มวยสากล

(เปลี่ยนทางจาก นักมวยสากล)

มวยสากล (อังกฤษ: Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ชนิดหนึ่งที่สู้กันด้วยหมัดทั้ง 2 ข้าง มีการแข่งขันตั้งแต่สมัยกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณ และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน มวยสากล จะกำหนดการให้คะแนน ถ้าไม่มีฝ่ายไหนแพ้ชนะน็อก จะตัดสินจากคะแนนรวมยกที่ 12 คือยกสุดท้าย

มวยสากล
การแข่งขันมวยสากล
มุ่งเน้นการชก, การโจมตี
ประเทศต้นกำเนิดก่อนประวัติศาสตร์
ต้นตำรับมวยมือเปล่า
กีฬาโอลิมปิก688 ปีก่อนคริสต์ศักราช (กรีกโบราณ)
พ.ศ. 2447 (สมัยใหม่)

ต้นกำเนิดมวยสากล

แก้

มวยสากลเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีมาแต่โบราณ โดยเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของทหารในสนามรบ และกลายเป็นเกมกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิคยุคโบราณ โดยที่นักมวยในยุคนั้นไม่มีการจำกัดน้ำหนัก ไม่สวมเครื่องป้องกันตัว และไม่จำกัดว่าต้องใช้ได้เพียงหมัด สามารถกัดหรือถองคู่ต่อสู้ได้ โดยไม่มีกติกามากนัก เพียงแต่นักมวยทั้งคู่ต้องถอดเสื้อผ้าให้หมดทั้งตัว เพื่อไม่ให้ซ่อนอาวุธเอาไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2236 เจมส์ ฟิกก์ (James Figg) ผู้ชนะเลิศการต่อสู้ด้วยมือเปล่าชาวอังกฤษได้กำหนดกฎกติกาในการชก จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น "บิดาแห่งมวยสากล" และต่อมาก็ได้มีผู้สร้างนวมขึ้นมา แต่ยังไม่มีการใช้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2432 จอห์น แอล ซัลลิแวน (John L. Sulrivan) ผู้ชนะเลิศการชิงแชมป์มวยด้วยมือเปล่า ประกาศว่าจะไม่ขอขึ้นชกด้วยมือเปล่าอีกต่อไป เป็นจุดเริ่มต้นของการชกด้วยการสวมนวม และได้พัฒนาจนมาเป็นเกมกีฬาที่มีกติกาชัดเจนเช่นในปัจจุบัน [1][2]

กติกามวยสากล

แก้

กติกาในการชก

                 การชั่งน้ำหนัก ให้กระทำภายในเวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ถ้าน้ำหนักเกินมีสิทธิ์ไปวิ่งลดน้ำหนักแล้วกลับมาชั่งได้อีกภายในเวลาที่กำหนด  การแข่งขันจะต้องไม่เริ่มขึ้นก่อน ๓ ชั่วโมงเต็มหลังจากกำหนดเวลาชั่งน้ำหนักสิ้นสุดลง

         จำนวนยกในการแข่งขัน ถ้าเป็นมวยสมัครเล่นอาจชก ๓ ยก (บางแห่งอาจชก ๕  ยก)  ยกหนึ่งใช้เวลา ๓ นาที หยุดพักระหว่างยก ๑ นาที นักมวยอาชีพอาจชก ๑๐  ๑๒  หรือ  ๑๕  ยก แต่ระยะหลังไม่ค่อยชก ๑๕ ยกกันแล้วเพราะนักมวยเหนื่อย ชกไม่ไหว

         กรรมการ  การชกมวยสมัครเล่นมีกรรมการ ๕ คน มวยสากลมี ๓ คน บางหนกรรมการห้ามบนเวทีก็มีสิทธิ์ให้คะแนนด้วย

         การตัดสิน  

         - ชนะโดยน็อกเอาต์  คือ  เมื่อทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงกับพื้นเวที  หรือยืนพับหมดสติอยู่กับเชือก ไม่สามารถที่จะชกหรือป้องกันตัวต่อไปได้อีกภายใน ๑๐ วินาที คือกรรมการได้นับ ๑  ถึง ๑๐ แล้ว  กรณีที่นักมวยผู้ล้มสามารถลุกขึ้นได้ก่อนที่กรรมการจะนับ ๑๐ และพร้อมที่จะชกต่อไปได้ กรรมการจะนับต่อไปจนถึง๘ เสียก่อนจึงให้ชกต่อ

         - ชนะเทคนิเกิลน็อกเอาต์ หมายถึง ทำให้คู่ต่อสู้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก และกรรมการผู้ชี้ขาดเห็นว่าไม่มีทางจะเอาชนะได้  หรือนักมวยคนใดไม่สามารถจะชกต่อไปได้อีกภายหลังที่ได้หยุดพักระหว่างยกแล้ว  หรือถ้านักมวยได้รับบาดเจ็บมีแผลฉกรรจ์  ผู้ชี้ขาดเห็นว่าถ้าชกต่อไปจะเป็นอันตรายร้ายแรง สำหรับกรณีนี้ กรรมการอาจปรึกษานายแพทย์สนาม

         การให้คะแนน  ยกหนึ่ง  ๆ  มี  ๑๐ คะแนน เมื่อหมดยกกรรมการจะให้คะแนนแก่นักมวยที่ชกดีกว่า ๑๐ คะแนน และให้คะแนนผู้เสียเปรียบลดน้อยไปตามลำดับความเสียเปรียบ  ถ้าชกได้สูสีกันให้คนละ ๑๐ คะแนน  นอกจากนั้นยังมีหลักเกณฑ์พอสรุปได้ดังนี้

         เมื่อกรรมการเตือนนักมวยคนใดที่ทำฟาวล์ ให้หักคะแนนผู้นั้น ๑ คะแนน โดยให้สัญญาณมือแก่กรรมการผู้ให้คะแนน

         ผู้ชนะที่ชกได้จะแจ้งทั้งยก และชกคู่ต่อสู้ล้ม ๑ ครั้ง ถึงนับหรือชกข้างเดียว ได้รับ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๘ คะแนน

         ผู้ชนะที่ชกข้างเดียวทั้งยกและยังชกคู่ต่อสู้ล้มถึงนับมากกว่า  ๑ ครั้งขึ้นไป จะได้รับ ๑๐ คะแนน ผู้แพ้ได้ ๗ คะแนน

อุปกรณ์

แก้

เนื่องจากการชกมวยเป็นกีฬาที่มีการชกซ้ำด้วยมืออย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันเพื่อปกป้องกระดูกมือ โค้ชส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้นักมวยฝึกซ้อมและต่อยมวยจำลองโดยไม่พันข้อมือและสวมถุงมือมวย[3] เสื้อผ้าสำหรับการต่อยมวยจำลองจะมีการบุฟองน้ำมากกว่าเสื้อผ้าที่ใช้ตีเป้าเล็กน้อย[4] ผ้าพันมือใช้สำหรับยึดกระดูกข้อมือ และถุงมือใช้เพื่อปกป้องมือจากการบาดเจ็บ ทำให้นักมวยสามารถออกแรงชกได้แรงขึ้นมากกว่าหากไม่ใช้ ถุงมือมวยเป็นสิ่งจำเป็นในการแข่งขันตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า แม้ว่าถุงมือมวยสมัยใหม่จะหนักกว่าถุงมือที่นักมวยในต้นศตวรรษที่ยี่สิบใช้[5][6] ก่อนการชก นักมวยทั้งสองต้องตกลงกันเรื่องน้ำหนักของถุงมือที่จะใช้ในการชก โดยเข้าใจว่า ถุงมือที่เบากว่าทำให้นักชกต่อยอย่างรุนแรงขึ้นได้ แบรนด์ของถุงมือก็มีผลต่อความแรงของหมัดด้วย ดังนั้นสิ่งเหล่านี้มักได้รับการตกลงก่อนการแข่งขันเช่นกัน

ที่กันฟันมีความสำคัญในการปกป้องฟัน และเหงือกจากการบาดเจ็บ รวมทั้งช่วยผ่อนปรนขากรรไกร ลดโอกาสที่จะถูกน็อคเอาท์[7][8] นักมวยทั้งสองต้องสวมรองเท้าพื้นอ่อนเพื่อลดความเสียหายจากการเหยียบเท้าทั้งโดยไม่ตั้งใจหรือจงใจ รองเท้าบู๊ตมวยแบบเก่ามักจะมีลักษณะคล้ายรองเท้าบู๊ตของนักมวยปล้ำอาชีพ แต่ว่ารองเท้ามวยสมัยใหม่มักจะคล้ายกับรองเท้ามวยปล้ำสมัครเล่น

นักมวยจะฝึกฝนทักษะของตนกับกระสอบทรายหลายประเภท[9][10][11] กระสอบทรายขนาดเล็กที่มีลักษณะหยดน้ำใช้ในการฝึกปฏิกิริยาและทักษะการชกซ้ำๆ ในขณะที่กระสอบทรายทรงกระบอกขนาดใหญ่ที่บรรจุทราย สารทดแทนสังเคราะห์ หรือแม้แต่น้ำใช้ในการฝึกฝนการชกอย่างแรงและการเคลื่อนไหวตัว

มวยสากลในทวีปเอเชีย

แก้

กีฬามวยสากลแพร่หลายเข้าสู่เอเชียครั้งแรกที่ประเทศฟิลิปปินส์ผ่านทางสหรัฐอเมริกา เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ทวีปเอเชียหลังจากสงครามสหรัฐอเมริกา-สเปนเมื่อ พ.ศ. 2441 ผลของสงคราม สเปนต้องยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐอเมริกา มวยสากลแพร่จากสหรัฐเข้าสู่ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะที่มะนิลา มีนักมวยจากฟิลิปปินส์ไปชกที่สหรัฐมากโดยเฉพาะที่ฮาวาย จากนั้นจึงแพร่หลายต่อไปยังญี่ปุ่นวงการมวยในเอเชียซบเซาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และฟื้นตัวอีกครั้งหลังสงคราม มวยสากลเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นหลังสงคราม การชกมวยสากลระดับนานาชาติครั้งแรกในญี่ปุ่นเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2467 ที่โตเกียวโดยเทอิโกะ โอกิโน ขึ้นชกกับยัง กอนซาเลซจากฟิลิปปินส์ ผลการชกปรากฏว่าเสมอกัน

ในประเทศญี่ปุ่นมีการตั้งสมาคมมวยแห่งญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2489 และเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2495 ขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์ก็มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นดูแลกีฬามวยสากลอย่างเป็นทางการส่วนในระดับภูมิภาค ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และไทย ทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นประเทศร่วมก่อตั้งสหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF)

บุคคลสำคัญในวงการมวยสากลเอเชียยุคเริ่มต้นได้แก่ ยูจิโร่ วาตานาเบะ [ja] นักมวยที่ผันตัวเองเป็นโปรโมเตอร์ วาตานาเบะไปชกมวยในสหรัฐตั้งแต่ พ.ศ. 2453 กลับมาโตเกียวเมื่อ พ.ศ. 2464 และตั้งค่ายมวยขึ้น คนอื่นๆที่มีบทบาทสำคัญคือ ซัม อิชิโนเซะ ชาวฮาวาย เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2451 มีพ่อแม่เป็นชาวญี่ปุ่น เขาเข้าสู่วงการมวยโดยเริ่มจากการเป็นเทรนเนอร์ ช่วงหลังสงครามโลกเขาได้เปลี่ยนมาเป็นโปรโมเตอร์และผู้จัดการ อีกคนคือโลเป ซาเรียล นายหน้าและผู้จัดการนักมวยชาวฟิลิปปินส์ที่มีส่วนสร้างนักมวยระดับแชมป์โลกหลายคน เช่น แฟลซ อีลอสเด้ โยชิโอะ ชิราอิ และแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์

มวยสากลในประเทศไทย

แก้

มวยสากลหรือที่เรียกในยุคแรกว่า "มวยฝรั่ง" เข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกราว พ.ศ. 2455 โดยได้แบบอย่างจากประเทศอังกฤษ ผู้นำมาเผยแพร่ คือ หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ครั้งแรกนำมาเผยแพร่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และแพร่ต่อไปยังโรงเรียนต่างๆ มีการจัดแข่งขันมวยนักเรียนซึ่งเป็นแบบมวยสากลสมัครเล่น

ต่อมา พระยาคฑาธรบดีสีหบาลเมือง เช่าพื้นที่ด้านศาลาแดงของสวนลุมพินีจัดให้มีการละเล่นต่างๆ เรียกว่าสวนสนุก มีการสั่งนักมวยสากลจากต่างชาติมาชกโชว์เรียกว่า "เต็ดโชว์" เมื่อเป็นที่นิยมจึงมีการคัดเลือกนักมวยสากลชาวไทยขึ้นชกกับนักมวยต่างชาติเหล่านั้นในแบบมวยสากลอาชีพ การชกระหว่างนักมวยสากลชาวไทยกับต่างชาติมีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2472 ในวันนั้น สุวรรณ นิวาศวัต นักมวยไทยชื่อดังขึ้นชกเป็นคู่แรก แพ้น็อค เทอรี โอคัมโป (ฟิลิปปินส์) ยก 4 ส่วนคู่ที่ 2 โม่ สัมบุณณานนท์ ชนะน็อค ยีซิล โคโรนา (ฟิลิปปินส์) ยก 4[12]

จากนั้นกีฬามวยสากลเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีนักมวยสากลชาวไทยชกชนะสร้างชื่อเสียงอยู่เนืองๆ เช่น สมพงษ์ เวชสิทธิ์ เป็นแชมป์มวยสากลของสิงคโปร์ ผล พระประแดงเป็นรองแชมป์โลกคนแรก จำเริญ ทรงกิตรัตน์ เป็นแชมป์ OPBF คนแรกและขึ้นชิงแชมป์โลกเป็นคนแรกด้วยแต่ไม่สำเร็จ แชมป์โลกชาวไทยคนแรกคือ โผน กิ่งเพชร ซึ่งได้ครองแชมป์เมื่อ พ.ศ. 2503 ปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) ประเทศไทยมีแชมป์โลกทั้งสิ้น 37 คน ในจำนวนนี้มีนักมวยที่สร้างสถิติโลกและเอเชียมากมายเช่น

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ในฐานะประธานสภามวยแห่งเอเชีย (WBC Asia) จะทำการสอบสวนเรื่องที่มีนักมวยไทยหลายรายเดินทางไปชกที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ทว่าไม่สามารถชกได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทำให้ถูกแบนจากคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่น (JBC) ถือว่าสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการมวยสากลของประเทศไทยอย่างมาก[13]

มวยสากลในประเทศญี่ปุ่น

แก้

ค่ายมวยสากลในประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นครั้งแรกที่โตเกียว เมื่อ พ.ศ. 2464 โดยนักมวยชาวญี่ปุ่นชื่อ ยูจิโร่ วาตานาเบะ [ja] ซึ่งเคยผ่านการชกที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาก่อน จนได้รับการขนานนามว่า "ราชันย์สี่ยก" ต่อมาใน พ.ศ. 2495 โยชิโอะ ชิราอิ ได้ประสบความสำเร็จเป็นนักมวยชาวญี่ปุ่นรายแรกที่ได้เป็นแชมป์โลก

วงการมวยสากลของญี่ปุ่นถึงจุดรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึงคริสต์ทศวรรษ 1970 เมื่อ ไฟติง ฮาราดะ สามารถครองแชมป์โลกได้ถึง 2 รุ่น คือ ฟลายเวทและแบนตัมเวทในเวลาต่อมา ซึ่งฮาราดะได้มีชื่อบรรจุอยู่ในหอเกียรติยศของวงการมวยสากลระดับนานาชาติด้วย ซึ่งฮาราดะสามารถที่จะเอาชนะ เอเดร์ ฌูเฟร นักมวยชาวบราซิล ซึ่งก็มีชื่อบรรจุอยู่ในหอเกียรติยศด้วยเช่นกัน และได้รับการยอมรับว่าเป็นนักมวยรุ่นแบนตั้มเวทที่ดีที่สุดในโลกในขณะนั้น

ต่อมาในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 และคริสต์ทศวรรษ 1980 ต่อมาถึงคริสต์ทศวรรษ 1990 และจนถึงปัจจุบัน มีนักมวยญี่ปุ่นหลายรายได้เป็นแชมเปี้ยนโลก เช่น โยโก กูชิเก็ง ซึ่งเป็นแชมป์โลกของสมาคมมวยโลก (WBA) ในรุ่นจูเนียร์ฟลายเวท เป็นนักมวยที่ป้องกันแชมป์ได้ 13 ครั้งนับว่าสูงสุดของวงการมวยญี่ปุ่นด้วย, จิโร วาตานาเบะ ได้เป็นแชมป์โลก 2 สถาบัน (WBA, WBC)​ ในรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท, คัตสึยะ โอนิซูกะ แชมป์โลก WBA ในรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท และโจอิจิโร ทัตสึโยชิ แชมป์โลกของสภามวยโลก (WBC) 2 สมัย ในรุ่นแบนตัมเวท นับเป็นนักมวยที่สามารถเรียกผู้ชมในวัยรุ่นและกลุ่มคนที่ไม่ได้ชื่นชอบกีฬาประเภทนี้ให้มาสนใจขึ้นได้

โดยแชมป์โลกในรุ่นใหญ่ที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นเคยมี คือ ชิงจิ ทาเกฮาระ และ เรียวตะ มูราตะ ของสมาคมมวยโลกในรุ่นมิดเดิลเวท แม้จะเป็นแชมป์โลกในเวลาสั้น ๆ ก็ตาม

โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลการชกมวยสากลในประเทศญี่ปุ่น คือ คณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่น (JBC) ที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2495 นับเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องการดูแลสุขภาพและคุณภาพของนักมวยและการแข่งขัน โดยให้การยอมรับสถาบันมวยสากลเพียง 2 สถาบันเท่านั้น คือ สมาคมมวยโลก (WBA) กับ สภามวยโลก (WBC) เท่านั้น แม้จะมีนักมวยบางรายที่ขึ้นชกในรายการของสถาบันอื่น เช่น สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) , องค์กรมวยโลก (WBO) หรือสถาบันอื่น ๆ แต่นั่นก็มิได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการชุดนี้ (ต่อมาให้การยอมรับ IBF , WBO ภายในปี พ.ศ. 2556)​

นอกจากนี้แล้วคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่น ได้รับยอมรับสถาบันระดับภูมิภาค คือ สหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) โดยนักมวยที่ได้แชมป์ของ OPBF จะมีชื่ออยู่ในอันดับโลก 10 อันดับในแต่ละรุ่นของสภามวยโลกทันที

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่กำกับดูแลการชกมวยในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน คือ สหพันธ์มวยนานาชาติญี่ปุ่น (IBF) แต่หน่วยงานนี้ไม่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากสื่อมวลชนและบุคคลในวงการมวยเท่าที่ควร

ซึ่งการกำกับดูแลคุณภาพของการชกมวยสากลในประเทศญี่ปุ่นนั้น ทางคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่นมีกฎเกณฑ์ดังนี้ คือ ค่ายมวยที่ตั้งขึ้นใหม่จะต้องบังคับจ่ายเงินเป็นจำนวน 10 ล้านเยนแก่คณะกรรมการฯ ทั้งนี้เพื่อมิให้มีค่ายมวยเกิดขึ้นอย่างไม่มีมาตรฐาน และเป็นการดูสถานภาพการเงินของค่ายมวยแต่ละรายด้วย อีกทั้งการขึ้นชกของนักมวยแต่ละรายจะต้องได้รับการอนุญาตและตรวจสุขภาพทั้งก่อนและหลังชก เพื่อดูแลมิให้นักมวยได้รับบาดเจ็บหรือทุพพลภาพจนเกินไปนั่นเอง

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ได้ปรากฏข่าวว่าคณะกรรมการมวยแห่งญี่ปุ่นได้สั่งแบน เอกชัย แสงทับทิม นักมวยชาวไทยที่เดินทางไปชกที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนเดียวกัน แต่ทว่าไม่สามารถแสดงฝีมือการชกให้ออกมาเป็นที่ประจักษ์ได้เลย กอรปกับก่อนหน้านั้นก็มีนักมวยไทยหลายรายที่ไปชกที่ญี่ปุ่นและมีผลการชกทำนองนี้เหมือนกัน คือ เอกจักรพันธุ์ ม.กรุงเทพธนบุรี, เพชรนรา เพชรภูมิยิม, ณัฐวุฒิ ศิริเต็ม และอนุชา พลีงาม ซึ่งทั้งหมดชกในเดือนเมษายนปีเดียวกันนี้ [14]

การถ่ายทอดการแข่งขันชกมวยในประเทศญี่ปุ่น จะทำการถ่ายทอดผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ในประเทศ โดยแบ่งเป็นแต่ละค่ายกับสถานีแต่ละสถานีไป โดยมีค่ายใหญ่ ๆ 5 ค่ายในโตเกียว คือ ค่ายเคียวเอะ กับ ค่ายวาตานาเบะ กับสถานีทีวีโตเกียว, ค่ายโยเนกูระ (ภายหลังค่ายมวยนี้ปิดกิจการถาวร) กับสถานีทีวี อาซาฮิ, ค่ายมิซาโกะ กับสถานีฟุจิ และ ค่ายเทเก็ง กับสถานีเอ็นทีวี​ ส่วน ทีบีเอส เป็นสถานีถ่ายทอดสดกลางไม่ขึ้นตรงกับค่ายมวยใด

นอกจากนี้แล้วความนิยมของกีฬามวยสากลในประเทศญี่ปุ่น ได้แพร่หลายไปยังวงการต่าง ๆ เช่น แวดวงวรรณกรรม มีวรรณกรรมจำนวนมากที่เกี่ยวกับมวยสากล อาทิ นิตยสารฉบับต่าง ๆ , หนังสือพิมพ์, นวนิยายเรื่องต่าง ๆ รวมถึง ละครโทรทัศน์หรือการ์ตูนเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย เช่น โจ สิงห์สังเวียน หรือ ก้าวแรกสู่สังเวียน เป็นต้น[15]

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-09. สืบค้นเมื่อ 2008-08-08.
  2. Derek Birley (1993). Sport and the Making of Britain. Manchester University Press. p. 118. ISBN 071903759X.
  3. "Sparring – Be Constructive NOT Destructive". www.myboxingcoach.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  4. "What are the best boxing gloves for training?". minotaurfightstore.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  5. "How Heavy Are Boxing Gloves?". www.legendsboxing.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  6. "What Boxing Gloves To Use". expertboxing.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  7. "Types Of Mouthguards And Their Benefits". soundviewfamilydental.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  8. "Do Mouthguards Straighten Teeth". teethtribune.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  9. "Boxing Sparring for Beginners". expertboxing.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  10. "5 Boxing Drills To Do With A Punching Bag". www.legendsboxing.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  11. "Types of Punching Bags: How its Exercises Are Effective?". fitnessumpire.com. สืบค้นเมื่อ 2024-09-21.
  12. สมพงษ์ แจ้งเร็ว. โม่ สัมบุณณานนท์ นักชกไทยคนแรกที่พิชิตมวยฝรั่ง. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 4 (8). มิถุนายน 2526. หน้า 90 - 97
  13. "รับไม่ได้ "บิ๊กโก" สั่งสอบกำปั้นปาหี่ทำขายหน้า-โดนแบนที่ญี่ปุ่น". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-04-21. สืบค้นเมื่อ 2017-04-22.
  14. "(คลิป) เป็นเรื่อง "ส.มวยยุ่น" แบนกำปั้นไทย ต่อยไร้เชิง-ไม่คุ้มค่าตั๋วคนดู". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-04-20. สืบค้นเมื่อ 2017-04-22.[ลิงก์เสีย]
  15. "JETTY", เจาะลึกวงการมวยเมืองซามูไร หน้า 35-37 นิตยสารมวยโลก ปีที่ 8 ฉบับที่ 742 (25 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม พ.ศ. 2541)

[[หมวดหมู่:ศิลปะการต่อสู้ของยุโรป]