กรรมวาจก
กรรมวาจก [กำมะวาจก] (อังกฤษ: passive voice) คือหน่วยสร้างวาจกที่พบได้ในหลายภาษา[1] ในประโยคกรรมวาจก ประธานมีบทบาทเป็นผู้รับการกระทำหรือผู้ทรงสภาพของกริยาหลัก กล่าวคือ เป็นสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิตที่ได้รับผลกระทบหรือเปลี่ยนสภาพจากเหตุการณ์ที่ผู้กระทำก่อขึ้น[2] ต่างจากประโยคกรรตุวาจกที่ซึ่งประธานมีบทบาทเป็นผู้กระทำ ตัวอย่างเช่น ในประโยคกรรมวาจก ต้นไม้ถูกโค่น ประธาน (คือ ต้นไม้) แสดงถึงผู้รับการกระทำแทนที่จะเป็นผู้กระทำกริยา ในทางตรงกันข้าม ประโยค มีคนโค่นต้นไม้ และ ต้นไม้ล้มแล้ว นั้นเป็นประโยคกรรตุวาจกทั้งคู่
ในประโยคกรรมวาจกโดยทั่วไปนั้น สิ่งที่มักจะแสดงออกผ่านกรรม (หรืออาร์กิวเมนต์อื่นในบางกรณี) จะย้ายมาแสดงออกผ่านประธานแทน ในขณะที่สิ่งที่มักจะแสดงออกผ่านประธานจะถูกละออกไปหรือย้ายมาแสดงออกผ่านส่วนเติมต่อของประโยค ดังนั้น การเปลี่ยนนัยความหมายเชิงกรรตุวาจกเป็นนัยความหมายเชิงกรรมวาจกจึงเป็นกระบวนการลดหน่วยพึ่งพาของกริยา (หรืออีกนัยหนึ่งคือ "กระบวนการลดการถ่ายผ่าน") เพราะนัยความหมายเชิงสกรรมกริยาได้ถูกลดทอนหรือเปลี่ยนเป็นนัยความหมายเชิงอกรรมกริยาในทางวากยสัมพันธ์[3] อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป เช่น ในภาษาญี่ปุ่น หน่วยสร้างกรรมวาจกไม่จำเป็นต้องทำให้หน่วยพึ่งพาของกริยาลดลง[4]
ภาษาหลายภาษามีทั้งกรรตุวาจกและกรรมวาจก ทำให้การสร้างประโยคมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเนื่องจากทั้งผู้กระทำและผู้รับการกระทำในทางอรรถศาสตร์มีโอกาสรับบทบาทเป็นประธานในทางวากยสัมพันธ์ได้[5] กรรมวาจกช่วยให้ผู้พูดสามารถจัดโครงสร้างสัมพันธสารด้วยการวางบุคคลหรือสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากผู้กระทำไว้ในตำแหน่งประธานได้ กลวิธีนี้อาจใช้เพื่อเน้นผู้รับการกระทำหรือบทบาทใจความหลักอื่น ๆ ให้เด่นขึ้น[5] นอกจากนี้ยังอาจเป็นประโยชน์เมื่อผู้รับการกระทำเป็นหัวข้อของบทสนทนาที่กำลังดำเนินอยู่[6] หรือเมื่อผู้พูดต้องการหลีกเลี่ยงการระบุตัวตนของผู้กระทำ
อ้างอิง
แก้- ↑ Siewierska, Anna (1984). The Passive: A Comparative Linguistic Analysis. London: Croom Helm.
- ↑ O'Grady, William; John Archibald; Mark Aronoff; Janie Rees-Miller (2001). Contemporary Linguistics: An Introduction (Fourth ed.). Boston: Bedford/St. Martin's. ISBN 978-0-312-24738-6.
- ↑ Kroeger, Paul (2005). Analyzing Grammar: An Introduction. Cambridge University Press. ISBN 978-0521816229.
- ↑ Booij, Geert E.; Christian Lehmann; Joachim Mugdan; Stavros Skopeteas (2004). Morphologie / Morphology. Walter de Gruyter. ISBN 978-3-11-019427-2. สืบค้นเมื่อ 13 September 2013.
- ↑ 5.0 5.1 Saeed, John (1997). Semantics. Oxford: Blackwell. ISBN 978-0-631-20035-2.
- ↑ Croft, William (1991). Syntactic Categories and Grammatical Relations: The Cognitive Organization of Information. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-12090-4.