พระนิพพานโสตร เป็นวรรณกรรมศาสนาพื้นบ้านภาคใต้ของประเทศไทย เขียนโดยกวีท้องถิ่น ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่งและแต่งเมื่อใด

เนื้อหามีเนื้อหาตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน การปลงพระบรมศพ การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุโดยโทณพราหมณ์ แล้วส่วนหนึ่งได้รับการอัญเชิญมาฝังไว้ที่หาดทรายแก้ว เมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงการจำแนกสร้างพระธาตุเจดีย์ในลังกา และการสร้างบ้านแปลงเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์[1] พระนิพพานโสตรน่าจะนำเอาคัมภีร์และวรรณกรรมต่าง ๆ มาผสมรวมกัน อันได้แก่ พระไตรปิฏก มหาวงศ์ ถูปวงศ์ สิหิงคนิทาน มูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ สังคีติยวงศ์ ปฐมสมโพธิ ศาสนวงศ์ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช มาประกอบเป็นเรื่องราวใหม่ให้สอดคล้องกัน[2]

จากการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2535 พบต้นฉบับจำนวน 30 ฉบับที่มาจากจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงาและภูเก็ต ต้นฉบับมีการบันทึกลงหนังสือบุด (สมุดข่อย) ชนิดบุดขาว ขนาดกลาง มีความกว้างประมาณ 12 เซนติเมตร ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร เขียนด้วยอักษรไทยโบราณ บางฉบับมีอักษรขอมปะปนกันบ้าง (ใช้เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบงานประพันธ์ในบางครั้ง) ส่วนลักษณะคำประพันธ์ แบ่งเป็นกาพย์ 3 ชนิด คือ กาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์สุรางคนางค์ 28[3]

มีการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2460[4] โดยใช้ชื่อว่า ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชฉบับกลอนสวด[5]

อ้างอิง

แก้
  1. เฉลิม จันปฐมพงศ์. "พระนิพพาณโสตร์ : การศึกษาเชิงวิเคราะห์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.[ลิงก์เสีย]
  2. พระมหาปุ่น ชมภูพระ. "การศึกษาเปรียบเทียบมหาปรินิพพานสูตรกับพระนิพพานสูตร" (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ.
  3. จุฬาทิพย์ บุญฤทธิ์. "การศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เรื่องพระนิพพานโสตร" (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ สงขลา.[ลิงก์เสีย]
  4. ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. "ตามรอยเส้นทางสู่วัดพระมหาธาตุฯ ตอนที่ 6". วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร.[ลิงก์เสีย]
  5. "ตำนานพระธาตุและตำนานเมือง นครศรีธรรมราช" (PDF). กรมศิลปากร.