บุญ
ในพระพุทธศาสนา บุญ (บาลี: ปุญฺญ) หรือ บุณย์ (สันสกฤต: ปุณฺย) หมายถึง ความดี[1] ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ เรียกอีกอย่างว่ากุศล[2] ในพระไตรปิฎกมักใช้คำว่า ปุญฺญ ตรงกันข้ามกับคำว่า บาป หรือ อปุญฺญ แต่ในคัมภีร์ชั้นหลังมักใช้คำว่า บาป มากกว่ากัน[3]
ในอรรถกถากล่าวถึงเผื่อแผ่บุญไว้ว่าสามารถเผื่อแผ่เพิ่มให้แก่ผู้อื่นได้โดยไม่มีประมาณ เปรียบได้กับการจุดเทียนส่งต่อไปเรื่อย ๆ คือผู้จุดก็มีความสว่างอยู่ตามเดิม และความสว่างยังเพิ่มไปอีกกว้างขวางได้[4]
วิธีทำบุญ
แก้ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ระบุวิธีการทำบุญไว้ 3 อย่าง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ได้แก่[5]
- ทานมัย ด้วยการให้
- ศีลมัย ด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย
- ภาวนามัย ด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจ
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาสังคีติสูตร ขยายความเพิ่มอีก 7 ประการ จึงรวมเป็น บุญกิริยาวัตถุ 10 ได้แก่[6]
- อปจายนมัย ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมเคารพสุภาพมีมารยาท
- เวยยาวัจจมัย ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยแรงกายแรงปัญญาและอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วัตถุ
- ปัตติทานมัย ด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้อื่น หรือการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น ให้เป็นผู้มีส่วนในบุญของตนด้วยการชักชวนผู้อื่นมาทำบุญ และการอุทิศส่วนกุศลมีการแผ่เมตตา เป็นต้น
- ปัตตานุโมทนามัย ด้วยการอนุโมทนายินดีในการทำความดีของผู้อื่น
- ธัมมัสสวนมัย ด้วยการฟังธรรมศึกษาธรรม
- ธัมมเทสนามัย ด้วยการสั่งสอนธรรมและการให้ความรู้
- ทิฏฐุชุกัมม์ ด้วยการทำความเห็นให้ตรง
เวยยาวัจจมัยและธัมมเทสนามัย จัดเข้าในทานมัย อปจายนมัยและปัตตานุโมทนามัย จัดเข้าในสีลมัย ธัมมัสสวนมัยและทิฏฐุชุกัมม์ จัดเข้าในภาวนามัย ส่วน ปัตติทานมัย จัดเป็นได้ทั้ง ทานมัย สีลมัย และภาวนามัย คือการให้ส่วนบุญอุทิศส่วนบุญคือทานมัย การบอกบุญชักชวนผู้อื่นให้มาทำบุญให้มาร่วมบุญคือสีลมัย การแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งปวงคือภาวนามัย
อ้างอิง
แก้- ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
- ↑ Marasinghe, MMJ (2003). "Puñña". ใน Malalasekera, GP; Weeraratne, WG (บ.ก.). Encylopaedia of Buddhism (ภาษาอังกฤษ). Vol. 7. สาธารณรัฐศรีลังกา: รัฐบาลศรีลังกา.
- ↑ อรรถกถาพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต อรรถกถาสูตรที่ ๕ ประวัติพระอนุรุทธเถระ . อรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [1]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1-7-52
- ↑ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร, พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย
- ↑ อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร
- พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย