เดอะคิงอินเยลโล

เดอะคิงอินเยลโล (อังกฤษ: The King in Yellow) หรือ ราชาอาภรณ์เหลืองเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นซึ่งประพันธ์โดยโรเบิร์ต ดับเบิลยู. แคมเบอร์ส และเผยแพร่ใน พ.ศ. 2438 งานประพันธ์ชุดนี้นับได้ว่าเป็นเรื่องแนวสยองขวัญยุคแรก ๆ แต่ก็มีลักษณะของเรื่องปรัมปรา แฟนตาซี, นิยายลึกลับ, นิยายวิทยาศาสตร์ และนิยายโรมานซ์อยู่ด้วย ชื่อเดอะคิงอินเยลโลมาจากบทละครสมมุติ ซึ่งถูกกล่าวถึงในเรื่องสั้นสี่เรื่องแรก

เดอะคิงอินเยลโล
ภาพปกฉบับปี ค.ศ. 1895[1]
ผู้ประพันธ์โรเบิร์ต ดับเบิลยู. แคมเบอร์ส
ชื่อเรื่องต้นฉบับThe King in Yellow
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ประเภทสยองขวัญ เรื่องสั้น
สำนักพิมพ์F.T. Neely
วันที่พิมพ์ค.ศ. 1895
ชนิดสื่อหนังสือ (ปกแข็ง)
หน้า316 หน้า
OCLC797965298

เรื่องสั้น

แก้

เดอะคิงอินเยลโลมีเรื่องสั้นทั้งหมด 10 เรื่องคือ

  • The Repairer of Reputations
  • The Mask
  • In the Court of the Dragon
  • The Yellow Sign
  • The Demoiselle d'Ys
  • The Prophets' Paradise
  • The Street of the Four Winds
  • The Street of the First Shell
  • The Street of Our Lady of the Fields
  • Rue Barrée

โดยสี่เรื่องแรกนั้นถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยสิ่งต่อไปนี้

  • บทละครในหนังสือชื่อ เดอะคิงอินเยลโล
  • สิ่งเหนือธรรมชาติอันลึกลับและชั่วร้ายซึ่งเรียกว่า ราชาอาภรณ์เหลือง
  • สัญลักษณ์ ดวงตราเหลือง

เรื่องสั้นเหล่านี้มีบรรยากาศที่แบบสยองขวัญ แตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องแนวโรแมนติก

บทละคร เดอะคิงอินเยลโล

แก้

บทละครสมมุติ เดอะคิงอินเยลโลมีอยู่สององค์ด้วยกัน และมีตัวละครอยู่อย่างน้อยสามคน คือ คัสซิลดา, คามิลลา และ ราชาอาภรณ์เหลือง แคมเบอร์ได้ยกบางตอนจากบทละครมาใช้เพื่อเปิดเรื่องสั้น เช่น เรื่อง The Mask ที่เปิดเรื่องโดยยกข้อความมาจากองค์แรก ฉากที่สอง

คามิลลา: ท่านควรจะถอดหน้ากาก
คนแปลกหน้า: เช่นนั้นหรือ ?
คัสซิลดา: เป็นเช่นนั้น พวกเราล้วนถอดการปลอมแปลงหมดแล้วเว้นแต่ท่าน
คนแปลกหน้า: ข้ามิได้ใส่หน้ากาก
คามิลลา: (ขยับไปข้างคามิลลาด้วยความหวาดกลัว) ไม่ใช่หน้ากากรึ ? ไม่ใช่หน้ากาก !

ข้อความทั้งหมดที่ยกมานั้นมาจากองค์แรก เรื่องสั้นแต่ละเรื่องระบุว่าองค์แรกของบทละครนี้นับว่าปกติ แต่ผู้ที่อ่านองค์ที่สองจะเสียสติไปเพราะเรื่องราวที่เปิดเผยออกมา และผู้ที่เห็นหน้าแรกขององค์ที่สองก็จะถูกชักนำให้อ่านองค์ที่สองจนจบ

แคมเบอร์นั้นไม่ได้ระบุถึงเรื่องคร่าว ๆ ของบทละครทั้งหมด แต่ได้บอกเป็นนัยยะไว้ในเรื่องต่าง ๆ

อิทธิพล

แก้

แคมเบอร์ได้ยืมชื่อคาร์โคซา ฮาลิ และฮัสเทอร์ มาจากเรื่องสั้นของแอมโบรส เบียร์ซ แต่ก็ยืมมาเพียงชื่อเท่านั้นเช่น ฮัสเทอร์ ซึ่งเป็นเทพของคนเลี้ยงแกะในเรื่องสั้น Haita the Shepherd ของเบียร์ซ แต่เป็นชื่อสถานที่ใน The Repairer of Reputations ซึ่งถูกระบุไว้พร้อมกับไฮยาดิส และอัลดิบารัน[2]

เรื่อง The Masque of the Red Death ของเอดการ์ อัลเลน โพ ก็มีลักษณะที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้บทละคร เดอะคิงอินเยลโล โดยใน The Masque of the Red Death นั้นเหล่าชนชั้นสูงได้จัดงานเลี้ยงสวมหน้ากากขึ้น คนเหล่านี้ได้ตัดขาดจากโลกภายนอกซึ่งเต็มไปด้วยโรคระบาดที่เรียกว่ามรณะแดง (อังกฤษ: Red Death) เมื่องานเลี้ยงจบลงนั้น ได้มีคนแปลกหน้าซึ่งสวมผ้าคลุมสีแดงเหมือนเลือดและหน้ากากซึ่งเหมือนกับคนป่วยโรคมรณะแดง เมื่อผู้ร่วมงานถอดหน้ากากนั้นออกก็ได้พบว่าใต้หน้ากากและผ้าคลุมนั้นมีเพียงความว่างเปล่า ก่อนที่ผู้ร่วมงานจะตายไปทีละคน[3] ในเรื่องทั้งสอง สีเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญและคนแปลกหน้าก็เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความพินาศ

เรื่องสั้นแนวสัญลักษณ์ Le Roi au masque d'or (ราชาหน้ากากทอง) ของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสมาร์เซล ชวอบ ซึ่งเผยแพร่ใน พ.ศ. 2436 ขณะที่แคมเบอร์สกำลังศึกษาในปารีส และบทละคร ซาโลเม ของออสคาร์ ไวล์ด ก็อาจเป็นแรงบันดาลใจของแคมเบอร์เช่นกัน

เอช. พี. เลิฟคราฟท์ ได้อ่านรวมเรื่องสั้นชุดนี้ใน พ.ศ. 2470[4] และได้ระบุถึงสิ่งต่าง ๆ ในเรื่องชุดนี้อย่าง ทะเลสาบฮาลิ และดวงตราเหลือง ไว้อย่างผ่าน ๆ ในเรื่อง The Whisperer in Darkness[5] เลิฟคราฟท์ยังได้ยืมรูปแบบการเขียนของแคมเบอร์สซึ่งระบุถึงสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างไม่ชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านจินตนาการถึงความสยองด้วยตนเอง บทละครเดอะคิงอินเยลโลนั้นต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในข้อเขียนสมมุติในตำนานคธูลู เช่นเดียวกับตำราเวทย์อย่างนีโครโนมิคอน

แม้ว่าเลิฟคราฟท์จะโยงดวงตราเหลืองเข้ากับฮัสเทอร์ แต่ก็ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าฮัสเทอร์เป็นอะไร ต่อมาออกัสต์ เดอเลธ จึงได้เขียนให้ฮัสเทอร์เป็นหนึ่งในเกรทโอลด์วัน เดอเลธและนักประพันธ์ยุคหลังยังได้ระบุว่า ราชาอาภรณ์เหลืองนั้นเป็นร่างอวตารของฮัสเทอร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นชายร่างผอมในผ้าคลุมขาด ๆ สีเหลือง

ในเกมเล่นตามบทบาท Call of Cthulhu ราชาอาภรณ์เหลืองนั้นใช้บทละครเดอะคิงอินเยลโลเพื่อทำให้มนุษย์เสียสติ ลักษณะของราชาอาภรณ์เหลืองนั้นเป็นชายผู้ในผ้าคลุมที่ขาดรุ่งริ่งสีเหลือง และปิดหน้าด้วยหน้ากากซึ่งเป็นเพียงแผ่นว่าง ๆ ใบหน้าของราชานั้น ประกอบด้วยดวงตาและปากแบบหนอนจำนวนมากซึ่งเคลื่อนไหวไปมาตามเนื้อเหลว ๆ ผู้ที่เห็นราชาอาภรณ์เหลืองถอดหน้ากากนั้นจะเสียสติทันที

อ้างอิง

แก้
  1. "The King In Yellow: First Edition Controversy". สืบค้นเมื่อ 21 March 2014.
  2. Chambers, Robert W., The Yellow Sign and Other Stories, S. T. Joshi, editor; c. 2000, Chaosium, Inc.; p. xiv.
  3. Poe, E.A.,"The Masque of the Red Death" 1850 WORKS, p.344
  4. Joshi & Schultz, “Chambers, Robert William”, An H. P. Lovecraft Encyclopedia, p. 38.
  5. Pearsall, “Yellow Sign”, The Lovecraft Lexicon, p. 436.

บรรณานุกรม

แก้
  • Joshi, S. T.; David E. Schultz (2001). An H. P. Lovecraft Encyclopedia. Westport, CT: Greenwood Press. ISBN 0-313-31578-7.
  • Pearsall, Anthony B. (2005). The Lovecraft Lexicon (1st ed.). Tempe, AZ: New Falcon Pub. ISBN 1-56184-129-3.
  • Price, Robert M., บ.ก. (October 1993). The Hastur Cycle (1st ed.). Oakland, CA: Chaosium. ISBN 1-56882-009-7.
  • Ryng, Thom (April 2006). The King in Yellow (2nd ed.). Seattle, WA: Armitage House. ISBN 1-4116-8576-8.
  • Watts, Richard; Penelope Love (1990). Fatal Experiments. Oakland, CA: Chaosium. ISBN 0-933635-72-9.
  • Bleiler, Everett (1948). The Checklist of Fantastic Literature. Chicago: Shasta Publishers. p. 74.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้