ศีล
ศีล (สันสกฤต: शील, śīla) หรือ สีล (บาลี: सील, sīla) คือข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงามมีความปกติสุข เพื่อให้เป็นกติกาข้อห้ามที่ใช้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน 5 ปัญหาหลัก ซึ่งทำให้เกิดความสงบสุข และ ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันในสังคม
ประโยชน์ของศีลในขั้นพื้นฐานคือทำให้กาย วาจา ใจ สงบไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้สามารถที่จะทำให้จิตสงบได้ง่ายในการทำสมาธิ ในระดับของบรรพชิต ศีลจะมีจำนวนมาก เพื่อกำกับให้พระภิกษุสงฆ์สามเณรสามารถครองตนในสมณภาวะได้อย่างสมบูรณ์ และเอื้อต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นสูงต่อไปได้
ความหมายของศีลนั้นแปลได้หลายความหมาย โดยศัพท์แปลว่า ความปกติของกายและวาจา กล่าวคือความปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ และยังมักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า "อธิศีลสิกขา" อันได้แก่ข้อปฏิบัติขั้นต้นเพื่อการฝึกตนในทางพระพุทธศาสนาด้วย.
ระดับของศีลในทางพระพุทธศาสนา
แก้ศีล แบ่งเป็น 3 ระดับ คือจุลศีล (ศีลอย่างน้อย) ได้แก่ คหัฏฐศีลทั้ง 2 คือ ศีล5 และอาชีวัฏฐมกศีล มัชฌิมศีล (ศีลอย่างกลาง) ได้แก่ บรรพชาศีลทั้ง 2 คือได้แก่อัฏฐศีล และทสศีล มหาศีล (ศีลอย่างสูง) ได้แก่ อุปสมบททั้ง 2 คือ ภิกษุณีวินัย และภิกษุวินัย
- ปัญจศีล (ศีล 5) หรือเรียกว่านิจจศีล (คือถือเนื่องนิจจ์)
- อาชีวัฏฐมกศีล
- อัฏฐศีล (ศีล 8) หรือเรียกว่าอุโบสถศีล (ศีลอุโบสถ)
- ทสศีล (ศีล 10)
- ภิกษุณีวินัย (ศีล 311 ถ้าเป็นฝั่งมหายานอาจมี348ข้อ)
- ภิกษุวินัย (ศีล 227ถ้าเป็นฝั่งมหายานอาจถือ250ข้อ)
- ระดับแห่งศีลที่ต่างกัน เพราะระดับของสัมมาอาชีวะต่างกัน
กล่าวคือระดับของศีลคือระดับขั้นของการใช้ปัจจัยบริโภค เท่าที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต
- ศีล 5 คือเสพโดยไม่เบียดเบียน
- อาชีวัฏฐมกศีล แสวงหาทรัพย์อย่างไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นเดือดร้อนจากการแสวงหาทรัพย์นั้น
- อุโบสถศีล คือ การไม่เสพกามคุณ เพราะมนุษย์ไม่เสพกามคุณ ก็ไม่เสียชีวิตเพราะอดตาย
- ทสศีล คือ การดำรงชีวิต อย่างนักบวชแท้จริง คือไม่สะสมลาภมีเงินและทอง ดุจฆราวาส แต่ดำรงชีวิตได้ด้วยการขอ อันเป็นเหตุให้ระวังการปฏิพฤติให้ดี ให้สมกับที่ชาวบ้านให้
- ภิกษุณีวินัย และ ภิกษุวินัย คือการดำรงค์ชีวิตที่ประหยัด เหมาะสม คุ้มค่า ไม่เดือดร้อนทายกผู้ให้ รักษาปัจจัยที่ทายกให้แล้ว พอเพียงเท่าที่มี มีระเบียบที่ไม่หนักใจผู้ให้
- ธุดงค์ แม้จะไม่จัดเป็นศีลหรือวินัย เพราะไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงบังคับให้ทำ แต่ก็ไม่ทรงห้าม เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยากและลำบาก ทรงสรรเสริญผู้ปฏิบัติ จัดเป็นการควบคุมการใช้ปัจจัยสี่งที่อุกฤตที่สุด
อ้างอิง
แก้- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".