เวียงเชียงใหม่ หรือชื่อในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละคือ เมืองรัตตนติงสาอภินวปุรี[1] หมายถึงเขตเมืองนครหลวงของเชียงใหม่ (เขตเมืองเก่าในปัจจุบัน) แบ่งออกเป็นสองชั้น ได้แก่ "เวียงชั้นนอก" เป็นเขตเมืองโบราณรูปวงกลม ไม่แน่ชัดถึงปีสร้างและผู้สร้าง แต่ตำนานคาดว่าสร้างโดยพญาลั๊วะ ซึ่งต่อมาถูกทิ้งร้าง และ "เวียงชั้นใน" เป็นเขตเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งพญามังรายทรงสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน (ตามปฏิทินจูเลียน) หรือ 19 เมษายน (ตามปฏิทินกริกอเรียน) พ.ศ. 1839[2] เป็นการสร้างทับเวียงชั้นนอก เพื่อเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนาแทนที่เวียงกุมกาม

"ศักราช ๖๕๘ ปีรวายสัน เดือนวิสาขะ ออก ๘ ค่ำ วัน ๕ วันไทย เมิงเปล้า ยามแตรรุ่งแล้ว ๒ ลูกนาที ปลาย ๒ บาทน้ำ ลัคนาเสวยนวางค์พฤหัสบดี ในมีนราศี พญามังรายเจ้า และพญางำเมือง พญาร่วง ทั้งสามคน ตั้งหอนอนที่ชัยภูมิ ราชมนเทียร ขุดคือเมือง ก่อตรีบูรทั้งสี่ด้าน"

— จารึกหลักที่ ๗๖ วัดเชียงมั่น

เขตเวียง

แก้

ชั้นใน

แก้

เวียงชั้นใน เป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร, เชื้อพระวงศ์, ขุนนาง และชาวยวนซึ่งเป็นชาวเมืองพื้นถิ่น มีกำแพงอิฐหนาล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีประตูอยู่ 5 ประตู มุมกำแพงทั้ง 4 มุม ทำเป็นป้อมปราการแบบไม่มีหลังคา รอบกำแพงด้านนอก ขุดเป็นคูน้ำ กว้างประมาณ 16 เมตร (ในอดีต) โดยชักน้ำมาจากดอยสุเทพเข้าทางคูเมืองตรงป้อมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยน้ำที่ชักมามีการเก็บเป็นช่วง ๆ คูน้ำ แต่ละช่วงของคูน้ำก็จะมีความสูงพื้นที่ลดหลั่นกันไป เริ่มจากจุดที่ชักน้ำเข้ามา เป็นจุดที่มีความสูงมากที่สุด และตรงป้อมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดที่มีความสูงพื้นที่ต่ำที่สุด

ในเขตเวียงชั้นในนี้ ยังเป็นที่ตั้งของเวียงแก้ว หรือเขตพระราชฐานของกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนคร

ชั้นนอก

แก้

เวียงชั้นนอก ซึ่งตั้งอยู่ไม่เกินไปกว่าแนวกำแพงดิน เป็นเขตที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย เช่น ชาวเขิน, มอญ, พม่า ไทใหญ่ และไทยวน มีกำแพงคอยโอบล้อมเวียงชั้นในไว้เฉพาะด้านทิศใต้ และทิศตะวันออกเท่านั้น ส่วนทิศเหนือและทิศตะวันตกของเมือง มีกำแพงอยู่ชั้นเดียวคือกำแพงของเวียงชั้นใน เวียงชั้นนอกมีประตูอยู่ 5 ประตู ตัวกำแพงมีทั้งช่วงที่ก่ออิฐ และเป็นกำแพงดินที่ด้านบนปูด้วยอิฐใช้เป็นทางเดิน ติดกับกำแพงด้านนอก มีคลองแม่ข่า เป็นปราการชั้นแรก ตัวกำแพงสูงราว 8 เมตร มีฐานกว้างราว 6 เมตร ทางเดินด้านบนกว้างราว 3 เมตร มีป้อมตรวจการณ์เป็นระยะ

"ตัวเมืองเชียงใหม่นี้เป็นที่ใหญ่โตและภูมถานดียิ่งนัก สมควรที่จะเป็นเมืองใหญ่แห่งพระราชอาณาจักร์ฝ่ายเหนือ มีบ้านเรือนโรงร้านตึกห้างอย่างดีเกือบจะเผลอไปว่าเป็นกรุงเทพฯ ได้บ้างทีเดียว มีแปลกอย่างหนึ่งที่บ้านเมืองที่ครึกครื้นมาอยู่ริมลำแม่น้ำทั้งหมด ส่วนภายในกำแพงที่เขาเรียกกันที่นี่ว่าในเวียงออกจะกลายเป็นป่า มีแต่วัดมากกว่าอย่างอื่น มีที่รกๆ ทิ้งอยู่เปล่าๆ เป็นอันมาก ที่ยังเป็นที่คนอยู่ได้ติดอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะเหตุที่มีศาลารัฐบาลแลสถานที่ราชการบางอย่างตั้งอยู่ภายในกำแพงเมือง ทำให้คนต้องไปมา ก็มีราษฎรตั้งอยู่ขายข้าวขายของบ้าง แต่ร่วงโรยเสียเต็มทีความรู้สึกเดี๋ยวนี้ที่เรียกว่าในเวียงหน้าตาเป็นนอกเวียง ส่วนตัวเมืองจริงๆ อยู่ข้างนอกทั้งนั้น"[3]

— สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมหลวงนครราชสีมา
เสด็จตรวจราชการฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2463

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 176
  2. วันสถาปนาเมืองเชียงใหม่, หน้า 5
  3. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ม.๒๗/๑๐ เรื่อง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จมณฑลพายัพ (๓๑ ตุลาคม ๒๔๖๓-๒๙ มีนาคม ๒๔๖๗).
บรรณานุกรม
  • ทิว วิชัยขัทคะ. ๒๕๒๗. กำแพงเมืองและประตูเมืองเชียงใหม่และภาพประกอบ. บทความในภาคผนวก หน้า ๙๑-๙๓ ในหนังสือล้านนาไทย : อนุสรณ์พระราชพีธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ พ.ศ ๒๕๒๖-๒๕๒๗.
  • พระบารมีปกเกล้าฯ ยุพราชวิทยาลัย ๑๐๐ ปีนามพระราชทาน. นครเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ การพัฒนาการศึกษา และสังคมเมืองเชียงใหม่. โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พ.ศ. 2550
  • มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่. วันสถาปนาเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2559. 64 หน้า. ISBN 978-616-91942-6-2
  • อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค. วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ซิลค์เวอร์ม, 2543. 232 หน้า. ISBN 978-974-9575-51-2
ก่อนหน้า เวียงเชียงใหม่ ถัดไป
เวียงกุมกาม   เมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา
(พ.ศ. 1839–2318)