ประธานาธิบดีสหรัฐ

ประมุขและผู้นำรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา
(เปลี่ยนทางจาก President of the United States)

ประธานาธิบดีสหรัฐ (อังกฤษ: President of the United States; ย่อ: POTUS[6]) เป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการฝ่ายบริหารของรัฐบาลกลางและเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพสหรัฐ[7][8][9][10][11]

ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ
President of the United States
ตราประจำตำแหน่ง
ธงประจำตำแหน่ง
ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน
โจ ไบเดิน
ตั้งแต่ 20​ มกราคม​ ค.ศ. 2021
การเรียกขานท่านประธานาธิบดี[1]
(ไม่เป็นทางการ)
ฯพณฯ[2]
(ทางการ)
ท่านผู้นำ[3][4][5]
(การทูตระหว่างประเทศ)
จวนทำเนียบขาว
ผู้แต่งตั้งคณะผู้เลือกตั้ง
วาระคราวละ 4 ปี และไม่เกิน 2 วาระ
ผู้ประเดิมตำแหน่งจอร์จ วอชิงตัน
สถาปนา4 มีนาคม 1789; 235 ปีก่อน (1789-03-04)
เงินตอบแทน400,000$ ต่อปี
เว็บไซต์www.whitehouse.gov

หมวด 2 แห่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ประธานาธิบดีมีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายส่วนกลาง รับผิดชอบแต่งตั้งข้ารัฐการฝ่ายบริหาร ข้ารัฐการทูต ข้ารัฐการประจำ และข้ารัฐการตุลาการในส่วนกลาง ทั้งมีอำนาจทำสนธิสัญญาเมื่อได้รับคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภา นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมีอำนาจอภัยโทษ ลดโทษ เปลี่ยนโทษ เรียกและเลื่อนประชุมสมัยวิสามัญแห่งสภาทั้งสองของรัฐสภา[12] ประธานาธิบดียังมีบทบาทนำในการออกกฎหมายระดับสหพันธรัฐ และการดำเนินนโยบายในประเทศ ในสมัยหลัง ประธานาธิบดีมีการใช้คำสั่งของฝ่ายบริหาร ออกข้อบังคับหน่วยงานและการแต่งตั้งตุลาการเพื่อดำเนินนโยบายเพิ่มขึ้น และนับแต่สถาปนาประเทศเป็นต้นมา ประธานาธิบดีและรัฐบาลกลางมีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[13] และแม้ปัจจุบันไม่มีอำนาจนิติบัญญัติอย่างเป็นทางการนอกเหนือไปจากการลงนามและยับยั้งร่างกฎหมายที่รัฐสภาอนุมัติ แต่ประธานาธิบดีก็แบกรับความรับผิดชอบขนานใหญ่ในการกำหนดวาระประชุมพรรค รวมถึงกำหนดนโยบายการต่างประเทศและการในประเทศด้วย[14]

ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านทางคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี ดำรงตำแหน่งวาระละสี่ปี สามารถดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระ ซึ่งบัญญัติไว้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 22 ที่ได้รับการอนุมัติในปี 1951 ที่ผ่านมามีรองประธานาธิบดี 9 คนที่ได้ขึ้นสืบตำแหน่งประธานาธิบดีเนื่องจากประธานาธิบดีลาออกหรือเสียชีวิตขณะยังไม่ครบวาระ โดยสรุป สหรัฐมีประธานาธิบดีแล้ว 45 คน 58 วาระ

สำนักงานและที่พักของประธานาธิบดีเรียกว่าทำเนียบขาว ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประธานาธิบดียังได้รับสิทธิ์ใช้คณะทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกในทำเนียบขาวอย่างเต็มที่ รวมถึงบริการทางการแพทย์ การพักผ่อน การดูแบบบ้าน และระบบรักษาความปลอดภัย ประธานาธิบดีมีเครื่องบินชื่อแอร์ฟอร์ซวัน ไว้สำหรับเดินทางระยะไกล ประธานาธิบดีได้รับค่าตอบแทนทั้งสิ้น 400,000 ดอลลาร์ต่อปี พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์อื่นในแต่ละปีที่ดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างหลังพ้นจากตำแหน่งเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง

เนื่องด้วยความเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐ ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจึงถือเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ โจ ไบเดิน ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 20 มกราคม 2021

อำนาจประธานาธิบดี

แก้

ว่าด้วยอำนาจทางทหารของประธานาธิบดี หมวด 2 แห่งรัฐธรรมนูญยังบัญญัติให้ "ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนของกำลังอาสาของนานารัฐเมื่อมีการเรียกระดมให้เข้ารับใช้ชาติสหรัฐ" ประธานาธิบดีถือเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงของหน่วยบัญชาการรบรวม (CCMD) เป็นผู้มีอำนาจสั่งใช้กำลังรบ กระทำปฏิบัติการทางทหารและสั่งใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่มีอำนาจประกาศสงคราม อันเป็นอำนาจของสภาคองเกรส

ว่าด้วยอำนาจทางนิติบัญญัติของประธานาธิบดี ประธานาธิบดีเป็นผู้ลงนามขั้นสุดท้ายในการประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านสภาคองเกรสแล้ว ประธานาธิบดียังได้รับอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายที่ผ่านสภาคองเกรส แต่ถ้าสภาคองเกรสจะยืนยันจะผ่านร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งจะต้องใช้เสียงสองในสามของที่ประชุมสองสภา นอกจากนี้ หากเกิดวิกฤตการณ์ในหรือนอกประเทศซึ่งจำเป็นต้องได้รับพิจารณาอย่างเร่งด่วน แต่อยู่นอกสมัยการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ

ว่าด้วยอำนาจทางตุลาการของประธานาธิบดี ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง อันได้แก่ ศาลอุทธรณ์สหรัฐ ศาลสูงสุดสหรัฐ ผู้พิพากษาที่ถูกเสนอชื่อจะต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภาก่อนเข้าทำหน้าที่ นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังมีอำนาจในการลงนามอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมให้แก่บุคคล

อ้างอิง

แก้
  1. "How To Address The President; He Is Not Your Excellency Or Your Honor, But Mr. President". The New York Times. 1891-08-02.
  2. "Models of Address and Salutation". Ita.doc.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-27. สืบค้นเมื่อ 2010-09-04.
  3. "Heads of State, Heads of Government, Ministers for Foreign Affairs" (PDF). Protocol and Liaison Service, United Nations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-09-27. สืบค้นเมื่อ 2012-11-01.
  4. The White House Office of the Press Secretary (September 1, 2010). "Remarks by President Obama, President Mubarak, His Majesty King Abdullah, Prime Minister Netanyahu and President Abbas Before Working Dinner". WhiteHouse.gov. สืบค้นเมื่อ July 19, 2011.
  5. "Exchange of Letters". Permanent Observer Mission of Palestine to the United Nations. September 1978. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 October 2014. สืบค้นเมื่อ 19 July 2011.
  6. Safire, William, "On language: POTUS and FLOTUS," New York Times, October 12, 1997. Retrieved January 8, 2012.
  7. Noer, Michael; Perlroth, Nicole (November 11, 2009). "The World's Most Powerful People". Forbes. สืบค้นเมื่อ September 4, 2010.
  8. "The Most Powerful Man in the World is a Black Man – The Los Angeles Sentinel". Lasentinel.net. สืบค้นเมื่อ September 4, 2010.
  9. "Who should be the world's most powerful person?". The Guardian. London. January 3, 2008.
  10. Jon Meacham (December 20, 2008). "Meacham: The History of Power". Newsweek. สืบค้นเมื่อ September 4, 2010.
  11. Fareed Zakaria (December 20, 2008). "The NEWSWEEK 50: Barack Obama". Newsweek. สืบค้นเมื่อ September 4, 2010.
  12. "Transcript of the Constitution of the United States – Official". Archives.gov. สืบค้นเมื่อ September 4, 2010.
  13. The Influence of State Politics in Expanding Federal Power,' Henry Jones Ford, Proceedings of the American Political Science Association, Vol. 5, Fifth Annual Meeting (1908) Retrieved March 17, 2010
  14. Pfiffner, J. P. (1988). "The President's Legislative Agenda". Annals of the American Academy of Political and Social Science. 499: 22–35. doi:10.1177/0002716288499001002. ISSN 0002-7162.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
เว็บไซต์ประวัติประธานาธิบดี
เว็บไซต์เบ็ดเตล็ด