เลโอนอร์แห่งกัสติยา

อินฟันตาแห่งกัสติยาและสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

เลโอนอร์แห่งกัสติยา (สเปน: Leonor de Castilla; อังกฤษ: Eleanor of Castile; ค.ศ. 1241 – 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1290) เป็นพระราชินีแห่งอังกฤษ โดยทรงเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1

เลโอนอร์แห่งกัสติยา
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
ดำรงพระยศ16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1272 -
28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1290
พระราชสมภพค.ศ. 1241
บูร์โกส กัสติยา สเปน
สวรรคต28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1290
(พระชนมายุ 49 พรรษา)
ฮาร์บีย์, น็อตติ้งแฮมเชียร์
คู่อภิเษกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ
พระบุตรพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท
พระบิดาพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยา
พระมารดาฌานแห่งดามาร์แต็ง สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา

เป็นที่รู้กันว่าทั้งคู่มีชีวิตสมรสที่ใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นพิเศษ พระราชินีเลโอนอร์ติดตามพระสวามีทุกหนทุกแห่ง เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ใกล้กับลิงคอล์น พระสวามีของพระนางได้สั่งให้สร้างกางเขนหินอันโด่งดังตามจุดแวะพักระหว่างการแห่ศพจากลิงคอล์นมาลอนดอน สิ้นสุดที่แยกเชอริง

พระราชินีเลโอนอร์มีการศึกษาที่สูงกว่าพระราชินีในสมัยกลางส่วนใหญ่และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของชาติเป็นอย่างมาก พระนางเป็นผู้อุปถัมภ์ในด้านวรรณกรรม และส่งเสริมการใช้ผ้าทอ, พรม และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารตามแบบสเปน รวมถึงออกแบบสวนรูปแบบใหม่ในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

การเสด็จพระราชสมภพ

แก้

เลโอนอร์แห่งกัสติยาเสด็จพระราชสมภพในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1241 ที่บูร์โกส โดยทรงเป็นพระราชบุตรคนที่สองในห้าของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 แห่งกัสติยากับพระราชินีฌานแห่งดามาร์แต็ง เคาน์เตสแห่งปงตีเยอตามสิทธิ์ของตนเองซึ่งเป็นพระมเหสีคนที่สองของกษัตริย์แห่งกัสติยา พระองค์ได้รับตั้งชื่อตามเอลินอร์แห่งอังกฤษ พระอัยกีฝั่งมารดาของพระบิดาซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 แห่งอังกฤษ กับอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน และเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 แห่งกัสติยา นอกเหนือจากพี่น้องร่วมพระบิดามารดาเดียวกัน เลโอนอร์ยังมีพี่น้องต่างมารดาซึ่งเป็นพระราชบุตรของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 ซึ่งเกิดจากเอลิซาเบธแห่งชวาเบิน พระมเหสีคนแรกอีก 10 คน หนึ่งในนั้นคือพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระบิดา

ในตอนที่พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1252 เลโอนอร์อยู่ที่เตียงสิ้นพระชนม์ของพระองค์[1] ผู้สืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 3 คือ พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระเชษฐาต่างมารดาซึ่งมีพระชนมายุมากกว่าเลโอนอร์ 20 พรรษา เลโอนอร์ได้รับการศึกษาในระดับสูงกว่ามาตรฐานในยุคนั้น[2]

การอภิเษกสมรส

แก้
 
รูปปั้นแกะสลักของเลโอนอร์แห่งกัสติยากับระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษที่อาสนวิหารลิงคอล์น

หลังการสมรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษกับอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน กษัตริย์อังกฤษได้ดินแดนมากมายในฝรั่งเศสมาอยู่ในการครอบครองเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอ็องฌู แต่ภายหลังในรัชสมัยของกษัตริย์คนต่อๆ มาอังกฤษได้เสียดินแดนดังกล่าวไปจนเหลือเพียงกัสกอญ ในปี ค.ศ. 1252 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยาได้ใช้สิทธิ์ในการเป็นลูกหลานของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 อ้างสิทธิ์ในกัสกอญ ในปี ค.ศ. 1254 ได้มีการเจรจาเรื่องการสมรสระหว่างอินฟันตาเลโอนอร์ พระขนิษฐาต่างมารดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 กับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษ

การสมรสแบบคลุมถุงชนของเลโอนอร์กับอนาคตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ (ขณะนั้นยังเป็นเพียงเจ้าชาย) ได้รับข้อสรุปในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1254 ทั้งคู่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันในลำดับที่สองโดยมีบรรพบุรุษร่วมกันคือพระเจ้าเฮนรีที่ 2 อินฟันตาเลโอนอร์แห่งกัสติยาวัย 13 พรรษาสมรสกับลอร์ดเอ็ดเวิร์ด พระโอรสวัย 15 พรรษาของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แห่งอังกฤษที่อารามลัสฮูเอลกัสในบูร์โกสในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1254 เพื่อเป็นเกียรติแก่การสมรสพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระเชษฐาของเลโอนอร์ได้ยกการอ้างสิทธิ์ในกัสกอญให้แก่เอ็ดเวิร์ด ทั้งยังแต่งตั้งเอ็ดเวิร์ดเป็นอัศวินก่อนเข้าพิธีสมรส

สองสามีภรรยาวัยหนุ่มสาวอาศัยอยู่ในกัสกอญเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อให้เอ็ดเวิร์ดได้ฝึกการบริหารบ้านเมืองโดยมีเลโอนอร์คอยให้ความช่วยเหลือ การสมรสน่าจะสมบูรณ์ในเวลาไม่นานเนื่องจากเลโอนอร์ได้ให้กำเนิดพระธิดาที่สิ้นพระชนม์หลังการประสูติในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1255 ในตอนนั้นเลโอนอร์มีพระชนมายุเพียง 14 พรรษาการให้กำเนิดบุตรจึงเป็นเรื่องยาก ทั้งคู่เดินทางกลับอังกฤษในช่วงปลายปี ค.ศ. 1255[3]

สงครามบารอนครั้งที่สอง

แก้

ในช่วงปี ค.ศ. 1260 ถึง ค.ศ. 1263 เลโอนอร์กับเอ็ดเวิร์ดเดินทางไปยังทวีปใหญ่ (ทวีปยุโรป) ในปี ค.ศ. 1264 เมื่อบารอนฝ่ายตรงข้ามของพระเจ้าเฮนรีเข้ายึดอำนาจอังกฤษในช่วงสงครามบารอนครั้งที่สอง ทั้งคู่ได้เดินทางกลับมาอังกฤษพร้อมกับพลธนูจากเคานตีปงตีเยอในฝรั่งเศสของพระมารดาของเลโอนอร์ ลือกันว่าพระนางพยายามจะนำกองทหารจากกัสติยาเข้ามาในอังกฤษ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1264 หลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายกษัตริย์ที่สมรภูมิลูอิส พระเจ้าเฮนรีที่ 3 และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดถูกจับกุมตัว ซิมง เดอ มงต์ฟอร์ ผู้นำกลุ่มบารอนได้สั่งให้เลโอนอร์ย้ายออกจากปราสาทวินด์เซอร์ พระนางถูกกักบริเวณในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เดอ มงฟอร์ได้เข้ามาควบคุมการบริหารบ้านเมืองและเรียกประชุมสภาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1265 ไม่นานเอ็ดเวิร์ดก็หาทางหนีออกมาจากคุกได้และได้บดขยี้กลุ่มกบฏที่สมรภูมิอีฟแชม

สงครามครูเสด

แก้
 
ภาพเลโอนอร์กำลังดูดพิษจากบาดแผลของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด

ตั้งแต่ ค.ศ. 1270 จนถึง ค.ศ. 1273 เลโอนอร์ติดตามเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดไปทำสงครามครูเสดครั้งที่ 8 ซึ่งมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส พระมาตุลาของเอ็ดเวิร์ดเป็นผู้นำ พระเจ้าหลุยส์สิ้นลมหายใจที่คาร์เธจในทวีปแอฟริกาก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางไปถึง เลโอนอร์กับเอ็ดเวิร์ดจึงใช้เวลาในช่วงฤดูหนาวที่ซิซิลี ทั้งคู่ไปถึงกรุงเอเคอร์ในปาเลสไตน์ (ปัจจุบันอยู่ในอิสราเอล) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1271 แม้สงครามครูเสดจะดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แต่ชื่อเสียงของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดในฐานะนักรบเป็นที่เลื่องลือจนทำให้เกิดพยายามลอบสังหารพระองค์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1272 ด้วยการให้เอมีร์คนหนึ่งไปเจรจากับเจ้าชายอังกฤษโดยอ้างว่าต้องการให้พระองค์ช่วยทำภารกิจลับ ระหว่างการพูดคุยพระองค์ถูกลอบทำร้ายด้วยกริชอาบยาพิษจนได้รับบาดเจ็บที่แขน เกิดเป็นแผลติดเชื้อร้ายแรง พระองค์รอดชีวิตได้ด้วยการช่วยเหลือของศัลยแพทย์อังกฤษที่ตัดเนื้อส่วนที่ติดเชื้อทิ้ง แต่ต่อมามีการใส่สีเติมแต่งว่าเลโอนอร์ได้ช่วยชีวิตพระองค์ด้วยการดูดพิษจากบาดแผล

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวสองสามีภรรยาได้เดินทางออกจากปาเลสไตน์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1272 ในเดือนธันวาคมระหว่างอยู่ในซิซิลีทั้งคู่ได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 สองสามีภรรยาจึงรีบเดินทางกลับอังกฤษ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1273 ทั้งคู่เดินทางผ่านโรมและได้แวะเยี่ยมเยียนสมเด็จพระสันตะปาปา ทั้งคู่เดินทางไปถึงกัสกอญในฤดูร้อน จากนั้นได้เดินทางไปปงตีเยอเพื่อเยี่ยมเยียนพระมารดาของเลโอนอร์ สุดท้ายจึงข้ามช่องแคบอังกฤษไปเข้ารับการสวมมงกุฎพร้อมกันที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1274[4] ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กษัตริย์และพระราชินีราชาภิเษกร่วมกันนับตั้งแต่การพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน

พระมารดาของเลโอนอร์สิ้นพระชนม์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1279 พระนางได้สืบทอดตำแหน่งเป็นเคาน์เตสแห่งปงตีเยอต่อจากพระมารดาแต่ไม่เคยได้ใช้ยศดังกล่าวในอังกฤษ

การสมรสกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดของเลโอนอร์ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนที่ไม่ไว้ใจ "ชาวต่างชาติ" ความคิดที่จะนำกองทัพจากสเปนเข้ามาในช่วงสงครามบารอนครั้งที่สองสร้างความกังวลให้แก่ชาวอังกฤษ เลโอนอร์ให้การสนับสนุนพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 กษัตริย์แห่งกัสติยาและเลอนผู้เป็นพระเชษฐาเสมอ แต่พระนางทำอย่างระวังตัวเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างศัตรู ทรงใช้วิธีจับคู่สมรสด้วยการให้ญาติหญิงของพระองค์สมรสกับบารอนอังกฤษ

แม้การสมรสจะถูกมองในแง่ลบแต่เลโอนอร์กับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็เป็นคู่สมรสที่ซื่อสัตย์ต่อกัน พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เป็นหนึ่งในกษัตริย์สมัยกลางไม่กี่คนที่ไม่มีความสัมพันธ์ชู้สาวนอกสมรสและไม่มีบุตรนอกสมรส ทั้งคู่มีชีวิตสมรสที่เต็มไปด้วยความรักและไม่เคยแยกจากกันตลอดการสมรส เลโอนอร์ติดตามพระสวามีไปทุกหนทุกแห่ง

พระราชินีคู่สมรสแห่งอังกฤษ

แก้
 
ตราประจำพระองค์ของพระราชินีเลโอนอร์แห่งกัสติยาในฐานะพระราชินีคู่สมรสแห่งอังกฤษ

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 พระราชินีม่ายอะลิอูโนแห่งพรอว็องส์ พระมารดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยังคงอยู่ในอังกฤษและช่วยเลี้ยงดูพระนัดดาซึ่งเป็นพระโอรสธิดาของพระราชินีเลโอนอร์ เมื่อเฮนรี พระนัดดาที่อยู่ในการดูแลของพระนางสิ้นพระชนม์ พระราชินีม่ายโศกเศร้าเป็นอย่างมาก ทรงก่อตั้งศาสนสำนักกิลด์ฟอร์ดขึ้นมาเพื่อเป็นการระลึกถึงพระนัดดา เมื่อพระโอรสคนที่สามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและเลโอนอร์ประสูติที่บายอนในกัสกอญในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1273 พระองค์ได้รับการตั้งชื่อตามพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา พระมาตุลาซึ่งเป็นพ่อทูนหัว จึงมีชื่อว่าอัลฟอนโซซึ่งไม่มีความเป็นอังกฤษ พระราชินีเลโอนอร์ให้กำเนิดอนาคตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ที่ปราสาทคายร์นาร์วอนในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1284 หลังพระอนุชาประสูติได้ไม่นานอัลฟอนโซก็สิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 10 พรรษา เอ็ดเวิร์ดวัย 4 เดือนจึงกลายเป็นทายาทของพระราชบิดา ตลอดชีวิตสมรส 36 ปี แม้ไม่ชัดเจนว่าทั้งคู่มีพระโอรสธิดาด้วยกันกี่คน แต่เท่าที่รู้คือมีพระธิดา 11 คนและพระโอรสอีก 4-5 คนเป็นอย่างน้อย ได้แก่

  1. พระธิดา (ประสูติ ค.ศ. 1255) สิ้นพระชนม์ตอนคลอด
  2. แคทเธอรีน (ประสูติ ค.ศ. 1261) สิ้นพระชนม์หลังพระบิดาถูกจับกุมตัวที่สมรภูมิลูอิสและพระมารดาถูกสั่งให้ออกจากปราสาทวินด์เซอร์
  3. โจน (ประสูติ ค.ศ. 1265) ประสูติหลังสิ้นสุดสงครามบารอนครั้งที่ 2 สิ้นพระชนม์ในวัยทารก
  4. จอห์น (ประสูติ ค.ศ. 1266) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
  5. เฮนรี (ประสูติ ค.ศ. 1268) สิ้นพระชนม์ในวัยเยาว์
  6. เอลิเนอร์ (ประสูติ ค.ศ. 1269) ถูกหมั้นหมายกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 แห่งอารากอน แต่คู่หมายสิ้นพระชนม์ก่อนที่การสมรสจะเกิดขึ้น ต่อมาสมรสกับอ็องรีที่ 3 เคานต์แห่งบาร์
  7. พระธิดา (ประสูติ ค.ศ. 1271) ประสูติในช่วงสงครามครูเสด สิ้นพระชนม์หลังคลอด
  8. โจนแห่งเอเคอร์ (ประสูติ ค.ศ. 1272) ประสูติในช่วงสงครามครูเสด สมรสครั้งแรกกับกิลเบิร์ต เดอ แคลร์ เอิร์ลที่ 7 แห่งกลอสเตอร์ ต่อมาสมรสครั้งที่สองกับราล์ฟ บารอนมอนเธอร์เมอร์ที่ 1
  9. อัลฟอนโซ เอิร์ลแห่งเชสเตอร์ (ประสูติ ค.ศ. 1273) ประสูติที่กัสกอญระหว่างพระบิดามารดาเดินทางกลับจากสงครามครูเสด สิ้นพระชนม์ในวัยเยาว์
  10. มาร์กาเร็ต (ประสูติ ค.ศ. 1275) สมรสกับจอห์นที่ 2 ดยุคแห่งบราบองต์
  11. เบเรนกาเรีย (ประสูติ ค.ศ. 1276) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก
  12. พระธิดา (ประสุติ ค.ศ. 1277/8) สิ้นพระชนม์ในวัยทารก
  13. แมรี (ประสูติ ค.ศ. 1279) แม่ชีคณะเบเนดิกติน
  14. พระโอรส (ประสูติ ค.ศ. 1280/1) สิ้นพระชนม์ในการคลอด
  15. เอลิซาเบธ (ประสูติ ค.ศ. 1282) สมรสครั้งแรกกับจอห์นที่ 1 เคานต์แห่งฮอลแลนด์ ต่อมาสมรสครั้งที่สองกับฮัมฟรีย์ เดอ โบฮัน เอิร์ลที่ 4 แห่งเฮริฟอร์ดและเอิร์ลที่ 3 แห่งเอสเซ็กซ์
  16. พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ (ประสูติ ค.ศ. 1284) หรือเอ็ดเวิร์ดแห่งคายร์นาร์วอน

แม้จะมีพระโอรสธิดาด้วยกันมากมายแต่มีเพียง 6 คนที่มีชีวิตอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ คือ เอลิเนอร์แห่งอังกฤษ เคาน์เตสแห่งบาร์, โจนแห่งเอเคอร์, มาร์กาเร็ตแห่งอังกฤษ ดัชเชสแห่งบราบองต์, แมรีแห่งวูดสต็อก, เอลิซาเบธแห่งริดแลน และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ พระโอรสเพียงคนเดียวที่มีชีวิตอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่

การสิ้นพระชนม์

แก้
 
รูปแกะสลักหลุมศพของเลโอนอร์แห่งกัสติยาที่อาสนวิหารลิงคอล์น

หลังให้กำเนิดพระโอรสธิดามากมายสุขภาพของเลโอนอร์เริ่มทรุดโทรมลง ใน ค.ศ. 1287 ระหว่างอยู่ในกัสกอญทรงป่วยเป็นไข้จับสั่น ซึ่งคาดว่าน่าเป็นโรคมาลาเรียสายพันธุ์ร้ายแรง ในฤดูใบไมผลิของ ค.ศ. 1290 ข่าวการสิ้นพระชนม์ของมาร์กาเร็ต สาวน้อยแห่งนอร์เวย์ ทายาทแห่งสกอตแลนด์มาถึงราชสำนัก พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเข้าร่วมการประชุมสภานิติบัญญัติที่นอตทิงแฮมเชอร์และตัดสินใจพำนักอยู่ในทางตอนเหนือของอังกฤษต่อ เลโอนอร์ติดตามพระสวามีขึ้นเหนืออย่างไม่รีบร้อน ระหว่างที่สองสามีภรรยากำลังมุ่งหน้าไปยังลิงคอล์น พระราชินีเลโอนอร์ล้มป่วยเป็นไข้ คาดว่าไข้จับสั่นที่พระนางเคยเป็นใน ค.ศ. 1287 อาจกำเริบ อาการของพระนางทรุดลงเมื่อทั้งคู่ไปถึงหมู่บ้านฮาร์บีย์ในนอตทิงแฮมเชอร์ซึ่งอยู่ห่างจากลิงคอล์น 22 ไมล์ ทรงสิ้นพระชนม์ที่นั่นในบ่ายของวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1290 ด้วยวัย 49 พรรษา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดอยู่ที่เตียงสิ้นพระชนม์และโศกเศร้าอย่างมากกับการสูญเสียครั้งนี้

 
อนุสาวรีย์แยกเลโอนอร์ในเก็ดดิงตัน ประเทศอังกฤษ

การสิ้นพระชนม์ของพระนางส่งผลกระทบอย่างมากต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ผู้ไม่เคยสะทกสะท้านต่อสิ่งใด ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1291 พระองค์ได้เขียนจดหมายเพื่อหาคนมาสวดมนต์ให้แก่ดวงวิญญาณของพระมเหสีผู้ล่วงลับ "ผู้เป็นที่รักยิ่งของเราในยามที่มีวิต และผู้ที่ความตายไม่สามารถบั่นทอนความรักของเราได้" หลังการสิ้นพระชนม์ร่างของพระนางถูกนำไปทำการดองศพที่ศาสนสำนักนักบุญแคทเธอรีนในลิงคอล์น การดองศพในคริสต์ศตวรรษที่ 13 จะมีการควักอวัยวะภายในออกมา เครื่องในและอวัยวะภายในของเลโอนอร์ถูกฝังไว้ในอาสนวิหารลิงคอล์น ขณะที่หัวใจและร่างถูกนำไปลอนดอนเพื่อฝังที่วิหารเวสต์มิสเตอร์[5] ขบวนแห่พระศพอันยิ่งใหญ่จากลิงคอร์นสู่ลอนดอนใช้เวลาเดินทาง 12 วันผ่านทางแยกสิบสองแห่ง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดได้สั่งให้สร้างอนุสาวรีย์ "แยกเลโอนอร์" อันโด่งดังเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระมเหสีผู้ล่วงลับที่ทางแยกทั้งสิบสองแห่ง คือ ลิงคอล์น, แกรนแธม, สแตมฟอร์ด, เก็ดดิงตัน, ฮาร์ดิงสโตนใกล้กับนอร์แทมป์ตัน, สโตนีสแตร็ตฟอร์ด, โวเบิร์น, ดันสเตเบิล, เซนต์อัลบันส์, วอลแธม, เวสต์ชีพ และเชอริง (เพี้ยนมาจาก เชอร์ เรน์ ครอส - แยกราชินีผู้เป็นที่รัก) ปัจจุบันอนุสาวรีย์ที่ศาสนสำนักของนักบุญแคทเธอรีนซึ่งตั้งอยู่ที่ปราสาทลินคอล์นหลงเหลืออยู่เพียงบางส่วน ขณะที่อีกแห่งในเก็ดดิงตัน, ฮาร์ดิงตัน และวอลแธมยังคงสภาพสมบูรณ์ ทั้งยังมีอนุสาวรีย์จำลองอยู่ในที่อื่นๆ เช่นที่แบนบรี พิธีฝังศพของเลโอนอร์ในวิหารเวสต์มินสเตอร์ถูกจัดขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1290

หลังพระราชินีเลโอนอร์สิ้นพระชนม์ได้สิบปีพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดอภิเษกสมรสใหม่กับมาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส พระธิดาของพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส พระธิดาคนเดียวของทั้งคู่ถูกตั้งชื่อว่าเอลิเนอร์เพื่อเป็นการระลึกถึงอดีตพระมเหสี (เอลิเนอร์ในภาษาอังกฤษ = เลโอนอร์ในภาษาสเปน) หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1307 ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์คือเอ็ดเวิร์ดแห่งคายร์นาร์วอน พระโอรสที่เกิดจากเลโอนอร์เพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่

อ้างอิง

แก้
  1. Sara Cockerill – Eleanor of Castile, The Shadow Queen p. 38-40 (UK & US)
  2. Sara Cockerill – Eleanor of Castile, The Shadow Queen p. 59
  3. Elizabeth Norton – England’s Queens from Boudica to Elizabeth of York p.150 (UK & US)
  4. Elizabeth Norton – England’s Queens from Boudica to Elizabeth of York p.152-153
  5. Elizabeth Norton – England’s Queens from Boudica to Elizabeth of York p.156