แซแนกาผู้ลูก
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
แซแนกาผู้ลูก มีชื่อเต็มว่า ลูกิอุส อันไนอุส แซแนกา (ละติน: Lvcivs Annaevs Seneca; ประมาณ พ.ศ. 140 - พ.ศ. 608) เป็นนักเขียน เจ้าลัทธิสโตอิกโรมัน นักปรัชญา รัฐบุรุษ นักเขียนบทละคร และมีงานหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนเรื่องขำขัน บุรุษแห่งยุคเงินของวรรณกรรมละติน (Silver Age of Latin literature)
ประวัติ
แก้แซแนกาผู้ลูกเกิดที่เมืองกอร์ดุบาในฮิสปานิอา (คาบสมุทรไอบีเรีย ซึ่งปัจจุบันคือประเทศสเปนและโปรตุเกส) แซแนกาเป็นบุตรคนที่ 2 ของแฮ็ลวิอา และมาร์กุส อันไนอุส แซแนกา นักวาทศิลป์ผู้มั่งคั่งผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในนามของ "แซแนกาผู้พ่อ" แซแนกาเป็นนักพูดยอดเยี่ยมตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เริ่มอาชีพด้านกฎหมายและการเมือง มีชื่อเสียงมากไม่ใช่เฉพาะด้านกฎหมาย แต่ยังเป็นนักเขียนที่มีความสามารถ แต่ไม่เป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิกาลิกุลาเท่าใดนัก
ในปี พ.ศ. 584 รัชสมัยของจักรพรรดิเกลาดิอุส จักรพรรดิองค์ต่อมา แซแนกาถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะคอร์ซิกา ซึ่งเขาก็ยังคงสอนปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปี พ.ศ. 592 แซแนกาได้รับเชิญให้กลับมาเป็นอาจารย์สอนมกุฎราชกุมารซึ่งต่อมาคือจักรพรรดิแนโร ถือว่าเป็นแซแนกาเป็นที่ปรึกษาให้กับแนโร เขาได้อบรมสั่งสอนจักรพรรดิในเรื่องศิลปะการปกครอง และยึดหลักขันติ หิริ โอตตัปปะ ผสมไปกับอหิงสา รวม ๆ กันเรียกว่า ปรัชญาสโตอิก (stoic philosophy) ซึ่งเป็นหลักธรรมที่สอนให้ผู้คนในยุคก่อนคริสตกาลให้รู้จักอดทน กำจัดตัณหาและราคจริตให้หมดไป
ในปี พ.ศ. 594 แซแนกาสมรสกับสตรีที่ผู้ทรงอิทธิพลและได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาในสมัยนั้น ยุคต้นของสมัยจักรพรรดิแนโร แซแนกาเป็นขุนนางที่มีชื่อเสียงและมีอำนาจมาก แต่ศัตรูของเขาพยายามยุแหย่ให้จักรพรรดิแนโรมองเขาในแง่ร้าย จนในปี พ.ศ. 605 แซแนกาได้ลาออกจากการเป็นขุนนาง หันมาทุ่มเทงานเขียนด้านปรัชญา
ผลงาน
แก้ช่วงที่เขากำลังรุ่งเรืองนั้น เขาไดินิพนธ์บทละครประเภทโศกนาฏกรรมเอาไว้ถึงเก้าเรื่องด้วยกัน และเรื่องกินใจที่มีผู้คนอ่านมากที่สุด เห็นจะได้แก่เรื่อง ไทเอสตีส (Thyestes) ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งเล่าถึงตัวละครชายที่นั่งกินเลี้ยงอยู่ในงานฉลอง โดยมิได้ล่วงรู้เลยว่า อาหารจานหลักนั้นเป็นเนื้อของลูกชายของตนเอง
เมื่อแนโรได้ครองบัลลังก์ในปี พ.ศ. 597 ก็ได้ให้ความเชื่อถือแซแนกายิ่งกว่าที่ปรึกษาคนอื่น ๆ แต่หลังจากนั้น 8 ปี แซแนกาก็หลุดจากตำแหน่ง อาจเป็นเพราะนโยบายของเขานั้นนิ่มนวลเกินไป ไม่เคยเกะกะรุกรานฝ่ายค้าน และแนโรซึ่งมีนิสัยบุ่มบ่ามจึงไม่ชอบนัก
แซแนกาผู้ลูกซึ่งถือเป็นนักปรัชญาในกลุ่มลัทธิสโตอิก ได้เขียนถึงลูกีลิอุส (ในจดหมายฉบับที่ 55) ไว้ว่า
ที่ที่เราอยู่นั้นแม้ไม่อาจช่วยให้เรามีจิตสงบได้ แต่จิตวิญญาณต่างหากที่ทำให้ทุกสิ่งเป็นที่พึงใจสำหรับเรา ข้าเคยพบเห็นผู้ซึ่งหม่นหมองเศร้าสร้อยในคฤหาสน์อันเต็มไปด้วยความรื่นเริง และผู้ที่เก็บตัวอยู่สันโดษแต่ดูราวกับจะออกลุกขึ้นวิ่งอยู่กระนั้น ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดให้ท่านคิดเอาว่า ท่านไม่สามารถสงบจิตได้เท่าที่ควร เพียงเพราะท่านมิได้อยู่ในกัมปานิอา
เหตุใดท่านจะไม่สามารถทำได้เพราะเรื่องนั้นเล่า ส่งกระแสความคิดของท่านเดินทางมายังที่นี่สิ ไม่มีสิ่งใดดอกที่จะห้ามไม่ให้ท่านได้เข้าร่วมสังสรรค์กับเหล่าเพื่อนผู้อยู่ห่างไกลบ่อยครั้งได้เท่าที่ท่านต้องการและเนิ่นนานได้ดังที่ท่านปรารถนา ความรื่นรมย์จากการสมาคมซึ่งไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมได้นั้นเป็นความรื่นรมย์ที่เราได้รับมากยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ห่างไกลกัน ด้วยการมีเพื่อนอยู่ด้วยนั้นทำให้เราเหลิงเหตุ เพราะเราพูดคุยกัน เดินไปด้วยกัน นั่งอยู่ด้วยกันได้ทุกเมื่อยามแยกจากกันไป เราก็ไม่ได้นึกถึงผู้ที่เราเพิ่งได้พบมาแม้แต่น้อย เหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงควรอดทนรับสภาพยามมิได้พบปะกันก็คือความจริงที่ว่า พวกเราทุกคนล้วนละห่างจากเพื่อน แม้พวกเขาจะอยู่ใกล้แถวนั้นก็ตาม เราละจากเพื่อนในค่ำคืนที่อยู่ห่างกันในการกระทำกิจทั้งหลายที่ทำให้แต่ละคนมีธุระยุ่งอยู่เป็นนิจ ไปจนถึงในยามที่เราศึกษาอยู่ลำพังเป็นส่วนตัวและยามเราออกเดินทางสู่ชนบทแล้ว ท่านจะเห็นว่าช่วงเวลายามอยู่ต่างแดนนั้นมิได้เพิกถอนสิทธิเรามากเท่าใดนักดอก
การถือครองสิทธิในตัวเพื่อนนั้นควรเป็นการถือครองสิทธิทางจิตวิญญาณ จิตวิญญาณมิเคยห่างหาย จิตวิญญาณพบผู้ใดก็ได้ตามต้องการทุก ๆ วัน ดังนั้นขอให้ท่านได้ศึกษาร่วมกับข้า ได้กินอาหารร่วมกับข้าและได้เดินไปกับข้าด้วย ชีวิตคงเป็นสิ่งจำกัดเหลือเกินหากมีสิ่งใดก็ตามมาขวางกั้นจินตนาการ ข้าพบท่านท่านลูกีลิอุส ข้าได้ยินท่าน ณ ชั่วขณะนี้ ข้ารู้สึกว่าท่านอยู่ ณ ที่นี้ จนข้าอดสงสัยไม่ได้ว่า ข้าไม่ควรเริ่มเขียนบันทึกฝากถึงท่านแทนจดหมายหรืออย่างไรกัน!— แซแนกาผู้ลูก
การเสียชีวิต
แก้ในปี พ.ศ. 608 แซแนกาผู้ลูกถูกกล่าวหาว่าเขียนงานพาดพิงถึงจักรพรรดิแนโร ในที่สุดเขาได้ปลิดชีพตัวเองตามพระประสงค์ของจักรพรรดิ เพราะยึดมั่นในลัทธิสโตอิก ซึ่งสอนให้ยอมรับทุกอย่างแต่โดยดี เขาใช้มีดโกนเฉือนเส้นเลือดใหญ่ ปล่อยให้โลหิตไหลรินออกจากร่างกายอย่างช้า ๆ และสิ้นชีวิตอย่างเงียบ ๆ แนวคิดของแซแนกายึดหลักลัทธิสโตอิก เน้นคุณธรรม ได้แก่การเสนอแนวคิดและคำคมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การเรียนรู้ชีวิตที่ไม่ใช่เฉพาะแค่ในโรงเรียน ผู้ที่มีไม่มากไม่ใช่คนจน คนจนคือผู้ที่อยากมีโดยไม่รู้จักพอ
งานเขียนที่ชื่อว่า ว่าด้วยความปรานี (De Clementia) เขียนถึงจักรพรรดิแนโร บ่งบอกคุณลักษณะของจักรพรรดิที่แท้จริงซึ่งต้องมีเมตตาเป็นอำนาจสูงสุด งานเขียนของเขาทรงอิทธิพลต่อนักคิดนักเขียนในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 18 อาทิ ฌ็อง กาลแว็ง, มีแชล เดอ มงแตญ, ฌ็อง-ฌัก รูโซ เป็นต้น
อ้างอิง
แก้- Cassius Dio claims Seneca and Burrus "took the rule entirely into their own hands,", but "after the death of Britannicus, Seneca and Burrus no longer gave any careful attention to the public business" in 55 (Cassius Dio, Roman History, LXI.3-7)
- นิตยสาร ต่วยตูน เดือนสิงหาคม 2540 หน้า43[ลิงก์เสีย]
ดูเพิ่ม
แก้- พิพิธภัณฑ์คลาสสิกโลบ (อังกฤษ)
- แซแนกาผู้พ่อ (อังกฤษ)
- โลงละครโบราณในกรุงโรม (อังกฤษ)
- แซแนกาปลอม (อังกฤษ)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- งานเขียนดั้งเดิมของแซแนกาจากห้องสมุดละติน
- งานของแซแนกาผู้ลูก -โครงการกูเตนเบิร์ก
- วีดิทัศน์ "แซแนกาว่าด้วยความโกรธ" เก็บถาวร 2007-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (กูเกิลวิดิโอ 24 นาที)