เอริช ฮ็อนเน็คเคอร์

นักการเมืองคอมมิวนิสต์เยอรมัน

เอริช ฮ็อนเน็คเคอร์ (เยอรมัน: Erich Honecker) เป็นอดีตประมุขแห่งรัฐของประเทศเยอรมนีตะวันออก ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1976 จนถึง 1989 ก่อนจะเกิดการทลายกำแพงเบอร์ลินเพียงเดือนเดียว เขาดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี ก่อนจะได้รับเลือกเป็นประธานสภาแห่งรัฐแทนวิลลี ชโตฟในปี 1976 และดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประมุขแห่งเยอรมนีตะวันออก เขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตซึ่งสนับสนุนกองทัพในประเทศและการมีอำนาจของเขา

เอริช ฮ็อนเน็คเคอร์
Erich Honecker
เอริช ฮ็อนเน็คเคอร์ในปี พ.ศ. 2519
เลขาธิการพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี
ดำรงตำแหน่ง
3 พฤษภาคม 1971 – 18 ตุลาคม 1989
ก่อนหน้าวัลเทอร์ อุลบริชท์
ถัดไปเอก็อน เคร็นทซ์
ประธานสภาแห่งรัฐ
ดำรงตำแหน่ง
29 ตุลาคม 1976 – 24 ตุลาคม1989
หน.รัฐบาลวิลลี ชโตฟ
ก่อนหน้าวิลลี ชโตฟ
ถัดไปเอก็อน เคร็นทซ์
ประธานสภากลาโหมแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
3 พฤษภาคม 1971 – 18 ตุลาคม 1989
ก่อนหน้าวัลเทอร์ อุลบริชท์
ถัดไปเอก็อน เคร็นทซ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 สิงหาคม ค.ศ. 1912(1912-08-25)
น็อยน์เคียร์เชิน จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต29 พฤษภาคม ค.ศ. 1994(1994-05-29) (81 ปี)
ซานติอาโก ประเทศชิลี
ลายมือชื่อ

เขาเริ่มต้นเส้นทางการเมืองในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 โดยการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี ทำให้เขาถูกพรรคนาซีจับกุมและถูกจำคุก[1] เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาจึงได้รับอิสรภาพและเข้าสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้ง และเขาได้ก่อตั้งองค์กรเยาวชนของพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี มีชื่อว่า "ยุวชนเสรีเยอรมัน" ในปี 1946 และเป็นประธานองค์กรนี้จนถึงปี 1955 และเมื่อเขาดำรงตำแหน่งเลขานุการฝ่ายความมั่นคงของพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี เขามีส่วนสำคัญในการสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี 1961 [2] และยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการสั่งยิงผู้ที่พยายามหลบหนีออกจากประเทศหรือข้ามฝั่งไปตามแนวกำแพงและชายแดน[3]

ในปี 1970 เขาแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับวิลลี ชโตฟ[2] โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากเลโอนิด เบรจเนฟ[2] ซึ่งทำให้เขาได้รับตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐและเป็นประมุขแห่งเยอรมนีตะวันออกในเวลาต่อมา ภายใต้การปกครองของเขา เขาได้นำหลักการสังคมนิยมตลาดมาใช้และผลักดันเยอรมนีตะวันออกสู่ประชาคมโลกได้สำเร็จ[4] และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จในฐานะนักการเมืองและประมุขแห่งรัฐของเขา[5]

เมื่อความตึงเครียดในสงครามเย็นเริ่มคลี่คลายลงในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 และมิฮาอิล กอร์บาชอฟได้ใช้นโยบายเปเรสตรอยคา-กลัสนอสต์ ฮ็อนเน็คเคอร์ได้คัดค้านนโยบายนี้ยกเว้นการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปบางอย่างในระบบการเมืองภายในประเทศ[6] ต่อมาประชาชนในประเทศเยอรมนีตะวันออกได้ประท้วงรัฐบาลของเขา[7][8] เขาได้เรียกร้องให้สหภาพโซเวียตสนับสนุนการปราบปรามผู้เห็นต่างและผู้ที่ออกมาชุมนุมดังกล่าว[8] แต่กอร์บาชอฟปฏิเสธ[8][9] ต่อมาเขาถูกบังคับให้ลาออกจากประธานสภาแห่งรัฐโดยพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนีในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2532 เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาล[10] แต่ได้ประสบความล้มเหลวและนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออก และทั้งสองประเทศรวมกันเป็นประเทศเยอรมนีจนถึงปัจจุบัน

หลังการรวมประเทศเยอรมนีในปี 1990 เขาพยายามหลบหนีออกนอกประเทศโดยทำเรื่องขอลี้ภัยที่สถานเอกอัครราชทูตชิลีในกรุงมอสโก แต่เขาได้ถูกส่งตัวกลับประเทศเยอรมนี ในปี 1992 เพื่อรับการพิจารณาคดีข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในสมัยที่เขายังเป็นประมุขแห่งรัฐ[11] แต่การดำเนินคดีดังกล่าวได้ยกเลิกเนื่องจากเขาป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย และเขาได้รับการปล่อยตัวไป เขาจึงลี้ภัยอยู่ในประเทศชิลีพร้อมครอบครัวของเขา และถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 29 พฤษภาคม 1994 ในวัย 81 ปี[12][13]

อ้างอิง

แก้
  1. Epstein, Catherine (2003). The Last Revolutionaries: German Communists and their century. Harvard University Press. p. 112.
  2. 2.0 2.1 2.2 Winkler, Heinrich August (2007). Germany: The Long Road West, Vol. 2: 1933–1990. Oxford University Press. pp. 266–268.
  3. "Der unterschätzte Diktator". Der Spiegel (ภาษาเยอรมัน). Hamburg. 20 August 2012. p. 46.
  4. Honecker, Erich (1984). "The GDR: A State of Peace and Socialism". Calvin College German Propaganda Archive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-11.
  5. "Helsinki Final Act signed by 35 participating States". Organization for Security and Co-operation in Europe.
  6. Gedmin, Jeffrey (2003). The Hidden Hand: Gorbachev and the Collapse of East Germany. Harvard University Press. pp. 55–67.
  7. "The Opposition charges the SED with fraud in the local elections of May 1989 (May 25, 1989)". German History in Documents and Images.
  8. 8.0 8.1 8.2 Sebetsyen, Victor (2009). Revolution 1989: The Fall of the Soviet Empire. New York City: Pantheon Books. ISBN 978-0-375-42532-5.
  9. "Gorbachev in East Berlin". BBC News. 25 March 2009.
  10. "Plot to oust East German leader was fraught with risks". Chicago Tribune. 28 October 1990. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-19. สืบค้นเมื่อ 2021-07-11.
  11. "More Than 1,100 Berlin Wall Victims". Deutsche Welle. 9 August 2005. สืบค้นเมื่อ 8 August 2009.
  12. "Wo Honecker heimlich begraben wurde". Bild (ภาษาเยอรมัน). 25 August 2012.
  13. การลี้ภัยครั้งสุดท้ายของ ‘เอริค โฮเน็กเกอร์’ อดีตผู้นำเยอรมนีตะวันออก