ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ขบวนเสด็จทางน้ำของพระมหากษัตริย์ไทย

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค[1][2] บางแห่งเรียก กระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค[3] เป็นขบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ โดยมีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา และในสมัยรัตนโกสินทร์ จะเคลื่อนขบวนตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เรือในกระบวนมีการสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย มีการจัดกระบวนหลายแบบ ที่รู้จักกันดีก็คือ "กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง" ดังปรากฏใน ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตพรรณนาขบวนเรือ ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อ พ.ศ. 2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยยึดถือตามแบบแผนเดิมสมัยอยุธยา

ภาพขบวนเรือ ในช่วงพิธีซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ประเภทของการเห่เรือ สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ การเห่เรือหลวง (การเห่เรือในงานพระราชพิธี) และการเห่เรือเล่น (การเห่เรือเล่นของชาวบ้านในงานต่าง ๆ) ในปัจจุบันการเห่เรือยังคงอยู่เฉพาะ การเห่เรือหลวง ที่ใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ศัพทมูลวิทยา

แก้

ที่มาของคำว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค[4] มีดังนี้

  • "ขบวน" แปลว่า หมู่คน หมู่พาหนะ คู่มือ หรือแบบแผน เป็นคำแผลงมาจากคำเขมรเก่าสมัยเมืองพระนครว่า ขฺบวร (เขมร: ក្បូរ, อักษรโรมัน: kpvar, khpvar, khpvan, รากคำ: *gwrekgvarkpvar, khpvar)[5][6] พบในจารึกพนมดา (K.549) อายุ ค.ศ. 1178–1277[7] และจารึกกรอบประตูบายน (K.470) อายุ ค.ศ. 1327 ที่ปราสาทบันทายศรี[8] เชื่อมโยงทางนิรุกติศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์แบบยืมจากคำจีนเก่าตระกูลภาษาจีน-ทิเบต หรือตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่าว่า *gwrek[9]
  • "พยุหยาตรา" เป็นคำสมาสมาจากคำ พยุห + ยาตรา แปลว่า การเคลื่อนที่ของกองทหาร การจัดกระบวนทัพแล้วยกไป คำว่า พยู่ห์ หมายถึง พวก หมู่ กลุ่ม กองทัพ กองทหาร ตรอกตัน หรือซอยตัน มาจากสันสกฤตว่า วฺยุหพฺยูหพยู่ห์ (สันสกฤต: व्यूह, อักษรโรมัน: vyuha) และคำว่า ยาตฺรา หมายถึง การเคลื่อนไป การดำเนินไป การท่องเที่ยวไป หรือการยังชีวิตให้เป็นไป มาจากคำสันสกฤตว่า ยาตรา (สันสกฤต: यात्रा, อักษรโรมัน: yatra)[10]
  • "ชลมารค" เป็นคำสมาสมาจากคำ ชล + มารค แปลว่า ทางน้ำ คำว่า ชล หมายถึง น้ำ มาจากคำบาลีสันสกฤตคือ ชละ (สันสกฤต: जल, อักษรโรมัน: jala) และคำว่า มารค หมายถึง ทาง หรือเส้นทาง มาจากคำสันสกฤตว่า มรรคามรรค (มคฺค)→มารค (สันสกฤต: मार्ग, อักษรโรมัน: marga)[10][11][12]

ต้นกำเนิด

แก้

ต้นแบบขบวนเรือพระราชพิธีมีต้นเค้ามาจากเรือศักดิ์สิทธิ์ยุคดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิ[13] พบหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้คนยุคสมัยนั้นให้ความสำคัญกับเรือโดยดูได้จากลวดลายรูปเรือศักดิ์สิทธิ์บนกลองมโหระทึก (กลองทอง) กำหนดอายุราว 3,000 ปี[14][13] ค้นพบในดินแดนสุวรรณภูมิประเทศไทย ดินแดนตอนเหนือของเวียดนาม และดินแดนตอนใต้ของจีน หลักฐานนี้สันนิษฐานได้ว่าชุมชนในดินแดนนี้มีความเชื่อเรื่องเรือศักดิ์สิทธิ์โดยมีแนวคิดว่าเรือมีรูปร่างคล้ายงูจึงทําหัวเรือและหางเรือให้มีลักษณะคล้ายงูหรือนาคและพัฒนามาเป็นเรือที่ใช้ในพระราชพิธีสําหรับพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา[14]

ลักษณะลวดลายเรือศักดิ์สิทธิ์มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีหรือตามคัมภีร์ศาสนาซึ่งเป็นเรือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ ทั้งยังมีพิธีกรรมกระบวนเรือแห่มีสิ่งของเครื่องใช้ส่งไปกับเรือเพื่อส่งวิญญาณสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของสังคมยุคโลหะ[15] หลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏลวดลายเรือศักดิ์สิทธิ์โดยจำแนกกลุ่มที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้กลองมโหระทึก มีดังนี้[16][17]

  • กลุ่มวัฒนธรรมสุวรรณภูมิในดินแดนประเทศไทย
    • ลวดลายสลักเรือศักดิ์สิทธิ์ด้านข้างกลองมโหระทึก พบที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลางดอนตาล) ตำบลดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อายุราว 3,000 ปี
    • ลวดลายสลักเรือศักดิ์สิทธิ์ด้านข้างกลองมโหระทึก พบที่บ้านนายเสมอ อิ่มทะสาร ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด อายุราว 3,000 ปี
    • ลวดลายสลักเรือศักดิ์สิทธิ์ด้านข้างกลองมโหระทึก พบที่วัดคีรีวงการาม ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุราว 3,000 ปี
  • กลุ่มวัฒนธรรมดงเซินในภาคเหนือของเวียดนาม
    • ลวดลายเรือศักดิ์สิทธิ์ภาชนะสำริดใส่กระดูกคนตาย พบที่ประเทศเวียดนาม อายุราว 3,000 ปี
    • ลวดลายเรือศักดิ์สิทธิ์บนกลองมโหระทึกยุคสำริด โลงศพรูปเรือ ตกแต่งรูปหัวนกที่ลำตัวและท้ายเรือ สมัยวัฒนธรรมดงเซิน พบที่ประเทศเวียดนาม
    • ลวดลายสลักเรือศักดิ์สิทธิ์หน้ากลองมโหระทึกฮุงฮา พบที่ประเทศเวียดนาม อายุราว 3,000 ปี
  • กลุ่มวัฒนธรรมเตียนในภาคใต้ของจีน

ประวัติขบวนพยุหหยาตราทางชลมารค

แก้

สมัยอู่ทอง (ก่อนอาณาจักรอยุธยา)

แก้

สมัยอู่ทองมีเมืองปรากฏชื่อว่า กรุงอโยธยา เมืองอโยธยา หรือ อโยธยาศรีรามเทพนคร[18] (ตามจารึกวัดเขากบ เมืองปากน้ำโพ (นว.2) ด้านที่ 2 หลักที่ 11 บรรทัดที่ 21 อักษรไทยสุโขทัย อายุพุทธศตวรรษที่ 20)[19] มีมาก่อนการสถาปนาอาณาจักรอยุธยาซึ่งเก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัย[20] ใน พระราชพงศาวดารเหนือ กล่าวถึง กระบวนพยุหทางชลมารคเมื่อจุลศักราช 395 ตรงกับปี พ.ศ. 1576[21] เจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหทางชลมารค[22] ครั้นถึงแหลมวัดปากคลองขณะประทับบนเรือพระที่นั่ง ทรงทอดพระเนตรเห็นผึ้งสร้างรังบริเวณอกสุบรรณใต้ช่อฟ้าบนยอดอุโบสถวัดอันเป็นมงคลฤกษ์แล้วน้ำผึ้งหยดตกพระโอษฐ์ตามที่ทรงขอนมัสการ พระสงฆ์จึงถวายไชยมงคลว่าจะทรงได้ปกครองแผ่นดินจึงถวายนามว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ต่อมาขุนนางเสนามาตย์อัญเชิญให้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติปกครองกรุงอโยธยาทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1654–1708[23]

พระราชพงศาวดารเหนือ กล่าวว่า:–

จุลศักราช 395 ปีมะเมียเบญจศก ครั้น ณ วันเดือน 12 แรม 11 ค่ำ ได้ศุภวารฤกษดีจึ่งยกขบวนพยุหะไปทางชลมารคพร้อมด้วยเสนาบดีเสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลอง พอน้ำขึ้นจึ่งประทับเรือพระที่นั่งอยู่น่าวัด จึ่งทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าน่าบัน จึ่งทรงดําริห์ว่าจะฃอนมัศการพระพุทธปฏิมากร เดชะ บุญญาภิสังขารของเรา ๆ จะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรด้วยกันเสร็จ...[24]

สมัยสุโขทัย

แก้
 
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการแห่พระกฐินในอดีต หน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

การเสด็จทางน้ำที่เรียกว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค นั้นมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีลอยพระประทีป[25][26]: 4  พระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชาที่ 1) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง[27]: 27  (วันลอยกระทง) และการจัดขบวนเรือรับเสด็จสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสวามีเป็นเจ้า พระราชนัดดาของพ่อขุนผาเมืองซึ่งเสด็จกลับกรุงสุโขทัยหลังจากทรงบวชเรียน ณ ลังกาในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1[28]

สมัยอยุธยา

แก้

ครั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งตัวเกาะกรุงนั้นเป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองชีวิตผูกพันกับสายน้ำ จึงปรากฏการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา ยามบ้านเมืองสุขสงบชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นเรื่องเอิกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ หรือเสด็จฯ ไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นขบวนเรือยิ่งใหญ่

 
ทัศนียภาพกรุงศรีอยุธยา (VEUË DE SIAM) และริ้วกระบวนพยหยาตราชลมารค โดย อ็องรี อาบราฮัม ชาเตอแลง (Henri Abraham Châtelain) นักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา ตีพิมพ์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม สาธารณรัฐดัตช์ เมื่อ ค.ศ. 1719 รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระจากจดหมายเหตุตาชาร์ด ค.ศ. 1686

สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช

แก้

มีบันทึกของชาวต่างชาติเกี่ยวกับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคพบใน จดหมายเหตุสเปน เรื่อง History of the Philippines and Other Kingdom ของบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา (Marcelo de Ribadeneira [es]) เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) จากคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันซึ่งเข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2125 ปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ว่า:–

เพื่อจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนพระอารามแห่งหนึ่ง มีเรือสี่ลำแล่นล่วงหน้าไปก่อนเรือพระที่นั่ง เพื่อเป็นการค้ำประกันความปลอดภัยของพระเจ้าแผ่นดิน เรือเหล่านี้บรรทุกผู้คนเป่าแตรเงินเล็ก ๆ เพื่อป่าวประกาศการเสด็จพระราชดำเนินถึง บรรดาเรือล้วนมีรูปทรงวิจิตรพิสดารและแกะสลักอย่างน่าพิศวงด้วยรูปปฏิมาประดับประดาอย่างหรูหรา ก่อเกิดความรู้สึกประทับใจถึงโขลงช้างที่ลอยเหนือน่านน้ำ ด้วยเรือเหล่านี้ลอยเลื่อนไปเบื้องหน้าและท้ายเรือโลดทะยาน เรือสี่ลำเหล่านี้หยุดที่พระอารามแห่งหนึ่งบนชายฝั่ง เพราะพวกเขาคาดหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเจริญพระพุทธมนต์และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามติดมาอย่างใกล้ชิด

เรือสี่ลำนั้นเป็นเรืออื่น ๆ อีกหลายลำที่ใหญ่กว่านั้น แต่ละลำบรรทุกผู้คนมากมายที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบประเภทต่าง ๆ เรือแต่ละลำมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งราชสำนัก 1 คน แล้วจากนั้นเป็นพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์ในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งอย่างหรูหรามาก ตามติดมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลใน สมเด็จพระอัครมเหสีประทับแต่เพียงลำพังพระองค์ และบรรดานางกำนัลนั่งในเรือลำอื่นที่ตกแต่งอย่างน่าอัศจรรย์ และกั้นด้วยม่านอย่างรอบคอบจนเป็นไปได้ที่จะสามารถมองผ่านม่านจากภายในออกมาสู่โลกภายนอกได้ โดยที่คนภายนอกไม่เห็นคนภายใน

สุดท้ายที่มาถึงในกระบวนพยุหยาตราโดยชลมารคคือองค์พระมหากษัตริย์ ประทับในเรือพระที่นั่งขนาดกว้างใหญ่ที่ดูแต่ไกลเหมือนนกกระยางตัวมหึมาที่แผ่ปีกอันกว้างใหญ่ออกมา เป็นเรือพระที่นั่งปิดทองทั้งองค์ และโดยที่ฝีพายมีเป็นจำนวนมาก อิริยาบถในการพายของพวกเขาจึงดูเหมือนนกตัวใหญ่เหิรลมเหนือท้ายเรือพระที่นั่ง พระเจ้าแผ่นดินประทับเหนือพระราชบัลลังก์ เคียงข้างพระองค์เป็นสาวน้อยผู้เลอโฉมข้างละ 2 คนคอยถวายอยู่งานโบกพัด เพื่อให้พระองค์ทรงสดชื่นจากความร้อนระอุของดวงอาทิตย์[29][ต้นฉบับ 1]

— บาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา, From the Kingdom of Siam (Del Reino de Sian), 1601.
 
จดหมายเหตุสเปนบรรยายขบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2139

สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แก้

ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตามพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนด้วยโดยทรงประทับในเรือพระที่นั่งกนกรัตนวิมานมหานาวา[26]: 4  เป็นกระบวนแห่พระชัย

สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม-สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

แก้

มีบันทึกชาวต่างชาติกล่าวถึงพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีขบวนเรือ 450 ลำ และมีคนในขบวนถึง 25,000–30,000 คน ปรากฏใน จดหมายของโยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ในกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งเข้ามาพำนักในกรุงสยามรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครั้งหนึ่ง และต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอีกครั้งหนึ่งรวมเป็นเวลา 8 ปี ต้นฉบับจดหมายนี้เป็นภาษาฮอลันดาเป็นบันทึกว่าด้วยการปกครอง การทหาร ศาสนา ขนมธรรมเนียมการค้า และสิ่งควรจดจำเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม เขียนเมื่อ ค.ศ. 1636[31][32] ต่อมากัปตันโรเจอร์ แมนลีนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1663 ที่กรุงลอนดอนแล้วขจร สุขพานิชนำมาแปลเป็นภาษาไทยตีพิมพ์เป็น ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 76 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2503:–

มีประเพณีแต่โบราณนานมาแล้วว่า พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามจะต้องแสดงพระองค์ให้ประชาชนเข้าชมพระบารมีปีละครั้งในเดือนตุลาคม [...] แต่ถ้าหากว่าเป็นการเสด็จพระราชดําเนินทางชลมารค การจัดรูปขบวนเป็นดังนี้ ขบวนแรกได้แก่ขุนนาง ๒๐๐ คน แต่ละคนมีเรือสวยงามนั่งมามีคนพาย ๖๐ ถึง ๘๐ คนทุกลํา ขบวนที่ ๒ เป็นขบวนเรือเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่า ๔ ลํา ถัดมาคือขบวนเรือหลวง ๕๐ ลําของพระมหากษัตริย์ มีคนพายลําละ ๘๐ ถึง ๙๐ คน ถัดมาคือขบวนเรือต้น สวยงามมากฉาบทองทั้งลําและพายก็ฉาบทองด้วย ลําหนึ่ง ๆ มีคนพาย ๙๐ ถึง ๑๐๐ คน แล้วจึงถึงเรือประทับของพระมหากษัตริย์ พระองค์ประทับอยู่บนเรือพระที่นั่งประหนึ่งพระพุทธรูปแทบพระบาทของพระองค์มีบุคคลสําคัญเป็นอันมากนั่งเฝ้าอยู่ ถัดมาคือขบวนของพระอนุชาธิราชแล้วจึงถึงขบวนข้าราชการฝ่ายใน ขบวนสุดท้ายคือขบวนขุนนางข้าราชการ เพราะฉะนั้นในการเสด็จพระราช ดําเนินทางชลมารคจึงมีเรือเข้าขบวนรวมทั้งหมด ๔๕๐ ลํา และมีคนประมาณ ๒๕,๐๐๐ ถึง ๓๐,๐๐๐ คนเข้าในขบวน เมื่อขบวนเสด็จพระราชดําเนินเสด็จผ่านที่แห่งใด ทั้งสองฝั่งแม่น้ำจะมีผู้คนพลเมืองจํานวนเหลือที่จะคณานับก้มกราบอยู่บนเรือเล็ก ๆ ของเขาแน่นไปหมด[33]

— โยส เซาเต็น และฟร็องซัวส์ กอร็อง, Beschreibung Der Regiring, Macht, Religion, Gewonheiten, Handlungen, und anderer denckwuerdigen Sachen, in dem Koenigreich Siam (1636).

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

แก้

ด้วยเหตุที่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ มากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองลพบุรีขึ้นจึงมีการเสด็จฯ โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนเรือหลวงออกรับคณะราชทูตและแห่พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยา มายังเมืองลพบุรี ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีขบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นเรือริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกเป็น 4 สาย แล้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก 1 สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 100 ลำ

ระหว่างการเคลื่อนกระบวนก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงามและลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น บทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน

ในช่วงปี พ.ศ. 2199–2231 ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่าง ๆ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราฯที่เรียกว่า “ขบวนเพชรพวง” เป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่ง ตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ตำกว่า 100 ลำ ซึ่งนับเป็นกระบวนพยุหยาตราฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของกระบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยต่อ ๆ มา

การจัดการกระบวนพยุหยาตรลมารคในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่กล่าวมานี้ จัดได้ว่าเป็นริ้วกระบวนใหญ่แสดงความมั่งคั่งของราชสำนักไทยในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับริ้วขบวนเรือในสมัยต่อมา จะพบว่าค่อย ๆ ตัดทอนลงไปเรื่อย ๆ เพราะเรือชำรุดไปตามกาลเวลาบ้าง ไม่มีผู้รู้จักทำขึ้นใหม่ให้ถูกต้องตามแผนโบราณบ้างจึงเหลืออยู่เท่าที่พอจะรักษาไว้ได้เท่านั้น จนกระทั่งถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยา

บันทึกของนิโคลาส แชแวร์
แก้

ตามบันทึกของ นิโคลาส แชแวร์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยนั้น ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม ถึงขบวนเรือไว้ว่า:-

ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน[34]

บันทึกของบาทหลวงบูเว่
แก้

โยคิม บูเว่ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส เขียนบันทึกไว้ว่า:-

ขบวนเรือหลวงมีเรือ 7 ถึง 8 ลำ มีฝีพายลำละ 100 คน มีทหารประจำเรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 400 คน ตามมาด้วยข้าราชบริพารอีก 1,000 ถึง 1,200 คน ซึ่งนั่งมาในเรือแกะสลักเป็นลวดลายลงรักปิดทอง บางลำก็เป็นเรือสำหรับพวกปี่พาทย์โดยเฉพาะ ส่วนคนที่อยู่ในเรือก็เห่เรือกันอย่างสุดเสียง ทั้งยังพายเรือด้วยความสง่างามเหมือนกับเป็นของง่าย มันเป็นภาพที่สวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ มองไปทางไหนก็เห็นแต่เรือและผู้คนผ่านไปมาในแม่น้ำอย่างไม่ขาดสาย[35]

บันทึกของกวีย์ ตาชาร์ด
แก้

ในปี พ.ศ. 2228 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชทูตเข้ามายังประเทศไทย พร้อมกับคณะบาทหลวงเยซูอิดซึ่งมีบาทหลวงผู้หนึ่งคือ กวีย์ ตาชาร์ด เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ในตอนหนึ่งได้เล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า

"มีเรือบังลังก์ขนาดใหญ่ 4 ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึง 80 คน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน 2 ลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์ 2 นายมาในเรือทั้ง 2 ลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออก ไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่ง และไม่มีเรือลำได้เลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวง และเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น"

บาทหลวง ตาชาร์ด ยังเขียนถึงขบวนเรือที่แห่พระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองลพบุรีไว้อีกว่า

"ขบวนอันยึดยาวของเรือบังลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้มีจำนวนถึง 150 ลำผนวกกับเรือลำอื่น ๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำ แลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามยิ่งนัก เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้งฟากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชาพลเมืองมาคอยชมขบวนเรือยาตราอันมโหฬารนี้อยู่"

บันทึกของเดอ ลา ลูแบร์
แก้

ปี พ.ศ. 2230 ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เขียนบันทึกเรือยาวพระที่นั่งต้นของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไว้ว่า:-

 
"Balon du Corps du Roy de Siam ou eſtoit la lattre du Roy." ขบวนเรือยาวพระที่นั่งต้นของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2230 โดย ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งกรุงฝรั่งเศส.

เพราะที่เมืองนี้ ประชาชนไปมาโดยทางน้ำมากกว่าทางบก พระมหากษัตริย์สยามจึงมีเรือยาวพระที่นั่งต้นอย่างงามสง่าไว้มากลำ ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่าตัวเรือยาวนั้นทำด้วยไม้ซุงต้นเดียว บางลำยาวแต่ 16 ถึง 20 วา (32-40 เมตร) คนสองคนนั่งขัดสมาธิ์เคียงขนานหน้ากัน ผันหน้าตามยาวเรือบนไม้กระทงที่ทอดตรึงขวางลำไว้ พอเต็มเนื้อที่เรือด้านกว้างพอดี พาย ๆ หนึ่ง พายทางขวา พายอีกพายหนึ่งพายทางซ้าย ฝีพายก็พายด้วยพาย พายนั้นก็คือแจวสั้น ๆ นั่นเองถือ 2 มือ มือหนึ่งกลางด้ามพาย อีกมือหนึ่งปลายด้ามพายดูอาการเหมือนฝีพายจะพายได้แต่ชั่วกวาดน้ำไปเต็มแรงเท่สนั้น และพายนั้นก็ไม่ได้ผูกหรือติดกับกราบเรือเหมือนแจวกรรเชียง และคนที่พายก็หันหน้าไปทางหัวเรือแล้วก็พายลงหันหลังมาทางท้าย ในเรือลำหนึ่งบางทีก็มีพลพายตั้งร้อยคน หรือถึง 200 คน ที่เรียงแถมละคู่ ๆ ตามกราบยาวตลอดเรือนั่งขัดสมาธิบนแผ่นกระดานกระทงเรือ แต่ขุนนางผู้น้อยลงมาก็มีเรือยาวสั้นลงมา ฝีพายก็น้อยลงเพียง 16 หรือ 20 คนก็พอ ฝีพายพายเรือพร้อม ๆ กัน ร้องเพลงหรือขานยาวอย่างไรอย่างหนึ่ง เป็นเสียงเหะหะอึกทึกและพายจ้วงแขนได้จังหวะกันน่าดูเหน็ดเหนื่อยออกเรี่ยวแรงเข้มแข็งมาก แต่ก็พายได้ง่าย ๆ และสง่างามมาก.[36][ต้นฉบับ 2]

— ซีมง เดอ ลา ลูแบร์, (พระนิพนธ์แปลโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์), DU ROYAUME DE SIAM: Envoyé extraordinaire du ROY auprès du Roy de Siam en 1687 & 1688.

สมัยสมเด็จพระเพทราชา

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคแห่พระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่เป็นขบวนจากเมืองลพบุรีไปยังกรุงศรีอยุธยา โดยมีดำรัสสั่งให้อัญเชิญพระบรมศพใส่พระโกศนำลงสู่เรือพระที่นั่งศรีสามรรถไชยแล้วเสด็จประทับเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมานห้อมล้อมไปด้วยขบวนเรือพระราชวงศานุวงศ์ เรือเสนาอำมาตย์ข้าทูลละออง และขบวนเรือดั้งแห่เต็มลำน้ำ โปรดให้เคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากเมืองลพบุรีเข้าเทียบ ณ พระฉนวนประจำท่าพระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา[38][39]: 252–3 

เมื่อ พ.ศ. 2235 สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อคราวเสด็จประพาสไปนมัสการพระพุทธบาท เมืองสระบุรี โดยประทับเรือพระที่นั่งศรีสามรรถไชยรายล้อมไปด้วยขบวนเรือดั้ง ขบวนเรือพระประเทียบของเจ้านายฝ่ายใน ขบวนเรือพระราชวงศานุวงศ์ และขบวนเรือขุนนางเสนาอำมาตย์ โปรดให้ประโคมดุริยางค์ดนตรีแล้วเสด็จพระราชดำเนินแห่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยาไปยังพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี แล้วแห่ขบวนไปยังพระตำหนักเจ้าสนุกตามลำดับ จากนั้นเสด็จประพาสโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคไปอีก 22 กิโลเมตรจนถึงเชิงเขาสุวรรณบรรพตซึ่งประดิษฐานพระพุทธบาท สมเด็จพระเพทราชาก็ทรงรำพระแสงของ้าวบนกระพองช้างเพื่อบวงสรวงพระพุทธบาทแล้วจึงประทับพักแรม ณ พระตำหนักธารเกษม[38][39]: 271–2 

บันทึกของโคโลเนลลี
แก้
 
(บน: เรือขุนนางสยาม Ballon de' Noble di Siam) (ล่าง: เรือพระที่นั่งพระเจ้ากรุงสยาม Balon del Ré di Siam) ขบวนพยุหยาตราทางชลมารครัชกาลสมเด็จพระเพทราชา จากหนังสือภูมิศาสตร์ อัตลันเต เวเนโต (Atlante Veneto) ของโคโลเนลลี (Vincenzo Coronelli) ค.ศ. 1691–92 บาทหลวงฟรานซิสชาวอิตาลี

โคโลเนลลี (Vincenzo Coronelli [en]) บาทหลวงฟราสซิสชาวอิตาลี นักภูมิศาสตร์ และช่างทำลูกโลกที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เขียนบันทึกขบวนพยุหยาตราทางชลมารคของพระเจ้ากรุงสยามตีพิมพ์ลงหนังสือภูมิศาสตร์ อัตลันเต เวเนโต (Atlante Veneto) เมื่อ ค.ศ. 1691 ตรงกับ พ.ศ. 2234 รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ว่า:–

เรือของสยามนั้นกล่าวได้ว่าเป็นเรือที่สวยงามที่สุดในบรรดาเรือทั้งหมดที่เคยกล่าวถึงมา เรือเหล่านี้เรียกว่า เรือพระที่นั่ง (Ballon) มีความยาวมาก เรือพระที่นั่งบางลำยาวถึง 100 ฟุต ส่วนเรือลำเล็กที่สุดยาว 50 ฟุต เรือพระที่นั่งแต่ละลำล้วนประดับด้วยลวดลายแกะเป็นลายดอกไม้ประดับ และลายใบไม้ซึ่งปิดทองไว้ที่ด้านนอก บนเรือพระที่นั่งนั้นมีฝีพายจำนวน 120 คน นั่งเรียงรายอยู่บนกระดานไม้ทั้งสองฟากเรือ พวกฝีพายเหล่านี้ เรียกว่า มหาดเล็กรับใช้ประจำพระองค์ (Pages) แจวเรือด้วยไม้พายยาวประมาณ 4 ฟุต แจวถอยหลังราวกับริ้วขบวนเรือรบ ที่บริเวณกลางเรือมีห้องตั้งไว้พร้อมหลังคาปิดปกคลุมไว้ ประดับไปด้วยลวดลายอันวิจิตรงดงาม ปิดทองทั้งใน และนอก มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสำคัญของขบวนเรือพระที่นั่ง ที่หัวเรือและท้ายเรือยกเชิดสูงงอนมาก เมื่อนายเรือกระทืบเท้า เรือนั้นก็สั่นคลอนไปทั้งลำ ธารพระกรของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยานั้นวิจิตรงดงามและมีขนาดใหญ่ ที่ใจกลางเรือตกแต่งด้วยบัลลังก์มีหลังคาสูงตระหง่าน อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ณ ใต้หลังคา ล้วนประดับประดาด้วยลวดลายอันวิจิตรและโอ่อ่า มีสมุหนายกมหาเสนาบดีนั่งอยู่คอยถวายรับใช้พระองค์ ฝีพายบนเรือพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีมากถึง 180 คน ไม้พายที่ใช้แจวนั้นล้วนประดับไปด้วยสีทองอร่าม[40][ต้นฉบับ 3]

— วินเซ็งโซ มารีอา โคโลเนลลี, Atlante Veneto TOMO I (1691–92)

สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2248 สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีโปรดให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และทางสถลมารคเมื่อคราวเสด็จประพาสไปนมัสการพระพุทธบาท เมืองสระบุรีโดยประทับเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน[38][39]: 289 

สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

แก้

เมื่อ พ.ศ. 2277 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้จัดงานฉลองสมโภชวัดป่าโมก จึงเสด็จประทับเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมานแล้วเสด็จพระราชดำเนินแห่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปถึงพลับพลับไชย วัดชีปะขาว แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนทางสถลมารคจนถึงวัดป่าโมก ครั้นเสร็จการสมโภชวัดป่าโมกแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคกลับไปยังกรุงศรีอยุธยา[38][39]: 307–8 

สมัยกรุงธนบุรี

แก้

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุด แต่ส่วนใหญ่เป็นเรือที่ใช้ในการรบทั้งสิ้น เพราะในสมัยนั้นมีแต่การศึกสงคราม โดยมีการแห่เรือสำคัญ คือ ในการพระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรเมื่อ พ.ศ. 2324[41] ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์และมาแห่พักไว้ที่กรุงเก่าคือพระนครศรีอยุธยา มีข้อความในหมายรับสั่งพรรณนาขบวนเรือที่แห่มาจากต้นทางว่ารวมเรือแห่ทั้งปวง 115 ลำ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมทบที่พระตำหนักบางธรณีกรุงเก่า ความว่ามีเรือแห่มารวมกันเป็นจำนวน 246 ลำ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แก้

หลักฐานที่เป็นเอกสารบันทึกลายลักษณ์อักษรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเกี่ยวกับขบวนพยุหยาตราทางชลมารคพบในหนังสือสมุดไทยเรื่อง หมู่พระราชพิธี เลขที่ 263 คัดจากฉบับของเก่า พ.ศ. 2219 แต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คัดเมื่อ พ.ศ. 2336 ว่า:-

๏ วัน 6 13 5 ค่ำ จุลศักราช 1038 ปีมะโรงอัษฏศก เสด็จพระราชดำเนินอยู่ ณ พระตำหนักธารเกษม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าหมื่นศรีศวรักษเขียนอย่างกระบวนตั้งม้านี้ แลให้ถ่ายลงสมุดนี้ให้ทันในวันเถลิงศก [...] ๏ กระบวนเสด็จพระราชดำเนินพยู่หบาตรา ช้าง ม้า เรือ ข้าพระพุทธเจ้า หมื่นพิมลอักษร หมื่นสุวรรณอักษร หมื่นราชไมตรี หมื่นรัตนไมตรี นายชำนาญอักษร ชุบเสร็จแต่ ณ วัน 5 9 9 ค่ำ จุลศักราช 1155 ปีฉลู เบญจศก ข้าพระพุทธิเจ้า พระอาลักษณ์ ขุนมหาสิทธิ นายชำนิโวหาร ทาน[26]: 4–5 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก 67 ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญ ๆ เป็นที่รู้จักมาจนเท่าทุกวันนี้ ในรัชกาลต่อ ๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นมาอีก

จากนั้นก็มิได้มีการสร้างเรืออีกจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก โดยเรือที่สำคัญ ๆ และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 ได้ใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงในรัชกาลที่ 4 และต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้สร้างลำใหม่ขึ้นแทนลำเดิม, เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อแทนลำเดิมที่ชำรุด สร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6

ในรัชกาลที่ 4

แก้

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ดังนี้

  1. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากท่าราชวรดิฐ ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพุธ แรม 6 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน ตรีศก จ.ศ. 1213 ตรงกับวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2394[42]
  2. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานส่วนพระราชกุศลแด่พระสงฆ์ 37 รูป และพระราชพิธีสังเวยบวงสรวงพระเจ้าแผ่นดิน 37 พระองค์ นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เมืองกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ฉศก จ.ศ. 1216 เวลาบ่าย ตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2398[43]: 68–70 
  3. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชทานพระกฐินเมืองปทุมธานี เมืองกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 ปีเถาะ สัปตศก จ.ศ. 1217 ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2398[43]: 98 

ในรัชกาลที่ 5

แก้
 
ภาพถ่าย "แพลงสรง พ.ศ. 2429" ในพระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ถูกจัดแสดงใน The Siamese Exhibit ในงานนิทรรศการนานาชาติ The World's Columbian Exposition 1893 เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2436.[44]

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ดังนี้

  1. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา เบญจศก จ.ศ. 1235 เวลาเช้า 3 โมง 54 นาที ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416[45]
  2. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 (พิธีใหญ่) ณ วันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก จ.ศ. 1248 ตรงกับวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2429[46] (พ.ศ. 2430 นับแบบปีปัจจุบัน)
  3. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2450[27]: 33 

ในรัชกาลที่ 6

แก้
 
ภาพแห่เสด็จเลียบพระนครทางชลมารคในรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2454

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ดังนี้

  1. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากท่าราชวรดิฐ ไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ตรีศก จ.ศ. 1273 ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454)[47]
  2. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู สัปตศก จ.ศ. 1287 ตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2468[48]

ในรัชกาลที่ 7

แก้

สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคทั้งสิ้น 8 ครั้ง ดังนี้

  1. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าราชวรดิฐ ไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2469 เมื่อวันพุธ แรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู สัปตศก จ.ศ. 1287 ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2469
  2. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีขาล อัฐศก จ.ศ. 1288 ตรงกับวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2469[49]
  3. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เมื่อวันพุธ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ นพศก จ.ศ. 1289 ตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2470[50]
  4. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าราชวรดิฐ ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และจากวัดพิชยญาติการามวรวิหาร ไปยังวัดอนงคารามวรวิหาร เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง สัมฤทธิศก จ.ศ. 1290 ตรงกับวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471[51]
  5. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าราชวรดิฐ ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง เอกศก จ.ศ. 1291 ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2472[52]
  6. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าราชวรดิฐ ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเมีย โทศก จ.ศ. 1292 ตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2473[53]
  7. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันพุธ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม ตรีศก จ.ศ. 1293 ตรงกับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474[54]
  8. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ไปยังท่าราชวรดิฐ ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี เมื่อวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรีศก จ.ศ. 1293 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475

ในช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา อู่เรือพระที่นั่งที่ปากคลองบางกอกน้อยถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นจึงมีการซ่อมแซมเรือและโอนเรือพระราชพิธี 36 ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อย และส่วนที่เหลืออีกราว 32 ลำ เป็นพวกเรือตำรวจ เรือดั้ง เรือแซง ซึ่งกองทัพเรือเก็บรักษาไว้

ในรัชกาลที่ 9

แก้
 
ภาพขบวนเรือพระราชพิธี ณ วัดอรุณ เมื่อ พ.ศ. 2510
 
ภาพขบวนเรือพระราชพิธี ในงานประชุมเอเปค 2003

สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคทั้งสิ้น 17 ครั้ง ดังนี้

  1. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันอังคาร แรม 1 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา นพศก จ.ศ. 1319 ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500
  2. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เอกศก จ.ศ. 1321 ตรงกับวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502
  3. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรีศก จ.ศ. 1323 ตรงกับวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
  4. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันจันทร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีขาล จัตวาศก จ.ศ. 1324 ตรงกับวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505
  5. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง ฉศก จ.ศ. 1326 ตรงกับวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2507
  6. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันอังคาร แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง สัปตศก จ.ศ. 1327 ตรงกับวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2508
  7. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม นพศก จ.ศ. 1329 ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2510
  8. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิฐ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบูรพามหากษัตริย์เจ้า ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีจอ ตรีศก จ.ศ. 1343 ตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2525
  9. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) จากท่าวาสุกรี ไปยังเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า แห่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 5 ปีจอ ตรีศก จ.ศ. 1343 ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2525
  10. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) การพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1344 ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525
  11. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ นพศก จ.ศ. 1349 ตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2530
  12. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด อัฐศก จ.ศ. 1358 ตรงกับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
  13. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. 1361 ตรงกับวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
  14. ขบวนเรือพระราชพิธี ในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 2003 เมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม เบญจศก จ.ศ. 1365 ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2546 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยขบวนเรือ)
  15. ขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ อัฐศก จ.ศ. 1368 ตรงกับวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2549 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จโดยขบวนเรือ)
  16. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน นพศก จ.ศ. 1369 ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์)
  17. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ เมื่อวันศุกร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง จัตวาศก จ.ศ. 1374 ตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 (พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์และเลื่อนการจัดกระบวนจากเดิมในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เนื่องจากกระแสน้ำที่เพิ่มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาและไหลแรง)

สำหรับกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่มีในปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ส่วนการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดขบวนเรือพระราชพิธีเนื่องในการประชุมเอเปก 2003 และเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และผู้แทนพระประมุขต่างประเทศ ร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (12 มิถุนายน พ.ศ. 2549) โดยการจัดขบวนเรือพระราชพิธี 2 ครั้งนี้ เป็นเพียงการสาธิตแห่ขบวนเรือซื่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เสด็จในขบวนด้วย

ในรัชกาลปัจจุบัน

แก้

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2 ครั้ง ดังนี้

  1. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิฐ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน เอกศก จ.ศ. 1381 ตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2562 (เลื่อนการจัดกระบวนจากเดิมในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เนื่องจากกระแสน้ำที่เพิ่มระดับในแม่น้ำเจ้าพระยา‬)
  2. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ใหญ่) จากท่าวาสุกรี ไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันอาทิตย์ แรม 10 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง ฉศก จ.ศ. 1386 ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567[55]

เส้นทางเดินเรือ

แก้

จุดเริ่มต้นของขบวนเรือนั้นคือบริเวณท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม 8 เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม 8 ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุมกองทัพเรือ วัดอรุณราชวราราม และไปจอดเรือที่หน้าวัดกัลยาณมิตร

เรือพระราชพิธีในปัจจุบัน

แก้
ภาพแสดงแผนผังขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในปัจจุบัน

เรือพระที่นั่ง

แก้
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
       
       
ความยาว: 46.15 เมตร 44.85 เมตร 45.67 เมตร 44.30 เมตร
ความกว้าง: 3.17 เมตร 2.58 เมตร 2.91 เมตร 3.20 เมตร
ความลึก: 94 เซนติเมตร 87 เซนติเมตร 91 เซนติเมตร 100.1 เซนติเมตร
กินน้ำลึก: 41 เซนติเมตร 31 เซนติเมตร 46 เซนติเมตร 40 เซนติเมตร
ระวางขับน้ำ: 15 ตัน 10 ตัน 15 ตัน 20 ตัน
ฝีพาย: 50 ฝีพาย
2 นายท้ายเรือ
1 พนักงานขานยาว
2 เจ้าพนักงานหน้าบัลลังก์กัญญา
2 เจ้าพนักงานบัลลังก์กัญญา
1 ผู้ให้สัญญาณ
1 ผู้เชิญธง
7 ผู้เชิญเครื่องสูง
54 ฝีพาย
2 นายท้ายเรือ
1 ผู้เห่

1 พนักงานขานยาว
1 ผู้ให้สัญญาณ
1 ผู้เชิญธง
7 ผู้เชิญเครื่องราชอิสริยยศ (ฉัตร)

61 ฝีพาย
2 นายท้ายเรือ
1 พนังงานขานยาว
1 ผู้ให้สัญญาณ
1 ผู้เชิญธง
2 เจ้าพนักงาน
(หน้าบัลลังก์กัญญา 1 นาย, หลังบัลลังก์กัญญา 1 นาย)
7 ผู้เชิญเครื่องสูง
50 ฝีพาย
2 นายท้ายเรือ

1 พนักงานขานยาว

1 ผู้ให้สัญญาณ

1 ผู้เชิญธง

7 ผู้เชิญเครื่องสูง

เรือพระราชพิธีในอดีต

แก้

เรือพระที่นั่งกิ่ง

แก้

เป็นเรือพระที่นั่งที่มีความสำคัญสูงสุด ใช้ประกอบบัลลังก์บุษบก หรือบัลลังก์กัญญา ใช้เป็นเรือพระที่นั่งลำทรงที่ประทับ หรือใช้ทรงพระพุทธรูป พระชัยประจำพระองค์ ผ้าไตรกฐินพระราชทาน โขนเรือมักเป็นงอนเชิดขึ้นไป (เรือเอกไชย)หรือเป็นรูปอื่น ตลอดทั้งลำเรือแกะสลักลาย ปิดทอง ประดับกระจก

หากเรือพระที่นั่งตั้งบัลลังก์บุษบกเป็นที่ประทับ พระมหากษัตริย์จะต้องทรงพระมหามงกุฎ หรือพระชฎา ในขณะทรงประทับบนบุษบก จึงจะต้องมีการจัดเรือพลับพลา เป็นที่เปลื้องเครื่องเมื่อเทียบท่า

รัชกาลที่ 1

แก้
  1. เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ เรือพระที่นั่งกิ่งโขนเรือสลักรูปหงส์ พื้นสีดำ ยาว 18 วา ภายหลังมีการสร้างลำใหม่ในรัชกาลที่ 6 โดยใช้ชื่อว่า เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
  2. เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งกิ่งเอกไชย พื้นสีแดง ยาว 18 วา
  3. เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือพระที่นั่งกิ่งเอกไชย พื้นสีดำ ยาว 19 วา 1 ศอก
  4. เรือพระที่นั่งศรีประภัสรไชย เรือพระที่นั่งกิ่งเอกไชย พื้นสีดำ ยาว 18 วา ได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโขนเรือเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
  5. เรือพระที่นั่งไกรแก้วจักรรัตน เรือพระที่นั่งกิ่งเอกไชย พื้นสีเขียว ยาว 17 วา
  6. เรือพระที่นั่งไกรสรจักร เรือพระที่นั่งเอกไชย พื้นสีเขียว ยาว 17 วา 2 ศอก
  7. เรือพระที่นั่งชลพิมานไชย เรือพระที่นั่งเอกไชย พื้นสีแดง ยาว 12 วา 3 ศอก 6 นิ้ว ปัจจุบันเก็บรักษาที่กองเรือเล็ก กรมอู่ทหารเรือ
  8. เรือพระที่นั่งไกรสรมารถ เรือพระที่นั่งเอกไชย พื้นสีแดง ยาว 14 วา
  9. เรือพระที่นั่งเอกไชย (ไม่มีนาม) เรือพระที่นั่งเอกไชยน้อย พื้นสีดำ ยาว 14 วา

รัชกาลที่ 3

แก้
  1. เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ เรือพระที่นั่งกิ่งโขนเรือสลักรูปครุฑยุดนาค พื้นสีแดง ยาว 17 วา 2 ศอก ภายหลังในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯ ให้เพิ่มรูปพระนารายณ์บนหลังครุฑ พระราชทานนามใหม่ว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ต่อมาได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโขนเรือเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
  2. เรือพระที่นั่งศรีสุนทรไชย เรือพระที่นั่งเอกไชย พื้นสีแดง ยาว 17 วา
  3. เรือพระที่นั่งเอกไชย (ไม่มีนาม) เรือพระที่นั่งเอกไชย พื้นสีแดง ยาว 14 วา 2 ศอก 5 นิ้ว

รัชกาลที่ 4

แก้
  1. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งกิ่งโขนเรือสลักรูปพญาอนันตนาคราช 7 เศียร พื้นสีเขียว ยาว 1 เส้น 3 วา ภายหลังมีการสร้างลำใหม่ในรัชกาลที่ 6

เรือพระที่นั่งศรี

แก้

เป็นเรือพระที่นั่งรอง ตั้งบัลลังก์กัญญา ใช้เป็นเรือพระที่นั่งลำทรงเมื่อไม่ได้จัดเป็นกระบวนใหญ่ หรือใช้เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง รวมถึงเป็นเรือพลับพลาเพื่อทรงเปลื้องพระมหามงกุฎ พระชฎา เมื่อจะทรงประทับบนบุษบก ในบางกรณีอาจพระราชทานให้เจ้านายฝ่ายในใช้เป็นเรือที่ประทับโดยเสด็จในขบวนเรือได้

เรือพระที่นั่งศรี มักมีโขนเรือเป็นรูปดั้ง ประกอบแกะสลักลวดลาย ปิดทอง ประดับกระจก หรือมีโขนเรือเป็นรูปอื่น รวมถึงแบบเขียนลายด้วย

รัชกาลที่ 1

แก้
  1. เรือพระที่นั่งบุษบกพิศาล เรือพระที่นั่งศรีประกอบ พื้นสีน้ำเงิน ยาว 15 วา
  2. เรือพระที่นั่งวิมานอมรินทร์ เรือพระที่นั่งศรีประกอบ พื้นสีเขียว ยาว 12 วา 3 ศอก 1 คืบ
  3. เรือพระที่นั่งรังสีทิพรัตน เรือพระที่นั่งศรีลายเขียนทอง พื้นสีแดง ยาว 15 วา
  4. เรือพระที่นั่งจักรพรรดิภิรมย์ เรือพระที่นั่งศรีประดับกระจกลายยา พื้นสีดำ ยาว 14 วา 2 ศอก
  5. เรือพระที่นั่งทินกรส่องศรี เรือพระที่นั่งศรีลายเขียน พื้นสีม่วง ยาว 12 วา 1 ศอก 1 คืบ
  6. เรือพระที่นั่งมณีจักรพรรดิ เรือพระที่นั่งศรีลายเขียน พื้นสีเขียว ยาว 13 วา 5 นิ้ว
  7. เรือพระที่นั่งอนงคนิกร เรือพระที่นั่งรองลายเขียนทอง พื้นสีดำ ยาว 13 วา 10 นิ้ว
  8. เรือพระที่นั่งอัปสรสุรางค์ เรือพระที่นั่งรองลายเขียนทอง พื้นสีม่วง ยาว 13 วา 1 ศอก
  9. เรือพระที่นั่งแก้วจักรพรรดิ เรือพระที่นั่งศรีประกอบของวังหน้า พื้นสีน้ำเงิน ยาว 15 วา
  10. เรือพระที่นั่งสวัสดิ์ชิงไชย เรือพระที่นั่งศรีประกอบของวังหน้า พื้นสีดำ ยาว 16 วา
  11. เรือพระที่นั่งวิไลยเลขา เรือพระที่นั่งศรีลายเขียนทองของวังหน้า พื้นสีดำ ยาว 15 วา 3 ศอก 1 คืบ

รัชกาลที่ 2

แก้
  1. เรือพระที่นั่งเหราข้ามสมุทร เรือพระที่นั่งศรีประกอบรูปเหรา ไม่ปรากฎสีพื้น ไม่ปรากฎขนาด ได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโขนเรือเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

รัชกาลที่ 3

แก้
  1. เรือพระที่นั่งสุวรรณเหรา เรือพระที่นั่งศรีประกอบรูปเหรา พื้นสีน้ำเงิน ยาว 15 วา 1 ศอก ได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโขนเรือเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ
  2. เรือพระที่นั่งรัตนดิลก เรือพระที่นั่งศรีประกอบ พื้นสีแดง ยาว 19 วา 2 ศอก 7 นิ้ว ได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโขนและท้ายเรือเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

รัชกาลที่ 4

แก้
  1. เรือพระที่นั่งเทวาธิวัตถ์ เรือพระที่นั่งศรีประกอบ พื้นสีแดง ยาว 1 เส้น
  2. เรือพระที่นั่งเสวยสวัสดิ์เกษมสุข เรือพระที่นั่งศรีประกอบ ไม่ปรากฎสีพื้น ยาว 1 เส้น
  3. เรือพระที่นั่งเพชรรัตน์ดาราราย เรือพระที่นั่งศรีประกอบ พื้นสีน้ำเงิน ยาว 1 เส้น 2 นิ้ว
  4. เรือพระที่นั่งทวยเทพถวายกร เรือพระที่นั่งศรีประกอบ พื้นสีแสด ยาว 18 วา ได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโขนเรือเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

รัชกาลที่ 5

แก้
  1. เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งศรีประกอบ พื้นสีชมพู ปัจจุบันอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

ไม่ปรากฏหลักฐานรัชสมัยการสร้างในพระราชพงศาวดาร

แก้
  1. เรือพระที่นั่งสง่างามกระบวน เรือพระที่นั่งศรีประกอบ ปรากฏการใช้งานในรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 7 ได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันโขนเรือและท้ายเรือ เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

เรือกระบวนปิดทอง

แก้

เป็นเรือไชย โขนเรือแกะสลักปิดทอง ติดตั้งปืนจ่ารง ยกเว้นเรือเอกไชยคู่ชัก เรือพื้นสีดำ ลายเขียนทอง ถูกสร้างในรัชกาลที่ 1 ทั้งสิ้น 10 ลำ ต่อมาได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกบูรณะสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และโรงเรือหลวง ท่าวาสุกรี

  1. เรือเอกไชยเหินหาว เรือเอกไชยคู่ชัก ยาว 14 วา 1 ศอก 5 นิ้ว
  2. เรือเอกไชยหลาวทอง เรือเอกไชยคู่ชัก ยาว 14 วา 1 ศอก 5 นิ้ว
  3. เรือครุฑเหินระเห็จ เรือไชยรูปครุฑ ยาว 13 วา 1 ศอก 1 คืบ 11 นิ้ว
  4. เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือไชยรูปครุฑ ยาว 13 วา 1 ศอก 1 คืบ
  5. เรือพาลีรั้งทวีป เรือไชยรูปวานร ยาว 13 วา 3 ศอก
  6. เรือสุครีพครองเมือง เรือไชยรูปวานร ยาว 14 วา
  7. เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือไชยรูปวานร ยาว 13 วา 2 ศอก 1 คืบ
  8. เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือไชยรูปวานร ยาว 13 วา 2 ศอก 1 คืบ
  9. เรืออสุรวายุภักษ์ เรือไชยรูปอสูรนก ยาว 14 วา 2 ศอก
  10. เรืออสุรปักษี เรือไชยรูปอสูรนก ยาว 14 วา 2 ศอก

เรือพิฆาต

แก้

เป็นเรือรบ ติดตั้งปืนจ่ารง โขนเรือเรียบ เขียนลายสีรูปสัตว์ตลอดทั้งลำ สร้างในรัชกาลที่ 1 ทั้งหมด 12 ลำ ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ลำ คือ เรือเสือทยานชล และ เรือเสือคำรณสินธุ์

  1. เรือมังกรจำแลง พื้นสีชาด ยาว 14 วา 8 นิ้ว
  2. เรือมังกรแผลงฤทธิ์ พื้นสีชาด ยาว 13 วา 5 นิ้ว
  3. เรือเหราล่องลอยสินธุ์ พื้นสีหงส์ดิน ยาว 12 วา 2 ศอก 1 คืบ
  4. เรือเหราลินลาสมุท พื้นสีหงส์ดิน ยาว 12 วา 2 ศอก 9 นิ้ว
  5. เรือสางกำแหงหาญ พื้นสีเหลือง ยาว 10 วา 3 ศอก
  6. เรือสางชาญชลสินธุ์ พื้นสีเหลือง ยาว 11 วา 1 ศอก 8 นิ้ว
  7. เรือโตขมังคลื่น พื้นสีแดงเสน ยาว 11 วา 3 ศอก 3 นิ้ว
  8. เรือโตฝืนสมุท พื้นสีแดงเสน ยาว 11 วา 2 ศอก 6 นิ้ว
  9. เรือกิเลนประลองเชิง พื้นสีน้ำเงิน ยาว 11 วา 2 ศอก
  10. เรือกิเลนละเลิงชล พื้นสีน้ำเงิน ยาว 11 วา 3 ศอก
  11. เรือเสือทยานชล พื้นสีน้ำเงิน ยาว 10 วา 3 ศอก 1 คืบ
  12. เรือเสือคำรนสินธุ์ พื้นสีน้ำเงิน ยาว 10 วา 1 ศอก 6 นิ้ว

เรือแซ

แก้

เป็นเรือบรรทุกทหาร พื้นสีดำทั้งหมด สร้างในรัชกาลที่ 1 ทั้งหมด 12 ลำ ปัจจุบันไม่ปรากฏแล้ว

  1. เรือวิภัชนชล ยาว 12 วา 3 ศอก 5 นิ้ว
  2. เรืออนันตสมุท ยาว 12 วา 3 ศอก
  3. เรือจรเข้คำรามร้อง ยาว 11 วา
  4. เรือจรเข้คนองน้ำ ยาว 11 วา
  5. เรือวรวารี ยาว 11 วา 3 ศอก 3 นิ้ว
  6. เรือศรีปัทมสมุท ยาว 11 วา 3 ศอก 2 นิ้ว
  7. เรือตลุมละเวง ยาว 11 วา 3 ศอก 2 นิ้ว
  8. เรือตะเลงละวน ยาว 10 วา 2 ศอก 1 คืบ
  9. เรือคชรำบาญ ยาว 9 วา 3 ศอก 1 คืบ
  10. เรือสารสินธุ ยาว 10 วา 3 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว
  11. เรือหมูชลจร ยาว 11 วา
  12. เรือสุกรกำเลาะ ยาว 10 วา 3 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว

เรืออื่น ๆ

แก้

นอกจากเรือที่ระบุข้างต้น ยังมีเรืออื่น ๆ ที่สร้างขึ้นประกอบในขบวน เช่น เรือดั้ง 22 ลำ เรืออีเหลือง เรือแตงโม เรือตำรวจ รวมถึงเรือดั้งโขนเรือปิดทอง 2 ลำที่มีการระบุฝีพายว่าต้องเป็นชาวบ้านจากที่ใด คือ เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. ต้นฉบับภาษาสเปนจากเอกสาร HISTORIA DE LAS ISLAS DEL ARCHIPIELAGO, Y REYNOS DE LA GRAN CHINA, TARTARIA, CUCHINCHINA, MALACA, SIAN, CAMBOXA Y IAPPON, Y de los ſucedido en ellos a los religioſos deſcalços, de la Orden del Seraphico Padre San Franciſco, de la Prouincia de San Gregorio de las Philippinas. ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1601 กรุงบาร์เซโลนา[30] เขียนว่า:– Y para repreſentar la mageſtad de la venida del rey, venieron delante del quatro barcos grandes, en que venían muchos hombres, tañendo unas trompetas de plata pequeñas. Los barcos eran pintados y labrados de muchas y diuerſas labores, y figuras. De manera, que confiderada la popa, y la proa, qeſtaua muy doradas, en ſu modo y hehcura parecía un Elphante. Eſtos barcos pararon junto a un templo que eſtaua a la orilla del río, de la otra parte de la ciudad, adonde ſe dezía que hauia de parar el Rey, y hazer oración y limofna. Deſpués de los barcos de las trompetas, vinieron otros largos y differentes de los primeros, con mucha gente, veſtida de varias libreas. Y en cada vno venía un grande del Reyno, por ſu orden, ſegún ſus oficios y dignidades, repreſentando con ſus trajes y acompañamiento, la majeſtad y grandeza de ſu rey. Los aderezos de los barcos, que eran muchos, y de la gente innumerable era de mucha coſta y gala, y todos pararon junto al templo. Dentro de breve rato, vino el hijo menor del Rey, en un barco labrado con mucha curioſidad, y en ſu acompañamiento trahía muchos barcos de muy luzida gente. Luego viao la Reyna en un barco, hecho con grande ingenio, paramoſtrar ſu grauedad, y ſud damas venian en rtros, adornados de varias pintaras, y trahian unas celoſias curio ſamente deradas, para poder ver ſin ſer viſtas. Deſpues llego el Rey en un barco grande, que conſiderada ſu figura, parecía garcą, que las alas tendidas yua bolando. Adornado con tanto oro que los remos y el barco yuan dorados, y como los remeros eran muchos, y el barco ligero, parecía que venía bolando.[30]
  2. ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสเขียนว่า:– « Mais, parce qu’en ce païs-là on va plus par eau que par terre, le Roy de Siam a de fort beaux Balons. J’ay déjà dit que le corps d’un Balon n’eſt que d’un ſeul arbre long quelquefois de 16. à 20. toiles. Deux hommes affis les jambes croiſées côte à côte l’un de l’autre fur une planche miſe en travers, ſuffiſent pour en occuper toute la larguer. L'un pagaye à droite, & l'autre à gauche. Pagayer c’est ramer avec la pagaye, & la pagaye eſt une rame courte, qu’on tient à deux mains, par le milieu, & par le bout. Il ſemble qu’on n’en faffe que balayer l’eau quoy qu’avec force. Elle n’eſt point attachée au bord du balon, & celuy, qui la manie, regarde où il va ; au lieu que celuy qui ramel a le dos tourné à la route. Il y a quelquefois dans un feul balon juſqu’à cent ou fix vingt pagayeurs rangez ainſi deux à deux les jambes croiſees ſur des planchettes: mais les moindres Officiers ont des baIons beaucoup plus courts, ou peu de pagayes, comme 16. ou 20. ſuffiſent. Les pagayeurs, afin de plonger la pagaye de concert, chantent, ou font des cris meſurez; & ils plongent la pagaye en cadence avec un mouvement de bras & d'épaules qui eſt vigoureux , mais facile & de bonne grace. »[37]
  3. ต้นฉบับเขียนเป็นภาษาอิตาลีว่า:– Le Barche del Regno di Siam ſono forſe le più vaghe di tutte quelle, che ſin hora habbiamo deſcritte. Le chiamano Balloni, e li formano d’un ſol’Albero di eſterminata lunghezza, essendovene alcuni, che arrivano à 100 piedi, e li minori ſono lunghi 50; intagliati al di fuori di rabeſchi, e fogliami tutti dorati; e portano fin à 120 Remiganti, li quali ſtanno aſſiſi à due per banco uno per parte, e vogano all indietro, come le Ciurme delle noſtre Galere, adoprando una ſpecie di Remo, che chiamano Pageſe, lungo quattro piedi in circa. Tengono nel mezzo, come una Stanziola coperta per li Perſonaggi, che ci viaggiano, di nobile, e vago lavoro, e dorata di dentro, e di fuori, più, e meno conforme la qualità de’Soggetti, che ſe ne Vagliono. Ledile punte di Poppa, e Prora ſono aſſai elevate; e quello, che li governa battendo il piede ſopra la Poppa fà tremare tutto il Naviglio. Li Bastoni del Rè ſono ſtraordinariamente magnifichi, e grandi; tengono nel mezzo un elevatiſſimo Trono, dove il Monaroa aſſiſtito da' ſuoi primi Miniſtri ſiede ſotto ad un ricco, e maeſtoſo Baldachino, e ſono vogati da ſino 180 huomini, con li Remi tutti dorati in guisa, che fanno una ſuperbiſſima viſta.[40]

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. "ระเบียบส่วนราชการในพระองค์ ว่าด้วยการบรรเลงดุริยางค์ในการพระราชพิธีหรือพิธีการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 141 (พิเศษ 288 ง): 4. 2024-10-22.
  2. "หมายกำหนดการ ที่ 22/2567 หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน พุทธศักราช 2567" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 141 (71 ข): 3. 2024-10-22.
  3. "ทาง" ในที่นี้เป็นคำบุรพบท แปลว่า โดย หรือ ด้วย ดังนั้นทางสถลมารค จึงมีความหมายว่า ด้วยวิถีทางบก จากกระบวนพยุหยาตราราชบัณฑิตยสถาน
  4. ทองย้อย แสงสินชัย และพิมพ์อนงค์ ริมสินธุ. (2557). บาลีวันละคํา. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น. หน้า 127. ISBN 978-616-04-1910-4
  5. Saveros Lewitz. "The Infix /-b-/ in Khmer" Oceanic Linguistics Special Publications No. 13, 1976 in Jenner, Philip N. ; Thompson, Laurence C.; and Starosta, Stanley. (1976). Austroasiatic Studies, Part II. Oceanic Linguistics Special Publications. Honolulu: University of Hawai'i Press. p. 472. JSTOR 20019181
  6. อุไรศรี วรศะริน. (1984). Langues Et Civilisations De L’asie Du Sud-est Et Du Monde Insulindien: Les Éléments Khmers dans La Formation de la Langue Siamoise. PARIS: Société d’Études Linguistiques et Anthropologiques de France (SELAF). p. 178. ISBN 2-85297-161-5 ISSN 0224-2680
  7. Cœdès, George. (1966). Collection de textes et documents sur l'Indochine III: Inscriptions du Cambodge, Tome VIII. PARIS: École française d'Extrême-Orient. p. 35. ISBN 978-285-5-39523-4 ISSN 0768-2530
  8. Cœdès, George. "Études Cambodgiennes," Bulletin de l'Ecole française d'Extrême-Orient 29(29)(1929): 314. doi:10.3406/befeo.1929.3242
  9. Schuessler, Axel. (2007). ABC Etymological Dictionary of Old Chinese. Honolulu: University of Hawai'i Press ; IBT Global. p. 284. ISBN 978-0-8248-2975-9 LCCN 2005-56872
  10. 10.0 10.1 สุภาพร มากแจ้ง. (2527). ภาษาบาลี-สันสกฤตในภาษาไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. หน้า 152, 160, 170. ISBN 978-974-2-75890-5
  11. พัฒน์ เพ็งผลา. (2535). บาลีสันสกฤตในภาษาไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง. หน้า 238. ISBN 978-974-5-98501-8
  12. บวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย), หลวง. (2469). สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย. หน้า. 694. OCLC 1361147364
  13. 13.0 13.1 สัจภูมิ ละออ. "ขบวนเรือพระราชพิธี สดุดีมหาราชา: เรือศักดิ์สิทธิ์เสกสัมพันธ์ต้นธารราชพิธี," นิตยสารสารคดี 22(257)(กรกฎาคม 2549): 188. ISSN 0857-1538
  14. 14.0 14.1 ณัฐกานต์ เกาศล. (2560). เรือ: ภูมิปัญญากับวิถีชีวิตพื้นบ้านและบทบาทในสังคมไทยภาคกลาง. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ไทยศึกษา). คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี. หน้า 100.
  15. วินัย ผู้นำพล, ขมลศิษฐ์ เดชกำธร, และโสพล ช่วยสุก. (2552). วัฒนธรรมผสมในศิลปกรรมสยาม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 296.
  16. สุกัญญา เบาเนิด. "โนนหนองหอ แหล่งผลิตกลองมโหระทึกในประเทศไทย," วารสารศิลปากร 59(1)(มกราคม–กุมภาพันธ์ 2559): 13–21. ISSN 0125-0531
  17. สุรพล นาถะพินธุ และสุพรรณี ฉายะบุตร. (2549). เรือศักดิ์สิทธิ์สุวรรณภูมิ. หนังสือพิมพ์มติชน, คอลัมน์สยามประเทศไทย, 26 พฤษภาคม, ไม่ปรากฏเลขหน้า. บรรยายเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549. เข้าถึงได้จาก http://www.marinerthai.net/sara/viewsara1163.php.
  18. ธนโชติ เกียรติณภัทร."อโยธยาก่อน พ.ศ. 1893 ความทรงจำจากเอกสารและตำนาน," ศิลปวัฒนธรรม, 44(10)(สิงหาคม, 2566): 10-22.
  19. จารึกวัดเขากบ ด้านที่ 2. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2567.
  20. "จิตร ภูมิศักดิ์ ตรวจสอบหลักฐาน พบเมืองอโยธยา เก่ากว่าสุโขทัย". มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 พฤษภาคม 2566. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2567.
  21. เทพมนตรี ลิมปพยอม. (2546). ลอกคราบโบราณคดี. กรุงเทพฯ: บานชื่น. หน้า 53.
  22. กรมศิลปากร. (2516). ประวัติวัดพนัญเชิงวรวิหาร. พิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันพฤหัสบดี ที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2516. พระนคร: โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 9–10.
  23. คณะกรมการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (2513). เฉลิมพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว (อนุสรณ์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีศรีสินทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว). คณะกรมการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตมงคลสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ 1 และอยุธยามหาปราสาท วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2513 ประมวญไว้ซึ่งประวัติศาสตร์อันเนื่องด้วยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระบรมราชประวัติ การประดิษฐานพระราชวงศ์อู่ทองหรือเชียงรายสถาปนากรุงเทพทวาราวศรีอยุธยาหรือกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร พระมหากษัตริย์ราชวงศ์อู่ทองมาจากไหน สัมพันธ์กับวงศ์สุพรรณอย่างไร ปูชนียโบราณวัตถุสถาน ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมสมัยหลงเหลืออยู่ที่ไหนบ้าง ทำไมจึงเรียกว่าพระเจ้าอู่ท่องว่าเชษฐบิดร ค้นคว้ามาเขียนโดยนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักปกครอง นักโหราศาสตร์ นักวรรณคดี นายแพทย์ปริญญา ผู้ทรงคุณวุฒิทางประติมากรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม. พระนคร: ศิริมิตรการพิมพ์. หน้า 121.
  24. วิเชียรปรีชา (น้อย), พระ. (2412). พระราชพงศาวดารเหนือ. ม.ป.ท.: ม.ป.พ. หน้า 29.
  25. คณะกรรมการหนังสือเทิดพระเกียรติเพื่อการศึกษา. (2535). "การเสด็จกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนคร," จอมทัพไทยและเอกลักษณ์การทหารของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : พับลิคบิสเนสพรินท์. หน้า 169. ISBN 978-974-5-17300-2
  26. 26.0 26.1 26.2 ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และนิยดา ทาสุคนธ์, หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. (2531). กระบวนพยุหยาตรา ประวัติและพระราชพิธี. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย. ISBN 978-974-7-91261-6
  27. 27.0 27.1 จิรายุ ทวีเผ่าภาคิน. (2562). พิพิธภัณฑสถานขบวนพยุหยาตราทางชลมารค. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต (สถาปัตยกรรมไทย) คณะสถาปัตยกรรมศาสต์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  28. ณัฏฐภัทร จันทวิช และมิรา ประชาบาล. (2539). เรือพระราชพิธี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 4. ISBN 978-974-7-92999-7
    • ณัฏฐภัทร จันทวิช. "เรือพระราชพิธีโบราณ," ศิลปากร 29(3)(กรกฎาคม 2528):69. ISSN 0125-0531
    • แหวน ศักดิ์สุนทร. (2544). "เรือพระราชพิธี," อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี ศรีรัตน์ ศักดิ์สุนทร ณ วัดใหม่เทพพล แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร วันที่ 8 มกราคม 2544. กรุงเทพฯ: [ม.ป.พ.].
  29. ยอดมนู เบ้าสุวรรณ และธีระวุฒิ ปัญญา. (2553). เจาะตำนานพระนเรศวร ที่คนไทยยังไม่เคยรู้ เเละประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยบันทึก!. กรุงเทพฯ: บางกอกบุ๊ค. หน้า 67–68.
  30. 30.0 30.1 Ribadeneira, Marcelo de. (1601). “CAPITULO XXI. DEL REINO DE SIAN,” HISTORIA DE LAS ISLAS DEL ARCHIPIELAGO, Y REYNOS DE LA GRAN CHINA, TARTARIA, CUCHINCHINA, MALACA, SIAN, CAMBOXA Y IAPPON, Y de los ſucedido en ellos a los religioſos deſcalços, de la Orden del Seraphico Padre San Franciſco, de la Prouincia de San Gregorio de las Philippinas. Barcelona: Gabriel Graells y Giraldo Dotil. p. 167.
  31. Satow, Ernest Mason. (1887). "Essay Towards a Bibliography of Siam," Journal of the Straits Branch of the Royal Asiatic Society (June 1886). Singapore: The Government Printing Office. p. 37.
  32. ปรีดี พิศภูมิวิถี. "กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในเอกสารตะวันตกสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์," ศิลปวัฒนธรรม 40(12)(ตุลาคม 2562): 92–113.
  33. คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือของคุรุสภา. (2512). "ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๖ จดหมายเหตุของโยส เซาเต็น พ่อค้าชาวฮอลันดา ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมและพระเจ้าปราสาททอง," ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๖ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๓(ต่อ)-๗๕) ทำเนียบข้าราชการนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ ๒ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเสด็จไปจัดราชการ ณ หัวเมืองลาวพวน ปราบเงี้ยว ตอนที่ ๑. (แปลโดย โรเจอร์ แมนลี และขจร สุขพานิช). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 126–129.
  34. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2525). ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พุทธศักราช 2525 The Royal Barge Procession on the Occasion of The Rattanakosin Bicentennial 1982. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ไม่ปรากฏเลขหน้า. อ้างใน หนังสือประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม.
  35. ธีรภาพ โลหิตกุล และคณะ, กองตลาดภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2563). "พยุหยาตราทางชลมารค แสนยานุภาพทางน้ำของชาวสยาม," River Legacy มรดกแห่งสายน้ำ. กรุงเทพฯ: ครีเอท มายด์. หน้า 21.
  36. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2505). จดหมายเหตุลาลูแบร์ เล่ม 1. พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 173–174.
  37. La Loubère, Simon de. (1691). « Des Voitures, & de l'Equipage en général des Siamois », DU ROYAUME DE SIAM : Envoyé extraordinaire du ROY auprès du Roy de Siam en 1687 & 1688, TOME PREMIER. Paris: Chez Abraham Wolfgang, près de la Bourſe. pp. 123–124.
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 ศานติ ภักดีคำ. (2562). พระเสด็จโดยแดนชล เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 95–97. ISBN 978-974-0-21676-6
  39. 39.0 39.1 39.2 39.3 ศานติ ภักดีคำ (บก.). (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. ISBN 978-616-92351-0-1
  40. 40.0 40.1 Coronelli, Vincenzo Maria. (1691). "Balloni del Regno di Siam," Atlante Veneto TOMO I., nel quale si contiene La Descrittione Geografica, Storica, Sacra, Profana & Politica degli Imperij, Regni, Provincie Dell'Universo Loro Divisione e Confini Coll'aggiunta di tutti li Paesi nuovamente scoperti, accresciuto di molte tavole geografiche, mai più pubblicate Opera, e studio del Padre maestro CORONELLI MIN: CONVENT;... ad uso dell'Accademia cosmografica degli Argonaut. Venice: appresso Girolamo Albrizzi. p. 148.
  41. ว. วรรณพงษ์. "กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในรัชสมัยกรุงธนบุรี". บ้านเมือง.
  42. 7. เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค
  43. 43.0 43.1 กรมศิลปากร. (2481). "จดหมายเหตุในรัชกาลที่ 4," ประชุมพงศาวดาร เล่ม 43 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 69-70) เรื่องเกี่ยวกับกรุงเก่าตอนที่ 1 เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ์ และเรื่องขุนบรมราชา. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา.
  44. ปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล, หม่อมเจ้า. (2499). พระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า และจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พิมพ์พระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 22 เมษายน พุทธศักราช 2499.พระนคร: พระจันทร์. หน้า 162–163.
  45. คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2516). จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ 5 ปีมะโรง พ.ศ. 2411 – ปีระกา พ.ศ. 2416. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี. หน้า 145 เชิงอรรถ (2).
  46. ภาณุพันธุวงศ์วรเดช, สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2513). จดหมายเหตุพระราชพิธีลงสรง สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ 5. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตำรวจเอก พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2513. กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์. หน้า 344.
  47. นเรศรวรฤทธิ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2466). "เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค," จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หอพระสมุดสำหรับพระนครรวบรวมพิมพ์พระราชทานในงารเฉลิมพระชนม์พรรษา ปีกุญ พ.ศ. 2466. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 157.
  48. ข่าวในพระราชสำนัก วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘
  49. ข่าวในพระราชสำนัก วันเสาร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙
  50. ข่าวในพระราชสำนัก วันพุธที่ ๑๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐
  51. ข่าวในพระราชสำนัก วันอังคาร ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๑
  52. ข่าวในพระราชสำนัก วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒
  53. ข่าวในพระราชสำนัก วันที่ ๙ - ๑๓,๑๕ - ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓
  54. ข่าวในพระราชสำนัก วันพุธที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๔
  55. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. (2567, 13 มิถุนายน). นายกฯ ติดตามความก้าวหน้า การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และการซ่อมแซมการประดับตกแต่งเรือพระที่นั่ง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567. ทำเนียบรัฐบาล. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2567.

หนังสือและบทความ

แก้
  • ศานติ ภักดีคำ. (2562, ตุลาคม). ครุฑ นาค และหงส์: สัญลักษณ์เทพเจ้าศาสนาพราหมณ์ฮินดูในโขนเรือพระราชพิธี. ศิลปวัฒนธรรม. 40(12): 78-112.
  • Phillips, Matthew. (2017). Ancient Past, Modern Ceremony: Thailand’s Royal Barge Procession in Historical Context. In How the Past was Used: Historical Cultures c. 750-2000. edited by Peter Lambert and Björn Weiler. pp. 201-30. Oxford: Oxford University Press.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้