อาญาสี่
อาญาสี่ คือระบบการปกครองของราชอาณาจักรล้านช้างในสมัยโบราณ ที่พัฒนาขึ้นมาหลังการสถาปนาราชอาณาจักรล้านช้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้ม และเป็นระบบการปกครองดั้งเดิมที่ถูกจารึกอยู่ใน คัมภีร์พระธรรมศาสตร์หลวง หรือคัมภีร์กฎหมายโบราณของลาวในสมัยสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งเวียงจันทน์ ตลอดจนกฎหมายท้าวพระยาโบราณของลาวและอีสานอีกหลายฉบับ ในวรรณกรรมโบราณเรียกระบบอาญาสี่ว่า เจ้าขันคำทั้งสี่ เมืองส่วนใหญ่ในราชอาณาจักรล้านช้างไม่ว่าจะเป็นนครหลวง เมืองเอกราช เมืองประเทศราชหรือเมืองสะทุดสะลาด เมืองหัวเศิก เมืองนครขอบด่าน เมืองกัลปนาหรือเมืองศาสนานคร ตลอดจนหัวบ้านหัวเมืองใหญ่น้อยและเมืองห้อยเมืองแขวนทั้งหลาย เช่น เมืองชั้นเอก เมืองชั้นโท เมืองชั้นตรี และเมืองชั้นจัตวา ต่างนิยมใช้ระบบการปกครองแบบอาญาสี่ทั้งสิ้น หลังจากประกาศสถาปนาพระราชอาณาจักรลาวได้มีการยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตให้อยู่เหนืออาญาทั้ง 3 ตำแหน่ง แล้วเพิ่มอาญาตำแหน่งอื่นเข้าไปอีก 2 ตำแหน่ง รวมเป็น 5 ตำแหน่งเรียกว่า เจ้าย่ำขม่อมทั้งห้า หรือ เจ้ายั้งกระหม่อมทั้งห้า
ระบบอาญาสี่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่เป็นการปกครองของลาวโดยตรง ประกอบด้วย 4 ตำแหน่ง คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร และประเภทที่สองเป็นการปกครองของลาวที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร แบ่งออกเป็น 4 ตำแหน่งเช่นกัน ได้แก่ เจ้าเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และกรมการเมืองหรือกรรมการเมือง แต่ในความเข้าใจโดยทั่วไปแล้วอาญาสี่มักหมายถึงถึงระบบการปกครองประเภทแรกมากกว่าประเภทที่สอง ส่วนเจ้านายในราชวงศ์ที่มีตำแหน่งต่ำกว่าอาญาสี่นั้นกษัตริย์หรือเจ้าเมืองมักโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีสำคัญอีก 2 ประเภท ได้แก่ เสนาบดีจตุสดมภ์ และเสนาบดีอัตถสดมภ์
ความหมาย
แก้อาญา มาจากคำว่า อาชญา หรืออาดยา คำว่า ญา ลาวนิยมออกเสียง ญ ขึ้นนาสิกตามแบบแผนบาลีและตามแบบการออกเสียง ย ดั้งเดิมของลาว คำว่า อาญา หมายถึง เจ้านาย เจ้าชีวิต เจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือกฎหมายเหนือชีวิต สามารถสั่งเป็นสั่งตายไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ มีอำนาจสิทธิ์ขาดสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน เช่นเดียวกับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของสยาม อาญาสี่จึงหมายถึง เจ้าผู้เป็นใหญ่ทั้ง 4 ตำแหน่งหลักของระบบการปกครองล้านช้าง แต่ละตำแหน่งสามารถถือเอาข้าเลกสักเป็นกองขึ้นของตนได้ สามารถเรียกเก็บส่วยจากไพร่เลกที่สังกัดกองขึ้นของตนได้ นอกจากนี้ คำว่า อาญา ยังนิยมใช้เป็นคำหน้านามของเจ้านายในคณะอาญาสี่และนำหน้านามทายาทบุตรหลานตลอดจนใช้นำหน้านามชายา ภริยา หม่อมห้าม และกรมการเมืองที่สืบเชื้อสายจากคณะอาญาสี่ด้วย ตัวอย่างเช่น อาญาเจ้า อาญาหลวง อาญาท้าว อาญานาง อาญาพ่อ อาญาแม่ อาญาน้อย เป็นต้น อย่างไรก็ตามชาวบ้านทั่วไปนิยมออกนามคำว่าอาญาโดยตัดเสียง อา ออกให้เหลือเพียงคำว่า ญา คำเดียว เช่น ญาเจ้า ญาหลวง ญาท้าว ญานาง ญาพ่อ ญาแม่ ญาน้อย เป็นต้น สำหรับราชวงศ์จำปาศักดิ์นั้นใช้คำว่าอาชญาหรืออาญาเป็นบรรดาศักดิ์ของราชนิกูลที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่เป็นเจ้า ส่วนราชวงศ์หลวงพระบางนั้นไม่นิยมใช้คำว่าอาชญานำหน้านามเจ้านายในราชวงศ์ แต่นิยมใช้คำว่า สาทุบาทเจ้า หรือ สาทุเจ้า แทน เช่น ทุเจ้า (ตุ๊เจ้า) ทุพ่อ (ตุ๊พ่อ) ทุแม่ (ตุ๊แม่) เป็นต้น
ภายหลังเมื่อดินแดนของอาณาจักรล้านช้างบางส่วนตกเป็นประเทศราชของสยามในปี พ.ศ. 2322 แล้ว ทางรัฐบาลส่วนกลางของสยามก็ยังคงปล่อยให้ดินแดนลาวทั้งหมดและดินแดนภาคอีสานเกือบทั้งหมดใช้การปกครองด้วยระบบอาญาสี่ต่อไป หัวเมืองลาวฝั่งขวาได้ยกเลิกระบบอาญาสี่หลังปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2444 ส่วนกรณีหัวเมืองลาวฝั่งซ้ายนั้นได้ใช้เรื่อยมาจนถึงยุคสถาปนาราชอาณาจักรลาวในสมัยสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ จากนั้นมีการแต่งตั้งพระราชอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าองค์มกุฎราชกุมารขึ้น เพื่อสืบทอดรัชทายาทจากฝ่ายวังหลวงตามอิทธิพลที่ได้รับจากศักดินาฝรั่งเศส ตำแหน่งอุปฮาตจึงลดความสำคัญลง และระบบอาญาสี่ได้ถูกยกเลิกไปโดยปริยายหลังการประกาศสละราชบัลลังก์ของสมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนาเมื่อปี พ.ศ. 2518 ระบบอาญาสี่แบ่งชั้นการปกครองออกเป็น 4 ระดับ คือ
- เจ้าเมือง หรือ อาชญาหลวง (พระบาทสมเด็จบูรมนาถบูรมบุพิตร)
- อุปฮาต หรือ อรรคฮาด (เจ้าพระยาอุปราชาหอหน้า)
- ราชวงศ์ หรือ อรรควงษ์ (เจ้าพระยาราชวงสา)
- ราชบุตร หรือ วรบุตร (เจ้าย่ำกระหม่อมสมเด็จพระเปนเจ้าราชบุตอุตตมโอรสส พระราชวังบวรสถานมงคลหอคำฝ่ายหลัง)
วิธีการเขียนคำในเอกสารสมัยโบราณ
แก้- อาญา
- อัญญา
- อัญยา
- อาชญา
- อาชยา
- อาจยา
- อาตยา
- อาดยา
อาญาสี่ (อัญญา 4)
แก้อาญาสี่มีอยู่สี่ตำแหน่งและแต่ละตำแหน่งจะเรียกชื่อแตกต่างกันตามศักดิ์ของเมือง สามารถแบ่งได้ 5 ระดับ ดังนี้
เมืองเอกราช | เมืองประเทศราช | หัวเมืองใหญ่, เมืองเอก, โท, ตรี | หัวเมืองขึ้น, เมืองจัตวา | เมืองขนาดเล็กมาก | |
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต (เจ้ามหาชีวิต) | เจ้าองค์ครองนคร (เจ้านคร), เจ้าย่ำขม่อม (เจ้าหยั่งกระหม่อม) | เจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการเมือง) | เจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการเมือง) | เจ้าเมือง (พ่อเมือง) | |
สมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (เจ้ามหาอุปฮาต) | เจ้าอุปฮาด (เจ้าอุปราช) | อุปฮาด (พระอุปฮาต) | อัคคฮาด (อรรคฮาด) | วรราช (วรฮาซา) | |
สมเด็จเจ้าราชวงศ์ | เจ้าราชวงศ์ | ราชวงศ์ (พระราชวงษ์) | อัคควงศ์ (อรรควงษ์) | วรวงศ์ (วรวงษ์) | |
สมเด็จเจ้าราชบุตร | เจ้าราชบุตร | ราชบุตร | อัคคบุตร (อรรคบุตร) | วรบุตร (วรบุตร์) |
อำนาจหน้าที่และระดับชั้น
แก้เจ้าเมือง
แก้เจ้าเมือง แปลว่า ผู้เป็นใหญ่สุดแห่งเมือง มีอำนาจหน้าที่สิทธิ์ขาดในการบังคับบัญชาเหนืออาญาสี่และกรมการเมือง ตลอดจนข้าราชการทั้งปวงในเขตเมืองนั้น หากแต่จะไม่มีสิทธิ์ในบางเรื่อง เช่น ตัดสินประหารชีวิต หรือแต่งตั้งถอดถอนกรมการเมืองผู้ใหญ่ซึ่งได้แก่ อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ได้เองโดยลำพัง เว้นแต่จะได้รับราชานุญาตจากเจ้ามหาชีวิต อย่างไรก็ตาม เจ้ามหาชีวิตเองก็ถือว่าเป็นเจ้าในระบบอาญาสี่ของกรุงเอกราช บางครั้งในแต่ละยุคสมัยต่างออกนามไม่เหมือนกัน เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต พระเจ้ามหาชีวิต เจ้าชีวิต อาชญาหลวง อาชญาใหญ่ พระยาเมือง เจ้าพระยา พระยา (พญา, พระญา) ขุนใหญ่ ขุนเมือง เจ้าวังหลวงหรือเจ้าโฮงหลวง ในสมัยขุนบรมราชาธิราชจนถึงสมัยเจ้าฟ้างุ้มนิยมออกนามเจ้าเมืองเอกราชได้ 8 คำ ซึ่งปรากฏในพงศาวดารล้านช้างดังต่อไปนี้
- ขุน (ก่อนรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้ม)
- ท้าว (ก่อนรัชกาลพระเจ้าฟ้างุ้ม)
- เจ้าฟ้า
- ท้าวฟ้า
- พระยาฟ้า
- ฟ้า
- ญา
- พระยา (พญาหรือพระญา)
ในสมัยก่อนการสถาปนาอาณาจักรล้านช้างหรือก่อนพระเจ้าฟ้างุ้มรวมเอกราชนั้น ระบบการปกครองเดิมได้แบ่งเจ้าเมืองออกเป็น 4 ชั้น ดังนี้
- เจ้าฟ้า (ท้าวฟ้า) กษัตริย์หรือพระราชา
- หมื่นเฮือน (หมื่นเรือน) เจ้าเมืองชั้นเอก
- พันเฮือน (พันเรือน) เจ้าเมืองชั้นโท
- ฮ้อยเฮือน (ร้อยเรือน) เจ้าเมืองชั้นตรี
ในสมัยต่อได้แบ่งชั้นเจ้าเมืองออกเป็น 5 ชั้น ดังนี้
- เจ้าฟ้า (เจ้าเมือง)
- เจ้าหัวเศิก (หัวศึก)
- เจ้าหัวหมื่น (หัวหมื่น)
- เจ้าหัวพัน (หัวพัน)
- เจ้าหัวฮ้อย (หัวร้อย)
ในพระธรรมศาสตร์บทห้องมิสสาจาน ได้แสดงขันค่าคอ ขันไหม และขันแปลงของเจ้าในราชสกุลและเจ้าเมืองตลอดจนเจ้านายขุนนางในสมัยพระเจ้าสุริยวงศามหาธรรมิกราชไว้ 4 ชั้น ดังนี้
- ราชสกุลและหัวเศิก ขันค่าคอ 1600 เงิน ขันไหม 800 เงิน ขันแปลง 400 เงิน
- เจ้าหัวแสนท้าวพระยาหัวหมื่น ขันค่าคอ 1200 เงิน ขันไหม 600 เงิน ขันแปลง 300 เงิน
- เจ้าขุนหัวพันหัวร้อย ขันค่าคอ 800 เงิน ขันไหม 400 เงิน ขันแปลง 200 เงิน
- ขุนกว้านท้าวเพีย ขันค่าคอ 600 เงิน ขันไหม 300 เงิน ขันแปลง 100 ถ่อง
สมัยนี้มีการออกคำนำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ต่างกันออกไปดังนี้
- พระบาทสมเด็จบูรมนาถบูรมบุพิตร (พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตร)
- พระบาทสมเด็จบูรมบุบพิตร (พระบาทสมเด็จบรมบุพิตร)
- สมเด็จพระบูรมบุพิตร
- สมเด็จพระมหานคร
- สมเด็จพระเปนเจ้า (สมเด็จพระเป็นเจ้า)
- สมเด็จพระมหาธรรมิกราช
- สมเด็จพระบูรมบุพิตร
- สมเด็จบูรมบุพิตร
- พระราชสมภารเจ้าย่ำกระหม่อม
- พระราชบพิตร
- พระราชอาชญา
- พระมหาธรรมิกราชาธิราชเจ้า
- พระอยู่หัว
บรรดาศักดิ์และพระยศของกษัตริย์และเจ้าเมือง ส่วนมากมักมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ลาวและกษัตริย์สยาม ตลอดจนมาจากการสถาปนากันขึ้นเองของกลุ่มหัวเมืองต่างๆ สามารถแบ่งประเภทชั้นยศของผู้ปกครองเมืองได้ดังต่อไปนี้
- พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต (เจ้ามหาชีวิตหรือพระมหากษัตริย์ในยุคสถาปนาพระราชอาณาจักรลาว)
- สมเด็จพระเจ้า (กษัตริย์ของราชอาณาจักรลาวทั้งสาม)
- พระเจ้า (เจ้าองค์ครองนครประเทศราช)
- เจ้า (เจ้าองค์ครองนครประเทศราช)
- เจ้าพระยาหลวง
- เจ้าพระยา
- พระยา
- พระ
- เพีย (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
- ท้าว (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
- หลวง (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
- ขุน (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
- หมื่น (เจ้าเมืองขนาดเล็กบางเมือง)
อุปฮาต
แก้อุปฮาด แปลว่า เจ้าเมืองผู้น้อย คือผู้ที่จะขึ้นเป็นเจ้าเมืองในอนาคต เป็นตำแหน่งรองเจ้าเมือง ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการของเจ้าเมือง ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าเมือง ตลอดจนรับผิดชอบเกี่ยวกับบัญชีส่วยสาอากร การคลัง และการกะเกณฑ์กำลังพลในยามมีราชการสงคราม ตำแหน่งนี้บางครั้งเรียกว่า เจ้าอุปยุวราช เจ้าฝ่ายหน้า เจ้าวังหน้า เจ้าหอหน้า เจ้าหอกาง เจ้าเฮือนกางหรือเจ้าโฮงกาง เป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับพระมหาอุปราช อุปราช สมเด็จพระอุปยุวราช สมเด็จพระยุพราช มกุฏราชกุมาร หรือสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยโบราณนิยมออกนามเจ้าอุปราชว่า เจ้าแสนหลวง พระยาแสนหลวง หรือเจ้าแสนเมือง หากเจ้าแสนหลวงได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจะออกนามว่า แสนหลวงเชียงลอ อุปฮาตสามารถแบ่งระดับชั้นยศได้ ดังต่อไปนี้
- สมเด็จเจ้ามหาอุปฮาต (เจ้ามหาอุปฮาต) คืออุปฮาตของราชอาณาจักรหรือประเทศเอกราช ปรากฏเฉพาะภายหลังตั้งราชอาณาจักรลาวซึ่งเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา
- เจ้าอุปฮาต คืออุปฮาตของกรุงเอกราชและนครประเทศราช
- พระอุปฮาต คืออุปฮาตหัวเมืองใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นพระ อย่างไรก็ตาม หัวเมืองบางเมืองที่อุปฮาตสืบเชื้อสายจากราชวงศ์เวียงจันทน์นั้น แม้มิได้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระ แต่ก็มักออกคำลำลองว่าพระอุปฮาตได้เช่นกัน
- หลวงอุปฮาต คืออุปฮาตหัวเมืองเล็กที่ได้รับแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นหลวง
- อุปฮาต คืออุปฮาตทั่วไปทั้งหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองเล็กที่ได้รับแต่งตั้งและมียศโดยกำเนิดเป็นท้าว บางครั้งออกนามโดยลำลองว่า ท้าวอุปฮาต
ในเอกสารโบราณเขียนคำว่า อุปฮาด แตกต่างกันออกไป ได้แก่ อุปฮาด อุปฮาต อุปฮาช อุปราช อุปหาต อุปหาด อุปฮาชา อุปฮาซา
ราชวงศ์
แก้ราชวงศ์ แปลว่า ผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมือง เป็นผู้แทนของอุปฮาด รับผิดชอบเรื่องอรรถคดีและการตัดสินถ้อยความข้อพิพาททั้งปวง ตำแหน่งนี้บางครั้งเรียกว่า เจ้าโฮงเหนือ หรือเจ้าเฮือนเหนือ เป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข หรือวังหลัง ราชวงศ์สามารถแบ่งระดับชั้นยศได้ ดังต่อไปนี้
- สมเด็จเจ้าราชวงศ์ คือราชวงศ์ของนครเอกราชและนครประเทศราช ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นสมเด็จ
- พระยาราชวงศ์ คือราชวงศ์หัวเมืองใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นพระยา
- พระอรรควงษ์ คือราชวงศ์ทั่วไปทั้งหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองเล็กที่ได้รับแต่งตั้งและมียศโดยกำเนิดเป็นชั้นพระ บางครั้งออกนามโดยลำลองว่า พระอรรควงษ์
ในเอกสารโบราณเขียนคำว่า ราชวงศ์ แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ราชวงศ์ ราชวงษ์ ราชวง ราชวงษ อรรควงษ์ อัคควงศ์
ราชบุตร
แก้ราชบุตร แปลว่าโอรสของเจ้าเมือง โดยมากมักเป็นบุตรของเจ้าเมืองเอง หรืออาจมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับเจ้าเมืองก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำสั่งจากเมืองหลวง ราชบุตรหน้าที่ช่วยราชการตามที่เจ้าเมืองมอบหมาย ตลอดจนการปฏิบัติกิจการด้านศาสนา เรือกสวนไร่นา ถนนหนทาง และการเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ตำแหน่งนี้บางครั้งเรียกว่า เจ้าโฮงใต้ หรือเจ้าเฮือนใต้ เป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับพระราชโอรสของกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ราชบุตรสามารถแบ่งระดับชั้นยศได้ ดังต่อไปนี้
- เจ้าราชบุตร คือราชบุตรของนครเอกราชและนครประเทศราช
- ราชบุตร คือราชบุตรทั่วไปทั้งหัวเมืองใหญ่และหัวเมืองเล็กที่ได้รับแต่งตั้งและมียศโดยกำเนิดเป็นท้าว
ในเอกสารโบราณเขียนคำว่า ราชบุตร แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ราชบุตร ราชบุตร์
การสถาปนายศยุคประเทศราชเเละหัวเมืองขึ้นอาญาสี่
แก้ภายหลังการเสวยราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระองค์ทรงปรารถนาที่จะวางกฎเกณฑ์บรรดาศักดิ์แก่บรรดาเจ้าประเทศราชฝ่ายล้านช้างให้เป็นแบบแผน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาฐานันดรศักดิ์สำหรับลูกท่านหลานเธอแห่งเจ้าผู้ครองนครประเทศราชเเละบริวารฝ่ายล้านช้างหลวงพระบางและฝ่ายจำปาศักดิ์ (ยกเว้นนครเวียงจันทน์) ตลอดจนหัวเมืองฝ่ายอีสานบางเมืองขึ้นอีก เรียกว่า เจ้ายั้งขะหม่อม หรือ เจ้าย่ำกระหม่อม รวมตำแหน่งคร่าวๆ ได้ดังนี้
- เจ้าผู้ครองนครเเละเจ้าเมือง
- พระเจ้าประเทศราช ชั้นพระสุพรรณบัฏ (ชั้นสูงสุด) ถือศักดินา 15,000 เช่น พระเจ้านันทเสนราชพงษมลาวแห่งเวียงจันทน์ พระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารแห่งจำปาศักดิ์
- เจ้าประเทศราช ชั้นพระสุพรรณบัฏ (ชั้นสูงสุด) ไม่ทราบศักดินา (ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งยังไม่มีการกำหนดศักดินาที่เเน่ชัด หากเเต่เจ้านายที่ได้รับการจารึกพระสุพรรณบัฏจะนับว่ามีอำนาจสูงสุดในสมัยนั้น) ได้เเก่ พระรัตนวงศามหาขัติยราช (อ่อน) เเห่งสุวรรณภูมิ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์แห่งอุบลราชธานี พระวิไชยราชสุริยวงษขัติยราชแห่งจำปาศักดิ์
- เจ้าประเทศราช ชั้นหิรัญบัฏ (ชั้นสูง) ถือศักดินา 10,000 เช่น เจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ดำรงรัฐสีมามุกดาหาราธิบดีแห่งมุกดาหาร เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ดำรงรัฐสีมาอุบลราชธานีบาลแห่งอุบลราชธานี เจ้ายุติธรรมทรนครจำปาศักดิ์รักษาประชาธิบดีแห่งจำปาศักดิ์
- ขุนนางผู้ครองนคร ชั้นสัญญาบัตร (ต่ำสุด) ไม่ทราบศักดินา เช่น เจ้านูเเห่งจำปาศักดิ์ เป็นต้น
- พระยาหัวเมืองขึ้นชั้นพานทอง (เสมอหัวเมืองชั้นโท) ชั้นสัญญาบัตร (ต่ำสุด) ถือศักดินา มากกว่า 5,000 เช่น พระยาขัติยวงษาพิสุทธิบดี (สีลัง) แห่งร้อยเอ็ด เป็นต้น
- พระยาหัวเมืองขึ้นทั่วไป (พานหมากเงินกลมถมตะทอง) ชั้นสัญญาบัตร (ต่ำสุด) ถือศักดินาน้อยกว่า 5,000 เเต่ไม่ต่ำกว่า 3,000 เช่น พระยารัตนวงศามหาขัติยราช (คำผาย) แห่งสุวรรณภูมิ พระยาศรีโสราชอุปราชามันธาตุราชแห่งมุกดาหาร พระยาพนมนครานุรักษ์สิทธิศักดิ์เทพฦๅยศแห่งนครพนม พระยาวุฒาธิคุณ (เคน) เเห่งหนองคาย
- พระหัวเมืองขึ้น ชั้นสัญญาบัตร (ต่ำสุด) ถือศักดินาน้อยกว่า 5,000 เช่น พระสุนทรราชวงศามหาขัติยชาติแห่งยโสธร พระพรหมวรราชสุริยวงศ์เเห่งอุบลราชธานี พระเทพวงศาเเห่งเขมราษฎร์ธานี พระปทุมเทวาภิบาลเเห่งหนองคาย
- เจ้าอุปฮาต (เจ้าอุปราช) ถือศักดินา 5,000
- เจ้าราชวงศ์ (เจ้าราชวงษ์) ถือศักดินา 3,000
- เจ้าอรรควงษ์ (เจ้าอรรควงษ์) ถือศักดินา 2,400
- เจ้าราชบุตร ถือศักดินา 2,000
- เจ้าราชภาคิไนย (เจ้าราชภาคินัยหรือเจ้าภาคินัย) ถือศักดินา 2,000
- เจ้าราชสัมพันธวงศ์ (เจ้าราชสัมพันธ์หรือเจ้าสัมพันธวงศ์) ถือศักดินา 2,000
- เจ้าราชประพันธวงศ์ (เจ้าประพันธวงศ์) ถือศักดินา 2,000
จากเครือข่ายอาญาสี่ เจ้าเมืองประเทศราชล้านช้างที่ส่งราชบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองทางฝั่งซ้ายมี 3 เมือง ส่วนเจ้าเมืองประเทศราชล้านช้างทางฝั่งขวามี 3 เมือง รวม 6 เมือง ที่เหลือคือหัวเมืองขึ้นของสยามเเละหัวเมืองขึ้นประเทศราชอีกที ในที่นี้รวมเจ้าเมืองประเทศราชทั้งเจ้าเมืองชั้นสัญญาบัตร (จารึกพระนามด้วยเเผ่นกระดาษ-ชั้นต่ำสุด) ชั้นสุพรรณบัฏ (จารึกพระนามด้วยเเผ่นทองคำจารึกพระราชสาส์น-ชั้นปานกลาง) ชั้นหิรัญบัฏ (จารึกพระนามด้วยเเผ่นเงิน-ชั้นสูง) และชั้นพระสุพรรณบัฏ (จารึกพระนามด้วยเเผ่นทองคำสำหรับเจ้านาย-ชั้นสูงสุด) เข้าไว้ทั้งหมด มีดังนี้
เมืองที่เคยเป็นประเทศราชของสยาม
- เมืองนครจันทบุรีศรีสัตนคนหุตอุตมราชธานีบุรีรมย์ ปัจจุบันคือเวียงจันทน์ ประเทศลาว
- เมืองนครล้านช้างฮ่มขาวหลวงพระบาง ปัจจุบันคือเมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง ประเทศลาว
- เมืองนครกาลจำบากนัคบุรีศรี ปัจจุบันคือแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว
- เมืองสุวรรณภูมิราชบุรียประเทศราช ปัจจุบันคืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย (ชั้นพระสุพรรณบัฏในช่วงรัชกาลที่ 1 ที่เหลือคือชั้นสัญญาบัตรหรือเป็นหัวเมืองขึ้นของสยาม)
- เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช ปัจจุบันคือจังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย (ชั้นพระสุพรรณบัฏในช่วงรัชกาลที่ 1 เเละชั้นหิรัญบัฏในช่วงรัชกาล 4-5 ที่เหลือคือชั้นสัญญาบัตรหรือเป็นหัวเมืองขึ้นของสยาม)
- เมืองมุกดาหารทบุรีศรีมุตติกนคร ปัจจุบันคือจังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทย (ชั้นหิรัญบัฏในช่วงรัชกาลที่ 4 ที่เหลือคือชั้นสัญญาบัตรหรือเป็นหัวเมืองขึ้นของสยาม)
หัวเมืองขึ้นของสยามเเละหัวเมืองขึ้นของประเทศราช
- เมืองมหารัตนบุรีรมย์พรหมจักรพรรดิศรีมหานัครตักกะเสลา ปัจุบันคือแขวงเชียงขวาง ประเทศลาว
- เมืองวังอ่างคำ ปัจจุบันคือเมืองวัง แขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว
- เมืองอัตตะปือละมามท่งแอกกระบือควาย หรือเมืองข่าเรอเดว ปัจุบันคือแขวงอัตตะปือ ประเทศลาว
- เมืองมหาชนไชยก่องแก้ว หรือเมืองมหาชัยกองแก้ว ปัจจุบันคือเมืองมหาชัย แขวงคำม่วน ประเทศลาว
- เมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง ปัจจุบันคือจังหวัดนครพนม ประเทศไทย
- เมืองฮ้อยเอ็ด ปัจจุบันคือจังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย
- เมืองมหาสารคาม ปัจจุบันคือจังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย
- เมืองเขมราษฎร์ธานี ปัจจุบันคืออำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย
- เมืองยศสุนทร ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร ภาคอีสาน
- เมืองหนองคาย หรือเมืองหล้าหนองคาย ปัจจุบันคือจังหวัดหนองคาย ประเทศไทย
- เมืองกาลสินธุ์ ปัจจุบันคือจังหวัดกาฬสินธุ์ ประเทศไทย
- เมืองสกลทวาปี หรือเมืองเชียงใหม่หนองหาร ปัจจุบันคือจังหวัดสกลนคร ประเทศไทย
การลดฐานะหลังยุคปฏิรูปการปกครอง
แก้หลังปฏิรูปการเมืองการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2444 เจ้านายลาวและกรมการเมืองทั้งหลายได้ประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกับสยามเป็นอย่างมาก สยามได้ลดฐานะความเป็นเจ้าของเจ้านายลาวให้เป็นเพียงข้าราชการรับเงินเดือนตามตำแหน่ง จนเป็นเหตุให้เกิดการต่อต้านอำนาจสยามในรูปแบบต่างๆ เจ้านายลาวบางกลุ่มเข้าสนับสนุนขบวนการผีบุญ เจ้านายลาวฝั่งขวาหลายท่านพากันเข้าไปพึ่งอำนาจฝรั่งเศสทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทางสยามได้ยกเลิกระบบอาญาสี่และตั้งตำแหน่งจากส่วนกลางให้แก่เจ้านายลาวขึ้นใหม่ โดยผู้ดำรงตำแหน่งยุคแรกนั้นยังคงเป็นกลุ่มทายาทบุตรหลานที่สืบเชื้อสายจากเจ้านายในคณะอาญาสี่ ดังนี้
- ผู้ว่าราชการเมือง เทียบตำแหน่งเจ้าเมือง
- ปลัดเมือง เทียบตำแหน่งอุปฮาต
- ยกกระบัตรเมือง เทียบตำแหน่งราชวงศ์
- ผู้ช่วยราชการเมือง เทียบตำแหน่งราชบุตร
- จางวางช่วยราชการ เทียบตำแหน่งเจ้าเมืองที่สละตำแหน่งด้วยทุพลภาพ
ผู้ช่วยอาญาสี่และกรมการเมือง
แก้เจ้าทั้งสี่และท้าวทั้งสี่
แก้ผู้ช่วยอาญาสี่เป็นผู้ช่วยราชการของคณะอาญา แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคณะผู้ช่วยใกล้ชิดหากเป็นกรุงเอกราชหรือนครประเทศราช มักตั้งเจ้านายในราชวงศ์ให้ดำรงตำแหน่ง คณะผู้ใกล้ชิดแบ่งออกเป็น 4 ตำแหน่ง ดังนี้
- เจ้าสุริยะ
- เจ้าสุริโย
- เจ้าโพธิสาร
- เจ้าสุทธิสาร มี 3 ราชทินนาม ดังนี้
- เจ้าสิทธิสาร
- เจ้าสุทธิสาร
- เจ้าสิทธิราช
หากเมืองใดผู้ดำรงตำแหน่งมิได้เป็นเจ้า เช่น เมืองชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี และชั้นจัตวา คณะผู้ช่วยใกล้ชิดจะมีบรรดาศักดิ์เป็นท้าว ดังนี้
- ท้าวสุริยะ
- ท้าวสุริโย
- ท้าวโพธิสาร
- ท้าวสุทธิสาร มี 3 ราชทินนาม ดังนี้
- ท้าวสิทธิสาร
- ท้าวสุทธิสาร
- ท้าวสุทธิราช
ขื่อเมือง
แก้เป็นตำแหน่งกรมการเมืองหรือกรรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ คือมหาเสนาบดีของเมือง แยกการปกครองออกจากผู้ช่วยอาญาสี่ประเภทท้าวทั้งสี่ต่างหาก ขื่อเมืองมี 2 ตำแหน่งคือ เมืองแสน ทำหน้าที่กำกับดูแลฝ่ายทหาร และเมืองจันทน์ ทำหน้าที่กำกับดูแลฝ่ายพลเรือน ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์บูราณ บทว่าด้วยเรื่องระเบียบแต่งราชการไปต่าง ประเทศในสมัยพระเจ้าสุริยวงศามหาธรรมิกราช ออกนามเต็มของตำแหน่งเมืองแสนและเมืองจันทน์ ดังนี้
- พระยาเมืองแสนราชธานี สุรมุนตรีศรีสิทธิชัย ปราเกียรติยศทศราชฤๅศักดิ์ อัครมหาเสนาบดีศรีสัตนาค
- พระยาหลวงจันทบุรีภิรมย์ราชธานี ศรีสุไชยโนชิตสิทธิปัญญา ประสิทธิไชยสมคามรามภัทร อัครมหาเสนาธิปติศรีรัตนามาศ
ขางเมือง
แก้ขางเมืองมีศักดินารองจากขื่อเมืองหรือขื่อบ้าน ตำแหน่งขื่อเมืองและขางเมืองนี้ โบราณเรียกรวมกันว่า ขื่อบ้านขางเมือง หากเป็นเมืองหลวงหรือเป็นเมืองที่มีกษัตริย์ปกครอง จะใช้คำว่า พระยา หรือ เจ้าพระยาเป็นบรรดาศักดิ์ ถ้าเป็นนหัวเมืองจะใช้คำว่า เพีย หรือ ท้าว เป็นบรรดาศักดิ์ ได้แก่
- เมืองขวา เมืองซ้าย เมืองกลาง ดูแลบัญชีไพร่พล บัญชีสักเลก งานราชทัณฑ์ การปฏิสังขรณ์วัดวาอารามตลอดจนวัสดุครุภัณฑ์
- เมืองคุก เมืองฮาม เมืองแพน เป็นผู้ช่วยการสามตำแหน่งข้างต้น
- นาเหนือ นาใต้ ดูแลเสบียงยุ้งฉางเมือง เก็บส่วยภาษีอากร สำรวจสำมะโนครัวไพร่พลทุก 3 ปี แทงจำหน่ายเลกที่หนีหายตายพิการชราอุปสมบท ควบคุมดูแลสัตว์พาหนะ
- ซาเนตร ซานนท์ เป็นเจ้าหน้าที่เลขานุการของขื่อบ้านขื่อเมือง
- ซาบัณฑิต เป็นอาลักษณ์หรือเจ้าพนักงานอ่านประกาศต่าง ๆ ทั้งการแช่งน้ำสาบาน อ่านพระราชโองการคำสั่งเจ้าเมืองหรือสารตราต่างเมือง ตลอดจนแต่งหนังสือตำราต่าง ๆ
- กรมเมือง เป็นผู้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี จารีต ฮีต คลอง ต่าง ๆ
- สุโพ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร
ท้าวเพียโฮงหลวง
แก้เป็นตำแหน่งพิเศษที่แต่งตั้งเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นของสภาพการณ์บ้านเมือง ส่วนใหญ่เป็นขุนนางรับใช้ใกล้ชิดในหอโฮงหลวงหรือหอคำของเจ้าเมือง ทำนองเดียวกันกับมหาดเล็กชาวที่ของสยาม เช่น
- เพียซาโนซิด ซาภูธร ราชต่างใจ คำมุงคุล ทำหน้าที่มหาดเล็ก
- เพียซาตีนแท่นแล่นตีนเพียง เป็นพนักงานตามเสด็จ หรือองครักษ์ของเจ้าเมือง
- เพียซาบุฮ่ม เป็นเจ้าพนักงานกั้นพระกลด หรือโบกจามร
- เพียซาหลาบคำ เป็นเจ้าพนักงานเชิญพระแสงศาตราวุธ
- เพียซามณเฑียร เป็นผู้ดูแลรักษาพระราชวัง ปราสาท ราชมณเฑียร
- เพียซาบรรทม เจ้าพนักงานจัดที่บรรทม
- เพียแขกขวา แขกซ้าย เป็นผู้ดำเนินการดูแลต้อนรับบรรดาแขกบ้านแขกเมือง
- เพียศรีสุนนท์ เพียศรีสุธรรม เพียศรีบุญเฮือง เพียศรีอัครฮาด และเพียศรีอัครวงศ์ เป็นผู้ดูแลจัดการด้านการศึกษาและกิจการด้านศาสนา
ท้าวเพียผู้ช่วย
แก้เป็นตำแหน่งที่เจ้าเมืองออกคำสั่งให้ไปช่วยราชการของเจ้าเมือง อุปราช ราชวงศ์ หรือราชบุตร ตลอดจนงานในกองของเมืองแสนและเมืองจันทร์ หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตรนคร) ข้าหลวงเทศาภิบาลกำกับเมืองสกลนคร ได้รวบรวมไว้ 11 ตำแหน่ง ได้แก่
- เพียนามเสนา
- เพียมหาเสนา
- เพียจันทฮส (เพียจันทรส)
- เพียซามาตย์
- เพียชานุชิต
- เพียแก้วดวงดี
- เพียสุวรรณไมตรี
- เพียอัครวงศ์
- เพียเนตวงศ์
- เพียนามวงศ์
- เพียวุฒิวงศ์
สิบฮ้อยน้อยใหญ่
แก้เป็นตำแหน่งพิเศษที่แต่งตั้งเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นของสภาพการณ์บ้านเมือง ส่วนใหญ่เป็นขุนนางชั้นรองถือศักดินาน้อย คอยช่วยราชการกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ ช่วยราชการขื่อบ้านขางเมืองและขุนกว้านท้าวเพียทั้งหลาย บางตำแหน่งเป็นขุนนางบรรดาศักดิ์ปกครองหมู่บ้าน ตำบล กอง หรือเวียงขนาดเล็ก ได้แก่
- ท้าวจันสีสุราช (ท้าวจันทน์สีสุราช) ท้าวจันสีราช ท้าวอาทิตสาราช ท้าวจิตตราช ท้าวศรีสุราช ท้าวศรีวรราช ท้าวโพธิราช ท้าวไกรยราช ท้าวเชียงบุญราช
- ท้าวพรหมจักร ท้าวพรหมมหาไชย ท้าวมหาไชย ท้าวมหาพรม ท้าวมหาพันขวา
- ท้าวสุริยา ท้าวสุริยง ท้าวสุริยวงศ์ ท้าวสุราชวงศ์ ท้าวสุวรรณดี ท้าวสุวรรณบุตร์
- ท้าวจันทรชมภู ท้าวจันทเสน ท้าวจันทรัง ท้าวจันทโสภา ท้าวจันทะสุริยวงศ์
- ท้าวขัติยะ (ท้าวขัตยะ) ท้าวขัติยา ท้าวสุทธิสม ท้าวสิทธิกุมาร
- ท้าวไชยกุมาร ท้าวไชยวงษ์ ท้าวไชยสาร ท้าวไชยอำมาตย์
- ท้าวอินธิสาร ท้าวพิมพิสาร ท้าวบุญสาร ท้าวขุนสาร
- ท้าววรบุตร ท้าวเทียมคำยอ ท้าวคำพัน ท้าวแก้วเพลา ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวพิลา ท้าวบุญจัน ท้าวอุปปละ ท้าวกะออก ท้าวชามาต
ขื่อบ้านขางเมืองในราชอาณาจักรล้านช้าง
แก้ขื่อบ้านขางเมืองของนครเวียงจันทน์
แก้ตำแหน่งปกครองและกรมการเมืองของราชอาณาจักรเวียงจันทน์ในสมัยพระเจ้าสุริยวงศามหาธรรมิกราช ซึ่งปรากฏในพระธรรมศาสตร์แบ่งออกเป็น 14 ฝ่าย ดังนี้
- ฝ่ายแผ่นดิน (พระบรมวงศานุวงศ์) มี 3 พระองค์ คือ เจ้าอุปฮาต เจ้าราชวงษ์ เจ้าราชบุตร
- เสนาฝ่ายขวา มี 10 พระยา คือ เมืองแสน เมืองขวา (เมืองของ) เมืองฮาม (เมืองรามหรือเมืองลาม) เชียงเหนือ เชียงสา พันนา สองเมือง นาเหนือ หมื่นหน้า น้ำฮุ่ง (น้ำรุ่งหรือนามฮุง)
- ่เสนาฝ่ายกลาง มี 7 พระยา คือ เมืองกาง (เมืองกลาง) พระชุม (พระขุน) พระโยธา ชานนท์ (ซานนท์) สีพัทนาม (ศรีพัทธนาม) สีสมุด (ศรีสมุทร) สีสุนน (สีสุนนท์)
- เสนาฝ่ายซ้าย มี 10 พระยา คือ เมืองจัน (เมืองจันทน์) เมืองซ้าย เชียงใต้ เมืองปาก สาขา (สักขา) เมืองคุก พันหลวง อี่ไล (อิไลหรืออีไล) นาใต้ เมืองแพน
- พวกทหาร มี 6 พระยา คือ สุโพ คำมูน (คำมูล) เวียงแก เวียงคำ อุปราชา (อุปฮาซา) หมื่นเสมอใจ (หมื่นเสนอใจ)
- พราหมณ์พวกมะโรงสั่งสอนอรรถธรรม มี 10 พระยา คือ ซามนตรี (ซามุนตรีหรือชามุนติ) ซาโนชิต (ชาโนชิต) ซามะฮด (ซามกดหรือชามาตุ) ซาเนด (ซาเนตรหรือชาเนตร) ซาทิพรต (ซาทิพฮดหรือชาทิพรส) ซากำนัน (ชากำนัน) มหาโนชิด (มหาโนซิตหรือมหาโบชิต) ราชวัด (ราชวัตรหรือราชวัธ) อุดทามนตรี (อุทธามนตรีหรืออุทธามุนติ) แสนไชยพงยด (แสนไชพงยศหรือแสนไชยพงศ์ยศ)
- หัวหน้าพวกคัพพชุม (พวกเสพ) มี 3 พระยา คือ พระละคร (พระลครหรือพระละคอน) พลเสพขวา (พลเศิกขวาหรือพลเสิกขวา) พลเสพซ้าย (พลเศิกซ้ายหรือพลเสิกซ้าย)
- หัวหน้าพวกมหาดเล็ก มี 2 พระยา คือ นักพูมิ (นักภูมิ) คำชุมพู (คำซุมพู)
- หัวหน้าพวกรักษาผักตู (รักษาประตู) มี 4 พระยา คือ ซาบรรทม ซามะราช (ซามะรัตหรือซามะฮาช) คำเพียงตา ราชอาสน์
- หัวหน้าพวกจำหนวด มี 4 พระยา คือ พลเดชา (พลเตชา) ซาภักดี ซาหลาบคำ (ซาหลานคำ) วงพุทอน (วงศ์ภูธร)
- หัวหน้าฝ่ายรักษากลองหลวง มี 4 พระยา คือ นักพุชวง (นักพุทธวงศ์) มหาโคตร หมื่นวงศ์ไชยา (หมื่นวงไชยา) อัคฮาด (อัครฮาช)
- หัวหน้านายเวรรับแขกเมือง มี 4 พระยา คือ สีสุทัม (ศรีสุธรรม) แขกขวา แขกซ้าย ซาบูรม (ซาบุฮม)
- หัวหน้าฝ่ายคลังหลวง มี 5 พระยา คือ ราชโกด (ราชโกฐหรือราชโคตร) สีหคลัง (สีหะคังหรือสีหาคลัง) สีสุธอ (สีสุธรรม) แสนจัน แสนยศ
- เพียอ่านหนังสือถวาย มี 4 นาย คือ แปวคุง (แปวดุงหรือแปวคุงคา) ซาพิรม (ซาภิรมย์) แก้วลมออน ลมเถลย
ศักดินาและถ้านของขื่อบ้านขางเมืองนครเวียงจันทน์
แก้- อัครมหาเสนาบดี 2 พระยา คือ เมืองแสน เมืองจันทน์ ขันค่าคอ 1600
- เสนาบดีจตุสดมภ์ 4 พระยา คือ เมืองขวา เมืองซ้าย เชียงเหนือ เชียงใต้ ขันค่าคอ 1400
- เสนาบดีอัตถสดมภ์ 8 พระยา คือ เมืองกลาง สุโพ คำมูล เวียงแก เวียงคำ เมืองราม เมืองปาก พระซุม ขันค่าคอ 1200
- เสนาบดีชั้นรอง 22 พระยา คือ น้ำรุ่ง เชียงสา พันนา สองเมือง นาเหนือ หมื่นหน้า สาขา เมืองคุก พันหนอง นักพุทวงศ์ อีไล นาใต้ เมืองแพน พโยธา อุปราชา หมื่นเสนอใจ พระละคอน พลเสิกขวา พลเสิกซ้าย มหาโคตร หมื่นวงศ์ไชยา อัคราช ขันค่าคอ 800
- หัวหน้าพวกมะโรง 10 เพีย ขันค่าคอ 600
- เจ้าเสนา 7 เพีย ขันค่าคอ 600
- นายเวร 4 เพีย ขันค่าคอ 600
- จำหนวด 4 เพีย ขันค่าคอ 600
- มหาดเล็ก 2 เพีย ขันค่าคอ 600
- นายคลัง 5 เพีย ขันค่าคอ 600
- นายอ่านหนังสือถวาย 4 เพีย ขันค่าคอ 500
ขื่อบ้านขางเมืองของนครจำปาศักดิ์
แก้ในตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 70 ได้มีการกล่าวถึงบรรดาศักดิ์ลาวโบราณของราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลการจัดระเบียบการปกครองมาจากรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศามหาธรรมิกราชแห่งนนครเวียงจันทน์ ดังความปรากฏไว้ว่า
...พระครูโพนเสม็ด ก็อัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์เข้าสรงมุรธาสนานราชาภิเษกเสร็จแล้ว สมณพราหมณาจารย์ท้าวพระยาทั้งปวงถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรเป็นเจ้าเอกราชครองราชสมบัติตามโบราณราชประเพณีกษัตริย์ในมาลาประเทศ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงให้ทำระเนียดเสาไม้แก่นสร้างเมืองขึ้นที่ตำบลริมฝั่งศรีสุมังแล้ว เปลี่ยนนามเมืองใหม่ให้เรียกว่านครจำปาบาศักดิ์นาคบุรีศรี และนางแพงบุตรนางเภานั้น เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็รับเข้าไปไว้ในวังเลี้ยงดูทำนุบำรุงเคารพเป็นอันดี แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็จัดแจงราชการบ้านเมืองตั้งเจ้านายและแสนท้าวพระยา พระยาเมืองแสนเป็นเสนาบดีฝ่ายขวา พระยาเมืองขวาปลัด พระยาเชียงเหนือ พระยาเมืองฮาม นามฮุงศรี สองเมืองสมุหบัญชี สุวอกรมหนึ่ง พระยาเมืองจันเป็นเสนาบดีฝ่ายซ้าย พระยาเมืองซ้ายปลัด พระยาเชียงใต้ ศักขา เมืองปาก หมื่นวิสัยสมุหบัญชี พันหนองกรมหนึ่ง พระยาเสระโยธากรมนครบาล พระยาคำมูลปลัด พระยาเวียงคำ เมืองคุก กรมเมืองสมุหบัญชี พระโยหะ อินทกุมพัน ขันธฤๅไชย หารเพ็ชรลัก ไชยบาลกรมหนึ่ง พระยาวิไชยมนเทียรกรมวัง พระยาพะชุมปลัด พุทธวงษ์ พลลักขวา อัคชา มหาวงษ์ หมื่นวงษ์ไชยกรมหนึ่ง พระยารามโฆษาพระคลัง ราชโกฏิ สิหาคลัง แสนยศ ศรีสุทธสมุหบัญชีกรมหนึ่ง กรมนาพระยาจิตตะเสนา พระยาหมื่นเยียปลัด พันนา พระทิพสาลี ทิพมุนตรีกรมหนึ่ง กรมสัสดีพระยาเมืองกลาง พระยาโยธา ราชานน พัฒมาน ศรีสุนนท สุขนันทา แสนจัน ศรีสมุดกรมหนึ่ง นายเวรสาลาพันโนฤทธิ พันโนลาษ ศรีสุธรรม ชาบูฮมกรมหนึ่ง พนักงานรับแขก แขกขวา แขกซ้ายกรมหนึ่ง กรมไพร่หลวง พระละครมหาโฆษ พลลักซ้าย นามราชา หมื่นเสมอใจ กางสงคราม ศรีทิพเนตรกรมหนึ่ง ผู้จำหน่ายของหลวงศรีสมบัติ หอมสมบัติ เพี้ยจ่าย จันทพานิช ยศสมบัติกรมหนึ่ง กรมช่างทองสุวรรณจักคำ สุวรรณวิจิตร สุวรรณปัญญา หลวงสุวรรณ กรมหนึ่ง หกเหล่าพระยาสุโพ พระยาพลเชียงสา เวียงแก อุปราชา เมืองซอง มหาสงครามกรมหนึ่ง สี่ท้าวช้าง นาใต้นาเหนือ หมื่นนาเมืองแพน กรมหนึ่ง กรมแสงสินระแสง พรมเทพ พันลูกท้าวกรมหนึ่ง ช่างเหล็กแสนนามเกียน แสนแก้ว หมื่นอาวุธ พนทะนีกรมหนึ่ง นายมหาดเล็กนักภูมินทร คำชุมภู ขันขวา ขันซ้ายกรมหนึ่ง นายเวรมหาดเล็กคำพีทูล แก้วพิทูล แก้วมาลา แก้วกินรี ลาดปาอิน อินทสริยา กวอินตา อินทวีไชย แก้วดวงดี นามลคร พทักภูบาล สีหาจักรกรมหนึ่ง ตำรวจพลเดชซาภักดี ซาหลาบคำ วงษภูธรกรมหนึ่ง นายประตูแสนแกว่ง แสนวัง แสนคุ้ม เพี้ยสูน มหาวังกรมหนึ่ง พ่อมโรง มหาโนชิต มหามุนตรี ซาโนชิต ซามาต ซาเนตร ซากำนัน ซาทิพฮต ซามุนตรี อุทธามุนตรี แสนไชยกรมหนึ่ง เถ้าแก่ ซาบรรทม ซามะรัต คำเพียงตา ราชอาสกรมหนึ่ง กรมโหรสีมังคละ สิทธิมงคล สีกาชะโยก โสระบัณฑิต โลกวิวร ไลยณุโยกกรมหนึ่ง เป็นตำแหน่งไว้ครบทุกตำแหน่ง ตามอย่างเมืองเวียงจันทน์ แล้วจัดการทำเนียบเมืองตามโบราณราชประเพณีสืบมาแต่ก่อน...
บรรดาศักดิ์ขุนนางสมัยพระราชอาณาจักรลาว
แก้- เจ้าพระยาหลวง เทียบชั้นสมเด็จเจ้าพระยา
- เจ้าพระยา เทียบชั้นเจ้าพระยา
- พระยา เทียบชั้นพระยา
- เพีย เทียบชั้นพระ
- ท้าว เทียบชั้นหลวง
- แสน เทียบชั้นขุน
ที่มาของบรรดาศักดิ์ชั้น "เพีย"
แก้บรรดาศักดิ์กรมการเมืองชั้น เพีย นี้ ในเอกสารราชการโบราณนิยมเขียนว่า เพีย บ้างก็เขียนว่า เพี้ย หรือ เพียร์ อย่างไรก็ดีหากเขียน เพีย เป็น เพี้ย นี้ นายเติม วิภาคพจนกิจ บุตรพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาแต่เจ้านายในราชวงศ์เมืองอุบลราชธานี เมืองหนองบัวลุ่มภู และจำปาศักดิ์ ได้มีวินิจฉัยว่า ไม่เห็นควรใช้คำว่า เพีย เป็นคำว่า เพี้ย เพราะคำว่า เพี้ย นี้ หมายถึงมูลอ่อนของสัตว์จำพวกวัวควาย ที่ชาวลาวอีสาน ไทยวนเมืองเหนือ นิยมนำไปประกอบอาหารจำพวกน้ำจิ้ม และคำว่า เพี้ย นี้ ชาวอีสานและชาวลาวมักมีการนำมาใช้เป็นสำนวนในเชิงดูถูกดูแคลน เช่น ขี้เพี้ย แปลว่า คนกระจอกงอกง่อย ด้อยความสามารถ คนที่ไม่มีประโยชน์หาสาระมิได้ เป็นต้น ที่มาของบรรดาศักดิ์ชั้นเพียมีหลายแนวคิดดังนี้
1. เพีย อาจมาจากสำเนียงของคำลาวโบราณ ตรงกับคำว่า พญา หรือ พระยา เมื่อชาวลาวออกเสีย ญา หรือ ยา ขึ้นนาสิก จะออกเสียงรวดเร็วว่า เพีย แต่ในสมัยพระราชอาณาจักรนั้น เพีย เป็นบรรดาศักดิ์ที่ต่ำกว่าพระยา ส่วนสมัยล้านช้างฝั่งขวาตกอยู่ใต้การปกครองของสยามนั้น เพียเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนางและบุตรหลานของเจ้านาย โดยไม่สามารถนำมาเป็นบรรดาศักดิ์หรือชั้นยศของเจ้าเมืองได้ เว้นแต่หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายและหัวเมืองลาวสมัยก่อนตกเป็นของสยาม
2. เพีย อาจมาจากภาษาบาลีว่า เพียร หรือ พีระ หรือ วิริยะ หมายถึงผู้ที่ได้บรรดาศักดิ์ชั้นนี้มักเป็นผู้มีความสามารถพากเพียรในราชการ
3. เพีย อาจเป็นคำดั้งเดิมในบรรดาศักดิ์ของชาวลาวและอาจไม่ได้มาจากคำว่า พระยา หรือ เพียร แต่อย่างใด
ที่มาของราชทินนามที่ใช้คำว่า "ซา" นำหน้า
แก้คำว่าซา ตรงกับคำว่าชา มาจากคำว่า ฮาซา หรือ ราชา เป็นการเรียกโดยตัดคำว่า รา ออกไปให้สั้นลง ผู้มีราชทินนามคำว่า ซา นำหน้า มักเป็นกรมการเมืองที่รับใช้ใกล้ชิดกับพระฮาซาหรือพระราชาคือเจ้าเมือง คอยรับใช้ภายในท้องพระโรงบ้าง ห้องพระบรรทมบ้าง ภายในหอโฮงหลวงหรือภายในรั้วหอโฮงหลวงนั่นเอง บรรดาศักดิ์ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ซา มีดังนี้
- ซานนท์ (ชานนท์หรือราชานน) มาจากคำว่า ราชานนท์
- ซามนตรี (ซามุนตรีหรือชามุนติ) มาจากคำว่า ราชมนตรี
- ซาโนชิต (ชาโนชิต มหาโนชิด มหาโนซิตหรือมหาโบชิต) มาจากคำว่า ราชาโนชิต
- ซามะฮด (ซามกดหรือชามาตุ) มาจากคำว่า ราชามะฮด
- ซาเนด (ซาเนตรหรือชาเนตร) มาจากคำว่า ราชาเนตร
- ซาทิพรต (ซาทิพฮด ซาทิพฮต หรือชาทิพรส) มาจากคำว่า ราชาทิพรต
- ซากำนัน (ชากำนัน) มาจากคำว่า ราชากำนัน
- ซาบรรทม มาจากคำว่า ราชาบรรทม
- ซามะราช (ซามะรัตหรือซามะฮาช) มาจากคำว่า ราชามะราช
- ซาภักดี มาจากคำว่า ราชาภักดี
- ซาหลาบคำ มาจากคำว่า ราชาหลาบคำ
- ซาพิรม (ซาภิรมย์) มาจากคำว่า ราชาภิรมย์
- ซาบูฮม มาจากคำว่า ราชาบรม
- ซามาต (ซามาตย์อาซาไนย) มาจากคำว่า ราชามาตย์
ราชทินนามที่มาจากชื่อของเมือง
แก้- เมืองจัน (เมืองจันทน์) มาจากชื่อเมืองนครเวียงจันทน์
- เมืองแสน มาจากชื่อเมืองแสน ในกลุ่มเมืองหัวพันห้าทั้งหก แขวงหัวพัน
- เมืองซ้าย มาจากชื่อเมืองซ้าย หรือเมืองด่านซ้าย จังหวัดเลย
- เมืองขวา มาจากชื่อเมืองขวา
- เมืองฮาม มาจากชื่อเมืองรามราช หรือเมืองลามมะลาด
- เมืองปาก มาจากชื่อเมืองปากห้วยหลวง ริมปากน้ำห้วยหลวง จังหวัดหนองคาย
- เมืองปาว มาจากชื่อเมืองภูวานปาว เมืองแฝดกับเมืองภูวานเถ้า เรียกรวมกันว่า ภูวานเถ้าภูวานปาว
- เมืองคุก มาจากชื่อเมืองเวียงคุก หรือเมืองห้วยคุก ริมปากน้ำห้วยคุก จังหวัดหนองคาย
- เมืองแพน มาจากชื่อเมืองแพน
- เมืองซอง มาจากชื่อเมืองซอง
- เมืองสูง มาจากชื่อเมืองซุง เมืองแฝดกับเมืองโสก รวมเรียกว่าเมืองโสกเมืองซุง แขวงอัตตะปือ
- เวียงแก (เมืองแก) มาจากชื่อเมืองเวียงแก
- เวียงคำ มาจากชื่อเมืองเวียงคุคำ หรือเวียงคุกคำ เดิมเรียกว่าเมืองไผ่หนาม เมืองฝาแฝดของเมืองนครเวียงจันทน์ จังหวัดหนองคาย
- เชียงสา (พลเชียงสา) มาจากชื่อเมืองเวียงเชียงสา เรียกรวมกันกับเมืองเวียงคำว่า เมืองพระน้ำรุ่งเชียงสา
- น้ำฮุ่ง (นามฮุงศรี) มาจากชื่อเมืองพระน้ำรุ่ง เรียกรวมกันกับเมืองเชียงสาว่า เมืองพระน้ำรุ่งเชียงสา
- พระชุม (พะชุม) มาจากชื่อเมืองประชุมพนาลัย หรือเมืองประชุม
หัวหน้าชุมชน
แก้- นายกอง ทำหน้าที่ผู้ปกครองเมืองพิเศษ หรือปกครองหมู่บ้านขนาดใหญ่พิเศษ ตลอดจนปกครองชุมชนพิเศษต่าง ๆ มีอำนาจคล้ายเจ้าเมือง อำนาจนั้นมาจากการแต่งตั้งของเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์ เพียงแต่ไม่มีคณะอาญาสี่คอยช่วยเหลือราชการ
- ปลัดกอง ทำหน้าที่เป็นรองนายกอง มีอำนาจคอยช่วยราชกาลกองต่างๆ แก่นายกองในยามหาตัวนายกองไม่ได้ และมีกองขึ้นของตนเอง
- พ่อเมือง ทำหน้าที่เสมอหนึ่งเจ้าเมืองปกครองเมืองขนาดเล็กมาก แต่ไม่เรียกว่าเจ้าเมือง เนื่องจากมิได้มีเชื้อสายเป็นเจ้าหรือเป็นท้าวมาก่อน ถูกแต่งตั้งจากสามัญชน ถือศักดินา 600 ไร่ สูงกว่ากำนันบรรดาศักดิ์ปกครองตำบลซึ่งถือศักดินา 400 ไร่
- ท้าวฝ่าย (ท้าวฝ้าย) ทำหน้าที่กำกับดูแลไพร่พลของหลาย ๆ แขวง (ตำบล) รวมกัน ซึ่งอาจคล้ายนายอำเภอในปัจจุบัน
- ตาแสง (นายแขวง) ทำหน้าที่ดูแลไพร่พลในหมู่บ้านต่าง ๆ รวมกัน เทียบได้กับกำนันในปัจจุบัน
- กวนเมือง (กวานเมือง) ทำหน้าที่เจ้าเมืองที่ปกครองเมืองขนาดเล็ก หรือปกครองในเขตเวียงต่าง ๆ ซึ่งขึ้นกับเมืองใหญ่อีกทอดหนึ่ง
- กวนบ้าน (กวานบ้าน) ทำหน้าที่นายบ้านดูแลไพร่พลในหมู่บ้าน เทียบได้กับผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน
- จ่าบ้าน เทียบได้กับ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือสารวัตรกำนัน
- แก่บ้าน (แก่เมือง) คือผู้ใหญ่ของหมู่บ้านหรือตำบลที่มีอำนาจว่ากล่าวพิจารณาความผิดตัดสินโทษในยามหาตัวผู้ปกครองไม่ได้ บางครั้งผู้คนอาจฟังแก่บ้านแก่เมืองมากกว่าผู้ปกครอง
- เจ้าโคตร (เจ้าเหง้า) คือผู้ใหญ่ของวงศ์ตระกูลหรือสายตระกูลที่มีอาวุโสสูงสุด มีอำนาจพิจารณาตัดสินโทษในยามหาตัวผู้ปกครองไม่ได้ บางครั้งผู้คนอาจฟังเจ้าโคตรมากกว่าผู้ปกครอง
หลักการปกครอง
แก้ตามธรรมเนียอีสานล้านช้างโบราณ ผู้เป็นนักปกครอง เจ้านายราชวงศ์ หรือเจ้าบ้านผ่านเมืองและคณะอาญาสี่พร้อมทั้งกรมการเมือง จะต้องปฏิบัติตามครรลองครองธรรม 14 ประการ เพื่อความเป็นปกติสุขของอาณาประชาราษฎร ในทำนองเดียวกับหลักทศพิธราชธรรมหรือหลักจักรวรรดิวัตร 12 ของไทยสยาม ครรลองล้านช้างนี้เรียกว่า คองสิบสี่ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่คู่กันกับหลัก ฮีตสิบสอง รวมเรียกว่า ฮีตสิบสองคองสิบสี่ คำว่า คอง แปลว่า แนวทาง หรือ ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ อาจสรุปได้หลายความเห็นว่าเป็นหลักปฏิบัติกล่าวถึงครอบครัวในสังคม ตลอดจนผู้ปกครองบ้านเมือง เป็นหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง และหลักปฏิบัติของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์ เป็นหลักปฏิบัติที่พระราชายึดถือปฏิบัติ เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี และคนในครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกัน และเป็นหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขตามจารีตประเพณี หลักแต่ละข้อนี้มีคำว่า ฮีต นำหน้าด้วย (อาจทำให้เกิดความสับสนกับฮีตสิบสอง) แต่ละคองจะมีสิบสี่ฮีต สี่ฮีตแรกจะเป็นฮีตที่เกี่ยวกับเจ้านายราชวงศ์ในระบบอาญาสี่ และเจ้านายกรมการท้าวเพีย คือ
- ฮีตเจ้าคองขุน
- ฮีตท้าวคองเพีย
- ฮีตไพร่คองนาย
- ฮีตบ้านคองเมือง
ฮีตสิบสอง
แก้- ข้อหนึ่ง เป็นท้าวพระยา จัดตั้งแต่งซื่อซามนามกร เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พิจารณาสืบหาผู้ซื่อผู้คด ผู้ฮ้ายผู้ดี ผู้ช่างแถลงแปงลิ้น มักสับส่อถ้อยคำอันหนักอันเบา อันน้อยอันใหญ่ ให้ไว้ในใจนั้นก่อ สมที่จะฟังจิ่งฟัง บ่สมที่จะฟังอย่าฟัง สมตั้งใจซื่อ ให้เพียงใดจิ่งตั้งใจเพียงนั้น ให้แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริตให้หมั่นเที่ยง ผู้ฮู้จักราชการบ้านเมืองแต่ก่อนมา บ่มข่มเห็งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้หายใจเข้าออกได้จิ่งตั้งให้เป็นเสนาอามาตย์
- ข้อสอง เป็นท้าวพระยา ให้เสนามุนตรีเป็นสามัคคีพร้อมเพียงกัน ให้หมั่นประชุมกันอย่าให้ขาด อันใดอันหนึ่งจักให้อาณัติข้าเสิกเกรงขาม และให้เขาอยู่ในเงื้อมมือเจ้าตนด้วยยุทธกรรมปัญญา ให้บ้านเมืองก้านกุ่งฮุ่งเฮืองเป็นที่กว้างขวาง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข อย่ากดขี่ข่มเห็ง เทอญ
- ข้อสาม เป็นท้าวพระยา เถิงวันขึ้นสังขารปีใหม่ ถ่ายสังวาสมาสเกณฑ์ ให้เชิญพระแก้ว พระบาง พระพุทธฮูป สรงน้ำอบ น้ำหอม ไว้ในสระพัง สักการะด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ฟังธรรมจำศีล คบงัน 7 วัน ทุก ๆ วัดให้เป็นการซื่นซมยินดีแก่พระศาสนา ตบพระเจดีย์ทราย บูชาเทวดาทั้งหลายทางน้ำทางบก บ้านเมืองจิ่งวุฒิซุ่มเย็น น้ำฟ้าสายฝนเข้าไฮ่เข้านาบริบูรณ์
- ข้อสี่ เป็นทางพระยา วันสังขารขึ้น ให้นิมนต์พระภิกขุแห่น้ำฝ่ายใต้เมือฝ่ายเหนือ วันสังขารพักให้ฝ่ายเหนือมาวัดฝ่ายใต้ เพื่อบูชาเทวดาหลวงไปยามหัวเมืองท้ายเมือง ของทุก ๆ ฤดูปี บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ ให้ราษฎรอาบน้ำอบน้ำหอม หดสรงพระภิกษุสงฆ์บ้านเมืองจิ่งอยู่เย็นเป็นสุข ให้ราษฎรแต่งหม้ออุบังเพื่อกั้งบังโพยภัยอันตรายแก่ราษฎรทั่วไป เทอญ
- ข้อห้า เป็นท้าวพระยา วันสังขารปีใหม่ ให้เสนาอามาตย์ราชมุนตรี พญาเพีย ท้าวขุน หัวบ้านหัวเมือง ตำหรวดอาสา มหาดเล็กสีพายใต้แจก มีเทียนคู่ขึ้นทูนเกล้าทูนกระหม่อมถวายราชบาส เพียกะซักมุงคุลถวายพานหมากหมั้นหมากยืน ปุโรหิตถวายพรให้มีอายุ วัณโณ สุขัง พะลัง แก่องค์พระเจ้ามหาชีวิต แล้วเอาน้ำมหาพุทธาภิเศกอันพระรัสสิไปสถาปนาไว้ถ้ำนกแอ่นถ้ำนางอั่น อันชื่อว่าน้ำเที่ยงนั้น แห่มาสรงพระพุทธฮูปวัดหลวงในเมืองทุกวัด ในถ้ำติ่งทวารทวารา ที่ปากน้ำอูประตูเมืองฝ่ายเหนือ แล้วจิ่งนิมนต์พระภิกษุสงฆ์นำบาลีพระพุทธฮูปในพระราชวังตามธรรมเนียม จิ่งเป็นอันโครพย่ำแยงแด่พระสงฆ์เจ้า ถืกต้องตามพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้หั้นแล
- ข้อหก เป็นท้าวพระยา ในวันสังขาร เป็นวันเสี้ยงฤดูเก่าปีใหม่จักมาเถิง ให้เจ้านาย เสนา ข้าราชการ มุนตรีผู้มีนามยศ และเพียหัวหลิ่งหัวพัน หัวบ้านหัวเมือง สิบเอ็ดฮ้อยน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นข้าน้อยขันฑสีมาตำบล เข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยานุศัตย์ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า พระสังฆเจ้า ให้เป็นการซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน ป้องกันก่อให้ขบถคึดฮ้ายต่อแผ่นดิน
- ข้อเจ็ด ท้าวพระยา คันเถิงฤดูเดือนเจ็ด ให้เลี้ยงเทพยดาอาฮักษ์ มเหศักดิ์ หลักเมือง ตาเมือง เสื้อเมือง ทรงเมือง ตามคองสิบสี่ แล้วให้เชิญเทพดาอาฮัก มเหศักดิ์ ให้เข้ามาซำฮะบ้านเมือง ป้องกันอันตราย ตามบูฮานราชประเพณีสั่งไว้ว่า เมืองชั่วบ่มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครอง ได้เอาไสยศาสตร์คือผีเมืองคุ้มครอง จิ่งมีฤทธิ์อันนี้สืบต่อมา เพื่อบ่ให้เกิดอันตรายโพยภัยด้วยผีสางคางแดง
- ข้อแปด เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนแปด ให้สูตรซำฮะบ้านเมือง สืบซะตาเมือง บูชาเทวดาอาฮักษ์ทั้งแปดทิศ บูชาพระรัสสีทั้งแปด สองพี่น้อง พระยานาค 15 ตระกูล สูตรเถิงสามวันเจ็ดวัน แล้วให้ราษฎรฮอบเมืองยิงปืน หว่านหินแห่และทรายเพื่อให้หายพยาธิโรคาโพยภัยอันตราย ให้อยู่เย็นเป็นสุขแก่บ้านเมืองทุกประการ
- ข้อเก้า เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนเก้า จำเริญ (ดับ) ให้ป่าวเตินราษฎรบ้านเมืองท่าน ห่อเข้าประดับดินไปหาปู่ย่าตายาย ลูกเต้าหลานเหลนอันเถิงแก่อนิจกรรมไปสู่ปรโลกทั่วทุกแห่งแล้ว ให้เจ้านายเสนาข้าราชการทั่วบ้านเมืองสิบฮ้อยน้อยใหญ่ ลงมือถือน้ำพระพิพัฒนิสัตยานุศัตย์อีกเทื่อหนึ่ง แล้วซ่วงเฮือฉลองอุสุภนาคราชปากดงและปากคาน กับพระยานาคสิบห้าตระกูลอันฮักษาบ้านเมือง จิ่งจะอยู่เย็นเป็นสุขเข้าก้าไฮ่นาบริบูรณ์
- ข้อสิบ เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบเพ็งให้ป่าวราษฎรให้ทานสลากภัตร หยาดน้ำอุทิศไปหาเทพดาอาฮักษ์เมืองอันฮักษาพระพุทธศาสนา กับทั้งพ่อแม่เผ่าพงษ์วงศาแห่งตนเทอญ
- ข้อสิบเอ็ด เป็นท้าวพระยา เถิงฤดูเดือนสิบเอ็ดเพ็ง ให้ฉลองพุทธาภิเศกพระธาตุจอมศรีทุก ๆ ปีอย่าขาด ด้วยเป็นศรีบ้านศรีเมือง แล้วให้ไปไหว้พระภิกษุสังฆะเจ้ามาขอดสิม (ผูกพัทธสีมา) ในสนามแล้ว ให้สังฆเจ้าปวารณาในที่นั้น คันแล้วกิจสงฆ์ให้สูตรถอนสิมนั้นเสียบ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ เสนาอามาตย์จิ่งจักเป็นสามัคคีพร้อมเพียงกันจัดราชการบ้านเมือง จิ่งบ่ขัดข้องแก่กันและกัน คันเถิงแฮมค่ำหนึ่งให้ป่าวเตินราษฎรไหลเฮือไฟ บูชาพระยานาคสิบห้าตระกูล บ้านเมืองจิ่งจักอยู่สุขเกษมเติมครองแล
- ข้อสิบสอง เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบสองขึ้นหนึ่งค่ำ ให้เตินหัวบ้านหัวเมือง สิบฮ้อยน้อยใหญ่ในขอบขันฑะสีมา เข้ามาโฮมพระนครหลวงพระบาง เป็นต้นว่า ข้าลาวชาวดงดอย เพื่อแห่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตไปลงพ่วง (ด่วง) ส่วงเฮือ และนมัสการพระธาตุศรีธรรมาโสกราช คือเดือนสิบสองขึ้นสามค่ำถือน้ำ ขึ้นสี่ค่ำสิบสามค่ำซ่วงเฮือ ฉลองอุสุภนาคราช วัดหลวงให้เพียวัด มีเฮือวันละลำ อัครมหาเสนาบดีตั้งแต่เมืองแสนเมืองจันทน์ลงไปเถิงศรีสะคุต เมืองแกนาใต้นาเหนือให้ตั้งเป็นผามทุกตำแหน่ง เป็นเทศกาลบุญส่วงเฮือฉลองพระยานาค 15 ตระกูลและพระเสื้อเมือง ทรงเมือง อาฮักษ์เมือง และมีเครื่องกิยาบูชา เป็นต้นว่าโภชนะอาหาร ดอกไม้ ธูป เทียน สวายไปหาเทพยดา ทั้งทางน้ำและทางบก จิ่งจักอวยพรแก่บ้านเมืองอยู่เย็นเป็สุข และเดือนสิบสองเพ็ง เสนาอามาตย์และเจ้าราชคณะสงฆ์ราษฎร พร้อมกันแห่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตและเจ้าย่ำขม่อมทั้งห้าพระองค์ไปนมัสการพระธาตุศรีธรรมาโศกราช พร้อมทั้งเครื่องบูชามีต้นเทียนและดอกไม้ บั้งไฟดอก ไฟหาง กะทุน ว่าย กองปิด กองยาว ฮูปหุ่นละคอน ลิงโขนและเครื่องเล่นมหรสพต่าง ๆ ไปเล่น อยู่ที่เดิ่นหน้าพระลานพระธาตุถ้วนสามวันสามคืนแล้วจิ่งเสด็จคืนมาเทอญ เพื่อให้เป็นที่ชื่นชมยินดีซึ่งกันและกัน ข้าลาวชาวดอยทั้งหลายก็จักได้เห็นกันและกัน และจักได้เว้าลมกัน เป็นมิตรสหายแก่กันและกัน จิ่งจักเป็นเกียรติยศฤชาปรากฏแก่หัวบ้านเมืองน้อยใหญ่ อันอยู่ใกล้เคียงนั้นซะแล
- ข้อสิบสาม เป็นท้าวพระยา ให้แต่งแปงทาวทุกอย่าง เป็นต้นว่าถวายผ้ากะฐินและบวช พระหดเจ้า ตั้งมะไลไขมหาชาติ ฮักษาศีลห้าศีลแปดเป็นนิจกาลทุกวันอุโบสถ และมีหัวใจอันเต็มไปด้วยพรหมวิหารทั้ง 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เสนาอามาตย์ราษฎรข้าน้อยใหญ่ในขอบเขตขัณฑะสีมา อย่ามีใจอันกระด้างกระเดื่องเคืองไปด้วยพาล เป็นต้นว่า ไปหลิ้นป่าล่าเนื้อ จุ่งเลี้ยงนักปราชญ์ผู้อาจให้แก้วยังกิจการเอาไว้ และให้มีเสนาอามาตย์ผู้ฉลาดกล้าหาญกับทั้งสมณะชีพราหมณ์ ผู้ดีมีศีลบริสุทธิ์และความฮู้สั่งสอนทายก อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเทอญ และให้ประกอบด้วยทศพิธราชธรรมสิบประการ บ้านเมืองจิ่งจะวุฒิจำเริญ แล
- ข้อสิบสี่ เป็นท้าวพระยาให้มีสมบัติ อันประเสริฐ 14 ประการ คือ หูเมือง ตาเมือง แก่น เมือง ประตูเมือง ฮากเมือง เหง้าเมือง ขื่อเมือง ฝาเมือง แปเมือง เขตเมือง สติเมือง ใจเมือง ค่าเมือง และเมฆเมือง
สมบัติประเสริฐเมือง
แก้ความหมายของสมบัติประเสริฐเมืองทั้ง 14 ประการ ในหลักฮีต 12 นั้นมีดังนี้
- หูเมือง คือ มีราชทูตอุปทูตานุทูต ต่างหน้าต่างเมืองแทนบ้านแทนเมือง เจรจาไพเราะอ่อนหวาน พูดคำสัตย์ไม่มุสา รู้ต้านรู้จาวาทะศิลป์
- ตาเมือง คือ มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเมธีอาจาริยบุคคล รู้วิชารัฐศาสตร์การบ้านงานเมือง รู้คดีโลกคดีธรรม รู้พระธรรมเทศนาพระพุทธเจ้า รู้หลักผะหยาปรัชญา
- แก่นเมือง คือ เป็นผู้ทรงคุณธรรมยุติธรรม ไม่เอนเอี่ยงเที่ยงแท้ดุจหลักเวียงไม้แก่นอันแข็งแรงมั่นยืน
- ประตูเมือง คือ เป็นผู้สามารถชำนาญศาสตร์ศิลป์ ใช้ศัตราวุธยุทธโธปกรณ์ในการศึกสงคราม
- รากเมือง คือ มีผู้รู้โหราศาสตร์ โชติยศาสตร์ ดาราศาสตร์ ทำนายทายทักหลักคำนวณดวงชะตา
- เหง้าเมือง คือ เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติงานเที่ยงตรง ไม่กินเงินหลวงโกงเงินราษฎร์ ไม่ติดสินบาทคาดสินบน
- ขางเมือง คือ เป็นผู้ชำนาญการออกแบบวางแปลนแผนงาน ชำนาญการศึกกลยุทธ์พิชัยสงคราม
- ขื่อเมือง คือ มีผู้มีตระกูลเป็นนักปราชญ์ธีราจารย์ มีปฏิภาณไหวพริบฉลาดเลียว มีความเป็นผู้กล้าหาญองอาจ
- แปเมือง คือ เป็นผู้มีศีลธรรมอันดี ตัดสินพิจารณาคดีพิพากษาศาลความด้วยยุติธรรมยำเยง
- เขตเมือง คือ มีผู้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาเขตด้าวแดนเมือง รักษาอาณามหารัฐ พิทักษ์ราชมณฑลขอบด่านขอบแดน
- ใจเมือง คือ เป็นผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองเรืองรุ่ง ถูกต้องทำนองคลองธรรม มีคุณธรรมสันติสุขตามจารีตฮีตคอง
- ค่าเมือง คือ เป็นผู้พิทักษ์รักษาเมืองให้ร่ำรวยด้วยมหาเศรษฐีกุฎุมพีล้นหลั่งด้วยผู้ฮั่งตั่งมีนอนหนุนแท่นคำ สรรพพิธรัตนสุวรรณควรเมือง รู้เศรษฐศาสตร์ติดต่อค้าขาย
- สติเมือง คือ มีผู้รู้จักการรักษาพยาบาล หมอยาแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ในบ้านเมืองดี
- เมฆหมอกเมือง คือ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่คุ้มครองรักษา ประดุจเทพอารักษ์พิทักษ์บ้านเมือง ประดุจมเหศักดิ์หลักบ้านบือเมือง
อ้างอิง
แก้- คัมภีร์พระธรรมศาสตร์บูราณ (กฎหมายเก่าของลาว) ของ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และคณะ
- ลำดับกษัตริย์ลาว ของ สุรรักดิ์ ศรีสำอางค์
- ประวัติศาสตร์อีสาน ของ เติม วิภาคย์พจนกิจ
- ประวัติศาสตร์ลาว ของ มหาสิลา วีระวงส์
- พงศาวดานลาว ของ มหาสิลา วีระวงส์
- ประวัติศาสตร์ภาคอีสานและเมืองมหาสารคาม ของ บุญช่วย อัตถากร
- ราชอาณาจักรลาว ของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์
- พงศาวดารล้านช้าง ของ ประชุมพงศาวดาร
- พงศาวดารจำปาศักดิ์ จาก ประชุมพงศาวดารภาคที่ 70
- พงศาวดารล้านช้าง จาก ประชุมพงศาวดาร
- พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ ของ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร)
- ของดีอีสาน ของ จารุบุตร เรืองสุวรรณ
- กฎหมายอีสานฉบับต่างๆ : รูปแบบและพัฒนา ของ อรรถ นันทจักร์
- ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 จากรัฐ การค้าภายในภาคพื้นทวีปไปสู่รัฐกึ่งเมืองท่า วิทยานิพนธ์ของ โยซิยูกิ มาซูฮารา
- บทบาทข้อย (ทาส) ในประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรล้านช้างระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 – 23 วิทยานิพนธ์ของ ขนิษฐา บุญสนอง