ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง–พัทยา)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง–พัทยา (อังกฤษ: U-Tapao Rayong-Pattaya International Airport) หรือมักเรียกกันว่า สนามบินอู่ตะเภา สนามบินพัทยา สนามบินกองทัพเรือ เป็นท่าอากาศยานของกองทัพเรือไทย เพื่อใช้ในการทำงานเกี่ยวกับหน่วยงานของทหารเรือ และยังเป็นท่าอากาศยานสำรองของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นท่าอากาศยานที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ (International Airport)[3] ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร เหนือระดับน้ำทะเล 13 เมตร ห่างจากจังหวัดระยองประมาณ 30 กิโลเมตร ห่างจากเมืองพัทยาประมาณ 40 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 190 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ กองการบินทหารเรือ, กองเรือยุทธการ และกองการสนามบินอู่ตะเภา
ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง–พัทยา | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ข้อมูลสำคัญ | |||||||||||
การใช้งาน | เชิงพาณิชย์/สาธารณะ/เชิงทหาร | ||||||||||
เจ้าของ | กองทัพเรือไทย | ||||||||||
ผู้ดำเนินงาน | การท่าอากาศยานอู่ตะเภา (อาคาร 1-2) บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (อาคาร 3) | ||||||||||
พื้นที่บริการ | จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี เมืองพัทยา ประเทศไทย | ||||||||||
ฐานการบิน | บางกอกแอร์เวย์ เครื่องบินกองทัพเรือไทย | ||||||||||
เหนือระดับน้ำทะเล | 42 ฟุต / 13 เมตร | ||||||||||
พิกัด | 12°40′48″N 101°0′18″E / 12.68000°N 101.00500°E | ||||||||||
แผนที่ | |||||||||||
ทางวิ่ง | |||||||||||
| |||||||||||
ประวัติ
แก้สนามบินอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของกองทัพเรือไทย ริเริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2504 สืบเนื่องจากกองทัพเรือต้องการก่อสร้างสนามบินทหารเรือ จึงดำเนินการสำรวจพื้นที่บริเวณจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ณ เวลานั้น กระทรวงกลาโหมได้อนุมัติให้ฝูงบินทหารเรือสังกัดกองเรือยุทธการ โดยใช้สนามบินกองทัพอากาศดอนเมืองเป็นสนามบินชั่วคราว
ต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุดอนุมัติสร้างสนามบินแห่งใหม่ของกองทัพเรือบริเวณหมู่บ้านอู่ตะเภา จังหวัดระยอง โดยเป็นทางวิ่งลาดยางความยาว 1,200 เมตร เมื่อการก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อย ในขณะนั้น ได้เกิดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ และประเทศลาว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเห็นว่าต้องสร้างสนามบินขนาดใหญ่ในประเทศไทยเพิ่มเติม
ในปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลไทยและรัฐบาลกลางสหรัฐ ได้มีโครงการร่วมกัน โดยคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเป็นหน่วยในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ภายในประเทศ การก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 1 ปี จอมพล ถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลานั้น มีคำสั่งให้สนามบินแห่งนี้ให้กองทัพเรือใช้ในราชการ และดูแลรักษาสนามบิน โดยใช้ชื่อว่า "สนามบินอู่ตะเภา"
ในปี พ.ศ. 2519 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทย รวมทั้งสนามบินอู่ตะเภาด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ และเป็นสนามบินสำรองของท่าอากาศยานดอนเมือง
หลังจากการปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาโดยกรมการบินพาณิชย์ คณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรใช้ประโยชน์จากสนามบินอู่ตะเภามากขึ้น จึงพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานสากล โดยใช้ชื่อว่า "สนามบินนานาชาติระยอง–อู่ตะเภา" ภายใต้สังกัดของกองทัพเรือ โดยให้พัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ร่วมกับกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม
การบินไทยได้ตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานลำตัวกว้างแห่งที่สองขึ้นที่สนามบินอู่ตะเภา โดยศูนย์ซ่อมนี้สามารถรองรับเครื่องบิน ตระกูล Boeing 737, 747 และ 777 และเครื่องบินตระกูล Airbus A380, A300, A330 และ A340
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มีการเปิดให้ใช้สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ในการระบายผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย แทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองที่ถูกคำสั่งปิดเนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ แห่งที่ 3
วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2561 สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเส้นทางใหม่บินตรงจากท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา พัทยา ถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ แบบเที่ยวบินประจำ 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยให้บริการทำการบินด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 (WL)
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 การบินไทย ได้ลงนามสัญญาระหว่าง บริษัท การบินไทย และ บริษัท แอร์บัส เพื่อจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานของบริษัทแอร์บัส ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา[4]
วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 การบินไทยทำการบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เที่ยวบิน TG8419 มาที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อทดสอบภายหลังซ่อมเครื่องบินทะเบียน HS-TGF[5]
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 สายการบิน อูซ แอร์ เที่ยวบินที่ ZF7721 ทำการบินไปกลับจากเมืองมอสโก มายัง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา
ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2561 ถึง มีนาคม พ.ศ. 2562 เที่ยวบินที่ทำการบินไกลที่สุดได้แก่ สายการบิน TUI Airways เที่ยวบิน TOM456/TOM457 ทำการบินจากเบอร์มิงแฮม เที่ยวบิน TOM162/TOM163 ทำการบินจากท่าอากาศยานลอนดอนแกตวิก และเที่ยวบิน TOM276/TOM277 ทำการบินจากเมืองแมนเซสเตอร์[6]
ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2563[7] มีเที่ยวบินจากสหรัฐเข้าทำการบินที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาได้แก่ เที่ยวบิน dl8821 ทำการบินจากแอตแลนตาแวะที่เมืองแองเคอเรจก่อนมาที่อู่ตะเภา ต่อมาในวันที่ 14-15 เมษายน เที่ยวบิน dl8821 ทำการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติแดเนียล เค. อิโนเอมาที่อู่ตะเภา ในวันที่ 19 เมษายนมีเที่ยวบินจากท่าอากาศยานนานาชาติฮาวายแวะท่าอากาศยานคาเดนะ จังหวัดโอกินาวะ ก่อนเข้าอู่ตะเภา
วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2566 เที่ยวบิน FZ1445 สายการบินฟลายดูไบ ทำการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ มายังท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2567 เที่ยวบิน UQ2647 สายการบินอุรุมชี แอร์ไลน์ ทำการบินจากท่าอากาศยานนานาชาติหลานโจว จงฉวน มายังท่าอากาศยานนานาชาติูอู่ตะเภา
สายการบินที่ทำการบิน
แก้สายการบินที่ทำการบินในปัจจุบัน
แก้ระหว่างประเทศ | |
ภายในประเทศ | |
เช่าเหมาลำ |
สายการบิน | จุดหมายปลายทาง | หมายเหตุ |
---|---|---|
บางกอกแอร์เวย์ | ภูเก็ต | ภายในประเทศ |
เกาะสมุย | ภายในประเทศ | |
ไทยไลอ้อนแอร์ | เชียงใหม่ | ภายในประเทศ |
ฟลายดูไบ | ดูไบ | ระหว่างประเทศ |
แอร์เอเชีย | กัวลาลัมเปอร์ | ระหว่างประเทศ |
อาเซอร์แอร์ | Barnaul | เช่าเหมาลำ |
Blagoveshchensk | เช่าเหมาลำ | |
Krasnoyarsk | เช่าเหมาลำ | |
Khabarovsk | เช่าเหมาลำ | |
Moscow | เช่าเหมาลำ | |
Novokuznetsk | เช่าเหมาลำ | |
Novosibirsk | เช่าเหมาลำ | |
Samara | เช่าเหมาลำ | |
Tomsk | เช่าเหมาลำ | |
Ufa | เช่าเหมาลำ | |
Vladivostok | เช่าเหมาลำ | |
Yekaterinburg | เช่าเหมาลำ | |
Irkutsk | เช่าเหมาลำ | |
สแคท แอร์ไลน์ | อัสตานา | เช่าเหมาลำ |
อัลมาตี | เช่าเหมาลำ |
สายการบินที่เคยทำการบินในอดีต
แก้สายการบิน | จุดหมายปลายทาง | หมายเหตุ |
---|---|---|
ไทยแอร์เอเชีย | ||
สิงคโปร์ | ระหว่างประเทศ | |
อุบลราชธานี | ภายในประเทศ | |
หนานหนิง | ระหว่างประเทศ | |
เฉิงตู | ระหว่างประเทศ | |
กุ้ยหยาง | ระหว่างประเทศ | |
ขอนแก่น | ภายในประเทศ | |
อุดรธานี | ภายในประเทศ | |
เชียงใหม่ | ภายในประเทศ | |
ภูเก็ต | ภายในประเทศ | |
มาเก๊า | ระหว่างประเทศ | |
ไหโข่ว | ระหว่างประเทศ | |
หาดใหญ่ | ภายในประเทศ | |
การบินไทย | สุวรรณภูมิ | ภายในประเทศ |
นกแอร์ | เชียงใหม่ | ภายในประเทศ |
นครศรีธรรมราช | ภายในประเทศ | |
ภูเก็ต | ภายในประเทศ | |
สกลนคร | ภายในประเทศ | |
อุดรธานี | ภายในประเทศ | |
อุบลราชธานี | ภายในประเทศ | |
นานฉาง | ระหว่างประเทศ | |
ฉางชา | ระหว่างประเทศ | |
ยี่ซาง | ระหว่างประเทศ | |
ชูบูหลิง | ระหว่างประเทศ | |
เหอถง | ระหว่างประเทศ | |
เมลัน | ระหว่างประเทศ | |
เบาเตา | ระหว่างประเทศ | |
ไหหนาน | ซานย่า ไหโข่ว | ระหว่างประเทศ |
เซินเจิ้น | กวางโจว | ระหว่างประเทศ |
นิวเจน | เจิ้งโจว | ระหว่างประเทศ |
ไทยไลอ้อนแอร์ | ฉางชา | ระหว่างประเทศ |
ดงไห่แอร์ไลน์ | เจิ้งโจว | ระหว่างประเทศ |
ไทยเวียดเจ็ทแอร์ | โฮจิมินห์ | ระหว่างประเทศ |
กาตาร์แอร์เวย์ | โดฮา | ระหว่างประเทศ |
กานต์แอร์ | ||
เชียงใหม่ | ภายในประเทศ | |
อุบลราชธานี | ภายในประเทศ | |
อุดรธานี | ภายในประเทศ | |
ขอนแก่น | ภายในประเทศ | |
หัวหิน | ภายในประเทศ | |
ดอนเมือง | ภายในประเทศ | |
สุราษฎร์ธานี | ภายในประเทศ | |
หาดใหญ่ | ภายในประเทศ |
การคมนาคม
แก้- รถยนต์ ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยใช้ถนนสุขุมวิท, ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7, ถนนเส้นทางยุทธศาสตร์ (331) ที่แยกตัดออกมาจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 ในช่วงที่ต่อกับมอเตอร์เวย์
- รถไฟทางไกล ท่าอากาศยานตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟอู่ตะเภาบนเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก มีขบวนรถให้บริการ 2 ขบวนต่อวันในวันธรรมดา (เฉพาะรถธรรมดา) และ 4 ขบวนต่อวันในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ (รถธรรมดาและรถเร็ว)
- รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นเส้นทางคมนาคมทางรถไฟ ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพมหานคร (สถานีกลางบางซื่อ) - สถานีท่าอากาศยานอู่ตะเภา 1 ชั่วโมง 40 นาที ที่ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2569
อุปสรรคและการวิพากษ์วิจารณ์
แก้สนามบินอู่ตะเภา สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่เช่น Boeing 747 หรือ A380 ได้ แต่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงทำให้ไม่มีเที่ยวบินประจำมากนัก เที่ยวบินระหว่างประเทศที่มาใช้บริการเป็นแบบเช่าเหมาลำส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจากประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561 เนื่องจากฝนตกหนักเที่ยวบิน EK418 ได้ทำการบินมาลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา นับเป็นครั้งแรกที่ เครื่องบินA380 สายการบินต่างชาติ ได้แก่เอมิเรตส์แอร์ไลน์ ทำการบินลงที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาก่อนที่จะทำการบินต่อไปยัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สนามบินอู่ตะเภาได้แสดงศักยภาพอีกครั้งเมื่อเหตุการณ์บุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2551 แต่เนื่องด้วยมีอาคารผู้โดยสารขนาดเล็ก และอุปกรณ์ภาคพื้นไม่เพียงพอ ทำให้มีสภาพแออัดในช่วงเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้สนามบินอู่ตะเภา ยังใช้งานในภารกิจเที่ยวบินทางทหาร และเที่ยวบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรม ในเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
แก้ภายหลังเหตุการณ์บุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง จนเป็นเหตุทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาต้องกลับมาเปิดทำการและประสบปัญหาการแออัดของท่าอากาศยาน รัฐบาลได้เห็นความจำเป็นในการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อใช้งานเป็นท่าอากาศยานหลักแห่งที่ 3 ของประเทศ และรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังจังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดให้มากขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อศึกษาแผนการจัดสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมให้อยู่ในสภาพที่พร้อมรองรับการใช้งานที่มากขึ้น โดยโครงการได้เริ่มศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 จนกระทั่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้หยิบแผนศึกษากลับมาพิจารณาและบรรจุเป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใน พ.ศ. 2561
ต่อมา สกพอ. มีมติให้แยกแผนการดำเนินการออกเป็นสองส่วน ได้แก่เมืองการบินและอาคารผู้โดยสาร ให้กองทัพเรือเป็นผู้จัดหาเอกชนเข้ามาดำเนินการภายใต้รูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ให้การบินไทยเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับกองทัพเรือ โดยการบินไทยได้ลงนามความร่วมมือระหว่างสายการบินและแอร์บัส เพื่อจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐานของแอร์บัสแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การประมูล
แก้กองทัพเรือได้จัดให้มีการประมูล โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของเมืองการบินและอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ด้วยวิธีการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยมีเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอเป็น 3 กิจการร่วมค้า ได้แก่
- กิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide)
- กิจการร่วมค้าบีบีเอส (บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน))
- กิจการร่วมค้าแกรนด์แอสเซทคอนซอร์เทียม (บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน), บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน))
ภายหลังกองทัพเรือได้ตัดสิทธิ์การประมูลของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เนื่องจากนำส่งข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอด้านการเงินช้ากว่ากำหนด โดยทางกลุ่มได้ยื่นขอความคุ้มครองการประมูลและยื่นฟ้องกองทัพเรือต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกรับข้อเสนอที่ส่งช้าเกินเวลาเข้าพิจารณา ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกมีกรอบเวลาในการคัดเลือกที่ชัดเจนเพื่อให้การแข่งขันในการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน อันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการในฐานะผู้ทำหน้าที่คัดเลือกคู่สัญญาจะต้องวางตัวเป็นกลางและรักษากติกา กล่าวคือต้องดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกมีมติยืนมติเดิมคือไม่รับข้อเสนอทั้งชุดของกลุ่มธนโฮลดิ้ง และดำเนินการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค (ซองที่ 2) และข้อเสนอด้านการเงิน (ซองที่ 3) ต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีมติพิพากษากลับและออกคำสั่งคุ้มครองการประมูล โดยให้คณะกรรมการรับซองของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ที่เกินเวลาเข้าร่วมพิจารณา โดยศาลปกครองมีคำสั่งพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2563 ว่าให้กรรมการรับซองของกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร กลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เนื่องจากถือเป็นกระบวนการทางธุรกรรม ไม่ได้มีผลต่อห้วงเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้คณะกรรมการต้องรับซองของกลุ่มธนโฮลดิ้งกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณา
ผลการประมูลอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะกรรมการฯ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านหนังสือที่ กพอ.ทร. 79/2563 ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส นำโดยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ เป็นผู้ยื่นข้อเสนอและผลตอบแทนที่ดีที่สุดแก่รัฐ[8] โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการประมูลและผลการเจรจาระหว่างคณะกรรมการและ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด อันเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งโดยกิจการร่วมค้าบีบีเอส เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งลงมติจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการร่วม เพื่อเป็นตัวกลางในการวางแผนและประสานงานการก่อสร้างโครงการร่วมกันระหว่าง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อรองรับการพัฒนาทั้ง 2 โครงการควบคู่กันไปด้วย
แนวทางการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
แก้โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
- โครงการในความรับผิดชอบของเอกชน (กิจการร่วมค้าบีบีเอส)
- อาคารผู้โดยสาร 3
- ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน
- ศูนย์ธุรกิจการค้า
- คลังสินค้า และเขตประกอบการค้าเสรี
- ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติก
- โครงการในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ
- ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (ดำเนินการร่วมกับการบินไทย)
- ศูนย์ฝึกอบรมอากาศยาน
- อาคารผู้โดยสาร 1 และ 2
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Airport information for VTBU at World Aero Data. Data current as of October 2006.. Source: DAFIF.
- ↑ Airport information for UTP at Great Circle Mapper. Source: DAFIF (effective Oct. 2006).
- ↑ ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง รายชื่อสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ (International Airport) พ.ศ. ๒๕๖๖
- ↑ 'บินไทย-แอร์บัส' ตั้งศูนย์ฯอู่ตะเภา หวังทันสมัยที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
- ↑ Flight history for TG8419
- ↑ เที่ยวบินที่ทำการบินไกลที่สุดได้แก่ สายการบิน TUI Airways เที่ยวบิน TOM456/TOM457
- ↑ ไม่มีนักเรียน AFS ของไทยมาด้วย!สหรัฐส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำรับกำลังพลที่อู่ตะเภาวันอาทิตย์นี้
- ↑ แจ้งความคืบหน้าการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
- สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก