ศาสตราจารย์กิตติคุณ บัวเรศ คำทอง (21 สิงหาคม พ.ศ. 2453 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

บัวเรศ คำทอง
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดำรงตำแหน่ง
24 เมษายน พ.ศ. 2512 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2514
ก่อนหน้าพล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์
ถัดไปศ.นพ.บุญสม มาร์ติน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 สิงหาคม พ.ศ. 2453
จังหวัดสุรินทร์
เสียชีวิต27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 (91 ปี)
คู่สมรสสุมนา วสุวัต

ประวัติทั่วไป

แก้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ บัวเรศ คำทอง หรือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บัวเรศ คำทอง เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2453 ณ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรคนที่ 4 ของนายทรัพย์ และนางเปาว์ คำทอง ในปี 2487 ได้สมรสกับนางสาวสุมนา วสุวัต มีบุตร 2 คน คือนายปวเรศ คำทอง และ ดร.นันทิตา (ชมพูนุช) คำทอง ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 รวมสิริอายุได้ 91 ปี

ประวัติการศึกษา

แก้

ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ได้รับการศึกษาระดับต้นที่จังหวัดสุรินทร์และระดับมัธยมศึกษาที่ จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2471 สำเร็จการศึกษาประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย (มัธยมปีที่ 8) จาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยมีผลการเรียนดีตลอดหลักสูตร ได้รับการจารึกชื่อบนจาริกานุสรณ์ ในระหว่างปีพ.ศ. 2471-2473 เข้าศึกษาในคณะ อักษรศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ และใน พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานทุน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ในมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเคมี ได้รับปริญญา B.Sc. (Honors) และ Ph.D. ในปี 2481 โดยมีผลการศึกษาดีเด่น จึงได้รับการจารึกชื่อที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศอังกฤษ

ประวัติการทำงาน

แก้

ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ได้กลับมาปิติภูมิ ในพ.ศ. 2481 และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์วิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์แผนกวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2498 ตลอดเวลาที่รับราชการอยู่ ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ได้มีบทบาททางราชการหลายอย่าง อาทิ เช่น

  • กรรมการสอบคัดเลือกผู้ไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศตามความต้องการของ ก.พ. และคุรุสภา
  • กรรมการผู้แทนคณะวิทยาศาสตร์ในกรรมการบัณฑิตวิทยาลัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย
  • กรรมการสอบไล่ชั้นประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย และวิชาชุดครู ป.ป., ป.ม. ของกระทรวงศึกษาธิการ
  • ราชบัณฑิตในสาขาเคมี
  • กรรมการ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเคมีและเภสัชศาสตร์
  • กรรมการเตรียมการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • อนุกรรมการพิจารณาการทำกรดซัลฟุริค ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
  • กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
  • กรรมการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมมาตั้งแต่แรกเริ่ม รวมทั้งชุมนุมวิทยาศาสตร์)
  • เป็นผู้หนึ่งที่เขียนสารานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน
  • ได้มีส่วนร่วมในการเขียนตำราต่างๆ ที่ใช้อยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตำราที่ใช้อยู่ในระดับฝึกหัดครู ป.ป., ป.ม. และระดับเตรียมอุดมศึกษา อันนับได้ว่ามีส่วนเผยแพร่วิชาการได้ทางหนึ่งด้วย

จนถึง พ.ศ. 2506 ได้เป็นคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2507 ทางราชการได้ขอโอนให้ไปรับราชการในตำแหน่ง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในพ.ศ. 2512-2514 เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพ.ศ. 2514-2523 ได้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นภารกิจอันหนัก แม้กระนั้นก็ดีศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง ก็ยังแบ่งเวลาเข้าสอนวิชาเคมีให้แก่นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยตัวเองเท่าที่จะทำได้ สำหรับราชการสำคัญอันเป็นงานภายใต้การดำเนินงานของท่านพอประมวลได้ดังนี้

  • พ.ศ. 2507 งานบริหารและวิชาการ ในคณะวิทยาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ มีนักศึกษาในปีแรกนี้ประมาณ 300 คน
  • พ.ศ. 2508 งานบริหารและวิชาการเพิ่มเติมคือ คณะเกษตรศาสตร์ และรับโอนคณะแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)
  • พ.ศ. 2511 งานบริหารและวิชาการเพิ่มเติมคือ คณะศึกษาศาสตร์
  • พ.ศ. 2513 งานบริหารและวิชาการเพิ่มเติมคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์

ในปีที่ 7 แห่งการดำเนินงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มจากปีแรก 300 คน เป็น 6,400 คน มีหอพักสำหรับนักศึกษาชาย-หญิง รวม 10 หอพัก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ผลิตบัณฑิตไปแล้ว1,272 คน อนุปริญญาและประกาศนียบัตรพยาบาลและผดุงครรภ์ 429 คน

อนึ่ง ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการขยายงานอีกโดยสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ลงมติเห็นชอบที่จะให้มีคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์คณะพยาบาล และคณะเทคนิคการแพทย์ เพิ่มขึ้นอีก 4 คณะ

ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำรงตำแหน่งในทางราชการอีกหลายตำแหน่ง อาทิเช่น กรรมการมหาวิทยาลัย (ก.ม.) กรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการเวนคืนที่ดินมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการพัฒนามหาวิทยาลัย กรรมการการศึกษาแห่งชาติ

  • พ.ศ. 2510 ได้ให้ได้การต้อนรับพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมาเยือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ President Franz Jonas แห่งสาธารณรัฐออสเตรีย
  • พ.ศ. 2511 ได้ให้ได้การต้อนรับอาคันตุกะของรัฐบาล คือ รองประธานาธิบดี C.K. Yen แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พระราชอาคันตุกะได้แก่ Ferdinand E. Marcos แห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และพระเจ้า Shah Mohammed Reza Pahlevi และพระราชินี Farah แห่งประเทศอิหร่าน ซึ่งพระราชอาคันตุกะทั้ง 3 รายนี้ได้มาเยือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในทางสังคมได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไทย-อเมริกัน (TATCA) ประจำปี2513 และอุปนายกสโมสรโรตารี่เชียงใหม่หลายสมัยด้วย

ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 1 สมัย ในปีพ.ศ 2514-2516 และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปีพ.ศ. 2516-2518 นอกจากงานบริหารและวิชาการแล้วได้ดำเนินการสืบเนื่องโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์จนสำเร็จ ตลอดจนติดต่อขอการสนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณและสถานที่ จนสามารถเปิดการสอนได้

ในวโรกาสเด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตเป็นครั้งแรกที่วิทยาเขตปัตตานี ได้ทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขอความช่วยเหลือจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการสร้างสระว่ายน้ำที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และดำเนินการหาทุนเพื่อจัดสร้างพระราชาอนุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี ตลอดจนติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในด้านทุนการศึกษา บุคลากร และอุปกรณ์การศึกษา

ปริญญากิตติมศักดิ์

แก้
  • พ.ศ. 2510 ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในการเสด็จพระราชดำเนิน เนื่องในการฉลอง 50 ปี แห่งวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2510
  • พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2516 ได้รับปริญญา D.Sc. (Honorary) จาก University of Aston in Birmingham เก็บถาวร 2012-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สหราชอาณาจักร
  • พ.ศ. 2525 ได้รับพระราชทานกิตติบัตรเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณในสาขาวิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลงานวิชาการ

แก้

หนังสือ ตำรา (เท่าที่ค้นพบจากฐานข้อมูลห้องสมุดต่างๆ)

แก้
  • คู่มือถาม-ตอบวิทยาศาสตร์ทั่วไปสำหรับชั้น เตรียมอุดมศึกษา และ ฝึกหัดครู ป.กศ., ทองศุข พงศทัต บัวเรศ คำทอง และ คณิต มีสมมนต์, พระนคร : โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2501.
  • แบบเรียนวิชาแสง สำหรับชั้นเตรียมอุดมศึกษา (ม. 7-8) และ ป.ป., สนั่น สุมิตร ทองศุข พงศทัต, บัวเรศ คำทอง, กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2499.
  • อนินทรีย์เคมี, ทองศุข พงศทัต, บัวเรศ คำทอง และเทพ เชียงทอง, กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2514.
  • ตำราอนินทรียเคมี, ทองศุข พงศทัต บัวเรศ คำทอง และเทพ เชียงทอง, กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2509.
  • ประโยชน์ของวิชาเคมีต่อมนุษย์, ทองศุข พงศทัต กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา บัวเรศ คำทอง พร้อม วัชระคุปต์ และต่อพงศ์ โทณะวณิก, พระนคร : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2505.
  • เรียนเขียนสมการเคมี โดยตนเอง สำหรับชั้น ม.ศ 4-5 และฝึกหัดครู ป.กศ., ศาสตราจารย์ ทองศุข พงศทัต ศาสตราจารย์ บัวเรศ คำทอง และ อาจารย์ พ.อ. คณิต มีสมมนต์, สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์
  • คู่มือคำนวณวิชาเคมี พร้อมด้วยภาคบรรยาย สำหรับชั้นเตรียมอุดมศึกษา (ม.๗-ม.๘) กวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย และนักเรียนฝึกหัดครู ป.ป และป.ม., อาจารย์ ทองศุข พงศทัต และอาจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง เรียบเรียง, 2500.
  • Tutorial Chemical calculation สำหรับมหาวิทยาลัย, ทองศุข พงศทัต บัวเรศ คำทอง และกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เทพไพศาล, 2503.
  • แบบเรียนวิชาเคมี, ทองศุข พงศทัต บัวเรศ คำทอง และ คณิต มีสมมนต์, กรุงเทพมหานคร : ม.ป.พ., 2509.
  • การศึกษาวิทยาศาสตร์ชั้นสูง ในชุมนุมวิทยาศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่1 (2490) หน้า 1.
  • เส้นด้ายเส้นไหม ในชุมนุมวิทยาศาสตร์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 (ธ.ค. 2490) หน้า 29.
  • การสอนวิชาเคมีในมหาวิทยาลัย ในวารสารวิทยาศาสตร์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 6 (มิ.ย. 2510) หน้า514. [ISSN 0125-0515]
  • ข้อบกพร่องในการตอบข้อสอบขั้นเตรียมอุดมศึกษา : เคมี ในวารสารวิทยาศาสตร์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (ก.พ. 2506) หน้า 145. [ISSN 0125-0515]

บทความที่ค้นพบในฐานข้อมูลออนไลน์ (SCOPUS)

แก้
  • 1. Furano-compounds. Part III. Euparin

Kamthong, B., Robertson, A.

Journal of the Chemical Society (Resumed), 1939, Pages 925-930.

  • 2. Furano-compounds. Part V. The synthesis of tetrahydroeuparin and the structure of euparin

Kamthong, B., Robertson, A.

Journal of the Chemical Society (Resumed), 1939, Pages 933-936.

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๗, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๓
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๔ ตอนที่ ๑๒๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๐
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๗๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๖, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๓๖, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๖

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า บัวเรศ คำทอง ถัดไป
พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์   อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(24 เมษายน พ.ศ. 2512 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2514)
  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน