กาพย์ยานี

(เปลี่ยนทางจาก กาพย์ยานี 11)

คือ คำประพันธ์ไทยประเภทกาพย์หนึ่งที่กวีนิยมแต่งมากที่สุด มีทั้งแต่งสลับกับคำประพันธ์ประเภทอื่นและแต่งเพียงลำพัง

กาพย์ยานี หนึ่งบท มี สองบาท

1 บาท มี 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค

วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์

บังคับสัมผัสระหว่างวรรคที่ 1, 2 และ 3

ต้องเชื่อมสัมผัสวรรคที่ 4 ตอนท้ายบท ไปยังท้ายบาทแรกของบทต่อไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  วรรค1   วรรค2
       ┌──↓─┐ 
   ○○○○●  ○○●○○●   --> บาทที่ 1 มี 11 พยางค์ ─┐
       ┌───────┘
  วรรค3    วรรค4           รวม 2 บาท = จบ 1 บท
       │   
   ○○○○●  ○○○○○●─┐ --> บาทที่ 2 มี 11 พยางค์ ─┘
---------------------------------------------
       ┌──↓─┐    │
   ○○○○●  ○○●○○●─┘ <--- (เริ่มบทใหม่)
       ┌───────┘
   ○○○○●  ○○○○○●┐  
                │
๏ อย่าด่วนครรไลแล่น กรกรีดแหวนบรางควร
ทอดตาลิลารัญจวน สะดุดบาทจักพลาดพลำ
๏ อย่าเดินทัดมาลา เสยเกศาบควรทำ
จีบพกพลางขานคำ สะกิดเพื่อนสำรวลพลาง
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์

กวีอาจเพิ่มความไพเราะของกาพย์ยานีด้วยการเพิ่มสัมผัสระหว่างวรรคที่ 3 กับวรรคที่ 4 ก็ได้ ดังตัวอย่าง

๏ ฟังแฮทชีพราหมณ์ เขาเขียวงามทั้งแท่งทงัน
ไม่ไล่ช่อแชรงกัน ต่างต่างพรรณไขขจร
๏ มีนามแต่อาทิ์ คนธมาทน์ศิขร
ที่ใดท่านภูธร แพศยันครราชา
มหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาพน

พัฒนาการของกาพย์ยานี

แก้

กาพย์ยานีในยุคแรก ๆ บังคับเฉพาะสัมผัสระหว่างบาท และสัมผัสระหว่างบทเท่านั้น สัมผัสระหว่างวรรคไม่บังคับ[1] ดังตัวอย่างจากอนิรุทธ์คำฉันท์ และสมุทรโฆษคำฉันท์

๏ โดยทิศอุดรมี พระนครอันควรชม
สมญาชื่อเสียงพรหม- บุรีบุราณกาล
๏ อาจผจญบุรีอิน- ทรอันเทพยฤมาน
มหามเหาฬาร จรรโลงธารษตรี
๏ ปราการกำแพงรัตน- อันรอบบุรีศรี
ทัดพายุพิถี คือกำแพง ณ จักรพาฬ
๏ โขลนทวารพิศาลสรรพ ประดับโครณทุกทวาร
หอห้างสรล้างกาญ- จนกุรุงซริน
สมุทรโฆษคำฉันท์
๏ บัดนั้นสมเด็จหลาน กฤษณเทพจักรี
รำลึกพนาลี สุขรมยกรีฑา
๏ เสด็จไปบังคมพระ อัยกาธิเบศร์ลา
จักไปพนาทวา พนมพฤกษศีรขร
๏ เถื่อนถ้ำพนาลี คชสีหองค์อร
กวางทรายรมั่งมร สัตวสมสกอหลาย
๏ มสระสโรชา กรบุษปเรียงราย
ขจคนธอบอาย ภุมรีภรมัว
อนิรุทธ์คำฉันท์

สมัยอยุธยายุคกลางและยุคปลายได้เพิ่มสัมผัสระหว่างวรรคแรกกับวรรคที่ 2 แล้ว ต่อมา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร กวีผู้ชำนาญเชิงกาพย์ ทรงเพิ่มสัมผัสสระในคำที่ 2 - 3 วรรคแรก และคำที่ 3 - 4 ในวรรคหลัง อย่างเป็นระบบ ทำให้จังหวะอ่านรับกันเพิ่มความไพเราะมากขึ้น[1] และส่งอิทธิพลมาถึงกวีสมัยรัตนโกสินทร์ ตลอดถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] ดังตัวอย่าง

๏ ปลากรายว่ายเคียงคู่ เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่ เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร
๏ หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร
๏ ปลาสร้อยลอยล่องชล ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย
๏ เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร

สุนทรภู่ ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งที่ประยุกต์กาพย์ยานีของกรุงศรีอยุธยา โดยให้ความสำคัญกับสัมผัสเป็นหลัก มีการเพิ่มสัมผัสระหว่างวรรคที่ 3 กับวรรคที่ 4 รวมทั้งให้ความสำคัญกับน้ำหนักคำและน้ำเสียงด้วย[2] ดังตัวอย่าง

๏ ขึ้นกกตกทุกข์ยาก แสนลำบากจากเวียงไชย
มันเผือกเลือกเผาไฟ กินผลไม้ได้เป็นแรง
๏ รอนรอนอ่อนอัสดง พระสุริยงเย็นยอแสง
ช่วงดังน้ำครั่งแดง แฝงเมฆเขาเงาเมรุธร
กาพย์พระไชยสุริยา

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงกินกาพย์ยานี โดยละทิ้งสัมผัสไปมากแต่มาเล่นน้ำหนักของคำและทรงใช้สัมผัสอักษรแทนสัมผัสระหลายครั้ง และน่าจะเป็นตัวตั้งสำหรับกาพย์ยุคหลังๆ ครั้งที่นายผี (อัศนี พลจันทร) สร้างสรรค์กาพย์ยานีรูปใหม่[2] ดังตัวอย่าง

๏ ดาวเดือนก็เลื่อนลับ แสงทองระยับบพโยมหน
จวบจวนพระสุริยน จะเยี่ยมยอดยุคันธร
๏ สมเด็จพระหริวงศ์ ภุชพงศ์ทิพากร
เสด็จลงสรงสาคร กับพระลักษณ์อนุชา
บทพากย์รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ในยุคกึ่งพุทธกาล นายผี หรือ อัศนี พลจันทร ได้สั่นสะเทือนวงการกาพย์ด้วยลีลาเฉพาะตัว โดยทิ้งสัมผัสในไปมาก หันมาใช้สัมผัสอักษรแทน เน้นคำโดดอันให้จังหวะสละสลวยจนคล้ายอินทรวิเชียรฉันท์กลายๆ[2] ดังตัวอย่าง

๏ ในฟ้าบ่อมีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่อรอซึม
๏ แดดเปรี้ยงปานหัวแตก แผ่นดินแยกอยู่ทึมทึม
แผ่นอกที่ครางครึม ขยับแยกอยู่ตาปี
อีศาน

ขณะที่กวีในยุคปัจจุบันต่างก็แสวงหาลีลาเฉพาะตัว อย่างเช่น

๏ การเกิดย่อมเจ็บปวด ต้องร้าวรวดและทรมา
ในสายฝนมีสายฟ้า ในผาทึบมีถ้ำทอง
๏ มาเถิดมาทุกข์ยาก มาบั่นบากกับเพื่อนพ้อง
อย่าหวังเลยรังรอง จะเรืองไรในชีพนี้
หนทางแห่งหอยทาก ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
๏ ด้วยธรรมนั้นเทียมเท่า แต่ใครเล่าที่ครอบงำ
เอาเปรียบและเหยียบย่ำ มวลชีวิตจนผิดไป
๏ ในน้ำทุกหยดน้ำ หรือใช่น้ำเฉพาะใคร
ลมแดดหรือดินใด ล้วนสมบัติอันเป็นกลาง
เพลงไทยของคนทุกข์ ของ ไพวรินทร์ ขาวงาม
๏ พฤกษ์ไพรไสวพริ้ว วะไหวหวิวกับวันวาร
เสียงขับส่งศัพท์ขาน คือสัตว์ส่ำซึ่งร่ำเสียง
๏ เริงเร้าเหนือเงาร่ม สำราญรมย์แลรายเรียง
ร้องขานผสานเคียง ผสมคู่สมสู่คา
วรรณวิเคราะห์ - คมทวน คันธนู

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 สุภาพร มากแจ้ง. กวีนิพนธ์ไทย 1. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 คมทวน คันธนู. ตำนานฉันทลักษณ์กับหลักการใหม่. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2545.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้