ความเป็นพลเมือง

(เปลี่ยนทางจาก พลเมือง)

ความเป็นพลเมือง คือ สถานภาพของบุคคลที่จารีตประเพณีหรือกฎหมายของรัฐรับรองซึ่งให้แก่สิทธิและหน้าที่แห่งความเป็นพลเมืองแก่บุคคล (เรียก พลเมือง) ซึ่งอาจรวมสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศ สิทธิกลับประเทศ สิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ การคุ้มครองทางกฎหมายต่อรัฐบาลของประเทศ และการคุ้มครองผ่านกองทัพหรือการทูต พลเมืองยังมีหน้าที่บางอย่าง เช่น หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ จ่ายภาษี หรือรับราชการทหาร บุคคลอาจมีความเป็นพลเมืองมาก และบุคคลที่ไม่มีความเป็นพลเมือง เรียก ผู้ไร้สัญชาติ (stateless)

สัญชาติมักใช้เป็นคำพ้องกับความเป็นพลเมืองในภาษาอังกฤษ ที่สำคัญในกฎหมายระหว่างประเทศ แม้คำนี้บางครั้งเข้าใจว่าหมายถึงการเป็นสมาชิกชาติ (กลุ่มชาติพันธุ์ขนาดใหญ่) ของบุคคลในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สัญชาติและความเป็นพลเมืองมีความหมายต่างกัน

คำนิยามของคำว่า ความเป็นพลเมือง

แก้

คำว่า พลเมือง มาจากภาษาลาตินว่า (พลเมือง) ซึ่งเคยใช้ในยุคโบราณซึ่งเกี่ยวกับประชาธิปไตยในกรีกและโรมัน ต่อมายุคกลางไม่ได้นำมาใช้แต่คำว่าพลเมืองก็ได้มีการนำกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงของการปฏิวัติในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 18 การเป็นพลเมืองมีหลายมิติการที่จะเป็นพลเมืองนั้นต้องมีองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

มีเอกลักษณ์ที่มาจากความเป็นสมาชิกของชุมชนทางการเมือง

  1. ยึดถือค่านิยมเฉพาะและอุดมคติ
  2. มีสิทธิและหน้าที่
  3. มีส่วนร่วมทางการเมือง
  4. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

ประวัติศาสตร์ของความเป็นพลเมือง

แก้

ยุคสมัยโบราณกาล

แก้

ความเป็นพลเมืองเป็นเอกสิทธื์ของชนชั้นสูงซึ่งมีอิสระทางด้านเศรษฐกิจความคิดและเวลาเพื่อปฏิบัติหน้าที่พลเมือง เช่น การสมัครรับการเลือกตั้ง การเป็นทหาร เป็นต้น ในสมัยนั้นประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิในความเป็นพลเมืองโดยเฉพาะสตรี ทาสหรือคนป่าเถื่อน

ยุคสมัยกลาง

แก้

เป็นยุคของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป แนวคิดแบบพลเมืองก็ได้สูญหายไปเน้นความจงรักภีกดีต่อพระมหากษัตริย์ เท่านั้น พลเมืองไม่มีสิทธิเข้ามามีบทบาททางการเมือง ไม่มีสัญญาประชาคมระหว่างประชาชนกับรัฐ มีแต่ความจงรักภักดีระหว่างกษัตริย์และประชาชน ดังคำพูดที่ว่า “รัฐคือผมเอง” (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส, 1674)

ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา

แก้

กระแสนิยมก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่าประชาชนต้องนับถือรัฐมากกว่าตัวบุคคลที่ปกครองรัฐ จึงทำให้เกิดความเป็นพลเมืองที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ ดังนั้น ความจงรักภักดีต่ออุดมคติทางการเมืองจึงมาแทนความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

ระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20

แก้

อุดมคติเสรีนิยมทำให้คำนิยามของความเป็นพลเมืองกลายเป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นอุดมคติของความเสมอภาคและเสรีภาพ พลเมืองทุกคนมีเหตุผลและมีทางเลือกที่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชนชั้นหรือเพศแต่อย่างไรก็ตาม ในสมัยนี้ความเสมอภาคก็เป็นได้แค่ความเสมอภาคในประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แก้

สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองและสิทธิทางสังคมได้พิสูนจน์ว่าความเสมอภาคด้านกฎหมาย ไม่ได้ทำให้เกิดความเสมอภาคอย่างแท้จริงดังนั้นรัฐมีหน้าที่คุ้มครองพลเมืองทางด้านสังคมด้วย ด้วยเหตุผลนี้รัฐสวัสดิการจึงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อทัศนคติของประชาชน จะทำให้ประชาชนเห็นว่าไม่ต้องตอบแทนอะไรแก่รัฐ จากเหตุนี้ จะเห็นได้ว่าประชาชนในยุโรปและอเมริกาไม่ค่อยไปเลือกตั้งหรือเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนเท่าที่ควร เพราะอาจคิดว่า การเมืองในระดับชาตินั้นไม่ได้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงในสมัยโลกาภิวัฒน์แล้ว ดั้งนั้น อนาคดของความเป็นพลเมืองอาจกลายเป็น "พลเมืองโลก" ซึ่งในยุโรปมีสภาวการณ์ของความเป็นพลเมืองของยุโรปแล้ว (European Citizenship)[1]

แนวคิดเกี่ยวกับการเป็นพลเมือง

แก้

แนวคิดการสร้างความเป็นพลเมืองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เป็นวิธีการที่องค์การสหประชาชาติให้ความสนใจมาก เพื่อที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันมีความมั่นคงและปลอดภัยสำหรับสังคมตะวันตกให้ความสำคัญกับความเป็นพลเมืองเป็นอย่างมาก และพลเมืองก็รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดได้อย่างชัดเจน พลเมือง (Citizen) หรือ ความเป็นพลเมือง (Citizenship) ในยุคสังคมกรีกและโรมันถือเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย และมีพัฒนาความเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเข้าใจสภาพการณ์ทางสังคมกว้างมากขึ้น ผลจากการติดต่อสื่อสารกันทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ดังนั้นศตวรรษที่ 21 มีผู้นำรัฐต่าง ๆ หยิบเอา “ความเป็นพลเมือง” เป็นเครื่องมือพัฒนาการอยู่ร่วมกัน และส่งเสริมระบบการเมืองการปกครองก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิไตย และประเทศนั้น ๆ ต้องปลูกฝังรากฐานความรู้ความเป็นพลเมือง ให้สืบทอดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน[2]

ความหมายของคำว่า พลเมือง

แก้

คำว่า พลเมือง ไม่ใช่คำที่อยู่อย่างโดด ๆ แต่เป็นคำที่คู่กับคำว่า ชุมชนการเมือง ที่กรีกเรียกว่า (Polis) และคนปัจจุบันเรียกว่ารัฐ (State) พลเมืองเป็นสมาชิกของชุมชนการเมืองหรือรัฐซึ่งหมายความว่าที่ใดก็ตามที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน มีการใช้อำนาจจัดการบริการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในน้อยมากที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับใคร การเป็นคนจึงเท่ากับเป็นเรื่องการเมือง (To be human is to be political) พูดอีกอย่างหนึ่งคือ คนเป็นสัตว์การเมือง (Man is a political animal) ความเป็นพลเมืองก็คือการเข้าร่วมส่วนในชุมชนการเมือง กล่วงอีกอย่างหนึ่งไม่มีพลเมืองก็ไม่มีชุมชนการเมืองหรือไม่มีรัฐ

กล่าวโดยสรุป ในสมัยที่ระบอบประชาธิปไตยมีบทบาทและได้รับการยอมรับไปทั่ว คำว่า พลเมือง ก็ได้กลายเป็นคำที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น กันประชาชนที่อพยพมาจากรัฐของตนเข้าไปอยู่ในรัฐใหม่ ก็เรียกร้องขอสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐใหม่ทั้งนี้ก็เพื่อการได้รับสิทธิผลประโยชน์ต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นพลเมือง ส่วนองค์กรที่สนันสนุนการเรียกร้องครั้งนี้โดยการย้ำถึงสิทธิมนุษยชนที่คน ๆ หนึ่งได้รับ และสิทธิมนุษยชนนั้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความเป็นพลเมืองในที่สุด[3]

พื้นฐานความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

แก้

สิ่งหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยมีความสงบสุขได้ คือ คนไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีหลักประชาธิปไตยในการดำรงชิวิต ปฏิบัติตามกฎหมายและทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งการสร้างความเป็นพลเมืองไม่ใช่การทำให้ประชาชนรู้สึกถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเองมีแต่สิ่งที่จะต้องทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง สิ่งแรกคือ "พื้นฐานความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย" มี 3 ประการ คือ

  1. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนเกิดมามีคุณค่าเท่ากันอาจล่วงละเมิดได้ การมีอิสรภาพและความเสมอภาคการยอมรับในเกียรติภูมิของแต่ละคน โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางสังคมยอมรับความแตกต่างของทุกคน
  2. เคารพสิทธิ เสรีภาพ และกฏกติกาของสังคมที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพ การมีกฏกติกาที่วางอยู่บนความยุติธรรมและชอบธรรม มีหลักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไม่ให้ถูกละเมิด
  3. รับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคม โดยคำนึงถึงบทบาท หน้าที่ของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยมุ่งเน้นไปที่คุณลักษณะสำคัญในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองต่อสังคมและการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผล

ดังนั้น หากประชาชนได้เข้าใจในหลักพื้นฐานความเป็นพลเมืองทั้ง 3 หลักการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว และสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้ก็จะทำให้สังคมไทยพัฒนาเป็นสังคมประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง[4]

เพลโตและอริสโตเติลว่าด้วยการศึกษาและความเป็นพลเมือง

แก้

เพลโตกับแนวคิดเรื่องพลเมือง

แก้

ในงานเขียนของเพลโตชื่อ “กฎหมาย” (Laws) เพลโตได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาและได้นิยามพลเมืองไว้ด้วย เพลโตได้เสนอแนวคิด พลเมืองที่สมบูรณ์ (Perfect Citizen Concept) จากงานเขียนของเพลโต สามารถสรุปสาระสำคัญของเพลโตได้ ดังนี้

  1. การให้การศึกษาเพื่อปลูกฝังคุณธรรม นั้นต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วัยเด็ก
  2. คุณธรรมที่ว่าก็คือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์
  3. พลเมืองที่สมบูรณ์หมายถึงคนที่รู้วิธีปกครองผู้อื่นและวิธีถูกผู้อื่นปกครองด้วยความยุติธรรม
  4. ให้เรียกการฝึกอบรมเพื่อสร้างคุณธรรมเช่นนี้ว่า “การศึกษา” (Education) เท่านั้น ส่วนการฝึกอบรมส่วนอื่น ๆ ให้เรียกว่า Training

จากที่กล่าวมา จะต้องให้การศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ประถม เป็นการปลูกฝังความดีงาม (Virtue) ให้แก่ประชาชน หมายความว่าปรารถนาที่จะเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมนั้นเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งเป็นพลเมืองสมบูรณ์ที่รู้ทั้งวิธีการปกครองและวิธีการเป็นผู้ถูกปกครองนั้นย่อมแสดงว่าพลเมืองแต่ละคนจะพลัดเปลี่ยนกันเข้ามาบริหารประเทศสลับกันไปมา ไม่มีใครอยู่ในอำนาจอย่างถาวรนี่คือความคิดแบบประชาธิปไตยของเพลโต

อริสโตเติลกับแนวคิดเรื่องพลเมือง

แก้

ต่อจากเพลโต้ ก็คืออริสโตเติล (Airstotle , 384-323 B.C.) นักคิดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรัฐศาสตร์คนแรกของโลก อริสโตเติลเป็นศิษย์ของเพลโต ที่ผ่านมาความเข้าใจของสังคมไทยที่มีต่อนักคิดผู้นี้เกี่ยวกับการเมืองมีเพียงประเด็นเดียว คือ “มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองโดยธรรมชาติ คนที่อยู่ของรัฐหากไม่ใช่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ (หมายถึงเทวดา) ก็ต้องต่ำกว่ามนุษย์” (หมายถึงสัตว์)

การพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง อาจทำให้คนจำนวนหนึ่งเข้าใจมนุษย์หลีกไม่พ้นอิทธิพลของการเมืองไม่ว่าจะอยู่ในถิ่นใด แต่หลีกไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีบทบาทมากไปกว่านั้นแต่ความจริงแล้วอริสโตเติลเห็นมากกว่านั้นคือ มนุษย์จะไปถึงศักยภาพเต็มที่ชองชีวิตของเขาได้ (To reach the full potential of his life and personality) ก็ด้วยการเข้าไปแล้วมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโพลิส (Polis - ชุมชนการเมืองหรือที่แปลกันทั่วไปว่า “นครรัฐ”) หรือกิจกรรมสาธรณะเท่านั้น (Only by participation in the affairs of a polis)

อริสโตเติลเห็นว่าคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านั้นก็ คือ พลเมือง (Citizens) พลเมือง คือ

  1. คนที่ใช้สิทธิเข้าร่วมในหน่วยงานที่กำหนดนโยบายหรือตัดสินคดีความในเวลาที่กำหนดตายตัวหรือไม่ก็ได้
  2. คนที่เข้าร่วมส่วนในชีวิตพลเมืองที่มีทั้งการปกครองและการถูกปรครองสลับกันไป
  3. พลเมืองที่ดี คือ คนที่ต้องมีความรู้และความสามารถในการปกครองและการถูกปกครอง

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความยอดเยี่ยมของพลเมืองดีก็คือ ความรู้ในการปกครองเหนือเสรีชนทั้งหลายและความรู้ที่ถูกพวกเสรีชนทั้งหลายปกครองเรา[5]

ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย (Citizenship)

แก้

ความเป็นพลเมือง (Citizenship) เป็นคำที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่เพียงมีรัฐธรรมนูญที่ดีเท่านั้น แต่ประชาชนจะต้องเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยด้วย (วรากรณ์ สามโกเศศ, 2554) กล่าวคือ มีสมาชิกของสังคมที่ใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีความรับผิดชอบ เคารพสิทธิผู้อื่น เคารพความแตกต่าง เคารพกติกา ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเยอรมนี จัดให้มีการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education) ขึ้นมา และประสบความสำเร็จในการสร้างพลเมือง จนเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ประเทศไทยจัดว่าพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยมาร่วมกว่า 80 ปี แต่ยังคงมีปัญหาของการถอยกลับไปสู่ยุคที่เรียกว่า ขาดความเป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลหลายประการ อย่างไรก็ตามหากประชาธิปไตยมีความเป็นพลเมืองในแนวคิดที่จะช่วยพัฒนาประเทศไปอย่างสันติได้ ก็น่าจะส่งผลต่อการเสริมสร้างความก้าวหน้าของกระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น

คุณสมบัติของความเป็นพลเมือง แบ่งได้ ดังนี้

  1. มีค่านิยมตามประเพณีนิยม (Traditional Values) ประกอบด้วย การเคารพผู้อาวุโสกว่า เสียสละเวลา ทำงานเพื่อส่วนรวม ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติตามหลักศาสนา มีความภูมิใจในการเป็นคนไทย ทำงานแบบสุจริต บริจาคโลหิต สิ่งของและรักษาสิ่งแวดล้อม
  2. มีความรู้เกี่ยวกับการเป็นพลเมือง (Civic knowledge) ประกอบด้วย การสามารถเปรียบเทียบนโยบาย ของพรรคและผู้สมัคร มีความรู้เรื่องการเมืองของประเทศต่าง ๆ เต็มใจที่จะเสียภาษี
  3. การมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การเป็นสมาชิกกลุ่ม สามารถไปร่วมชุมนุม ติดตามการทำงานของนักการเมืองและข้าราชการ[6]

อ้างอิง

แก้
  1. ดร.ถวิลวดี บุรีกุล และ รัชวดี แสงมหะหมัด. 2014. ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย. สืบค้นจาก http://kpi.ac.th/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-citizenship-in-thailand-.html. สืบค้นเมื่อ[ลิงก์เสีย] 20 ก.พ. 2560. (หน้า 6-7)
  2. อาจารย์ภณ ใจสมัคร. ความเป็นพลเมืองในสังคมยุคใหม่. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. สืบค้นจาก http://ge.kbu.ac.th/Download9_files/img/07.pdf. สืบค้นเมื่อ[ลิงก์เสีย] 19 ก.พ. 2560. (หน้า 3-4)
  3. ธเนศวร์ เจริญเมือง. 2551. พลเมืองเข้มแข็ง. 490/9 ถนนริมคลองประปาฝั่งขวา เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800:สำนักพิมพ์วิภาษา. (หน้า 3-8)
  4. ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. พื้นฐานความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย. สืบค้นจาก[[1]เก็บถาวร 2018-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน]. สืบค้นเมื่อ 20 ก.พ. 2560. (หน้า1-3)
  5. รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง.กันยายน 2548. แนวคิดว่าด้วยความเป็นพลเมือง. บริษัท โรงพิมพ์ คลังวิชา จำกัด : จัดพิมพ์โดย สถาบันปกเกล้า. (หน้า 63-72)
  6. ดร.ถวิลวดี บุรีกุล และ รัชวดี แสงมหะหมัด. 2014. ความเป็นพลเมืองในประเทศไทย. สืบค้นจาก http://kpi.ac.th/media/pdf/M10_452.pdf. สืบค้นเมื่อ[ลิงก์เสีย] 20 ก.พ. 2560. (หน้า 4-5)