อองลอง หรือ อ่องหลอง[b] (เสียชีวิต ธันวาคม ค.ศ. 228[a][3]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หวาง หล่าง (จีน: 王朗; พินอิน: Wáng Lǎng; ออกเสียง) ชื่อรอง จิ่งซิง (จีน: 景興; พินอิน: Jǐngxīng) เป็นขุนนางและขุนศึกชาวจีนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน อองลองรับราชการเป็นขุนนางที่มีชื่อเสียงของราชสำนักฮั่น มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองห้อยเข และภายหลังเป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก อองลองยังเป็นพระปัยกา (ตาทวด) ของสุมาเอี๋ยน จักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้น โดยที่หวาง ยฺเหวียนจีหลานสาวของอองลองแต่งงานกับสุมาเจียวผู้เป็นพระบิดาของสุมาเอี๋ยน

อองลอง (หวาง หล่าง)
王朗
ภาพวาดอองลองจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
เสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู)
ดำรงตำแหน่ง
มกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 227 (227) – ธันวาคม ค.ศ. 228 (228)
กษัตริย์โจยอย
ก่อนหน้าฮัวหิม
ถัดไปตังเจี๋ยว
เสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง)
ดำรงตำแหน่ง
11 ธันวาคม ค.ศ. 220 (220) – มกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 227 (227)
กษัตริย์โจผี
ถัดไปตันกุ๋น
ขุนนางที่ปรึกษาหลวง (御史大夫 ยฺวี่ฉื่อต้าฟู)
(ในราชรัฐของโจผี)
ดำรงตำแหน่ง
6 เมษายน – 11 ธันวาคมค.ศ. 220 (220)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
หัวหน้ารัฐบาลโจผี
ตุลาการใหญ่ (大理 ต้าหลี่)
(ในราชรัฐของโจโฉ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
หัวหน้ารัฐบาลโจโฉ
เสนาบดีกรมพิธีการ (奉常 เฟิ่งฉาง)
(ในราชรัฐของโจโฉ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
หัวหน้ารัฐบาลโจโฉ
เสนาบดีกรมมหาดเล็ก (少府 เฉาฝู่)
(ในราชรัฐของโจโฉ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
หัวหน้ารัฐบาลโจโฉ
เจ้าเมืองห้อยเข (會稽太守 ไคฺ่วจีไท่โชฺ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 192 (192) – ค.ศ. 196 (196)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ถัดไปซุนเซ็ก
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
หวาง เหยียน (王嚴)

อำเภอถานเฉิง มณฑลชานตง
เสียชีวิตป.ธันวาคม ค.ศ. 228[a]
บุตร
  • อองซก
  • บุตรชายอีก 2 คนและบุตรสาว 1 คน
อาชีพขุนนาง, ขุนศึก
ชื่อรองจิ่งซิง (景興)
สมัญญานามเฉิงโหฺว (成侯)
บรรดาศักดิ์หลานหลิงโหฺว (蘭陵侯)

ชีวิตและการรับราชการช่วงต้น

แก้

อองลองเป็นชาวอำเภอถาน (郯縣 ถานเซี่ยน) เมืองตองไฮ (東海郡 ตงไห่จฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณอำเภอถานเฉิง มณฑลชานตงในปัจจุบัน อองลองเดิมมีชื่อตัวว่า "เหยียน" () แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็น "ลอง" ( หล่าง)[4] อองลองเริ่มรับราชการเป็นขุนนางมหาดเล็กกลาง (郎中 หลางจง) ด้วยความสามารถทางวิชาการโดยเฉพาะคัมภีร์จีนโบราณ เมื่อหยาง ชื่อ (楊賜)[c] ผู้เป็นอาจารย์ของอองลองเสียชีวิตเมื่อปลายปี ค.ศ. 185 อองลองก็ลาออกจากตำแหน่งกลับไปบ้านเกิดเพื่อไปไว้อาลัยให้อาจารย์ ต่อมาอองลองเข้ารับใช้โตเกี๋ยมเจ้ามณฑลชีจิ๋ว อองลองแนะนำโตเกี๋ยมและขุนศึกคนอื่น ๆ ให้ถวายสัตย์แสดงความภักดีต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ โดยอ้างอิงจากเรื่องราวในพงศาวดารชุนชิว โตเกี๋ยมจึงส่งทูตไปยังราชสำนักฮั่นที่เตียงฮัน (長安 ฉางอาน) เพื่อถวายสัตย์แสดงความภักดีต่อจักรพรรดิ โตเกี๋ยมจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลสงบภาคตะวันออก (安東將軍 อานตงเจียงจฺวิน) ราชสำนักฮั่นยังแต่งตั้งให้อองลองเป็นเจ้าเมืองห้อยเข (會稽 ไคว่จี)

ในฐานะขุนศึก

แก้

ในช่วงที่อองลองดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองห้อยเขได้ออกคำสั่งห้ามการบูชาจิ๋นซีฮ่องเต้ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน เพราะอองลองเชื่อว่าจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นผู้ปกครองที่ไร้คุณธรรม[5] อองลองยังได้ลอบเป็นพันธมิตรกับชนเผ่าซานเยฺว่ เมื่อขุนศึกซุนเซ็กเริ่มการทัพในกังตั๋ง อองลองให้ความสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ให้เงียมแปะฮอผู้นำชนเผ่าซานเยฺว่ในการรบกับซุนเซ็ก แต่เงียมแปะฮอและผู้นำตระกูลซานเยฺว่คนอื่น ๆ พ่ายแพ้ต่อซุนเซ็ก เวลานั้นเล่าอิ้วขุนศึกอีกคนในภูมิภาคกังตั๋งก็พ่ายแพ้ในการรบกับซุนเซ็กเช่นกัน เงียมแปะฮอกลายเป็นผู้นำของกองกำลังพันธมิตรที่จัดตั้งอย่างหลวม ๆ อันประกอบด้วยกลุ่มโจรและขุนนางท้องถิ่นรวมไปถึงอองลอง และรวบรวมทหารจำนวนนับหมื่นขึ้นอีกครั้ง อองลองเข้าร่วมกับเงียมแปะฮอโดยตรงในการรบต่อต้านซุนเซ็กแม้ว่ายีหวนที่ปรึกษาจะคัดค้าน ในที่สุดเงียมแปะฮอและอองลองจึงพ่ายแพ้ต่อซุนเซ็ก

หลังจากนั้นอองลองหนีไปยังตงเหย่ (東冶) ที่นั่นอองลองได้รับการสนันบสนุนจากนายอำเภอโหฺวกวาน (侯官長 โหฺวกวานจ่าง) และพยายามจะฟื้นฟูอำนาจขึ้นใหม่[6] โดยได้รับการสนับสนุนจากจาง หย่า (張雅) ผู้นำกบฏที่มีกองกำลังที่แข็งแกร่ง อองลองและพวกประสบความสำเร็จในการสังหารหาน เยี่ยน (韓晏) ผู้บัญชาการภาคใต้ (南部都尉 หนานปู้ตูเว่ย์) ที่แต่งตั้งโดยซุนเซ็ก แต่ในท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ให้กับเฮ่อ ฉี (賀齊) ขุนพลของซุนเซ็ก

อองลองพยายามจะเดินทางลงใต้ไปยังมณฑลเกาจิ๋วเพื่อพักฟื้น แต่ถูกซุนเซ็กไล่ตามมาทันและตีแตกพ่าย[7] อองลองจึงแสดงความอ่อนน้อมเพื่อเอาใจซุนเซ็ก ซุนเซ็กจึงยอมรับการยอมจำนนของอองลอง

รับราชการในวุยก๊ก

แก้

แม้ว่าอองลองจะยอมจำนนต่อซุนเซ็ก แต่อองลองก็วางมือจากชีวิตราชการโดยปฏิเสธคำเชิญของเตียวเจียวให้มารับใช้ซุนเซ็ก ในที่สุดอองลองก็ได้รับการติดต่อจากสายลับคนหนึ่งของโจโฉและได้รับการเชื้อเชิญให้มาเข้าร่วมกับโจโฉในฮูโต๋อันเป็นนครหลวงแห่งใหม่ แม้ว่าตอนแรกอองลองจะลังเล แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจหลังจากอ่านจดหมายจากขงหยงที่เป็นสหายเก่าผู้ยกย่องโจโฉและแนะนำให้อองลองมายังฮูโต๋ อองลองจึงเดินทางขึ้นเหนือไปถึงฮูโต๋ในอีกประมาณหนึ่งปีหลังจากนั้น โจโฉชื่นชมความสามารถของอองลองอย่างมาก จึงตั้งให้อองลองเป็นขุนนางผู้เสนอและทัดทาน (諫議大夫 เจี้ยนอี้ต้าฟู) และที่ปรึกษาการทหารของเสนาบดีโยธาธิการ (司空軍事 ซือคงจฺวินชือ) ภายหลังอองลองได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสำคัญในราชรัฐของโจโฉหลังจากที่โจโฉได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นวุยอ๋องจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ จักรพรรดิลำดับสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น[8] ในปี ค.ศ. 220 หลังโจโฉเสียชีวิต โจผีบุตรชายของโจโฉขึ้นเป็นวุยอ๋อง เลื่อนขึ้นให้อองลองเป็นขุนนางที่ปรึกษาหลวง (御史大夫 ยฺวี่ฉื่อต้าฟู) และได้บรรดาศักดิ์เป็นอานหลิงถิงโหฺว (安陵亭侯) ภายหลังในฤดูหนาวปีเดียวกัน พระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกบังคับให้สละราชสมบัติแก่โจผี โจผีก่อตั้งรัฐวุยก๊กแทนที่ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ภายหลังจ๊กก๊กก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นใหม่) หลังโจผีขึ้นเป็นจักรพรรดิได้แต่งตั้งอองลองเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเยฺว่ผิงถิงโหฺว (樂平鄉侯) ในรัชสมัยของโจผี อองลองทูลเสนอคำแนะนำหลายครั้งทั้งในเรื่องเกี่ยวกับการทหารและการพลเรือน เช่นการรักษาความปลอดภัยและการลดข้าราชการและค่าใช้จ่ายของรัฐ

ในปี ค.ศ. 226 เมื่อโจยอยขึ้นครองบัลลังก์ พระองค์เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้อองลองจากบรรดาศักดิ์ระดับหมู่บ้านเป็นบรรดาศักดิ์ระดับอำเภอคือหลานหลิงโหฺว (蘭陵侯) เพิ่มศักดินาเป็น 1,700 ครัวเรือนจากเดิม 1,200 ครัวเรือน

ภายหลังอองลองถูกส่งไปยังเงียบกุ๋น (ปัจจุบันคือนครหานตาน มณฑลเหอเป่ย์) เพื่อไปเยี่ยมสุสานของเอียนซีพระมารดาของโจยอย เวลานั้นเอียนซียังไม่ได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินี อองลองจึงได้รับมอบหมายให้จัดทำป้ายและเอกสารอนุญาตแต่งตั้งให้เอียนซีเป็นจักรพรรดินี รวมถึงกระทำพิธีบวงสรวงและสร้างสุสานอย่างสมเกียรติ ระหว่างการเยี่ยมสุสาน อองลองเห็นว่าราษฎรกำลังขาดแคลน จึงเขียนหนังสือกราบทูลแนะนำให้โจยอยใช้จ่ายอย่างประหยัดและลดขนาดการก่อสร้างพระราชวังและศาลที่หรูหราฟุ่มเฟือย ภายหลังอองลองได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู)

ชีวิตช่วงปลายและเสียชีวิต

แก้

หลังจากที่อองลองทูลคัดค้านโครงการก่อส้รางพระราชวังของโจยอย อองลองเห็นว่าโจยอยมีสนมจำนวนน้อยจึงเขียนหนังสือกราบทูลโจยอยว่าควรจะสนมเพิ่มเพื่อสืบต่อสายเลือดราชวงศ์โดยให้มีทายาทมากขึ้น ครั้งนี้โจยอยเห็นด้วยกับอองลองอย่างสุดพระทัยและเริ่มเพิ่มสนมของพระองค์ คำแนะนำของอองลองมีอิทธิพลอย่างมากไปอีก 9 ปีหลังการเสียชีวิตของอองลอง โจยอยถึงกับมีรับสั่งให้คุมตัวหญิงงามที่แต่งงานแล้วทั้งหมด (เว้นแต่สามีของหญิงจะสามารถนำทรัพย์มาไถ่ตัวได้) และให้แต่งงานกับเหล่าทหาร เว้นแต่คนที่งามที่สุดในหมู่หญิงเหล่านั้นจะกลายเป็นสนมของพระองค์ แม้จะมีการคัดค้านโดยขุนนางบางคน แต่นี้การดำเนินการตามพระราชโองการก็ยังคงกระทำต่อไป ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรเป็นอย่างมาก

ภายหลังอองลองเน้นไปที่งานวิชาการและเขียนหนังสือหลายเล่มซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในขณะนั้น อองลองเสียชีวิตในปี ค.ศ. 228 และได้รับสมัญญานามว่า "เฉิงโหฺว" (成侯) มีความหมายว่า "เจ้าพระยาสถาปนา"[d] อองซกบุตรชายของอองลองสืบทอดบรรดาศักดิ์ของอองลองและยังคงรับราชการเป็นขุนนางของวุยก๊ก

ในนิยาย สามก๊ก

แก้

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 อองลองเสียชีวิตในปี ค.ศ. 228 ขณะอายุได้ 76 ปี แม้ว่าอองลองมีอายุมากแล้วก็ยังนำกองทหารไปตั้งค่ายทำศึกกับจูกัดเหลียง ในนวนิยาย โจจิ๋นพ่ายแพ้ต่อจูกัดเหลียง โจจิ๋นจึงเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาให้มาช่วย อองลองตัดสินใจพยายามเกลี้ยกล่อมจูกัดเหลียงให้ยอมสวามิภักดิฺ (แม้ว่ากุยห้วยไม่เชื่อว่าจะทำสำเร็จ) จึงโต้วาทีกับจูกัดเหลียงแต่ก็พ่ายแพ้ จูกัดเหลียงด่าว่าอองลองเป็นสุนัขและคนทรยศ อองลองเจ็บใจถึงขั้นตกจากหลังม้าและเสียชีวิตทันที ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในในประวัติศาสตร์ มีระบุเพียงว่าอองลองเพียงส่งหนังสือไปถึงจูกัดเหลียงเกลี้ยกล่อมให้ยอมสวามิภักดิ์ แต่หนังสือถูกปฏิเสธ

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. 1.0 1.1 พระราชประวัติโจยอยในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าอองลองเสียชีวิตในเดือน 11 ของศักราชไท่เหอปีที่ 2 ในรัชสมัยของโจยอย[1] เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 228 ถึง 12 มกราคม ค.ศ. 229 ในปฏิทินกริโกเรียน
  2. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 13[2]
  3. หยาง ชื่อเป็นบิดาของเอียวปิวและปู่ของเอียวสิ้ว ขณะเสียชีวิตมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) จากพระราชประวัติพระเจ้าเลนเต้ในพงศาวดารราชวงศ์ฮั่นยุคหลัง หยาง ชื่อเสียชีวิตในวันเกิงอิ๋น เดือน 10 ของศักราชจงผิงปีที่ 2 ในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ แต่แท้จริงแล้วไม่มีวันเกิงอิ๋นในเดือน 10 ปีนั้น ซึ่งเดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายนถึง 9 ธันวาคม ค.ศ. 185 ในปฏิทินจูเลียน
  4. บุคคลที่มีส่วนช่วยในการจัดตั้งระบอบการปกครองหรือสร้างคุณประโยชน์แก่พลเรือนจะได้รับสมัญญานามว่า "เฉิง" อองลองมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้อแรกเนื่องจากมีส่วนร่วมในการก่อตั้งระบอบการปกครองของวุยก๊ก หลักเกณฑ์การมอบสมัญญานามมีรายละเอียดอยู่ใน อี้โจฺวชู[9]

อ้างอิง

แก้
  1. ([太和二年]十一月,司徒王朗薨。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  2. ("ฝ่ายอ่องหลองเจ้าเมืองรู้ว่าเงียมแปะฮอแตกมา จึงให้จัดแจงทหารจะยกออกมาช่วยเงียมแปะฮอ งีห้วนชาวเมืองอีเหี้ยวซึ่งเปนที่ปรึกษาจึงว่าซุนเซ็กเปนคนมีฝีมือ แล้วก็ตั้งอยู่ในความสัตย์ เงียมแปะฮอเปนหยาบช้า ซึ่งท่านจะไปช่วยเงียมแปะฮอนั้นเห็นไม่ควร ขอให้ท่านคิดอ่านจับตัวเงียมแปะฮอส่งให้แก่ซุนเซ็ก อ่องหลองโกรธตวาดเอางีห้วน ๆ จนใจก็นิ่งอยู่ อ่องหลองจึงยกทหารออกมาหาเงียมแปะฮอ แล้วพากันไปตั้งอยู่ริมทุ่งริมเชิงเขาคอยรับซุนเซ็ก") "สามก๊ก ตอนที่ ๑๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
  3. de Crespigny (2007), p. 823.
  4. (魏略曰:朗本名嚴,后改為朗。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 13.
  5. (《朗家傳》曰:會稽舊祀秦始皇,刻木爲像,與夏禹同廟。朗到官,以爲無德之君不應見祀,於是除之。) อรรถาธิบายโดยเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 13.
  6. (時王朗奔東冶,侯官長商升為朗起兵。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  7. ((王郎)欲走交州,為兵所逼,遂詣軍降。) อรรถาธิบายจากเซี่ยนตี้ชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 13.
  8. (魏國初建,以軍祭酒領魏郡太守,遷少府、奉常、大理。) จดหมายเหตุสากม๊ก เล่มที่ 13.
  9. (安民立政曰成。) อี้โจฺวชู.

บรรณานุกรม

แก้