โรงเรียนสายปัญญารังสิต

โรงเรียนสายปัญญารังสิต เป็นโรงเรียนรัฐบาลประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปทุมธานี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่เลขที่ 99 ถนนพหลโยธิน 87 ซอย 6 ทางเข้าเมืองเอก ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี[1]

โรงเรียนสายปัญญารังสิต
Saipanyarangsit School
แผนที่
ข้อมูล
ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่
ก่อตั้งวันที่ 26 มีนาคม 2522
ผู้ก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการ
หน่วยงานกำกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4
จำนวนนักเรียน2,121 คน
พื้นที่35 ไร่ 2 งาน
สี  สีเหลือง
  สีน้ำเงิน
เพลงมาร์ช ส.ป.ร.
ผู้อำนวยการนายธนพจ แก้ววงษา
ต้นไม้ต้นชมพูพันธ์ทิพย์

โรงเรียนสายปัญญารังสิต เกิดขึ้นจากการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ติดต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอที่ดินสำหรับรองรับนักเรียนจากชานเมืองและต่างจังหวัดมากขึ้น และได้รับการบริจาคที่ดินจำนวน 35 ไร่ ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จากนายเจียง ภักดีจรัสโดยน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนบนที่ดินที่ได้รับการบริจาคนี้ โดยใช้ชื่อว่า"โรงเรียนสายปัญญารังสิต" ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2522 [2]

โรงเรียนสายปัญญารังสิตได้รับการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ในปี พ.ศ. 2549[3] และปี พ.ศ. 2554[4]ได้ระดับ ดีมาก และเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษหนึ่งใน 30 ศูนย์จากทั้งประเทศ[5] เป็นหนึ่งในโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) [6] เป็นโรงเรียนต้นแบบ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน[7] และเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี[8]

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) โรงเรียนสายปัญญารังสิต เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายแบบสหศึกษา การจัดชั้นเรียนแบบ 10-10-10/8-8-8 รวม 54 ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งหมด 3,600 คน[9] และบุคลากรครู 79 คน[10]

ประวัติโรงเรียน

แก้

โรงเรียนสายปัญญารังสิต เกิดจากการหารือร่วมกันระหว่างทางกระทรวงศึกษาธิการ กับ โรงเรียนสายปัญญาในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อรับนักเรียนจากชานเมืองมากขึ้น ไม่ต้องไปเรียนในเขตพระนคร โรงเรียนได้รับการก่อตั้งบริเวณทุ่งรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี บนที่ดินจำนวน 35 ไร่ซึ่งได้รับการบริจาคจากนายเจียง ภักดีจรัส (แซ่แต้) เมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามความในหนังสือที่มีถึงกรมสามัญศึกษา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2521 เนื่องจากที่นางวรณี ศิริบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ติดต่อขอที่ดินเพื่อขยายโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีเนื้อที่เพียง 4 ไร่ ให้รองรับนักเรียนจากชานเมืองและต่างจังหวัดมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อขอให้กรมสามัญศึกษาจัดงบประมาณก่อสร้าง โรงเรียนสายปัญญา 2 ขึ้นในงบประมาณขณะนั้น[2]

เมื่อได้รับการบริจาคที่ดินในปี พ.ศ. 2521 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนโดยใช้ชื่อว่า 'โรงเรียนสายปัญญารังสิต[11] เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2522 และดำเนินก่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรกในปี พ.ศ. 2523 และได้เปิดการเรียนการสอนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 จำนวนนักเรียนทั้งหมด 126 คนในแบบสหศึกษา ตามที่รัฐบาลสนับสนุนให้สร้างโรงเรียนในลักษณะของสหศึกษา โดยมีนายอนันต์ ตรีนิตย์ เป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน[2] ในปี พ.ศ. 2527 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสายปัญญารังสิต ตามคำเรียกของชาวรังสิต และต่อมา จึงได้เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นครั้งแรกจำนวน 2 ห้องเรียน [11]

พ.ศ. 2547 ได้เปิดการเรียนการสอนห้องเรียนพิเศษ Mini English Program (MEP) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

พ.ศ. 2548 ได้เปิดการเรียนการสอนห้องเรียนพิเศษ ห้องส่งเสริมความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Gifted) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1

พ.ศ. 2550 ได้เปิดการเรียนการสอนห้องเรียน MEP ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

พ.ศ. 2551 ได้เพิ่มห้องเรียน MEP และ Gifted อย่างละ 2 ห้องเรียน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รวม 4 ห้อง

พ.ศ. 2552 ได้เปิดการเรียนการสอนห้องเรียน Gifted ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

พ.ศ. 2555 ได้เปิดการเรียนการสอนห้องเรียน MEP ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประเภทแผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

แก้
 
พระเทพปัญญารัตนมุณี พระพุทธรูปประจำโรงเรียนสายปัญญารังสิต

ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน ในเริ่มแรกใช้ตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนของโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นตราปัจจุบัน เป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีภายใต้มีคบเพลิงและตัวอักษร ส.ป.ร. ซึ่งเป็นอักษรย่อของชื่อโรงเรียน

คติพจน์ นตฺถิ ปญฺ า สมาอาภา แปลว่า ไม่มีแสงสว่างใดเสมอเท่าแสงแห่งปัญญา[12]

คำขวัญ เรียนดี กีฬาเด่น เน้นวินัย ใฝ่คุณธรรม นำสังคม

สีประจำโรงเรียน น้ำเงิน-เหลือง

  สีน้ำเงิน คือ ความกล้าหาญ ความฉลาด และความอดทน

  สีเหลือง คือ คุณธรรม ความประณีต ความมีมารยาท[12] โดยทั้งสองสีนี้เป็นสีประจำโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์

  • พระพุทธรูปประจำโรงเรียน พระเทพปัญญารัตนมุณี ซึ่งโรงเรียนได้รับองค์พระพุทธรูปมาประดิษฐานจากวัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 2529 โดยประดิษฐานอยู่ที่หอพระประจำ[12]
  • ต้นไม้ประจำโรงเรียน ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์[12]
  • เพลงประจำโรงเรียน ในเริ่มแรกใช้ เพลงสายฟ้า ซึ่งเป็นเพลงประจำโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เพลงปัจจุบันคือ เพลงมาร์ช ส.ป.ร. ประพันธ์โดยชาญชัย บัวบังศร ศิลปินแห่งชาติ [12]

อาคารและสิ่งปลูกสร้างภายในโรงเรียน

แก้
 
ลานหน้าเสาธงด้านหน้าอาคาร 1

อาคาร 1

แก้

เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นละ 5 ห้อง ใต้ถุนเปิดโล่ง แบบ 415 พิเศษ ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 เป็นอาคารถาวรอาคารแรกของโรงเรียน และเป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้[13][14]

  • ห้องเรียนประจำห้องเรียนพิเศษ Gifted ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
  • ห้องเรียนประจำห้องเรียนปกติ
  • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
  • ห้องปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์
  • ห้องระบบดูแล (ฝ่ายปกครอง)
  • ห้องเกียรติยศ
  • ห้องฝ่ายประชาสัมพันธ์[15]

อาคาร 2

แก้
 
อาคาร 2

เป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นละ 4-6 ห้อง แบบ 318 ค ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 เป็นที่ตั้งของส่วนบริหารและกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้[13][14]

  • ห้องธุรการ
  • ห้องผู้อำนวยการ
  • ห้องแผนงาน
  • ห้องฝ่ายวิชาการ
  • ห้องศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ศูนย์ ERIC)
  • ห้องท่านผู้หญิงพวงร้อย (สนิทวงศ์) อภัยวงศ์ (ห้องมัลติมีเดีย)
  • ห้องโสตทัศนศึกษา
  • ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ 224
  • ห้องเรียนประจำระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
 
อาคาร 3

อาคารปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ หรือ อาคาร3

แก้

เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นละ 5-6 ห้อง แบบ 318 ล ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และโรงอาหารบริเวณชั้นล่างของอาคาร ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้[13][14]

  • ห้องเรียนประจำห้องเรียนปกติ
  • ห้องเรียนประจำห้องเรียน MEP ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
  • ห้องเสริมปัญญา (ห้องสืบค้นทางวิทยาศาสตร์)
  • ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์
  • ห้องปฏิบัติการเคมี
  • ห้องปฏิบัติการชีววิทยา
  • ห้องปฏิบัติการโปรแกรมพิเศษ (ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของห้องเรียนพิเศษ)
  • ห้องพักครูต่างประเทศ
  • ห้องเรียนภาษาอังกฤษ (ปรับอากาศ)
  • โรงอาหาร[15]
 
อาคาร 4

อาคาร 4

แก้

เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้นละ 3-6 ห้อง แบบ 318 ล/30 ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2532 เป็นที่ตั้งของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและสังคมศึกษา รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ หน่วยงานแนะแนว และห้องสมุดของโรงเรียน ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้[13][14]

  • ห้องเรียนประจำห้องเรียนปกติ
  • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
  • ห้องศูนย์ภาษาไทย
  • ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ
  • ห้องศูนย์สังคมศึกษาฯ
  • ห้องศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
  • ห้องแนะแนว
  • ห้องพยาบาล
  • ห้องสมุดเฉลิมกาญจนาภิเษก
  • ร้านสหกรณ์โรงเรียน
  • ร้านถ่ายเอกสาร[15]
 
อาคาร 5

อาคาร 5 หรืออาคารศรีสายปัญญา

แก้

เป็นอาคาร 5 ชั้น แบบ พิเศษ เป็นที่ตั้งของห้องนาฎศิลป์ ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ ดังนี้

ห้องเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ห้องพักครูกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์

 
อาคารหอประชุมโรงเรียน

โรงฝึกงาน

แก้

มีทั้งหมด 3 โรง แบ่งเป็น

  • โรงฝึกงาน (มพช 2) เป็นที่ตั้งของห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพฯ (เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม) ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาฯ และห้องงานช่างโลหะ
  • โรงฝึกงาน แบบ 102/27 เป็นที่ตั้งของห้องงานปั้น และห้องงานช่างไม้
  • โรงฝึกงาน แบบ 204/27 เป็นอาคาร 2 ชั้น เป็นที่ตั้งของห้องพักครูและห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพฯ (คหกรรม) และห้องเรียนคหกรรม ห้องพักครูและห้องเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะฯ (ศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์) [13][14][15]

หอประชุมโรงเรียน

แก้
 
หอประชุม

เป็นหอประชุมแบบ 100/27 ก่อสร้างเมื่อพ.ศ. 2530 ใช้ในงานกิจกรรมสำคัญในโรงเรียน เช่น พิธีไหว้ครู งานแสดงละคร บริเวณด้านข้างเป็นโรงยิมของกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาฯ และสนามบาสเกตบอล และได้รับการปรับปรุงให้ติดเครื่องปรับอากาศในปี พ.ศ. 2554[13][14]

สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ

แก้
  • ลานอเนกประสงค์ (ลานหน้าเสาธง) ตั้งอยู่หน้าอาคาร 1 เป็นที่สำหรับเข้าแถวเคารพธงชาติ ทำกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นสนามฟุตซอลในบางครั้ง
  • ซุ้มและโต๊ะม้าหิน ซุ้มในโรงเรียนจะเรียกว่า ซุ้มเขียว ตามสีของซุ้ม มีอยู่ 2 บริเวณ คือ บริเวณที่ว่างระหว่างอาคาร 1 กับอาคาร 3 และที่ว่างระหว่างอาคาร 2 กับอาคาร 4 ซึ่งฝั่งอาคาร 4 จะมีซุ้มเขียวตั้งยาวตลอดสระปทุมปัญญา ส่วนซุ้มจะมีอยู่ 4 บริเวณ คือ บริเวณใต้อาคาร 1 บริเวณโรงฝึกงาน บริเวณข้างที่จอดรถ และบริเวณลานธรรมสวนสน
  • สระปทุมปัญญา เป็นสระบัวขุดดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่บริเวณที่ว่างระหว่างอาคาร 2 กับอาคาร 4 ติดกับซุ้มเขียว และมีน้ำพุตั้งอยู่ตรงกลางสระซึ่งจะเปิดในช่วงงานโรงเรียนที่สำคัญและช่วงที่โรงเรียนมีแขกผู้มาเยื่อนที่สำคัญ บางครั้งสระปทุมปัญญาใช้เป็นสถานที่จัดงานหรือกิจกรรมสำคัญ โดยเฉพาะกิจกรรมวันลอยกระทง
  • โรงอาหาร ตั้งอยู่บริเวณใต้อาคาร 3 โดยเป็นสถานที่รับประทานอาหารของนักเรียนและมีห้องอาหารครูใว้บริการสำหรับคณะครูของโรงเรียน
  • เวทีคนเก่ง ตั้งอยู่บริเวณที่ว่างระหว่างอาคาร 1 กับอาคาร 3 ติดกับสวนพฤกษศาสตร์กับซุ้มเขียว ใช้เป็นเวทีสำหรับกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น การประกวด Science Show การประกวดร้องเพลง เป็นต้น
  • สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนมีสวนพฤกษศาสตร์ที่มีพรรณไม้สำคัญกระจายอยู่รอบโรงเรียน แต่ที่หลักก็คือบริเวณที่ว่างระหว่างอาคาร 1 กับอาคาร 3 ซึ่งมีต้นมะตาดที่เป็นต้นไม้หลักของโรงเรียนและพืชพันธุ์อื่น ๆ
  • ลานธรรมสวนสน ตั้งอยู่ด้านหลังที่จอดรถของคณะครู ใกล้กับโรงฝึกงาน แบบ 204/27 ซึ่งมีม้านั้งหิน และมีองค์พระพุทธรูปชื่อ”หลวงพ่อปัญญา”ประดิษฐานอยู่ซื่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง และเป็นสถานปฏิบัติธรรม
  • ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่ติดกับลานธรรมสวนสน เป็นพื้นที่จำนวน 5 ไร่ใช้สำหรับทำการเกษตรกรรม ปลูกผักสวนครัว ผลไม้ พืชไร่ ไม้หายากและอาคารเพาะชำ เพาะเห็ดฟาง และเก็บวัสดุอุปกรณ์ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและแหล่งเรียนรู้ทางเกษตรที่สำคัญของโรงเรียน
  • สนามฟุตบอล ไว้สำหรับเล่นฟุตบอลและเป็นสถานที่จัดวิ่งมาราธอนในช่วงกีฬาสี ปัจจุบันมีโครงการสร้างอัฒจันทร์ถาวรซึ่งเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2554
  • สนามกีฬาอื่น ๆ ได้แก่ สนามปิงปองตรงบริเวณที่ว่างระหว่างโรงฝึกงาน (มพช 2) และโรงฝึกงาน แบบ 102/27 สนามบาสเกตบอลและสนามวอลเลย์บอลตรงบริเวณด้านข้างของหอประชุม สนามตระกร้อตรงม้าหินใกล้สนามเปตองตรงบริเวณใกล้กับที่จอดรถของคณะครูและลานธรรม[13][14]

รายนามผู้บริหารโรงเรียน

แก้
รายนามผู้บริหารโรงเรียนสายปัญญารังสิต
ลำดับ รายนามผู้บริหาร ตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่ง
1. นายอนันต์ ตรีนิตย์ ครูใหญ่/ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2523 - 2531
2. นายชุมพล คำดา ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2531 - 2533
3. นายสังเวียน จิตระยนต์ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2533 - 2535
4. นางระวีวรรณ ธรรมศิริ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2535 - 2536
5. นายเทิดศักดิ์ รัตนมณี ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2536 - 2540
6. นางสาลินี มีเจริญ ผู้อำนวยการ พ.ศ. 2540 - 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
7. นางสาวสุภาวดี วงษ์สกุล ผู้อำนวยการ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 - 20 มกราคม พ.ศ. 2553
8. นางสาวอารีวรรณ เอมโกษา ผู้อำนวยการ 20 มกราคม พ.ศ. 2553 - 28 มกราคม พ.ศ. 2557
9. นายพงษ์วิวัฒน์ สิงห์มณี ผู้อำนวยการ 28 มกราคม พ.ศ. 2557 - 30 กันยายน พ.ศ. 2559
10. นายวีระพงค์ ประดิษฐ์ ผู้อำนวยการ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 - 30 กันยายน 2563
11. นายธนพจ แก้ววงษา ผู้อำนวยการ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 - 20 กันยายน พ.ศ. 2566
12. ดร.สุมาลี รามฤทธิ์ ผู้อำนวยการ 20 กันยายน พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน

มาตรฐานคุณภาพของโรงเรียน

แก้
  • ได้รับรางวัลชมเชย โรงเรียนพระราชทาน ประเภทสถานศึกษาขนาดใหญ่ ในปี พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2548 และปี พ.ศ. 2551 ซึ่งนักเรียนโรงเรียนสายปัญญารังสิตได้รับรางวัลชมเชยนักเรียนพระราชทานในปี พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2546 พ.ศ. 2549 และปี พ.ศ. 2553 และรางวัลนักเรียนพระราชทานในปี พ.ศ. 2548 และปี พ.ศ. 2550
  • ได้รับป้ายพระราชทานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนืองมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
  • ได้รับการประเมินคุณภาพจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา รอบแรกในปี พ.ศ. 2546 ประเมินได้ระดับดี รอบสองในปี พ.ศ. 2549 รอบสามในปี พ.ศ. 2554 ประเมินได้ระดับดีมาก
  • ได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียน เร่งสู่ฝัน (Fast Track) จังหวัดปทุมธานี จากโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 และเป็นต้นแบบโรงเรียนในฝัน เป็นแห่งที่ 2 ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2548 จากโครงการเดียวกัน
  • ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการวิจัยพัฒนาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (ToPSTAR) ในปี พ.ศ. 2546
  • ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการระบบดีโรงเรียนมีคุณภาพ (Healthy System Healthy School) จากสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ ในปีพ.ศ. 2547
  • ได้คัดเลือกเข้าโครงการโรงเรียนเข้มแข็งด้วยการจัดการเรียนรู้ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ ในปี พ.ศ. 2552
  • ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (English Resource and Instruction Center - ERIC) จากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 2 ในปี พ.ศ. 2548 และได้คัดเลือกเป็น 1 ใน 30 ศูนย์ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นศูนย์ ERIC ต้นแบบจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปี พ.ศ. 2549
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบ ที่สอนโดยเน้นทักษะกระบวนการคิดจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต 2 ในปีการศึกษา 2549 และเป็นโรงเรียนต้นแบบพัฒนากระบวนการคิดสู่ห้องเรียน จากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • กิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน (อย.น้อย) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศประเภทกิจกรรม ในปี พ.ศ. 2547 และรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศประเภทกิจกรรม ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งโรงเรียนได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องมาโดยตลอดมีโรงเรียนต่าง ๆ มาดูงานและได้รับเชิญเป็นวิทยากรตามหน่วยงานต่าง ๆ
  • ผ่านมาตรฐานอาหารสะอาดปลอดภัย สุขาน่าใช้ และเด็กไทยฟันดีระดับเหรียญทอง ในปี พ.ศ. 2549 จากกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเกียรติบัตรสุดยอดส้วมแห่งปีระดับภาคจากกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2550 และได้รับรางวัลเหรียญทองชื่อผลงาน”สุขาดีมีสุข สู่มิติการเรียนรู้เพื่อสุขภาพ” จากโครงการ 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม จัดโดยคุรุสภา ในปี พ.ศ. 2551
  • ได้รับรางวัลชนะเลิศในกิจกรรมบอลลูนอากาศร้อนระดับประเทศในปี พ.ศ. 2545 2548 2549 และปี พ.ศ. 2550
  • ได้รับรางวัลจากกีฬาบาสเกตบอลทั้งในระดับเขตและระดับประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น จากการแข่งขันเยาวชนแห่งชาติ การแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นต้น
  • ได้รับรางวัลจากกีฬาฟุตบอลในระรับเขต เช่น จากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลนักเรียนจังหวัดปทุมธานี อ.บ.จ จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น
  • ได้รับรางวัลจากการแข่งขันละครวิทยาศาสตร์ ระดับจังหวัดในปี พ.ศ. 2536-2547 รองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศในปี พ.ศ. 2545-2546 และชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ ในปีพ.ศ. 2544 และปี พ.ศ. 2547
  • ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการจัดบอร์ดและบรรยายประกอบนิทรรศการ “วันเอดส์โลก” ของกองทัพอากาศ ในปี พ.ศ. 2548-2551[16][17]

ระบบการเรียนการสอน

แก้

โรงเรียนสายปัญญารังสิตจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายโดยใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) มีการจัดชั้นเรียนแบบ 10-10-10/8-8-8 (ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 10 ห้องเรียน และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นละ 8 ห้องเรียน) มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 2,121 คน และมีหลักสูตรการเรียนการสอน ดังนี้

ระดับชั้น/แผนการเรียน ปกติ วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย-อังกฤษ-สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ-จีน ภาษาอังกฤษ-ญี่ปุ่น Mini English Program Gifted
ม.1 6 - - - - - 2 2
ม.2 6 - - - - - 2 2
ม.3 6 - - - - - 2 2
ม.4 - 2 1 1 1 1 2 1
ม.5 - 2 1 1 1 1 2 1
ม.6 - 2 1 1 1 1 2 1

นอกจากนี้โรงเรียนมีการสอนวิชาภาษาจีนให้กับนักเรียนเป็นภาษาต่างประเทศที่ 2 ตามหลักสูตรให้เทียบเคียงมาตรฐานสากล ตามที่โรงเรียนได้ร่วมในโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล วิชาประวัติศาสตร์ไทยตามที่สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดไว้ให้เห็นความสำคัญของสังคมไทยและจิตสำนึกของความเป็นไทย วิชาเลือกให้กับนักเรียนที่มีความสนใจในระดับชั้นและบางแผนการเรียน เช่น วิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม วิชาภาษาญี่ปุ่น วิชางานช่างโลหะ เป็นต้น [18] [19]

ห้องเรียนพิเศษและแผนการเรียนพิเศษ

แก้

โรงเรียนสายปัญญารังสิตเปิดสอนห้องเรียนพิเศษจำนวน 2 หลักสูตร และแผนการเรียนพิเศษ 1 หลักสูตร คือ

ห้องเรียนส่งเสริมความสามารถด้านภาษา (Mini English Program : MEP)

แก้

ห้องเรียนส่งเสริมความสามารถด้านภาษาได้เปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2547 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในปี พ.ศ. 2550 เป็นแผนการเรียนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ และแผนการเรียนคณิตศาสตร์-ภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. 2555 โดยได้มีการสอนในรายวิชาหลักต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษและมีครูต่างประเทศเป็นผู้สอน มีห้องเรียนมาตรฐานติดเครื่องปรับอากาศ และตู้เก็บของของนักเรียนแต่ละคนโดยเฉพาะ นอกจากนี้โรงเรียนได้จัดกิจกรรมเฉพาะห้องเรียน MEP เช่น กิจกรรมวันฮาโลวีน กิจกรรมสังสรรค์เฉพาะห้องเรียน MEP เป็นต้น และสนับสนุนการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ ห้องเรียน MEP อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ[20]

ห้องเรียนส่งเสริมความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ (Gifted)

แก้

ห้องเรียนส่งเสริมความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ได้เปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2548 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในปี พ.ศ. 2552 โดยใช้หลักสูตรโครงการห้องเรียนพิเศษของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยจัดการเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์แบบเข้มข้นและเพิ่มวิชาภาษาอังกฤษสำหรับการค้นคว้า มีห้องเรียนมาตรฐานติดเครื่องปรับอากาศ และเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้โรงเรียนได้จัดกิจกรรมค่ายคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ในทุกปี ตลอดจนการสนับสนุนในการศึกษาดูงานและการแข่งขันทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ห้อง Gifted ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์[21]

รายชื่อศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. หน้าปก ส.ป.ร.สาร ปีที่ 12 ฉบับที่ 12 ปีการศึกษา 2551
  2. 2.0 2.1 2.2 3 ทศวรรษแห่งศรัทธา สายปัญญารังสิต,2552, หน้า 36
  3. 3 ทศวรรษแห่งศรัทธา สายปัญญารังสิต,2552, หน้า 49
  4. "การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามจากสมศ. ปีการศึกษา 2555" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-09-30.
  5. 3 ทศวรรษแห่งศรัทธา สายปัญญารังสิต,2552, หน้า 51
  6. "รายชื่อโรงเรียนมาตรฐานสากล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-07. สืบค้นเมื่อ 2011-03-20.
  7. 3 ทศวรรษแห่งศรัทธา สายปัญญารังสิต,2552, หน้า 50
  8. "รายชื่อโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-18. สืบค้นเมื่อ 2011-03-18.
  9. จำนวนนักเรียน ปีการศึกษา 2554[ลิงก์เสีย]
  10. "จำนวนครูประจำ ปีการศึกษา 2554". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-09-30.
  11. 11.0 11.1 คู่มือการสมัครนักเรียน ปีการศึกษา 2552, หน้า 21
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 สารสนเทศ โรงเรียนสายปัญญารังสิต ปีการศึกษา 2546,2546, สัญลักษณ์โรงเรียน
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 สารสนเทศ โรงเรียนสายปัญญารังสิต ปีการศึกษา 2546,2546, แผนผังโรงเรียนสายปัญญารังสิต
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 สารสนเทศ โรงเรียนสายปัญญารังสิต ปีการศึกษา 2546,2546, หน้า 4-7
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 แผนผังการใช้ห้องเรียน ปีการศึกษา 2554
  16. 3 ทศวรรษแห่งศรัทธา สายปัญญารังสิต,2552, หน้า 48-55
  17. ส.ป.ร.สาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 14 ปีการศึกษา 2553,2554, หน้า 16
  18. คู่มือการรับสมัครนักเรียน ปีการศึกษา 2552,2551, หน้า 1-14
  19. ประกาศโรงเรียนเรื่อง การรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2554
  20. ส.ป.ร.สาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 14 ปีการศึกษา 2553,2554, หน้า 11
  21. ส.ป.ร.สาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 14 ปีการศึกษา 2553,2554, หน้า 10

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°58′26″N 100°36′40″E / 13.973945°N 100.611033°E / 13.973945; 100.611033