โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นโรงเรียนประจำชายล้วน เดิมคือโรงเรียนราชวิทยาลัย พระราชทานกำเนิดโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะถูกยุบรวมเป็นวชิราวุธวิทยาลัย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และถูกฟื้นฟูใหม่อีกครั้งโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระมหากรุณารับโรงเรียนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประกอบในนามของโรงเรียน และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันนี้จึงนับเป็นวันเกิดหรือวันสถาปนาโรงเรียน ณ ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
King's College
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ชื่ออื่นราชวิทย์ ราชวิทยาลัย
ประเภทโรงเรียนประจำชายล้วน
(สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
สถาปนา1 มิถุนายน พ.ศ. 2507
สีสีฟ้า-สีทอง
ต้นไม้ต้นราชพฤกษ์

ประวัติ

แก้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กระทรวงธรรมการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับอยู่ประจำขึ้นโปรดให้จัดการศึกษาแบบพับลิคสคูล (Public School) ของอังกฤษ ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 13 หน้า 269 ลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2439 โดยมีพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ อธิบดีกรมศึกษาธิการเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการมีการศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนไทย-อังกฤษ สระบุรี" แต่ยังไม่ได้สร้างเพราะการคมนาคมไม่สะดวก

สมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (2440–2446)

แก้

พระราชทานนามว่า King’s College โปรดให้เรียกเป็นภาษาไทยว่า โรงเรียนราชวิทยาลัย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน ขณะนั้นเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนที่ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2440 ครูใหญ่คนแรกเป็นชาวอังกฤษชื่อ มิสเตอร์ เอซิล การ์เตอร์ สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สถานที่ตั้งโรงเรียน เดิมเป็นจวนเก่าของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ต่อมาสถานที่เริ่มคับแคบทางกรรมการโรงเรียนจึงนำเรื่องกราบบังคมทูลทรงมีพระกรุณาพระราชทานที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่ ณ อำเภอสระปทุม จังหวัดพระนคร มีเนื้อที่ 115 ไร่ แต่โรงเรียนต้องปิดทำการสอนชั่วคราวในปี พ.ศ. 2446 เพราะเกิดโรคระบาดแพร่ไปทั่วกรุงเทพมหานคร

สมัยสายสวลี (2447–2453)

แก้

ทรงพระกรุณาให้เปิดโรงเรียน ณ โรงเลี้ยงเด็กของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ตำบลโรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมืองพระนคร เป็นการชั่วคราว ส่วนโครงการก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ที่สระปทุมก็ถูกยกเลิกเพราะเงินพระคลังข้างที่ขาด

สมัยบางขวาง (2454–2468)

แก้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงยุติธรรมได้สร้างโรงเรียนกฎหมายแห่งใหม่ที่ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี แต่ยังขาดครูและนักเรียนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤษดากร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจึงขอพระราชทานโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงธรรมการให้โอนมาอยู่ในการปกครองของกระทรวงยุติธรรม โดยมีข้อกำหนดว่านักเรียนต้องเรียนภาษาลาตินและวิชากฎหมาย

โรงเรียนราชวิทยาลัยสมัยบางขวาง เปิดเรียนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ครูใหญ่คนที่ 2 เป็นชาวอังกฤษชื่อ มิสเตอร์เอไตร มาร์ติน สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงเสริมสร้างให้โรงเรียนราชวิทยาลัยเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง เป็นโรงเรียนเดียวในสยามที่ได้รับเกียรติให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในยุโรปได้โดยไม่ต้องสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยมาขึ้นกับสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและทรงรับไว้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในปี พ.ศ. 2469 ด้วยสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเพราะผลพวงจากสงครามโลก ครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยไปรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า วชิราวุธวิทยาลัยในปี ๒๔๗๔ คณะครูและนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย จดทะเบียนสมาคมราชวิทยาลัยขึ้นเพื่อฟื้นฟูโรงเรียนราชวิทยาลัยให้กลับคืนใหม่อีกครั้ง แต่ก็มีอุปสรรคเรื่องเงินมาตลอดในปี ๒๕๐๑ สมาคมราชวิทยาลัย ได้มีมติตั้งราชวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อการศึกษาขึ้น เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนให้สำเร็จ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซาบซึ้งในเจตนาจึงดำเนินการมอบโรงเรียนเตรียมอุดมสามพรานให้ทั้งที่ดินและอาคาร

สมัยสามพราน (2507 ถึงปัจจุบัน)

แก้

ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ขั้นตอนการจัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ที่โรงเรียนเตรียมอุดมสามพราน ที่ดินแปลงในขณะนั้นมีพื้นที่ 51 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา มีตึกทำเนียบพร้อมห้องครัวหนึ่งหลัง อาคารเรียนกึ่งถาวร 8 ห้องเรียนฝาไม้ พื้นเทปูน1หลัง หอนอนบรรจุนักเรียนหอละ 105 คน 2 หลัง โรงอาหารมีเวทีใช้เป็นห้องประชุม 1 หลัง โรงเก็บเรือ 1 หลัง บ้านพักริมน้ำ 5 หลัง บ้านพักคนงาน 2 แถว พร้อมบ่อน้ำบาดาล เครื่องสูบน้ำ ซึ่งได้ใช้สถานที่ทำเนียบสามพรานหรือบ้านพักตากอากาศเดิมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น

นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (บุตรของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ซึ่งเมื่อครั้งท่านยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ได้เคยเป็นผู้ตรวจการศึกษาและคอยควบคุมดูแลโรงเรียนราชวิทยาลัย และเป็นผู้กราบบังคมทูลรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น ได้ตระหนักถึงปณิธานอันแรงกล้าของชาวราชวิทย์ที่จักจัดตั้งโรงเรียนที่ตนเองรักและเทิดทูนกลับมาให้ได้ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านเลือกที่จะให้สมาคมราชวิทยาลัยเข้ามาใช้พื้นแผ่นดินแห่งนี้เพื่อเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัย ในที่สุดความปรารถนาอันแรงกล้าของบรรดาครู และนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย ก็บรรลุจุดหมายปลายทาง โดยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงศึกษาธิการ (หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล) และประธานกรรมการ ราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ร่วมกันวางโครงการจัดตั้ง และดำเนินกิจการ โรงเรียนราชวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมราชวิทยาลัย นำผู้แทนของสมาคมอันประกอบด้วย, พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) องคมนตรี และนายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสมาคมราชวิทยาลัย) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2505 เวลา 11.00 น. เพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เกี่ยวกับการจัดตั้ง โรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นใหม่

เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระมหากรุณารับโรงเรียนไว้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประกอบกับในนามโรงเรียน นับแต่นั้นมาโรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยที่4 หรือสมัยสามพรานจึงได้ใช้นามอันเป็นมหามงคลยิ่งว่า โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย นับเป็นศุภนิมิตมิ่งมงคลอันมหัศจรรย์ โดยที่ได้ถือกำเนิด ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ แห่งสามมหาราชของชาติไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิด สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระผู้ทรงเสริมสร้างและพัฒนา และสมเด็จพระภัทรมหาราช พระพระราชทานกำเนิดใหม่ นับจากนั้นอีก 2 ปี สมาคมราชวิทยาลัยก็ได้ดำเนินขั้นตอนการตั้งโรงเรียนไปตามลำดับ

  • 16 มีนาคม ถึง 23 เมษายน พ.ศ. 2507 โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ เปิดรับสมัครนักเรียนเป็นครั้งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนสมัครเข้าเรียน 79 คน ครั้งที่ 2 รับสมัครเพิ่มเติมจนถึงวันเปิดเรียนอีก 38 คน รวมนักเรียนทั้งหมด 117 คน
  • 18 มีนาคม พ.ศ. 2507 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหนังสือถึงนายสนั่น สุมิตร อธิบดีกรมวิสามัญศึกษา (บุตรของนาย เออร์เนสต์ สเปนซ์ สมิธ หนึ่งในนักฟุตบอลทีมศึกษาธิการที่ลงเล่นนัดเดียวกันในปี2443 เป็นชาวยอร์กเชียร์ (Yorkshire) ประเทศอังกฤษ อดีตนักฟุตบอลทีม Aston villa XI จบการศึกษาจากวิทยาลัยเบอร์โรโรด เข้ามารับราชการกรมศึกษาธิการในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานนามสกุล "สุมิตร" และตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมศึกษาธิการ ถึงแก่กรรมวันที่ 21 กรกฎาคม 2463) กำหนดให้ใช้สีประจำวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์ เป็นสีประจำบ้านของนักเรียนทั้ง 4 บ้าน
  • 18 พฤษภาคม 2507 โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ เปิดทำการสอนเป็นวันแรก

โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีคณะกรรมการอำนวยการ ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ โดยมีผู้แทน กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ และผู้แทนราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา เป็นรองประธานกรรมการ ดำเนินการกิจการโรงเรียน และราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเจ้าของโรงเรียน ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497

  • 21 กุมภาพันธ์ 2511 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียนมัธยมศึกษา ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเข้าประจำกองลูกเสือสามัญ
  • 18 สิงหาคม 2511 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานถ้วยรางวัลระเบียบแถวระหว่างบ้าน
  • 1 ธันวาคม 2517 กระทรวงศึกษาธิการรับมอบ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ
  • 13 มกราคม 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายเกรียง กีรติกร) ได้มารับมอบโรงเรียน จาก หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ประธานองคมนตรีและประธานราชวิทยาลัยมูลนิธิเพื่อการศึกษา นับแต่นั้น โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้แปรสภาพจากโรงเรียนเอกชนมาเป็นโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่นเดียวกับเมื่อแรกสถาปนา

ปัจจุบันโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9 ตั้งอยู่เลขที่ 90 หมู่ 2 ถนนเพชรเกษม ตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม บนเนื้อที่ 66 ไร่ 176 ตารางวา อยู่เชิงสะพานโพธิ์แก้ว ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน) ห่างจากกรุงเทพมหานคร ไปทางทิศตะวันตก 34 กิโลเมตร ห่างจากสวนสามพราน ประมาณ 1 กิโลเมตร เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนทุกคนต้องอยู่ประจำในหอพักของโรงเรียน ซึ่งเรียกว่าบ้าน มีทั้งหมด 4 บ้าน แต่ละบ้านมีสีประจำบ้าน ได้แก่ บ้าน 1 สีแสด บ้าน 2 สีเหลือง บ้าน 3 สีม่วง และบ้าน 4 สีแดง โดยถือเอาสีประจำ วันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์

หอพัก หรือ บ้าน

แก้

โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีหอพัก หรือที่เรียกว่า "บ้าน" เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงระหว่างที่อยู่โรงเรียนสองอาทิตย์ บ้านหนึ่งจะมีนักเรียนประมาณ 300 คน แต่ละบ้านนั้นจะแบ่งกระจายนักเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เท่า ๆ กัน โดยมีตั้งแต่ชั้น ป.5 จนถึง ม.6 ภายในแต่ละบ้าน และแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ ชั้นประถม จะอยู่ที่ตึกเด็กเล็ก ชั้นมัธยมจะอยู่ที่ตึกเด็กโต

แบ่งออกเป็น บ้าน 1 สีแสด บ้าน 2 สีเหลือง บ้าน 3 สีม่วง และบ้าน 4 สีแดง โดยถือเอาวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง 4 พระองค์ เป็นสำคัญ เรื่องการถือเอาสีวันพระประสูติมาเป็นสีประจำบ้านของนักเรียนทั้งสีบ้านนี้ มีข้อความปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในประวัติการจัดตั้งโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

การปกครองในระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง ตามแบบ Public School โดยจะเน้นอยู่ว่า "การจะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องเคยเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน" ดังนั้น ก่อนที่นักเรียนแต่ละคนจะมาเป็นหัวหน้าปกครองรุ่นน้อง ก็จะเคยเป็นผู้ตามถูกปกครองโดยรุ่นพี่มาก่อน และเรียนรู้การปกครองนั้นมาปกครองรุ่นน้องถัด ๆ ไป และได้รับการคัดเลือกอย่างดีแล้วในทุกๆ ด้านก่อนจะเป็นนักเรียนชั้นปกครองหรือ Prefect

เพลงโรงเรียน

แก้

เพลงประจำโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ เป็นเพลงที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อเพลงนี้ไว้ว่า เราเป็นข้าในหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำโรงเรียนราชวิทยาลัย สืบเนื่องจนเป็นโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมราชูปถัมภ์โรงเรียนราชวิทยาลัย พระราชนิพนธ์ในระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม พ.ศ. 2457 ซึ่งในครั้งนั้น กองนักเรียนเสือป่าราชวิทยาลัยซึ่งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้จัดเป็นกองร้อยที่ 2 ในสังกัดกรมนักเรียนเสือป่าหลวง ในการฝึกหัดเสือป่ากองพลรักษาพระองค์ ซึ่งทรงเป็นผู้บังคับการกรมด้วยพระองค์เอง ได้โดยเสด็จไปในคราวที่ทรงนำทหาร ตำรวจ เสือป่า และนักเรียนเสือป่าหลวง เดินทางไกลไปด่านทับตะโก และในระหว่างประทับแรม ณ พลับพลาที่ประทับ ที่หลุมดินใกล้วัดสุรชายาราม ริมแม่น้ำแม่กลอง เหนือตัวจังหวัดราชบุรี เพลง มาร์ชราชวิทย์ เพลง ในรอบรั้วฟ้าทอง เพลง พฤษาราชวิทย์

รายนามผู้บริหาร

แก้
ลำดับ รายนาม ตำแหน่ง ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 มิสเตอร์ เอ. ซีซิล การ์เตอร์ (A.Cecil Carter) King’s college Head Master สมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, สายสวลี พ.ศ. 2439-2453
2 มิสเตอร์ เอ. ไตรส์ มาร์ติน (A.Trice Martin) King’s college Head Master สมัยบางขวาง พ.ศ. 2453-2468
3 พระภักดีบรมนาถ (สุดใจ สันธิโยธิน) ผู้บังคับการ สมัยบางขวาง พ.ศ. 2459-2461
4 พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) รักษาการผู้บังคับการ สมัยบางขวาง พ.ศ. 2461-2461
5 พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) ผู้บังคับการ สมัยบางขวาง พ.ศ. 2461-2468
6 นายชื่น วัฒโน ครูใหญ่ (คนแรก) สมัยสามพราน พ.ศ. 2507-2508
7 นายพิทยา ไทยวุฒิพงศ์ ครูใหญ่ สมัยสามพราน พ.ศ. 2508-2511
8 นายเรวัตร ชื่นสำราญ ครูใหญ่ สมัยสามพราน พ.ศ. 2511-2512
9 นายบัญชา ตุลาธร ครูใหญ่ สมัยสามพราน พ.ศ. 2512-2513
10 ศจ.ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ รักษาการครูใหญ่-ผู้จัดการโรงเรียน สมัยสามพราน พ.ศ. 2513-2514
11 นายวรรณ จันทร์เพชร ครูใหญ่ สมัยสามพราน พ.ศ. 2514-2515
12 นายกล่อม สัจจบุตร ครูใหญ่ สมัยสามพราน พ.ศ. 2515-2516
13 นายไชย เตชะเสน ผู้จัดการโรงเรียน สมัยสามพราน พ.ศ. 2515-2516
14 นายสง่า ดีมาก ครูใหญ่ สมัยสามพราน พ.ศ. 2516-2517
15 หลวงศรีสารสมบัติ (วงศ์ ศรีไชยยันต์) ผู้จัดการโรงเรียน สมัยสามพราน พ.ศ. 2516-2517
16 นายอนันต์ หิรัญญะชาติธาดา (หิรัญเวทย์) ผู้จัดการโรงเรียน สมัยสามพราน พ.ศ. 2516-2517
17 นายวินัย พัฒนรัฐ (เชื้อสกุล) ผู้จัดการ,ครูใหญ่,อาจารย์ใหญ่,ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2517-2534
18 นายวิชัย เวียงสงค์ ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2535-2537
19 นาย สุรินทร์ ต่อเนื่อง ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2537-2540
20 นายสุวรรณ เค้าฝาย ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2540-2542
21 นายสุทธิศักดิ์ เฟื่องเกษม ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2542-2546
22 นายสุวัฒน์ อ้นใจกล้า ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2546-2555
23 ดร. บัญชร จันทร์ดา ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2555-2561
24 นายพยุง ศรันยูญาติวงศ์ ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2561-2563
25 นายอรรฐพนธ์ ศรีโพธิ์ ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2563-2566
26 นางสาวสุกัญญา สุขสมบรณ์ ผู้อำนวยการ สมัยสามพราน พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน

นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง

แก้
  • วิญญูชนก แก้วนอก ราชวิทย์16 นายทะเบียนสมาคมราชวิทยาลัย ผู้จัดทำหอประวัติโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยฯ
  • ภัทรพล นิธิวรพล (ต๊ะ) ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรประจำสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 บมจ.อาร์เอส


|}