อัมเพิลเม็นเชิน
อัมเพิลเม็นเชิน (เยอรมัน: Ampelmännchen, ออกเสียง: [ˈampl̩ˌmɛnçən] ( ฟังเสียง), แปลตรงตัว: "มนุษย์ไฟจราจรตัวน้อย"; รูปบอกความเล็กของคำ Ampelmann, [ampl̩ˈman]) เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนไฟจราจรสำหรับคนข้ามในประเทศเยอรมนี อัมเพิลเม็นเชินเป็นสัญลักษณ์อันเป็นที่รักอย่างหนึ่งในอดีตเยอรมนีตะวันออก[1] และนับตั้งแต่การรวมเยอรมนี สัญลักษณ์นี้ได้เข้าไปอยู่ในใจของผู้คนและกลายเป็นของที่ระลึกยอดนิยมในธุรกิจการท่องเที่ยว[1]
แนวคิดและการออกแบบ
แก้นับตั้งแต่ระบบสัญญาณไฟจราจรข้ามเริ่มแพร่หลายในทศวรรษ 1950 แต่ละรัฐได้มีการออกแบบระบบของตนเองก่อนที่จะมีการกำหนดมาตรฐานร่วมในภายหลัง[2] ในเวลานั้น จักรยานและคนเดินถนนใช้สัญญาณไฟจราจรแบบเดียวกับสำหรับรถ[3] ในเบอร์ลินตะวันออก คาร์ล เพเกลา (1927–2009) นักจิตวิทยาจราจร ได้สร้างอัมเพิลเม็นเชินขึ้นมาในปี 1961 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งสำหรับเสนอรูปแบบระบบไฟจราจรใหม่ เพเกลาวิจารณ์ว่าระบบไฟจราจรที่มีอยู่อยู่ (แดง เหลือง เขียว) ใช้งานไม่ได้สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไม่สามารถแยกความต่างของสีได้ ซึ่งคิดเป็นราว 10% ของประชากร นอกจากนี้ ไฟจราจรยังมีขนาดเล็กและความสว่างไม่อาจสู้กับแสงไฟโฆษณาและแสงอาทิตย์ได้ เพเกลาจึงเสนอให้คงสีทั้งสามไว้ ในขณะเดียวกันก็นำเสนอรูปร่างสำหรับแต่ละสีที่สามารถเข้าใจได้โดยสัญชาตญาณ แนวคิดของเขาได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน แต่ก็ถูกยกเลิกไปหลังมีการประเมินแล้วว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนไฟจราจรที่มีอยู่มีราคาสูงมาก[4]
สำหรับการจราจรทางเท้า ไม่มีข้อจำกัดทางกายหรืออายุเหมือนการจราจรทางรถ ดังนั้นไฟจราจรสำหรับผู้เดินเท้าควรจะเข้าถึงและใช้งานได้โดยทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการด้วย เพเกลาจึงนำเอาแผนการเดิมของตนกลับมาเสนอใหม่ โดยสัญลักษณ์ตัวคนสีแดงกางแขนออกสองข้าง หันหน้าเข้าหาผู้ชม มีความเกี่ยวเนื่องกันกับไม้กั้น แทนสัญญาณ "หยุด" ในขณะที่สัญลักษณ์ตัวคนสีเขียวหันข้าง ก้าวขาสองข้างกว้างออกจากกัน มีความสัมพันธ์กันกับลูกศรที่มีพลวัต แทนสัญญาณ "ไปต่อได้" สำหรับไฟเหลืองในสัญญาณจราจร เขาไม่ได้นำมาออกแบบด้วยเนื่องจากธรรมชาติของการจราจรทางเท้าที่ไม่มีความเร่งรีบ[4]
เพกลาได้ให้อันเนอลีเซอ เวกเนอร์ เลขานุการของตน วาดรูปตัวอัมเพิลเม็นเชินขึ้นตามคำเสนอของเขา ท้ายที่สุดมีการนำแบบที่ดู "ทะเล้น" และ "ร่าเริง" และสวมหมวกแบบ "กระฎุมพีตัวน้อย" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพของเอริช ฮ็อนเน็คเคอร์ สวมหมวกฟาง[5] ไปเสนอและสร้างเป็นต้นแบบแรกที่เฟาเอเบ-ล็อยช์เทินเบาในเบอร์ลิน[4] และในวันที่ 13 ตุลาคม 1961 อัมเพิลเม็นเชินได้รับการนำเสนออย่างเป็นทางการ แม้ในเวลานั้นสื่อและสาธารณชนจะพุ่งเป้าความสนใจไปที่ระบบไฟจราจรใหม่สำหรับคนเดินเท้า ไม่ใช่ที่ตัวสัญลักษณ์[4]
หลายทศวรรษต่อมา ดานีเอล ม็อยเริน จาก แดร์ชปีเกิล นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ภาษาเยอรมัน บรรยายอัมเพิลเม็นเชินว่าเป็นการรวมกันระหว่าง "ความสวยงามกับความมีประสิทธิภาพ ความมีเสน่ห์กับการใช้งานได้ [และ] ความมีไมตรีกับการบรรลุหน้าที่"[6] บ้างมองอัมเพิลเม็นเชินแล้วนึกถึงตัวละครคล้ายเด็กเนื่องด้วยหัวที่โตและขาที่สั้น บ้างนึกถึงผู้นำในศาสนาบางคน[7]
อัมเพิลเม็นเชินได้รับความนิยมมาก ดังที่สังเกตได้จากในต้นทศวรรษ 1980 ผู้ปกครองและคุณครูได้รวมกันเสนอให้สัญลักษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการให้การศึกษาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับเด็ก[4] กระทรวงมหาดไทยเยอรมนีตะวันออกมีแนวคิดที่จะนำเอาตัวละครคนข้ามทั้งสองมาทำให้มีชีวิตและใช้งานเป็น "ผู้แนะนำ" อัมเพิลเม็นเชินได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ และได้รับการตอบรับสูง ปรากฏในการ์ตูนช่องแม้ในสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับไฟจราจร อัมเพิลเม็นเชินตัวแดงมักเป็นตัวที่ไปปรากฏในสถานการณ์อันตราย และอัมเพิลเม็นเชินตัวเขียวเป็นคนคอยแนะนำ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเกมเกี่ยวกับอัมเพิลเม็นเชินโดยความร่วมมือกับยุงเงอ เว็ลท์ และมีการสร้างเรื่องราวอัมเพิลเม็นเชินมานำเสนอทางวิทยุ[8] เรื่องอัมเพิลเม็นเชินที่เป็นภาพเคลื่อนไหวบางส่วนภายใต้ชื่อ ชตีเฟิลเชินอุนท์ค็อมพัสคัลเลอ ได้รับการถ่ายทอดเดือนละครั้งในฐานะส่วนหนึ่งของรายการโทรทัศน์ก่อนนอนสำหรับเด็กในเยอรมนีตะวันออก ซันท์เม็นเชิน รายการนี้มีจำนวนผู้ชมมากที่สุดรายการหนึ่งนเยอรมนีตะวันออก[9] เทศกาลในเช็กเกียให้รางวัลภาพยนตร์ว่าด้วยการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน ได้ให้รางวัลแก่ ชตีเฟิลเชินอุนท์ค็อมพัสคัลเลอ ในสาขารางวัลพิเศษโดยคณะกรรมการ และรางวัลหลักสำหรับความสำเร็จในภาพรวมในปี 1984[9]
หลังการรวมชาติ
แก้หลังการรวมชาติเยอรมนีในปี 1990 ได้มีความพยายามสร้างมาตรฐานไฟจราจรใหม่ให้เป็นตามมาตรฐานของเยอรมนีตะวันตก ป้ายถนนและป้ายจราจรในเยอรมนีตะวันออกถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยแบบตะวันตกเนื่องด้วยแบบอักษรที่ต่างกัน[10] รายการให้ความรู้ที่ใช้อัมเพิลเม็นเชินหายไป นำไปสู่การเรียกร้องให้อนุรักษ์อัมเพิลเม็นเชินในฐานะวัฒนธรรมของเยอรมนีตะวันออก[1][11]
มาร์คุส เฮ็คเฮาเซิน นักออกแบบกราฟิกจากทือบิงเงินในเยอรมนีตะวันตก และผู้ก่อตั้งบริษัท อัมเพิลมัน จำกัด ในเบอร์ลิน[1] ได้สังเกตเห็นอัมเพิลเม็นเชินครั้งแรกเมื่อเดินทางไปเยอรมนีตะวันออกในทศวรรษ 1980 ระหว่างที่เขามองหาโอกาสในการออกแบบใหม่ ๆ ในปี 1995 เขาได้มีแนวคิดในการเก็บรวบรวมอัมเพิลเม็นเชินที่ถูกรื้อถอนและสร้างไฟใหม่ขึ้นมา แต่เขาพบอุปสรรคในการตามหาอัมเพิลเม็นเชินแบบดั้งเดิม กระทั่งได้ติดต่อกับเฟาเอเบ ซิกนาลเท็ชนิค (ปัจจุบันคือบริษัท ซิกนาลเท็ชนิคโรสแบร์ค จำกัด) เพื่อหาสต็อกคงเหลือ บริษัทนี้ยังคงผลิตอัมเพิลเม็นเชินและชื่นชอบแนวคิดการตลาดของมาร์คุส แบบจำลองไฟจราจรอัมเพิลเม็นเชินหกชิ้นแรกของมาร์คุสเป็นที่ชื่นชอบของสาธารณชน ทั้งในหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ไปจนถึงนิตยสารการออกแบบ ละครโทรทัศน์ กูเทอไซเทิน ชเล็ชเทอไซเทิน ยังใช้อัมเพิลเม็นเชินในฉากร้านกาแฟของเรื่อง[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "East German Loses Copyright Battle over Beloved Traffic Symbol". Deutsche Welle. 17 June 2006. สืบค้นเมื่อ 6 December 2008.
- ↑ Heckhausen, Markus (1997). "Die Entstehung der Lichtzeichenanlage". Das Buch vom Ampelmännchen. pp. 15–17.
- ↑ Jacobs, Stefan (26 April 2005). "Ein Männchen sieht rot". Der Tagesspiegel (ภาษาเยอรมัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 February 2009. สืบค้นเมื่อ 6 February 2009.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Peglau, Karl (1997). "Das Ampelmännchen oder: Kleine östliche Verkehrsgeschichte". Das Buch vom Ampelmännchen. pp. 20–27.
- ↑ "East Germany's iconic traffic man turns 50". The Local. 13 October 2013. สืบค้นเมื่อ 18 May 2014.
- ↑ Meuren, Daniel (26 September 2001). "Die rot-grüne Koalition". Der Spiegel (ภาษาเยอรมัน). สืบค้นเมื่อ 6 February 2009.
Das 40 Jahre alte Ampelmännchen sozialistischer Prägung verbindet Schönheit mit Effizienz, Charme mit Zweckmäßigkeit, Gemütlichkeit mit Pflichterfüllung.
- ↑ 7.0 7.1 Heckhausen, Markus. "Ampelmännchen im zweiten Frühling". nnchen in Rostock. pp. 52–57.
- ↑ Vierjahn, Margarethe (1997). "Verkehrserziehung für Kinder". Das Buch vom Ampelmännchen (ภาษาเยอรมัน). pp. 28–30.
- ↑ 9.0 9.1 Rochow, Friedrich (1997). "Stiefelchen und Kompaßkalle". Das Buch vom Ampelmännchen. pp. 32–41.
- ↑ Gillen, Eckhart (1997). Das Buch vom Ampelmännchen. p. 48.
- ↑ "Ampelmännchen is Still Going Places". Deutsche Welle. 16 June 2005. สืบค้นเมื่อ 6 December 2008.