภาษายังอาจกล่าวถึงได้ในฐานะความสามารถในการสื่อสารที่มนุษย์มี ชาร์ลส์ ฮอกเกต นักภาษาศาสตร์โครงสร้างชาวอเมริกัน ได้เสนอรายการลักษณ์เฉพาะของภาษามนุษย์ (อังกฤษ: design features of language) ซึ่งเป็นลักษณ์ที่ไม่พบในความสามารถในการสื่อสารของสัตว์อื่น หรือพบไม่ครบถ้วนทั้งรายการ โดยฮอกเกตได้ปรับแก้ข้อเสนอไว้หลายครั้งในช่วงปีคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 เริ่มจากเจ็ดลักษณ์[5] ไปจนถึง 16 ลักษณ์[6]

ตัวอย่างของลักษณ์เหล่านี้ ได้แก่ ความเป็นสมมติ หมายถึง ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างสัญญาณที่ใช้กับความหมาย เช่น คำว่า ไข่ ในภาษาไทย ไม่ได้มีอะไรในเสียง [kʰ, a, j] และเสียงวรรณยุกต์ต่ำ ที่บ่งบอกความเป็นไข่ ความเป็นสมมตินี้ยังสามารถสังเกตได้จากภาษาต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้คำที่เสียงแทบจะไม่ตรงกันเลยบ่งบอกถึงสิ่งเดียวกัน เช่น [kʰàj] (ไทย), [ɛg] (อังกฤษ), [tamago] (ญี่ปุ่น) และการมีจุดประสงค์เฉพาะ หมายถึง ภาษามนุษย์สามารถใช้สื่อสารโดยเฉพาะ ไม่ได้มีผลกระทบทางกายภาพมากเท่าไรนัก เป็นต้น

ฮอกเกตเชื่อว่า ในหมู่สัตว์มีกระดูกสันหลัง มีลักษณ์บางลักษณ์ที่พบเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น[7] ลักษณ์ในกลุ่มนี้ คือ ความเป็นทวิลักษณ์ นั่นคือ ภาษามีส่วนประกอบที่ไม่มีความหมาย ได้แก่ หน่วยเสียง และส่วนที่มีความหมาย ได้แก่ คำที่ประกอบขึ้นจากส่วนที่ไม่มีความหมายนั้น[8] การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม นั่นคือ ระบบภาษาไม่ได้กำหนดผ่านพันธุกรรม แต่เรียนรู้ผ่านการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ผลิตภาวะ คือความสามารถในการผลิตถ้อยความใหม่ได้ไม่จำกัดและไม่ซ้ำกับที่เคยมีการผลิต และ ความไม่จำกัดเวลาและสถานที่คือความสามารถในการพูดถึงสิ่งที่ไม่ได้อยู่สถานที่ที่พูดและ/หรือเวลาที่พูดได้

ลักษณ์ของฮอกเกตส่วนมากจะสามารถพบได้ในการสื่อสารของสัตว์อื่น แต่ดูจะไม่มีสัตว์ชนิดใดที่มีครบทุกลักษณ์เช่นเดียวกับมนุษย์ ผึ้งน้ำหวานสามารถสื่อสารโดยการบินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสื่อสารถึงแหล่งน้ำหวานใหม่ ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำหวานดังกล่าว เนื่องจากถ้อยความไม่ซ้ำเดิมจึงถือว่ามีผลิตภาวะ และ ยังเป็นการสื่อสารที่ไม่จำกัดเวลาและสถานที่[5] ลิงไม่มีหางสามารถเรียนรู้ภาษามือที่ประกอบด้วยท่าทางที่ไม่มีความหมาย ประกอบเป็นสัญญะที่มีความหมายได้ ในขณะเดียวกัน นกร้องเพลง (Passeri) สามารถประกอบวลีของเพลงจากโน้ตแต่ละตัวที่ร้องได้เช่นเดียวกัน สัตว์ทั้งสองกลุ่มจึงอาจเรียกได้ว่ามีความสามารถในการใช้ระบบการสื่อสารที่มีความเป็นทวิลักษณ์[9]

ระบบในปริชาน

แก้

อีกนิยามหนึ่งของภาษาคือในฐานะส่วนหนึ่งของระบบปริชานที่ทำให้มนุษย์สามารถใช้และรับระบบภาษาต่างๆ ได้ ภาษาในนิยามนี้เป็นที่สนใจของนักภาษาศาสตร์ในปัจจุบันหลายกลุ่ม รวมถึง นักไวยากรณ์เพิ่มพูน[10] นักภาษาศาสตร์ปริชาน[11] และนักภาษาศาสตร์จิตวิทยาโดยทั่วไป[12] ภาษาในนิยามนี้มักกล่าวถึงควบคู่กับประเด็นสำคัญว่า ความสามารถที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดและทำให้มนุษย์สามารถรับภาษาได้โดยไม่ต้องมีผู้สอนโดยตรงนั้น เป็นความสามารถที่เฉพาะกับภาษาหรือไม่ นักภาษาศาสตร์ โนม ชอมสกี เรียกความรู้ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดที่ว่านี้ว่าไวยากรณ์สากล และเชื่อว่ามนุษย์ไม่สามารถรับภาษาได้โดยขาดความรู้ที่เฉพาะกับภาษาดังกล่าว เพราะข้อมูลที่เด็กได้รับเมื่อรับภาษานั้นไม่เพียงพอต่อเรียนรู้ไวยากรณ์ของภาษา อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในวงการและยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน[13]


อ้างอิง

แก้
  1. "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-24. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. "Monier-Williams Sanskrit-English Dictionary". Cologne Digital Sanskrit Dictionaries (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. Scholz, Barbara C.; Pelletier, Francis Jeffrey; Pullum, Geoffrey K. (2015). "Philosophy of Linguistics". ใน Edward N. Zalta (บ.ก.). The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Summer 2020 Edition) (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563. {{cite encyclopedia}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. de Saussure, Ferdinand (1983). Roy Harris (บ.ก.). Course in General Linguistics. Open Court. pp. 29–32.
  5. 5.0 5.1 Hockett, Charles F. (1958). "Man's Place in Nature". A Course in Modern Linguistics. New York: Macmillan. p. 569-585.
  6. Hockett, Charles F.; Altman, Thomas A. (1968). "A Note on Design Features". Animal Communication: Techniques of Study and Results of Research.
  7. Hockett, Charles F. (1960). "The Origin of Speech". Scientific American. Vol. 203 no. 3. pp. 90–94.
  8. Hockett, Charles F. (1977). "Logical Considerations in the Study of Animal Communication". The View from Language: Selected Essays. Athens: University of Georgia Press. pp. 152–153.
  9. Coleman, John S. (2006). "Design Features of Language". Encyclopedia of Language & Linguistics (2 ed.). pp. 471–475.
  10. Chomsky, Noam; Gallego, Ángel J.; Ott, Dennis (2019). "Generative Grammar and the Faculty of Language: Insights, Questions, and Challenges". Catalan Journal of Linguistics (Special Issue: Generative Syntax. Questions, Crossroads, and Challenges).
  11. Croft, William; Cruse, Alan (2004). "Introduction: What is Cognitive Linguistics". Cognitive Linguistics. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 1–4.
  12. Carroll, David (2008). "General Issues". Psychology of Language. Thomson Wadsworth. pp. 1–66.
  13. Cowie, Fiona (2008). "Innateness and Language". ใน Edward N. Zalta (บ.ก.). The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Fall 2017 Edition).

ดูเพิ่ม

แก้