เอลิเนอร์แห่งอังกฤษ เคาน์เตสแห่งบาร์

เอเลนอร์แห่งอังกฤษ เคาน์เตสแห่งบาร์ (อังกฤษ: Eleanor of England, Countess of Bar) เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษกับพระราชินีเลโอนอร์แห่งกัสติยา[1] ทรงสมรสกับอ็องรีที่ 3 เคานต์แห่งบาร์

ภาพวาดของเจ้าหญิงเอเลนอร์ในแผนผังครอบครัว

เอเลนอร์เป็นพระราชบุตรคนที่ห้าหรือหกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษกับพระราชินีเลโอนอร์แห่งกัสติยา โดยทรงเป็นพระราชบุตรผู้มีชีวิตรอดคนโต (พระเชษฐาและพระเชษฐภคินีของพระองค์ คือ แคทเธอรีน, โจน, จอห์น และเฮนรี และอาจมีทารกหญิงที่ประสูติก่อนกำหนดในปี ค.ศ. 1255) ทรงประสูติก่อนหน้าวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1269 ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้าเฮนรีที่ 3 พระอัยกาของพระองค์ได้พระราชทานที่ดินมูลค่า 10 ปอนด์ให้แก่ฌ็อง เดอ บูม ทหารรักษาพระองค์ของเลโอนอร์แห่งกัสติยา จากการนำข่าวการประสูติของเอเลนอร์มาแจ้งแก่กษัตริย์

ในวัยเด็กเอเลนอร์ไม่ค่อยได้พบเจอพระราชบิดามารดา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 กับเลโอนอร์แห่งกัสติยาเดินทางออกจากอังกฤษไปทำสงครามครูเสดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1270 ซึ่งเอเลนอร์มีพระชนมายุเพียง 1 พรรษา และกลับมาอังกฤษในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1274 ในช่วงสิบห้าปีแรกของเอเลนอร์ เลโอนอร์แห่งกัสติยาตั้งครรภ์แทบปีต่อปี แต่พระราชบุตรส่วนใหญ่อายุสั้น (มีพระราชบุตรเพียงหกคนที่สิ้นพระชนม์หลังเลโอนอร์แห่งกัสติยา)

ในวัยเด็กเอเลนอร์ใช้ครัวเรือนร่วมกับเฮนรี พระเชษฐาซึ่งประสูติในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1268 และมีพระชนมายุมากกว่าพระองค์เพียง 13 เดือน และฌ็องแห่งเบรอตาญ ลูกพี่ลูกน้องซึ่งเกิดในปี ค.ศ. 1266 (ต่อมาเป็นเอิร์ลแห่งริชมอนด์) โดยฌ็องเป็นบุตรชายของเบียทริซ พระขนิษฐาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 กับดยุคแห่งเบรอตาญ เฮนรีน้อยสิ้นพระชนม์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1274 ด้วยวัย 6 พรรษา ทำให้อัลฟอนโซ พระอนุชาวัย 11 เดือนกลายเป็นทายาทในบัลลังก์คนใหม่

พระขนิษฐาที่มีชีวิตรอดคนถัดจากเอเลนอร์ คือ โจนแห่งเอเคอร์ซึ่งมีพระชนมายุน้อยกว่าเอเลนอร์ 3 ปี โจนใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่กับฌานแห่งดามาร์แต็ง พระราชินีม่ายแห่งกัสติยาผู้เป็นพระอัยกีที่ปงตีเยอ และเดินทางมาอังกฤษในปี ค.ศ. 1279 พี่น้องที่มีชีวิตรอดคนอื่นๆ ของเอเลนอร์ ได้แก่ มาร์กาเร็ต, แมรี, เอลิซาเบธ และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ซึ่งมีพระชนมายุน้อยกว่าเอเลนอร์ 6 ปี, 10 ปี, 13 ปี และ 15 ปีตามลำดับ

เอเลนอร์ยังเป็นเพียงเด็กน้อยในตอนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 พระราชบิดาจับพระองค์หมั้นหมายกับอัลฟอนโซ พระราชนัดดาของพระเจ้าไชเมที่ 1 แห่งอารากอนและพระราชโอรสคนโตของพระเจ้าเปโดรที่ 3 ในปี ค.ศ. 1273 อัลฟอนโซซึ่งมีพระชนมายุมากกว่าพระองค์เล็กน้อยประสูติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1265

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1282 ราววันคล้ายวันประสูติปีที่ 13 ของเอเลนอร์ พระเจ้าเปโดรที่ 3 กดดันพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ให้ส่งตัวพระราชธิดามาอารากอนเพื่อสมรสกับพระราชโอรสของพระองค์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าอะลิอูโนแห่งพรอว็องส์ พระราชมารดาของพระองค์ และเลโอนอร์แห่งกัสติยา พระมเหสีของพระองค์ ขอร้องไม่ให้พระองค์ส่งตัวเอเลนอร์ไป เนื่องจากเอเลนอร์ยังเด็กมาก ทั้งอะลิอูโนและเลโอนอร์ต่างมีพระชนมายุอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับเอเลนอร์ในตอนที่สมรสจึงทำให้ทั้งคู่คิดว่าเป็นวัยที่ยังเด็กเกินไป

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1285 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 ขึ้นสืบทอดตำแหน่งเป็นกษัตริย์แห่งอารากอนต่อจากพระราชบิดา ก่อนฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1291 พระองค์เริ่มคิดถึงการอภิเษกสมรส แต่พระเจ้าอัลฟอนโซสวรรคตอย่างกระทันหันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1291 ด้วยวัยเพียง 25 พรรษา พระเจ้าไชเมที่ 2 ผู้เป็นพระอนุชาได้สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ได้มองหาพันธมิตรคนใหม่มาสมรสกับเอเลนอร์ สุดท้ายพระองค์ก็ได้สมรสในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1293[2] ด้วยวัย 24 พรรษา พิธีสมรสจัดขึ้นที่บริสตอล และเจ้าบ่าวคืออ็องรีที่ 3 เคานต์แห่งบาร์ โดยบาร์ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสและเป็นส่วนหนึ่งของดัชชีลอแรนบน โดยมีบาร์เลอดุกเป็นเมืองหลวง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1294 เคานต์อ็องรีได้จัดการประลองทวนขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าสาวของตน

เอเลนอร์ได้ให้กำเนิดบุตรสองคน คือ

เอเลนอร์สิ้นพระชนม์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1298 ด้วยวัยเพียง 29 พรรษา ในฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ. 1306 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ได้นำตัวฌานแห่งบาร์ พระราชนัดดาวัย 9 หรือ 10 พรรษามาอังกฤษและจับเธอสมรสกับเคานต์แห่งเซอร์รีย์

อ้างอิง

แก้
  1. Merriman 1918, p. 321.
  2. Prestwich 1997, p. 389.
  3. Vale 2001, p. 211.

แหล่งข้อมูล

แก้
  • Merriman, Roger Bigelow (1918). The Rise of the Spanish Empire in the Old and in the New. Vol. 1. The Macmillan Company.
  • Panton, Kenneth (2011). Historical Dictionary of the British Monarchy. Scarecrow Press.
  • Prestwich, Michael (1997). Edward I. Yale University Press.
  • Vale, Malcolm (2001). The Princely Court: Medieval Courts and Culture in North-West Europe, 1270–1380. Oxford University Press.