ปลาหนวดพราหมณ์หนวดเจ็ดเส้น
ปลาหนวดพราหมณ์หนวดเจ็ดเส้น | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Polynemidae |
สกุล: | Polynemus |
สปีชีส์: | P. paradiseus |
ชื่อทวินาม | |
Polynemus paradiseus Linnaeus, 1758 | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาหนวดพราหมณ์หนวดเจ็ดเส้น[1] หรือ ปลาหนวดพราหมณ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Polynemus paradiseus) ปลาน้ำกร่อยที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ อยู่ในวงศ์ปลากุเรา (Polynemidae) มีส่วนหัวขนาดเล็ก ตามีขนาดเล็กอยู่เกือบสุดปลายส่วนหัวและมีเยื่อไขมันคลุม ปากกว้างมีฟันซี่เล็กละเอียดบนขากรรไกร ลำตัวแบนข้าง ครีบอกยาว ส่วนที่เป็นเส้นยาวมีความยาวมากกว่าลำตัวถึง 2 เท่า โดยเฉพาะเส้นบนมีทั้งหมดข้างละ 10 เส้น ครีบหางเว้าลึกปลายแหลม เกล็ดเล็กละเอียดมีลักษณะเป็นปากฉลาม ตัวมีสีเงินวาวอมชมพูหรือสีเนื้อ หัวสีจางอมชมพูหรือสีเนื้อ ครีบสีจาง ด้านท้องสีจาง
มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร ใหญ่สุดพบถึง 20 เซนติเมตร นิยมอยู่เป็นฝูง บางครั้งหากินด้วยการหงายท้องล่าเหยื่อ พบมากในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำโขงตอนล่าง ในต่างประเทศพบได้จนถึงบอร์เนียวและเกาะสุมาตรา
เป็นปลาที่นิยมใช้บริโภคโดยการปรุงสดและทำปลาตากแห้ง นิยมตกเป็นเกมกีฬา อีกทั้งด้วยความสวยงามของหนวดที่ยาว ทำให้ได้รับความนิยมในแง่ของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย แต่เลี้ยงให้รอดได้ยากมาก เนื่องจากเป็นปลาที่เปราะบาง มักตายอย่างง่าย ๆ จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูงแต่ในต่างประเทศนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเป็นอย่างมาก โดยมีราคาเฉลี่ย 500 ถึง 1,500 บาท แล้วแต่ขนาดและความสมบูรณ์ของปลา[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 257 หน้า. หน้า 141. ISBN 974-00-8738-8