โลมา
โลมา ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 10–0Ma ไมโอซีน – ปัจจุบัน | |
---|---|
โลมาปากขวด | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
อันดับฐาน: | Cetacea |
อนุอันดับ: | Odontoceti |
วงศ์: |
โลมา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจำพวกหนึ่ง อาศัยอยู่ทั้งในทะเล, น้ำจืด และน้ำกร่อย มีรูปร่างคล้ายปลา คือ มีครีบ มีหาง แต่โลมามิใช่ปลา เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีรก จัดอยู่ในอันดับArtiodactyla ใน อันดับฐานวาฬและโลมา (Cetacea) ซึ่งประกอบไปด้วย วาฬและโลมา ซึ่งโลมาจะมีขนาดเล็กกว่าวาฬมาก และจัดอยู่ในกลุ่มวาฬมีฟัน (Odontoceti) เท่านั้น
โลมา เป็นสัตว์ที่รับรู้กันเป็นอย่างดีว่าเฉลียวฉลาด มีความเป็นมิตรกับมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยชีวิตมนุษย์เมื่อยามเรือแตก จนกลายเป็นตำนานหรือเรื่องเล่าขานทั่วไป มีอุปนิสัยอยู่รวมกันเป็นฝูง บางฝูงอาจมีจำนวนมากถึงหลักพันถึงหลายพันตัว ว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว รวมถึงสามารถกระโดดหมุนตัวขึ้นเหนือน้ำได้ ชอบว่ายน้ำขนาบข้างหรือว่ายแข่งไปกับเรือ[1]
ศัพทมูลวิทยาและเทพปกรณัม
แก้คำว่า "Dolphin" ซึ่งเป็นชื่อสามัญในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกโลมา มาจากภาษากรีกโบราณคำว่า δελφίς "เดลฟิส" (Delphis) ในเทพปกรณัมกรีก ไดอะไนซัส เทพเจ้าแห่งไวน์และการเฉลิมฉลอง และหนึ่งในเทพโอลิมปัส ได้แปลงกายลงมาเป็นมนุษย์ ชื่อ เดลฟิส และได้โดยสารเรือข้ามจากเกาะอิคาเรียไปยังเกาะนาซอส ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไดอะไนซัสนั้นแม้จะเป็นเทพ ทว่าไม่มีญาณหยั่งรู้ว่าเรือลำที่ตนโดยสารไปนั้นเป็นเรือโจร ลูกเรือจะปล้นผู้โดยสารทุกคนถ้วนหน้า เดลฟิสถูกลูกเรือปล้น และคิดจะจับไปขายเป็นทาส ด้วยเหตุนี้ เดลฟิสจำต้องแสดงตนเป็นเทพเจ้า และสาปให้เรือมีเถาองุ่นขึ้นเต็ม มีเสียงขลุ่ยดังขึ้น พวกลูกเรือตกใจและกระโดดน้ำหนีไปหมด และได้กลายร่างเป็นโลมา มาจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อกลายเป็นโลมา นิสัยของลูกเรือก็เปลี่ยนไปกลายเป็นสัตว์ที่ใจดี มีเมตตา ทั้งยังเป็นผู้ช่วยของเทพเจ้าแห่งมหาสมุทร คือ โพไซดอน อีกด้วย ด้วยเหตุนี้โลมาจึงได้รับเกียรติจากโพไซดอน บันดาลให้เป็นกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า กลุ่มดาวโลมา (Delphinus)[2]
คำว่า "โลมา" ในภาษาไทย มีรากฐานมาจากคำว่า "ลูมบาลูมบา" (Lumba-lumba) ในภาษามลายู ในภาษาในทวีปเอเชียอื่น ๆ โลมามักมีการเปรียบเทียบกับหมู เช่น ในภาษาจีน โลมามีความหมายตรงตัวว่า "ลูกหมูทะเล" (海豚) และ ในภาษาเวียดนาม โลมามีความหมายตรงตัวว่า "ปลาหมู" (Cá heo)
ลักษณะ
แก้โลมา อาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปในมหาสมุทรโดยทั่วไป ลักษณะของโลมาที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ มีรูปร่างเพรียวยาวคล้ายตอร์ปิโดหรือกระสวย ส่วนใหญ่มีปลายปากยื่นแหลม แต่ก็มีบางชนิดที่มีส่วนหัวกลมมนคล้ายแตงโมหรือบาตรพระ มีหางแบนในแนวนอน ไม่ใช่แนวตั้งเหมือนปลา เพื่อช่วยในการพุ้ยน้ำในแนวขึ้น-ลง ไม่มีขนปกคลุมลำตัว ไม่มีเกล็ด รวมทั้งไม่มีเมือกด้วย[3]
นอกจากนี้แล้วยังมีอวัยวะต่าง ๆ ทุกส่วนเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป หากแต่ละส่วนของอวัยวะจะปรับเปลี่ยนต่างไปจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป ดังนี้ จมูกของโลมามีไว้เพื่อหายใจ แต่จมูกนั้นต่างไปจากจมูกของสัตว์อื่น ๆ เพราะตั้งอยู่กลางกระหม่อมเป็นรูกลม เพื่อให้สะดวกต่อการเชิดหัวขึ้นหายใจเหนือน้ำ จากจมูกมีท่อหายใจต่อลงมาถึงปอดในตัว จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำผ่านเหงือกเข้าไปในปอดเพื่อช่วยหายใจเหมือนปลาหรือสัตว์น้ำอย่างอื่น และจมูกของโลมาตรงส่วนนี้ไม่สามารถใช้ในการรับกลิ่นได้เหมือนกับสัตว์อื่นทั่วไป ซึ่งในบรรดาวาฬมีฟันทุกชนิดต่างก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด[4] หูของโลมานั้นเป็นเพียงแค่รูขนาดเล็กติดอยู่ด้านข้างของหัวเท่านั้น มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถรับคลื่นเสียงใต้น้ำได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะโลมาเหมือนวาฬตรงที่เป็นสัตว์ที่ติดต่อสื่อสารกันด้วยคลื่นเสียงที่ปล่อยออกมา โดยเฉพาะกับภาษาที่โลมาสื่อสารกันด้วยเสียงที่มีคลื่นความถี่สูง โลมามีดวงตาไม่เล็กเหมือนอย่างวาฬ แววตาแจ่มใส เหมือนตาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่น มีเปลือกตาปิดได้ และในเวลากลางคืนตาก็จะเป็นประกาย คล้ายตาแมว ตาของโลมาไม่มีเมือกหุ้มเหมือนตาปลา และมองเห็นได้ไกลถึง 50 ฟุต เมื่ออยู่ในอากาศ สีผิวของโลมาแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ส่วนมากจะออกไปในโทนสีเทา ตั้งแต่เข้มเกือบดำ จนกระทั่งถึงเกือบขาว แต่โดยทั่วไปโลมาจะมีสีผิวแบบ 2 สีตัดกัน ด้านบน เป็นสีเทาเข้ม ด้านล่างเป็นสีเกือบขาว เพื่อพรางตัวในทะเล ไม่ให้ศัตรูเห็น เพราะเมื่อมองจากด้านบน สีเข้มจะกลืนกับสีน้ำทะเล และถ้ามองจากด้านล่างขึ้นไป สีขาวก็จะกลืนเข้ากับแสงแดดเหนือผิวน้ำ
โลมาถือเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว มีอัตราความเร็วในการว่ายน้ำประมาณ 55-58 กิโลเมตร/ชั่วโมง[5]
สติปัญญา
แก้โลมานั้นเป็นสัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาดมาก เชื่อว่า ความฉลาดของโลมานั้นเทียบเท่าเด็กตัวเล็ก ๆ เลยทีเดียว หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะฉลาดกว่าชิมแปนซี ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดด้วยซ้ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะโลมามีขนาดของสมองเมื่อเทียบกับลำตัวแล้วนับว่าใหญ่มาก แถมภายในสมองยังซับซ้อนอีกด้วย โดยเฉพาะโลมาปากขวดนั้นถึงกับมีขนาดของสมอง เมื่อเทียบกับลำตัวใหญ่แล้ว ถือเป็นสัตว์ที่มีขนาดสมองใหญ่เป็นที่สองรองจากมนุษย์[6] และสมองส่วนซีรีบรัม อันเป็นส่วนของความจำและการเรียนรู้ ก็มีขนาดใหญ่มาก เป็นศูนย์รวมของประสาทการรับกลิ่น, การมองเห็น และการได้ยิน จนอาจเชื่อได้ว่าแท้จริงแล้ว โลมาอาจมีความฉลาดเทียบเท่ากับมนุษย์ก็เป็นได้ ซึ่งจากความฉลาดแสนรู้ของโลมา จึงทำให้เป็นที่นิยมนำมาฝึกแสดงโชว์ต่าง ๆ ตามสวนสัตว์และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ [7]
นอกจากนี้แล้ว โลมายังเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมชอบช่วยเหลือมนุษย์ยามเมื่อเรือแตกหรือใกล้จะจมน้ำ ทั้งนี้เพราะโลมาเป็นสัตว์ที่รักสนุกและขี้เล่น ที่โลมาช่วยชีวิตมนุษย์อาจเป็นเพราะต้องการเข้ามาเล่นสนุกเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเป็นสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่มักจะดุนลูกขึ้นไปหายใจบนผิวน้ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้าลูกโลมาเสียชีวิตระหว่างคลอด จะพบว่าแม่โลมาจะพยายามดุนศพลูกเอาไว้ให้ใกล้ผิวน้ำมากที่สุด[8] โดยปกติแล้ว เนื้อโลมาไม่ใช่อาหารหลักเหมือนสัตว์เศรษฐกิจทั่วไป แต่ก็มีบางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่นนิยมบริโภคเนื้อโลมาและวาฬ เดิมญี่ปุ่นนั้นล่าวาฬเป็นหลัก แต่ต่อมาได้มีการอนุรักษ์และกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น จึงหันมาล่าโลมาแทน โดยเพิ่มปริมาณการล่าโลมาขึ้นเป็นสี่เท่า ทำให้โลมาในทะเลญี่ปุ่นลดน้อยลงเป็นอันมาก[2]
การจำแนก
แก้โดยทั่วไปแล้ว โลมาจะถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ Delphinidae ซึ่งจำแนกออกเป็นสกุลต่าง ๆ ได้ทั้งสิ้น 17 สกุล ได้แก่[9]
- Cephalorhynchus
- Delphinus
- Feresa
- Grampus
- Lagenodelphis
- Lagenorhynchus
- Globicephala
- Lissodelphis
- Orcaella
- Orcinus
- Peponocephala
- Pseudorca
- Sotalia
- Sousa
- Stenella
- Steno
- Tursiops
โลมาแบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ราว 40 ชนิด แต่ก็ยังมีโลมาบางประเภทที่ถูกจัดออกเป็นวงศ์ต่างออกไป ได้แก่
- Iniidae (โลมาแม่น้ำอเมซอน)
- Phocoenidae (พอร์พอยส์, โลมาขนาดเล็ก)
- Platanistidae (โลมาแม่น้ำอินเดีย)
- Pontoporiidae (โลมาแม่น้ำลา พลาตา)
- Lipotidae (โลมาแม่น้ำแยงซีเกียง)[1] [7]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 วาฬและโลมา หน้า 37-42, "สัตว์สวยป่างาม" (ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, สิงหาคม 2518)
- ↑ 2.0 2.1 δελφίς, Henry George Liddell, Robert Scott, A Greek-English Lexicon, on Perseus Digital Library
- ↑ วาฬและโลมา
- ↑ "เปิดโลกสัตว์หรรษา". ไทยพีบีเอส. August 21, 2016. สืบค้นเมื่อ August 22, 2016.[ลิงก์เสีย]
- ↑ หน้า 104, ความสามารถพิเศษของสัตว์. "โลกเร้นลับของสิ่งมีชีวิต" แปลโดย ขวัญนุช คำเมือง (พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ มกราคม 2543) ISBN 974-472-262-2
- ↑ "โลมา"ฉลาดรองจากคน! จากข่าวสด
- ↑ 7.0 7.1 โลมา จากพจนานุกรมออนไลน์
- ↑ "ภาพน้ำตาซึม!! แม่โลมาตะเกียกตะกายยื้อชีวิตลูกน้อย จากผู้จัดการออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-01. สืบค้นเมื่อ 2012-12-10.
- ↑ "Delphinidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.