เขาพระสุเมรุ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เขาพระสุเมรุ ตามคติในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน คือภูเขาที่เป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่าง ๆ ของสัตวโลก
เขาพระสุเมรุตั้งอยู่เหนือน้ำ 84,000 โยชน์ มีภูเขารองรับ 3 ลูก โดยส่วนฐานคือ ตรีกูฏ (สามเส้าหรือสามยอด) มีภูเขาล้อมรอบ 7 ทิว เรียกว่าสัตบริภัณฑ์ คือ ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินันตกะและอัสกัณ มีเทวดาจตุมหาราชิก และบริวารสถิตอยู่
ภายในจักรวาลมีภูเขาชื่อ หิมวา (หิมาลัย) ของจักรวาลทั้งหมด เป็นเทือกเขายาวติดกันเป็นพืด เรียกว่าเขาจักรวาล โดยแต่ละจักรวาลมีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวดึงส์ ยังมีมหาทวีปทั้ง 4 คือ [1]
- อุตรกุรุทวีป ตั้งอยู่เหนือของภูเขาพระสุเมรุ
- บุพวิเทหทวีป ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเขาพระสุเมรุ
- ชมพูทวีป ตั้งอยู่ตอนใต้เขาพระสุเมรุ คือโลกของเรา
- อมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเขาพระสุเมรุ
ในมหาทวีปยังมีทวีปน้อย ๆ เป็นบริวารอีก 2000 ทวีป
ในทิศทั้ง 4 ของจักรวาล มีมหาสมุทรทั้ง 4 อันมีน้ำเต็มเป็นนิจ ประกอบด้วย [2]
- ปิตสาคร ทางทิศเหนือ มีน้ำสีเหลือง
- ผลิกสาคร ทางทิศตะวันตก มีน้ำใสสะอาด เหมือนแก้วผลึก
- ขีรสาคร เกษียรสมุทร ทางทิศตะวันออก มีน้ำสีขาว
- นิลสาคร ทางทิศใต้ มีน้ำสีน้ำเงินอมม่วง
บนยอดเขาพระสุเมรุ คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนครแห่งเทพที่ชื่อนครไตรตรึงษ์อยู่ มีพระอินทร์เทวราชเป็นผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นเทวราชผู้อภิบาลโลก และพิทักษ์คุณธรรมให้แก่มนุษย์ ที่อยู่ของพระอินทร์เรียกว่าไพชยนต์มหาปราสาท ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานแท่นบัณฑุกัมพลอันเป็นทิพยอาสน์[3]
ตำนานฝ่ายพราหมณ์เล่าว่า พระอิศวรทรงสร้างน้ำด้วยพระเสโท (เหงื่อ) สร้างแผ่นดินด้วยพระเมโท (ไคล) ของพระองค์ บางตำนานเล่าว่าทรงสำรอกพระมังสะในพระอุระออกมาบันดาลให้เป็นแผ่นดิน
อ้างอิง
แก้- ↑ อรรถกถารตนสูตร, ขททกนิกาย สุตตนิบาต, เล่มที่ 47 หน้า 36
- ↑ http://www.yanravee.com/index.php?option=com_content&task=view&id=76&Itemid=30[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.ancientcity.com/?q=th/location/SumeruMountain+