พระนางจิรประภาเทวี
พระนางจิรประภาเทวี (ไทยถิ่นเหนือ: ᨾᩉᩣᨴᩮᩅᩦ ᨧᩥᩁᨷᩕᨽᩣ) (ครองราชย์ พ.ศ. 2088–2089) หรือ มหาเทวีจิรประภา (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งอาณาจักรล้านนาสืบต่อจากพระราชสวามี ซึ่งในรัชกาลของพระนางหัวเมืองฝ่ายเหนือเกิดการระส่ำระสายเนื่องจากบ้านเมืองเกิดการแย่งอำนาจระหว่างขุนนางกับเจ้านาย บ้านเมืองอ่อนแอมีศึกสงครามขนาบทั้งทิศเหนือและใต้ ทั้งกองทัพพม่า และอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ยกทัพมาถึงเชียงใหม่
จิรประภาเทวี | |
---|---|
พระมหาเทวีแห่งเชียงใหม่ | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2088–2089 |
ก่อนหน้า | พระเมืองเกษเกล้า |
ถัดไป | สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช |
พระราชสมภพ | ประมาณ พ.ศ. 2042–43 |
สวรรคต | ประมาณ พ.ศ. 2137–38 (95-96 พรรษา) |
พระราชสวามี | พระเมืองเกษเกล้า |
พระราชบุตร | ท้าวซายคำ เจ้าจอมเมือง พระนางยอดคำทิพย์ |
ราชวงศ์ | มังราย |
พระนางปกครองบ้านเมืองเพียงแค่เพียงปีเศษก็ได้สละราชบัลลังก์แก่ สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระราชนัดดา (หลานยาย) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์โพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และภายหลังพระองค์และพระราชนัดดาได้เสด็จไปประทับในนครหลวงพระบางและมิได้นิวัติกลับมายังนครเชียงใหม่อีกเลยตลอดปลายพระชนม์ชีพ
พระราชประวัติ
แก้พระนางจิรประภาเทวี พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า หรือ พญาเกศเชษฐราช กษัตริย์แห่งล้านนา (ครองราชย์ครั้งแรก พ.ศ. 2068-2081 ครองราชครั้งที่สอง พ.ศ. 2086-2088) ทรงให้ประสูติกาลพระโอรส 2 พระองค์ และพระราชธิดาอีก 1 พระองค์ ได้แก่
- ท้าวซายคำ กษัตริย์แห่งล้านนา (ครองราชย์ พ.ศ. 2081-2086) หลังจากขุนนางปลดพระเมืองเกษเกล้า พระราชบิดาออกจากราชบัลลังก์และอัญเชิญพระองค์ครองราชสมบัติ แต่ภายหลังพระองค์ก็ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์พร้อมครอบครัว[1]
- เจ้าจอมเมือง พระราชโอรสองค์ที่สอง แต่ไม่สามารถครองราชย์ได้เนื่องจากทรงอ่อนแอจนไม่สามารถขึ้นครองราชสมบัติได้ บางท่านได้อธิบายว่า พระองค์อาจทรงปัญญาอ่อน[2]
- พระนางยอดคำทิพย์ พระราชธิดาที่ต่อมาภายหลังได้เป็นพระอัครมเหสีในพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง และมีพระราชโอรสคือ พระไชยเชษฐาธิราช
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานโดยตรงเกี่ยวกับการประสูติกาลในปีใด แต่ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ได้คำนวณจากการที่ท้าวซายคำประสูติเมื่อพระเมืองเกษเกล้ามีพระชนมายุ 18 พรรษา พระนางจิรประภาเทวีอาจมีพระประสูติกาลพระโอรสเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระนางจึงน่าจะประสูติในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2042-2043 และเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังเดิมของพระเมืองเกษเกล้าที่เคยประทับในเมืองน้อย (ปัจจุบันคืออำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ซึ่งถือเป็นเขตไทใหญ่ พระนางจิรประภาอาจทรงมีเชื้อสายไทใหญ่ด้วย แต่ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุลได้เน้นว่าเป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น[3]
ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมศิลปากร ได้มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระนางจิรประภาว่าอาจเป็นเครือญาติกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อครั้งที่ครองเมืองพิษณุโลก และสันนิษฐานว่าพระนางน่าจะเป็นเจ้านายเมืองเหนือที่สมรสกับเจ้านายแห่งเมืองเชียงใหม่ซึ่งภายหลังได้ครองราชย์เป็นพระเมืองเกษเกล้าในกาลต่อมา[4]
ขณะนี้เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ได้ค้นคว้าต่อยอดจากข้อสันนิษฐานของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ พบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่พระนางจะทรงมีความสัมพันธ์เป็นพี่-น้องกันกับสมเด็จพระไชยราชา ทั้งนี้ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าการที่พงศาวดารไม่ปรากฏที่มาของสมเด็จพระไชยราชาไว้อย่างชัดเจนนั้นเป็นเพราะพระองค์ไม่ได้อยู่เครือข่ายของผู้ที่ควรจะได้รับพระราชบัลลังก์อย่างชอบธรรม และจาการที่มีหลักฐานกล่าวว่าทางหลวงพระบางได้ยกทัพมาช่วยสมเด็จพระไชยราชาในการชิงราชสมบัติอยุธยาซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พระนางจิรประภาและพระเมืองเกษเกล้าได้ยกพระนางยอดคำทิพย์ให้ไปอภิเษกกับพระโพธิสารราชไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าระหว่างพระนางจิรประภากับสมเด็จพระไชยราชาคงมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นเหนียว[5]
มูลเหตุของการครองราชย์
แก้พระเมืองเกษเกล้า พระราชสวามี ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2068-2081 ซึ่งช่วงแรกของการครองราชย์ยังมีกลุ่มอำนาจเดิมในสมัยพญาแก้ว ยังไม่พบความขัดแย้งของเหล่าขุนนาง และดูเหมือนว่าครองราชย์ตามปกติเฉกเช่นกษัตริย์องค์ก่อน ความมั่นคงช่วงแรกจึงเกิดจากแรงสนับสนุนของเหล่าพระสงฆ์และมหาเทวีเจ้าตนย่า (นางโป่งน้อย) ซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิม ภายหลังเมื่อมหาเทวีเจ้าตนย่าสวรรคตใน พ.ศ. 2077 โดยพระองค์มีพระราโชบายที่จะรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางลำปางที่นำโดย หมื่นสามล้าน ซึ่งเป็นผู่นำไม่พอใจและเกิดการก่อกบฏขึ้นในปี พ.ศ. 2078 โดยขุนนางเมืองลำปางได้เป็นแกนนำการก่อกบฏ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า "...เสนาทังหลาย เปนต้นว่า หมื่นสามล้านกินนคร ๑ ลูกหมื่นสามล้านเชื่อว่าหมื่นหลวงชั้นนอก ๑ หมื่นยี่อ้าย ๑ จักกะทำคดแก่เจ้าพระญาเกสเชฏฐราชะ พระเปนเจ้ารู้ จิ่งหื้อเอาหมื่นส้อยสามล้านไพข้าเสียวันนั้นแล..."[6] แสดงว่าขุนนางตามภูมิภาค ต่างไม่พอใจพระมหากษัตริย์ และเกิดความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น จนในที่สุด พ.ศ. 2081 ขุนนางมีอำนาจเหนือกษัตริย์และได้ร่วมกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออก แล้วส่งไปครองเมืองน้อย
หลังจากเหตุการณ์นั้น เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่หลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นานก็ถูกลอบปลงพระชนม์ ดังตำนานพระธาตุหริภุญชัยได้กล่าวไว้ว่า "...พระยาซายคำถือเมืองได้ ๖ ปี มีลูกหญิงก็หลาย มีลูกชายก็มาก เถิงปีก่าดหม้า เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ วันอาทิตย์ ไทยระวายยี (พ.ศ. 2086) ชาวดาบเรือนหื้อเสียชีวิตในคุ้มน้อยทั้งมวนแล..."[1] แสดงว่าท้าวซายคำได้ถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ในคุ้มพร้อมด้วยครอบครัว โดยตำนานเมืองเชียงใหม่ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...เสวยเมืองบ่ชอบสราชธัมม์ เสนาอามาตย์พร้อมกัน ข้าพ่อท้าวชายเสียในปลีก่าเหม้า สก ๙๐๕ ตัว..."[6]
หลังจากลอบปลงพระชนม์แล้ว ก็ได้นำพระเมืองเกษเกล้าพระราชบิดากลับมาครองราชย์โดยครองราชย์ไม่ถึงสองปี ก็ถูกแสนคราวเหล่าขุนนางไทใหญ่ลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์และเกิดความแตกแยกถึงขั้นสงครามกลางเมือง และมีการดึงกำลังภายนอกเข้าช่วยด้วย
- กลุ่มแสนคราว เป็นกลุ่มขุนนางในเชียงใหม่ได้ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า แล้วไปอัญเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุงที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายมาครองเมืองเชียงใหม่แต่ไม่ยอมมา จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายแทน
- กลุ่มหมื่นหัวเคียน[note 1] เป็นกลุ่มขุนนางที่นำเข้ามารบกับกลุ่มแสนคราวที่เมืองเชียงใหม่ รบกันเป็นเวลาสามวันสามคืน ฝ่ายหมื่นหัวเคียนพ่ายแพ้หนีไปเมืองลำพูน กลุ่มนี้ได้แจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงทรงยกทัพมายังเชียงใหม่
- กลุ่มเชียงแสน กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย เจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน ซึ่งเป็นกลุ่มของพระนางจิรประภาเทวีเอง ได้ทำการกวาดล้างกลุ่มแสนคราวได้สำเร็จ และสนับสนุนพระอุปโย (หรือ พระไชยเชษฐา) แห่งล้านช้างมาครองล้านนา ด้วยพระองค์มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระเมืองเกษเกล้า โดยระหว่างการรอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา เหล่าบรรดาขุนนางจึงได้อัญเชิญพระนางจิรประภา พระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ ขึ้นเป็นกษัตรีย์พระองค์แรกในแผ่นดินล้านนาในปี พ.ศ. 2088
ครองราชย์
แก้มหาเทวีจิรประภาครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2088-2089[7] เนื่องจากพระองค์มีความเหมาะสมเนื่องจากเคยมีบทบาททางการเมือง ด้วยพระนางเป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และพระราชมารดาในท้าวซายคำ รวมระยะเวลากว่า 19 ปี (พ.ศ. 2069-2088) และในช่วงเวลาที่พระนางเสวยราชย์ สันนิษฐานว่าพระนางมีพระชนมายุราว 45-46 พรรษา ซึ่งถือเป็นพระชนมายุที่ถือว่าเหมาะสม ด้วยประสบการณ์และความพร้อมดังกล่าวทำให้มหาเทวีสามารถแก้ไขสภาวะบ้านเมืองให้ลุล่วงไปด้วยดี[8]
สงครามกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก
แก้ระหว่างที่พระนางจิรประภาขึ้นครองราชย์นั้น ได้เกิดสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับล้านนา โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้นำกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาตีล้านนาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2088 เนื่องจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ทำให้เชียงใหม่เกิดความอ่อนแอ เกิดความแตกแยกวุ่นวายหนัก การเดินทัพของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้รีบเร่งมาก ใช้เวลาเพียง 16 วันก็มาถึง ขณะนั้นมหาเทวีจิรประภาเพิ่งขึ้นเสวยราชย์ขณะที่พระสวามีเพิ่งสวรรคตได้ไม่นาน สภาพเมืองเชียงใหม่ก็ไม่พร้อมรับศึก เพื่อไม่ให้เมืองเชียงใหม่บอบช้ำหนัก มหาเทวีจิรประภาจึงได้ส่งเสนาอำมาตย์ไปถวายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเพื่อให้บ้านเมืองพ้นภัยด้วยการเป็นไมตรีกัน[8] และก็ได้พระราชทานรางวัลแก่เสนาอำมาตย์[4] โดยฝ่ายสมเด็จพระไชยราชาธิราชเองก็มิได้เข้าทำร้ายเมืองเชียงใหม่[9]
พระนางทรงใช้วิธีการกราบบังคมทูลเชิญให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน พระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์เชียงใหม่ที่เชิงดอยสุเทพแทนการเข้าเวียงโดยผ่านประตูช้างเผือกตามฮีตล้านนา และทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชร่วมทำบุญสร้างกู่ถวายพระเมืองเกษเกล้าที่วัดโลกโมฬีที่เปรียบเสมือนวัดประจำรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า[6] แต่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ประทับสำราญพระอิริยาบถที่เวียงเจ็ดริน พักพลที่สบกวงใต้เมืองลำพูน แล้วเสด็จกลับ[4]
โดยในเรื่องดังกล่าว พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้สันนิษฐานว่าพระนางจิรประภา อาจจะเป็นเครือญาติของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เนื่องด้วยพระไชยราชาธิราชไม่เข้าทำลายเมืองเชียงใหม่ด้วยความผูกพันระหว่างเครือญาติ[9] และทั้งสองก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันแต่อย่างใดเนื่องจากในเอกสารหลักฐานก็ไม่ได้ให้วี่แววในเรื่องราวดังกล่าวเลย[10]
สงครามไทใหญ่
แก้ในปีเดียวกันหลังจากกรุงศรีอยุธยายกทัพกลับไป กองทัพเมืองนายและเมืองยองห้วยจากรัฐฉานยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ซ้ำร้ายได้เกิดแผ่นดินไหว เจดีย์หลวงรวมทั้งเจดีย์วัดพระสิงห์และวัดอื่น ๆ หักพังลงมาด้วยซึ่งสร้างความยุ่งยากภายในเมืองมากขึ้น แต่สงครามครั้งนี้ข้าศึกได้ล่าถอยไป [8]
สงครามกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
แก้เนื่องจากในปีนั้นมีข้าศึกมาติดพันอยู่ตลอดมหาเทวีจิรประภาจึงได้ขอกำลังจากล้านช้างซึ่งเป็นอาณาจักรของพระเจ้าโพธิสารราช พระชามาดา (ลูกเขย) ของพระนางเอง ซึ่งอาณาจักรล้านช้างกำลังเจริญรุ่งเรือง ซึ่งการรวมกันของล้านช้างและล้านนา ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช โดยเฉพาะการแทรกแซงล้านนา กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ขึ้นมาปราบเชียงใหม่เป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2089 โดยเฟอร์ดินานด์ เมนเดส ปินโต นักเดินทางชาวโปรตุเกสได้บันทึกไว้ว่า มีกำลังพล 400,000 คน เรือ 300 ลำ ช้าง 4,000 เชือก เกวียนสำหรับบรรทุกปืนใหญ่ 200 เล่ม และมีทหารรับจ้างโปรตุเกสไปร่วมรบด้วย 120 คน[note 2][11] ในครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาสามารถตีเมืองลำพูนแตก แต่เชียงใหม่ก็ป้องกันตัวเองสำเร็จผลของสงครามคือกรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงต้องกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บสาหัส ทหารฝ่ายล้านนาและล้านช้างได้อาวุธยุทโธปกรณ์ ช้าง ม้า และเชลยศึกจำนวนมาก
ทรงสละราชบัลลังก์
แก้หลังจากสิ้นสงครามแล้ว พระเจ้าโพธิสารราชได้รับความดีความชอบสูง และได้นำพระราชโอรส คือ พระไชยเชษฐาขึ้นมาครองอาณาจักรล้านนา มหาเทวีจิรประภาจึงทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชนัดดา[12] ในช่วงที่สมเด็จพระไชยเชษฐาทรงครองอาณาจักรล้านนา ในช่วงปี พ.ศ. 2089-2090 แต่พระโพธิสารราชเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน พระไชยเชษฐาจึงเสด็จกลับล้านช้างในปี พ.ศ. 2090 โดยเสด็จไปพร้อมกับพระแก้วมรกต และพระนางจิรประภาเทวี[12] แผ่นดินล้านนาจึงว่างกษัตริย์ เกิดสงครามกลางเมืองเชียงใหม่ด้วยขุนนางต่างสู้รบกัน ดังนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2091-2094 จึงถือเป็นกลียุคของล้านนา ในที่สุดขุนนางเมืองเชียงใหม่เห็นว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงได้อัญเชิญท้าวแม่กุเสวยราชย์ต่อไป ด้วยเหตุนี้พระไชยเชษฐาทรงเห็นว่าท้าวแม่กุครองราชย์โดยพระองค์มิชอบ จึงนำไปสู่การยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2098[12]
ชีวิตบั้นปลายพระชนม์
แก้มหาเทวีจิรประภาได้ตามเสด็จพระไชยเชษฐา ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระนาง โดยขณะที่พระนางประทับอยู่ในล้านช้าง มหาเทวีจิรประภาได้โปรดฯ ให้สร้าง ธาตุน้อย พระธาตุที่มีขนาดย่อมกว่าพระธาตุหลวงของวัดมหาธาตุ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว โดยมีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาที่มีลักษณะรูปทรงเดียวกันกับ พระเจดีย์วัดโลกโมฬี ที่พระภัสดาของพระองค์โปรดฯ ให้สร้างนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ โดยจารึกวัดธาตุหลวงพระบาง ซึ่งกรรณิการ์ วิมลเกษม เป็นผู้อ่านแล้วแปล มีข้อความระบุว่า[13]
จุลศักราช ๙๑๐ ปีเบิกสัน เดิน ๗ ออก ๑๑ ค่ำ วันศุกร์ มื้อระวายยี่ ยามพาดลั่น ฤกษ์หัสตะ พระราชไอยกามหาเทวเจ้า ตั้งพระมหาธาตุ ก็โอกาส หยาดน้ำ ข้อยข้ากับอารามแลไพร่
ในบั้นปลายพระชนม์ชีพเชื่อว่าพระนางจิรประภาเทวีได้ประทับอยู่ในหลวงพระบางจนกระทั่งเสด็จสวรรคตโดยมิได้เสด็จนิวัติกลับไปยังเชียงใหม่อีกเลย[13] แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเสด็จสวรรคตในปีใด
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
แก้มีนักแสดงผู้รับบท พระนางจิรประภาเทวี คือ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล จากภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (2544)
เชิงอรรถ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ตำนานพระธาตุหริภุญชัย, หน้า 31
- ↑ ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 139
- ↑ ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 138
- ↑ 4.0 4.1 4.2 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "ลูกเขาเมียใครที่เชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา" ในฟื้นฝอยหาตะเข็บ, หน้า 228
- ↑ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. "ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ : ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย" หน้า ๑๔๓-๑๘๓
- ↑ 6.0 6.1 6.2 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. หน้า 87
- ↑ สรัสวดี อ๋องสกุล. "บทบาททางการเมือง ประวัติ และที่มาของอำนาจมหาเทวีจิรประภา". ขัตติยานีศรีล้านนา. เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ บรรณาธิการ (เชียงใหม่:วิทอินดีไซน์,2547) หน้า 31-57
- ↑ 8.0 8.1 8.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 177
- ↑ 9.0 9.1 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "ลูกเขาเมียใครที่เชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา" ในฟื้นฝอยหาตะเข็บ, หน้า 229
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "ลูกเขาเมียใครที่เชียงใหม่ สุโขทัย และอยุธยา" ในฟื้นฝอยหาตะเข็บ, หน้า 230
- ↑ ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 147
- ↑ 12.0 12.1 12.2 ประวัติศาสตร์ล้านนา. หน้า 178
- ↑ 13.0 13.1 ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 152
บรรณานุกรม
แก้- ตำนานพระธาตุหริภุญไชย. พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระพิจิตรโอสถ (รอด สุตันตานนท์), 29 พฤษภาคม 2502
- ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่:ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่, 2538
- สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 175-178 ISBN 978-974-8132-15-0
- กิตติ วัฒนะมหาตม์. ตำนานนางกษัตริย์. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553. หน้า 137-161 ISBN 978-974-341-666-8
- พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ฟื้นฝอยหาตะเข็บ. กรุงเทพฯ:มติชน, 2553. ISBN 978-974-02-0490-9
ก่อนหน้า | พระนางจิรประภาเทวี | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเมืองเกษเกล้า (ครั้งที่ 2) | กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา (พ.ศ. 2088 - พ.ศ. 2089) |
พระไชยเชษฐา |