อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ ธุรกิจ เศรษฐกิจของจังหวัด อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เดิมชื่อ อำเภอบางโพ ซึ่งเป็นชื่อชุมชนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับเมืองพิชัยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงใช้ชื่ออำเภอบางโพเป็นอำเภอเมืองของจังหวัดอุตรดิตถ์ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และมีอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักวีรบุรุษของชาวอุตรดิตถ์ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์
อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Mueang Uttaradit |
คำขวัญ: เมืองท่าเหนือลุ่มน้ำน่าน ตำนาน แห่งสวางคบุรี อนุสาวรีย์พระยาพิชัย ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพ็ชร | |
แผนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เน้นอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ | |
พิกัด: 17°37′33″N 100°5′48″E / 17.62583°N 100.09667°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | อุตรดิตถ์ |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 765.476 ตร.กม. (295.552 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 144,905 คน |
• ความหนาแน่น | 189.30 คน/ตร.กม. (490.3 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 53000, 53170 (เฉพาะตำบลวังกะพี้และหมู่ที่ 7-9 ตำบลบ้านเกาะ) |
รหัสภูมิศาสตร์ | 5301 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ถนนประชานิมิตร ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่าน มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) และอำเภอท่าปลา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอท่าปลาและอำเภอทองแสนขัน
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทองแสนขันและอำเภอตรอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอลับแล
ประวัติ
แก้ที่มาของชื่ออุตรดิตถ์
แก้อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนสมัยโบราณ มีชื่อที่ใช้เรียกดั้งเดิมจากท่าน้ำ 3 ท่าน้ำที่เป็นท่าน้ำประวัติศาสตร์ของอุตรดิตถ์ คือ ท่าโพธิ์ ท่าเสา และท่าอิฐ สันนิษฐานว่า ชื่อท่าโพธิ์ เนื่องจากมีต้นโพธิ์มากในบริเวณนั้น และมีคลองไหลผ่าน จึงเรียกคลองนั้นว่า คลองบางโพธิ์ (เพี้ยนมาเป็นบางโพ) ชื่อของคลองโพธิ์นี้เป็นชื่อที่ทำให้เกิดบริเวณที่เรียกว่า ปากน้ำโพธิ์ใน จังหวัดนครสวรรค์ บริเวณท่าโพธิ์ ปัจจุบัน คือ บริเวณวัดท่าถนน วัดคลองโพธิ์ และตลาดคลองโพ หรือก็คือตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน ท่าเสา มาจากคำว่า เซา เป็นภาษาเหนือ แปลว่า เหนื่อย ส่วนท่าอิฐ (ท่าอิด) เป็นภาษาเหนือ คำว่า อิด แปลว่า เหนื่อย เนื่องจากการเดินทางมาค้าขายที่ท่าอิดทางเรือ และทางบกของจังหวัดภาคเหนือและภาคกลางสมัยโบราณ กว่าจะถึงก็เหนื่อย ความหมายของท่าอิฐและท่าเสาในอีกความเห็นหนึ่งนั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากร กล่าวไว้ในหนังสือของท่านคัดค้านการสันนิษฐานความหมายตามภาษาคำเมืองดัง กล่าว โดยกล่าวว่า คำว่าท่าอิฐและท่าเสานั้นเป็นคำในภาษาไทยกลาง เพราะคนท่าอิฐและท่าเสาเป็นกลุ่มชนสุโขทัยดั้งเดิมที่ใช้กลุ่มภาษาไทยกลุ่ม เมืองในแคว้นสุโขทัย เช่นเดียวกับชาวสุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร และเช่นเดียวกับกลุ่มคนในตำบลทุ่งยั้ง บ้านพระฝาง เมืองพิชัย บ้านแก่ง และบ้านคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นกลุ่มคนแคว้นสุโขทัยเดิมในจังหวัดอุตรดิตถ์เช่นเดียวกัน โดยคำว่าท่าเสานั้น มีความหมายโดยตรงเกี่ยวข้องกับการล่องซุงหมอนไม้ในสมัยโบราณเช่นเดียวกับ ชื่อนามหมู่บ้านหมอนไม้ (หมอนไม้ซุง) ซึ่งอยู่ทางใต้ของบ้านท่าอิฐ
ท่าอิดเป็นท่าที่มีความเจริญทางการค้ามากกว่าทุกท่าใน ภาคเหนือ เป็นท่าจอดเรือ ค้าขายจากมณฑลภาคเหนือ และภาคกลางรวมถึงเชียงตุงเชียงแสนหัวพันทั้งห้าทั้งหก สิบสองปันนาสิบสองจุไทย เดิมท่าอิดอยู่ในความปกครองของขอมตลอดจน ถึงสมัยสุโขทัย ขอมหมดอำนาจ ท่าอิดจึงเป็นเมืองท่าขึ้นอยู่กับเมืองทุ่งยั้ง อันเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัย สมัยต่อมาแคว้นน่านได้เปลี่ยนทางเดิน ทำให้หาดท่าอิดงอกออกไปทางตะวันออกมากทุก ๆ ปี ท่าอิดจึงเลื่อนตามลงไปเรื่อย ๆ เรียกว่าหาดท่าอิดล่าง ท่าอิดเดิมเรียกว่าท่าอิดบน ท่าอิดล่างก็ยังคงเป็นศูนย์การค้ามาตลอดจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนชื่อที่ใช้เรียกในระยะเวลาต่อมาว่า บางโพธิ์ท่าอิฐ น่าจะเป็นชื่อที่ได้รับการเรียกขึ้นมาในภายหลัง ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ท่าอิฐมีความเจริญขึ้นมากที่สุดใน 3 ท่าน้ำ รัชกาลที่ 4 (ไม่ชัดเจนว่ารัชกาลที่ 4 หรือ 5 เป็นผู้พระราชทานชื่ออุตรดิตถ์ แต่หากยึดตามพ.ศ.ที่พระราชทานตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4)จึงทรงพระราชทานชื่อเมืองให้ใหม่ว่า "อุตรดิตถ์" แปลว่า ท่าน้ำทางภาคเหนือ หรือท่าน้ำทางทิศเหนือ เนื่องจากเป็นท่าน้ำของไทยที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศ เพราะเหนืออุตรดิตถ์ขึ้นไปในสมัยนั้นเป็นเมืองประเทศราชของสยาม ( อาณาจักรล้านนา)
นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นๆเกี่ยวกับคำว่า อุตรดิตถ์ดังนี้ ท่าเหนือ (อุตร = เหนือ, ดิตถ์ = ท่า) มาจากเมื่อสมัยก่อนพ่อค้าจะนำสินค้าจากหลวงพระบาง น่าน หรือเมืองเหนืออื่นๆ ไปค้าขายทางใต้เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ อยุธยา กรุงเทพฯ ต้องแวะพักกันตามท่าน้ำจอดเรือที่อุตรดิตถ์ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้า และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน , อุตรดิตถ์ มาจากคำภาษาบาลี ๒ คำรวมกัน คือคำว่า อุตฺตร (อ่านว่า อุด-ตะ -ระ) กับ ติตฺถ (อ่านว่า ติด-ถะ). คำว่าอุตฺตร ภาษาไทยใช้ว่า อุดร แปลว่า ทิศเหนือ. ส่วน ติตฺถ ภาษาไทยใช้ว่า ดิตถ์ แปลว่า ท่าน้ำ ดังนั้น อุตรดิตถ์ จึงแปลตามตัวว่า ท่าน้ำทางทิศเหนือ
วิวัฒนาการของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
แก้สมัยก่อนประวัติศาสตร์
แก้ในสมัยก่อน พ.ศ. 1000 มีการขุดค้นพบกลองมโหระทึกทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมือง อุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2470 ทำให้ทราบว่า อุตรดิตถ์เป็นดินแดนที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน พ.ศ. 1000 เพราะโบราณวัตถุที่ค้นพบดังกล่าวเป็นโลหะ ที่มีใช้กันอยู่ในยุคสัมฤทธิ์หรือยุคโลหะตอนต้นอันเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นพื้นที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์ในอดีต เป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบลุ่มอันเกิดจากดินตะกอนแม่น้ำพัดของแม่น้ำน่านที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานและประกอบกสิกรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานบริเวณรอบที่ตั้งตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ดังการค้นพบเครื่องมือหินขัดและซากกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ บ้านบุ่งวังงิ้วซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามตำบลบางโพ-ท่าอิฐ และการค้นพบกลองมโหระทึกสำริด กาน้ำและภาชนะสำริดที่ม่อนศัลยพงษ์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตตำบลบางโพในปี พ.ศ. 2470
สมัยประวัติศาสตร์
แก้สมัยขอมโบราณ ท่าอิฐเป็นท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำน่านที่สำคัญที่สุดของทางภาคเหนือ เป็นท่าเรือรับส่งสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำ ล่องไปยังเมืองละโว้(ลพบุรี) และใช้เป็นท่าราชการ เช่น เมื่อผู้ตรวจการขอมจะไปตรวจราชการทางแคว้นโยนก ก็ต้องใช้เรือจากละโว้(ลพบุรี) มาขึ้นที่ท่าอิฐ จากท่าอิฐก็ใช้ช้าง ม้า ลาต่างพาหนะ ปรากฏในนิทานเรื่อง ตําบลท่าอิฐ ว่า:–
ตําบลท่าอิด หรือตําบลท่าอิฐ ตั้งอยู่ในเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์เป็นท่าเรือมาแต่สมัยโบราณซึ่งขณะนั้นขอมได้ปกครองแผ่นดินแถบนี้ ท่าอิดเป็นคําพูดของคนทางภาคเหนือ คําว่า “อิด” แปลว่า เหนื่อย อาจเป็นเพราะพวกพ่อค้านําสินค้าป่าบรรทุกโดยม้าวัวมากว่าจะมาถึงท่านี้ก็อิดหรือเหนื่อย จึงเรียกกันว่า “ท่าอิด”[1]
ในเรื่องนี้คุณอนันต์ เอี่ยมสรรพางค์ ผู้ทราบเรื่องเกี่ยวกับอุตรดิตถ์ได้เคยซักถามขุนฉิมพลีผลารักษ์ (ชาวบ้านปากฝาง อดีตกำนันตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งท่านได้ถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว) ได้ความว่า ตั้งแต่ถิ่นแถบท่าอิฐตลอดจนปากฝางเป็นถิ่นของพวกขอมโบราณเคยมาตั้งหลักแหล่งอยู่ ได้มีการขุดค้นพบสิ่งต่าง ๆ ตามบริเวณตลิ่งพังริมน้ำ ซึ่งเป็นฝีมือของขอมโบราณ ขุมฉิมพลีผลารักษ์ ยังได้กล่าวอีกว่า บ้านด่านทั้งสองแห่ง คือ บ้านด่านบก (สถานีรถไฟบ้านด่าน) และบ้านด่านน้ำ ก็เคยเป็นที่ตรวจราชการของขอมโบราณ
สมัยสุโขทัย ท่าอิฐจึงเป็นท่าเรือของเมืองทุ่งยั้ง มีความสำคัญในการคมนาคมอย่างมากมาย และเป็นชุมทางดังนี้
- จากท่าอิฐไป แพร่ น่าน ลำปางพะเยา เชียงราย เชียงตุง สิบสองปันนา สิบสองจุไทย เข้าเขตเมืองฮ่อ เชียงใหม่ และเชียงคำ
- จากท่าอิฐไปทางทิศตะวันออก ไปปากลาย อุดร เลย หล่มสัก เชียงคาน หนองคาย และเวียงจันทน์
- จากท่าอิฐไปหลวงพระบาง
การบรรทุกสินค้าเพื่อทำการค้าขายระหว่างท่าอิฐกับเส้นทางดังกล่าวนี้ ใช้วัวต่าง ช้างต่าง ม้าต่าง และลาต่าง การขนสินค้าของพวกค้าเรือมันมาก่อนฤดูน้ำ กับปลายฤดูน้ำแล้งเรือใหญ่เล่นไม่สะดวก ส่วนพวกพ่อค้าทางเหนือและทางตะวันออกใช้เดินทางปลายฤดูฝน จนถึงหน้าแล้ง เพราะหนทางภาคเหนือเป็นป่าเขา ลำห้วยมาก ดังนั้นในฤดูหนาวและฤดูแล้งจึงเหมาะแก่การเดินทางของพ่อค้า และลำน้ำน่านเหนือท่าอิฐขึ้นไปมีเกาะแก่งมากไม่สะดวกในการเดินทางเรือ สินค้าที่พ่อค้าทางบกรับซื้อจากพ่อค้าเรือบริเวณท่าอิฐ เช่น เกลือ ปลาทูเค็ม เชื้อเพลิง และเครื่องใช้อื่นๆ สินค้าที่พ่อค้าทางเรือรับซื้อจากพ่อค้าทางบก เช่น หนังสัตว์ งาช้าง และไหม การค้าขายสมัยทุ่งยั้งปกครองท่าอิฐนี้ มีความเจริญไม่มากนัก ส่วนมากใช้เป็นของแลกเปลี่ยน และบริเวณหาดท่าอิฐยังเป็นป่ามาก คงเป็นแต่ถือเป็นท่าเรือค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเท่านั้น และสมัยนั้นสินค้ามาจากต่างประเทศมีน้อย สินค้ามาจากต่างประเทศก็มาทางเรือสำเภา เรือใบ ดังนั้นหาดท่าอิฐ จึงเพียงแต่ปลูกเป็นเพิงพอขายกันเท่านั้น ในด้านการค้าขาย บริเวณหาดท่าอิฐในสมัยสุโขทัยมีลักษณะดังนี้
- สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพ่อขุนบาลเมือง(พ.ศ. 1800-1820) การค้าขายท่าอิฐดำเนินไปอย่างเรียบง่าย
- สมัยพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1820-1860) การค้าที่ท่าอิฐเจริญรุ่งเรือง เพราะพ่อขุนรามคำแหงทรงทำนุบำรุงการค้า อุตสาหกรรมตลอดจนปกครองบ้านเมือง ความสงบสุข และการขยายอาณาเขต
- สมัยพระเจ้าเลอไทย (พ.ศ. 1861-1897) ปกครองสุโขทัย การค้าที่ท่าอิฐทรุดลง เพราะพระเจ้าเลอไทยอ่อนแอต่อการปกครอง ไม่บำรุงการค้าขาย อุสาหกรรมกสิกรรม ความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร
- สมัยพระเจ้าลิไท (พ.ศ. 1897-1919) การค้าที่ท่าอิฐดำเนินไปเหมือนสมัยพระยาเลอไทย
- สมัยพระเจ้าไสยเลอไทย(พ.ศ. 1961) การค้าขายที่ท่าอิฐไม่เฟื่องฟูเหมือนแต่ก่อน และสุโขทัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรอยุธยา
จึงเห็นได้ว่าการค้าขายที่ท่าอิฐในสมัยนี้ เป็นการค้าชนิดแลกเปลี่ยนกันระหว่างพ่อค้าทางเหนือกับพวกพ่อค้าหาสินค้า ร้านค้าสมัยนั้นก็เป็นเพิง กันแดดกันฝน ตอนเช้าเอาของจากเรือมาวางขาย ตอนเย็นก็เก็บกลับใส่เรือ
สมัยอยุธยา เมื่ออยุธยารวมอำนาจสุโขทัยไว้ได้แล้ว เมืองทุ่งยั้งจึงหมดความสำคัญลง ส่วนเมืองพิชัยกลับกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น ท่าอิฐจึงต้องเป็นแขวงไปขึ้นกับเมืองพิชัย การค้าของท่าอิฐในสมัยอยุธยาเรืองอำนาจมีดังนี้
- สมัยพระเจ้าอู่ทอง ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-1912) การค้าที่หาดท่าอิฐดำเนินไปอย่างปกติเรียบง่าย
- สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 (พ.ศ. 2034-2072) ไทยได้เริ่มติดต่อค้าขายกับพวกฝรั่งเป็นครั้งแรก นับเป็นประวัติศาสตร์ของไทย การค้าที่หาดท่าอิฐยังคงดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น พวกฝรั่งยังมาไม่ถึงท่าอิฐ
- สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148) พระองค์ท่านได้ทรงปราบปรามศัตรูทั้งภายนอกภายในประเทศจนสงบราบคาบ การค้าที่ท่าอิฐเจริญขึ้น เนื่องจากพวกพ่อค้าปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย
- สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) เป็นสมัยที่ชาวต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส จีน เข้ามาค้าขายมาก การค้าที่ท่าอิฐเจริญขึ้นมาก มีพ่อค้าจากภาคเหนือลงมาค้าขายที่ท่าอิฐมากขึ้น และพ่อค้าทางใต้หาเรือบรรทุกขึ้นไปขายที่ท่าอิฐมากขึ้น และมีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายด้วย
- สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ. 2301-2310) ไทยเสียกรุงครั้งที่สองแก่พม่า การค้าที่ท่าอิฐทรุดลงอีกครั้ง
ดังนั้นการค้าในสมัยอยุธยา จึงเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ ร้านค้าท่าอิฐเป็นแต่เพียงปลูกสร้างโรงไม้ไผ่ขนสินค้าขึ้นจากเรือทำการค้าขายเหมือนเดิม สมัยพระเจ้าอู่ทอง ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893-1912) การค้าที่หาดท่าอิฐดำเนินไปอย่างปกติเรียบง่าย
สมัยรัตนโกสินทร์
- สมัยรัชกาลที่ 1 เมืองหลวงของไทยย้ายจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพฯ ท่าอิฐได้ขึ้นกับเมืองพิชัย การค้าที่หาดท่าอิฐ ขยายตัวมากขึ้น มีสินค้าทั้งจากกรุงเทพ และภาคเหนือมาแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นตลาดถาวร เพียงแต่สร้างเป็นเพิงแดดกันฝนเท่านั้น
- สมัยรัชกาลที่ 2หลังจากที่อังกฤษยึดกรุงย่างกุ้งของพม่าเป็นอาณานิคมได้สำเร็จ การค้าที่หาดท่าอิฐมีพ่อค้าจากกรุงเทพมาขายสินค้ามากขึ้นกว่าแต่ก่อน
- สมัยรัชกาลที่ 3 การค้าที่หาดท่าอิฐเจริญขึ้นอย่างมากมีสินค้าจากทั้งจีน และเรือบรรทุกสินค้าจากกรุงเทพจำนวนมาก เริ่มมีการปลูกสร้างบ้านเรือน บ่อนเล่นการพนัน สร้างร้านค้าขายแบบถาวรชนิดสองชั้น และชาวจีนก็ได้เข้ามาค้าขายที่ท่าอิฐมากขึ้น และมีห้างทำไม้ของฝรั่ง และเริ่มมีการใช้ชื่อว่า บางโพธิ์ เพราะเป็นบริเวณที่มีชุมชนขนาดใหญ่
- สมัยรัชกาลที่ 4 มีฝรั่งเข้ามาทำการค้าขายในไทยมากขึ้น การค้าที่หาดท่าอิฐคึกคักมากขึ้น คือมีการจัดสร้างโรงบ่อนเล่นพนัน ถั่ว โป หวย และการพนันอื่นๆ พ่อค้าทางเรือซื้อที่ไว้เป็นที่จอดเรือ มีการสร้างห้องแถวสองชั้น มีบ้านเรือนสวยงามมากขึ้น มีเรือกลไฟโยงสินค้ามาที่หาดท่าอิฐจำนวนมาก ส่วนพ่อค้าทางบกก็มีจำนวนนับร้อยร้าน มักมีฝิ่นจากพ่อค้าคนกลาง ส่งล่องไปขายทางใต้ ท่าอิฐจึงเป็นจุดนัดพบของพ่อค้าที่คึกคักมาก หาดท่าอิฐได้รับการยกฐานะตั้งเป็นเมือง(เทียบเท่ากับตำบล)ชื่อว่าบางโพท่าอิฐ ให้ขึ้นกับเมืองพิชัยที่ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นโทควบคุมหัวเมืองสำคัญ มีอาณาเขตปกครองถึงเมืองเวียงจันทน์ เมืองแพร่ เมืองน่าน และเมืองหลวงพระบาง แต่เมืองท่าอิฐอยู่ในทำเลการค้าขายที่สะดวกกว่า ทำให้ผู้คนเริ่มอพยพจากเมืองพิชัยมาอุตรดิตถ์
- สมัยรัชกาลที่ 5 ตำบลบางโพท่าอิฐหรือหาดท่าอิฐในขณะนั้น ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำน่าน อันเป็นแม่น้ำสำคัญ สายเดียวที่ใช้ติดต่อค้าขายขึ้นมาได้สะดวกถึงเมืองเหนือด้วย เหนือขึ้นไปสายน้ำตื้นเขินมากมายไปด้วยเกาะแก่ง จึงเป็นที่รวมสินค้าจากเมืองหลวงพระบาง เมืองแพร่ เมืองน่าน ตลอดจนแคว้นสิบสองปันนาก็นำสินค้าพื้นเมืองเดินบกลงมา จำหน่ายแล้วส่งต่อล่องใต้ไปจนถึงกรุงเทพฯ
ในปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า ตำบลบางโพท่าอิฐคงจะเจริญต่อไป ในภายหน้า ด้วยเป็นทำเลการค้าอย่างดีริมแม่น้ำน่าน ราษฎร ก็อพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้นทุกปี จึงโปรดพระราชทานชื่อแก่ตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐเป็นเมืองอุตรดิตถ์ อันหมายถึง เมืองท่าแห่งทิศเหนือ และโปรดให้อุตรดิตถ์เป็นเมืองขึ้นของเมืองพิชัยดังเดิม(อุตรดิตถ์เทียบเท่าอำเภอหนึ่งของพิชัย) ในยุคนี้เมืองพิชัยได้กลายเป็นแขวงเมืองพิชัยในสังกัดมณฑลพิษณุโลก และมีเขตการปกครองออกเป็น 5 เมืองด้วยกันคือ เมืองพิชัย เมืองอุตรดิตถ์ เมืองตรอน เมืองลับแล และเมืองน้ำปาด
พ.ศ. 2444 เกิดกบฏพวกเงี้ยวได้ก่อการจลาจลขึ้นที่เมืองแพร่ ทางเมืองเหนือรวมทั้งเมืองอุตรดิตถ์ด้วย ต้องจัดกำลังขึ้นไปช่วยก่อนที่กองทัพจากกรุงเทพฯ จะเดินทางขึ้นไป และในเดือนนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อยังเป็นพลโท ยกกองทัพขึ้นไปปราบเงี้ยวที่ก่อการจลาจลในเมืองแพร่ ก็ได้ไปพักกองทัพเพื่อยกขึ้นเดินทางบกที่เมืองอุตรดิตถ์นี้ และตั้งประชุมไพร่พลอยู่ที่เมืองนี้หลายวัน แล้วจึงเดินบกต่อไปยังเมืองแพร่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิชัย อุตรดิตถ์ เมืองทุ่งยั้ง และเมืองลับแล สมัย สุทธิธรรม (2545 : 15) ได้กล่าวถึงรัชกาลที่5ทรงอธิบายหาดท่าอิฐไว้ดังนี้ “…ในตลาดนั้นมีเรือนแถว ฝากระดาน 2 ชั้น แต่ใหญ่ๆ กว่าที่กรุงเทพฯ ที่แล้วก็มาก ที่ยังทำอยู่ก็มี เป็นร้านขายของอย่างครึกครื้น ที่เป็นบ้านเรือนและห้างก็มีบ้าง เขาว่าตลาดบกที่นี่ดีกว่าที่ปากน้ำโพ ซึ่งฉันยังไม่ได้เห็น แต่ตลาดเรือนั้นที่นี่สู้ปากน้ำโพไม่ได้...” รัชกาลที่5 ทรงเล็งเห็นว่าอุตรดิตถ์มีความเจริญ เป็นศูนย์ทางการค้า ประกอบกับมีเมืองลับแลอยู่ ใกล้ ๆ เป็นเมืองรองลงไป การชำระคดีและการเรียกเก็บภาษีอากรสะดวกกว่าที่เมืองพิชัย แต่ท่าอิฐในขณะนั้นยังคงมีฐานะเป็นเมืองท่าขึ้นต่อเมืองพิชัย ดังนั้น คดีต่าง ๆ ที่เกิดขั้นรวมทั้งการเก็บภาษีอากรส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ท่าอิด ราษฎรต้องลงไปเมืองพิชัยติดต่อกับส่วนราชการเป็นการไม่สะดวก จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลาว่าการเมืองพิชัยมาตั้งที่บริเวณเมืองอุตรดิตถ์โดยมีสาเหตุการย้ายศาลาว่าการเมืองเพราะ
- ทางอุตรดิตถ์ มีสภาพทางภูมิศาสตร์อันเหมาะสมที่จะตั้งเป็นตัวเมือง เพราะมีการค้าเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะที่ท่าอิฐ เป็นแหล่งทำการค้าที่ใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือ
- อุตรดิตถ์มีแหล่งโบราณวัตถุสถานมากกว่าเมืองพิชัย เช่น พระบรมธาตุทุ่งยั้ง
- อุตรดิตถ์มีทำเลกว้างใหญ่ไพศาลขยับขยายได้ง่ายกว่าเมืองพิชัย เมื่อมีการย้ายเมืองอย่างกะทันหัน จึงจำเป็นต้องอาศัยพลับพลารับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาจึงได้เริ่มถากถางป่าด้านเหนือวัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน) จัดสร้างศาลากลางเมือง ศาลยุติธรรม เรือนจำ ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีตำรวจ และย้ายที่ทำการมายังเมืองอุตรดิตถ์ ส่วนเมืองพิชัยเดิมว่าเรียกว่าเมืองพิชัยเก่า
- สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2458 จึงโปรดให้เปลี่ยนนามเมืองพิชัยเป็นเมืองอุตรดิตถ์เป็นต้นมา ในระยะเวลาไม่นานเมื่อการสัญจรทางบกเจริญขึ้น การค้าขายทางน้ำจึงหมดความสำคัญลง เพราะสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า และบรรทุกสิ่งของได้มากกว่า หาดท่าอิฐจึงเสื่อมลงด้วยเหตุผลดังนี้
- ที่หาดท่าอิฐเป็นทำเลซึ่งค่อนข้างลำบาก เพราะฤดูฝนน้ำท่วมมาก ต้องขนของขึ้นไว้ชั้นบนบ้าน ปีหนึ่งน้ำอาจท่วมหลายๆหน โดยเฉพาะปีที่วางรางรถไฟมาหาดท่าอิฐ 7 หน
- เมื่อมีรถไฟมาถึงเช่นนี้ สินค้าทุกชนิดจะถูกขนส่งทางรถไฟเพราะรวดเร็วปลอดภัยมากกว่าทางน้ำมาก
- เมื่อรถไฟขยายไปถึงเมืองแพร่ เมืองลำปางแล้ว พวกเมืองแพร่เลิกใช้วัวต่าง ช้างต่าง ม้าต่าง ลาต่าง ในการบรรทุกสินค้า เพราะสินค้าจากทางใต้ เช่นนครสวรรค์มุ่งตรงถึงแพร่เลยทีเดียว หาดท่าอิฐจึงหมดความสำคัญ
- ถึงแม้ทางรถไฟจะตัดแบ่งมาทางท่าอิฐเพื่อบรรทุกสินค้า แต่ไม่สะดวกเพราะน้ำท่วมอยู่เสมอ
- ตลาดท่าอิฐตั้งอยู่ไกลจากสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ศาลยุติธรรม
พ.ศ. 2459 ได้มีประกาศใช้ชื่ออำเภอที่เปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับชื่อตำบล คืออำเภอเมืองเปลี่ยนเป็นอำเภอบางโพ อำเภอลับแลเปลี่ยนเป็นยางกระใด อำเภอเมืองพิไชย คงเรียกอำเภอเมืองพิไชย อำเภอตรอนเปลี่ยนเป็นอำเภอบ้านแก่ง อำเภอน้ำปาด เปลี่ยนเป็นอำเภอแสนตอ แต่ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนไปใช้อย่างเดิมอีก
ความเจริญของเมืองอุตรดิตถ์กลับไปเจริญที่บางโพ และท่าเสา ดังปรากฏเป็นอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน สำหรับท่าอิฐในปัจจุบัน เราจะทราบเป็นชื่อของตำบลท่าอิฐ ซึ่งก็คือบริเวณตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน เพราะบริเวณบางโพก็ตั้งอยู่ในตำบลท่าอิฐ ส่วนท่าเสา ก็ได้กลายเป็นอีกตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ คือ ตำบลท่าเสา
การตั้งตำบลในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
แก้- วันที่ 29 พฤษภาคม 2453 จัดตั้งสุขาภิบาลตำบลตลาดท่าอิฐ (สุขาภิบาลเมืองอุตรดิตถ์) ในท้องที่ตำบลตลาดท่าอิฐ[2]
- วันที่ 22 สิงหาคม 2458 เปลี่ยนนามเมืองพิไชย เป็น เมืองอุตรดิฐ[3]
- วันที่ 29 เมษายน 2460 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิฐ เป็น อำเภอบางโพ[4]
- วันที่ 10 ธันวาคม 2478 ยกฐานะสุขาภิบาลเมืองอุตรดิตถ์ เป็น เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์[5]
- วันที่ 14 พฤศจิกายน 2481 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอบางโพ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็น อำเภอเมืองอุตรดิตถ์[6]
- วันที่ 10 ธันวาคม 2483 โอนพื้นที่ตำบลน้ำริด และตำบลบ้านด่าน อำเภอลับแล มาขึ้นกับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์[7]
- วันที่ 23 กันยายน 2490 โอนพื้นที่หมู่ 1,2,3 (ในขณะนั้น) ของตำบลน้ำริด ไปตั้งเป็นหมู่ 7,8,9 ของตำบลท่าเสา[8] ตามลำดับ
- วันที่ 30 กันยายน 2490 ตั้งตำบลแสนตอ แยกออกจากตำบลหาดงิ้ว ตั้งตำบลผาจุก แยกออกจากตำบลงิ้วงาม ตั้งตำบลบ้านเกาะ แยกออกจากตำบลวังกะพี้ และตั้งตำบลคุ้งตะเภา แยกออกจากตำบลท่าเสา[9]
- วันที่ 19 ตุลาคม 2491 เปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ตำบล ในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ (1,2,3,4)[10]
- (1) โอนพื้นที่หมู่ 1,2,3 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านด่านนาขาม ไปขึ้นกับตำบลน้ำริด
- (2) โอนพื้นที่หมู่ 4,5,6 (ในขณะนั้น) ของตำบลน้ำริด ไปขึ้นกับตำบลบ้านด่านนาขาม
- (3) โอนพื้นที่หมู่ 1,2 (ในขณะนั้น) ของตำบลวังกะพี้ ไปขึ้นกับตำบลบ้านเกาะ
- (4) โอนพื้นที่หมู่ 9 (ในขณะนั้น) ของตำบลบ้านเกาะ ไปขึ้นกับตำบลวังกะพี้
- วันที่ 14 สิงหาคม 2505 ตั้งตำบลวังดิน แยกออกจากตำบลบ้านด่าน และตำบลผาจุก[11]
- วันที่ 13 ธันวาคม 2515 จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา[12]
- วันที่ 31 ธันวาคม 2516 เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าอิฐทั้งตำบล[13]
- วันที่ 12 ตุลาคม 2519 ตั้งตำบลร่วมจิต แยกออกจากตำบลหาดงิ้ว[14]
- วันที่ 12 ธันวาคม 2521 โอนพื้นที่หมู่ 8 (บ้านร่วมจิต ผังที่ 56) ,หมู่ 9 (บ้านห้วยหัวช้าง ผังที่ 25,27) ,หมู่ 10 (บ้านหนองโป้ ผังที่ 22,23) ,หมู่ 11 (บ้านหนองย่ารำ ผังที่ 30) ในขณะนั้น ของตำบลหาดงิ้ว ไปตั้งเป็นหมู่ 3,4,5,6 ของตำบลร่วมจิต โอนพื้นที่หมู่ 7 (บ้านหนองโบสถ์ ผังที่ 31) ในขณะนั้น ของตำบลวังดิน ไปตั้งเป็นหมู่ 7 ของตำบลร่วมจิต และโอนพื้นที่หมู่ 9 (บ้านหนองหอย ผังที่ 32) ในขณะนั้น ของตำบลแสนตอ ไปตั้งเป็นหมู่ 8 ของตำบลร่วมจิต[15]
- วันที่ 8 กันยายน 2523 โอนพื้นที่ตำบลร่วมจิต อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ไปขึ้นกับอำเภอท่าปลา[16]
- วันที่ 5 เมษายน 2526 จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านด่านนาขาม ในท้องที่บางส่วนของตำบลบ้านด่านนาขาม[17]
- วันที่ 12 กรกฎาคม 2526 ตั้งตำบลขุนฝาง แยกออกจากตำบลผาจุก[18]
- วันที่ 25 กันยายน 2527 ตั้งตำบลถ้ำฉลอง แยกออกจากตำบลหาดงิ้ว และตำบลแสนตอ[19]
- วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 จัดตั้งสุขาภิบาลวังกะพี้ ในท้องที่บางส่วนของตำบลวังกะพี้[20]
- วันที่ 14 ตุลาคม 2528 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 350 วันที่ 13 ธันวาคม 2515 และจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอท่าปลา อีกครั้ง[21]
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลบ้านด่านนาขาม และสุขาภิบาลวังกะพี้ เป็นเทศบาลตำบลบ้านด่านนาขาม และเทศบาลตำบลวังกะพี้ ตามลำดับ[22] ด้วยผลของกฎหมาย
- วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 จัดตั้งเทศบาลตำบลบ้านเกาะ โดยยกฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ[23]
ชื่อที่เกี่ยวข้องกับบางโพธิ์ท่าอิฐ
แก้- คลองโพธิ์ คลองที่ไหลผ่านตัวเมืองอุตรดิตถ์
- ตลาดคลองโพธิ์
- วัดคลองโพธิ์ พระอารามหลวง
- โรงเรียนเทศบาลวัดคลองโพธิ์
- โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ
- ชุมชนท่าอิฐบน (บริเวณตั้งแต่วงเวียนพระอภัยมณีขึ้นไปทางทิศเหนือ)
- ชุมชนท่าอิฐล่าง (บริเวณตั้งแต่วงเวียนพระอภัยมณีลงมาทางทิศใต้)
- ถนนท่าอิฐล่าง (เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์)
- ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์)
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้การปกครองส่วนภูมิภาค
แก้อำเภอเมืองอุตรดิตถ์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล 154 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนหมู่บ้าน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[24] |
---|---|---|---|---|
1. | ท่าอิฐ | Tha It | –
|
29,440
|
2. | ท่าเสา | Tha Sao | 10
|
14,767
|
3. | บ้านเกาะ | Ban Ko | 8
|
9,292
|
4. | ป่าเซ่า | Pa Sao | 8
|
7,585
|
5. | คุ้งตะเภา | Khung Taphao | 8
|
8,769
|
6. | วังกะพี้ | Wang Kaphi | 9
|
9,487
|
7. | หาดกรวด | Hat Kruat | 9
|
7,535
|
8. | น้ำริด | Nam Rit | 10
|
6,881
|
9. | งิ้วงาม | Ngio Ngam | 16
|
9,095
|
10. | บ้านด่านนาขาม | Ban Dan Na Kham | 11
|
9,972
|
11. | บ้านด่าน | Ban Dan | 12
|
4,757
|
12. | ผาจุก | Pha Chuk | 14
|
7,943
|
13. | วังดิน | Wang Din | 11
|
4,611
|
14. | แสนตอ | Saen To | 8
|
3,154
|
15. | หาดงิ้ว | Hat Ngio | 10
|
4,546
|
16. | ขุนฝาง | Khun Fang | 7
|
3,812
|
17. | ถ้ำฉลอง | Tham Chalong | 4
|
1,999
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าอิฐทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลบ้านด่านนาขาม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลบ้านด่านนาขาม
- เทศบาลตำบลวังกะพี้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังกะพี้ทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลบ้านเกาะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเกาะทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลผาจุก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลผาจุกทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคุ้งตะเภาทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลน้ำริด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำริดทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลหาดกรวด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหาดกรวดทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลท่าเสา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าเสาทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลป่าเซ่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าเซ่าทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลงิ้วงาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลงิ้วงามทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านด่านนาขาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านด่านนาขาม (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลบ้านด่านนาขาม)
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านด่าน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านด่านทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวังดิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังดินทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนตอทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหาดงิ้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหาดงิ้วทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลขุนฝาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลขุนฝางทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำฉลอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลถ้ำฉลองทั้งตำบล
อ้างอิง
แก้- ↑ ธิตินัดดา จินาจันทร์ และวราภา เลาหเพ็ญแสง. (2547). นิทานประจำถิ่นล้านนา เล่ม 3: แพร่ น่าน พะเยา อุตรดิตถ์. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 184. ISBN 978-974-6-56931-6
- ↑ "ประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขาภิบาล ตำบลตลาดท่าอิฐ เมืองพิไชย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (0 ก): 25–27. 29 พฤษภาคม 2453.
- ↑ "ประกาศ เปลี่ยนนามเมืองพิไชย เป็นเมืองอุตรดิฐ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32 (0 ก): 178. 22 สิงหาคม 2458. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่ออำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 34 (0 ก): 40–68. 29 เมษายน 2460. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-07. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ พุทธศักราช ๒๔๗๘" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 52 (0 ก): 1763–1767. 10 ธันวาคม 2478.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามจังหวัด และอำเภอบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๑" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0 ก): 658–666. 14 พฤศจิกายน 2481. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลและอำเภอในจังหวัดอุตตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57 (0 ง): 3021. 10 ธันวาคม 2483.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในเขตท้องที่จังหวัดอุตตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (45 ง): 2450–2451. 23 กันยายน 2490.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (46 ง): 2507–2533. 30 กันยายน 2490.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอต่าง ๆ จังหวัดอุตตรดิตถ์ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสมุทรสงคราม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 65 (61 ง): 3422–3424. 19 ตุลาคม 2491.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 79 (73 ง): 1751–1753. 14 สิงหาคม 2505.
- ↑ "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 89 (190 ง): (ฉบับพิเศษ) 259-260. 13 ธันวาคม 2515.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. ๒๕๑๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 90 (180 ง): (ฉบับพิเศษ) 115-119. 31 ธันวาคม 2516.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 93 (126 ง): 2803–2805. 12 ตุลาคม 2519.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 95 (139 ง): 4480–4488. 12 ธันวาคม 2521.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ กับอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. ๒๕๒๓" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 97 (193 ง): (ฉบับพิเศษ) 7-8. 8 กันยายน 2523.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบ้านด่านนาขาม อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 100 (54 ง): 1079–1081. 5 เมษายน 2526.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 100 (114 ง): 2210–2212. 12 กรกฎาคม 2526. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-23. สืบค้นเมื่อ 2019-09-19.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 101 (130 ง): 3338–3340. 25 กันยายน 2527. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-07-23. สืบค้นเมื่อ 2019-09-19.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลวังกะพี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (27 ง): (ฉบับพิเศษ) 9-10. 28 กุมภาพันธ์ 2528.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ในท้องที่อำเภอท่าปลา และอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ. ๒๕๒๘" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (146 ง): (ฉบับพิเศษ) 4-5. 14 ตุลาคม 2528.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. 24 กุมภาพันธ์ 2542. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-08-03.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเทศบาลตำบลบ้านเกาะ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 123 (116 ง): 31. 2 พฤศจิกายน 2549.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
- มณเฑียร ดีแท้. (2519). มรดกทางวัฒนธรรมของชาวอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : วิเทศธุรกิจการพิมพ์.
- มณเฑียร ดีแท้. (2519). ประวัติเมืองอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : จงเจริญการพิมพ์.
- ยาใจ กอนวงษ์. (2540). เอกสารประกอบการสอนวิชา ส 072 ท้องถิ่นของเรา 2 จังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : สุรชัยการพิมพ์.
- ชมรมชาวอุตรดิตถ์. (2531). อุตรดิตถ์ ๒๕๓๑. อุตรดิตถ์ : ชมรมชาวอุตรดิตถ์.
- ประพัฒน์ กุสุมานนท์. (2522). อุตรดิตถ์มีอะไร?. อุตรดิตถ์ : โครงการการฝึกหัดครูและบริการการศึกษา.
- สมัย สุทธิธรรม. (2545). สารคดี ชุด ท้องถิ่นไทย : อุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
- [ http://www.sarapee.ac.th/www/index.php/2011-02-25-06-08-05/1804-2011-03-05-02-33-11/ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โรงเรียนสารภีพิทยาคม ]
- จังหวัดอุตรดิตถ์ เก็บถาวร 2020-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์
- ท้องถิ่นอุตรดิตถ์
- วิทยาลัยอาชีวะศึกษาอุตรดิตถ์[ลิงก์เสีย]