นากจมูกขน
นากจมูกขน หรือ นากใหญ่หัวปลาดุก (อังกฤษ: Hairy-nosed otter; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lutra sumatrana) เป็นนากชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในประเทศไทย มีรูปร่างหน้าตาคล้ายนากใหญ่ธรรมดา (L. lutra) ขนตามลำตัวมีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มเหมือนกำมะหยี่ มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมบริเวณจมูกแตกต่างไปจากนากชนิดอื่น ๆ ที่บริเวณจมูกจะเป็นแผ่นหนังเรียบ ริมฝีปากบน คาง และคอด้านล่างมีสีขาว หัวแบน และปากค่อนข้างกว้าง
นากจมูกขน | |
---|---|
นากจมูกขนในที่คุมขัง เดิมมาจากประเทศกัมพูชา | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | สัตว์กินเนื้อ Carnivora |
วงศ์: | วงศ์เพียงพอน Mustelidae |
สกุล: | นากใหญ่ Lutra (Gray, 1865) |
สปีชีส์: | Lutra sumatrana[1] |
ชื่อทวินาม | |
Lutra sumatrana[1] (Gray, 1865) | |
ขอบเขตการกระจายพันธุ์ของนากจมูกขน | |
ชื่อพ้อง[1] | |
Lutra brunnea Pohle, 1920 |
มีความยาวลำตัวและหัว 50-82 เซนติเมตร ความยาวหาง 45-50 เซนติเมตร น้ำหนัก 5-6 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนใต้ของกัมพูชา บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม, มาเลเซีย, ภาคตะวันตกของเกาะสุมาตราและบอร์เนียว สำหรับในประเทศไทยพบบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ จากรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2531 มีการพบนากจมูกขน 2 แห่ง คือ ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และในปี พ.ศ. 2542 มีผู้สามารถจับตัวได้อีกที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ในบริเวณใกล้กับชายแดนมาเลเซีย
นากจมูกขนนับว่าเป็นนากชนิดที่ได้ชื่อว่าหายากที่สุดในโลก เพราะมีรายงานพบเห็นเพียงไม่กี่ครั้งและมีการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมน้อยมาก มักพบนากชนิดนี้ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ปากแม่น้ำใกล้กับทะเลหรือชายฝั่ง มักอาศัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ในกลางปี พ.ศ. 2551 ได้มีการเปิดเผยว่าที่เวียดนามได้มีการค้นพบนากจมูกขนที่เขตป่าสงวนอูมิงห่า ในจังหวัดก่าเมา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้สุดของเวียดนาม[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Wozencraft, W. C. (2005). "Order Carnivora". ใน Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. pp. 532–628. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
- ↑ 2.0 2.1 Sasaki, H.; Aadrean, A.; Kanchanasaka, B.; Reza Lubis, I.; Basak, S. (2021). "Lutra sumatrana". IUCN Red List of Threatened Species. 2021: e.T12421A164579488. doi:10.2305/IUCN.UK.2021-3.RLTS.T12421A164579488.en. สืบค้นเมื่อ 10 December 2022.
- ↑ Willcox, D.; Bull, R.; Nguyen V. N.; Tran Q. P. & Nguyen V. T. (2017). "Small carnivore records from the U Minh Wetlands, Vietnam" (PDF). Small Carnivore Conservation (55): 4–25.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lutra sumatrana ที่วิกิสปีชีส์