พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรํสี)

พระราชนิโรธรังสี หรือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (26 เมษายน พ.ศ. 2445 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537) วัดหินหมากเป้ง ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย พระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ศิษย์หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านได้รับการเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวไทย และชาวลาว จนได้รับการขนานนามว่าเป็น“ดวงประทีปแห่งลุ่มน้ำโขง”

พระราชนิโรธรังสี

(เทสก์ เทสรํสี)
คำนำหน้าชื่อพระเดชพระคุณ
ชื่ออื่นหลวงปู่เทสก์
ส่วนบุคคล
เกิด26 เมษายน พ.ศ. 2445
มรณภาพ17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 (92 ปี 235 วัน)
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
อุปสมบท16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
พรรษา71

หลวงปู่เทสก์นับเป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง ไม่นิยมการทำวัตถุมงคลทุกชนิด แต่มุ่งอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนประกอบแต่ความดีงาม และมีปฏิปทาที่สมถะ เรียบง่าย สม่ำเสมอ มีศีลาจารวัตรที่งดงาม น่าเลื่อมใส จึงเป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

ปฐมวัย บรรพชาและอุปสมบท

แก้

หลวงปู่เทสก์ สกุลเดิม เรี่ยวแรง กำเนิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2445 (ปีขาล) ในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรของนายอุส่าห์ และนางครั่ง เรี่ยวแรง ที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

เมื่ออายุ 18 ปี มีโอกาสติดตาม พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ออกธุดงค์ และบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ โดยมีพระอาจารย์ลุย เป็นอุปัชฌาย์ ต่อมาไป ศึกษาธรรมที่วัดสุทัศนาราม เมืองอุบล และเรียนหนังสือที่วัดศรีทอง จนกระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ได้อุปสมบท ณ พัทสีมาวัดสุทัศนาราม โดยมีพระมหารัฐเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ต่อมาได้ออกธุดงคไปกับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้มีโอกาสวาสนากราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ทำให้มีกำลังจิต กำลังใจในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความเพียรอย่างยิ่ง

 
พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ถ่าย ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ราว พ.ศ. 2534

จาริกธุดงค์

แก้

ครั้งสมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตไปพำนักทางภาคเหนือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้จาริกธุดงค์กับพระอาจารย์อ่อนสีไปกราบท่านอาจารย์ใหญ่ที่ป่าเมี่ยง ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ และได้ปฏิบัติธรรมในภาคเหนือ ถิ่นมูเซอร์ และมาโปรดสาธุชนบริเวณจังหวัดลำพูน จนกลับมาภาคอีสาน พำนักที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ปี พ.ศ. 2492 ไปเยี่ยมหลวงปู่มั่นที่อาพาธ ที่วัดบ้านหนองผือ ต.นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งท่านพระอาจารย์ใหญ่ละสังขาร ต่อมาปี พ.ศ. 2493 ท่านไปจำพรรษาที่จังหวัดภูเก็ตและเผยแผ่ศาสนธรรมในภาคใต้ร่วมกับหมู่คณะ โดยพำนักที่ภูเก็ต พังงา และกระบี่ นานถึง 15 ปี ก่อนกลับมาพักจำพรรษาที่วัดถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร ปีต่อมาจาริกมาที่วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บรรยากาศดีเหมาะแก่การเจริญธรรมสัมมาปฏิบัติ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตรอันงดงามยิ่ง เป็นผู้นำศรัทธาในการอบรมสั่งสอนธรรมและนำสร้างศาสนสถานเพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสาน เป็นปูชนียาจารย์ของชนทุกระดับชั้น

มรณภาพ

แก้

ในปัจฉิมวัยท่านไปพำนักที่วัดถ้ำขาม และละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 21.45 น สิริอายุได้ 93 ปี พรรษา 71 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานน้ำหลวงสรงศพและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานหีบทองทึบ และทรงรับงานบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ พิธีพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จัดขึ้นที่วัดหินหมากเป้ง นับเป็นงานพระราชทานเพลิงศพพระเถราจารย์ครั้งประวัติศาสตร์ และในปัจจุบันวันที่ 17 ธันวาคม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะให้ผู้แทนพระองค์นำแจกันดอกไม้วางหน้าพระอัฐิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ณ วัดหินหมากเป้ง เป็นประจำทุกปี

สมณศักดิ์

แก้
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2498 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูนิโรธรังสี[1]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นพระราชาคณะยกฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์[2]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม อรัณยวาสี[3]

สานุศิษย์สำคัญ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 72, ตอนที่ 95 ง, 13 ธันวาคม 2498, หน้า 3013
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอนที่ 107 ง, 17 ธันวาคม 2500, หน้า 2956
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 107, ตอนที่ 242 ง ฉบับพิเศษ, 5 ธันวาคม 2533, หน้า 3

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้