แม่น้ำเวฬุ
แม่น้ำเวฬุ (อ่านว่า [เวน])[1][2] เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย ต้นน้ำอยู่ที่เขาชะอมและเขาทุ่งสะพานหินในเขตอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี[1] ไหลไปทางทิศใต้ เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอมะขามกับอำเภอขลุง เข้าเขตอำเภอขลุง แล้วไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กับอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ก่อนไหลออกทะเลที่ปากน้ำเวฬุ บริเวณแนวแบ่งเขตระหว่างอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กับอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด[3] มีความยาวประมาณ 81 กิโลเมตร[1] ตอนต้นน้ำเรียก คลองเวฬุ
แม่น้ำเวฬุ คลองเวฬุ | |
---|---|
ที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | จันทบุรี, ตราด |
ลักษณะทางกายภาพ | |
ต้นน้ำ | เขาชะอมและเขาทุ่งสะพานหิน |
• ตำแหน่ง | ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี |
ปากน้ำ | ปากน้ำเวฬุ |
• ตำแหน่ง | ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด |
• พิกัด | 12°17′50.1″N 102°15′27.1″E / 12.297250°N 102.257528°E |
ความยาว | 81 กิโลเมตร (50 ไมล์) |
ลุ่มน้ำ | |
ระบบแม่น้ำ | ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงแม่น้ำเวฬุเมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออกใน พ.ศ. 2419 ว่า "...ที่นี้เปนปากน้ำเมืองขลุง เขาเรียกว่าปากน้ำเวน มีเกาะจิกอยู่ตรงน่าเหมือนลับแล มีเกาะเล็กอยู่อิก ๒ เกาะติดกันไป..."[4] รูปคำว่า เวฬุ มาจากภาษาบาลี แปลว่า "ไม้ไผ่" อย่างไรก็ตาม มีข้อสันนิษฐานว่าชื่อแม่น้ำที่ออกเสียงว่า [เวน] นี้ อาจมาจากคำในภาษาพื้นถิ่นดั้งเดิมของผู้คนแถบนี้ ต่อมาผู้รู้ในสมัยหลังเขียนสะกดเป็น เวฬุ[5] เพื่อให้มีรูปคำสอดคล้องกับคำในภาษาบาลี
บริเวณปากน้ำเวฬุในปัจจุบันเป็นป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 6,000 ไร่[6] เป็นแหล่งรวมพรรณไม้ชายเลนหลากหลายชนิด เช่น โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ขลู่ จาก ชะคราม ช้าเลือด ปรงหนู ปรงทะเล เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นถิ่นอาศัยของเหยี่ยวแดง มีชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำประมง หาปู หาปลา ยกยอกุ้ง เลี้ยงปลากระชัง เป็นต้น[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๔ (อักษร ย-ฮ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561.
- ↑ "ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 19" (PDF). กรมศิลปากร. p. 75.
- ↑ "จังหวัดตราด".
- ↑ "พระราชนิพนธ์เสด็จประพาศจันทบุรี วัน ๔ ๑๒ฯ ๒ ค่ำปีชวดอัฐศก ๑๒๓๘". ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.
- ↑ "ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม 19" (PDF). กรมศิลปากร. p. 76.
- ↑ "คืนชีพป่าชายเลน ผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งปากแม่น้ำเวฬุ". บ้านเมือง.
- ↑ "ป่าชายเลนปากแม่น้ำเวฬุ". คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด.[ลิงก์เสีย]