การประกาศเป็นนักบุญ

การประกาศเป็นนักบุญ[1] (อังกฤษ: canonization) เป็นกระบวนการที่คริสตจักรต่าง ๆ เช่น โรมันคาทอลิก ออร์ทอดอกซ์ และแองกลิคัน ใช้ดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียนคริสต์ศาสนิกชนผู้ล่วงลับให้เข้าในสารบบนักบุญ

ศัพทมูล

แก้

คำว่า canon หมายถึง สารบบ ในที่นี้หมายถึงสารบบนักบุญของคริสตจักร ซึ่งบรรจุรายชื่อของนักบุญท่านต่าง ๆ ไว้ คริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่านักบุญเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ ได้สถิตในสวรรค์ร่วมกับพระเป็นเจ้า ดังนั้นนอกจากการแสดงความเคารพต่อพระเป็นเจ้าแล้ว ยังควรเคารพนักบุญทั้งหลายด้วย เพื่อจะได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง และให้ท่านเป็นผู้วิงวอนขอพรจากพระเป็นเจ้าแทนคริสตชนบนโลก[2] เมื่อคริสตจักรยอมรับว่าคริสต์ศาสนิกชนผู้ล่วงลับคนใดเป็นนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็จะบันทึกชื่อของผู้นั้นเพิ่มเข้าไปในสารบบ ดังนั้นจึงเรียกการประกาศเป็นนักบุญว่า canonization

พัฒนาการ

แก้

บุคคลกลุ่มแรกที่คริสตจักรถือว่าเป็นนักบุญคือเหล่ามรณสักขี เพราะเป็นผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อยืนยันความศรัทธาของตนต่อพระเยซู ต่อมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 เกิดกลุ่มที่เรียกว่าธรรมสักขี ซึ่งเป็นผู้ที่ยืนยันความเชื่อของตนเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับพลีชีพ แต่อาศัยแสดงออกผ่านคำสอนและการใช้ชีวิต ธรรมสักขีเริ่มเป็นที่นับถือแพร่หลายมากขึ้น เช่น นักบุญเอเฟรมชาวซีเรีย นักบุญมาร์แต็งแห่งตูร์ นักบุญอีแลร์แห่งปัวตีเย บุคคลเหล่านี้ถูกบันทึกชื่อไว้ในบัญชีสารบบนักบุญ ซึ่งจะนำมาประกาศในขณะทำพิธีกรรม เนื่องจากวีรกรรมของธรรมสักขีไม่เด่นชัดอย่างมรณสักขี ดังนั้นการนับถือธรรมสักขีจึงต้องได้รับการรับรองจากมุขนายกประจำท้องถิ่นนั้น ๆ ก่อน คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้พัฒนากระบวนการนี้ต่อมาจนเป็นระบบขั้นตอน ในกำกับความรับผิดชอบของสมณะกระทรวงการสถาปนานักบุญซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1969

นิกายโรมันคาทอลิก

แก้

การประกาศเป็นนักบุญในคริสตจักรโรมันคาทอลิกมีขั้นตอนดังนี้[3]

ผู้รับใช้พระเป็นเจ้า

เมื่อเห็นสมควรให้บุคคลใดได้รับการประกาศเป็นนักบุญ ให้รวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ถูกเสนอชื่อส่งไปให้มุขนายกประจำมุขมณฑลเป็นผู้พิจารณา ถ้าหากเห็นสมควรก็จะประกาศให้ผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็น “ผู้รับใช้พระเป็นเจ้า” และเริ่มการสอบสวนอย่างเป็นทางการต่อไป

ผู้น่าเคารพ

หากตรวจสอบประวัติแล้วเห็นว่า “ผู้รับใช้พระเป็นเจ้า” นั้นประกอบด้วยวีรคุณธรรม (heroic virtue) โดดเด่นในชีวิต สมณะกระทรวงการสถาปนานักบุญก็จะประกาศกฤษฎีกาให้ผู้นั้นเป็น “ผู้น่าเคารพ”

บุญราศี

ศพของผู้น่าเคารพจะถูกชันสูตรเพื่อให้แน่ใจว่าศพที่มีอยู่เป็นของผู้นั้นจริง ๆ และเมื่อเกิดการอัศจรรย์ขึ้นอย่างน้อย 1 ประการ ที่เชื่อว่าเกิดขึ้นเพราะการวิงวอนของผู้น่าเคารพนั้นต่อพระเป็นเจ้า พระสันตะปาปาจะทรงประกาศให้ผู้นั้นเป็น “บุญราศี” แต่หากผู้น่าเคารพเมื่อยังมีชีวิตอยู่ได้พลีชีพเป็นมรณสักขีในศาสนาคริสต์ สันตะสำนักจะถือว่าการพลีชีพนั้นเป็นการอัศจรรย์แล้ว จึงไม่ต้องรอการอัศจรรย์อื่นอีก พิธีการประกาศเป็นบุญราศีจะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการที่วาติกัน เมื่อได้รับการประกาศเป็นบุญราศีแล้ว คริสต์ศาสนิกชนก็สามารถแสดงความเคารพศรัทธาผู้นั้นได้อย่างเป็นทางการ เช่น ตั้งสักการสถาน กำหนดวันฉลอง เป็นต้น

นักบุญ

บุญราศีจะได้รับการประกาศเป็นนักบุญก็ต่อเมื่อเกิดการอัศจรรย์เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 1 ประการ หากการอัศจรรย์นั้นเกี่ยวข้องกับการแพทย์ เช่น มีคริสตชนหายป่วยจากโรคร้ายได้อย่างน่าอัศจรรย์เพราะพรจากการวิงวอนของบุญราศี ก็ต้องมีเอกสารรับรองจากคณะแพทย์ว่าการหายป่วยนั้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์[4] เมื่อมีการอัศจรรย์เป็นที่ประจักษ์จึงจะประกาศเป็นนักบุญ โดยพระสันตะปาปาจะให้บันทึกชื่อของผู้นั้นเข้าในสารบบนักบุญของคริสตจักร ทำให้ผู้นั้นเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์โดยสมบูรณ์และได้รับความเคารพจากคริสตชนโรมันคาทอลิกทั่วโลก พิธีการประกาศเป็นนักบุญจะจัดขึ้น ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน

นิกายแองกลิคัน

แก้

นับตั้งแต่เกิดการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษเป็นต้นมา มีเพียงพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เพียงพระองค์เดียวที่คริสตจักรแห่งอังกฤษและแองกลิคันคอมมิวเนียนประกาศให้เป็นนักบุญ[5][6]

อ้างอิง

แก้
  1. บัญญัติศัพท์, ม.ป.ป, หน้า 7
  2. ทำไมจึงมีพิธีระลึกถึงบรรดานักบุญ (Saints) ในพระศาสนจักร[ลิงก์เสีย], ศูนย์คริสตศาสนธรรม มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพ
  3. กระบวนการสถาปนานักบุญสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 (ตอนที่ 2), มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 17 ตุลาคม 2555.
  4. ขั้นตอนการแต่งตั้งเป็นนักบุยเขาทำกันอย่างไร. มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-14. สืบค้นเมื่อ 2012-10-17.
  6. http://justus.anglican.org/resources/bio/92.html