โรมโบราณ
โรมโบราณ (อังกฤษ: Ancient Rome) หรือ โรมันโบราณ หมายถึงอารยธรรมของชาวโรมันตั้งแต่การก่อตั้งเมืองโรมในศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสต์ศักราช จนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ประกอบด้วย ยุคราชอาณาจักรโรมัน (753–509 ปีก่อนคริสตกาล), ยุคสาธารณรัฐโรมัน (509–27 ปีก่อนคริสตกาล) และยุคจักรวรรดิโรมัน (27 ปีก่อนคริสตกาล–ค.ศ. 476)[1]
โรมโบราณ Roma | |
---|---|
753 ปีก่อน ค.ศ.–ค.ศ. 476 | |
Territories of the Roman civilization:
| |
เมืองหลวง | โรม |
ภาษาทั่วไป | ภาษาละติน |
การปกครอง | ราชอาณาจักร (753–509 ปีก่อน ค.ศ.) สาธารณรัฐ (509–27 ปีก่อน ค.ศ.) จักรวรรดิ (27 ปี ก่อน ค.ศ.–ค.ศ. 476) |
ยุคประวัติศาสตร์ | สมัยโบราณ |
• ก่อตั้งเมืองโรม | 753 ปีก่อน ค.ศ. |
• การโค่นล้มตาร์กวินิอุสผู้หยิ่งทะนง | 509 ปีก่อน ค.ศ. |
• สถานปนาจักรพรรดิเอากุสตุส | 27 ปีก่อน ค.ศ. |
ค.ศ. 476 |
โรมโบราณเริ่มต้นจากการตั้งถิ่นฐานของชนชาวอิตาลิกในปี 753 ก่อนคริสตกาล ริมแม่น้ำไทเบอร์บนคามสมุทรอิตาลี เกิดการขยายถิ่นฐานเป็นเมืองจนสามารถควบคุมดินแดนเพื่อนบ้านผ่านสนธิสัญญาและยุทธการ กระทั่งในที่สุดสามารถปกครองทั้งคาบสมุทรอิตาลีและยึดครองดินแดนขนาดใหญ่และผู้คนในทวีปยุโรปและรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน นับว่าเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยุคโบราณ โดยมีประชากรประมาณ 50 ถึง 90 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของประชากรโลกในขณะนั้น และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 ล้านตารางกิโลเมตร (1.9 ล้านตารางไมล์) ในช่วงที่ทรงอำนาจที่สุดใน ค.ศ. 117[2][3][4]
โรมโบราณมีระบบการปกครองที่หลายหลาย ตั้งแต่ราชาธิปไตยในระยะแรก สาธารณรัฐคณาธิปไตย และท้ายที่สุดระบบจักรวรรดิแบบอัตตาธิปไตย อารยธรรมโรมันเข้ามามีอิทธิพลต่อภูมิภาคยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้/คาบสมุทรบอลข่าน และบริเวณรอบทะเลเมดิเตอเรเนียนโดยการพิชิตและการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับท้องถิ่นที่เข้าไปปกครอง ก่อนที่จะเริ่มหมดอำนาจลงและแบ่งแยกเป็นสองอาณาจักร ได้แก่ "จักรวรรดิโรมันตะวันตก" ที่มีกรุงโรมเป็นเมืองหลวง ก่อนที่จะล่มสลายลงด้วยสาเหตุความขัดแย้งภายในและการถูกรุกรานโดยชนกลุ่มต่าง ๆ ในสมัยการโยกย้ายถิ่นฐานและการแบ่งแยกออกเป็นอาณาจักรอิสระน้อยใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 อันเป็นจุดสิ้นสุดของยุคโรมโบราณ และ "จักรวรรดิโรมันตะวันออก" (หรือที่เรียกว่า "จักรวรรดิไบแซนไทน์") ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล ที่ประกอบด้วยกรีซ ดินแดนที่พิชิตโดยจักรวรรดิบัลแกเรียที่ 1 อานาโตเลีย ซีเรีย และอียิปต์ ที่รอดจากวิกฤติการณ์ที่จักรวรรดิทางด้านตะวันตกประสบ และแม้ว่าจะเสียซีเรียและอียิปต์แก่อาณาจักรมุสลิมอาหรับ จักรวรรดิก็ดำรงสืบมาอีกหนึ่งสหัสวรรษ กระทั่งเสียเมืองให้กับจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. 1453
วัฒนธรรมโรมันมักจะจัดอยู่ใน “ยุคโบราณ” (classical antiquity) ร่วมกับกรีกโบราณ หรือที่เรียกว่า "เกรโก-โรมัน" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เป็นต้นตอและแรงบันดาลใจให้แก่วัฒนธรรมโรมโบราณ
โรมโบราณประสบความสำเร็จในด้านเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมที่น่าประทับใจ เช่น การก่อสร้างท่อระบายน้ำและถนนทั่วทั้งจักรวรรดิ ตลอดจนอนุสาวรีย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่โอ่อ่า อีกทั้งยังมีบทบาทอย่างใหญ่หลวงในการวิวัฒนการทางด้านกฎหมาย การสงคราม ศิลปะ วรรณคดี สถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และภาษาของโลกตะวันตก และประวัติศาสตร์โรมันยังคงเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังคงมีผู้คนศึกษาและมีอิทธิพลต่อโลกจนทุกวันนี้
การก่อตั้งตามตำนานปรัมปรา
แก้ตามตำนานการก่อตั้งกรุงโรม เมืองนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 753 ปีก่อนคริสตกาล บนฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ทางตอนกลางของอิตาลี โดยพี่น้องฝาแฝดโรมุลุสและแรมุส ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายอีเนียสแห่งเมืองทรอย[5] นัดดาของกษัตริย์เชื้อสายละตินพระนามว่านูมิเตอร์ (Numitor) แห่งอัลบาลองกา กษัตริย์นูมิเตอร์ทรงถูกอะมูลิอุส (Amulius) พระอนุชาชิงบังลังก์ ในระหว่างที่รีอา ซิลเวีย (Rhea Silvia) พระธิดาของนูมิเตอร์ทรงให้กำเนิดพระโอรสฝาแฝด[6][7] ที่ถือว่าเป็นครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพ เนื่องจากทั้งคู่เกิดจากที่มารดา รีอา ซิลเวียถูกเทพมาส์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสงครามของโรมันข่มขืน
ด้วยเหตุที่กษัตริย์อะมูลิอุสเกรงว่าโรมุลุสและแรมุสจะยึดบัลลังก์ในอนาคต เขาจึงบัญชาให้จับทั้งสองไปทุ่มน้ำให้ตาย[7] แต่ด้วยหมาป่าตัวหนึ่ง (หรือภรรยาของคนเลี้ยงแกะในบางตำนาน) ช่วยชีวิตและเลี้ยงดูพวกเขาจนโต ทั้งสองจึงกลับมาทวงบัลลังก์แห่งอัลบาลองกาคืนแก่กษัตริย์นูมิเตอร์[8][7]
ในภายหลัง แฝดทั้งสองได้ก่อตั้งเมืองของตนเองขึ้น แต่โรมุลุสกลับสังหารแรมุสในการทะเลาะวิวาทเกี่ยวกับที่ตั้งของราชอาณาจักรโรมัน แม้ว่าบางตำนานระบุว่าเป็นเรื่องการทะเลาะวิวาทเกี่ยวกับผู้ใดจะเป็นผู้ปกครองหรือให้ชื่อของเขาเป็นชื่อเมือง[9] ในท้ายที่สุด ชื่อโรมุลุสจึงเป็นที่มาของชื่อเมืองที่ก่อตั้งใหม่นี้[7] เพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในเมือง โรมจึงสถาปนาเมืองให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ยากไร้ ผู้ถูกเนรเทศ และผู้ที่ไม่มีดินแดนใดต้องการ สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะเมืองมีประชากรชายจำนวนมากแต่ขาดผู้หญิง โรมุลุสจึงไปเยี่ยมเมืองและชนเผ่าใกล้เคียงเพื่อไปเจรจากับและหาสตรีมาสร้างครอบครัว แต่เนื่องจากโรมเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เขาจึงถูกปฏิเสธ ตำนานกล่าวว่าชาวละติน (โรมัน) เชิญชาวซาบีนเข้าร่วมงานเทศกาลและการข่มขืนสตรีชาวซาบีน ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มชนละตินกับซาบีน[10]
อีกตำนานหนึ่งซึ่งบันทึกโดยไดอะไนซัสแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก กล่าวว่าเจ้าชายอีเนียสทรงนำชาวกรุงทรอยออกทะเลเพื่อค้นหาที่ตั้งกรุงทรอยแห่งใหม่หลังสิ้นสุดสงครามกรุงทรอย กระทั่งมาถึงริมฝั่งแม่น้ำไทเบอร์ ไม่นานหลังจากที่เทียบเรือ บรรดาชายต้องการออกไปทะเลอีกครั้ง แต่หญิงที่เดินทางมาด้วยการไม่ต้องการจากไป โดยมีหญิงนางหนึ่ง นามว่า โรมา แนะให้ผู้หญิงเผาเรือเพื่อไม่ให้แล่นเรือจากไป ในตอนแรกพวกผู้ชายโกรธโรมา แต่ไม่นานพวกเขาตระหนักได้ว่าที่แห่งนี้คือสถานที่ที่เหมาะจะตั้งถิ่นฐาน จึงตั้งชื่อถิ่นฐานใหม่นี้ตามหญิงคนนี้[11]
เวอร์จิล กวีชาวโรมันเล่าถึงตำนานนี้ในบทกวีมหากาพย์เรื่อง อีนีอิด (Aeneid) ที่ซึ่งเจ้าชายอีเนียสแห่งทรอยถูกลิขิตโดยเทพเจ้าให้พบกรุงทรอยใหม่ ในมหากาพย์นี้ ผู้หญิงก็ปฏิเสธที่จะมุ่งกลับไปยังทะเล แต่ก็ไม่ได้ถูกทิ้งไว้บนแม่น้ำไทเบอร์ หลังจากไปถึงอิตาลี อีเนียสซึ่งต้องการแต่งงานกับลาวิเนีย ถูกบังคับให้ทำสงครามกับคนรักเก่าเทิร์นนัส ตามบทกวี กษัตริย์อัลบันสืบเชื้อสายมาจากอีเนียส ดังนั้น โรมุลุสผู้ก่อตั้งกรุงโรมจึงเป็นทายาทของเขา
ยุคราชอาณาจักร
แก้เมืองโรมเติบโตขึ้นจากการตั้งถิ่นฐานรอบ ๆ ที่ลุ่มริมแม่น้ำไทเบอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการจราจรและการค้า[8] ซึ่งตามหลักฐานทางโบราณคดี หมู่บ้านแห่งโรมอาจก่อตั้งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล แม้ว่าอาจย้อนกลับไปได้ไกลถึงศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล โดยสมาชิกของชนเผ่าละตินในอิตาลีบนเนินเขาปาลาตีนุส[12][13]
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ชาวอิทรุสกันซึ่งตั้งรกรากอยู่ในเอทรูเรีย ดินแดนทางเหนือของโรมเป็นผู้ควบคุมทางการเมืองในภูมิภาคนี้ภายใต้การปกครองชนชั้นสูงและระบอบราชาธิปไตย พอถึงปลายศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ชาวอิทรุสกันสูญเสียอำนาจ และ ณ จุดนี้ ชนเผ่าละตินและซาบีนดั้งเดิมกลับเป็นผู้ปกครองใหม่โดยการก่อตั้งสาธารณรัฐ โดยจำกัดคอำนาจของผู้ปกครองมากขึ้น[14]
หลักฐานทางโบราณคดีของโรมันชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนภายในจัตุรัสโรมัน ว่าเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของกษัตริย์และศาสนา นุมา ป็อมปิลิอุส (Numa Pompilius) กษัตริย์องค์ที่สองของกรุงโรมที่สืบต่อจากโรมุลุส เริ่มโครงการก่อสร้างของกรุงโรมด้วยพระราชวัง Regia และศาสนสถานสำหรับพรหมจารีเวสทัล
ยุคสาธารณรัฐ
แก้ตามประเพณีและต่อมาวรรณกรรมของนักเขียน เช่น ลิวี สาธารณรัฐโรมันก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 509 ปีก่อนคริสตกาล[15] ตาร์กวินิอุสผู้หยิ่งทะนง (Lucius Tarquinius Superbus) กษัตริย์พระองค์สุดท้ายจากเจ็ดพระองค์ของอาณาจักรโรมันถูก ลูกิอุส ยูนิอุส บรูตุส (Lucius Junius Brutus) โค่นบังลังก์ พร้อมกับการเปลี่ยนระบอบปกครองมาเป็นการเลือกตั้ง แมยิสเตร็ด (magistrate) ประจำปี ผู้ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทั้งในทางบริหารและตุลาการ และการจัดตั้งสภาผู้แทนต่าง ๆ[16] มีการตรารัฐธรรมนูญเพื่อการตรวจสอบ ถ่วงดุลและการแยกใช้อำนาจของผู้ปกครอง บุคคลที่สำคัญที่สุดในบรรดาแมยิสเตร็ด คือ "กงสุล" จำนวนสองคน ซึ่งใช้อำนาจในทางบริหารร่วมกัน[17] เช่น การออกคำสั่งทางทหาร กงสุลต้องทำงานร่วมกับวุฒิสภาโรมัน (Senātus Rōmānus) ซึ่งเดิมเป็นสภาที่ปรึกษาของขุนนางชั้นสูง หรือ "แพทริเซียน (patricius)" แต่มีจำนวนและอำนาจที่เพิ่มขึ้น[18]
แมยิสเตร็ดคนอื่น ๆ ของสาธารณรัฐ ประกอบด้วย ทริบูนุส (tribunus), ไกวส์ตอร์ (qvaestor; ขุนคลัง), เอดีลิส (aedīlis), พรีตอร์ (praetor) และ เซนซอร์ (censor)[19] ซึ่งแต่เดิม แมยิสเตร็ดถูกจำกัดไว้สำหรับบรรดาแพทริเซียน แต่ภายหลังเปิดให้ประชาชนทั่วไป หรือ "พลีเบียน (plebeian)" เข้าร่วมได้[20] การชุมนุมลงคะแนนของสาธารณรัฐเกิดขึ้นใน comitia centuriata (สภาราษฎร/สภาสามัญ/สภาเซนจูรี/สภาร้อยคน) ซึ่งลงคะแนนในเรื่องสงครามและสันติภาพ รวมถึงการเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งที่สำคัญมาก และ comitia tributa (สภาชนเผ่า) ซึ่งจะเลือกผู้ดำรงตำแหน่งที่มีความสำคัญน้อยกว่า[21]
ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล สาธารณรัฐโรมันถูกโจมตีโดยชาวกอล ซึ่งได้ขยายอำนาจมาถึงคาบสมุทรอิตาลีออกบริเวณหุบเขาโปและผ่านเอทรูเรีย ในวันที่ 16 กรกฎาคม 390 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพกอลภายใต้การนำของหัวหน้าเผ่าเบรนนุส ได้เผชิญหน้ากับทัพโรมันที่ริมฝั่งแม่น้ำอัลเลีย สิบไมล์ทางเหนือของกรุงโรม เบรนนัสเอาชนะทัพโรมันและเดินทัพไปยังกรุงโรม ชาวโรมันส่วนใหญ่หนีออกจากเมือง แต่บางคนก็ยืนหยัดหลบซ่อนบนเนินเขาคาปิโตลีน ทัพกอลได้ปล้นและเผาเมืองและทำการล้อมเนินเขาคาปิโตลีน การปิดล้อมกินเวลาเจ็ดเดือน กระทั่งพวกกอลตกลงที่จะคือความสงบสุขแก่ชาวโรมันเพื่อแลกกับทองคำหนัก 1,000 ปอนด์[22] ตามตำนานที่เล่าขานต่อมา ชาวโรมันที่ดูแลการชั่งน้ำหนักสังเกตเห็นว่าชาวกอลใช้ตาชั่งปลอม จึงจับอาวุธและเอาชนะกอลได้ นายพลมาร์กุส ฟูริอุส คามิลุส (Marcus Furius Camillus) ผู้ชัยกล่าวว่า "ด้วยเหล็ก ไม่ใช่ด้วยทองคำ ที่โรมได้ซื้ออิสรภาพของเธอ"[23]
ในเวลาต่อมา ชาวโรมันค่อย ๆ พิชิตดินแดนของชนชาติอื่น ๆ บนคาบสมุทรอิตาลี ซึ่งรวมถึงชาวอิทรุสกัน[24] ภัยคุกคามสุดท้ายต่ออำนาจของโรมันบนคาบสมุทรอิตาลีเกิดขึ้นเมื่อ ตารันตุม (ตารันโตในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอาณานิคมที่สำคัญของกรีกได้ขอความช่วยเหลือจากนายพลเลื่องชื่อชาวกรีกไพรุสแห่งอีไพรุสใน 281 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของโรมัน[25] ชาวโรมันรักษาชัยชนะของตนโดยการก่อตั้งอาณานิคมในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่ได้สร้างการควบคุมที่มั่นคงเหนือภูมิภาคที่พวกเขาพิชิตได้[24]
สงครามพิวนิก
แก้ในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล สาธารณัฐโรมันได้เผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ใหม่ที่น่าเกรงขาม คือ คาร์เทจ นครรัฐของชาวฟินิเชียที่ร่ำรวยและเจริญรุ่งเรือง และหมายมุ่งจะครอบครองพื้นที่ริมฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งสองเป็นพันธมิตรในสมัยสงครามกับนายพลไพรุส ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อทั้งคู่ แต่ด้วยความเป็นเจ้าแห่งกรุงโรมในแผ่นดินใหญ่ และเจ้าแห่งทะเลของคาร์เทจ ความขัดแย้งเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกนำมาซึ่งสงคราม[26][27]
สงครามพิวนิกครั้งที่หนึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 264 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อเมืองเมสซีนาขอความช่วยเหลือจากคาร์เทจในการสู้รบกับเฮียรอนที่ 2 แห่งซีรากูซา หลังจากการเข้าสกัดของคาร์เทจ เมสซีนากลับขอให้ชาวโรมันขับไล่ชาวคาร์เทจ โรมเข้าสู่สงครามครั้งนี้เพราะซีรากูซาและเมสซีนาอยู่ใกล้เมืองกรีกที่เพิ่งพิชิตใหม่ทางตอนใต้ของอิตาลีมากอีกทั้งคาร์เทจยังสามารถโจมตีดินแดนของโรมันได้ ด้วยเหตุนี้ โรมจึงสามารถขยายอาณาเขตของตนเหนือเกาะซิซิลี[28]
แม้ว่าชาวโรมันจะมีประสบการณ์ในการต่อสู้ทางบก การเอาชนะศัตรูใหม่นี้จำเป็นต้องมีการต่อสู้ทางเรือ คาร์เทจเป็นมหาอำนาจทางทะเลและการขาดเรือรบและประสบการณ์ทางเรือของโรมันทำให้เส้นทางสู่ชัยชนะนั้นยาวนานและยากลำบากสำหรับสาธารณรัฐโรมัน แม้กระนั้น หลังจากการต่อสู้ที่ยืดยื้อกว่า 20 ปี โรมสามารถเอาชนะคาร์เทจได้ และมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ที่ในอนาคตจะนำมาสู่เหตุผลหนึ่งของการก่อสงครามพิวนิกครั้งที่สอง[29] จากการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามของคาร์เทจอันเนื่องมาจากการสิ้นสุดสงครามพิวนิกครั้งที่หนึ่ง[30]
สงครามพิวนิกครั้งที่สองมีชื่อเสียงในด้านนายพลที่เก่งกาจ เช่น แฮนนิบัล (Hannibal) และแฮสดรูบัล (Hasdrubal) ของคาร์เทจ และมาร์กุส เกลาดิอุส มาร์แก็ลลุส (Marcus Claudius Marcellus), กวินตุส ฟาบิอุส มักซิมุส (Quintus Fabius Maximus Verrucosus) และปุบลุส กอร์เนลิอุส สกิปิโอ (Publius Cornelius Scipio) ของโรมัน การศึกเริ่มต้นด้วยการรุกรานของฮิสปาเนียอย่างกล้าหาญโดยแฮนนิบัล บุตรชายของฮามิลการ์ บาร์ซา นายพลคาร์เทจ ซึ่งเป็นผู้นำปฏิบัติการในซิซิลีในช่วงสิ้นสุดสงครามพิวนิกครั้งที่หนึ่ง แฮนนิบัลเดินทัพอย่างรวดเร็วผ่านฮิสปาเนียไปยังเทือกเขาแอลป์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่พันธมิตรของโรม วิธีที่ดีที่สุดเพื่อเอาชนะแฮนนิบัลคือการชะลอการมาถึงของทัพคาร์เทจด้วยสงครามกองโจร ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของนายพลกวินตุส ฟาบิอุส มักซิมุส ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของแฮนนิบัลในการยึดกรุงโรมจึงไม่สำเร็จ เขาไม่สามารถทำให้เมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรให้กบฏต่อโรมและเสริมกำลังกองทัพที่ลดน้อยลงของเขาได้มากพอ จึงขาดยุทโธปกรณ์และกำลังพลในการล้อมกรุงโรม
กระนั้น การรุกรานของแฮนนิบัลกินเวลานานถึง 16 ปี ทำลายล้างดินแดนคาบสมุทรอิตาลี จนในที่สุดเมื่อชาวโรมันรับรู้ถึงการขาดเสบียงของทัพคาร์เทจ พวกเขาจึงส่งนายพลสกิปิโอซึ่งเอาชนะแฮสดรูบัล น้องชายของแฮนนิบัลในดินแดนที่เป็นประเทศสเปนในปัจจุบัน ให้ไปบุกพื้นที่ห่างไกลของคาร์เทจที่ไม่มีการป้องกัน และบังคับให้แฮนนิบาลยกทัพกลับไปปกป้องคาร์เทจเอง ผลที่ได้คือการสิ้นสุดของสงครามพิวนิกครั้งที่สอง ในศึกแห่งซามาในเดือนตุลาคม 202 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งทำให้สกิปิโอได้สมญานามว่า Africanus
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ช่วงปลายสาธารณรัฐ
แก้ยุคจักรวรรดิ
แก้การล่มสลายของโรมันตะวันตก
แก้วัฒนธรรม
แก้ชีวิตในโรมันโบราณหมุนรอบกรุงโรมซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาทั้งเจ็ด เมืองนี้มีอาคารและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่มากมาย เช่น โคลอสเซียม จัตุรัสทราจัน และวิหารแพนธีอัน มีโรงละคร โรงยิม ตลาด ท่อระบายน้ำที่ใช้งานได้ โรงอาบน้ำพร้อมห้องสมุดและร้านค้า และน้ำพุที่มีน้ำดื่มสะอาดที่ส่งมาจากท่อส่งน้ำหลายร้อยไมล์ ทั่วทั้งอาณาเขตภายใต้การควบคุมของกรุงโรมโบราณ สถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยมีตั้งแต่บ้านแบบเรียบง่ายไปจนถึงวิลล่าในชนบท
ในนครหลวงกรุงโรม มีที่ประทับของจักรพรรดิบนเนินปาลาตีนุสอันสง่างาม ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า palace หรือ "พระราชวัง" ในภาษาอังกฤษกับอีกหลายภาษา ชนชั้นล่างและกลางอาศัยอยู่ใจกลางเมือง อัดแน่นอยู่ในอพาร์ตเมนต์ หรือ อินซูเล (insulae) คล้ายสลัมในยุคปัจจุบัน พื้นที่เหล่านี้มักให้เช่าและสร้างโดยชนชั้นสูงผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน
ภาษา
แก้ภาษาพื้นเมืองของชาวโรมันคือ ละติน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาอิตาลิก[31] ตัวอักษรมีพื้นฐานมาจากอักษรอิทรุสกันซึ่งพัฒนามาจากชุดตัวอักษรกรีก[32] แม้ว่าวรรณคดีละตินที่หลงเหลืออยู่ประกอบด้วยภาษาละตินคลาสสิกเกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นภาษาเขียนที่ประดิษฐ์ขึ้นและขัดเกลาในช่วงศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ภาษาพูดที่ใช้อยู่ทั่วไปในจักรวรรดิโรมันคือภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin) ซึ่งแตกต่างจากภาษาละตินคลาสสิกอย่างมีนัยสำคัญทั้งในด้านไวยากรณ์ คำศัพท์ และการออกเสียง[33] ผู้พูดภาษาละตินสามารถเข้าใจทั้งสองจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 เมื่อภาษาละตินที่พูดเริ่มแตกต่างจากภาษาเขียนออกไปมากจนต้องเรียนรู้ภาษา 'คลาสสิก' หรือ 'ละตินที่ดี' เป็นภาษาที่สอง[34]
ในขณะที่ภาษาละตินยังคงเป็นภาษาเขียนหลักของจักรวรรดิโรมัน ภาษากรีกกลายเป็นภาษาพูดของชนชั้นสูงที่มีการศึกษาดี เนื่องจากวรรณกรรมส่วนใหญ่ที่ชาวโรมันศึกษานั้นเขียนเป็นภาษากรีก แต่ในอีกครึ่งหนึ่งของโรมันทางตะวันออก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันออก ภาษาละตินไม่สามารถแทนที่ภาษากรีก และหลังจากการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 (จักรพรรดิจัสติเนียน) ภาษากรีกกลายเป็นภาษาราชการของจักรวรรดิ[35] การขยายตัวของจักรวรรดิโรมันได้แพร่ภาษาละตินทั่วทั้งยุโรป และภาษาละตินสามัญได้พัฒนาเป็นภาษาถิ่นในสถานที่ต่าง ๆ กัน ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มภาษาโรมานซ์ที่แตกต่างกันมากมาย
ศาสนา
แก้ศาสนาโรมันโบราณไม่ได้ประกอบขึ้นจากการเล่าเรื่องเทพเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์[36] ต่างจากตำนานเทพเจ้ากรีก เทพเจ้าเหล่านี้ไม่มีลักษณะเป็นตัวตน แต่เป็นจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อันคลุมเครือที่เรียกว่า "นูมินา (numina)" ชาวโรมันยังเชื่อด้วยว่าทุกคน สถานที่ หรือสิ่งของล้วนมี "genius" หรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เป็นของตัวเอง
ในช่วงสาธารณรัฐโรมัน ศาสนาโรมันได้รับการจัดระเบียบภายใต้ระบบที่เคร่งครัดของตำแหน่งนักบวชที่มีตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก Collegium Pontificum เป็นองค์กรระดับบนสุดในลำดับชั้นนี้ และมี ปอนติเฟ็กซ์ มักซีมุส (Pontifex maximus) คือ หัวหน้านักบวชประจำชาติ[37][38]
เมื่อมีการติดต่อกับชาวกรีก เทพเจ้าโรมันโบราณก็มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้ากรีกมากขึ้น[39] เห็นได้จากเทพจูปิเตอร์ถูกมองว่าเป็นเทพองค์เดียวกับเทพซูส เทพมาส์เกี่ยวข้องกับเทพแอรีส และเทพเนปจูนกับเทพโพไซดอน เป็นต้น เมื่อถึงสมัยจักรวรรดิ ชาวโรมันได้ซึมซับตำนานเทพที่ตนพิชิตได้และมักนำไปสู่สถานการณ์ที่วัดและนักบวชของเทพเจ้าโรมันดั้งเดิมตั้งอยู่เคียงข้างกับเทพเจ้าต่างชาติ[40]
ในรัชสมัยจักรพรรดิแนโรในคริสต์ศตวรรษที่ 1 นโยบายทางการของโรมันที่มีต่อศาสนาคริสต์เป็นไปในทางลบ การเป็นคริตศาสนิกชนเพียงอย่างเดียวอาจถูกลงโทษถึงตาย มาถึงรัชกาลจักรพรรดิดิออเกลติอานุสที่การกดขี่ข่มเหงชาวคริสต์ถึงจุดสูงสุด อย่างไรก็ตาม ศาสนาคริสต์กลับกลายเป็นศาสนาที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการของโรมันภายใต้จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช จากการประกาศพระราชกฤษฎีกามิลานในปี ค.ศ. 313 กับพระราชบัญชาของจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1ในปี ค.ศ. 391 ที่ทุกศาสนายกเว้นศาสนาคริสต์ถูกสั่งห้าม[41]
จริยธรรมและคุณธรรม
แก้เช่นเดียวกับวัฒนธรรมโบราณอื่น ๆ แนวความคิดเกี่ยวกับจริยธรรมและศีลธรรมนั้นมีความคล้ายคลึงสังคมสมัยใหม่ในบางส่วน และแตกต่างกันอย่างมากในแง่มุมที่สำคัญหลายประการ เนื่องจากโรมอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างต่อเนื่องของการโจมตีจากชนเผ่าที่ปล้นสะดม วัฒนธรรมของพวกเขาจึงจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งทางทหารโดยยึดทักษะการต่อสู้เป็นคุณลักษณะที่มีค่า ในขณะที่สังคมสมัยใหม่ถือว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นคุณธรรม สังคมโรมันถือว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นรอง ถึงขนาดเป็นข้อบกพร่องทางศีลธรรม อันที่จริง จุดประสงค์หลักประการหนึ่งของการแข่งขันกลาดิเอเตอร์คือเพื่อป้องกันชาวโรมันจากจุดอ่อนนี้[42][43][44] ชาวโรมันยังยกย่องคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญและความเชื่อมั่น (virtus) ความรู้สึกของหน้าที่ต่อประชาชน ความพอประมาณและการหลีกเลี่ยงส่วนเกิน (moderatio) การให้อภัยและความเข้าใจ (clementia) ความเป็นธรรม (severitas) และความจงรักภักดี (pietas)[45]
สังคมโรมันมีบรรทัดฐานที่มั่นคงและเข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องเพศ แม้ว่าเช่นเดียวกับหลาย ๆ วัฒนธรรม ความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวงตกอยู่กับผู้หญิง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงถูกคาดหวังว่าจะมีคู่สมรสเพียงคนเดียว โดยมีสามีเพียงคนเดียวในช่วงชีวิตของพวกเขา (univira) แม้ว่าจะไม่ค่อยได้รับการยกย่องจากชนชั้นสูงโดยเฉพาะภายใต้จักรวรรดิ ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้รักษาเนื้อรักษาตัวในที่สาธารณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการปรากฏตัวที่ยั่วยุ และแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ต่อสามีของพวกเขา (pudicitia) และสวมผ้าคลุมหน้าเป็นแสดงอย่างหนึ่งถึงการรักษาความสุภาพเรียบร้อย การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสมักถูกเพิกเฉยสำหรับผู้ชาย แต่สำหรับผู้หญิงแล้วและถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสมัยจักรวรรดิ[46] อย่างไรก็ตาม การค้าประเวณีกลับถูกมองว่าเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับและอยู่ภายใต้การควบคุม[47]
ศิลปะ ดนตรี และวรรณกรรม
แก้ภาพวาดโรมันแสดงถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมกรีก และตัวอย่างที่หลงเหลือถึงปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นภาพเฟรสโกที่ใช้ประดับผนังและเพดานของวิลล่าในชนบท แม้ว่าวรรณคดีโรมันจะกล่าวถึงภาพวาดบนไม้ งาช้าง และวัสดุอื่น ๆ[48][49] ตัวอย่างภาพวาดโรมันหลายตัวอย่างพบได้ที่ปอมเปอี ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้แบ่งประวัติศาสตร์ของภาพวาดโรมันออกเป็นสี่ช่วงเวลา
อาหาร
แก้การละเล่นและสันทนาการ
แก้วิทยาการ
แก้มรดกตกทอด
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "ancient Rome | Facts, Maps, & History". Encyclopædia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 5 September 2017.
- ↑ Chris Scarre, The Penguin Historical Atlas of Ancient Rome (London: Penguin Books, 1995).
- ↑ There are several different estimates for the population of the Roman Empire.
- Scheidel (2006, p. 2) estimates 60.
- Goldsmith (1984, p. 263) estimates 55.
- Beloch (1886, p. 507) estimates 54.
- Maddison (2006, pp. 51, 120) estimates 48.
- Roman Empire Population estimates 65 (while mentioning several other estimates between 55 and 120).
- McLynn, Frank (2011). Marcus Aurelius: Warrior, Philosopher, Emperor (ภาษาอังกฤษ). Random House. p. 3. ISBN 9781446449332.
[T]he most likely estimate for the reign of Marcus Aurelius is somewhere between seventy and eighty million.
- McEvedy and Jones (1978).
- an average of figures from different sources as listed at the US Census Bureau's Historical Estimates of World Population เก็บถาวร 13 ตุลาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Kremer, Michael (1993). "Population Growth and Technological Change: One Million B.C. to 1990" in The Quarterly Journal of Economics 108(3): 681–716.
- ↑ * Taagepera, Rein (1979). "Size and Duration of Empires: Growth-Decline Curves, 600 B.C. to 600 A.D.". Social Science History. 3 (3/4): 125. doi:10.2307/1170959. JSTOR 1170959.
- Turchin, Peter; Adams, Jonathan M.; Hall, Thomas D (December 2006). "East-West Orientation of Historical Empires". Journal of World-Systems Research. 12 (2): 222. doi:10.5195/JWSR.2006.369. ISSN 1076-156X.
- ↑ Adkins, Lesley; Adkins, Roy (1998). Handbook to Life in Ancient Rome. Oxford: Oxford University Press. p. 3. ISBN 978-0-19-512332-6.
- ↑ Cavazzi, F. "The Founding of Rome". Illustrated History of the Roman Empire. สืบค้นเมื่อ 8 March 2007.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 Livius, Titus (Livy) (1998). The Rise of Rome, Books 1–5. แปลโดย Luce, T.J. Oxford: Oxford World's Classics. pp. 8–11. ISBN 978-0-19-282296-3.
- ↑ 8.0 8.1 Durant, Will; Durant, Ariel (1944). The Story of Civilization – Volume III: Caesar and Christ. Simon and Schuster, Inc. pp. 12–14. ISBN 978-1567310238.
- ↑ Roggen, Hesse, Haastrup, Omnibus I, H. Aschehoug & Co 1996
- ↑ Myths and Legends- Rome, the Wolf, and Mars. Retrieved 8 March 2007.
- ↑ Mellor, Ronald and McGee Marni, The Ancient Roman World p. 15 (Cited 15 March 2009)
- ↑ Matyszak, Philip (2003). Chronicle of the Roman Republic. London: Thames & Hudson. p. 19. ISBN 978-0-500-05121-4.
- ↑ Duiker, William; Spielvogel, Jackson (2001). World History (Third ed.). Wadsworth. p. 129. ISBN 978-0-534-57168-9.
- ↑ Ancient Rome and the Roman Empire by Michael Kerrigan. Dorling Kindersley, London: 2001. ISBN 0-7894-8153-7. p. 12.
- ↑ Langley, Andrew and Souza, de Philip, "The Roman Times", Candle Wick Press, Massachusetts
- ↑ Matyszak, Philip (2003). Chronicle of the Roman Republic. London: Thames & Hudson. pp. 43–44. ISBN 978-0-500-05121-4.
- ↑ 2. การปกครองของโรม
- ↑ Hooker, Richard (6 June 1999). "Rome: The Roman Republic". Washington State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 May 2011.
- ↑ Magistratus by George Long, M.A. Appearing on pp. 723–724 of A Dictionary of Greek and Roman Antiquities by William Smith, D.C.L., LL.D. Published by John Murray, London, 1875. Website, 8 December 2006. Retrieved 24 March 2007.
- ↑ Livius, Titus (Livy) (1998). "Book II". The Rise of Rome, Books 1–5. แปลโดย Luce, T.J. Oxford: Oxford World's Classics. ISBN 978-0-19-282296-3.
- ↑ Adkins, Lesley; Adkins, Roy (1998). Handbook to Life in Ancient Rome. Oxford: Oxford University Press. p. 39. ISBN 978-0-19-512332-6.
- ↑ These are literally Roman librae, from which the pound is derived.
- ↑ [1] Plutarch, Parallel Lives, Life of Camillus, XXIX, 2.
- ↑ 24.0 24.1 Haywood, Richard (1971). The Ancient World. United States: David McKay Company, Inc. pp. 350–358.
- ↑ Pyrrhus of Epirus (2) เก็บถาวร 14 เมษายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน and Pyrrhus of Epirus (3) เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Jona Lendering. Livius.org. Retrieved 21 March 2007.
- ↑ Goldsworthy 2006, pp. 25–26.
- ↑ Miles 2011, pp. 175–176.
- ↑ [2] Cassius Dio, Roman History, XI, XLIII.
- ↑ New historical atlas and general history By Robert Henlopen Labberton. p. 35.
- ↑ Caspari, Maximilian Otto Bismarck (1911). . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 22 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 850.
- ↑ Latin Online: Series Introduction เก็บถาวร 2015-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Winfred P. Lehmann and Jonathan Slocum. Linguistics Research Center. The University of Texas at Austin. 15 February 2007. Retrieved 1 April 2007.
- ↑ Calvert, J.B. (8 August 1999). "The Latin Alphabet". University of Denver. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2007.
- ↑ Classical Latin Supplement. p. 2. Retrieved 2 April 2007.
- ↑ József Herman, Vulgar Latin, English translation 2000, pp. 109–114 ISBN 978-0271020013
- ↑ Adkins, Lesley; Adkins, Roy (1998). Handbook to Life in Ancient Rome. Oxford: Oxford University Press. p. 203. ISBN 978-0-19-512332-6.
- ↑ Matyszak, Philip (2003). Chronicle of the Roman Republic. London: Thames & Hudson. p. 24. ISBN 978-0-500-05121-4.
- ↑ Edward Gibbon (1787). The history of the decline and fall of the Roman Empire. printed for J.J. Tourneisen. p. 91.
- ↑ The Encyclopedia Americana: A Library of Universal Knowledge. Encyclopedia Americana Corporation. 1919. p. 644.
- ↑ Willis, Roy (2000). World Mythology: The Illustrated Guide. Victoria: Ken Fin Books. pp. 166–168. ISBN 978-1-86458-089-1.
- ↑ willis
- ↑ Theodosius I (379–395 AD) by David Woods. De Imperatoribus Romanis. 2 February 1999. Retrieved 4 April 2007.
- ↑ Annual Editions: Western Civilization. Vol. 1 (12 ed.). McGraw-Hill/Dushkin. 2002. p. 68.
... where compassion was regarded as a moral defect ...
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อHuffPo: Bread
- ↑ Jackson, Michael Anthony (2004). Look Back to Get Ahead: Life Lessons from History's Heroes. Arcade Publishing. p. 174. ISBN 9781559707275.
Gladatorial games were popular because the Romans actually believed that compassion was a vice and a weakness
- ↑ Harvey, Brian K., บ.ก. (2016). Daily Life in Ancient Rome: A Sourcebook. Hackett Publishing Company. pp. 21–28. ISBN 9781585107964.
- ↑ Langlands, Rebecca (2006). Sexual Morality in Ancient Rome. Cambridge University Press. pp. 3–20. ISBN 9780521859431.
- ↑ Mathew Dillon and Lynda Garland (2005). Ancient Rome: From the Early Republic to the Assassination of Julius Caesar. Taylor & Francis, 2005. p. 382. ISBN 9780415224598.
- ↑ Adkins, Lesley; Adkins, Roy (1998). Handbook to Life in Ancient Rome. Oxford: Oxford University Press. pp. 350–352. ISBN 978-0-19-512332-6.
- ↑ Roman Painting from Timeline of Art History. Department of Greek and Roman Art, The Metropolitan Museum of Art. 2004–10. Retrieved 22 April 2007.