เมืองชวา (ลาว: ເມືອງຊວາ, ออกเสียง: [mɯ́aŋ súa]) เป็นชื่อของเมืองหลวงพระบาง หลังจากที่ขุนลอ เจ้าชาวไท/ลาวเข้ายึดครองในปี พ.ศ. 1141 ซึ่งพระองค์ใช้โอกาสที่กษัตริย์แห่งน่านเจ้ากำลังติดพันราชกิจอื่น ขุนลอทรงได้รับมอบเมืองนี้จากขุนบรม พระราชบิดาของพระองค์ ผู้ซึ่งปรากฏในตำนานการสร้างโลกของลาว ซึ่งแพร่หลายในหมู่ชาวลาว, ไทใหญ่ และชนชาติอื่นๆ ในภูมิภาค ขุนลอทรงได้สถาปนาราชวงศ์ซึ่งสืบต่อมาอีก 15 รัชกาล และปกครองเมืองชวาในฐานะรัฐอิสระเป็นเวลานานเกือบศตวรรษ

เมืองชวา

ເມືອງຊວາ
พ.ศ. 1241–พ.ศ. 1896
เมืองชวาในฐานะประเทศราชของสุโขทัยในปี พ.ศ. 1836
เมืองชวาในฐานะประเทศราชของสุโขทัยในปี พ.ศ. 1836
สถานะนครรัฐ
เมืองหลวงเมืองชวา
ภาษาทั่วไปลาว, ไท
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
การปกครองราชาธิปไตย
กษัตริย์ 
• พ.ศ. 1241–1323
ขุนลอ
ยุคประวัติศาสตร์สมัยกลาง
• สถาปนาเมืองชวา
พ.ศ. 1241
• เป็นประเทศราชของอาณาจักรพระนคร
พ.ศ. 1493
พ.ศ. 1896
สกุลเงินการแลกเปลี่ยนสินค้า
ถัดไป
อาณาจักรล้านช้าง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศลาว

ประวัติศาสตร์

แก้

เมืองชวา ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า หลวงพระบาง ได้รับการตั้งชื่อในปี พ.ศ. 1141 หลังจากที่ขุนลอ เจ้าชาวลาวเข้ายึดครอง ซึ่งพระองค์ได้รับเมืองนี้จากขุนบรม พระราชบิดาของพระองค์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษในตำนานของลาว

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 13 อาณาจักรน่านเจ้าได้เข้าแทรกแซงรัฐต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ส่งผลให้เมืองชวาถูกยึดครองในปี พ.ศ. 1252 เจ้านายหรือผู้ปกครองจากน่านเจ้าเข้าแทนที่เจ้าชาวไท แม้ว่าระยะเวลาในการยึดครองจะไม่แน่ชัด แต่มีแนวโน้มว่าสิ้นสุดลงก่อนการขยายอำนาจขึ้นสู่เหนือของอาณาจักรพระนครภายใต้การปกครองของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1420–1432) ซึ่งครอบคลุมไปถึงดินแดนสิบสองปันนาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน

ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวขอมตั้งมั่นอยู่ที่เมืองซายฟองใกล้กับเมืองเวียงจันทน์ ส่วนอาณาจักรจามปาได้ขยายอำนาจไปยังดินแดนลาวตอนใต้ และยึดครองสองฝั่งแม่น้ำโขงจนถึงปี พ.ศ. 1613 พระยาจันทพานิช เจ้าเมืองซายฟองเดินทางขึ้นเหนือสู่เมืองชวา และได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ปกครองหลังจากที่ผู้ปกครองจากน่านเจ้าจากไป พระยาจันทพานิชและพระโอรสครองราชย์เป็นระยะเวลายาวนาน ในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองชวาเป็นที่รู้จักในชื่อไทว่า เชียงดงเชียงทอง[1] ต่อมาราชวงศ์ของเมืองชวาตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างนครรัฐหลายแห่ง ขุนเจือง ผู้ปกครองซึ่งอาจเป็นชาวขมุ (มีการสะกดอีกแบบหนึ่งคือ กำมุ) ได้ขยายอาณาเขตของตนจากสงครามระหว่างนครรัฐเหล่านี้ และอาจปกครองระหว่างปี พ.ศ. 1671 ถึง 1712[2] ราชวงศ์ของขุนเจืองได้ฟื้นฟูระบอบการปกครองลาวในพุทธศตวรรษที่ 12 ขึ้นมาใหม่ ต่อมาเมืองชวาได้เปลี่ยนเป็นอาณาจักรศรีสัตตนาค ซึ่งเป็นชื่อที่เชื่อมโยงกับตำนานพญานาค ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่าเป็นผู้ขุดแม่น้ำโขง ในเวลานี้ ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทถูกแทนที่ด้วยศาสนาพุทธนิกายมหายาน

เมืองชวาตกอยู่ภายใต้การปกครองของขอมเป็นช่วงสั้นๆ ภายใต้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระหว่างปี พ.ศ. 1728 ถึง 1734[3] ในปี พ.ศ. 1723 ดินแดนสิบสองปันนาเป็นอิสระจากขอม และในปี พ.ศ. 1781 ก็เกิดการก่อกบฏภายในดินแดนสุโขทัย ซึ่งขับไล่ผู้ปกครองชาวขอมออกไป

งานวิจัยด้านประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า ชาวมองโกลซึ่งทำลายต้าหลี่ในปี พ.ศ. 1796 และผนวกดินแดนดังกล่าวเป็นมณฑลหนึ่งในจักรวรรดิของตนโดยตั้งชื่อว่ายูนนาน ได้แผ่อิทธิพลอย่างหนักสู่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางเป็นเวลาเกือบศตวรรษ ในปี พ.ศ. 1814 พระยาลัง ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ซึ่งใช้บรรดาศักดิ์เป็นพระยา ได้เข้าปกครองเมืองชวาอย่างเป็นเอกราช ในปี พ.ศ. 1829 พระยาสุวรรณคำผง พระราชโอรสของพระยาลัง ได้ทรงยึดอำนาจ ซึ่งอาจจะได้รับการยุยงจากมองโกล และทำให้พระราชบิดาของพระองค์ถูกเนรเทศ เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 1859 พระสุวรรณคำผงก็ทรงได้ขึ้นครองราชย์

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ปกครองของราชวงศ์ไทยในสุโขทัย ทรงได้สถาปนาพระองค์เป็นพันธมิตรทางการเมืองของมองโกล และในปี พ.ศ. 1825–1827 พระองค์ทรงทำลายอิทธิพลของขอมและจามที่ยังหลงเหลือในลาวตอนกลาง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงได้รับการสวามิภักดิ์จากเมืองชวาและรัฐต่างๆ ในเทือกเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างปี พ.ศ. 1829 ถึง 1840 เหล่าแม่ทัพของพระยาสุวรรณคำผงได้เข้าปราบปรามดินแดนต่างๆ แทนพ่อขุนรามคำแหงและมองโกล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1840 ถึง 1844 กองทัพลาวภายใต้บัญชาของมองโกลได้รุกรานอาณาจักรดั่ยเหวียต แต่ถูกกองทัพเวียดนามตอบโต้กลับไป กองทัพเมืองชวายึดครองเมืองพวนในปี พ.ศ. 1835–1840 ในปี พ.ศ. 1851 พระยาสุวรรณคำผงทรงได้จับตัวเจ้าเมืองพวน และในปี พ.ศ. 1855 นครรัฐแห่งนี้ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองชวา

อิทธิพลของมองโกลไม่เป็นที่ชื่นชอบภายในเมืองชวา ความขัดแย้งภายในระหว่างเจ้าในราชวงศ์เกี่ยวกับการแทรกแซงของมองโกลส่งผลให้เกิดความวุ่นวายตามมา พระยาสุวรรณคำผงทรงได้เนรเทศพระโอรส คือ เจ้าผีฟ้า และทรงน่าจะตั้งใจที่จะยกราชบัลลังก์ให้แก่พระราชนัดดาพระองค์เล็ก คือ เจ้าฟ้าเงี้ยว เจ้าฟ้าเงี้ยวซึ่งทรงพยายามก่อการยึดอำนาจหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 1873 พระองค์ทรงส่งพระโอรสทั้งสองของพระองค์ไปยังวัดนอกเขตมองโกลเพื่อความปลอดภัย สองพี่น้องถูกจับตัวไปในปี พ.ศ. 1878 และถูกนำตัวไปที่เมืองพระนคร จากนั้นทั้งสองถูกนำตัวไปถวายแด่พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ซึ่งอาณาจักรของพระองค์ยอมรับอำนาจของมองโกลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1828

เจ้าฟ้างุ้ม เจ้าชายองค์เล็กได้อภิเษกกับพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง และในปี พ.ศ. 1892 พระองค์เสด็จจากเมืองพระนคร โดยทรงนำกองทัพจำนวน 10,000 คนไปด้วย ในช่วงหกปีต่อมาพระองค์ทรงเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ ทางตอนเหนือของพระนคร ซึ่งตัดขาดความสัมพันธ์กับมองโกลไปก่อนหน้า การเข้ามาของเจ้าฟ้างุ้มทำให้มองโกลสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับดินแดนเหล่านี้ได้อีกครั้ง เจ้าฟ้างุ้มทรงได้จัดระเบียบอาณาจักรที่พระองค์ยึดได้เป็นจังหวัดต่างๆ และยึดเมืองชวาคืนจากพระราชบิดาและพระเชษฐาของพระองค์ เจ้าฟ้างุ้มทรงราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรล้านช้างที่เวียงจันทน์ ซึ่งพระองค์ยึดครองได้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 1897 อาณาจักรล้านช้างทอดตัวตั้งแต่ชายแดนจีนถึงเซียมโบกใต้แก่งแม่น้ำโขงที่ดอนโขง และจากชายแดนเวียดนามถึงตะวันตกของที่ราบสูงโคราช

อ้างอิง

แก้
  1. Ring, Trudy; Watson, Noelle; Schellinger, Paul (12 November 2012). Asia and Oceania: International Dictionary of Historic Places. Taylor & Francis. p. 530. ISBN 978-1-884964-04-6.
  2. Savada, Andrea Matles (1995). Laos: a country study. Federal Research Division, Library of Congress. p. 7. ISBN 978-0-8444-0832-3.
  3. Ray, Nick (11 September 2009). Lonely Planet Vietnam Cambodia Laos & the Greater Mekong. Lonely Planet. p. 33. ISBN 978-1-74179-174-7.