ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ศาตราภิชาน[1] ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (เกิด 20 สิงหาคม พ.ศ. 2495) เป็นนักการธนาคารชาวไทย ประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดำรงตำแหน่ง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 – 30 กันยายน พ.ศ. 2558
ก่อนหน้าธาริษา วัฒนเกส
ถัดไปวิรไท สันติประภพ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 สิงหาคม พ.ศ. 2495 (72 ปี)
คู่สมรสนิศารัตน์ ไตรรัตน์วรกุล
ศิษย์เก่า
ลายมือชื่อ

ประวัติ

แก้

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล หรือ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายบักเท้ง และนางเต้สี ในจำนวนพี่น้อง 4 คน คือ[2]

  1. นพ.ประเสริฐ ไตรรัตน์วรกุล
  2. นายประสิทธิ์ ไตรรัตน์วรกุล
  3. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
  4. นายประวิทย์ ไตรรัตน์วรกุล

ชีวิตส่วนตัวได้สมรสกับ นางนิศารัตน์ ไตรรัตน์วรกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย[3] มีบุตร 2 คน คือ ตรัยวัชร์ และ ประวรรตน์ ไตรรัตน์วรกุล

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้เป็นนักวิจัยอยู่ที่ สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นระยะเวลา 2 ปี ดร. ประสาร กลับมายังประเทศไทย โดยเริ่มต้นทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน หลังจากนั้น ดร. ประสาร ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน

การศึกษา

แก้

ระดับประถมศึกษา โรงเรียนประสาทปัญญา โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนอัสสัมชัญ จากนั้นศึกษาต่อยังคณะคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2513 ด้วยผลคะแนนเอ็นทรานซ์แผนกวิทยาศาสตร์เป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ[4] ด้วยคะแนนร้อยละ 89.10[5] และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ในปี พ.ศ. 2519 ระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และต่อมาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ปี พ.ศ. 2521 ปริญญาโท Master in Business Administration และปี พ.ศ. 2524 ระดับปริญญาเอก Doctor of Business Administration จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2546 หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.) รุ่นที่ 15 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2554 บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

การทำงาน

แก้

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นคนที่ 19 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ก่อนเข้ารับตำแหน่ง ดร. ประสาร เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้น ดร.ประสาร ยังเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญในสังคมอีกหลายตำแหน่ง เช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน กระทรวงการคลัง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ปรึกษา คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย (TBA) ทำให้มีประสบการณ์ครอบคลุมอย่างกว้างขวางในธุรกิจธนาคารและตลาดการเงิน

กันยายน 2554 ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้รับรางวัล Central Bank Governor of the Year for Asia ประจำปี 2554 จากวารสาร Emerging Markets ในเครือ Euromoney Group[6]

เหตุการณ์ 14 ตุลา

แก้

ในเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ขณะนั้นนายประสารดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[7] ได้เจรจากับรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา 13 คนเป็นผลสำเร็จ[8] ภายใต้มติการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ณ ตึกทำการสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 09.00 น.

ณ ช่วงเวลานั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ มีประกาศแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทำให้ในขั้นแรก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐบาลฯ จอมพลถนอม ได้มีมติในหลักการให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนโดยมีการประกันตัว โดยจอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้สั่งการให้ พล.ต.ต. ชัย สุวรรณศร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ณ ขณะนั้น ไปรับตัวผู้ต้องหา และให้นายสนั่น ผิวนวล เป็นผู้ยื่นขอประกันตัว เป็นการจงใจหลอกลวงสังคมว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ยอมให้ปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไขการประกันตัวแล้ว หากแต่ท้ายที่สุด ผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ก็ล้วนไม่ยินยอมต่อการยื่นประกันตัวในครั้งนี้และไม่ยอมออกจาห้องขัง เนื่องจากยังไม่ได้การแจ้งข่าวจากส่วนกลางของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ จากนั้น นายประสาร และกรรมการศูนย์ฯ อีก 2 คน ได้เข้าพบจอมพลประภาส จารุเสถียร พร้อมด้วยนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวนมาก ณ พระตำหนักสวนรื่นฤดี โดยจอมพลประภาสได้เสนอร่างว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ จะต้องหาทางสลายฝูงชนโดยเร็วที่สุด (ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมอยู่รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ราว 500,000 คน) ผู้แทนศูนย์ฯ ได้มีการทักท้วงให้เติมคำว่า "โดยไม่มีเงื่อนไข" ลงหลังคำว่า "ปล่อยตัว" ในร่างสัญญานั้น จอมพลประภาสก็เติมข้อความให้ การเจรจาตกลงนี้ เสร็จสิ้นลงเมื่อเวลา 11.45 น. และกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ได้มาลงนามที่สวนรื่นฤดี ณ เวลา 17.45 น. ของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516

การเมืองและเศรษฐกิจในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย

แก้

ในสมัย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นสมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการแทรกแซงจากการเมืองมากที่สุด[ต้องการอ้างอิง] เนื่องจากมีการมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึง 3 รัฐบาล และมีเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองมากที่สุดในสมัยเขาดำรงตำแหน่งโดยในทุกรัฐบาลมีการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เหตุการณ์ทางการเมืองดำเนินเรื่อยมา จน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ในที่สุดและสุดท้ายแล้วมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนหน้านี้รัฐบาลพลเรือนจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยนั้นแสดงความเป็นศัตรูกันอย่างชัดเจน[ต้องการอ้างอิง] เขาดำรงตำแหน่งภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากถึง 5 คน มีการแสดงเจตนาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่ามีความคิดจะปลดเขาทุกวัน[9] และก่อนเกษียณ อายุราชการ ได้เกิดการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2557 นับว่าเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งทั้งรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือน[ต้องการอ้างอิง] ภายหลังรัฐประหาร เขายังดำรงแหน่งตำแหน่งอีกหลายตำแหน่งในคณะกรรมการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งขึ้น

หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557

แก้
  1. 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557 คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ [10]
  2. 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559[11]
  3. พ.ศ. 2559 กรรมการอิสระ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)
  4. ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2560 มีผลตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
  5. ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2560 มีผลตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560[12]
  6. พ.ศ. 2560 เขารับตำแหน่งกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
  7. 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560 คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[13]
  8. 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560 กรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการพิจารณาผลตอบแทน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
  9. 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา[14]
  10. 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ประธานกรรมการ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)[15]
  11. 6 กันยายน พ.ศ. 2562 ประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  12. 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ประธานกรรมการ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
  13. 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ประวัติกรรมการ
  2. ชีวิตครอบครัวไตรรัตน์วรกุล
  3. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ชีวิตคู่สมรส[ลิงก์เสีย]
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-07-11.
  5. นักเรียนแบบฉบับ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล คนเก่งของเรา, อัสสัมชัญสาส์น ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512, หน้า 26 .สืบค้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560
  6. "ประวัติ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-07. สืบค้นเมื่อ November 25, 2013.
  7. "รายนามนายกสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-19. สืบค้นเมื่อ 2012-06-12.
  8. ประสารไตรรัตน์วรกุล-จากราชดำเนิน...-สู่วังบางขุนพรหม[ลิงก์เสีย]
  9. 'กิตติรัตน์'ลั่นคิดปลดผู้ว่าแบงก์ชาติทุกวัน
  10. คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 75/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอน 125 ง พิเศษ หน้า 6-7 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
  11. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
  12. "นายกฯ เซ็น ตั้ง 39 ผู้ทรงคุณวุฒิ ป.ย.ป.แล้ว คนดังเพียบ!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-19. สืบค้นเมื่อ 2017-07-31.
  13. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 162 ง หน้า 21-22 15 มิถุยน พ.ศ. 2560
  14. ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  15. การแต่งตั้งประธานกรรมการ[ลิงก์เสีย]
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๕, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๑๑๑, ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖
  17. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๔๑, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
ก่อนหน้า ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ถัดไป
ธาริษา วัฒนเกส    
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
(1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 - 30 กันยายน พ.ศ. 2558)
  วิรไท สันติประภพ