โรคชิคุนกุนย่า
โรคชิคุนกุนย่า[5][6] หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (อังกฤษ: Chikungunya) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสชิคุนกุนย่า[3] (อังกฤษ: Chikungunya virus, CHIKV) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้และปวดข้อ[2] โดยมักเริ่มมีอาการ 2–12 วันหลังได้รับเชื้อ[3] อาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วยได้แก่ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ข้อบวม และมีผื่น เป็นต้น[2] อาการเหล่านี้มักดีขึ้นเองภายในหนึ่งสัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อได้อีกหลายเดือนหรือหลายปี[2][7] อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 1,000[4] โดยผู้ที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรครุนแรงได้แก่ผู้ป่วยอายุน้อย อายุมาก และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ[2]
โรคชิคุนกุนย่า (Chikungunya) | |
---|---|
ผื่นที่พบในผู้ป่วยโรคชิคุนกุนย่า | |
การออกเสียง |
|
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ |
อาการ | ไข้, ปวดข้อ[2] |
ภาวะแทรกซ้อน | ปวดข้อเรื้อรัง[2] |
การตั้งต้น | 2–12 วันหลังได้รับเชื้อ[3] |
ระยะดำเนินโรค | ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 สัปดาห์[2] |
สาเหตุ | ไวรัสชิคุนกุนย่า (CHIKV) มียุงลายเป็นพาหะ[3] |
วิธีวินิจฉัย | ตรวจเลือดหาสารพันธุกรรมหรือแอนติบอดี[3] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | ไข้เด็งกี, ไข้ซิกา[3] |
การป้องกัน | การควบคุมยุง, หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัด[4] |
การรักษา | รักษาตามอาการ[3] |
พยากรณ์โรค | อัตราการเสียชีวิต ≈ 1 ใน 1,000[4] |
ความชุก | > 1 ล้าน (2014)[3] |
โรคนี้มียุงเป็นพาหะที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) และยุงลายสวน (Aedes albopictus)[3] ซึ่งมักออกดูดเลือดในเวลากลางวัน[8] สัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคตามธรรมชาติของเชื้อนี้มีหลายชนิดรวมไปถึงนกและหนูด้วย[3] การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือดหาสารพันธุกรรมหรือแอนติบอดีต่อไวรัส[3] อาการของโรคนี้คล้ายกันกับโรคไข้เลือดออกเดงกีและไข้ซิกา[3] ปัจจุบันเชื่อกันว่าผู้ที่เคยเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ[2]
วิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการควบคุมยุงลายและการป้องกันไม่ให้ยุงกัด[4] อาจทำได้โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (ได้แก่ บริเวณที่มีน้ำขัง) ใช้ยาฆ่าแมลง และใช้มุ้ง[3] ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ[3] การรักษาทำโดยการรักษาตามอาการ ได้แก่ ให้พักผ่อน ให้สารน้ำ และยาแก้ปวดลดไข้[3][2]
โรคนี้ส่วนใหญ่พบในแอฟริกาและเอเชีย แต่ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาก็พบระบาดปะทุเป็นครั้ง ๆ ในยุโรปและอเมริกาอยู่บ้าง[3] ใน ค.ศ. 2014 ทั่วโลกมีผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็นโรคนี้มากกว่า 1 ล้านคน[3] ในสหรัฐเคยมีโรคนี้ระบาดในฟลอริดาและสหรัฐแผ่นดินใหญ่เมื่อ ค.ศ. 2014 แต่หลังจาก ค.ศ. 2016 เป็นต้นมาก็ไม่พบระบาดแล้ว[9][10] ต้นกำเนิดของไวรัสชิคุนกุนยามาจากทวีปแอฟริกา โดยพบเมื่อ ค.ศ. 1952 บริเวณตอนใต้ของประเทศแทนซาเนีย[3] ตั้งชื่อตามรากคำกริยา kungunyala ในภาษามากอนดี ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของชนเผ่าในบริเวณที่พบครั้งแรก แปลว่าทำตัวงอหรือโค้ง ตามอาการของผู้ป่วยที่อาจปวดข้อมากจนตัวงอ[3] ในประเทศไทยโรคชิคุนกุนยาถูกพบครั้งแรกใน ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) โดยนายแพทย์วิลเลียม แม็กโดเวลล์ แฮมมอน (William McDowell Hammon) ได้ทำการแยกเชื้อจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพฯ และต่อมาได้มีการระบาดขึ้นอีกหลายครั้งในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ จ.ปราจีนบุรี, สุรินทร์, ขอนแก่น, เลย และพะเยา, นครศรีธรรมราช และหนองคาย[11]
อาการและอาการแสดงของไวรัส
แก้การติดเชื้อไวรัสนี้จะมีระยะฟักตัวของเชื้อ (incubation period) 2–4 วัน ทำให้มีไข้ประมาณ 40 องศาเซลเซียส และมีจุดเลือดออกหรือผื่นแดง (petechial or maculopapular rash) ในบริเวณลำตัวและอาจเกิดในบริเวณแขนและขาด้วย และมีอาการปวดข้อในหลาย ๆ ข้อ[12] อาการอื่น ๆ อาจรวมการปวดหัว (headache) เยื่อตาอักเสบหรือติดเชื้อ (conjunctival infection) และแพ้แสงเล็กน้อย (slight photophobia) โดยปกติไข้จะมีอยู่ประมาณ 2 วัน และหายไข้โดยทันที อาการอื่น ๆ เช่น การปวดข้อ, การปวดหัวอย่างรุนแรง, นอนไม่หลับ ฯลฯ จะเป็นอยู่นานกว่าอาการไข้ คือตั้งแต่ 5–7 วัน[12] ทั้งนี้อาการปวดข้อของผู้ป่วยยังขึ้นกับอายุของผู้ป่วยด้วย[13][14]
การวินิจฉัยโรค
แก้มักใช้การวินิจฉัยโดยกระบวนการ RT-PCR การแยกเชื้อไวรัส (virus isolation) และ การทดสอบทางระบบภูมิคุ้มกัน (serological tests)
- การแยกเชื้อไวรัสจะให้ผลที่แม่นยำที่สุด แต่ใช้เวลาถึง 1–2 สัปดาห์ และต้องทำการทดลองในห้องปฏิบัติการระดับ 3 (biosafety level 3 laboratories)[15] โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างเลือดผู้ป่วยมาตรวจหาเชื้อ
- RT-PCR โดยใช้ nested primer pairs เพื่อเพิ่มจำนวน (amplify) ยีนจำเพาะของเชื้อไวรัสจากเลือด โดยจะได้ผลการตรวจใน 1–2 วัน[15]
- การทดสอบทางระบบภูมิคุ้มกัน (serological diagnosis) ต้องใช้เลือดผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และใช้วิธีอีไลซา (ELISA) เพื่อตรวจหาระดับแอนติบอดี-M ต่อเชื้อชิคุนกุนยา (Chikungunya-specific IgM levels) โดยใช้เวลา 2–3 วัน สามารถที่จะให้ผลบวกปลอม (false positives) ซึ่งอาจเกิดจากการที่ร่างกายมีแอนติบอดีต่อ ไวรัส O'nyong'nyong และไวรัส Semliki Forest[15]
การป้องกันโรค
แก้วิธีในการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดและการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ติดมุ้งลวดตามที่อยู่อาศัย ใส่เสื่อผ้าที่มิดชิด อาจใช้ยากันยุงที่มีสารไล่แมลง เช่น DEET (N,N-Diethyl-meta-toluamide; หรือที่รู้จักในชื่อสูตร N,N'-Diethyl-3-methylbenzamide หรือ NNDB), icaridin (picaridin หรือ KBR3023), PMD (p-menthane-3,8-diol, สารสกัดจากต้นเลมอนยูคาลิปตัส), หรือ IR3535 เป็นต้น ทั้งนี้สารพวกไพรีทรอยด์ (pyrethroids) ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงก็มีฤทธิ์ในการไล่แมลงได้ด้วย เช่น สารกลุ่มไพรีทรอยด์แบบระเหิด (ที่ใส่ในขดยากันยุง) ฯลฯ
การรักษา
แก้ทั้งนี้ ยังไม่มีการรักษาหรือวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาโดยเฉพาะ โดยจากการทดลองในสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อจะเกิดการต้านทานต่อวัคซีน[16]
ยาคลอโรควิน (Chloroquine) สามารถช่วยควบคุมการเกิดกลุ่มอาการจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาได้ และช่วยลดการอักเสบในข้อต่าง ๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ยังอยู่ในขั้นการทดลองใช้กับผู้ป่วยในประเทศต่าง ๆ เท่านั้น (ยังไม่จัดเป็นยาที่รักษาจำเพาะต่อเชื้อนี้) ทั้งนี้มีรายงานว่าไม่ควรใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน, นาพรอกเซน และกลุ่มเอ็นเสด ชนิดอื่น ๆ ที่ใช้กับอาการปวดและมีไข้ในโรคอื่น ๆ ด้วย
พยากรณ์โรค
แก้การหายจากโรคจะขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยจะหายภายใน 5–15 วัน ผู้ป่วยวัยกลางคนจะหายภายใน 1–2.5 เดือน คือ ยิ่งอายุมากยิ่งหายจากอาการของโรคช้านั่นเอง ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับความรุนแรงของอาการของโรคด้วย ซึ่งผู้ที่อายุน้อยและสตรีที่ตั้งครรภ์จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า
ตาอักเสบ (Ocular inflammation) แบบ iridocyclitis และอาจเกิดแผลที่เรตินาได้[17]
ขาบวม (Pedal oedema) สามารถพบได้ แต่ยังไม่ทราบความเกี่ยวข้องกับโรคแน่ชัด เพราะโรคไม่ได้มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ตับ หรือไต แต่ประการใด
วิทยาการระบาด
แก้ไวรัสชิคุนกุนยาอยู่ในสกุลแอลฟาไวรัส (alphavirus) คล้ายกับไวรัส O'nyong'nyong[18] ไวรัส Ross River ในออสเตรเลีย และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบชนิด eastern equine encephalitis และ western equine encephalitis[19]
โดยปรกติเชื้อจะแพร่โดยยุง Aedes aegypti แต่จากการค้นคว้าของสถาบันปาสเตอร์ในปารีสกล่าวว่า ไวรัสชิคุนกุนยาสายพันธุ์ที่ระบาดในปี 2005–2006 บริเวณเกาะเรอูว์นียง ได้เกิดการผ่าเหล่าซึ่งทำให้สามารถถ่ายทอดได้โดยยุงเสือ (Aedes albopictus)[20] ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดของโรคที่มีแมลงเป็นพาหะที่ University of Texas Medical Branch ในกัลเวสตัน เท็กซัส ได้ยืนยันในการผ่าเหล่านี้ว่าเกิดจากการกลายเฉพาะจุดในยีนเอนเวโลป (envelope genes) E1[21][22] การผ่าเหล่านี้ทำให้การระบาดสามารถขยายวงกว้างไปสู่บริเวณที่มียุงเสือด้วย
ในแอฟริกา เชื้อจะระบาดแบบวงจรการติดต่อในป่า (sylvatic cycle) คือเชื้อจะอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์ในอันดับไพรเมต และถ่ายทอดวนมาสู่คน[19]
วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 ในจังหวัดตรัง ซึ่งไวรัสชิคุนกุนยาระบาดมากในภาคใต้ของไทยโดยเฉพาะในหมู่ทหาร แพทย์โรงพยาบาลจังหวัดตรังทำคลอดก่อนกำหนดให้แก่ผู้ติดไวรัสนี้ เนื่องจากเกรงการส่งผ่านเชื้อระหว่างมารดาสู่ทารก อย่างไรก็ดี เมื่อผ่าตัดทำคลอดนำทารกเพศชายออกมาได้โดยปลอดภัยแล้วกลับพบว่าทารกก็ติดไวรัสนี้ด้วย โดยมีอาการไม่สามารถหายใจเองได้และไม่สามารถดื่มนมได้ แพทย์จึงเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสันนิษฐานว่าไวรัสชิคุนกุนยาสามารถส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้ ขณะที่ยังไม่มีการยืนยันจากห้องปฏิบัติการถึงข้อสันนิษฐานนี้[23]
การใช้เป็นอาวุธชีวภาพ
แก้ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะยกเลิกโปรแกรมการสร้างอาวุธชีวภาพนั้น เชื้อไวรัสชิคุนกุนยาก็เป็นเชื้อโรคหนึ่งที่ถือว่าเป็นเชื้อที่สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้[24]
อ้างอิง
แก้- ↑ "chikungunya". Oxford Learner's Dictionary. Oxford University Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 "Chikungunya Virus Symptoms, Diagnosis, & Treatment". CDC. 6 เมษายน 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2016.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 "Chikungunya Fact sheet". WHO. เมษายน 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2016.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Caglioti C, Lalle E, Castilletti C, Carletti F, Capobianchi MR, Bordi L (July 2013). "Chikungunya virus infection: an overview". The New Microbiologica. 36 (3): 211–27. PMID 23912863.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. 2554). พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 3 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (PDF). กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต. หน้า 94. ISBN 978-616-707-333-0.
- ↑ ทิพย์รัตน์, กนกทิพย์ (สิงหาคม 2003). คู่มือมาตรฐานการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดต่อนำโดยแมลง (PDF). กลุ่มพัฒนาระบบและมาตรฐานงานระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข. p. 126. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
- ↑ van Aalst M, Nelen CM, Goorhuis A, Stijnis C, Grobusch MP (January 2017). "Long-term sequelae of chikungunya virus disease: A systematic review". Travel Medicine and Infectious Disease. 15: 8–22. doi:10.1016/j.tmaid.2017.01.004. PMID 28163198.
- ↑ "Prevention". CDC. 26 กุมภาพันธ์ 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2016.
- ↑ Staples JE, Fischer M (September 2014). "Chikungunya virus in the Americas--what a vectorborne pathogen can do". The New England Journal of Medicine. 371 (10): 887–9. doi:10.1056/NEJMp1407698. PMC 4624217. PMID 25184860.
- ↑ "2016 provisional data for the United States". CDC. 20 กันยายน 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2016.
- ↑ "ข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)". myfirstinfo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011.
- ↑ 12.0 12.1 Chhabra M, Mittal V, Bhattacharya D, Rana U, Lal S (2008). "Chikungunya fever: a re-emerging viral infection". Indian J Med Microbiol. 26 (1): 5–12. doi:10.4103/0255-0857.38850. PMID 18227590.
- ↑ Simon F, Parola P, Grandadam M, และคณะ (2007). "Chikungunya infection: an emerging rheumatism among travelers returned from Indian Ocean islands. Report of 47 cases". Medicine (Baltimore). 86 (3): 123–37. doi:10.1097/MD/0b013e31806010a5. PMID 17505252.
- ↑ Taubitz W, Cramer JP, Kapaun A, และคณะ (2007). "Chikungunya fever in travelers: clinical presentation and course". Clin. Infect. Dis. 45 (1): e1-4. doi:10.1086/518701. PMID 17554689.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 "Laboratory Diagnosis of Chikungunya Fevers". World Health Organization. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2008.
- ↑ Edelman R, Tacket CO, Wasserman SS, Bodison SA, Perry JG, Mangiafico JA (มิถุนายน 2000). "Phase II safety and immunogenicity study of live chikungunya virus vaccine TSI-GSD-218". Am. J. Trop. Med. Hyg. 62 (6): 681–5. PMID 11304054.
- ↑ Mahendradas P, Ranganna SK, Shetty R, Balu R, Narayana KM, Babu RB, Shetty BK (กุมภาพันธ์ 2008). "Ocular manifestations associated with chikungunya". Ophthalmology. 115 (2): 287–91. doi:10.1016/j.ophtha.2007.03.085. PMID 17631967.
- ↑ Vanlandingham DL, Hong C, Klingler K, Tsetsarkin K, McElroy KL, Powers AM, Lehane MJ, Higgs S (2005). "Differential infectivities of o'nyong-nyong and chikungunya virus isolates in Anopheles gambiae and Aedes aegypti mosquitoes". Am J Trop Med Hyg. 72 (5): 616–21. PMID 15891138.
- ↑ 19.0 19.1 Martin Enserink (2007). "Chikungunya: No Longer a Third World Disease". Science. 318 (5858): 1860–1861. doi:10.1126/science.318.5858.1860. PMID 18096785.
- ↑ Martin E (2007). "EPIDEMIOLOGY: Tropical Disease Follows Mosquitoes to Europe". Science. 317 (5844): 1485. doi:10.1126/science.317.5844.1485a. PMID 17872417.
- ↑ Tsetsarkin KA, Vanlandingham DL, McGee CE, Higgs S (2007). "A Single Mutation in Chikungunya Virus Affects Vector Specificity and Epidemic Potential". PLoS Pathog. 3 (12): e201. doi:10.1371/journal.ppat.0030201. PMID 18069894.
- ↑ Micah Hensler; Univ. of Texas Press Release/Associated Content.com (8 ธันวาคม 2007). "Subject: PRO/EDR> Chikungunya virus: genetic change Archive Number 20071209.3973". ProMED-mail post (Mailing list).
- ↑ "รพ.ตรังพบเชื้อ'ชิคุนกุนยา'แพร่ระบาดจากแม่สู่ลูก". ไทยรัฐ. 28 พฤษภาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2009.
- ↑ "Chemical and Biological Weapons: Possession and Programs Past and Present" (PDF). James Martin Center for Nonproliferation Studies (CNS). Middlebury Institute of International studies at Monterey. มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 4 มีนาคม 2023.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "Chikungunya - Fact sheet". European Centre for Disease Prevention and Control. 23 มกราคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 สิงหาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2008.
- "WHO site on disease outbreak news". องค์การอนามัยโลก.
- "Chikungunya and Pregnancy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 พฤษภาคม 2008.
- "Chikungunya Infection in India and Vector Control". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 พฤษภาคม 2008.
- Schuffenecker I, Iteman I, Michault A, และคณะ (กรกฎาคม 2006). "Genome microevolution of chikungunya viruses causing the Indian Ocean outbreak". PLoS Med. 3 (7): e263. doi:10.1371/journal.pmed.0030263. PMC 1463904. PMID 16700631.
- "Chikungunya, a debilitating illness". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2009. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011.– โดยทาง
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |