อนุสัญญาชวานปี๋

อนุสัญญาชวานปี๋ (อังกฤษ: Convention of Chuenpi;จีน: 穿鼻草約) เป็นความตกลงอย่างไม่เป็นทางการที่ทำขึ้นโดยผู้แทนทั้งสองฝ่ายของทางการอังกฤษและจีน ซึ่งก็คือเซอร์ชาลส์ เอลเลียตทูตจากทางอังกฤษและฉีช่านผู้แทนจากราชสำนักชิง ในระหว่างสงครามฝิ่น โดยการพูดคุยได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งและมีการทำข้อตกลงความเข้าใจขึ้นใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 1841 อย่างไรก็ตามรัฐบาลทั้งสองชาติได้ปฏิเสธการใช้งานอนุสัญญาฉบับนี้ โดยทางอังกฤษมองว่าข้อเรียกร้องที่ทางเซอร์ชาลส์ เอลเลียตมอบให้แก่ทางจีนนั้นน้อยและโอนอ่อนมากเกินไป ในขณะที่จักรพรรดิเต้ากวงก็มองว่าการยอมรับอนุสัญญาของฉีช่านนั้นยอมให้พวกฝรั่งหัวแดงมากเกินไป สุดท้ายตัวแทนทั้งสองคนก็ถูกปลดออกและแทนที่ด้วยคณะทูตใหม่มาพูดคุยกันในเวลาต่อมา

อนุสัญญาชวานปี๋
หน้าที่หนึ่งของอนุสัญญา
วันร่าง20 มกราคม 1841
ที่ลงนามหู่เหมิน มณฑลกวางตุ้ง จักรวรรดิจีน
เงื่อนไขไม่รับรอง; แทนที่ด้วยสนธิสัญญานานกิง (1842)
ผู้เจรจา
อนุสัญญาชวานปี๋
อักษรจีนตัวเต็ม穿鼻草約
อักษรจีนตัวย่อ穿鼻草约

แม้ว่าอนุสัญญาชวานปี๋จะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ทว่าเนื้อความภายในอนุสัญญานี้ก็เป็นรากฐานและมีบางความต้องการเขียนลงไปในสนธิสัญญานานกิงที่มีการร่างและทำข้อตกลงขึ้นในปี 1842

ภูมิหลัง

แก้
 
 
เกาะฮ่องกง
 
ชวานปี๋
 
Whampoa
 
กวางตุ้ง
 
มาเก๊า
 
เกาลูน
พื้นที่แสดงที่ตั้งของชวานปี๋ ฮ่องกง และพื้นที่โดยรอบ

ในปี 1839 ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับจีนรุนแรงขึ้นมาในเรื่องการค้าฝิ่น สุดท้ายความขัดแย้งนั้นได้ระเบิดออกมาจนเกิดเป็นสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ในที่สุด ซึ่งในช่วงสงครามนั้นด้วยประสิทธิภาพและอาวุธที่เหนือกว่าของทางอังกฤษ ทำให้ทางอังกฤษสามารถบีบบังคับให้ทางจีนต้องมาพูดคุยเพื่อหาทางออกและผลประโยชน์ของอังกฤษอย่างไม่มีเงื่อนไข ในการนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ลอร์ดพาเมอร์สตัน ได้ส่งชาลส์ เอลเลียตเข้ามาเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจเต็มในการพูดคุยหาข้อยุติในการทำสงครามกับจีน[1]

เอลเลียตเดินทางมายังจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 1840 โดยได้มีการทำการพูดคุยกับฉีช่านผู้ปกครองมณฑลกวางตุ้งในเวลานั้น โดยเอลเลียตได้แสดงความต้องการของอังกฤษในการครอบครองพื้นที่ติดทะเลที่ทางอังกฤษจะสามารถชักธงอังกฤษขึ้นเหนือดินแดนนั้น และสามารบริหารกิจการภายในของพื้นที่นั้นได้เอง เหมือนที่ฝรั่งชาติอื่นทำกับมาเก๊า[2] อย่างไรก็ตามความต้องการครั้งแรกที่มีการพูดคุยไม่สัมฤทธิ์ผล ทางอังกฤษจึงตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้ากดดันด้วยการยึดบริเวณปากแม่น้ำกวางตุ้งเอาไว้ สุดท้ายตัวแทนของจีนอย่างฉีช่านก็ต้องยอมเจรจาและยอมรับข้อตกลงของทางเอลเลียต

ในวันที่ 11 มกราคม ฉีช่านได้ยอมรับความต้องการของทางอังกฤษ ‘ที่ต้องการดินแดนชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของจีน’ ต่อมาเขายื่นข้อเสนอให้แก่เอลเลียตว่าทางอังกฤษต้องการบริเวณไหนระหว่างฮ่องกงหรือเกาลูน ซึ่งทางเอลเลียตได้เขียนจดหมายตอบว่าทางอังกฤษต้องการพื้นที่เกาะฮ่องกงทั้งหมดเป็นของตัวเอง[3] การเจรจาของทั้งสองคนในการหาข้อยุติปัญหาทางตอนใต้ของจีนนั้นนำไปสู่การเรียกร้องของทางจีนว่า จีนจะยอมปล่อยฮ่องกงไปแลกกับว่าทางอังกฤษจะต้องไม่ขยายเมืองท่าเพิ่มมากไปกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องละทิ้งการเข้ามาตั้งเมืองท่าในแผ่นดินใหญ่

เนื้อความของอนุสัญญา

แก้

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ทั้งสองคนได้ทำข้อตกลงอนุสัญญาร่วมกัน โดยมีเนื้อความหลักของอนุสัญญาดังนี้[4]

  1. ทางการจีนยอมยกดินแดนเกาะฮ่องกงทั้งหมดให้แก่ทางอังกฤษในฐานะอาณานิคม (British crown) แต่ระบบการค้าและการเก็บภาษีของจีนยังคงเป็นเหมือนเดิมกับระบบที่เกาะผาโจว
  2. ทางการจีนต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่อังกฤษทันที 6 ล้านดอลล่าร์ และจ่ายอีกหนึ่งล้านดอลล่าร์ในทุกปี จนกว่าจถึงปี 1846
  3. ทั้งสองประเทศต้องมุ่งเน้นและสร้างการติดต่อสื่อสารของตัวแทนระหว่างรัฐในฐานะประเทศที่ทัดเทียมกัน
  4. จีนจะต้องเปิดเมืองท่ากวางโจ่วภายในระยะเวลสิบวัน หลังจากวันตรุษจีน ทั้งนี้ทางจีนยังสามารถเปิดการค้าที่วัมโปต่อไปได้ จนกว่าจะหาสถานีการค้าแห่งใหม่ได้

นอกจากนี้เนื้อหาในอนุสัญญายังขอให้ทางอังกฤษถอนกำลังทหารและการควบคุมออกจากเกาะแก่งของจีนทุกแห่งที่อังกฤษเข้ายึดครอง ไม่ว่าจะที่ชวานปี๋ โจวชาน ที่ซึ่งทางอังกฤษเข้าครอบครองไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 1840[5]

ทว่าอนุสัญญาฉบับนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางลอร์ดพาเมอร์สตัน ด้วยว่าเนื้อความจากอนุสัญญานั้นยังอนุญาตให้ทางจีนยังสามารถเก็บภาษีจากเกาะฮ่องกงได้เหมือนเดิม[6]

เหตุการณ์สืบเนื่อง

แก้

หลังการทำอนุสัญญาข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 20 มกราคม หนึ่งวันให้หลังจากนั้นอังกฤษถอนตัวออกจากพื้นที่ชวานปี๋ (Chuenpi) และอพยพตัวเองลงไปตั้งหลักอยู่ที่เกาะฮ่องกง อันเป็นเกาะใหม่ใต้อาณัติของอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไม่กี่วันให้หลังพิธีส่งมอบเกาะฮ่องกงจัดฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในการเลี้ยงฉลองภายในวันส่งมอบนั้น ฉีช่านในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนประจำมณฑลกวางตุ้งได้เดินทางเข้าพบเอลเลียตด้วยตัวเอง และร่วมงานเลี้ยงฉลองด้วยกัน[7]

 
กองทหารอังกฤษกำลังยินดีกับการส่งมอบเกาะฮ่องกงให้เป็นของอังกฤษ

ความขัดแย้งขยายตัว

แก้
 
ค่ายทหารที่เป็นที่พบกันระหว่างเอลเลียตกับฉีช่าน

ทว่าข้อตกลงของฉีช่านที่ทำขึ้นมาในช่วงเดือนมกราคมนั้น ไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางจักรพรรดิเต้ากวงและราชสำนัก ซึ่งยังต้องการให้ปราบปรามกบฏและพวกฝรั่งหัวแดงด้วยความรุนแรงต่อไป ไม่นานหลังจากนั้นจักรพรรดิได้มีพระราชโองการให้ฉีช่านใช้กำลังปราบปรามพวกอังกฤษ แต่ว่าฉีช่านเพิกเฉยต่อคำสั่งให้โจมตีในตอนนี้[8] ทำให้ตัวของฉีช่านต้องตกอยู่ในสภาวะกดดันจากทั้งสองด้าน คือทั้งคำสั่งจากเบื้องบน และสถานการณ์เบื้องหน้าในการเจรจากับอังกฤษ

เมื่อเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ เอลเลียตได้เข้ามาเจรจาอีกครั้งกับฉีช่าน ด้วยว่าท่าเรือเมืองกวางโจวนั้นไม่ได้เปิดตามที่ได้ตกลงไว้[5] หลังจากการเจรจาอันเคร่งเครียดกว่าครึ่งวัน ฉีช่านก็ขอเวลาอีกสิบวันแล้วจะมาให้คำตอบ[5]

แต่ทว่าในช่วงเวลานั้นฉีช่านได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการมณฑลแล้ว และทางราชสำนักได้ส่งคนชุดใหม่มาปกครองและจัดการสงครามกับทางอังกฤษ ฉีช่านเดินทางกลับปักกิ่งก่อนจะต้องรับพิจารณาโทษของตัวเองหลังจากขัดคำสั่งขององค์จักรพรรดิ และผู้แทนชุดใหม่ที่ทางราชสำนักส่งไปได้ทำให้สงครามกับอังกฤษปะทุขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง

ชะตากรรมของผู้ลงนามในสัญญา

แก้

ฉีช่านถูกพิจารณาโทษที่ปักกิ่งโดยมีการตั้งข้อหามากมาย[9] ทั้งการให้ฮ่องกงกับพวกคนเถื่อน กบฏ และทรยศต่อชาติ หลังจากการพิจารณาคดีราชสำนักได้ตัดสินโทษประหารชีวิตให้แก่ฉีช่าน แต่สุดท้ายเขาก็ถูกจำคุกอยู่เกือบปีก็ถูกปล่อยตัวออกมา

ส่วนทางของชาลส์ เอลเลียตนั้น ต่อมาเขาก็ถูกสั่งปลดออกจากการเป็นทูตโดยลอร์ดพาร์สเมอตัน โดยมองว่าผลประโยชน์ที่ทางเอลเลียตกดดันจีนผ่านการเจรจานั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของอังกฤษ และฮ่องกงนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากเกาะอันกันดารที่ร้างจากผู้คน[10] ก่อนจะแต่งตั้งให้พลตรีเฮนรี พอตติงเจอร์ (Henry Pottinger) แห่งกองทัพบอมเบย์ขึ้นรับตำแหน่งแทนที่เอลเลียตในเดือนพฤษภาคม

ภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Morse 1910, p. 628
  2. Mao 2016, p. 192
  3. Lowe 1989, p. 12
  4. The Chinese Repository, vol. 10, p. 63
  5. 5.0 5.1 5.2 "No. 19984". The London Gazette. 3 June 1841. pp. 1423–1424.
  6. Courtauld et al. 1997
  7. Bernard & Hall 1844, p. 140
  8. Mao 2016, p. 194
  9. Martin 1847, p. 66
  10. Morse 1910, p. 642

เชิงอรรถ

แก้