อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มนำแม่ฝางท้องที่ตำบลศรีดงเย็น ตำบลแม่ทะลบ อำเภอไชยปราการ ท้องที่ตำบลแม่ข่า ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 455.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 284,937.5 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
แก้อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เทือกเขาวางตัวในเแนวทิศเหนือ – ใต้ เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย มียอดดอยสูงสุดคือ ดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธารและแหล่งกำเนิดของลำห้วยใหญ่ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำฝาง และสาขาหนึ่งของน้ำแม่ลาว เช่น ห้วยแม่ฝางหลวง ห้วยแม่ฝางน้อย น้ำแม่ยางมิ้น
ลักษณะภูมิอากาศ
แก้สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา โดยทั่วไปประกอบด้วย 3 ฤดู คือ
- ฤดูฝน ระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม โดยจะมีฝนตกหนักในช่วงเดือน กันยายน
- ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ เป็นช่วงอากาศเย็นสบายเหมาะสำหรับเดินทางมาท่องเที่ยว
- ฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 11.8 องศาเซลเซียส และสูงสุด 36.3 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน
พืชพรรณและสัตว์ป่า
แก้สภาพป่าประกอบด้วย ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ซึ่งป่าแต่ละชนิดเหล่านี้จะอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ในเขตอุทยานแห่งชาติตามระดับความสูงของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก ยาง ประดู่ ตะแบก เต็ง รัง จำปีป่า สนสามใบ ก่อชนิดต่างๆ มอส เฟิร์น กล้วยไม้ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญและหายากของเมืองไทยอาทิ เช่น มณฑาดอย กุหลาบพันปี กายอม ซึ่งสามารถพบเห็นได้บนยอดดอยเวียงผา
เนื่องจากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ และขึ้นผสมปะปนกันอยู่หลายชนิด ตลอดจนระดับความสูงของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 300-1,834 เมตร จึงทำให้เกิดแหล่งอาหารและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ประกอบด้วย เก้ง หมูป่า เลียงผา เสือไฟ หมีควาย เม่น กระต่ายป่า ลิง อีเห็น กระรอก กระแต และนกนานาชนิด เช่น นกกางเขนดง นกพญาไฟ นกโพระดก นกกินปลี นกหัวขวาน ไก่ป่า และที่สำคัญยังสามารถพบเห็นซาลาแมนเดอร์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งเป็นดัชนีวัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ