กลุ่ม 10 มกรา
กลุ่ม 10 มกรา กลุ่มการเมืองที่ก่อตัวขึ้นภายใน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องประกาศยุบสภา
กลุ่ม 10 มกรา ก่อตั้งโดยนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคช่วงปี พ.ศ. 2522 และนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น โดยที่มาของชื่อกลุ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2530 ณ โรงแรมเอเชีย ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งกลุ่มของนายวีระได้เสนอชื่อนายเฉลิมพันธ์ ส่วนกลุ่มของนายชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ส่วนตัวนายวีระได้ลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแข่งกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ปรากฏว่าทั้งนายเฉลิมพันธ์และนายวีระพ่ายแพ้ต่อนายพิชัยและพล.ต.สนั่น
ทั้งนี้ กลุ่ม 10 มกรานี้มีความไม่พอใจในการบริหารงานของพิชัย หัวหน้าพรรคมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยต้นเหตุของความขัดแย้งในครั้งนั้น แบ่งได้ 5 ประเด็น กล่าวคือ
- ความขัดแย้งในการคัดเลือกตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งพิชัยเป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
- พิชัยไม่ได้นำรายชื่อผู้ที่เหมาะสมโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 25 คนตามมติในที่ประชุมของพรรค ไปมอบให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่กลับเสนอเพียง 15 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มของพิชัย พร้อมทั้งกำหนดตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไว้ด้วย ทำให้สมาชิกในกลุ่ม 10 มกราที่อยู่ในรายชื่อที่ไม่ได้ถูกเสนอหลายคนไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
- ผู้บริหารระดับสูงของพรรคไม่สามารถแสดงบัญชีรายจ่ายให้เกิดความโปร่งใสในการจัดการเรื่องเงินให้สมาชิกพรรคทราบได้ ภายหลังได้รับเงินจากผู้สนับสนุนพรรคในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
- ไม่พอใจในผลเจรจากับพรรคการเมืองอื่นในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำ ไม่ได้รับการจัดสรรกระทรวงที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจและบริหาร
- พิชัยได้เสนอให้ พิจิตต รัตตกุล บุตรชายของตน ซึ่งได้รับเลือกตั้งซ่อมเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร แทนที่ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่ถึงแก่กรรมไปด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) ทั้งที่อาวุโสทางการเมืองของพิจิตตมีน้อยกว่าคนอื่นในพรรค ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบ และนำเอาระบบสืบตำแหน่งในครอบครัวมาใช้ ซึ่งไม่ควรมีในพรรค
และจาก 5 สาเหตุดังกล่าว นำมาซึ่งการเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 ขั้วภายในพรรค และจากความขัดแย้งครั้งนั้น ส่งผลให้การทำหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ในรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และการแสดงออกทางการเมืองต่อสาธารณชนไม่เป็นเอกภาพนับแต่นั้น มีการแสดงออกของสมาชิกพรรคในทางที่ขัดแย้งกับมติหรือนโยบายพรรค[1]
ต่อมากลุ่ม 10 มกรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับกลุ่มวาดะห์ ภายหลังจากการที่ทั้งสองกลุ่มไม่ยกมือสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจนทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภา เมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งกลุ่ม 10 มกราบางส่วนและทางกลุ่มวาดะห์ได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า พรรคประชาชน ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2531 พรรคประชาชนได้ ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 19 คน ซึ่งในเวลาต่อมาพรรคประชาชนได้ยุบรวมเข้ากับพรรคเอกภาพ ทำให้นายวีระได้แยกตัวไปสังกัดพรรคความหวังใหม่ พร้อมกับกลุ่มวาดะห์ และภายหลังสมาชิกพรรคเอกภาพบางส่วนซึ่งรวมถึงกลุ่ม 10 มกราได้ย้ายเข้าไปสังกัด พรรคสามัคคีธรรม ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่[2]
กลุ่ม 10 มกรา หมดบทบาทลงภายหลังการวางมือทางการเมืองของนายเฉลิมพันธ์หัวหน้ากลุ่ม หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ[3]
- กริช กงเพชร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม
- ไกรสร ตันติพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
- ไขแสง สุกใส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม
- จริญญา พึ่งแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน
- จัตุรนต์ คชสีห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชุมพร
- จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา
- เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (หัวหน้ากลุ่ม)
- ว่าที่ร้อยตรีณัฐ ศรีเฟื่องฟุ้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ
- ณรงค์ นุ่นทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
- เดโช สวนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
- ถวิล ไพรสณฑ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช[5]
- ทวีวัฒน์ ฤทธิ์ฤๅชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร
- ธงชาติ รัตนวิชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
- ธวัชชัย อนามพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี
- นฤชาติ บุญสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา
- บุญส่ง ชำนาญกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
- พันเอกบุลศักดิ์ โพธิเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสิงห์บุรี
- ประวัฒน์ อุตโมท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี
- พร้อม บุญฤทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง[3]
- พิชัย มงคลวิรกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์
- พีรพันธุ์ พาลุสุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร
- มานะศักดิ์ อินทรโกมาลย์สุต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา
- ยงยุทธ นพเกตุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง
- ระวี กิ่งคำวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร
- วิชิต วิเศษสุวรรณภูมิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
- วิเชียร สอนน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์
- วิทยา ขันอาสา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี
- วิทยา ภูมิเหล่าแจ้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาฬสินธุ์
- วีระ มุสิกพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง
- สมบูรณ์ สิทธิมนต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกระบี่
- สวัสดิ์ สืบสายพรหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ
- สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
- สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช
- พันเอกสาคร กิจวิริยะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด
- สุชาติ ตันเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา
- สุรใจ ศิรินุพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา
- เสริมศักดิ์ การุญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง
- พลเอกหาญ ลีนานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร
- เอี่ยม ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์
- โอภาส รองเงิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ ศักดิ์ดวง, ศุภเดช (2014-03-08). "ย้อนเส้นทางการเมืองตระกูล"ศรีวิกรม์" "พ่อ-พี่-ทยา" เมื่อเลือดข้นน้อยกว่าน้ำ!". สำนักข่าวอิสรา. สืบค้นเมื่อ 2017-06-15.
- ↑ บางปะกง, บางนา (2014-03-10). "4 ทศวรรษ'ศรีวิกรม์' ภาพสะท้อนธุรกิจการเมือง". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-15.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 วัฒน์ วรรลยางกูร. ชีวิตเพื่อประชาธิปไตย คน 4 คุก ไข่มุกดำ. กรุงเทพฯ : เค.เค.พับลิชชิ่ง, 5/2008. 382 หน้า. ISBN 9789740686996
- ↑ บทเรียนสอนไม่จำ 32ปี กลุ่ม "10 มกรา" คนประชาธิปัตย์ ซ้ำรอยเสี้ยมกันเอง
- ↑ นายหัวไทร (2007-09-08). "ถวิล ไพรสณฑ์ กบฏ 10 มกรา..คืนรังประชาธิปัตย์...???". โอเคเนชั่น. สืบค้นเมื่อ 2017-06-15.